14 มิ.ย. 2021 เวลา 05:26 • ประวัติศาสตร์
เรื่องเหี้ยๆ
1
เหี้ย เป็นสัตว์เลื้อยคลานตระกูลเดียวกับตะกวดแต่ใหญ่กว่า
1
วงศาคณาเหี้ยของไทยมี ๔ ชนิด ได้แก่ เหี้ย (ตัวเงินตัวทอง) ตะกวด (จะกวด, แลน) เห่าช้าง และตุ๊ดตู่
เหี้ยกินเนื้อสัตว์และซากสัตว์ที่คนเห็นว่าโสโครกเป็นอาหาร เหี้ยจึงเป็นนิมิตของสิ่งน่ารังเกียจมาแต่โบราณ
1
สุนทรภู่สอนผู้หญิงอย่างไม่อ้อมค้อมว่าอย่าเลือกผัวสูบฝิ่นกินสุราเพราะจะจัญไรเหมือน “เลี้ยงเหี้ย” ดังตัวอย่าง
1
“...มักเบียดเบียนบีฑาประดาเสีย
เหมือนเลี้ยงเหี้ยอัปรีย์ไม่มีผล
ไม่ทำมาหากินจนสิ้นตน
แล้วซุกซนตีชิงเที่ยววิ่งราว...”
(สุภาษิตสอนหญิง)
1
คนไทยเชื่อว่าเหี้ยขึ้นเรือนเป็นอุบาทว์อย่างหนึ่ง ดังที่กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงกล่าวว่า
"...ฉิบ หายกลายกลับซ้ำ อัปรมาณ/ หาย ดั่งเหี้ยร้ายทยาน เย่าเข้า/วาย วอดตลอดลูกหลาน เหลนสืบ โซมแฮ/ชนม์ ก็ดับสูญเศร้า คิดหน้าอนิจจังฯ..." (โคลงจินดามณี)
วรรณกรรมคำพยากรณ์ว่าด้วยอุบาทว์และวิธีแก้ เรื่อง "อาธิไท้โพธิบาทว์" ไม่ได้กล่าวถึงกรณี “เหี้ยขึ้นเรือน” ไว้ แต่ในตำราพรหมชาติกล่าวถึง “อุบาทว์เหี้ย” และวิธีแก้ว่า
“...ถ้าเหี้ยแลจังกวดขึ้นเรือนก็ดี ให้บูชาด้วยเหล้า ข้าว และธูปเทียนจะได้ลาภอันพึงใจแล...”
1
อ.สถิตย์ เสมานิล กล่าวถึงคัมภีร์เล่มหนึ่งชื่อ “อุปาทวศาสตร์” ว่าด้วยเรื่องอุบาทว์และวิธีแก้เช่นเดียวกับอาธิไท้โพธิบาทว์ไว้ใน "วิสาสะ" เล่ม ๑ ว่า
เหี้ยขึ้นเรือนมีคติขับอัปมงคลแนวเดียวกับแร้งจับหลังคา คือทันทีที่เห็นให้เรียกดังๆ ว่า “มังกรมาให้ลาภ” หรือ “พญานาคมาให้ลาภ” แล้วจึงจุดธูปบอกกล่าว
เรื่องเรียก “เหี้ย” ว่า “มังกร” หรือ “พญานาค” นี้ กรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงแต่งเป็นโคลงล้อไว้ว่า
"...มังกรเป็นชื่อใช้ เชิงแฝง ด้วยนา/ขึ้นเย่าเราขยะแขยง โยคเปลี้ย/ยักย้ายอุบายแปลง นามเปลี่ยน/ชื่อที่จริงคือเหี้ย โหดร้ายมลายสินฯ..." (สามกรุง)
บทถามตอบของหญิงชายตามขนบเพลงยาวใน “นิราศเที่ยวถ้ำวิมานจักรี” อ้างอิงว่าคตินี้มาจากนิทานเรื่องเศวตโคธา ใน “นนทุกปกรณัม”
นิทานกล่าวถึงฝูงตุ๊ดตู่ที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้ในป่าใหญ่อย่างมีความสุข
