16 มิ.ย. 2021 เวลา 13:41 • การตลาด
“ต้องรีบซื้อเดี๋ยวหมดก่อน!” ทริกกระตุ้นให้คนซื้อเพราะกลัวพลาดโอกาส ด้วยการตลาดแบบ FOMO
.
“พรุ่งนี้ 7.7 ร้านนี้ลด ต้องรอซื้อ!”
“Flash Sale แค่ 10 นาที ต้องรีบแล้ว!”
“ดาราคนนี้ใช้ ของมันต้องมีแล้ว เดี๋ยวตกเทรนด์”
“ดูรีวิว คนใช้เยอะอยู่ พลาดไม่ได้แล้ว”
.
เชื่อว่าขาช้อปหลายๆ คงเคยมีความคิดเหล่านี้ และได้ตกหลุมพรางทางการตลาด เสียหายไปกับค่าของต่างๆ กันไปจำนวนไม่น้อยแล้ว
.
เมื่อนักการตลาดทั้งหลายเอาอาการ Fear of Missing Out (FOMO) หรือความกลัวที่จะตกเทรนด์หรือพลาดโอกาสดีๆ ของคน มาผนวกกับทริกทางการตลาด กระตุ้นให้พวกเขานั้นต้องรีบซื้อรีบจ่าย เพื่อที่จะได้ของสิ่งนั้นมาครอบครองก่อนที่จะเสียโอกาสนั้นไป เป็นวิธีที่เราเห็นได้กันบ่อยๆ ในการซื้อขายออนไลน์ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายในช่องทางโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook หรือ Instagram หรือจะเป็นช่องทาง eCommerce ต่างๆ
.
สิ่งที่ทำให้วิธีการตลาดเช่นนี้ได้ผลคือการที่มนุษย์อย่างเราๆ เป็นพวกที่ ‘ชอบหลีกเลี่ยงความเสี่ยง’ ทำให้เราไม่อยากที่จะรู้สึกเสียดายในภายหลัง ถ้าเราไม่คว้าโอกาสนั้นไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ทำให้หลายๆ คนมักจะตกหลุมพรางการตลาดเช่นนี้ไปแบบไม่รู้ตัว
.
วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปดูกันว่าเทคนิคการตลาดที่หยิบยืม FOMO มาใช้มีอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลย!
.
#จำกัดเวลา
.
การจำกัดเวลาหรือการตั้ง Deadline คงเป็นวิธีที่เราเห็นได้บ่อยที่สุดตามช่องทางการขายออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยคอย่าง ‘ลดเฉพาะวันนี้’ ‘หมดเขตเที่ยงคืนนี้เท่านั้น’ หรือ ‘Flash Sale ภายใน 10 นาทีนี้เท่านั้น’ ที่เป็นการบีบคั้นให้ผู้บริโภคต้องซื้อในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อที่จะได้ราคาที่ดีกว่า
.
เห็นได้ชัดในเทศกาลลดราคาประจำเดือนอย่าง 6.6 หรือ 7.7 วันที่หลายๆ ร้านมียอดขายถล่มถลายกันท้วนหน้า เพราะผู้บริโภคจะรู้กันว่าแต่ละร้านจะลดราคาแค่วันนี้เท่านั้น ทำให้ต้องรีบซื้อ ไม่ฉะนั้นของจะหมดหรือจะไม่ได้ส่วนลด
.
อย่างไรก็ตาม การตั้ง Deadline ก็ควรที่จะหนักแน่น และไม่ควรที่จะเปลี่ยนหรือขยายเวลาบ่อยๆ เพราะจะทำให้ลูกค้าไม่เชื่อในคำพูดของแบรนด์ พวกเขาจะรู้สึกว่าก็ไม่เป็นไร ยังไงก็สามารถที่จะซื้อราคานี้ได้ เพราะเดี๋ยวร้านก็ขยายเวลา ดังนั้น แบรนด์จะต้องคิดให้ดีก่อนที่จะจำกัดเวลาการตั้งโปรโมชั่น
.
#รีวิวจากลูกค้า
.
การรีวิวจากลูกค้าที่ใช้จริงก็ถูกนำมาใช้ในการกระตุ้น FOMO โดยส่วนมากวิธีนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อลูกค้าสนใจในสินค้าเราแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจสุดท้ายว่าจะซื้อดีหรือไม่ ซึ่งบางครั้งการเห็นรีวิวการใช้จริงก็เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าในยุคนี้เลยก็ว่าได้
.
