14 มิ.ย. 2021 เวลา 16:07 • ครอบครัว & เด็ก
“เล่นกับลูกยังไง ให้ไม่เหนื่อย”
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ การเล่นนั้นไม่ใช่เรื่องไร้สาระ และไม่ใช่เรื่องที่เสียเวลา เพราะเข้าใจว่าการเล่นนั้นคือวิธีการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคม เยียวยาด้านอารมณ์ ฝึกฝนทักษะทางร่างกาย หรือเพิ่มพูนความรู้ ความคิด และสติปัญญา การเล่นเป็นวิธีการที่จะทำให้เขาเริ่มเข้าใจโลกและเข้าใจตัวเอง
1
งานวิจัยด้านการเล่นทำให้เห็นการเล่นหลัก ๆ อยู่สามแบบ คือ free play (เล่นอย่างอิสระ) guided play (เล่นแบบชี้นำ) และ game play (เล่นเกม) ซึ่งหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่จะแตกต่างออกไปตามรูปแบบการเล่น ในภาพรวมนั้น เราอยากจะชวนให้เด็ก ๆ ได้มีการเล่นที่หลากหลาย เช่น ไม่ได้เล่นเกมอย่างเดียว แต่ได้เล่นอย่างอิสระด้วย บาลานซ์ไปกับการเล่นแบบชี้นำ เพราะการเล่นแต่ละแบบนั้น จะส่งเสริมทักษะและความรู้คนละด้าน เรามาค่อยๆดูไปทีละด้านกันค่ะ
หน้าที่ 1: Free Play <> Parent as Follower (การเป็นผู้ตามการเล่นที่ดี)
(เหมาะมาก ๆ สำหรับเวลาเหนื่อยแล้วแต่ลูกชวนให้เล่นด้วย)
Free Play คืออะไร
การเล่นอย่างอิสระคือการเล่นที่เด็ก ๆ เลือกเอง อยากเล่นอะไร เล่นยังไง อยากเล่นกับใคร ซึ่งเด็ก ๆ จะเป็นผู้นำในการเล่นนั้น เขาจะเป็นคนตั้งเป้าหมายในการเล่น สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองผ่านการตั้งคำถาม ทดลอง และคิดไอเดียใหม่ นอกจากนี้ การเล่นชนิดนี้เป็นการเล่นที่สำคัญมากซึ่งพัฒนาทักษะได้ร้อยแปดพันอย่าง เช่น การเล่นแบบสมมุติของเด็ก ๆ เป็นการฝึกการควบคุมตัวเองตลอดเวลาที่สวมบทบาทนั้น หรือ การประดิษฐ์งานคราฟต่าง ๆ ทำให้เด็ก ๆ ฝึกแก้ปัญหาตลอดเวลาเมื่อของบางอย่างไม่สามารถใช้ได้แบบที่เขาได้จินตนาการไว้ การเล่นกับวัสดุที่หลากหลายยังทำให้เด็ก ๆ เริ่มพัฒนารสนิยมของตัวเอง อะไรที่ชอบหรือไม่ชอบ อะไรรู้สึกดีเวลาที่ได้ใช้
1
Parent as Follower ควรทำอย่างไร
หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ คือการให้เด็ก ๆ นำการเล่นและเราเป็นผู้ตามโดยที่เราสังเกต รับรู้ รับฟัง ยอมรับ และช่วยทำในสิ่งที่เด็ก ๆ ขอ ไม่มีอะไรมากมายนอกเหนือไปจากนั้น อ่านแล้วเหมือนง่ายนะคะ แต่สิ่งที่เราทำคือการอยู่กับเด็ก ๆ ให้เห็นจริง ๆ ว่าเขาทำอะไรอยู่ อยากทำอะไร เพราะอะไร คิดยังไง โดยไม่เอาความคิดหรือตรรกะของผู้ใหญ่มาขัดการเล่นของเขา การที่ปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นแต่เราไม่ค่อยสนใจนั้น ก็ไม่ใช่การเป็นผู้ตามนะคะ แต่การเป็นผู้ตามคือการอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด เช่น
1