ต่อมามีเหี้ยตัวหนึ่งไร้ที่พักพิงมาอ้อนวอนขออาศัยอยู่ด้วย ตุ๊ดตู่สงสารก็รับไว้
วันหนึ่งนายพรานเดินผ่านมา เหี้ยสำคัญตนผิดคิดว่าเป็นจระเข้ก็รี่เข้าฟาดหางทำร้าย
พรานโกรธจัดจึงตีเหี้ยจนกะปลกกะเปลี้ยหนีเข้าโพรง
พรานตามไปปิดปล่องโพรงด้านบนแล้วสุมไฟด้านล่าง
ตุ๊ดตู่เจ้าของบ้านจึงพากันตายยกครัว
เป็นเหตุให้คนรังเกียจเหี้ยว่าขึ้นเรือนแล้วเป็นเสนียดจัญไรเพราะจะทำให้เจ้าของเดือดร้อน
แต่ให้น่ารังเกียจขยะแขยงเพียงไรคนก็ยังกินเหี้ยกินตะกวดทั้งตัวทั้งไข่เป็นของโอชารส
เนื้อเหี้ยเหม็นสาบกว่าเนื้อตะกวด คนจึงนิยมกินตะกวดมากกว่า และเนื้อตรงโคนหางที่เรียกว่า "บ้องตัน" นั้นวิเศษกว่าส่วนใดทั้งหมด
ซ่มจีน (ราชานุประพันธ์) กล่าวถึง “แกงขั้วเนื้อจังกวดย่าง” ไว้ใน “ตำรากับเข้า” ว่าถ้ามีเหล้าบรั่นดีก็ให้ใส่ลงไปในแกงด้วย
ส่วนไข่เหี้ยรูปร่างยาวรีคล้ายไข่เป็ดและนุ่มนิ่มเหมือนไข่จะละเม็ด
1
วิธีกินคือนำไปต้มพอสุก นำมาเจาะรูให้ทั่วแล้วแช่น้ำเกลือ ผิงไฟอ่อนๆ ให้หอม กินกับมังคุดอร่อยนัก
1
สาวชาววังสวนสุนันทาอย่าง ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ ก็เคยกินไข่เหี้ย
ท่านเล่าว่าครั้งหนึ่งมีผู้นำไข่เหี้ยดิบๆ มาถวายพระวิมาดาเธอฯ ชะลอมหนึ่ง
“...โปรดให้ทดลองเอาขึ้นย่างไฟอ่อนๆ จนสุก ผ่าสองซีกออกไปไข่ขาวไม่มี มีแต่ไข่แดงสีเหลืองจัด สุกแล้วหอม กลิ่นชวนกิน ลองเคี้ยวดูไข่แดงมันร่วนอร่อยมาก มีรสมันจัดกว่าไข่เค็ม...” (ชีวิตในวัง)
1
ดังนี้จึงมีสำนวนเรียกพวกที่เกลียดตัวเขาแต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขาว่า “เกลียดตัวกินไข่”
2
เช่น “...เกลียดตัวกินไข่ไม่เคยพบ คอยพาลตบค่อนว่าหน้าด้าน...” (แก้วหน้าม้า)
มีขนมอย่างหนึ่งทำด้วยแป้งทอด มีไส้ทำด้วยถั่วเขียวนึ่งผัดกับพริกไทย เกลือกนํ้าตาลจนแห้ง ลักษณะกลมอย่างไข่เหี้ย ชื่อ “ขนมไข่เหี้ย”
1
“บาญชีขนมต่างๆ” พิมพ์เมื่องานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕ เรียก “ขนมฟองเหี้ย”
มักกล่าวกันว่าเจ้าจอมแว่นในรัชกาลที่ ๑ เป็นผู้คิดทำขนมไข่เหี้ย และว่าต่อมาเปลี่ยนเรียกเป็น “ไข่หงส์”
แต่จุลลดา ภักดีภูมินทร์ หรือหม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ ว่า “ไข่เหี้ย” กับ “ไข่หงส์” เป็นขนมคนละอย่าง
“...ขนมไข่หงส์ ตัวไส้ทำอย่างเดียวกัน ภายนอกหุ้มด้วยสาคูเม็ดเล็กที่ผสมน้ำตาลทรายแดง ออกสีน้ำตาลแดงอ่อนๆ ปั้นให้เป็นฟองรีเล็กกว่าไข่ไก่สักครึ่งหนึ่ง...” (เวียงวัง เล่ม ๑)
นอกจากนี้ยังมีมะม่วงป่าพันธุ์หนึ่งเรียกว่า “ไข่เหี้ย” ด้วย ดังตัวอย่าง
“...ไข่เหี้ยไข่นกกะสา กะล่อนป่ากะล่อนสวน อีกสาวละห้อยหวน สาวสะกิดมารดาดู (พรรณพฤกษา)
อนึ่ง ในยุคที่คำหยาบคายกลายเป็นเรื่องปรกติ เราอาจพบคำว่า “เหี้ย” ในสถานการณ์ทางภาษาที่มิได้ใช้เป็นคำด่าได้ทั่วไป
เช่น น่ากลัวเหี้ยๆ สนุกเหี้ยๆ ทำเหี้ยอะไรอยู่ มึงเอาเหี้ยอะไรคิด จะเอาเหี้ยอะไรไปให้เขา เงินเดือนขึ้นหรือเปล่า-ขึ้นเหี้ยอะไรล่ะ ฯลฯ
เพื่อนมัธยมต้นทุกคนรู้ดีว่า "เลอกัญจน์" เป็นคนแผลงๆ
วันที่เลอกัญจน์ติดต่อขอให้ช่วยงานเขาจึงต้องถามความเห็นเพื่อนคนอื่นก่อน
"อย่าทำ!!!" เพื่อนคนหนึ่งกำชับ
"--มึงจำที่อยู่ดีๆ มันก็โกนคิ้วข้างหนึ่งมาโรงเรียนไม่ได้หรือไง" อีกคนโน้มเอาเรื่องเก่ามาน้าวใจเขาให้ปฏิเสธ
เขาลังเลแต่ก็รับงานมาทำในที่สุด
ถึงวันส่งงานเลอกัญจน์ว่ามีของจะให้ พอเปิดถุงกระดาษหยิบของขึ้นมาเห็นได้ถนัดถนี่ เขาก็รีบหดมือกลับ
"อะไร--" เขาถาม
"หมอนเหี้ย" เลอกัญจน์ตอบหน้าตาเฉย
หมอนเหี้ยที่ว่าคือหมอนทรงเหี้ยและพิมพ์ลายเหี้ย
"มันมีห้าหกแบบ กูซื้อมาให้มึงทุกแบบเลย"
"เก็บไว้เถอะ" เขากลั้นใจพูดอย่างเหลืออด "เอาไว้ตอบคำถามเมียมึง!!!"
"ตอบเติบอะไร ? นี่ค่าทำงานมึงเลยนะ" นอกจากไม่สำนึกแล้วน้ำเสียงนั้นยังฟังดูลำเลิกเอาความดี
เขาไม่คิดเสียดายเงินและมิตรภาพแต่หนหลังอีกแล้วจึงพูดเสียงดังอย่างให้คนอื่นได้ยินด้วยว่า
"ก็เอาไว้ตอบเวลาเมียถามว่ามึงเป็น 'เหี้ย' อะไรไง"
ปรัชญา ปานเกตุ เขียนเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
#ศัพทาธิบาย #ศัพทานุกรม #ศัพทานุกรมวัฒนธรรมไทย #Lexicon of Thai Culture #ศัพทานุกรมวรรณคดีไทย # Lexicon of Thai Literature #วรรณคดี #วรรณกรรม #ประวัติศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #สุภาษิตสอนหญิง #โคลงจินดามณี #อาธิไท้โพธิบาทว์ #ตำราพรหมชาติ #อุปาทวศาสตร์ #วิสาสะเล่ม๑ #สามกรุง #นิราศเที่ยวถ้ำวิมานจักรี #นนทุกปกรณัม #ตำรากับเข้า #ชีวิตในวัง #แก้วหน้าม้า #บาญชีขนมต่างๆ #เวียงวังเล่ม๑ #พรรณพฤกษา
คำบรรยายภาพ
หมอนเหี้ยลายต่างๆ ขอบคุณภาพจาก twitter
โฆษณา