18 มิ.ย. 2021 เวลา 08:37 • ปรัชญา
ประวัติพระครูวิโรจน์ รัตโนบล (บุญรอด)
วัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ฉบับเรียบเรียงใหม่
พระครูวิโรจน์รัตโนบล มีนามเดิมว่า รอด (บุญรอด) นามสกุล สมจิต เกิด เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๘ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำเดือนยี่ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๑๗ ที่บ้านแต้เก่า ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาชื่อ นายบุดดี สมจิต โยมมารดา ชื่อ นางกา สมจิตร สิบสามปีก่อนสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔
เรื่องวันเดือนปีเกิดของท่าน ข้อมูลที่ค้นมาจากแหล่งต่างๆ ได้ระบุวันเดือนปีที่แตกต่างกัน คือ
(๑) หนังสือเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ได้เรียบเรียงประวัติพระครูวิโรจน์รัตโนบลไว้ดังนี้
“...เกิดวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ มกราคม พ.ส. ๒๓๙๗"
(ปฏิทิน ๑๐๐ ปี วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๗ ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล)
(๒) หนังสืออุบลราชธานี ๒๐๐ ปี
"...เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๘ ตรงกับวันพุธขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘"
(ปฏิทิน ๑๐๐ ปี วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๘ ตรงกับ วันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ)
(๓) ข้อมูลจากเวบ guideubon.com
"...เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๘ ตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำเดือนยี่ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๑๗"
(ตามปฏิทิน ๑๐๐ ปี ขึ้น ๕ ค่ำเดือนยี่ ปีเถาะ ตรงกับวันเสาร์ ที่ ๑๒ ม.ค. ๒๓๙๘)
(๔) ตามรูปถ่ายที่คณะกรรมการจัดการก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิ พระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมืองจัดทำขึ้นเพื่อแจกในงานฉลองพระเจดีย์
"ชาตะ วันศุกร์ เดือน ๑๒ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๙๗
มรณะ วันอังคาร ที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕"
(๕) จากคำบรรยายบนรูปถ่ายที่ถ่ายไว้ขณะที่ ท่านอายุ ๘๐ ปี ระบุไว้ว่า
"ชาตะ ๒๓๙๗ มรณะ ๒๔๘๕"
******************
ถ้าจะยึดเอาวันเกิดตามจันทรคติเป็นหลัก ท่านเกิดวัน ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ
ก็จะตรงกับวันที่ตามปฏิทิน ๑๐๐ ปี คือ วันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๘
สรุป วันเกิดของท่านคือวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๘
ประวัติเมื่อวัยเด็กของท่านจนถึงเมื่อท่านออกบวชไม่ปรากฏข้อมูลมากนัก บางแหล่งข้อมูลได้ระบุว่าท่านได้บวชเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก บ้างก็ระบุว่าท่านเป็นเพื่อนกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๗๕) แต่ครั้งเป็นฆราวาส และบอกว่าญาท่านดีโลด กับ เจ้าคุณอุบาลีฯ คือ "เสี่ยวฮักเสี่ยวแพง" ของกันและกัน เจ้าคุณเป็นหมอลำ ญาท่านดีโลดเป็นหมอแคน เป็นคู่แฝด เป่าแคนลำคู่กันมาตลอด เมื่อบวชพระแล้วต่างแยกย้ายกันไป
การศึกษาเบื้องต้น
มีข้อมูลหลายแห่งระบุตรงกันว่าเมื่อยังเยาว์ก่อนอุปสมบท พระครูวิโรจน์รัตโนบล ได้รับการศึกษาเบื้องต้น คือ อักขระจากสำนักราชบรรเทา คงจะเรียนอักษรไทยน้อย (ลาว) ไทยใหญ่ (อักษรไทยปัจจุบัน) อักษรขอม อักษรธรรมที่นิยมกันในสมัยนั้น วิชาคำนวณก็คงได้ศึกษาจากวิชาเลขโบราณ ซึ่งมีสูตรเป็นภาษาสันสกฤต เช่น โท-เอกา-โท เท่ากับ สอง-หนึ่งเป็นสอง, โท-โท เท่ากับจัตวา เท่ากับ สอง-สองเป็นสี่ เป็นต้น และเรียนศิลปะศาสตร์คือวิชาแต้มเขียน (วิชาวาดรูปและลายต่างๆ) จากสำนักราชบรรเทา อาจารย์เดียวกับที่สอนหนังสือเบื้องต้น
ในเรื่องเกี่ยวกับสำนักราชบรรเทา ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาของพระครูวิโรจน์รัตโนบลนั้น จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นสำนักของที่ไหน และใครเป็นอาจารย์ แต่ได้มีผู้สันนิษฐานความเป็นไปได้ของสำนักราชบรรเทา ว่าไม่น่าจะเป็นชื่อของอาจารย์ที่สอนหากแต่เป็นชื่อของสำนัก โดยศิษย์ของพระครูวิโรจน์ฯ ผู้หนึ่งได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า สำนักราชบรรเทาอาจตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวในระยะที่พระครูวิโรจน์ฯ ศึกษาอยู่เท่านั้น จึงไม่พบถึงทุกวันนี้
ส่วนข้อมูลจากจากคำบอกเล่าของพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ผู้เคยรับใช้ใกล้ชิดท่าน ๒ รูป คือ พระใบฎีกาสังข์ ฐิตฺตธมฺโม อายุ ๙๒ ปี และ พระมหาคูณ ปญฺญาปชฺโชโต อายุ ๗๖ ปี ซึ่งเป็นศิษย์ที่คอยรับใช้อยู่หลายปี
โดยพระใบฎีกาสังข์ ได้อยู่กับญาท่านดีโลดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก จนถึงปี ๒๔๘๒ รวม ๑๖ ปี
ส่วนพระมหาคูณ ปญฺญาปชฺโชโต เคยอยู่รับใช้พระครูวิโรจน์ฯ รวม ๑๑ ปี ระหว่างอายุ ๑๘-๒๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๘๔)
ทั้งสองท่านได้ให้ข้อมูลตรงกัน แม้จะถามในเวลาต่างกัน คือ อาจารย์ด้านงานช่างของพระครูวิโรจน์ฯ คือ ครูบาธรรมวงศ์ วัดผาแก้ว อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี ซึ่งท่านได้ศึกษาวิชาอาคมจากสำนักของท่านครูบาธรรมวงศ์ด้วย
ครูบาธรรมวงศ์ วัดผาแก้ว ดอนมดแดง อุบลราชธานี
ส่วนวิชาศาสตราคมของท่าน มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้ความชำนาญด้านช่างศิลป์ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ข้อมูลเรื่องการศึกษาของญาท่านดีโลดนั้น หลวงพ่อพระมหาคูณ ปัญญาปัชโชโต และหลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธมฺโม ลูกศิษย์ใกล้ชิดญาท่านดีโลดได้เล่าไว้ตรงกันว่า ญาท่านดีโลดศึกษาวิชาช่างศิลป์และคาถาอาคมและการทำเครื่องรางของขลังมาจาก "ครูบาธรรมวงศ์" (ราว พ.ศ. ๒๓๓๔-๒๔๖๙) วัดผาแก้ว ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลฯ ซึ่งเป็นพระอาจารย์รูปเดียวที่มีชื่อปรากฏว่าเป็นอาจารย์ทางด้านคาถาอาคมของญาท่านดีโลดอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ครูบาธรรมวงศ์ยังเป็นอาจารย์ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ด้วย
เกี่ยวกับครูบาธรรมวงศ์ จากคำบอกเล่าของ หลวงปู่อินทร์ อินฺทวํโส อายุ ๘๐ ปี เจ้าอาวาสวัดผาแก้ว บอกว่าเมื่อก่อนบ้านผาแก้ว ตั้งอยู่ในเขตตำบลดอนมดแดง เป็นหมู่บ้านนักปราชญ์สืบมาตั้งแต่ครั้งตั้งเมืองอุบลราชธานี ครูบาธรรมวงศ์ ผู้เป็นอาจารย์ของพระครูวิโรจน์ฯ มีอุปนิสัยหนักไปทางด้านกรรมฐาน เป็นผู้มีคุณธรรมสูง สามารถฟังภาษาสัตว์เข้าใจ ครูบาธรรมวงศ์ มรณภาพด้วยวัย ๑๓๕ ปี ตรงกับปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับปีที่ท่าน (หลวงปู่อินทร์) เกิด และได้มีพิธีถวายเพลิงศพกลางทุ่งนา ณ บ้านผาแก้ว ตำบลกุดลาดนั่นเอง ขณะนั้นพระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีและท่านก็ได้เดินทางไปถวายเพลิงศพอาจารย์ของท่านด้วย หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้เล่าว่า เวลานั้นท่านยังเป็นเณรน้อยอยู่ และได้ติดตามญาท่านดีโลด ไปงานศพด้วย
อุปสมบท
พระครูวิโรจน์รัตโนบล อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ ขณะอายุได้ ๒๔ ปี ณ พัทธสีมาวัดป่าน้อย หรือวัดมณีวนาราม ในปัจจุบัน โดยมีเจ้าอธิการจันลา (จันทรังสี) เจ้าอาวาสวัดมณีวนารามเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คำ (สุวณฺโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “นนฺตโร” แปลว่า “ผู้มีความเมตตาแผ่กว้างออกไปไม่มีขอบเขตขีดกั้น”
หลังจากอุปสมบท ได้ศึกษาเล่าเรียนตามแบบดั้งเดิมของพระสงฆ์อีสาน ซึ่งได้แก่
๑. สวดมนต์ ๒. มูลกัจจายนะ ๓. พระวินัยทั้ง ๕ คัมภีร์ ๔. ธรรมบท ๕. ทศชาติ ๖. มงคลทีปนี ๗. วิสุทธิมรรค ๘. อภิธัมมัตถสังคหะ
และการสวดมนต์แบ่งออกเป็น ๓ หมวดคือ
สวดมนต์น้อย แบ่งออกเป็น มุงคุลน้อย (๗ ตำนาน) และมุงคุลหลวง (๑๒ ตำนาน)
สวดมนต์กลาง คือ ธมฺมจกฺกปปวตฺตนสูตร มหาสมยสูตร อนตฺตลกฺขณสูตร อาทิตคปริยายสูตร และ มาติกา
สวดมนต์ปลาย คือ สททา (สูตรมูลกัจจายนะที่ยังไม่ได้แปล) อภิธมฺมตถสงฺคหะ และ ปาฏิโมกข์
เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแต้ใหม่
เมื่อได้ฝึกหัดนิสัยจากอุปัชฌาย์พอสมควรแล้ว มีข้อมูลประวัติของญาท่านดีโลดซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมา แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ว่า เมื่อได้ศึกษาอยู่กับพระอุปัชฌาย์ระยะหนึ่งแล้ว ญาท่านดีโลด ได้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแต้ใหม่หลายปี แล้วได้ย้ายเข้ามาอยู่วัดทุ่งศรีเมือง เหตุผลการย้ายนั้นที่มีเรื่องเล่ากันต่อกันมาว่า
วันหนึ่งมีพระหลวงตาแก่องค์หนึ่ง เดินเท้ามาถึงวัดบ้านแต้ใหม่แล้วเข้าพักในศาลาวัด โดยไม่บอกใคร ไม่มีใครทราบว่ามาจากไหน ตามธรรมเนียมของวัด เมื่อมีพระอาคันตุกะเข้ามาอยู่ภายในวัด เจ้าอาวาสต้องออกไปปฏิสันถารต้อนรับ ญาท่านดีโลด ก็ออกไปสนทนาถามไถ่หลวงตาว่า มาจากไหน อยู่ที่ไหน หลวงตาตอบว่า ไม่ได้มาจากไหนหรอกอยู่วัดนี้แหละ เมื่อญาท่านมองเห็นผ้าสบงของหลวงตาเป็นผ้าลายอย่างที่ชาวบ้านนุ่ง ไม่เหมือนผ้าของพระ จึงถามว่าทำไมจึงนุ่งผ้าไหมควบ (ไหมหางกระรอก) หลวงตาตอบว่า นี้แหละผ้าถูกหลักถูกวินัยสงฆ์ ส่าหรับสงฆ์ใช้นุ่งกัน แล้วอธิบายเหตุผลยืดยาว จนทำให้ยอมรับในเหตุผลจึงต้องย้ายออกจากวัดบ้านแต้ใหม่ โดยสละวัดให้หลวงตาแปลกหน้ารูปนั้นครองวัดแทน แล้วเข้ามาพำนักที่วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งแต่บัดนั้น
วัดทุ่งศรีเมือง ก่อตั้งขึ้นในราว พ.ศ. ๒๓๕๖ โดยท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) ท่านเป็นพระชาวอุบลราชธานี ที่ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ ณ วัดสระเกศฯ ในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ขุน) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ขึ้นมาปกครองคณะสงฆ์ ณ เมืองอุบลราชธานี ในฐานะ "สังฆปาโมกข์" หรือผู้ปกครองคณะสงฆ์ทั้งปวง และท่านได้จัดการศึกษาในหัวเมืองอีสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ตั้งสำนักสอนหนังสือไทยอย่างภาคกลางขึ้นหลายแห่ง ทั้งในเมืองและนอกเมือง และท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้นำความรู้ต่าง ๆ รวมถึงงานช่างศิลปกรรมจากภาคกลางเข้ามาเผยแพร่ในพื้นที่ภาคอีสานเป็นครั้งแรก ดังจะได้เห็นได้จากสถาปัตยกรรมอันมีเอกลักษณ์ของวัดทุ่งศรีเมือง ได้แก่ หอพระพุทธบาท และหอพระไตรปิฎก ที่มีการผสมผสานของศิลปะภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหลายประการ
ประวัติพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย)
พระอริยวงศาจารย์ มีนามเดิมว่า สุ้ย ท่านเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีโดยแท้ ถือกำเนิดที่บ้านกวางคำ ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าท่านเกิดและมรณภาพปีใด แต่น่าจะอยู่ในระหว่างประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๐-๒๓๙๐ (พ.ศ. ๒๓๓๐-๒๔๑๐) นัยว่าท่านเป็นคนผิวขาวรูปร่างสง่างาม เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปพำนักศึกษาปริยัติธรรม ในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ขุน) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนสอบไล่ได้เป็นเปรียญธรรม ๓ ประโยค จากสำนักวัดสระเกศ
