13 มิ.ย. 2021 เวลา 13:12
เพราะฉันแตกต่างหรือเธอไม่เข้าใจ
เหตุผลที่ว่าทำไมคนเราถึงชอบ “ตัดสิน” คนอื่น
“หนังอะไรไม่เห็นสนุกเลย ชอบกันไปได้ไง”
“ทำไมใส่เสื้อสีนี้อะ ไม่เห็นเข้ากับเธอเลย”
“พนักงานใหม่คนนั้นน่าจะหยิ่งน่าดู ไม่เห็นเข้ามาทักทายกันเลย”
.
ในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย เรามักจะได้ยินคำพูดเชิง ‘ตัดสิน’ เช่นนี้อยู่เป็นประจำ ทั้งจากคนสนิทและคนไม่สนิท ใจหนึ่งเราก็แอบเจ็บใจกับคำพูดทำร้ายจิตใจ แต่อีกใจหนึ่งเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมคนเหล่านี้ถึงชอบติติงและด่วนตัดสินคนอื่นเสียเหลือเกิน?
.
ในทางกลับกัน เราก็ต้องยอมรับว่าตัวเราเองก็ตัดสินคนอื่นบ้างในบางครั้ง (เช่น ตอนนี้เรากำลังตัดสินคนเหล่านี้ว่าเป็นคนช่างติ) และพอนั่งนึกดูดีๆ เราก็พบว่ามีคำสอนเรื่องนี้มากมายในหลายๆ วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น “อย่าตัดสินคนจากภายนอก” หรือ​ “Don’t judge a book by its cover”
.
.
.
หรือว่านิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์กันนะ?
.
.
#เพราะเราไม่ชอบความแตกต่าง
.
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นมนุษย์จึงมีความต้องการที่จะ ‘รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง’ (Sense of Belonging) ในกลุ่มของตนเสมอ ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มนุษย์เอาตัวรอดมาได้ เพราะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและพึ่งพาอาศัยกัน จวบจนปัจจุบัน ความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ ‘กลุ่ม’ หรือ ‘เผ่า’ นี้ยังไม่ได้หายไปไหน เพราะกลุ่มช่วยหล่อหลอมและสร้างตัวตน (Identity) ของเราในสังคม และกลุ่มเป็นสิ่งที่บอกว่าเราคือใคร
.
นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเราและเพื่อนจึงมีบางอย่างคล้ายกัน เช่น มีความชอบคล้ายกัน นับถือศาสนาเดียวกัน แต่งตัวสไตล์เดียวกัน หรือไม่ก็สนใจเรื่องเดียวกัน ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้เองบอกเราว่าทำไมเราถึงชอบคนที่มีความคล้าย และทำไมเราถึงรู้สึก ‘ไม่ชอบ’ คนที่ต่างจากเรา
.
โดยปกติแล้วเมื่อเราเห็นคนที่แตกต่าง สมองด้านอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความกลัวและความก้าวร้าวจะทำงานขึ้นมาทันที นั่นเป็นเพราะ ‘ความเป็นอื่น’ หรือ ‘ความต่าง’ นั้นไม่เพียงแค่ค้านความเชื่อของกลุ่ม แต่ยังทำให้อัตลักษณ์ของกลุ่ม (รวมถึงของเรา) สั่นคลอนอีกด้วย
.
ตัวอย่างเช่น คนที่สนับสนุนพรรคการเมือง A และคนที่สนับสนุนพรรคการเมือง B ต่างไม่ชอบกันและกัน เพราะความเชื่อและอุดมการณ์ของแต่ละฝ่าย ค้านกับสิ่งที่ตนเชื่อว่าเป็นจริงมาโดยตลอด
.
ด้วยสัญชาตญาณ เราจึงรีบชี้ให้คนเห็นว่าความแตกต่างนี้ ‘ไม่ดี’ ซึ่งการกระทำนี้เป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นดีและถูกต้อง เป็นการย้ำให้เราสบายใจและรู้สึกปลอดภัย
.
