15 มิ.ย. 2021 เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้จักคำศัพท์ที่พบบ่อย ในหุ้นกลุ่ม "โรงไฟฟ้า"
ในปัจจุบัน หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า นั้นได้ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นและดึงดูดกลุ่มนักลงทุนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนราคาของหุ้นกลุ่มนี้นั้นได้มีการปรับตัวขึ้นไปอย่างชัดเจน อาจเนื่องจากการที่มีผลประกอบการที่ค่อนข้างสม่ำเสมอและมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในระยะยาว ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การที่หุ้นกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยตรงจากการระบาดของ โรคโควิด-19 สักเท่าไหร่ แถมบางบริษัทยังสามารถสร้างรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น จากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยซ้ำ
โดยหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าก็จะมีคำที่ใช้เรียกกันในแบบที่เฉพาะของมันเอง โดยเราจะมาทำความเข้าใจกับคำศัพท์เบื้องต้น ที่เราพบเจอเป็นประจำกัน
1. IPP (Independent Power Producer) คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ที่มีกำลังในการผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ มากกว่า 90 เมกะวัตต์ขึ้นไป โดยโรงไฟฟ้าในกลุ่มนี้จะขายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐอย่างเดียว ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะนำมาจ่ายไฟให้แก่บ้านเรือนของประชาชน
2. SPP (Small Power Producer) คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ 10-90 เมกะวัตต์ โดยสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐ เช่น กฟผ.หรือภาคเอกชนซึ่งเป็นโรงงานต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมได้โดยตรง
1
3. VSPP (Very Small Power Producer) คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ โดยส่วนมากจะใช้เป็นพลังงานชีวมวล สามารถขายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐและเอกชน เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้า SPP
4. COD (Commercial Operation Date) คือ วันของการเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้า
5. PPA (Power Purchase Agreement) คือ สัญญาระหว่าง กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ที่กล่าวถึงการผลิตและขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนให้กับทาง กฟผ.
6. FT (Float Time) คือ อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร มีความหมายว่า การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในต่างประเทศ เป็นต้น
7. PDP (Power Development Plan) คือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เช่น แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ เพื่อให้มีกำลังผลิตของระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นให้เพียงพอสำหรับในอนาคต โดยจะมีการปรับปรุงเป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์
1
8. FIT (Feed-In Tariff) คือ มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เนื่องจาก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น มีต้นทุนในการดำเนินการที่ค่อนข้างสูง โดยอัตราค่า FIT จะอยู่ในรูปแบบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุสัญญาโครงการ โดยจะมีการคิดคำนวณต้นทุนจริงในด้านต่างๆ เช่น ค่าก่อสร้าง ค่าที่ดิน แนวโน้มของตัวเทคโนโลยี อัตราเงินเฟ้อ ค่าวัสดุ เป็นต้น
9. ADDER คือ มาตรการที่ภาครัฐจูงใจใช้เงินในการสนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่นเดียวกับ FIT แต่จะแตกต่างกันตรงที่เงินส่วนที่บวกเพิ่มจะขึ้นตามค่าไฟฟ้าฐาน
** เพิ่มเติม ** แล้วพวกเราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า 3 หน่วยงานการไฟฟ้า (MEA, PEA, EGAT) ที่เราคุ้นหูกันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร
โดยสามารถอธิบายง่ายๆ ดังนี้
1. การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ตัวย่อ MEA(Metropolitan Electricity Authority) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยรับไฟฟ้ามาจาก EGAT และดำเนินการจัดจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
2. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ตัวย่อ PEA (Provincial Electricity Authority ) เป็นรัฐวิสาหกิจที่รับไฟฟ้ามาจากทาง EGAT โดยทำหน้าที่เหมือนกับ MEA(กฟน.) ในการดูแลจัดจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศไทย ยกเว้น 3 จังหวัดที่ทาง MEA เป็นผู้ดูแล
3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ตัวย่อ EGAT (Electricity Generating Authority of Thailand) เป็นทั้งผู้ผลิตและเป็นผู้จัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้า และรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำมาขายต่อให้แก่ MEA PEA และผู้ใช้บริการรายอื่นๆ เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าเหล่านั้นส่งต่อให้ผู้ให้บริการในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้ "อย่าลืมที่จะหาความรู้และทำความเข้าใจในตัวธุรกิจเพิ่มเติม และประเมินความเสี่ยงของตัวธุรกิจ ก่อนการลงทุนเสมอ" เพื่อการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก egat.co.th, mea.or.th
-กดติดตาม รู้ก่อนลงทุน-
อัพเดทบทความน่ารู้เกี่ยวกับการลงทุนในทุกวัน
โฆษณา