ขณะที่พระมหาสุ้ยพำนักศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดสระเกศนั้น เป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับรัชกาลที่ ๓ ได้โปรดเกล้าให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสระเกศครั้งใหญ่ การบูรณปฏิสังขรณ์วัดสระเกศทั้งพระอารามในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น คงจะอยู่ในความสนใจของพระมหาสุ้ย หรือท่านอาจจะเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลการบูรณะวัดสระเกศโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ หอไตร ซึ่งท่านสามารถบูรณะให้มีความงดงามเช่นเดิมได้ จนความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่ามีพระเปรียญ ๓ ประโยคจากอุบลราชธานีและเป็นผู้มีความรู้ทางช่างและวิจิตรศิลป์เป็นอย่างยิ่ง ในสมัยนั้นพระภิกษุต่างจังหวัดจะได้เป็นเปรียญนั้นหายากมาก
ต่อมาปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ หัวเมืองต่างๆ เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ยากแก่การควบคุม พระองค์มีพระราชดำริที่จะนำพระศาสนามาเป็นนโยบายในการปกครองบ้านเมือง จึงได้เลือกพระมหาสุ้ย จากวัดสระเกศฯ ให้ปกครองคณะสงฆ์ทั่วภาคอีสานและราชอาณาจักรลาวบางส่วนในสมัยนั้น รวมทั้งให้เป็นที่ปรึกษาให้สิทธิทางการปกครองแก่ฝ่ายบ้านเมือง เมืองอุบลราชธานี และพระราชทานทินนามให้เป็น "พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์" เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๗๑
เมื่อพระอริยวงศาจารย์ เดินทางกลับถึงเมืองอุบลราชธานี ได้พำนักอยู่ที่ “วัดป่าแก้วมณีวัน” หรือ วัดป่าน้อย คือ วัดมณีวนาราม ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดที่สร้างคู่กับ “วัดป่าหลวงมณีโชติ” หรือ วัดป่าใหญ่ คือ วัดมหาวนาราม ในปัจจุบัน โดยจำพรรษาอยู่ที่ กุฏิแดง
พระอริยวงศาจารย์ ฯ ได้กำกับดูแลการพระศาสนาในเมืองอุบลราชธานี ได้บริหารคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบแบบแผน และได้เริ่มวางรากฐานการศึกษาทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ ตลอดจนหนังสือไทยปัจจุบัน ตามรูปแบบการศึกษาอย่างเมืองหลวงขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี ซึ่งท่านได้จัดการศึกษาออกเป็น ๒ ส่วน คือ ภายในเมืองและนอกเมือง
พระอริยวงศาจารย์ ฯ นอกจากจะได้ศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว ท่านยังได้ปฏิบัติพระกรรมฐานจากสำนักวัดสระเกศอีกด้วย ท่านจึงเป็นพระเถระผู้มีอัธยาศัยชอบสงัด เมื่อมาพำนักอยู่วัดป่าแก้วมณีวัน จึงชอบหลีกเร้นออกไปเจริญกรรมฐานอยู่ในป่าชายทุ่ง ดงอู่ผึ้ง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดมณีวนารามเพียง ๓๐๐ เมตร ท่านเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่สงบสงัด จึงชอบอัธยาศัย และได้สร้างวัดขึ้นที่นี่ ในราวปี พ.ศ. ๒๓๕๖ (ร.๓ ประสูติ พ.ศ. ๒๓๓๑ - สวรรคต ๒๓๙๔) ก็คือวัดทุ่งศรีเมือง และที่วัดทุ่งศรีเมืองนี่เองท่านก็ได้แสดงฝีมือให้เห็นว่า นอกจากความรู้ทางพระปริยัติธรรมแล้ว ท่านยังมีฝีมือและความเชี่ยวชาญทางด้านสถาปัตยกรรม และ ความรู้สามารถในงานช่างและวิจิตรศิลป์อื่น ๆ อีกด้วย โดยได้สร้างถาวรวัตถุขึ้นหลายอย่าง เช่น หอพระพุทธบาท และหอไตรกลางน้ำ โดยเฉพาะหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งถือว่าเป็นหอไตรที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นหอไตรที่รวมเอาศิลปะพม่า ล้านช้าง และไทยเอาไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน และท่านได้สร้างหอพระพุทธบาท หรือพระอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง มีหลังคาทรงไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง นอกจากนั้น ภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมผนังเกี่ยวกับชาดกในพระพุทธศาสนา มีลักษณะงดงามตามศิลปะไทยอีกด้วย
พระอริยวงศาจารย์ฯ ละสังขารในราวปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ( ๑๔ ปีก่อน ร.๔ สวรรคต ขณะนั้น พระครูวิโรจน์รัตโนบลยังไม่เกิด ) ( ข้อมูลบางแหล่งว่ามรณภาพปี พ.ศ.๒๓๙๐)
หลังจากที่พระอริยวงศาจารย์ฯ (สุ้ย) มรณภาพไปแล้ว ประมาณปลายรัชกาลที่ ๔ และต้นรัชกาลที่ ๕ วัดทุ่งศรีเมืองก็ว่างจากพระเถรผู้ใหญ่ปกครองอยู่หลายปี ไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ต่อจากท่าน จนกระทั่งพระครูวิโรจน์รัตโนบลซึ่งบวชเป็นพระเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๒ อายุ ๒๔ ปี ณ พัทธสีมาวัดมณีวนาราม ได้มาอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมืองในฐานะพระลูกวัด ขณะพำนักอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง พระครูวิโรจน์รัตโนบลได้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรม วิชาการช่าง ตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติ และปฏิปทาอย่างพระสงฆ์ภาคกลางจากบูรพาจารย์ที่วัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งสืบทอดต่อมาจากพระอริยวงศาจารย์ฯ จนท่านมีความชำนาญงานช่างต่างๆ ซึ่งปรากฏในเวลาต่อมาว่างานศิลป์ที่เกิดจากการสร้างของท่านมีความงดงามเป็นเลิศ
และต่อมาเมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองว่างลง ประกอบกับท่านมีอาวุโสพรรษาพอสมควร ทั้งเป็นผู้ที่สามารถเป็นผู้สืบทอดงานพระศาสนาและงานการศึกษาจากพระบูรพาจารย์ที่ได้วางไว้เป็นแบบอย่าง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสครองวัดทุ่งศรีเมืองต่อมา แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าท่านได้เป็นเจ้าอาวาสในปีใด
เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ญาท่านดีโลดได้เอาจริงเอาจังกับงานด้านคันถธุระมาก เอาใจใส่ในการศึกษาอบรม ผู้เป็นศิษย์จะต้องมีความขยันหมั่นเพียรเป็นพิเศษในการเรียน ซึ่งเน้นเรียนลายเส้น สวดอภิธรรม พระธรรมวินัย การช่างและวิชาคาถาอาคม
วัตรปฏิบัติของญาท่านดีโลด
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธมฺโม ศิษย์คนสำคัญซึ่งอยู่กับญาท่านดีโลดตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ตอนนั้นเป็นเด็กนักเรียนเตรียมประถม จนบวชเณรน้อย และกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุและอยู่กับญาท่านรวม ๑๖ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ก่อนท่านมรณภาพ ๓ ปี หลังซ่อมพระธาตุพนมเสร็จ จึงได้ลาสึก ได้เล่าให้ อำพล เจน ถึงวัตรปฏิบัติของญาท่าน ที่ท่านได้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ไว้ในหนังสือ ยอดนิยมที่อุบลราชธานี "ดี ดี ดี ดีโลด" ดังนี้
"กลางคืนเพิ่นมีความเพียรมากไม่ค่อยได้เห็นเพิ่นนอน ภาวนาเมตตาธรรมแล้วไหว้พระไหว้ธาตุ ทำวัตรทั้งค่ำและเช้า เอาจนสุดอยู่ผู้เดียว อาตมาในเวลานั้นเป็นเณรน้อย บางครั้งก็ร่วมกับวัตรกับเพิ่น บางคราวขี้เกียจ ก็หลบไปนอนที่อื่น คือปกตินอนกุฏิเพิ่นนั้นแหละ แต่ตัวขี้เกียจจะจูงไปนอนหลบที่กุฏิอื่น เพิ่นก็ไม่ว่าอะไร ไม่เคยว่าใคร สำหรับเพิ่นดีหมด ไม่มีไม่ดี ทำก็ดี ไม่ทำก็ดี
การไม่เห็นแก่การนอนมากนัก ต้องเพิ่น การไปพิจารณาที่นั้นที่นี่ไม่มีใครเหมือนเพิ่น ความอยากไม่ให้มี ก็ต้องเพิ่น จึงไม่พบว่าเพิ่นสะสมทรัพย์สมบัติอะไร ที่นอนของเพิ่นไม่เป็นเบาะเหมือนคนอื่นๆ เขาเอาใยมะพร้าวมาทำเป็นเบาะถวาย เพิ่นก็นอนใยมะพร้าวอยู่ตลอดไป
เพิ่นอยู่ของเพิ่นเงียบๆ ตามลำพัง ไม่มีใครเข้าไปยุ่มย่ามวุ่นวายกับเพิ่น อาตมาก็เพียงแต่เอากระโถนเยี่ยวของเพิ่นไปเททุกเช้า ส้วมโบราณเพิ่นก็ถ่ายอยู่ผู้เดียว มันก็แปลกที่ไม่มีกลิ่นเหม็นกลิ่นคาว การฉันเพิ่นฮักอันดับหนึ่งคืออาตมา ของเหลือจากที่ฉันที่เป็นของดีๆ เพิ่นก็เก็บไว้ให้อาตมา แต่เพิ่นก็มีโรคประจำตัวอยู่อันหนึ่งคือ หลังจากฉันมักมีอาการดน คืออิ่มนาน หรือเรียกแบบทั่วไปว่าท้องขึ้น เพิ่นก็มียาประจำสำหรับฉันแก้เรียกว่า ยาสิทธิเวชปราบพิษ ภายหลังยานี้ถูกกฎหมายบังคับให้เปลี่ยนชื่อเป็น สิทธิเวชพละ ๕ ต้องสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ อาตมาเป็นผู้สั่งซื้อถวายเพิ่นเป็นประจำ
ยังมียาพิเศษอีกสองชนิดที่เพิ่นปลุกเสกเอาไว้ คือเป็นสมุนไพรสองต้นปลูกอยู่ในวัดนั่นเอง เฉพาะสองต้นนั้นถ้าใครรู้จัก ก็ไปเอามากินแก้โรคได้ ฮำฮอกต้นหนึ่ง อีกต้นหนึ่งจำชื่อไม่ได้ ไม้ง่ายๆ นี่ละ แต่คิดไม่ออก (ฮำฮอก นี้ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่เพราะฟังจากเทปไม่ถนัด)
กิจอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่นปฏิบัติไม่ขาดคือบิณฑบาต จะมางดไปก็ตอนที่ป่วยลุกไม่ขึ้นเท่านั้น กลับจากบิณฑบาตจะต้องอาบน้ำทุกครั้ง หลังจากอาบน้ำแล้วจึงฉัน จากนั้นก็อยู่เงียบๆ ตามลำพังเรื่อยไป ถ้ามีแขกก็รับแขก หมดแขกก็อยู่เงียบๆ เป็นปกติ"
แต่งตั้งเจ้าคณะแขวง (อำเภอ)
ในหนังสือเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สังฆนายก ได้เรียบเรียงประวัติของ พระเถระทั้ง ๔ รูป และจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน), พระครูวิโรจน์รัตโนดม (นนฺตโร รอด) และงานฌาปนกิจศพพระมหารัตน์ รฏฐปาโล กับ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในส่วนประวัติของท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล ท่านได้ระบุ พ.ศ.ที่ท่านพระครูวิโรจน์ฯ ได้รับตำแหน่งต่างๆ ไว้ดังนี้
"พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เป็นเจ้าคณะแขวงอุดร อุบล คืออำเภอม่วงสามสิบในบัดนี้ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และพ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูวิโรจน์รัตโนบล"
ในเรื่องการเป็นเจ้าคณะแขวงของท่านนั้น ในห้วงเวลาก่อนปีพ.ศ. ๒๔๓๔ การคณะสงฆ์อีสานได้แยกตัวอยู่อย่างเอกเทศ ศูนย์กลางการปกครองที่กรุงเทพมิเข้าไปแทรกแซงจัดการปกครองคณะสงฆ์อีสานโดยตรง การแต่งตั้งพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งให้ดูแลคณะสงฆ์ในแขวงนั้นๆ ก็จะเป็นการแต่งตั้งแบบดั้งเดิม กล่าวคือชาวบ้านราษฎรในท้องถิ่นร่วมกับพระสงฆ์ในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ในการตัดสินใจทำพิธี "ฮดสรง" ยกย่องพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งให้ได้เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ โดยทางราชการที่กรุงเทพฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแตกต่างจากของไทยที่การแต่งตั้งให้พระสงฆ์มีสมณศักดิ์นั้นเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์หรือผู้ที่พระมหากษัตริย์มอบอำนาจให้เป็นผู้ตัดสินใจ
ในปีพ.ศ. ๒๔๓๔ ญาท่านดีโลดก็ได้รับการยกย่อง "ฮดสรง" ให้เป็น เจ้าคณะแขวงอุตตรูปลนิคม (อำเภออุตตรูปลนิคม คือ อำเภอม่วงสามสิบในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามแบบแผนดั้งเดิม
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ รัฐบาลที่กรุงเทพฯ มีการประกาศใช้แผนการจัดการศึกษาหัวเมือง ร.ศ. ๑๑๗ ขึ้น และได้มีการแต่งตั้งพระสงฆ์ผู้อำนวยการศึกษาและว่าการในหน้าที่เจ้าคณะมณฑลจากกรุงเทพเข้ามาดำเนินการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ในหัวเมืองอีสาน ให้เป็นแบบอย่างเดียวกันกับทางกรุงเทพฯ โดยแต่งตั้งพระครูวิจิตรธรรมภาณี (สิริจนฺโท จันทร์) ซึ่งเป็นชาวอุบลที่เข้าไปศึกษาเพิ่มเติมที่กรุงเทพ ทำให้มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับพระผู้ใหญ่และข้าราชการ ขึ้นเป็น พระญาณรักขิต ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศึกษามณฑลอีสาน ให้เป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และพระญาณรักขิตจึงได้นำรูปแบบการจัดการปกครองคณะสงฆ์ของกรุงเทพเข้ามาจัดในมณฑลอีสานที่ในขณะนั้นยังคงใช้การปกครองตามแบบดั้งเดิมที่เอาแบบอย่างมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต โดยกำหนดวัดวาอารามต่างๆ ในมณฑลอีสานให้เป็น หมวด, แขวง, เมือง และ มณฑล
การวางระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ในมณฑลอีสานตามแบบกรุงเทพนี้ พระญาณรักขิต (จันทร์ สิริจันโท) ผู้อำนวยการศึกษามณฑลอีสาน ได้เริ่มกระทำในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นครั้งแรก โดยใช้ยุทธวิธีให้มีเครื่องจูงใจ เช่น การให้สมณศักดิ์ นิตยภัต รางวัลและประโยชน์อื่นให้พระสงฆ์อีสานยอมรับสถานภาพและบทบาทใหม่ที่ทางคณะสงฆ์ไทยวางเอาไว้ เริ่มด้วยการคัดเลือกพระสงฆ์ที่พระญาณรักขิตเห็นสมควรขึ้นเป็นเจ้าคณะเมือง, เจ้าคณะแขวง ขึ้นใหม่ และที่สำคัญก็คือ แต่งตั้งท่านเหล่านั้นให้มีสมณศักดิ์เป็น "พระครู" โดยเป็น "พระครูมีชื่อ" คือมีพระครูที่มีราชทินนาม และมีหมายประกาศแต่งตั้งจากทางราชการ เพื่อเป็นเกียรติยศและเพื่อเป็นการสร้างสถานภาพที่ "เหนือกว่า" ให้แก่เจ้าคณะที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ เพราะจะต้องเป็นผู้ว่ากล่าวปกครองคณะสงฆ์แทนพระสงฆ์ผู้ได้รับการสถาปนาแบบดั้งเดิม
ในการคัดเลือกพระสงฆ์เข้ารับตำแหน่งเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง นั้น พระญาณรักขิต ได้ใช้เวลาจัดอยู่ ๒ ปี คือตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๔๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ จึงจัดได้ครบทั่วมณฑล และได้ประกาศแต่งตั้งตามรายชื่อดังต่อไปนี้
รายชื่อ
เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวงในมณฑลอีสาน
ที่ได้รับแต่งตั้งในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ (ร.ศ. ๑๑๙)
ที่เมืองอุบลราชธานี จัดตั้งเจ้าคณะแขวง ๗ รูป
เจ้าอธิการ
วัดกลาง
เป็น พระครูปัจฉิมมาคณิศร
เจ้าอธิการรอด
วัดทุ่ง
เป็น พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช
เจ้าอธิการกอง
วัดหลวง
เป็น พระครูบูรพาเขตวรคณินทร์
เจ้าอธิการเพ็ง
วัดแจ้ง
เป็น พระครูทักษิณคณานุวัตร
เจ้าอธิการวัน
วัดบ้านที
เป็น พระครูตรีรัฐคณินทร์
เจ้าอธิการบุญมา
วัดใต้ชนะไชย
เป็น พระครูชนะไชยคณานุศาสน์
เจ้าอธิการคง
วัดบ้านกุดมอง
เป็น พระครูธรรมราชเสนางคนิคม
ฯลฯ
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนดมได้เป็นเจ้าคณะแขวง อุตตรูปลนิคม (แขวงอุดร อุบล ปัจจุบัน คืออำเภอม่วงสามสิบ) ในปี ๒๔๓๔ โดยเป็นการแต่งตั้งตามแบบแผนดั้งเดิมของภาคอีสาน และได้เป็นเจ้าคณะแขวงในราชทินนามที่ "พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช" ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามแบบการปกครองคณะสงฆ์กรุงเทพ
ท่านปกครองแขวงเป็นเวลา ๑๒ ปี คือตั้งแต่พ.ศ.๒๔๓๔ ถึง พ.ศ.๒๔๔๕
การบูรณะพระธาตพนมครั้งที่ ๑ ของพระครูวิโรจน์รัตโนบล
ท่านเดินทางไปบูรณะพระธาตุพนม เป็นเวลา ๓ ปี คือตั้งแต่พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๔๖ จึงสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ โดยรายละเอียดของการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมมีดังต่อไปนี้
นับแต่เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (หรือเจ้าราชครูขี้หอม) ได้นำลูกศิษย์ลงมาปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ใน พ.ศ. ๒๒๓๓-๒๒๓๕ จากนั้นก็ไม่มีผู้ใดบูรณะต่อมา พระธาตุพนมถูกปล่อยทิ้งร้างปรักหักพังอยู่กลางป่า ซากอิฐปูนบริเวณพระธาตุก็ขลังประหลาด เพราะอำนาจเทพารักษ์ที่หวงแหน ใครไปแตะต้องประมาทลบหลู่เสาหิน ตุ๊กตาหินหรือใครจับต้องเหยียบย่ำหรือปีนป่ายไม่เคารพ ก็จะเกิดเจ็บป่วยอย่างปัจจุบันทันใด เมื่อนำเครื่องสักการะมาขมาต่อพระธาตุแล้วก็หายเป็นปกติ ประชาชนจึงหวาดกลัว ไม่มีใครกล้าเข้าไปในบริเวณองค์พระธาตุ
ราวปี พ.ศ. ๒๔๔๓ พระอุปัชฌาย์ทา ชยเสโน วัดบูรพาฯ เมืองอุบลฯ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตกับคณะเดินธุดงค์มาพักจำพรรษาอยู่ในบริเวณใกล้องค์พระธาตุพนม เวลานั้นมีป่าไผ่โดยรอบเป็นที่สงัด ท่านทั้งสามได้เห็นองค์พระธาตุเศร้าหมองคร่ำคร่า มีต้นไม้รกทึบ เครือเถาวัลย์ขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะต้นยางใหญ่นั้นใหญ่จนคนโอบไม่หุ้ม ตรงบริเวณฐานและส่วนกลางของพระธาตุจะมองไม่เห็นองค์พระธาตุเลย ไม่มีคนกล้าไปแตะต้องถากถางได้ เพราะกลัวอาถรรพ์ต่างๆ นานา ซึ่งเป็นอำนาจลึกลับเร้นลับที่คนไม่สามารถเข้าไปที่นั่น
ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาใกล้จะเข้าพรรษา คณะพระธุดงค์ทั้งสามจึงอธิษฐานพรรษา พักอยู่ที่นั่นเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม นับแต่วันแรกของการอธิษฐานเข้าพรรษา พอตกเวลากลางคืนประมาณ ๔ - ๕ ทุ่ม จะปรากฏมีแสงเขียววงกลมเท่ากับลูกมะพร้าว และมีรัศมีสว่างเป็นทางผุดออกจากยอดพระเจดีย์ แล้วก็ลอยห่างออกไปจนสุดสายตา และเมื่อถึงเวลาก่อนจะแจ้ง ตี ๓ - ๔ แสงนั้นจะลอยกลับเข้ามาจนถึงองค์พระเจดีย์ แล้วก็หายวับเข้าองค์พระเจดีย์ไป ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดนั้น ปรากฏขึ้นโดยตลอดจนออกพรรษา
พระธุดงค์ทั้งสามองค์ได้เห็นเป็นประจักษ์เช่นนั้นทุกๆ วัน จึงมั่นใจว่าพระเจดีย์นี้ต้องมีพระบรมสารีริกธาตุอย่างแน่นอน
ท่านพระอาจารย์เสาร์ จึงได้ป่าวประกาศชักชวนญาติโยมทั้งหลายในละแวกนั้น ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน และส่วนมากก็เป็นชาวนา ได้ทราบว่า พระธาตุพนมนี้เป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่บรรจุบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ขอให้ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายช่วยกันถากถาง ทำความสะอาดบริเวณพระธาตุ แล้วทำบุญอุทิศถวายกุศล
และพระธาตุเป็นของโบราณบรรจุพระอุรังคธาตุเป็นสิ่งที่หายาก ควรรักษาไว้ให้ยั่งยืน เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระพุทธเจ้าผู้บรมครู แต่ท่านทั้ง ๓ ไม่มีความชำนาญ จึงไม่สามารถทำการบูรณะเองได้ เห็นแต่พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช เจ้าคณะแขวงอุตตรูปลนิคม (ปัจจุบันคืออำเภอม่วงสามสิบ) เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี เป็นช่างมีความเพียรหนักแน่น เคยตรากตรำทำงานใหญ่มาแล้ว มีความสามารถที่จะบูรณะพระธาตุได้ จึงเรียกหัวหน้าญาติโยมชาวธาตุพนมมาแนะนำให้ไปนิมนต์ท่านมาบูรณะ ชาวบ้านก็ตกลงเห็นด้วย
ญาท่านดีโลดได้รับที่จะไปบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ตามที่ชาวเมืองนครพนม และเจ้าเมืองแสน และเจ้าเมืองจันนำหนังสือท่านพระอาจารย์ทั้ง ๓ ไปนิมนต์ท่านพระครูวิโรจน์ฯ มาเป็นผู้นำชาวบ้านบูรณะ ถึงจังหวัดอุบลราชธานี (ตำแหน่งเจ้าเมืองแสน เจ้าเมืองจัน หรือ เมืองแสนเมืองจันนี้ แต่เดิมเป็นตำแหน่งของเลขานุการเจ้าเมือง ทำหน้าที่เป็นตุลาการ ช่วยเจ้าเมืองพิจารณาอรรถคดี และทำหน้าที่เป็นตำรวจจับกุมโจรผู้ร้าย กับเป็นผู้เก็บรักษาอาวุธสำหรับบ้านเมือง แต่เมื่อมาถึงสมัยหลัง ๒๔๓๗ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองเป็นแบบกรุงเทพฯแล้ว คือสมัยที่เมืองแสนเมืองจันมาอาราธนาญาท่านดีโลด ไปซ่อมพระธาตุตำแหน่งนี้คงจะมีฐานะเท่ากำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น)
พระครูวิโรจน์ฯ ท่านก็รับที่จะขึ้นมาทำและให้ญาติโยมกลับไปก่อน
ครั้นถึงเดือนอ้ายข้างขึ้น พ.ศ. ๒๔๔๔ ญาท่านดีโลดได้เดินทางพร้อมด้วยคณะศิษย์ติดตาม ๔๐ รูป/คนขึ้นไปจังหวัดอุบล ไปลงเรือที่เขมราฐ ขึ้นไปตามลำน้ำโขง ผ่านอำเภอมุกดาหารและสุวรรณเขต เวลานั้นกำลังตั้งขึ้นใหม่ การเดินทางนั้นใช้เวลา ๘ วัน ๘ คืน จึงจะถึง เป็นการเดินทางโดยอาศัยเกวียนและเท้าเปล่าเป็นหลัก
ในการเดินทางนี้ ได้มีเกร็ดประวัติเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ๒ ตัวของท่านคือ หมาและลิง ดังนี้
ก่อนออกเดินทาง หลวงปู่ก็ฉันภัตตาหาร เมื่อฉันเสร็จจึงจะให้ญาติโยมรับประทานทีหลัง จากนั้นจึงโยนปั้นข้าวเหนียวให้หมาและลิง ๒ ตัวซึ่งรักกันมาก และหลวงปู่ก็รักสัตว์ทั้งสองมากเช่นกัน ไม่ว่าท่านจะเดินเหินไปที่ไหนหมาและลิงคู่นี้ก็จะตามไป ยามท่านพักผ่อน มันก็จะนอนระแวดระวังเหมือนกับองครักษ์ วันเดินทางหลวงปู่จะขี่ม้าเดินทางล่วงหน้าไปรอที่จุดนัดพบพร้อมกับพระภิกษุสามเณรบางส่วน เมื่อญาติโยมรับประทานอาหารเสร็จจะขี่เกวียนตามไปทีหลัง เมื่อหมาและลิงกินปั้นข้าวเหนียวเสร็จ ลิงก็จะโดดขี่บนหลังหมา ในบางครั้งทั้งลิงและหมาก็จะขึ้นขี่บนเกวียนเช่นกัน
ได้ออกจากวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เดินทางไปถึงพระธาตุพนมในวันเพ็ญเดือนอ้าย ใช้เวลาเดินทาง ๘ วัน ๘ คืน (จากคำบอกเล่าของพ่อใหญ่บ้านผาแก้ว ที่ออกเดินทางไปบูรณะพระธาตุพนมชุดแรก)
เมื่อเดินทางมาถึงแล้ว ถึงเวลาเย็น พระครูวิโรจน์ให้นัดประชุมทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ที่ศาลาโรงธรรม วัดพระธาตุ แจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่มีญาติโยมไปนิมนต์ท่านมาบูรณะพระธาตุพนม แต่ชาวบ้านกลับเปลี่ยนใจไม่ยอมที่จะให้มีการบูรณะ เนื่องจากหวาดกลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายขึ้นแก่ชาวบ้าน แต่ต้องการให้ซ่อมแซมรอบๆ โดยไม่ให้แตะต้ององค์พระธาตุ เพื่อให้มีที่กราบไหว้สะดวกเท่านั้น พระครูวิโรจน์บอกว่า ถ้าจะให้ทำก็ต้องทำให้หมดทั้งองค์พระธาตุ ถ้าไม่ได้ทำแต่ดินถึงยอด แต่ยอดถึงดินก็อย่าทำดีกว่า
ชาวบ้านเกรงเทวาอารักษ์ที่รักษาพระธาตุจะไม่พอใจ แล้วเบียดเบียนชาวบ้านให้ได้รับความเดือดร้อน ต่างก็คัดค้านไม่ให้ทำ เพราะจะทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน ท่านบอกชาวบ้านว่า
“จะร้อนอย่างไร เราทำให้ดี ให้สะอาด สวยงาม เรียบร้อย เทวดาจะไม่อยากได้บุญด้วยหรือ”
ชาวบ้านก็ไม่ยอมให้บูรณะ
ท่านบอกว่าไม่ได้ทำก็จะกลับ
ชาวบ้านก็ยืนยันว่า จะกลับก็กลับ พร้อมตำหนิท่านว่า
“พระอะไร รื้อเจดีย์ ฟันโพธิ์ศรี ลอกหนังพระเจ้า พระนอกรีต”
แล้วที่ประชุมก็เลิกด้วยจิตขุ่นวุ่นวาย ไม่พอใจ ส่วนพระครูวิโรจน์ฯ คงมีจิตใจแจ่มใสสงวนท่าทีคอยเชิงอยู่
เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก พอชาวบ้านกลับเข้าหมู่บ้านยังมิทันได้พักให้หายเหนื่อย อารักษ์ใหญ่รักษาพระธาตุก็เข้าสิงนางเทียมมเหศักดิ์ ซึ่งเป็นคนทรงประจำวัดธาตุพนม ตวาดด่าทอผู้ที่คัดค้านการบูรณะพระธาตุพนม ว่า "...อ้ายใดมันบังอาจขัดขวางเจ้ากูมิให้ซ่อมพระธาตุกูจะหักคอมัน ท่านอยากทำก็ปล่อยให้ทำเป็นไร สูจะขัดขืนท่านทำไม แต่กูเองก็ยังกลัวท่าน" ชาวบ้านได้ยินก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงแตกฮือเข้ามาในวัดไปกราบไหว้จัดเครื่องขอขมาท่านพระครูวิโรจน์ฯ และขอให้ท่านบูรณะพระธาตุพนมได้ตามใจ แต่พวกตนไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
แรกๆ พระครูวิโรจน์ฯ ท่านไม่รับ ต้องอ้อนวอนสามครั้งท่านจึงรับและบอกว่า
"์์...เป็นธรรมดา สี่ขารู้พลาด นักปราชญ์รู้พลั้ง เอาละให้มาทำด้วยกัน อาตมาไม่กลับ ขอให้มาทำพร้อม ๆ กันเพราะว่าพระบรมธาตุถึงคราวสิ้นอายุไป แต่ความจริงไม่สิ้นง่าย ๆ ตามประวัติพระมหากัสสปเป็นผู้สร้างและมีผู้ซ่อมแซมกันมาตลอด สุดท้ายคือ พระครูขี้หอม ทีนี้ มาถึงพวกเรา พ้นจากพวกเราแล้ว พระธาตุจะเป็นของบ้านเมืองดูแลรักษา ให้พากันจำเอาไว้และมาช่วยกันทำ พรุ่งนี้ให้ทุกคนมาพร้อมกันที่นี่ เอามีดเอาขวานติดมือมาด้วยทุก ๆ คน... "
คืนนั้น ก่อนจำวัด พระครูวิโรจน์ฯ จุดธูปเทียนเครื่องสักการะถวายบูชาพระบรมธาตุ เข้าที่ภาวนาอธิษฐานจิตด้วยความชุ่มชื่นปีติและมั่นใจว่า
“จะทำการปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุ ด้วยความสุจริตใจ และจงรักภักดีต่อพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยมีพระบรมธาตุเป็นประธานและเทพเจ้าผู้เฝ้ารักษา ก็ขอให้ช่วยเป็นศรัทธานาบุญอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่ามีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง ขอให้ผู้มีฤทธิ์มีอำนาจทางสติปัญญา และทรัพย์สินและบ้านเมือง จงเข้าเป็นนิมิตร่วมมหากุศลครั้งนี้”
