13 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บทเรียนจากการลงทุนของ เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton)
1
บทเรียนจากการลงทุน เซอร์ ไอแซก นิวตัน
📌 ฟองสบู่ South Sea Company วิกฤตฟองสบู่ในตลาดหุ้นครั้งแรกของโลก
ในปีค.ศ. 1720 เซอร์ ไอแซก นิวตัน ขาดทุนจากการลงทุนไปกว่า 20,000 ปอนด์ จากการเก็งกำไรในหุ้นของ South Sea Company ซึ่งถ้าตีค่าในปัจจุบันคือเงิน 40 ล้านปอนด์ นับเป็นมูลค่ามหาศาล ทำให้เซอร์ ไอแซก นิวตัน ถึงกับตัดพ้อว่า “ข้าพเจ้าสามารถคำนวณการโคจรของดวงดาวบนท้องฟ้าได้ แต่ไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของมนุษย์ได้” (“I can calculate the movement of heavenly bodies, But not the madness of men”) และยังห้ามใครเอ่ยคำว่า South Sea ให้เขาได้ยินอีกตลอดชีวิต
1
📌 ประวัติ เซอร์ ไอแซก นิวตัน โดยสังเขป
เซอร์ ไอแซก นิวตัน เปรียบเสมือนบิดาของคณิตศาสตร์และฟิสิกส์สมัยใหม่ นิวตันได้คิดค้นวิชาแคลคูลัสที่เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชั้นสูง นอกจากนั้นยังได้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงและกฎการเคลื่อนที่สามข้อของนิวตัน ซึ่งการคิดค้นของนิวตันต่าง ๆเหล่านี้ได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดทางให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution)
ตั้งแต่ ปี 1699 เซอร์ ไอแซก นิวตัน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Master of the Mint (ผู้ว่าการโรงกษาปน์) ซึ่งเมื่อ 300 ปีก่อน นับเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมากในการบริหารการเงินการคลังของรัฐบาลอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่า นิวตันไม่ได้ขาดความเชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่หลง ๆ ลืม ๆ ไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความจริงแต่อย่างใด นอกจากนั้น นิวตันยังคบค้าสมาคมกับสังคมคนชั้นสูงและใกล้ชิดคณะรัฐมนตรี ซึ่งแน่นอน เรื่องข่าวสารต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการเงินการคลัง พูดง่าย ๆ คือนิวตันอยู่ใน “วงใน”
1
แต่ผมจะเล่าให้ฟังว่าทำไม เซอร์ ไอแซก นิวตัน ที่นอกจากจะเป็นอัจฉริยะทั้งทางด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ และแถมยังได้รับข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ก่อนสาธารณชน ถึงได้ประสบกับการขาดทุนอย่างย่อยยับในการเก็งกำไรในหุ้น South Sea Company ในปี 1720
📌 บริษัท South Sea Company ทำธุรกิจอะไร
บริษัทได้ก่อตั้งขึ้น ในปี 1711 เพื่อทำการค้ากับเมืองขึ้นของสเปนในทวีปอเมริกาใต้ โดยธุรกรรมหลักคือการค้าทาส และได้รับสิทธิผูกขาด(Monopoly) ในการทำการค้ากับเมืองขึ้นของสเปนเหล่านี้ (ตั้งอยู่ที่มหาสมุทรแอตเเลนติกทางใต้ เลยเป็นที่มาของชื่อบริษัท South Sea Company) โดยแลกกับการรับภาระหนี้ของรัฐบาลอังกฤษที่เพิ่มขึ้นมาจากสงครามกับสเปน ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษมีสิทธิ Swap เปลี่ยนพันธบัตรเป็นหุ้นของ South Sea Company ได้
3
📌 กำเนิดฟองสบู่ South Sea Company