คำถามที่ตามมาคือ ทำไมเราถึงรีบตัดสินความต่างว่าไม่ดี ทำไมเราไม่พยายามทำความเข้าใจแทนล่ะ?
.
.
#เพราะตัดสินง่ายกว่าทำความเข้าใจ
.
โดยธรรมชาติ มนุษย์มักจะจัดประเภท (Categorize) ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อ ‘ทำความเข้าใจ’ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เป็นต้นว่า ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น หรือ ทำไมเธอถึงชอบสิ่งนั้น พฤติกรรมการหาที่มาที่ไปเพื่ออธิบายเหตุผลของการกระทำเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และเราเรียกมันว่า “การอนุมานสาเหตุ” (Attribution)
.
การอนุมานสาเหตุแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ Situational และ Personality
.
Situational Attribution คือการที่เราให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ ‘สถานการณ์’ บางอย่าง เช่น เราคิดว่าพนักงานใหม่ไม่เข้ามาทักทายเรา เพราะเขายังไม่คุ้นชินกับผู้คนและสถานที่ทำงานใหม่
.
ส่วน Personality Attribution คือการที่เราให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ ‘นิสัย’ ของคนคนนั้น เช่น เรามองว่าพนักงานใหม่ไม่เข้ามาทักทาย เพราะเขาหยิ่ง หรือไม่มีมารยาท
.
งานวิจัยพบว่าคนเรามักจะอนุมานด้วย ‘นิสัย’ มากกว่า ‘สถานการณ์’ เพราะเข้าใจได้ง่ายกว่า นี่อาจเป็นคำอธิบายว่า ทำไมคนเราถึงชอบตัดสินคนอื่น
.
.
#หรือเพราะลึกๆแล้วเราปกป้องตัวเองอยู่
.
มีอีกทฤษฎีที่อธิบายว่า ทำไมคนเราถึงช่างติเตียนเสียเหลือเกิน
.
คาร์ล ยุง นักจิตวิทยาบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งทฤษฎีจิตวิทยาการวิเคราะห์ (Analytical Psychology) ได้เสนอว่า “แม้เราจะทำเป็นไม่เห็นข้อเสียของเรา แต่เราก็อยากจะจัดการกับมันอยู่ลึกๆ ด้วยเหตุนั้นเราจึงจัดการข้อเสียเหล่านั้นในตัวคนอื่นแทน”
.
กลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism) ประเภทนี้เรียกว่า ‘การโทษผู้อื่น’ (Projection) ซึ่งก็คือการที่เราโยนความรู้สึกนึกคิดหรือความต้องการที่เราไม่กล้ายอมรับให้กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น
.
เช่น ผู้ชายคนหนึ่งมักจะต่อว่าภรรยาของเขาเพราะเธอซื้อรองเท้าไม่หยุด ขณะเดียวกันผู้ชายคนนั้นก็สะสมหนังสือเต็มชั้นเช่นกัน หรือ เราไม่ชอบที่เพื่อนเราขี้เกียจ ทั้งๆ ที่จริงแล้วเรามีปัญหากับความขี้เกียจเสียเอง
.
การโทษผู้อื่นทำให้เราได้ตำหนิคุณลักษณะบางอย่างที่เรามองว่าน่ารังเกียจ ขวางหูขวางตา หรือไม่ถูกใจเรา กลไกการป้องกันตัวนี้บางครั้งก็ไม่รุนแรง แต่บ่อยครั้งก็สร้างความลำบากใจให้แก่ผู้อื่น
.
.
นิสัยชอบตัดสินคนอื่นอาจเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะการได้บอกว่าอะไรดี อะไรเลว ช่วยเติมเต็มความรู้สึกว่าเราคิดถูกและทำให้เราเข้าใจสิ่งนั้นได้ง่ายๆ แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นไม่ใช่ความจริงเสมอไป และบางทีเราอาจกำลังทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoonpodcast
#mission #พอดแคสต์
6
โฆษณา