จากนั้น จึงจำวัดในเวลาใกล้รุ่ง คืนนั้นท่านนิมิตเห็นตาผ้าขาวมาหาแล้วยิ้มให้ บอกว่า
“เอานะ หลาน เป็นวาระของเจ้าแล้ว ให้ทำเอาเต็มที่สุดฝีไม้ลายมือเถิด”
แล้วก็ตื่นนอนด้วยความชุ่มชื่นเบิกบาน และเต็มไปด้วยความหวังอันงดงาม
ในวันแรก พระครูวิโรจน์นำพระเณรที่มาจากอุบลฯ ๔๐ รูป ตั้งเครื่องสักการะทำการสัมมาคารวะพระรัตนตรัย แล้วให้พระเณรที่ติดตามทั้ง ๔๐ รูปนั้น เอาไม้พาดเจดีย์ทำความสะอาด ชาวบ้านและพระเณรในวัดไม่มีใครกล้าช่วย แต่พระครูวิโรจน์ก็ทำงานต่อไปทุกวัน
จนถึงวันที่สี่ ของการเริ่มบูรณะพระธาตุพนม ก็เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นโดยในเรื่องดังกล่าว หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ได้เล่าตรงกันกับหลวงพ่อพระมหาคูณ ปญฺญาปชฺโชโต ให้อำพล เจนฟังและบันทึกไว้ในหนังสือ "ยอดนิยมที่อุบลราชธานี ดี ดี ดี ดีโลด" ดังนี้
"หลังจากที่ญาท่านเพิ่นสั่งให้ชาวบ้านทุกคนมาพร้อมกันที่วัดในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับให้พากันถือมีดถือขวานจอบเสียมติดมือมาทุกคน ปรากฏว่า พอรุ่งเช้า ไม่มีผู้ชายมา มีแต่ผู้หญิง ก็เป็นความแปลกใจ เพิ่นก็อดทนเอา การเฮ็ดการทำฝืดเคืองหลาย วันแรกมีพระขึ้นไปตัดต้นไม้ที่ขึ้นตามองค์พระธาตุเพียงสองสามองค์ เพราะว่ามีดพร้าไม่มีในวัด ขัดสนเครื่องมือไปเสียทุกอยาง วันที่สองและวันที่สามยังคงลำบากเช่นเดิม ไม่มีอะไรสะดวกขึ้น พระที่ญาท่านเอาไปด้วย ๔๐ องค์ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีเครื่องมือ
ถึงวันที่สี่ ขัดข้องหลาย จนฮ้อนไปถึงไท้เทวาท้าวปั่นดลลงมาเอง"
(หมายถึง ร้อนถึงเทพไท้เทวา บันดาลต้องลงมาเอง)
สงสัยจะเป็นพระอินทร์ทีเดียว เพิ่นลงมานั่งหัวขาวโพลนอยู่ตรงธรรมาสน์ด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุ คือ อยู่ในกำแพงแก้วนั่นแหละ ญาท่านดีโลดเพิ่นเดินตรวจงานมาเรื่อยจนถึง และได้เห็นเข้าก็เลยถูกเรียกให้เข้าไปหา "มานี่ มานี่" ญาท่านดีโลดเข้าไปนั่งตรงหน้า แล้วกราบสามครั้ง ทีนี้เพิ่นก็ให้พรญาท่านว่า "ลูกเฮ็ดอิหยัง ขัดข้องอันใด บ่ขัดข้องดอก ตั้งแต่นี้ต่อไป" พอให้พรแล้วก็หายหนี"
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์เล่าให้ฟังว่า วันรุ่งขึ้น พระออกไปบิณฑบาตตามปกติ แต่ญาท่านดีโลดไม่ได้ไปด้วย ญาท่านเดินสักไม้เท้าเวียนรอบลานพระธาตุ ตั้งแต่ตะวันออกมาทิศใต้ ทิศตะวันออกจนถึงทิศเหนือ ตามลำดับ ในที่สุดมาครบที่บริเวณทิศตะวันออกอีกครั้ง
ตรงนี้ไม้เท้าของญาท่านสักลงไปไม่ยอมถอดถอนขึ้นมา
"เณร เอาเสียมมาขุดตรงนี้ซิ"
ญาท่านดีโลดท่านเรียกเณรที่อยู่ใกล้ๆ และเณรก็ปฏิบัติตามบัญชาท่านทันที แต่ขุดไปได้ครู่หนึ่งก็ต้องหยุด
"ขุดบ่ได้ดอก ข้าน้อย มันถูกแผ่นหิน"
"มันสิใหญ่ปานใดน่ะ ขุดไปเถอะ" ญาท่านดีโลดท่านสั่ง
เณรพยามอีกทีก็ขุดไม่ได้ เรียกว่าประสาเด็กน้อย สามารถมีไม่พอจริงๆ ไม่อาจขุดลงไปจนถึงขอบเขตขันธสีมาได้
พอดีพระที่ออกไปบิณฑบาตกลับมาถึงวัด ญาท่านบอกให้เณรไปรับบาตรแล้วตามพระที่แข็งแรงและให้เอาจอบมาด้วย
แรงพระกับแรงเณรคนละอย่าง ผลที่สุดก็พบหีบสีเหลี่ยมผืนผ้า เป็นหีบศิลาขนาดใหญ่ฝังแน่นอยู่ในดินลึกตรงนั้น
เป็นหีบบรรจุเครื่องมือสร้างพระธาตุ ตั้งแต่สมัยใดไม่ทราบ
"หีบเครื่องมือพระมหากัสสป ที่สร้างพระธาตุแต่แรก เพิ่นฝังเอาไว้" หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์คาดหมาย
"ข้างในมีพวก พร้า ขวาน และเครื่องมือต่างๆ มากมาย"
บางทีจะเป็นเครื่องมือสร้างหรือซ่อมพระธาตุในสมัยของใครคนหนึ่ง เมื่อสร้างหรือซ่อมเสร็จ ก็ฝังเครื่องมือทั้งหมดไว้ในทำนองว่า เป็นเครื่องมือมงคล เพราะว่าใช้สำหรับสร้างหรือซ่อมสิ่งสักการะอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็ไม่สมควรนำไปสร้างสิ่งอื่นได้อีก
แต่เครื่องมือที่ขุดพบ ก็มีทั้งยังใช้การได้ และชำรุดเสียหายไม่อยู่ในสภาพจะทำงานได้อีก ญาท่านให้นำขึ้นมาจดบัญชีเอาไว้ทั้งหมด คือเครื่องมือกี่ชนิด แต่ละชนิดมีจำนวนเท่าใด ที่เป็นสนิมใช้การไม่ไหวมีกี่ชิ้น ญาท่านให้จดไว้จนครบถ้วน
เครื่องมือที่ยังใช้การได้ดี ถูกนำมาใช้งานในครั้งนี้อีกครั้ง ที่ใช้การไม่ได้ก็ให้ญาท่านทา เจ้าอาวาสในขณะนั้นเก็บรักษาไว้
เป็นอันว่า ความขัดสนฝืดเคืองเครื่องไม้เครื่องมือได้คลี่คลายไปเปลาะหนึ่ง"
ในช่วงแรกๆ ไม่มีชาวบ้านกล้าออกมาช่วยได้แต่มายืนดูอยู่ห่างๆ มีเพียงเฒ่าชัยวงศา ผู้ใหญ่บ้านดอนกลาง ที่มารับใช้ให้ความช่วยเหลือ ครั้นผ่านไป ๗ วัน ก็เริ่มมีชาวบ้านละแวกพระธาตุพนมมายืนสังเกตการณ์ดูอยู่ห่างๆ
ต่อมาได้ ๑๕ วัน ผู้คนก็หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศทั้งฝั่งซ้ายฝั่งขวา เจ้าเมืองท่าแขกยกหินปูนที่ภูเขาเหล็กไฟให้ทั้งลูก พร้อมเกณฑ์คนเป็นพันขนหินปูนจากเชิงเขาถึงฝั่งแม่น้ำโขงทางยาว ๔ กิโลเมตร โดยยืนเรียงแถว เจ้าเมืองสกลนครและหนองคายปวารณาให้ช้างมาใช้ลากเข็น ประชาชนพระภิกษุสามเณร ผู้เฒ่าแก่ หนุ่มสาวไหลมาจากทุกทิศ
พระครูวิโรจน์ฯ บูรณะองค์พระธาตุพนม โดยการขูดกะเทาะปูนเก่าออกแล้วโบกเข้าไปใหม่ ทาน้ำปูนพระธาตุ ประดับแก้วปิดทองส่วนบน ติดดาวที่ระฆังแผ่แผ่นทองคำหุ้มยอด ปูลานพระธาตุซ่อมแซมกำแพงชั้นใน ชั้นกลาง จนแล้วเสร็จ
งานซ่อมพระธาตุในครั้งนี้ได้มีผลงานที่ปรากฏตาม ใบบอก วัดธาตุพนม เมืองอุบลราชธานี ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จออกตรวจราชการมณฑลอีสาน และมานมัสการพระธาตุพนมด้วย ทรงมีถึง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่คัดมาว่า
"...ด้วยเกล้าฯ ได้รับลิขิตพระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะเมือง ๆ อุบลราชธานี ซึ่งอยู่ ณ วัดทุ่ง แขวงเมืองอุบลราชธานีว่า ได้จัดการเรี่ยไรข้าราชการแลราษฎร ได้จัดทำการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เมืองนครพนม แลสิ่งต่าง ๆ ในวัดพระธาตุพนมตั้งแต่ศก ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) ตลอดถึงศก ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) สิ่งที่ได้ถาปนาเสร็จแล้วนั้น คือ
๑. ซื้อทองใบแผ่หุ้มยอดพระธาตุทองหนัก ๔๙ บาท
๒. ซ่อมปูนที่ชำรุดต่าง ๆ
๓. หล่อระฆัง ๑ ใบ
๔. ก่อซุ้มและทำกำแพงชั้นในชั้นนอก
๕. ขุดสระน้ำ ๑ สระ
เป็นการเรียบร้อยดีแล้ว บัดนี้พระครูวิโรจน์รัตโนบลและข้าราชการราษฎรที่ได้ช่วยกันทำการปฏิสังขรณ์ขอพระราชทานถวายพระราชกุศล..."
ข้อมูลจากใบบอกที่คัดมานี้ ได้แสดงว่า การบูรณะพระธาตุพนมเริ่มในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ (ร.ศ. ๑๒๐) แล้วเสร็จทำการฉลองอย่างบริบูรณ์ ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ. ๑๒๕)
พระครูวิโรจน์ใช้เวลาซ่อมพระธาตุพนมอยู่ราว ๖ ปี จากนั้นก็ใช้เวลาบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ เพิ่มเติม ต้องขึ้นลงระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับนครพนมหลายเที่ยว
วิธีการบูรณะในอุรังคนิทานกล่าวว่า
“...งานที่ท่านพระครูวิโรจน์ฯ ได้ทำในครั้งนี้คือ ได้เซาะชะทายพระธาตุ กำจัดต้นไม้ต้นหญ้าที่เกาะจับอยู่ออกไป แล้วถือปูนใหม่แต่ภูมิถ้วน ๓ ลงมาจนถึงพื้น
การประดับตกแต่งพระธาตุ ทำในปีถัดมา (พ.ศ.๒๔๔๕) โดยใช้แก้วสี (กระจกสี) ที่สั่งจากกรุงเทพฯ มาทำเป็นช่อดอกลายกาฬกัลป์ (ดอกกาละกับ) ประดับกระจกปิดทองประดับดอกที่ทำด้วยดินเผา ติดแผ่นจังโกทองคำที่ยอดพระธาตุ ซ่อมกำแพงชั้นกลางก่อเพิ่มให้สูงขึ้นอีก ๑ แขนและถือปูนใหม่
ในงานฉลองสมโภชมาฆบูชาครั้งนั้น เล่ากันมาว่ามีประชาชนและภิกษุสามเณรจากหัวเมืองต่าง ๆ มาร่วมประชุมหลายหมื่น จนที่พักอาศัยแออัดยัดเยียดเป็นงานมโหฬารยิ่งงานหนึ่งในสมัยโน้น แต่เป็นที่น่าสลดใจอยู่บ้างในงานนั้น การรักษาความสะอาดไม่เพียงพอจึงเกิดอหิวาตกโรคขึ้นแทรกแซงในบั้นปลายของงาน จึงทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปบ้าง แต่ก็พากันรีบกลับเมืองของตน ๆฯ…”
ข้อมูลจากใบบอกที่คัดมานี้ได้แสดงว่า การบูรณะพระธาตุพนมเริ่มในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ (ร.ศ. ๑๒๐) แล้วเสร็จทำการฉลองอย่างบริบูรณ์ ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ. ๑๒๕) ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการมณฑลอีสาน และมานมัสการพระธาตุพนมด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าพระธาตุพนมใช้เวลาบูรณะจริง ๆ อย่างน้อย ๖ ปี
ในสมัยนั้นบ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะสงคราม มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายด้าน ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดแผ่นดินทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การเงินชาวบ้านไม่ดี เกิดปัญหาที่จะระดมทุนบูรณะ แต่ท่านก็กล้าเสี่ยงทำงานใหญ่ด้วยหวังต่อคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แต่ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านมีเงินทุนที่จะทำการบูรณะพระธาตุพนมได้อย่างพอเพียง คือ
ในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เกิดเหตุการณ์ “ผีบาปผีบุญ” ขึ้นทั่วภาคอีสาน สาเหตุเพราะว่ามีผู้ตั้งตัวเป็นผู้มีบุญ หรือ พระศรีอาริย์ ออกเผยแผ่คำสอนผ่านการเทศนา รดน้ำมนต์ และหนังสือใบลานต่าง ๆ สร้างความหวาดกลัว เนื่องจากผู้มีบุญได้ขู่สอนไว้ประการต่าง ๆ เช่น จะมีปรากฏการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นนั่นคือ ก้อนกรวดจะกลายเป็นเงินทอง ฟักเขียวฟักทองจะกลายเป็นช้างม้า เถาฟักแฟงจะกลายเป็นงูเลื้อยเข้าทำลายคน หมู ควายเผือกจะกลายเป็นยักษ์มากินคน สิ่งของเครื่องใช้ที่มีอยู่เดิมจะกลายเป็นอสรพิษให้นำไปทิ้งเสียให้หมด เงินจะกลายเป็นเหล็ก หญิงที่ไม่มีสามีจะถูกยักษ์จับกิน เป็นต้น ประชาชนผู้การขาดการศึกษา และงมงายเป็นจำนวนมากต่างหลงเชื่อ และได้กระทำตามที่ผู้มีบุญได้สั่งสอนไว้
นอกจากนี้ผู้มีบุญบางส่วนได้คิดกระทำการใหญ่ เช่น กลุ่มขององค์มั่นมีความต้องการที่จะสร้างดินแดนใหม่ขึ้นปกครองเป็นอิสระจากสยาม และฝรั่งเศส และได้เตรียมทัพเพื่อจะเข้ายึดเมืองอุบลราชธานี เป็นฐานที่มั่น ความทราบถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์โปรดให้ปราบปรามเป็นผลสำเร็จ
ในขณะเวลาเดียวกัน แม้จะเป็นช่วงที่พระครูวิโรจน์ฯ กำลังทำการบูรณะพระธาตุพนมอยู่ แต่ท่านได้เล็งเห็นถึงความไม่รู้ และหลงผิดของญาติโยม ที่ได้นำเงินมาทิ้งที่ลานวัดเพราะเชื่อในคำพยากรณ์ที่ว่าต่อไปจะเป็นก้อนกรวดที่ไม่มีค่า พระครูวิโรจน์ฯ จึงได้คิดและใช้อุบายธรรมเรื่องหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหา ดังที่อุรังคนิทานเล่าว่า
“...ท่านพระครูได้มอบหมายให้ตาผ้าขาวหนู ทำรูปช้างม้าขึ้นแล้วเอาเครื่องไทยธรรมแขวนเป็นต้นเงิน แห่บูชาพระธาตุ เป็นการเรี่ยไรไปในตัว เมื่อรวมขบวนแห่นำมาวางไว้ที่ลานพระธาตุแล้วตั้งปัญหาถามให้ประชาชนตอบ เช่น ชี้ที่ตาม้าซึ่งทำด้วยกระจก แล้วถามว่านี่อะไร? ประชาชนตอบว่า ตาของมัน ผู้ถามก็ถามต่อไปว่าทำด้วยอะไร ? ประชาชนก็ตอบว่าทำด้วยกระจก ถามต่อไปอีกว่ากระจกนี้จะเป็นตาช้างหรือตาม้าจริง ๆ ได้ไหม? เมื่อตอบว่าไม่ได้ แล้วก็ถามส่วนอื่น ๆ ของรูปนั้นต่อไปจนหมด ประชาชนที่มาประชุมก็ตอบปฏิเสธไปตามนัยเดิม ผู้ถามจึงอธิบายว่า นี่แหละท่านทั้งหลายเขาลือกันว่าหินกรวดจะเป็นเงินก็ดี ควายและหมูจะเกิดเป็นยักษ์ก็ดี ก็เป็นไปไม่ได้ เหมือนรูปนี้ไม่กลายเป็นช้างเป็นม้าจริง ๆ ฉะนั้นการทำอุบายเช่นนี้ทุกวันวันละหลาย ๆ เที่ยว ทำให้ประชาชนหายงมงายไปเป็นอันมาก นับว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและพระศาสนามาก น่าสรรเสริญผู้คิดผู้ทำ ที่รู้จักหาอุบายสอนธรรมแก่ประชาชน โดยอาศัยความรื่นเริงในบุญกุศล ผู้ฟังก็ไม่เบื่อ ผู้สอนก็ได้ประโยชน์จากการเรี่ยไร นำเงินมาสมทบทุนซ่อมแซมพระบรมธาตุ...”