ดังนั้น บริษัทมีความจำเป็นต้องหาเงินจำนวนมากเพื่อมาใช้หนี้ให้รัฐบาลอังกฤษ จึงต้องออกหุ้นมาขายเพิ่มทุนในตลาด นอกจากนั้นบริษัทยังมีการปล่อยเงินกู้ให้ผู้ถือหุ้นโดยสามารถใช้ตัวหุ้นเป็นหลักประกันได้ (เหมือนการเทรดด้วย Margin) ยิ่งทำให้นักลงทุนยิ่งแห่มาซื้อหุ้นไปอีก และรวมถึงการกุข่าวอย่างหนักว่า South Sea เป็นบริษัทที่คนในรัฐบาลอยู่ในวงในและการคาดหวังว่าการมี Monopoly จะทำให้บริษัทหากำไรได้มหาศาลจากการค้ากับทวีปอเมริกาใต้ เหมือนกับบริษัท East India ที่ได้กอบโกยกำไรจากทวีปเอเชีย
1
ในเดือนมกราคม 1720 ราคาหุ้นอยู่ที่ 128 ปอนด์ หลังจากมีการกุข่าวต่าง ๆ ราคาได้เพิ่มขึ้นมาที่ 175 ปอนด์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1720 และหลังจากนั้น ที่รัฐบาลตกลงโอนภาระหนี้มาให้บริษัท South Sea Company ความเชื่อถือในตัวบริษัทก็พุ่งสูงขึ้นไปอีก ทำให้ ราคาหุ้นกระโดดไปอยู่ที่ 330 ปอนด์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม และหลังจากที่รัฐบาลออกกฎหมายกำจัดคู่แข่งของ South Sea Company ผ่านพระราชบัญญัติฟองสบู่ (Bubble Act 1720) บริษัท South Sea แต่เพียงผู้เดียวที่มีสิทธิเพิ่มทุนในตลาดหุ้นและกีดกันบริษัทอื่น ๆ ไม่ให้มาแย่งเงินจากนักลงทุนในตลาดหุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปถึง 1050 ปอนด์ในเดือนมิถุนายน
2
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฟองสบู่ก็แตกในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลงไปที่ 175 ปอนด์ในเดือนกันยายน จากในกราฟราคาจะสังเกตได้ว่าราคาหุ้น South Sea มีความผันผวนมาก เพิ่มจากราคา 128 ปอนด์ กระโดดไปถึง 1050 ปอนด์และร่วงลงมาเท่าราคาตอนต้นปีภายในเวลา 1 ปีเดียว
2
📌 อย่าลงทุนแบบเซอร์ ไอแซก นิวตัน เด็ดขาด!!
1
จากกราฟราคา มีการแสดงจุดที่ นิวตันเข้าไปซื้อในช่วงต้นปี 1720 และขายในเดือนพฤษภาคม 1720 ก่อให้เกิดกำไรถึง 20,000 ปอนด์ หลังจากเห็นว่า ราคาขึ้นมาสูงกว่าความเป็นจริงมาก
แต่หลังจากนั้นไม่นาน นิวตันได้กลับมาซื้อหุ้น South Sea Company อีกครั้ง ในช่วงกลางปี 1720 ตามกระแส South Sea ที่กำลังมาแรงและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นไม่นานฟองสบู่ก็แตก ส่งผลให้นิวตันขาดทุนอย่างหนักถึง 20,000 ปอนด์ ตามที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น
2
📌 บทเรียนจากการเก็งกำไรในฟองสบู่ของนิวตัน
ถ้าเราสังเกตจากการที่นิวตันขายทำกำไรในช่วงแรก ตัวนิวตันเองคงตระหนักดีว่าราคาสูงกว่าพื้นฐานความเป็นจริงมาก จึงได้รีบถอนตัวออกมา แต่เราคงไม่มีทางทราบเหตุผลที่แท้จริงได้ว่า ทำไมนิวตันถึงกลับเข้ามาซื้อหุ้น South Sea ตอนใกล้จุดสูงสุด (หรือที่คนไทยเราเรียกว่า “ดอย” และ คนที่เข้าไปซื้อช่วงนี้เราเรียกว่า “แมงเม่า”)
1
ได้มีนักวิชาการคาดว่า เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะความโลภที่เห็นคนที่ถือหุ้นอยู่รวยเอารวยเอา ( หรือที่เราเรียกกันว่ากลัวตกขบวน) และอีกเหตุผลหนึ่งคือการลงทุนตามกระแส เพราะทุกคนรอบตัวนิวตันพูดถึงแต่หุ้นของ South Sea ทั้งสังคมสูงและสังคมล่าง
