18 มิ.ย. 2021 เวลา 01:00 • การศึกษา
การเลือกขนาดมิเตอร์ให้เหมาะสมกับบ้านของคุณ
วิศวะ 101
การไฟฟ้าที่มีหน้าที่จัดจำหน่ายไฟฟ้าตามบ้านเรือนในประเทศไทย จะมีอยู่ 2 การไฟฟ้า นั่นก็คือ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)
ซึ่ง กฟน. จะครอบคลุม 3 จังหวัดนั่นคือ กทม. สมุทรปราการ และนนทบุรี ส่วน กฟภ. จะครอบคลุมจังหวัดที่นอกเหนือจาก 3 จังหวัดนี้
ซึ่งมิเตอร์ก็จะมีทั้ง 1 เฟส และ 3 เฟส โดยรุ่น 3 เฟส กฟน. จะมีขนาดให้เลือกมากกว่า แต่รุ่น 1 เฟส จะมีเหมือนกัน นั่นคือ มิเตอร์ขนาด 5(15) A, 15(45)A และ 30(100)A ตามลำดับ (ซึ่ง กฟน. จะมีอีกขนาดคือ 50(150) A ซึ่ง กฟภ. ไม่มี) แต่ในมิติของบ้านทั่วๆ ไป ก็มักจะใช้มิเตอร์ 1 เฟส เป็นหลัก ผมจึงขอโฟกัสเฉพาะขนาด 5(15) A, 15(45)A และ 30(100)A เป็นหลักนะครับ แล้วจะมีวิธีการเลือกขนาดมิเตอร์ให้เหมาะสมยังไง วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟัง
การหาขนาดมิเตอร์ต้องย้อนกลับไปเรื่องการคำนวณโหลดไฟฟ้าที่เราใช้ในบ้านทั้งหมดก่อนครับ พูดถึงการคำนวณ ทุกคนอาจจะเมินหน้าหนี แต่ผมจะพยายามอธิบายให้ย่อยง่ายๆ แบบนี้แล้วกันนะครับ
ทุกเครื่องใช้ไฟฟ้ามันจะมีกำลังไฟบอกอยู่แล้วครับ ว่ากี่วัตต์ โดยมากมันจะติดเป็น Nameplate ที่ข้างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ เลย เช่น เครื่องทำนำ้อุ่นขนาด 2,000 วัตต์ เป็นต้น
ทีนี้แหละครับ เราก็จะต้องออกแบบก่อนว่า แต่ละพื้นที่จะให้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรบ้าง เช่น ห้องทำงาน ก็อาจจะมีโคมไฟ คอมพิวเตอร์ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
ขั้นตอนนี้ก็ให้เอากำลังไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดมาบวกกัน สมมติว่ากำลังไฟทั้งหมดในห้องทำงานนี้เท่ากับ 3,000 วัตต์แล้วกันนะครับ
หลังจากนั้นก็ให้ทุกคนเอา 3,000 วัตต์ มาหารด้วย 0.8 เพื่อแปลงหน่วยวัตต์ให้เป็นหน่วยวีเอ(VA) ครับ ซึ่งก็จะเท่ากับ 3,750 VA จากนั้นให้ทดไว้ในใจก่อน
เพราะมันจะมีโหลดที่เราไม่สามารถทราบได้ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไร ซึ่งก็จะต้องเสียบปลั๊กใช้งาน ดังนั้น เราก็จะเผื่อ VA ไปปลั๊กละ 200 VA ครับ โดยให้สมมติห้องทำงานมีปลั๊ก 2 จุดนะครับ ก็จะรวมกันได้ 400 VA
ทีนี้ ให้เอาทั้ง 2 ค่ามารวมกัน ก็จะเท่ากับ 3,750 + 400 = 4,150 VA นี่คือตัวเลขกำลังไฟสำหรับห้องทำงานนี้
จากนั้นก็ให้เอาทั้งบ้าน โดยใช้คอนเซปการคำนวณแบบนี้มารวมกันครับ โดยผมสมมติให้ทั้งบ้านมีกำลังไฟทั้งหมด 15,000 VA แล้วกันนะครับ (คำนวณจริง ควรจดค่ากำลังไฟของแต่ละเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยแยกเป็นห้องลงในกระดาษไว้)
หลังจากนั้น ก็ให้ทุกคนลองประมาณดูครับว่า โอกาสที่จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดทุกตัวมีกี่ % ในที่นี้ ผมประมาณว่าใช้พร้อมกัน 80% ของโหลดทั้งหมดนะครับ
ทุกคนก็จะได้กำลังไฟมา 12,000 VA จากนั้นให้ทุกคนนำแรงดันไฟฟ้ามาหารครับ ซึ่งแรงดันไฟฟ้าในบ้านทั่วไปจะอยู่ที่ 230 โวลท์ ก็จะได้ 12,000/230 = 52 ซึ่งมีหน่วยเป็นแอมป์(A) จากนั้นให้ทุกคนเผื่อกระแสอีกนิดหน่อย ประมาณ 25% ก็จะเท่ากับ 52x1.25 = 65 แอมป์
เราก็จะได้เบรกเกอร์ในตู้ไฟฟ้าเราคือขนาด 80 แอมป์ครับ (เลือกเบรกเกอร์ที่มีขายให้ขนาดใหญ่กว่าที่คำนวณออกมา)
จากนั้นก็ไปดูขนาดมิเตอร์ จากเบรกเกอร์ที่เราใช้ครับ โดย
มิเตอร์ขนาด 15(45) จะใช้เบรกเกอร์สูงสุดได้ 50 A
มิเตอร์ขนาด 30(100) จะใช้เบรกเกอร์สูงสุดได้ 100 A
แต่เบรกเกอร์ที่เราใช้คือ 80 A
ดังนั้น จึงสรุปว่าบ้านหลังนี้ ต้องใช้มิเตอร์ขนาด 30(100) แอมป์ ครับ
ปล. ขนาดเบรกเกอร์สูงสุดที่ใช้ได้แต่ละขนาดมิเตอร์ของ กฟน. และ กฟภ. จะแตกต่างกัน แต่สามารถใช้คอนเซปเดียวกันได้ และในที่นี้ผมอ้างอิงจากมิเตอร์ของ กฟน.
สนใจคอร์ส 2 in 1 เรียน AutoCAD พร้อมออกแบบไฟฟ้าในบ้านตอบโจทย์แน่นอนครับ
ราคาพิเศษ 990 บาท (จากปกติ 1,290 บาท จำกัด 100 คน ที่ว่างใกล้เต็มแล้ว!!)
ชมรายละเอียดหรือสมัครเรียนได้ที่
สอบถามได้ที่ แอดมินศิวา
โฆษณา