นอกจากเงินที่ท่านได้จากการบริจาคอันเนื่องมาจาก "กบฏผีบุญ" ดังที่กล่าวข้างต้นนี้แล้วท่านยังได้มาจากการนั่งสมาธิในเวลากลางคืนจนนิมิตเห็นวัตถุมีค่าเช่นเงินแท่งโบราณ บ้าง พระเงินพระทองบ้างฝังอยู่ในที่ต่างๆ ก็ให้คนไปขุดมา
ในเรื่องนี้ ท่านเจ้าคุณพระเทพรัตนโมลี (แก้ว กนฺโตภาโส ป.ธ.๖) เจ้าคณะจังหวัดนครพนม ได้เล่าให้ผู้เขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน คือ เติม วิภาคย์พจนกิจฟังว่า
ท่านเจ้าคุณ "ได้เคยเห็นท่าน และไปกราบนมัสการอยู่เสมอตอนที่เป็นเด็ก ลักษณะรูปร่างของท่านร่างใหญ่สันทัดสมสัดส่วน ที่หน้าผากมีเนื้อเป็นนอออกมาพอดีพองาม เดินเหมือนช้างย่าง เป็นช่างปั้นและเขียน มีลูกศิษย์จนขึ้นชื่อและเป็นผู้หนักในกรรมฐาน จนปรากฏว่านั่งทางในมีญาณทิพย์เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ต่อมาท่านเป็นผู้ใหญ่เลยงดเสีย คราวมาซ่อมพระธาตุพนมท่านก็อาศัยสมาธิ เวลากลางคืนสงบจิตตรวจเหตุการณ์ พบอะไรที่เป็นวัตถุมีค่าก็บอกให้คนไปขุดได้เงินแท่งโบราณบ้าง พระเงินพระทองบ้าง เป็นอัศจรรย์ ประชาชนถึงนิยมนับถือ... "
เมื่อการบูรณะพระธาตุพนมแล้วเสร็จเป็นส่วนใหญ่ ปรากฏว่าเงินบริจาคเหลืออยู่ถึงกว่าแสนบาท ท่านก็ได้ฝากไว้เป็นทุนกับ เจ้าเมืองนครพนมต่อไป
เหตุการณเมื่อครั้งเดินทางกลับอุบลราชธานี
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้เล่าเรื่องการเดินทางกลับอุบลราชธานีในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก ให้คุณอำพล เจน ไว้ในหนังสือ "ยอดนิยมที่อุบลราชธานี ดี ดี ดี ดีโลด" ซึ่งมีเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นว่า การไปซ่อมพระธาตุครั้งแรกจนเสร็จพอสมควรแล้ว ท่านได้เดินทางกลับเมืองอุบลฯ โดยล่องมาตามลำน้ำโขง มาขึ้นบกที่เมืองปากเซ แล้วก็จะข้ามกลับเข้าฝั่งไทย เดินทางต่อจนถึงวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นการย่นระยะการเดินเท้าได้มาก
ในการเดินทางกลับจากพระธาตุพนมเที่ยวแรกนั้นมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นระหว่างล่องแพ เรื่องนี้หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้เล่าว่า
ญาท่านดีโลดได้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับอุบลฯ สักครั้งหนึ่งก่อน เพราะว่าได้จากวัดทุ่งศรีเมืองมานานปี และพระธาตุก็สำเร็จลุล่วงไปพอสมควรจะวางใจได้บ้างแล้วเห็นว่า พอจะวางมือจากงานซ่อมพระธาตุได้ชั่วคราว บรรดาพ่อค้ารู้ความประสงค์ว่าญาท่านดีโลดจะเดินทางกลับอุบลฯ ก็ต่อแพไม้ซุงขึ้นจำนวน ๑๑ แพ เป็นแพยักษ์ขนาดใหญ่สามารถลำเลียงพระจำนวน ๔๐ กว่ารูป และชาวบ้านที่ประสงค์ร่วมเดินทางมาส่งได้อีกหลายคน
เรียกว่าได้ส่งพระกลับบ้านเมืองด้วยและได้ลำเลียงไม้ซุงไปขายด้วย เกิดประโยชน์อย่างนี้
การเดินทางด้วยแพราบรื่นมาโดยตลอด แต่มาเกิดอุบัติเหตุเมื่อใกล้จะถึงเมืองปากเซ ด้วยว่าแม่น้ำโขงตอนนั้นไหลเชี่ยวกรากจนเกิดวังวนติดๆ กันสามแห่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ขัน" หรือ "ขันตาไก่" คือมีน้ำวนเป็นแอ่งลึกตรงกลางคล้ายขันและจุดศูนย์กลางของน้ำวนมองดูคล้ายตาไก่ แพไม้ซุงผ่านไปอย่างยากลำบาก ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นที่สุด
แพทั้ง ๑๑ แพ ผ่านน้ำวนวังแรกไปได้เพียง ๑๐ แพ แต่แพที่ ๑๑ ซึ่งเป็นแพของญาท่านดีโลดถูกน้ำวนดูดเข้าไป กระแสน้ำรุนแรงมาก หมดทางจะขัดขืนได้ คนแข็งแรงนับสิบ ช่วยกันค้ำด้วยถ่อยันไว้อย่างไร ไม่เป็นผล ทุกคนที่เห็นเหตุการณ์ถึงแก่ตะลึงพรึงเพริด ต่างทอดอาลัยว่า ถึงคราวจะต้องสิ้นครูบาอาจารย์หรือญาท่านดีโลดแล้ว
หัวแพถูกน้ำวนดูดเข้าถึง "ตาไก่" กระแทกกับพื้นดินใต้ท้องน้ำดังตึง ในอาการที่ว่า หัวแพจมน้ำ ท้ายแพยกชันขึ้น
ดูไปแล้วคนทั้งแพจะต้องตายกันหมดไม่มีเหลือ
แต่แพก็หมุนคว้างอยู่ใน "ขันตาไก่" เพียงสามรอบ แล้วจึงค่อยๆ ถอยห่างออกมาจนพ้นได้ในที่สุด
ไม่มีอันตรายใดใด
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในวังน้ำวนทั้งสามวัง คือ ๑๐ แพผ่านไปได้หมด แต่แพของญาท่านดีโลดมีอันต้องพลัดเข้าในวังน้ำวนทั้งสามแห่ง และรอดออกมาได้ทุกครั้ง
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ได้กล่าวว่า เมื่ออยู่กันตามลำพังกับท่านดีโลด ได้เรียนถามท่านว่า
"คุณอาจารย์แสดงอภินิหารให้ญาติโยมเห็นบ้อ"
"บ่" ญาท่านดีโลดปฏิเสธ "เทพเจ้าเพิ่นแสดงให้เห็นสื่อๆ ดอก อาตมาเป็นปุถุชน บ่แม่นชั้นอริยะขั้นเสขะ"
เหตการณ์หลังจากบูรณะพระธาตุพนม
พ.ศ. ๒๔๔๖ พรรษาที่ ๒๔ ได้เป็น สังฆปาโมกข์เจ้าคณะใหญ่เมืองอุบลราชธานี (เจ้าคณะจังหวัด) เป็นรูปแรกตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ โดยยังคงเป็นในราชทินนามเดิม คือ พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช และเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองตามเดิม
ต่อมาอีก ๑ ปี คือ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูวิโรจน์รัตโนบล ซึ่งแปลว่า “ดวงแก้วที่สว่างของเมืองอุบล” โดยปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๑ ตอน ๔๐ (๑ มกราคม ๒๔๔๗) เรื่อง "พระราชทานสัญญาบัตร์พระสงฆ์ฝ่ายไทยแลฝ่ายจีนญวน" ว่า
" ๒ ให้พระครูรอด เจ้าคณะแขวงวัดทุ่ง เป็นพระครูวิโรจน์รัตโนบล ที่สังฆปาโมกข์เจ้าคณะใหญ่เมืองอุบลราชธานี"
ซึ่งแต่เดิมทางราชการจะถวายสมณศักดิ์ให้ท่านในราชทินนามที่ "พระครูบริรักษ์คณาจารย์" แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังก่อนการถวายสมณศักดิ์
(น่าสังเกตว่า ในราชกิจจานุเบกษา ไม่ได้อ้างถึงสมณศักดิ์ก่อนการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดคือ พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดชเลย โดยในราชกิจจานุเบกษาได้ระบุเพียงว่า
"ให้ พระครูรอด เจ้าคณะแขวงวัดทุ่ง เป็นพระครูวิโรจน์รัตโนบล.."
ซึ่งตามปกติจะอ้างถึงสมณศักดิ์สุดท้ายที่ได้รับก่อนการเลื่อนตำแหน่ง เช่น
"๒. ให้พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช เจ้าคณะแขวงอุตตรูปลนิคม เป็นพระครูวิโรจน์รัตโนบล ที่สังฆปาโมกข์เจ้าคณะใหญ่เมืองอุบลราชธานี")
พ.ศ. ๒๔๔๙ ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล ได้สร้างซุ้มประตูหน้าวัดพระธาตุพนม
พ.ศ. ๒๔๕๐ พระครูวิโรจน์ฯ ควบคุมการสร้างให้ใช้ซีเมนต์ผสมกรวดปูลานพระธาตุชั้นใน
พ.ศ. ๒๔๕๘ พระครูวิโรจน์รัตโนบล ได้พาพระเณร ไปทำการตั้งกองตัดไม้ที่คำน้ำแซบ วัดวารินทรารามในปัจจุบัน สมัยนั้นมีแต่ป่า ยังไม่มีบ้านเรือนคน และค่ายทหาร แต่เมื่อตัดเสาได้แล้ว ก็สร้างล้อลากลงแม่น้ำมูลข้ามมาสร้างศาลาการเปรียญ โดยในวันไหนมีการล่องมูล จะให้ชาวบ้านที่หาปลา หรือคนที่อยู่แถวนั้นมาช่วย เพราะเสาต้นใหญ่มาก บางวันต้องใช้กลองยาวตีเร้าใจ เพื่อให้จังหวะ ครั้นลากเสามาถึงวัดแล้ว ก็จัดแจงตกแต่งศาลาการเปรียญ ครั้นเตรียมการเสร็จแล้ว ก็ได้ป่าวประกาศเชิญชวนทำบุญปลูกศาลาการเปรียญ ยกศาลาและสร้างต่อจนเสร็จ
เมื่อสร้างศาลาการเปรียญเสร็จแล้ว วัดเหนือท่าซึ่งเป็นวัดร้างทางราชการจะสร้างเป็นสถานีอนามัย พระเจ้าใหญ่ในศาลาการเปรียญวัดเหนือท่า ไม่มีพระสงฆ์อยู่ดูแล พระครูวิโรจน์รัตโนบลจึงได้นำญาติโยมไปอาราธนา มาเป็นพระประธานที่ศาลาการเปรียญวัดทุ่งศรีเมืองซ่อมแซมพระเจ้าใหญ่ศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปที่สร้างพร้อมเมืองอุบลราชธานี ประดิษฐานอยู่ที่วัดเหนือท่าริมฝั่งแม่น้ำมูล ภายหลังวัดเหนือท่าเป็นวัดร้าง พระปฏิมาชำรุดพระเศียรหักพัง พระครูวิโรจน์ฯ จึงได้ให้ญาติโยมคณะศรัทธาชะลอชักลากมาประดิษฐานเป็นพระประธานในหอแจก วัดทุ่งศรีเมืองที่เพิ่งสร้างใหม่ และบูรณปฏิสังขรณ์พระเศียรให้เหมือนกับ “พระเหลาเทพนิมิต” อ.พนา จ.อำนาจเจริญ
ช่วยหญิงคลอดลูกยากซึ่งลูกที่คลอดต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง
ในพ.ศ.นี้ท่านได้ช่วยให้หญิงครรภ์แก่ครบกำหนดจะคลอดลูกแล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะคลอดได้โดยง่าย ให้คลอดออกมาได้โดยปลอดภัย และเป็นเรื่องน่าประหลาดที่ เด็กที่คลอดนี้ต่อมาก็ได้บวชเป็นพระและได้อยู่ในสมณเพศจนกระทั่งได้เป็นถึงพระราชาคณะในราชทินนามที่ พระราชรัตโนบล และเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ ของวัดทุ่งศรีมือง นั่นเอง
โดยท่านพระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารทเถระ) ได้เขียนชีวประวัติของท่านเป็นที่ระลึกในงานวันเกิดเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ ว่า
"การเกิดของท่านนั้นได้ยินว่ายากมาก โยมมารดาต้องได้รับทุกข์ทรมาน ปวดท้องอยู่เป็นเวลาหลายวันก็ไม่ยอมคลอด หมอตำแยแถวนั้นคงจะรุกรายโยมมารดาของข้าพเจ้ามาก และพร้อมกันนั้นก็คงจะทรมานข้าพเจ้าด้วยไม่น้อยเหมือนกัน ตั้งแต่พยายามจะให้คลอดอยู่นั้นเป็นเวลาหลายวันจนสุดสามารถ จึงได้หวนคิดถึงหลวงปู่พระครูวิโรจน์รัตโนบล (ญาท่านดีโลด) วัดทุ่งศรีเมือง ครั้งนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะเมืองอยู่สันนิษฐานว่าท่านคงเดินทางออกไปตรวจการคณะสงฆ์แถวนั้น จึงได้อาราธนาท่าน หรือไม่ก็มาอาราธนาท่านออกไปจากวัดทุ่งศรีเมืองเลย ท่านได้มีเมตตาจิตไปกระท่อมน้อยๆ ซึ่งไม่เหมาะที่ท่านผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่จะพึงไป หากท่านไม่มีเมตตาจิตแล้ว ท่านจะมองไม่เห็นหรือมองข้ามก็ได้ แต่นี่ท่านได้ใส่ใจไปอนุเคราะห์ถือว่าเป็นโชคดีของโยมมารดา และข้าพเจ้ามาก ท่านได้กรุณาทำน้ำมนต์ให้โยมมารดากิน พอโยมมารดาได้กินน้ำมนต์ของท่านสักครู่เท่านั้น ก็คลอดข้าพเจ้าออกมาอย่างสบาย ท่านได้กรุณามองหน้าข้าพเจ้าแต่แรกเกิดด้วยความเอาใจใส่ พร้อมกันนั้นก็คงจะมีเมตตาจิตให้ข้าพเจ้ามาก จึงได้กรุณากำชับว่า “ ให้เลี้ยงไว้ให้ดี เด็กคนนี้เป็นคนมีบุญ โตขึ้นจะได้เป็นใหญ่”
พ.ศ. ๒๔๕๙ ร่วมเป็นกรรมการในการสร้าง พระสัพพัญญูเจ้า เพื่อเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ทำการหล่อเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้วเสร็จในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ มีพุทธลักษณะงดงามต้องด้วยพุทธลักษณะ สี่คืบพระสุคต และได้รับการยกย่องว่า “พระพุทธชินราชแห่งภาคอีสาน” ในการหล่อใช้ทองถึง ๓๐ หาบ พระครูวิโรจน์ฯ เป็นกรรมการสร้าง โดยมีช่างโพธิ์ ส่งศรีและช่างคำหมา แสงงาม เป็นนายช่าง หล่อพร้อมกับพระพุทธรูปอีก ๕ องค์ คือ
๑. พระมิ่งเมือง พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
๒. พระขวัญเมือง ประดิษฐานในอุโบสถวัดสระแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี (องค์พระโดนโจรกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓)
๓. พระศรีเมือง (พระหาง เมือง) พระพุทธรูปสำคัญของวัดหอก่อง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
๔. พระบรมสัตถา พระประธานในอุโบสถวัดบ้านท่าบ่อ ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
๕. พระประธานในหอแจก วัดบ้านหนองไหล วัต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
หลังงานการหล่อพระสัพพัญญูเจ้า พร้อมกับพระพุทธรูปอีก ๕ องค์เสร็จสิ้นไปแล้ว พระราชมุนี (ติสโส อ้วน) เจ้าคณะมณฑลได้ดำริกับคณะสงฆ์ และฝ่ายราชการบ้านเมืองในการที่จะสร้างพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามขึ้นใหม่ การสร้างพระอุโบสถใหม่นี้ ได้เตรียมการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อรับผิดชอบในการสร้าง และพระครูวิโรจน์ฯ ก็ได้เป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ด้วย
พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นคณะกรรมการสร้างพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหารหลังใหม่ การก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๙ สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท
ปัญหาสำคัญของการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ก็คือปูนที่ใช้สร้างมีราคาแพง เนื่องจากต้องสั่งมาจากทางนครพนม ซึ่งมีระยะทางไกล ด้วยเหตุนี้พระราชมุนี (ติสฺโส อ้วน) จึงได้มอบหมายให้พระครูวิโรจน์รัตโนบลไปสำรวจแหล่งปูนในพื้นที่ของอุบลราชธานี ก็เพื่อความสะดวกในการขนส่ง และประหยัดซึ่งท่านพระครูวิโรจน์ฯ เบื้องต้นได้ไปสำรวจที่ตำบลกระเดียน และตำบลกุสกร อำเภอขุหลุ (ตระการพืชผล) ได้พบปูนอยู่ตามท้องห้วยของตำบลนั้น แต่ก็ยังมีระยะทางไกลอยู่ ท่านจึงได้สำรวจแนวสันเนินที่เชื่อมมาจากห้วยที่มีหินปูนทางทิศใต้ จึงได้พบหินปูนชนิดเดียวกันที่ห้วยอามพาม ตำบลตาลสุม อำเภอพิบูลมังสาหาร เผอิญว่าบริเวณนั้นอยู่ติดกับแม่น้ำมูลสะดวกแก่การขนส่งกลับมาสร้างที่วัดสุปัฏนาราม ท่านจึง แนะให้ราษฎรทำขาย ที่นี่ก็เลยเป็นที่ทำปูน จัดว่าเป็นอาชีพของราษฎรได้ส่วนหนึ่งจนบัดนี้ ซึ่งปูนนี้ได้นำไปใช้ในการสร้างศาสนสถานหลายแห่ง รวมถึงพระธาตุพนมด้วย
พ.ศ. ๒๔๖๗ สร้างโปงไม้ เก็บไว้ที่หอระฆัง วัดสุปัฏนารามวรวิหาร พระครูวิโรจน์ฯ สร้างขึ้นตามความประสงค์ของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์ สุภสร) แกะจากไม้แคน (ไม้ตะเคียน) ทั้งต้น
พ.ศ. ๒๔๖๙ ครูบาธรรมวงศ์ วัดผาแก้วซึ่งเป็นอาจารย์ของญาท่านดีโลดมรณภาพ ขณะอายุ ๑๓๕ ปี ตรงกับปีขาล และได้มีพิธีถวายเพลิงศพ ณ จิตกาธานกลางทุ่งนา ณ บ้านผาแก้ว ตำบลกุดลาดนั่นเอง ขณะนั้นพระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว และท่านก็ได้เดินทางไปถวายเพลิงศพอาจารย์ของท่านด้วย
พ.ศ. ๒๔๗๐ พระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีมาจนชราภาพ ครั้นอายุ ๗๒ ปี เกิดความขัดแย้งขึ้นในคณะสงฆ์ ตอนนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) มีบัญชาให้ทุกวัดเผาหนังสือผูกหนังสือธัมทิ้งให้หมด ไม่มีใครขัดบัญชาได้ ก็ต้องเผากันไป แต่ท่านไม่ยอมปฏิบัติตาม ยังคงรักษาใบลานในหอไตรวัดทุ่งศรีเมืองไว้ตามเดิม ต่อมาท่านก็พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี โดยยกขึ้นเป็น เจ้าคณะจังหวัด "กิตติมศักดิ์" ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐
เรื่องการที่ท่านถูกยกให้เป็นกิตติมศักดิ์นั้น ดร.ปรีชา พิณทองได้เล่ารายละเอียดให้อำพล เจนฟัง ซึ่งคุณอำพลได้นำมาเล่าอีกต่อหนึ่งใน เวบ www.ampoljane.com ดังต่อไปนี้
"ในช่วงปลายชีวิตของพระครู วิโรจน์รัตโนบล ได้ถูกสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ถอดออกจากการเป็นเจ้าคณะจังหวัด คือ ถอดออกจากการปฏิบัติหน้าที่และการมีอำนาจบริหารในฐานะเป็นเจ้าคณะจังหวัด ให้คงไว้แค่เป็นเจ้าคณะจังหวัดแต่ในนามเท่านั้น
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ในสมัยนั้นท่านเป็นพระเถระไฟแรง มีความมุ่งมั่นอยู่กับการรักษาและเผยแพร่ระบบการศึกษาแผนใหม่ในแบบพระธรรมยุติกนิกกาย ท่านมีความเห็นว่า พระธุดงค์ พระป่าแบบพระสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร เป็นพระขี้เกียจไม่ยอมศึกษาเล่าเรียน และพระบ้านแบบพระครูวิโรจน์รัตโนบลก็เป็นพระที่เฉื่อยชาไม่กระปรี้กระเปร่า ในการบริหารคณะสงฆ์ จึงคิดจะส่งลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่งขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดแทน ลูกศิษย์ของท่านชื่อว่าอะไรผมก็เลือนไป ไม่มีเวลาค้นดู แต่ชื่อของท่านรูปนี้ก็ปรากฏอยู่ในประวัติการปกครองคณะสงฆ์ ใครมีเวลาก็ค้นดูได้ด้วยตนเอง
ดร.ปรีชา พิณทอง ได้เล่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ให้ฟังว่า ท่านเองก็เป็นพระเช่นเดียวกัน จึงทราบตื้นลึกหนาบางของเรื่องนี้ดี เป็นแต่ว่าไม่ได้พูดให้ใครฟัง เพราะเห็นว่าเรื่องมันแล้วไปแล้ว แต่ก็เมตตาเล่าให้ผม (อำพล) ฟังอย่างพ่อลูก
วันที่จะเกิดเหตุปลดนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้มีคำสั่งให้ประชุมเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอในเขตจังหวัดอุบลฯ ซึ่งหน้าที่ที่จะเรียกเจ้าคณะอำเภอมาประชุมตามกำหนดนัดหมายก็เป็นหน้าที่ของ เจ้าคณะจังหวัด คือท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล แต่เวลาที่ให้สำหรับการเรียกเจ้าคณะอำเภอมีน้อยเกินไป ไม่มีทางที่จะเรียกได้ทัน เพราะการคมนาคมสมัยนั้นต้องเดินด้วยเท้า หรือใช้เกวียนหรือม้า จึงปรากฏว่ามีเจ้าคณะอำเภอ 2 อำเภอมาประชุมไม่ทัน ดูเหมือนจะเป็นอำเภอพิบูลมังสาหาร กับอีกอำเภอหนึ่งซึ่งผมก็ลืมไปแล้ว สมเด็จฯ ท่านก็กริ้ว กล่าวโทษท่านพระครูวิโรจน์ว่าบกพร่องต่อหน้าที่ แม้พระครูท่านจะแก้ว่าอำเภอที่มาไม่ได้นั้นต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับอย่าง เร็วที่สุดต้อง ๔ วัน จึงทำให้ไม่สามารถติดตามให้มาประชุมทัน สมเด็จฯ ท่านก็ไม่ฟัง สั่งลงโทษท่านพระครูโดยให้ออกไปนอกพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม พระอารามหลวงของเมืองอุบลฯ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุม ให้ออกไปยืนอยู่หน้าอุโบสถกลางแจ้งตากแดดอยู่นานชั่วโมง ซึ่งท่านพระครูก็ออกไปรับโทษโดยมิได้โต้แย้งขัดขืนแต่อย่างใด
ตกคืนนั้น สมเด็จฯ เกิดอาพาธกะทันหันถึงอาเจียนเป็นเลือด พวกลูกศิษย์บางทีจะคิดเฉลียวใจ ได้ชวนกันมากล่าวขมาลาโทษท่านพระครูวิโรจน์ฯ ถึงที่วัดทุ่งศรีเมือง อาการอาพาธจึงหาย เรื่องนี้ ดร.ปรีชา พิณทอง ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
รู้กันหมดทั้งเมืองอุบลฯ เป็นแต่ว่าไม่มีใครอยากพูด
หลวงปู่สังข์ ฐิตธมฺโม ก็ได้เล่าเหตุการณ์ประกอบเรื่องบาดหมางนี้ให้ผมฟังว่า ขณะนั้นหลวงปู่สังข์ยังบวชอยู่กับพระครูวิโรจน์ฯ ได้เห็นเหตุการณ์ที่ทุกวัดและวัดทุ่งศรีเมืองของท่านพระครู ต้องเอาตำรับตำราโบราณที่บันทึกไว้ในสมุดข่อย สมุดใบลาน ที่ทางอีสานเรียกว่าหนังสือผูก ออกมาเผาทิ้งตามคำสั่งของสมเด็จฯ ท่าน เพราะว่าท่านไม่ประสงค์จะให้พระเณรสนใจศึกษาตำรับตำราวิชาอาคมแบบนั้น จึงบัญชาให้เผาทิ้ง ผลคือตำรับตำราหรือประวัติศาสตร์บางอย่างต้องถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย หลวงปู่สังข์เองก็เสียดายหนังสือผูกที่รวบรวมสรรพวิชามากมายต้องสลายตัวเป็นขี้เถ้าหมด ท่านยังได้เก็บเอาขี้เถ้าเหล่านั้นมาสร้างเป็นพระเครื่องของท่านเอง"
แม้จะถูกยกให้เป็นกิตติมศักดิ์ ท่านก็ยังอุตส่าห์เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา เอาธุระสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและชาวบ้านให้อยู่ในศีลธรรม และเป็นภาระในการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุอยู่เช่นเดิม ตลอดจนอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นช่างปั้น ช่างแกะลวดลาย ช่างเขียน ตลอดจนช่างเงินทองต่างๆ จนเกิดตระกูลช่างศิลป์ ที่มีความวิจิตรงดงามเฉพาะอุบลสืบต่อมา แม้ท่านจะชราภาพมากแล้ว หากหมู่บ้านใดเกิดเดือดร้อนไม่ค่อยอยู่ดี ชาวบ้านมานิมนต์ ท่านก็ยังไปรดน้ำมนต์ทำมงคลให้บ้านเมืองเกิดความสงบร่มเย็น
ญาท่านดีโลดเป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูงมากองค์หนึ่งของอีสาน ชอบสงเคราะห์คนเดือดร้อน ใครก็ตามที่ขอคำปรึกษาหารือ หรือมาขอพึ่งบารมี ท่านจะอนุเคราะห์ทุกอย่างที่ให้ได้ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วไป
พ.ศ. ๒๔๗๑ ปีนี้ท่านได้ทำการซ่อมแซมพระเหลาเทพนิมิต พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเหลาเทพนิมิต จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งของภาคอีสาน และเป็นแบบอย่างทางศิลปะที่พระครูวิโรจน์ฯ จำลองไปยังพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์
พ.ศ. ๒๔๗๒ สร้างอุโบสถวัดพลแพน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พระครูวิโรจน์ฯ และพระใบฎีกาสังข์กับพระมหาคูณ เป็นผู้นำญาติโยมในการสร้าง ปัจจุบันได้ถูกรื้อไปแล้ว เหลือเพียงหน้าบันแกะสลัก และบานประตูเท่านั้น
พ.ศ. ๒๔๗๔ สร้างพระเจ้าใหญ่มิ่งมงคลอุบลเทพนิมิต (พระเจ้าใหญ่เชิงชุม) พระประธานวัดพลแพน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ขึ้นด้วยฝีมือท่านเอง และจำลองพุทธลักษณะและสัดส่วนเหมือนพระเหลาเทพนิมิต อ.พนา จ. อำนาจเจริญ
เดินทางไปบูรณะพระธาตุพนมเป็นครั้งที่ ๒
พ.ศ. ๒๔๗๔ พระครูวิโรจน์ฯ ซึ่งขณะนั้นอายุ ๗๗ ปีแล้ว ได้เดินทางพร้อมคณะศิษยานุศิษย์ไปพระธาตุพนมเป็นการเดินทางไปบูรณะพระธาตุพนมเป็นครั้งที่สองโดยมีพระมหาคูณ ปญฺญาปชฺโชโต ร่วมเดินทางไปด้วย ส่วนพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธฺมโม พระครูวิโรจน์ฯ ได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าช่างคุมปูนจากแหล่งปูนที่ท่านค้นพบที่ตำบลตาลสุม อำเภอพิบูลมังสาหารดังกล่าว ไปใช้ในการบูรณะพระธาตุพนมจำนวน ๔๐ กระสอบ โดยพระมหาคูณได้เล่าถึงรายละเอียดในการเดินทางไปในครั้งนั้นไว้ว่า
"อาตมาได้เดินทางไปพระธาตุพนมพร้อมกับญาท่านดีโลดในปี ๒๔๗๔ ตอนนั้นยังเป็นเณร มีพระเณรไปด้วย ๒๐ รูป ไปครั้งนี้สะดวกขึ้นแล้ว เพราะมีรถยนต์สามารถแล่นได้ถึงพระธาตุโดยไม่ลำบากเท้า ญาท่านดีโลดเหมารถไปและกลับในราคา ๘๐ บาท ถูกองค์ละเท่าไหร่ล่ะ ๔ บาทใช่ไหม และไม่ใช่ไปแล้วกลับทันทีนะ แต่ไปจนงานพระธาตุเสร็จค่อยกลับ เหมารถอย่างนั้น
ถึงงั้นก็ต้องค้างระหว่างทางคืนหนึ่ง ที่สามแยกอำเภอเลิงนกทา ตื่นเช้าออกเดินทางต่อไปจนถึงจังหวัดมุกดาหาร ได้ฉันเช้าที่นั่น สมัยนั้นมุกดาหารเป็นอำเภอนะ ส่วนเพลได้ฉันที่ห้วยน้ำก่ำ ทีนี้ค่อยถึงพระธาตุ รวมเวลาเดินทาง สองวันหนึ่งคืน
ที่วัดพระธาตุพนม ญาท่านดีโลดมีกุฏิอยู่หลังหนึ่ง เขายังรักษาไว้ให้เพิ่นอยู่ เพิ่นก็เข้าพักที่นี่ พวกทางโน้น ฝั่งโขงทางโน้นรู้ข่าวว่าเพิ่นมาถึงพระธาตุพนม ก็พากันมาบริจาคเงิน ปีนั้นได้เงินหมื่นกว่าบาท เป็นเงินเหรียญนะ เหรียญฝรั่ง เงินเหรียญหัวหนามนั้นแหละ (ที่เรียกว่าเหรียญหัวหนาม เพราะมีรูปควีนหรือกษัตริย์สวมมงกุฎ - อำพล เจน) รวมเงินเหรียญได้ห่อบักใหญ่ทีเดียว เพิ่นให้อาตมาเป็นคนเก็บรักษาเอาไว้
และยังได้ทองคำอีกด้วยนะ ทองคำหนัก ๓๐ กว่าบาท เขาเอามาบริจาค เป็นพวกตุ้มหู หัวแหวน หรือสร้อย หรือเข็มขัดชำรุด ที่ยังดีๆ ก็มีบริจาคมา
เพิ่นก็เอาทองคำทั้งหมดมาตีเป็นแผ่น แล้วคาดนั่งร้านขึ้นไปตีตะปูตอกแผ่นทองคำหุ้มยอดพระธาตุด้วยตัวเพิ่นเอง
พอเสร็จช่วงนั้นแล้ว เพิ่นให้อาตมาเอาเงินทั้งหมดที่เขาบริจาคมา หมื่นกว่าบาทนั้นไปมอบให้เจ้าคณะอำเภอ ตอนนั้น ญาท่านหมี เป็นเจ้าคณะอำเภอ (พระครูศีลาภิรัติ หรือ พระครูหมี อินฺทวํโส และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมระหว่างปี ๒๔๕๘ - ๒๔๗๙) อาตมาว่าจะเอา (เงินบริจาค) มาเป็นค่ารถสัก ๘๐ บาท จึงเรียนถามเพิ่นว่า จะแบ่งเงินออกมาเป็นค่ารถบ้างไหม เพิ่นว่า "บ่เอา เฮาบ่เอาดอก เงินธาตุเอาเมือบ่ได้ เอาไปมอบให้ท่านหมีทั้งหมด" (คำว่า "เมือ" หมายถึง "กลับ") อาตมาเป็นเณรก็คิดวิตกประสาเด็กว่าจะทำยังไงน้อจึงจะมีเงินค่ารถ แต่ก็นำเงินทั้งหมดไปมอบให้ญาท่านหมีตามสั่ง
พอกลับมาอีกที ปรากฏว่ารองอำมาตย์โท หลวงวัฒนวงษ์โทนุบล (โทน สุวรรณกูฏ) ได้มาอุปถัมภ์เรื่องค่ารถ คือได้ยินหลวงวัฒน์ฯ บอกกับญาท่านพอดีว่า "ญาท่าน ข้าน้อยให้ค่ารถเขาแล้วนะ ๘๐ บาท" โอ้ยดีใจหลายจะไม่ได้ออกเงิน หลวงพ่อพระมหาคูณหัวร่อชอบใจ "ตอนนั้นเด็กน้อยน้อ ก็คิดแบบเด็กน้อย"
พ.ศ.๒๔๗๙ การก่อสร้างพระอุโบสถ วัดสุปัฏนารามเสร็จ สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๔๘๒ อายุ ๘๔ ปี หลวงพ่อพระมหาคูณเล่าให้อำพล เจนฟังว่า ญาท่านดีโลด หรือพระครูวิโรจน์รัตโนบลเดินทางไปพระธาตุพนมครั้งที่สาม และเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้ ทั้งหลวงพ่อพระมหาคูณ และหลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้ร่วมเดินทางไปด้วย หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้รับมอบหมายจากญาท่านดีโลดได้เป็นหัวหน้างาน โดยที่ญาท่านดีโลดชราภาพมากแล้ว ไม่สามารถที่จะลงมือด้วยตนเองได้
ในการเดินทางไปครั้งนั้น วัดพระธาตุพนมได้สร้างเหรียญขึ้นมาเป็นที่ระลึกรุ่นหนึ่งคือ เหรียญพระธาตุพนมปี ๒๔๘๒ หลังแบบ เนื้อทองฝาบาตร ลักษณะด้านหน้านูนเป็นหลังเต่า ด้านหลังแอ่นลงอย่างก้นกระทะ ด้านหน้าและด้านหลังปรากฏลวดลายอย่างเดียวกัน แต่ตรงกันข้ามคือด้านหน้าลวดลายใดๆ ที่นูนขึ้นมา ด้านหลังจะต้องจมลงเป็นร่องลึก ด้านหลังจะนูนขึ้นมาเรียกว่าหลังแบบนั่นเองเหรียญรุ่นนี้ด้านหลังซึ่งบุ๋มลงไปจะบรรจุเกล็ดพระธาตุหรือไคลพระธาตุ คือ ส่วนผิวขององค์พระธาตุที่ล่อนออกมาสมัยบูรณปฏิสังขรณ์ไว้จนเต็ม และเป็นเหรียญที่พระครูวิโรจน์ฯ ทำการปลุกเสก
พ.ศ. ๒๔๘๓ สร้างเหรียญรูปเหมือนพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง รุ่นแรก ปี ๒๔๘๓ มีที่มาของเรื่องดังนี้
การสร้างเหรียญรูปเหมือน พ.ศ. ๒๔๘๓
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๕ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีน ทหารฝรั่งเศสบุกยึดนครจำปาศักดิ์ เกิดการปะทะกันระหว่างทหารทั้งสองฝ่าย ฝ่ายกองทัพไทยอันมีพลเอกมังกร พรหมโยธี (หลวงพรหมโยธี) เป็นผู้นำได้ต่อสู้จนทหารหาญของไทยเหยียบดินแดนมณฑลบูรพาที่ฝรั่งเศสยึดไปได้ และตั้งกองบัญชาการกองทัพขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้นจึงดำริสร้างเหรียญบำรุงขวัญ เพื่อแจกจ่ายแก่ทหารหาญและข้าราชการ
พอดีกับที่หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจการเสริมยอดพระธาตุพนมให้สูงขึ้นกว่าเดิม ๑๐ เมตรตามคำสั่งของรัฐบาลและได้เลยไปตรวจราชการที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับทราบดำริของหลวงพรหมโยธีดังกล่าว และเล็งเห็นว่าพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) ท่านเป็นคณาจารย์ขมังเวทย์ที่สุดในอุบลราชธานีและนครพนม จึงมอบให้ พ.ต.อ.พระกล้ากลางสมร (มงคล หงษ์ไกร) ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่าน พ.ต.อ. พระกล้ากลางสมร จึงได้สั่งให้นายทหารคนสนิทคือ พ.ท.พระไพศาลเวชกรรม (สวัสดิ์ โสมเกษตริน) มากราบขออนุญาตสร้างเหรียญกับพระครูวิโรจน์ฯ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว พระไพศาลเวชกรรมจึงได้จัดทำเหรียญรูปไข่เนื้อทองแดงบล็อกนิยม มีทั้งกะไหล่และกะไหล่เงิน นัยว่าเข้ามาแกะบล็อกและปั๊มเหรียญที่กรุงเทพมหานคร (พระไพศาลเวชกรรม เป็นชาวกรุงเทพมหานคร โดยมีบ้านพักอยู่ละแวกวัดไผ่เงิน ตรอกจันทร์ ยานนาวา)
เมื่อสำเร็จแล้วจึงได้นำเหรียญทั้งหมดนำมาถวายท่านพระครูฯ ปลุกเสกที่วัดทุ่งศรีเมือง ท่านพระครูวิโรจน์ทำพิธีปลุกเสกเมื่อไหร่ก็ไม่มีผู้ใดทราบ โดยท่านทำเงียบๆ ตามลำพัง โดยไมมีใครรู้เห็นว่ามีการจัดพิธีกรรมเป็นงานเป็นการแต่ประการใด เมื่อปลุกเสกเรียบร้อยแล้วก็ทำพิธีแจกให้ทหารทั้งกองทัพในเมืองอุบลฯ
หลวงพ่อมหาคูณเล่าถึงเหตุการในวันที่ทำพิธีแจกเหรียญซึ่งท่านก็ได้อยู่ร่วมในพิธีด้วยว่า ทหารมากันเต็มวัดเรียงแถวเข้ารับแจกเหรียญคนละเหรียญ ขณะนั้นพระครูวิโรจน์ท่านชราภาพมากแล้วลุกไม่ได้ นอนบนเตียงที่รับแขกคอยยื่นมือยื่นเท้าให้ทหารทั้งหลายที่จะเข้าสู่สนามรบแตะศีรษะเพื่อให้เกิดความปลอดภัย พร้อมกับให้ศีลให้พรเหล่าทหารหาญทุกๆคน ท่านให้พรว่า "ให้ลูกเป็นสุขๆ ปลอดภัย" เท่านั้นตลอดวันยังค่ำ แม้หลวงพ่อมหาคูณเองก็ยังช่วยพระครูวิโรจน์ฯ แจก เนื่องจากมีคนมามากเกินไป เกินกำลังของพระครูวิโรจน์ฯ ซึ่งเวลานั้นมีอาการอาพาธและอ่อนเพลีย
หลวงพ่อมหาคูณเป็นศิษย์อยู่รับใช้พระครูวิโรจน์ฯในช่วงปลายชีวิต จึงรู้เห็นเหตุการณ์นี้ตลอดท่านยืนยันว่า เหรียญพระครูวิโรจน์มีการสร้างเพียงครั้งเดียวในปี ๒๔๘๓
หลังจากพระครูวิโรจน์ฯ มรณภาพลงในปี ๒๔๘๕ จึงมีการสร้างขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานศพ ซึ่งก็คือพิมพ์ต้อ
ผู้เป็นธุระดำเนินการสร้างเหรียญพิมพ์ต้อเพื่อแจกในงานศพ เป็นลูกศิษย์พระครูวิโรจน์ฯคือ หลวงบุรัสการ (น่าจะหมายถึง ขุนบุรัสการกิตติคดี (เหมือน บุรัสการ) ผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่ง จังหวัดอุบลราชธานี - webmaster dharma-gateway.com) มีนิวาสถานอยู่ในอำเภอวารินชำราบ
หลวงพ่อมหาคูณ ปัญญาปัชโชโต อยู่รับใช้ใกล้ชิดพระครูวิโรจน์ฯ ๑๑ ปีจึงพอจะรับฟังข้อเท็จจริงนี้ได้ว่า มีความน่าเชื่อถือพียงใด
ปฏิปทาและจริยาสมบัติ
หลวงปู่เป็นพระภิกษุที่ทรงคุณธรรมอันประเสริฐยิ่ง มีเมตตาจิตสูง มีวิริยะอุตสาหะและมีขันติธรรมอย่างแรงกล้า มีจิตใจสงบเยือกเย็น มีความสุขุมคัมภีรภาพมาก ปกตินิสัย ท่านเป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี มีเมตตากรุณาต่อชนทุกชั้นไม่ว่ายากดีมีจน มีปกติโอภาปราศรัยด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ผู้มีโอกาสได้เข้าใกล้ชิดท่านทุกคนรู้จักเคารพและมีศรัทธาเลื่อมใสอิ่มเอิบในท่านโดยไม่มีวันจืดจาง ท่านมีปกติสอนคนให้เป็นคนดี และสร้างสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นดี ท่านมีปกติมองทุกสิ่งทุกอย่างในทางที่ดีเสมอ การกระทำและคำพูดของท่านจะเป็นไปเพื่อความดีและมีคำว่า "ดี" ติดคำพูดของท่านอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งประชาชนทั้งหลายได้ร้องเรียกท่านด้วยความเคารพเลื่อมใสเพิ่มขึ้นอีกว่า “ท่านพระครูดีโลด” ทั้งนี้ก็เพราะไม่ว่าใครจะทำอย่างใดและพูดอะไรกับท่าน ท่านก็ว่าดีทั้งนั้น ไม่เคยขัดใจใครเลย.
มรณภาพ
ครั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านได้ถึงมรณภาพลงเพราะโรคชรา ในท่ามกลางความห้อมล้อมของคณะศิษยานุศิษย์ คำนวณอายุได้ ๘๘ ปี พรรษา ๖๔ เมื่อ วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ สรีรสังขารของท่าน ได้เก็บรักษาไว้จนถึงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๖ จึงได้ถวายเพลิง โดยคณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์พร้อมกันจัดทำการพระราชทานเพลิงศพ โดยทำเมรุจตุรมุขแบบวิจิตรศิลป์แล้วทำรูปนกหัสดีลิงค์ครอบเชิงตะกอน แล้วเชิญหีบศพซึ่งลงรักปิดทองขึ้นประดิิษฐานบนหลังนกนั้น หีบศพนี้แต่เดิมคุณหลวงวัฒนวิทวิบูลย์ หรือ หลวงวัฒน์วิตรวิบูลย์ (นาค โกศัลวัฒน์) ได้ร่วมกันทำอุทิศถวายญาท่านหมูน เจ้าอาวาสวัดหลวงรูปที่ ๔ โดยใช้ตั้งประกอบพิธีไม่ได้เผาไปพร้อมกัน และคงนำมาเก็บรักษาไว้ที่หอไตรวัดทุ่งศรีเมืองก่อนจะนำมาเผาศพพระครูวิโรจน์ฯ ภายหลังเจ้าพระคุณสมเด็จมหาวีระวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ให้นำเอามาใส่ศพญาท่านดีโลดแล้วเผาไปพร้อมกัน
งานพระราชทานเพลิงศพ ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล ถือได้ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของเมืองอุบลราชธานี โดยเป็นการจัดงานพระราชทานเพลิงศพพระเถระชั้นผู้ใหญ่และพระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวอุบลราชธานีตลอดจนชาวอีสานทั้งปวง ถึง ๔ ท่านด้วยกัน ได้แก่
๑. พระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีทอง เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี จัดขึ้นที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) วันที่ ๑๐-๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยฌาปนกิจในเวลาและสถานที่เดียวกันกับ
๒ พระมหารัฐ รฏฺฐปาโล อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนาราม
๓. พระครูวิโรจน์รัตโนมล (บุญรอด นนฺตโร) อดีตเจ้าอาวาส วัดทุ่งศรีเมือง จัดงานฌาปนกิจ ที่วัดทุ่งศรีเมือง ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖
๔. หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล จัดงานฌาปนกิจ ที่วัดบูรพาในวันที่ ๑๕-๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖
โดยในงานพระราชทานเพลิงศพของพระมหาเถระ ๔ ท่านนี้ ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ท้าวฮุ่งหรือเจือง โดยดำริของคณะสงฆ์มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) สังฆนายก เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพฯ ในฐานะสหธรรมิกกับพระเถระทั้งสี่ และเป็นผู้บังคับบัญชาทางตำแหน่งคณะสงฆ์ อีกทั้งสันนิษฐานว่าท่านเป็นผู้เรียบเรียง "ประวัติพระเถระทั้ง ๔ รูป" ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือด้วย
“...ท่านมีเกียรติคุณทางเมตตามหานิยม พูดกับคนมีผู้เชื่อถือและติดตาม เป็นผู้มีอารมณ์ดีมองอะไร ๆ มีแต่ทางดีทั้งนั้น ใจคอกว้างขวาง หนักแน่น สุภาพอ่อนโยน โอบอ้อมอารี สงบเสงี่ยมหนักแน่นในธรรมวินัย มั่นคงในพรหมวิหาร ไม่ริษยาใคร ไม่แข่งดีกับใคร มีความกตัญญูและจงรักภักดีต่อผู้มีอำนาจเหนือ เอื้อเฟื้อต่อประชาชนทุกชั้นยึดอยู่ใน “ดี ” คนทั่ว ๆ ไปจึงเรียกท่านอีกชื่อหนึ่งว่า “พระครูดีโลด” เพราะท่านจะพูดอะไรกับใคร ๆ หรือฟังใครพูด เวลาเขาเล่าจบ ท่านมักรับคำว่า “ดีๆ” ใครจะพูดร้ายพูดดีกับท่าน ท่านก็ว่า “ดีๆ” เวลา มีอารมณ์กระทบอย่างไรก็ตามก่อนท่านจะพูดอะไร ก็เปล่งอุทานว่า “ดีๆ” เขาจึงถวายนามพิเศษว่า “ท่านพระครูดีโลด”
ภาพบรรยากาศงานศพ ของพระเถระผู้ใหญ่ เข้าใจว่าเป็นงานพระราชทานเพลิงศพ และฌาปนกิจศพพระมหาเถระที่วัดศรีทอง เมืองอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๔๘๖
งานพระราชทานเพลิงศพ และฌาปนกิจศพ เจ้าคุณพระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) อดีตเจ้าคณะมณฑลอุดร และอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีทอง และพระมหารัตน์ รฏฺฐปาโล อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนาราม ณ วัดศรีทอง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เป็นประธาน เมรุคชสีห์ทางซ้ายในรูป คือเมรุของพระศาสนดิลก ส่วนเมรุทางขวา คือเมรุของพระมหารัตน์ ช่างคำหมา แสงงาม ลูกศิษย์เอกของพระครูวิโรจน์ฯ เป็นผู้รังสรรค์งานวิจิตรศิลป์ทั้ง ๒ เมรุ รวมถึงเมรุของพระครูวิโรจน์ฯ ที่วัดทุ่งศรีเมืองด้วย ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ อุบลราชธานี
งานพระราชทานเพลิงศพของท่านกล่าวได้ว่าเกิดจากความระลึกกตัญญูของคณะศิษยานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านพระครูวิโรจน์ฯ ไม่ว่าจะเป็นพระเถรานุเถระเช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) พระครูวิจิตรธรรมภาณี (กิ่ง มหปฺผโล) พระมหาปรีชา ปริญฺญาโณ และคฤหัสถ์ญาติโยมก็ได้มีส่วนร่วมในการจัดงานพระราชทานเพลิงครั้งนี้ เห็นได้จากการสร้างนกหัสดีลิงค์ในงานพระราชทานเพลิงศพ โดยคณะศิษย์กลุ่มช่าง เช่น ช่างคำหมา แสงงาม หรือ การสร้างโกศเงินบรรจุอัฐิธาตุพระครูวิโรจน์ฯ โดยช่างสาย สุนทราวงษ์ รวมถึงการอุปถัมภ์ของคฤหบดีชาวเมืองอุบลราชธานี คือ หลวงวัฒน์วิทวิบูลย์ หัวหน้าพ่อค้าตลาดอุบลที่นำหีบศพลายรดน้ำปิดทอง ถวายในการทำฌาปนกิจ เป็นต้น
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุท่านไว้หลังหอพระบาท วัดทุ่งศรีเมือง โดยการนำของคณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิต และฆราวาส
ผลงานทางด้านงานช่างและศิลปะของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (นนฺตโร)
สรุปจาก รายงานเรื่อง "สถานภาพความรู้เกี่ยวกับพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) พ.ศ. 2486 – 2549"
โดย ปกรณ์ ปุกหุต หลักสูตรสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2557
ผลงานทางด้านจิตรกรรม
งานจิตรกรรม หรือ การวาดภาพ ซึ่งทางภาคอีสานเรียกว่า “ฮูปแต้ม” เป็นงานช่างแขนงที่สร้างชื่อเสียงให้กับพระครูวิโรจน์ฯ เป็นอย่างมาก เป็นที่ประจักษ์จากผลงานหลายแห่งที่ปรากฏในวัดสำคัญ รวมถึงมีลูกศิษย์หลายท่านที่สืบวิชาของท่านได้วาดจิตรกรรมไว้หลายวัด
พระครูวิโรจน์ฯ ได้รับการศึกษาเรื่องการวาดจิตรกรรมจากสำนักราชบรรเทา และคงได้รับอิทธิพลจากขนบศิลปวัฒนธรรมภาคกลางของวัดทุ่งศรีเมืองด้วย เนื่องด้วยศิลปะของวัดทุ่งศรีเมืองเป็นแบบผสมผสานภาคกลางอย่างชัดเจน ท่านคงได้รับอิทธิพลแบบนี้มาไม่น้อยในการสร้างสรรค์งานผลงานของท่านที่มีปรากฏในอดีต อาทิ สิมวัดพระธาตุพนม และหอแจกวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งได้รื้อถอนไปแล้วทั้งสองแห่ง อย่างไรก็ตามยังมีผลงานอีกชิ้นที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน คือ เสาไม้ค้ำยันขื่อภายในหอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง จำนวน ๔ ต้น ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ในปัจจุบัน
ผลงานอีกชิ้นที่เหลือมาถึงปัจจุบัน แต่ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าเป็นผลงานของท่านหรือไม่ คือผ้าผะเหวด ของวัดหลวง ซึ่ง บำเพ็ญ ณ อุบล ผู้มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.อุบลราชธานี เก็บรักษาและจัดแสดง เชื่อว่าเป็นฝีมือของพระครูวิโรจน์ฯ เช่นเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังวัดทุ่งศรีเมือง อีกทั้งยังเชื่อว่า พระครูวิโรจน์ฯ เป็นช่างแต้มที่มีชื่อเสียง เนื่องจากจิตรกรรมฝาผนังวัดทุ่งศรีเมือง ฝั่งขวาของพระประธาน วาดเป็นเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เช่นเดียวกับผ้าผะเหวดของวัดหลวง แต่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผ้าผะเหวดวัดหลวงก็อาจเป็นฝีมือของช่างที่เป็นลูกศิษย์ของพระครูวิโรจน์ฯ ก็เป็นได้ เนื่องจากลักษณะของภาพบนผ้า มีความคล้ายคลึงกับจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง และจิตรกรรมฝาผนังภายนอกและภายในสิมวัดบ้านนาควาย เมืองอุบลราชธานี ซึ่งในปัจจุบันได้กำหนดอายุผ้าผะเหวดผืนนี้ว่าวาดในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยพิจารณาจากเครื่องแต่งการทหารที่ปรากฏในภาพ แต่คงสังเกตได้ว่าเป็นงานที่มีอิทธิพลของจิตรกรรมวัดทุ่งศรีเมืองเป็นต้นแบบ
ผลงานทางด้านนวกรรม (การก่อสร้าง)
ผลงานการสร้าง และปฏิสังขรณ์ของพระครูวิโรจน์รัตโนบล
ลำดับ
ผลงาน
สถานที่ตั้ง/เก็บรักษาในปัจจุบัน
ปีที่สร้าง หรือซ่อมแซมแล้วเสร็จ
ความสำคัญ
๑.
หอพระพุทธบาท (สิม) วัดทุ่งศรีเมือง
วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ไม่แน่ชัดว่าซ่อมปีใด
โบสถ์ประจำวัดทุ่งศรีเมือง ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และมี จิตรกรรมฝาผนังชั้นครู ซึ่งอาจเป็นฝีมือของพระครูวิโรจน์ฯ เองในหลายส่วน ส่วนงานที่แน่นอนว่าเป็นหลักฐานการบูรณะของท่านคือ
"...ก่ออิีฐเป็นรูปธาตุทับรอยร้าว...และหลังคาจากเดิมมุงด้วยแป้นเกล็ดไม้มาเป็นสังกะสีและนำเสาไม้ ๔ ต้นมาค้ำยันขื่อ ซ่อมคร่าวและวาดลวดลายที่เสา... "
๒.