นอกจากนั้น มีการพบหลักฐานว่า มี สมาชิกผู้แทน จากสภาล่างถึง 462 คน และจากสภาสูงอีก 112 คน เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท South Sea นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้นิวตันประเมินว่า หลายคนที่อยู่ในสังคมชั้นสูงและทรงอิทธิพลมากในรัฐบาลอังกฤษก็เป็นผู้ถือหุ้น จึงน่าจะทำให้นิวตันมั่นใจว่าราคาหุ้นคงขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีทางลง (นิวตันเองเป็นคนคิดค้นกฎเรื่องแรงโน้มถ่วง แต่แปลกที่ตนเองกลับคิดว่าราคาหุ้น South Sea จะสามารถต้านแรงโน้มถ่วงได้)
ยิ่งไปกว่านั้น ในทุกฟองสบู่จะต้องมีบางอย่างที่ขัดกับเหตุผลหรือตรรกะ ยกตัวอย่างคือ ในช่วงที่กระแส South Sea กำลังแรง การเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษแล้วเปลี่ยนมาเป็นหุ้น South Sea นั้น ทำได้ถูกกว่าการไปซื้อหุ้นในตลาดหุ้นโดยตรง แสดงว่ามีช่องว่างในการทำกำไรได้ (Arbitrage) และอีกประเด็นหนึ่งคือการที่ตลาดมองว่ากำไรจากการค้าขายกับประเทศเมืองขึ้นของสเปนในอเมริกาใต้จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ล้วนแต่มาจากจินตนาการของนักลงทุน( หรือที่เราเรียกว่า มโน) เพราะนอกจากการค้าทาสแล้วก็ไม่ได้มีกำไรจากการค้าอย่างอื่นเลย สรุปว่าเมื่อไรความหวังแซงความจริง โอกาสฟองสบู่จะแตกก็เป็นไปได้ทุกเมื่อ
4
📌 มีคนเสียก็ต้องมีคนได้
ถึงแม้ผมจะได้กล่าวถึงอันตรายของการเก็งกำไรในฟองสบู่ แต่นักลงทุนชื่อดังอย่าง จอร์จ โซโรส (George Soros) ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อใดผมเห็นฟองสบู่กำลังก่อตัว ผมจะรีบเข้าไปซื้อมัน” (When I see a bubble forming, I rush in to buy it) แต่โซโรสเองไม่ได้สอนว่าเราควรจะออกจากฟองสบู่เมื่อไร ถึงจะไม่ขาดทุน
จริงจริงแล้วในช่วงที่นิวตันขาดทุนจากการลงทุนอย่างหนักจากวิกฤตฟองสบู่ South Sea มีนักลงทุนอีกคนชื่อว่า โทมัส กาย (Thomas Guy) ได้กำไรจากการเทรดหุ้น South Sea ถึง 175,000 ปอนด์ หรือ ตีค่าในปัจจุบันเป็น 350 ล้านปอนด์ ซึ่งเมื่อตอนเสียชีวิต โทมัส กาย ได้บริจาคเงิน (ตีเป็นมูลค่าปัจจุบัน 400 ล้านปอนด์) ให้จัดตั้ง โรงพยาบาลกาย (Guy’s Hospital) กลางกรุงลอนดอนที่ยังเปิดทำการตั้งแต่ปี 1721 จนถึงในปัจจุบัน การที่เราทำการเปรียบเทียบระหว่าง ไอแซก นิวตัน กับโทมัส กาย เพื่อจะชี้ให้เห็นชัดว่าในทุกฟองสบู่มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ (มาถึงตรงนี้ ทุกท่านอย่าได้กังวลสงสารว่าเซอร์ ไอแซก นิวตันได้สิ้นเนื้อประดาตัว เพราะตอนที่นิวตันเสียชีวิตในปี 1727 ท่านได้ทิ้งมรดกไว้ถึง 30,000 ปอนด์ ตีเป็นมูลค่า 60 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน)
4
📌 บทสรุป ความกลัวและความโลภของมนุษย์
ท้ายที่สุด บทเรียนจากวิกฤตฟองสบู่ในอดีตยังคงมีความน่าสนใจต่อการลงทุนในปัจจุบัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น มีการรับรู้ข่าวสารได้ไวกว่าในอดีต แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะความกลัวและความโลภ (Fear and Greed) เพราะฉะนั้นคงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจ ถ้าในอนาคตจะมีนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์จะมาศึกษาและพูดถึง “บทเรียนจากฟองสบู่เงินคริปโต 2021” (Cryptocurrency Bubble 2021)
2
ผู้เขียน: บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
 
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา