14 มิ.ย. 2021 เวลา 08:55
รู้จักกับ “Breadcrumbing”
เมื่อเขาแค่อยากเก็บเราไว้ แต่ไม่ได้อยากจริงจัง
นอกจากการงาน การเงิน และสุขภาพ เรื่องความรักและความสัมพันธ์ก็เป็นอีกด้านหนึ่งในชีวิตที่สำคัญมากเช่นกัน เป็นด้านที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจมากๆ แถมยังเข้าใจยากขึ้นทุกวันเสียด้วย
.
ความเปลี่ยนแปลงในสังคมทำให้ความสัมพันธ์ในยุคปัจจุบันดูจะเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นกว่าในอดีตมาก ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ค่านิยมใหม่ๆ และเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อคนได้กว้างไกล แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนรู้สึกว้าวุ่นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว เพราะพฤติกรรมขอคนที่เปลี่ยนไป
เราเลยได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ (ที่ไม่เคยมีในยุคคุณตาคุณยาย) ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์การมี ‘คนคุย’ แต่ไม่ได้คบ การ ‘โดนเท’ หรือ ghosting เป็นต้น
.
และอีกหนึ่งพฤติกรรมในความสัมพันธ์สมัยใหม่ที่เราอยากให้ทุกคนรู้จักก็คือ “Breadcrumbing”
.
.
Breadcrumbing #คืออะไร
.
เคยเจอแบบเหตุการณ์แบบนี้ไหม? เราเจอใครคนหนึ่งที่เรารู้สึกสนใจ และเขาก็ ‘เหมือนจะ’ สนใจในตัวเราเช่นเดียวกัน เพราะเขาทักมาก่อนบ้าง กดไลก์บ้าง ตอบไอจีสตอรี่เราบ่อยๆ และบางครั้งถึงกับส่งรูปร้านสวยๆ มาชวนเราว่า ‘ไว้ไปกัน’ (แต่ก็ไม่เคยจะนัดกันจริงจังสักที)
.
และที่สำคัญที่สุดคือ.. เขามาๆ หายๆ!
.
พอเราเริ่มเหนื่อยกับความไม่ชัดเจนและทำทีว่าจะเงียบหายไปบ้าง คนคนนั้นมักจะหันมาให้ความสนใจเราอีกครั้ง จนเรารู้สึกว่า คราวนี้เราอาจจะได้พัฒนาความสัมพันธ์กันก็ได้นะ แต่สุดท้ายเรื่องราวก็ลงเอยแบบเดิมเสียทุกครั้ง
.
พฤติกรรมแบบนี้นั่นเองที่เราเรียกว่า “Breadcrumbing” โดยคำว่า Bread crumbs นั้นมีความหมายว่า ‘เศษขนมปัง’ เป็นการเปรียบเปรยว่า การกระทำนี้เหมือนกับการวางเศษขนมปังล่อให้คนเดินตาม คล้ายกับฉากในเทพนิยายเด็กเรื่องฮันเซลและเกรเทล (หรือถ้าพูดแบบใจร้ายก็คือเหมือนกับตอนที่เราพยายามล่อหมาแมวด้วยขนม) ส่วนคำที่ใกล้เคียงในภาษาไทยคงจะหนีไม่พ้นคำว่า ‘หว่าน’ ‘อ่อย’ หรือ ‘การให้ความหวัง’ นั่นเอง
.
.
คนเรา Breadcrumbing ไป #เพื่ออะไร
.
สาเหตุที่คนทำพฤติกรรมเช่นนี้ (โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) เป็นเพราะ ‘ความเหงา’ ความเหงาเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ และโดยปกติเราคลายเหงาด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนรัก
ทว่าในชีวิตจริง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีและลึกซึ้งต่อเพื่อนหรือครอบครัว และไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมสร้างความสัมพันธ์จริงจัง ดังนั้นเพื่อเติมเต็มความต้องการทางสังคม (social needs) พวกเขาจึงหันมาใช้ความสัมพันธ์อัน ‘ตื้นเขิน’ จำนวนมากเป็นการทดแทน เช่น การมีคนคุยหลายๆ คนในเวลาเดียวกันแต่ไม่จริงจังสักคน เป็นต้น
.
อีกสาเหตุคือ ‘ความรู้สึกไม่มั่นคง’ (insecure) หลายๆ คนมักจะมีแผนสำรอง เมื่อไม่มั่นใจว่าความสัมพันธ์ปัจจุบันจะไปรอดไหม เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ชอบความไม่แน่นอน เลยพยายามทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย (secure) โดยการเก็บใครบางคนไว้เป็น ‘ตัวสำรอง’
.
ส่วนคนที่เผลอให้ความหวังคนอื่นโดยไม่รู้ตัว อาจเป็นไปได้ว่าเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ณ ตอนนี้เราต้องการอะไร เราแค่อยากเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้รู้ว่าใครดีที่สุดสำหรับเรา
.
เราไม่ได้เกิดมาเพื่อรู้ทุกอย่าง แต่เราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ ดังนั้นการที่เราไม่แน่ใจและไม่รู้ว่าต้องการอะไรจากความสัมพันธ์นั้นไม่ใช่เรื่องผิดเลย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า หากไม่มีการสื่อสารเจตนารมณ์ให้ชัดเจน เราอาจเผลอทำให้อีกฝ่ายอาจเสียทั้ง ‘เวลา’ และ ‘ความรู้สึก’ ได้
.
.
Breadcrumbing #ส่งผลเสียอย่างไร
.
บางครั้งคนที่ให้ความหวัง เขาก็ไม่รู้ตัวว่าเขาสร้าง ‘ความเสียหาย’ ให้คนอื่นมากน้อยแค่ไหน
.
งานวิจัยล่าสุดที่ศึกษาเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิต ความโดดเดี่ยว และความรู้สึกไร้ค่าในกลุ่มคนที่ถูก Breadcrumbing ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่จำนวนกว่า 600 คน อายุตั้งแต่ 18 ถึง 40 ปี โดยแบ่งเป็นชายและหญิงจำนวนเท่าๆ กัน ผลการวิจัยพบว่าคนที่โดนให้ความหวังเหล่านี้รู้สึก ‘ไม่มีความสุขกับชีวิต ไม่มีค่าและโดดเดี่ยว’
.
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจของใครบางคนอย่างมาก ดังนั้น ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายทำนิสัยมาๆ หายๆ เราอาจลองคุยกับอีกฝ่ายให้ชัดเจนว่าเจตนาของเราคืออะไร เพื่อที่จะได้ไม่ทำร้ายอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว
.
แล้วกรณีที่เราเป็นฝ่ายถูก Breadcrumbing ล่ะ?
.
.
โดน Breadcrumbing #ต้องทำอย่างไรดี
.
หากเราไม่มีความสุขกับอาการเอาแน่เอานอนไม่ได้ของอีกฝ่าย และเรามั่นใจแล้วว่า เรากำลังมองหาความสัมพันธ์แบบจริงจังอยู่ เราควรเลิกหยิบเศษขนมปังแห่งความหวังที่เขาโยนให้ และสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา บอกเขาไปตามตรงว่าเราต้องการอะไรจากความสัมพันธ์นี้ และถามความต้องการของอีกฝ่าย หากได้คำตอบแล้ว เราจะได้ตัดสินใจกับตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อ
.
ไม่ใช่เรื่องน่าอายหากเราจะถามคำถามที่ใครหลายคนอาจมองว่า ‘จริงจัง’ ออกไป หากสิ่งนี้ทำให้เราไม่สบายใจ ก็ไม่มีเหตุผลที่เราต้องอยู่ในสถานะดังกล่าวต่อไป อย่าลืมว่าความรู้สึกและความต้องการของเราสำคัญที่สุดเสมอนะ
.
.
อ้างอิง
.
#missiontothemoonpodcast
#mission #พอดแคสต์
3
โฆษณา