หากเด็กคนนึงเล่นต่อบล็อคอยู่ เราสามารถนั่งข้าง ๆ และสังเกตสิ่งที่เขาอยากสร้าง ยิ้มให้กำลังใจ ไม่ต้องพยายามตีความว่าเราคิดว่าเขาทำอะไร แต่ให้เขาเป็นคนเล่าให้เราฟังเองเมื่อเขาอยากเล่น ถ้าเขาอยากให้เราไปหยิบของให้ เราก็หยิบให้ ถ้าเขาบอกว่า ช่วยหนูสร้างเมืองหน่อย เราก็สร้างตามแบบที่เขาทำ
การเล่นกับลูกในรูปแบบ “เล่นตาม” มีงานวิจัยค้นพบว่า เมื่อผู้ใหญ่ไม่บอกเด็ก ๆ โดยตรงว่าของเล่นชิ้นนึงเล่นอย่างไรนั้น จะทำให้เขาสามารถคิดวิธีการเล่นได้มากกว่าเด็กที่ผู้ใหญ่บอกว่าควรเล่นอย่างไรได้ถึง 3 เท่า
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะได้จากการสังเกตลูก ๆ เล่น
เวลาเราไม่แทรกเขา ไม่ชี้สิ่งที่ควรจะทำ แต่ฟังและยอมรับในสิ่งที่เขาทำแทนนั้น จะสร้างความมั่นใจและทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าเราเคารพเขา ซึ่งหลาย ๆ ครั้งในการอยู่ในโลกของผู้ใหญ่นั้น คนอื่นอาจจะไม่เคารพเขา คิดว่าเพราะเป็นเด็กเลยไม่มีสิทธิ์เท่าผู้ใหญ่ ส่วนตัวแล้วเป็นการเล่นที่คิดว่าเด็ก ๆ ในปัจจุบันขาดที่สุด เพราะส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมแน่นกัน ไม่ว่าจะเล่นดนตรี เรียนศิลปะ หรือเล่นกีฬา แต่การที่เด็ก ๆ มีเวลาเล่นอย่างอิสระนั้นสำคัญที่สุด
แนะนำเพิ่มเติม: Play Story & Play Sharing
หลังจากที่เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างอิสระแล้ว ลองชวนเด็ก ๆ วาดรูปในสิ่งที่เขาเล่นไป และเมื่อวาดเสร็จแล้วชวนเด็ก ๆ เล่าให้เราฟังค่ะ ว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้น มีอะไรบ้าง การที่ชวนให้เด็ก ๆ สะท้อนถึงสิ่งที่เขาได้ทำไป จะช่วยให้เขาได้ฝึกอธิบายและสื่อสารความคิด และทำให้เรารู้ลึกขึ้นด้วยว่าลูกคิดอะไรอยู่
การเป็นผู้ตามการเล่น ไม่ใช่ว่าจะง่ายที่สุด แต่เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องเตรียมคิดหรือเตรียมอุปกรณ์ให้เด็ก ๆ ส่วนตัวแล้วเป็นการเล่นที่คิดว่าเด็ก ๆ ในปัจจุบันขาดที่สุด เพราะส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมแน่นกัน ไม่ว่าจะเล่นดนตรี เรียนศิลปะ หรือเล่นกีฬา แต่การที่เด็ก ๆ มีเวลาเล่นอย่างอิสระนั้นสำคัญที่สุด
1
นิญตา ลิ้มปิติ (ครูพลับ)
Harvard Graduate School of Education
Technology, Innovation and Education
อ้างอิง
Jensen, H., Pyle, A., Zosh, J. M., Ebrahim, H. B., Zaragoza Scherman, A., Reunamo, J., & Hamre, B. K. (2019). Play facilitation: the science behind the art of engaging young children (white paper). The LEGO Foundation, DK.
Dansky JL, Silverman I. Effects of play on associative fluency in preschool-aged children. Dev Psychol. 1973;9(1):38–43
โฆษณา