อย่างที่เราเห็นกันตามแพลตฟอร์ม eCommerce ที่จะมีฟังก์ชันให้ลูกค้ามารีวิวสินค้าที่ได้ซื้อไป และเราหลายๆ คนก็ตัดสินใจซื้อสินค้าจากรีวิวที่เราเห็นกัน ร้านไหนมีรีวิวเยอะรีวิวดี ก็ยิ่งน่าเชื่อถือและทำให้เราอยากซื้อมากขึ้น ในขณะที่ทางร้านค้าเองก็สามารถกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น โดยการโพสต์รีวิวของลูกค้าบนหน้าเพจอยู่บ่อยๆ
.
#ใช้คนมีชื่อเสียงหรืออินฟลูเอนเซอร์
.
การใช้คนที่มีชื่อเสียงหรือ Influencer ในการโปรโมตแบรนด์หรือสินค้า ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากกันในทุกวันนี้ เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่สร้างยอดขายและสร้างความไว้วางใจได้อย่างรวดเร็ว
.
ทำให้ลูกค้าหรือคนทั่วไปเห็นว่า ‘ดาราคนนี้ใช้ จะต้องฮิตแน่ๆ’ หรือ ‘เทรนด์นี้กำลังมา’ ก็เป็นการกระตุ้นให้คนนั้นอยากที่จะซื้อ เพราะอยากรีบตามเทรนด์ให้ทัน
.
โดยแพลตฟอร์มที่เราจะเห็นการใช้คนมีชื่อเสียงและ Influencer ในการโปรโมตสินค้ากันมากที่สุดคือ Instagram กว่า 79% ของนักการตลาดคิดว่า Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะที่สุดสำหรับการทำ Influencer Marketing และเชื่อว่าหลายๆ คนคงเสียเงินไปกับแพลตฟอร์มนี้กันไปไม่น้อย จากการทำการตลาดเช่นนี้!
.
#การจัดโปรโมชันแบบแพ็กรวม
.
แค่เราเห็นคำว่า Bundle Deal ก็ทำให้อยากรู้แล้วว่ามีสินค้าหรือบริการอะไรบ้างที่กำลังจัดโปรโมชั่นคู่กันอยู่ ซึ่งวิธีนี้ก็ถูกใช้ในหลายๆ ภาคธุรกิจด้วยกัน โดยส่วนมากแล้วจะถูกใช้ร่วมกับการจำกัดเวลาซื้อ
.
อย่างเช่น ‘ซื้อ 2 แถม 2 วันนี้เท่านั้น’ หรือ ‘ซื้อแพ็กเกจคู่กันนี้เพียง 399 บาท จากราคาเต็ม 1,299 บาท หมดเขตเที่ยงคืนนี้’ เห็นอย่างนี้แล้ว ลูกค้าหลายๆ คนคงพร้อมที่จะจ่ายเงินเลยทันที เพราะรู้สึกว่าถ้าพลาดไปก็จะไม่ได้ดีลดีๆ แบบนี้แล้ว
.
#การเน้นย้ำว่าจะพลาดโอกาสดีๆไป
.
ในการที่จะเร่งความกลัวของลูกค้าว่าจะพลาดอะไรไป แบรนด์ต่างๆ มักจะใช้การเขียนหรือการพูดที่เน้นย้ำว่า ถ้าพวกเขาไม่ซื้อตอนนี้ พวกเขาจะพลาดโอกาสดีๆ อะไรไปบ้าง เมื่อลูกค้าเห็นว่าตัวเองพลาดอะไรไป ‘ความกังวล’ ก็จะค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความกังวลนี้ก็ไม่ใช่อะไร แต่เป็นอาการ FOMO นั่นเอง ที่เป็นตัวผลักดันให้พวกเขารีบซื้อ
.
โดยเว็บไซต์จองที่พักอย่าง Booking ก็ใช้โอกาสจากอาการ FOMO ของคนที่เข้ามาดูเช่นกัน โดยใช้คำว่า ‘You missed it!’ หรือ ‘คุณพลาดมันแล้ว!’ เป็นตัวเน้นย้ำว่าในครั้งต่อไปคุณจะต้องรีบจองแล้วนะ ถ้าคุณเจอที่พักที่ใช่
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoonpodcast
#mission #พอดแคสต์
1
โฆษณา