จิตรกรรมในเสาไม้ค้ำยันขื่อ หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง
วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ไม่แน่ชัดว่าวาดขึ้นในปีใด
เป็นฝีมือการวาดของพระครูวิโรจน์ทั้งสี่ต้น เสาคู่หน้าเขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ก้านแย่ง เสาคู่ในเขียนเรื่องสินไซ เสาด้านซ้ายมือพระประธานเขียนแบ่งลายเป็นสามส่วน คือ "...เสาด้านซ้ายมือพระประธานแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกเขียนลายก้านขดพรรณพฤกษาออกข่อดอกเทพพนม ส่วนที่ ๒ เขียนลายประจำยามดอกซีกดอกซ้อน และส่วนที่ ๓ เป็นลายเครือเถาก้านแย่งประกอบภาพกินรี..."
๓.
หอพระไตรปิฎก วัดทุ่งศรีเมือง
วัดทุ่งศรีเมืองอ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ไม่แน่ชัดว่าซ่อมปีใด
เปลี่ยนเสาไม้ที่เก่า นำเสาใหม่มาค้ำยันและเปลี่ยนหลังคาจากมุงไม้เกล็ดเป็นสังกะสี
๔.
พระธาตุพนม
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
ครั้งแรกเริ่มซ่อม พ.ศ. ๒๔๔๔ แล้วเสร็จ พ.ศ. ๒๔๔๙ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๗๔ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๒
ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของภาคอีสาน ที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า)
๕.
ซุ้มประตูใหญ่หน้าวัดพระธาตุพนม
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
สร้างพ.ศ. ๒๔๔๙ รื้อถอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙
พระครูวิโรจน์ฯ เป็นผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ พร้อมกับการรับเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เสด็จมาตรวจราชการ และนมัสการพระธาตุพนม
๖.
ลานพระธาตุพนมชั้นใน
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม .นครพนม
สร้าง พ.ศ. ๒๔๕๐
พระครูวิโรจน์ฯ ควบคุมการสร้างให้ใช้ซีเมนต์ผสมกรวดปูลานพระธาตุชั้นใน
๗.
จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดพระธาตุพนม
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าวาดขึ้นในปีใด แต่คงอยู่ในช่วงพ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นต้นมา และถูกทำลายไปเมื่อพระธาตุพนมล้มทับเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘
จิตรกรรมเรื่องพระเวสสันดรชาดกเหมือนที่วัดทุ่งศรีเมือง
๘.
ผ้าผะเหวด วัดหลวง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล เชื่อว่า วาดหลัง พ.ศ. ๒๔๒๑ (ปีที่พระครูวิโรจน์ฯ อุปสมบท) แต่จากหลักฐานทางศิลปกรรม น่าจะวาดสมัยรัชกาลที่ ๖
เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของพระครูวิโรจน์ฯ เป็นผ้าผะเหวดเก่าแก่ของเมืองอุบลฯ ไม่กี่ผืนที่ยังสภาพสมบูรณ์ในปัจจุบัน
๙.
หอแจก (ศาลาการเปรียญ) วัดทุ่งศรีเมือง
วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
สร้าง พ.ศ. ๒๔๕๘ รื้อทิ้งเพื่อสร้างวิหารศรีเมือง เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗
พระครูวิโรจน์ฯ คุมญาติโยมไปตัดไม้ที่คำน้ำแซบ คือวัดวารินทรารามในปัจจุบัน และล่องเสาไม้มาทางแม่น้ำมูล นำมาสร้างหอแจก
๑๐.
พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง
(พะแพน)
วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ซ่อมแซม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘
แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปที่สร้างพร้อมเมืองอุบลราชธานี ประดิษฐานอยู่ที่วัดเหนือท่าริมฝั่งแม่น้ำมูล ภายหลังวัดร้างพระปฏิมาชำรุดพระเศียรหักพังพระครูวิโรจน์ฯ จึงได้ให้ญาติโยมคณะศรัทธาชะลอชักลากมาประดิษฐานเป็นพระประธานในหอแจกที่เพิ่งสร้างใหม่ และบูรณปฏิสังขรณ์พระเศียรให้เหมือนกับ“พระเหลาเทพนิมิต” อ.พนา ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารศรีเมือง (หอแจกหลังใหม่)
๑๑.
พระอุโบสถ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
สร้าง พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วเสร็จ พ.ศ. ๒๔๗๘ ทำการฉลอง พ.ศ. ๒๔๗๙
พระอุโบสถขนาดใหญ่ของวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร แห่งแรกของเมืองอุบลฯ
๑๒.
พระพุทธสัพพัญญูเจ้า
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ทำการหล่อเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้วเสร็จในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙
พระประธานในพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร มีพุทธลักษณะงดงามใช้ทองถึง ๓๐ หาบ ในการหล่อ ต้องด้วยพุทธลักษณะ สี่คืบพระสุคต และได้รับการยกย่องว่า “พระพุทธชินราชแห่งภาคอีสาน” พระครูวิโรจน์ฯ เป็นกรรมการสร้าง โดยมีช่างโพธิ์ ส่งศรีและช่างคำหมา แสงงาม เป็นนายช่างหล่อพร้อมกับพระพุทธรูปอีก ๕ องค์
๑๓.
พระมิ่งเมือง
วัดสุทัศนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
หล่อพร้อมพระพุทธสัพพัญญูเจ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙
พระประธานในอุโบสถวัดสุทัศนาราม
๑๔.
พระขวัญเมือง
วัดสระแก้ว อ.พิบูลมังสาหารจ.อุบลราชธานี
หล่อพร้อมพระพุทธสัพพัญญูเจ้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙
ประดิษฐานในอุโบสถวัดสระแก้ว (องค์พระโดนโจรกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓)
๑๕.
พระศรีเมือง (พระหาง เมือง)
วัดหอก่อง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
หล่อพร้อมพระพุทธสัพพัญญูเจ้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙
พระพุทธรูปสำคัญของวัดหอก่อง
๑๖.
พระบรมสัตถา
วัดบ้านท่าบ่อ ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
หล่อพร้อมพระพุทธสัพพัญญูเจ้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙
พระประธานในอุโบสถวัดบ้านท่าบ่อ
๑๗.
พระประธานในหอแจก วัดบ้านหนองไหล
วัดบ้านหนองไหล ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
หล่อพร้อมพระพุทธสัพพัญญูเจ้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙
พระประธานในหอแจก (ศาลาการเปรียญ) วัดบ้านหนองไหล
๑๘.
โปงไม้ หอระฆัง วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗
พระครูวิโรจน์ฯ สร้างขึ้นตามความประสงค์ของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์ สุภสร) แกะจากไม้แคน (ไม้ตะเคียน) ทั้งต้น
๑๙.
พระเหลาเทพนิมิต
วัดพระเหลาเทพนิมิต อ.พนา จ.อำนาจเจริญ
สันนิษฐานว่าท่านซ่อมปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื่องจากกล่าวว่าท่านมาวัดพระเหลาฯ หลายครั้ง)
พระประธานในสิมวัดพระเหลาเทพนิมิต ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งของภาคอีสาน เป็นแบบอย่างทางศิลปะที่พระครูวิโรจน์ฯ จำลองไปยังพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์
๒๐
สิม (อุโบสถ) วัดพลแพน
วัดพลแพน อ.เมือง จ.อุบลราชธาน
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ซ่อมแปลงวิหารครอบใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘
พระครูวิโรจน์ฯ และพระใบฎีกาสังข์กับพระมหาคูณ เป็นผู้นำญาติโยมในการสร้าง ปัจจุบันเหลือเพียงหน้าบันแกะสลัก และบานประตูเท่านั้น
๒๑.
พระเจ้าใหญ่มิ่งมงคลอุบลเทพนิมิต (พระเจ้าใหญ่เชิงชุม)
วัดพลแพน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔
พระครูวิโรจน์เป็นผู้สร้างขึ้นด้วยฝีมือท่านเอง และจำลองพุทธลักษณะสัดส่วนเหมือนพระเหลาเทพนิมิต อ.พนา จ.อำนาจเจริญ
๒๒.
หอแจก (ศาลาการเปรียญ) วัดพลแพน
วัดพลแพน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ไม่ทราบปีที่สร้าง แต่คงหลัง พ.ศ. ๒๔๗๔
พระครูวิโรจน์ฯ และหลวงวัฒน์วงศ์เป็นผู้นำในการสร้าง ปัจจุบันรื้อแล้ว
๒๓.
สิมวัดบ้านโพธิ์ศรี
วัดบ้านโพธิ์ศรี จ.อุบลราชธานี
ไม่ทราบปีที่สร้าง
ฝีมือพระครูวิโรจน์ฯ
๒๔.
สิมวัดบ้านท่าช้างใหญ่ (วัดบ้านบุ่งมะแลง)
วัดบ้านบุ่งมะแลง จ.อุบลราชธานี
ไม่ทราบปีที่สร้าง รื้อหลัง พ.ศ. ๒๕๓๓
ฝีมือพระครูวิโรจน์ฯ
ที่มา : ปกรณ์ ปุกหุต หลักสูตรสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบล ราชธานี พ.ศ. ๒๕๕๗
งานสร้างศาสนวัตถุศาสนสถานของท่านดีโลดเฉพาะสิม ท่านสร้างไว้มาก ที่ยังเหลือเค้าฝีมือเดิมอยู่ คือ สิมวัดบ้านโพธิ์ศรี และสิมวัดบ้านบุ่งมะแลง (ท่าช้างใหญ่เก่า) ส่วนที่อื่นๆ เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเป็นอันมาก
ผลงานด้านก่อสร้างของญาท่านดีโลด ดูเหมือนจะคู่คี่กับผลงานด้านบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งทำไว้มากเช่นเดียวกัน สิมวัดทุ่งศรีเมืองที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันก็เป็นฝีมือบูรณะของท่าน เดี๋ยวนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้ว
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์อธิบายว่า ในเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์ของญาท่านดีโลดนั้น ท่านไม่นิยมรื้อของเก่าแล้วสร้างใหม่ ถ้าจำเป็นจะต้องรื้อ ก็สร้างใหม่เหมือนเดิม คือรักษาเค้าเดิมเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ว่า คราวที่ญาท่านดีโลดไปบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงองค์พระธาตุจนผิดเค้าเดิม ท่านรักษารูปเก่าไว้ทุกประการ
อย่างไรก็ตาม ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของพระครูวิโรจน์รัตโนบลวิโรจน์ ฯ ที่เรียกว่า "คันถธุระ" ซึ่งปฏิบัติเสมอ และถูกขอให้ปฏิบัติอยู่เสมอ คือการก่อสร้างซ่อมแซมศาสนสถานและวัตถุทางศาสนา ตลอดทั้งจังหวัดอุบลฯ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านกันดาร ตำบลไกลปืนเที่ยง หากนิมนต์ท่านแล้วไม่ขัด ลูกศิษย์ใกล้ชิดและลูกศิษย์ทางไกลทุกคนมักจะได้ติดตามท่านไปสร้างซ่อมวัดวาอารามต่างๆ ตลอดเวลา ท่านจึงเป็นผู้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย
พระครูวิโรจน์ฯ มีงานช่างนวกรรมที่ทำเป็นจำนวนมาก จากการมีลูกศิษย์ที่มาศึกษาวิชากับท่านเป็นผู้ช่วยในการทำงาน และหลายชิ้นก็บ่งบอกว่าเป็นฝีมือสกุลช่างเดียวกัน วิชาหลัก ๆ ที่ท่านสอนคือ วิชาวาดเขียน และซะทายปูน วิธีการสอนของท่านจากคำบอกเล่าของช่างโพธิ์ ส่งศรี ในวิชาวาดเขียน คือ ท่านจะวาดลวดลวดลายต่างๆ เขียนใส่กระดานชนวนแล้วลงสีเหลือง (หรดาล) ตามเส้น แห้งแล้วจะติดอยู่หลายวัน จึงค่อยนำเอากระดาษอื่นมาเขียนตามให้เหมือน เมื่อเขียนลายไหนคล่องแล้วจึงค่อยไปต่อลายใหม่ต่อไป เรียกว่า "การต่อลาย" ได้แก่ กนกซ้าย -ขวา กนกเปลว กนกหางกินรีลายก้ามปู ลายลูกขนาบ ลายตาอ้อย (สะน่อย - สะใหย่) และรูปคน
ผลงานทางด้านปฏิมากรรม (การปั้น)
งานประติมากรรมที่เป็นผลงานของพระครูวิโรจน์ฯ นั้น ที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันดี คืองานปั้น และงานหล่อ ซึ่งก็คือการสร้าง “พระพุทธรูป” เป็นหลัก ในการสร้าง จากข้อมูลพบว่า พระพุทธรูปที่ท่านสร้าง มีสองประเภท คือ พระพุทธรูปหล่อจากโลหะเช่น สำริด และพระพุทธรูปปูนปั้น ทานเป็นนายช่างในการหล่อพระปฏิมาทั้ง ๖ องค์นี้ด้วย ได้แก่ พระพุทธสัพพัญญูเจ้า พระมิ่งเมือง พระขวัญเมือง พระศรีเมือง พระบรมสัตถา และพระประธานวัดบ้านท่าบ่อ ซึ่งแต่ละองค์มีความงดงามจากเนื้อโลหะที่สุกสว่าง ไม่ปิดทอง และเป็นพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์สัดส่วนแบบพระพุทธรูปของศิลปะสุโขทัย แต่มีอิทธิพลท้องถิ่นอีสานล้านช้างแบบเฉพาะของเมืองอุบลราชธานี
ขณะที่การสร้างพระพุทธรูปโลหะขนาดที่ไม่ใหญ่นัก ท่านจะมอบหน้าที่ให้ลูกศิษย์ แต่การสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่เป็นพระประธาน หรืองานบูรณะนั้น ท่านมักจะเป็นผู้กระทำด้วยตนเอง ดังเช่นการซ่อมพระพักตร์พระเหลาเทพนิมิต วัดพระเหลาเทพนิมิต อ.พนา พระเจ้าใหญ่ศรีเมืองวัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดปากแซง อ.นาตาล และพระเจ้าใหญ่เชิงชุม วัดพลแพน ซึ่งคงเป็นเพราะท่านมีความชำนาญเป็นพิเศษเรื่องการใช้ปูนสะทายนั่นเอง ประกอบกับการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะชั้นเยี่ยมในการตกแต่งรายละเอียด โดยเฉพาะพระพักตร์ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้มักจะประดิษฐานในเสนาสนะที่สำคัญ เป็นที่ชุมนุมของคนหมู่มากในการประกอบพิธีกรรม ได้แก่ หอแจก หรือ สิม
เป็นที่น่าสังเกตว่าพระพุทธรูปที่ท่านบูรณะหรือสร้างส่วนใหญ่ จะมีพุทธลักษณะที่จำลอง หรือได้รับรูปแบบมาจากพระเหลาเทพนิมิต ซึ่งข้อมูลของวัดพระเหลาเทพนิมิต ไม่ได้ระบุว่าท่านเป็นผู้บูรณะโดยตรงแต่ได้ไปบูรณะเสนาสนะอื่น ๆ ของวัด แต่ก็มีข้อมูลบางแหล่ง เช่น ประวัติเมืองอุบลราชธานี ประวัติวัดทุ่งศรีเมือง ของพระมหากมลรัตน์ นนฺทสิริ ได้ระบุว่าท่านเป็นผู้บูรณะพระเหลาเทพนิมิตด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับประวัติของช่างคำหมา แสงงาม ลูกศิษย์เอกของท่านอีกคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่าเคยเป็นลูกมือในการบูรณะพระเหลาเทพนิมิต
ในปัจจุบันพระพุทธรูปปูนปั้นฝีมือของพระครูวิโรจน์ฯ ที่กล่าวกันว่า จำลองแบบจากพระเหลาเทพนิมิต มาโดยตรง คือ พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง ประดิษฐานในในวิหารศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมืองซึ่งพระครูวิโรจน์ฯ ได้บูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยบูรณะที่ส่วนพระเศียรจำลองให้เหมือนกับพระเหลา (ขณะที่องค์พระเป็นของโบราณดั้งเดิมที่สร้างพร้อมเมืองอุบลฯ ประดิษฐานที่วัดเหนือท่า) และสร้างพระเจ้าใหญ่เชิงชุม (พระนามปัจจุบัน พระเจ้าใหญ่มิ่งมงคลอุบลเทพนิมิต) พระประธานในอุโบสถวัดพลแพน ซึ่งการใช้พระเหลาเทพนิมิตเป็นต้นแบบนี่อาจเป็นความประสงค์ของพระครูวิโรจน์ฯ ที่ต้องการให้องค์พระมีความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากชื่อเสียงของพระเหลาเทพนิมิตในด้านพุทธคุณ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ด้วยความงามเป็นเลิศของพุทธศิลป์
รายนามสกุลช่างพระครูวิโรจน์ฯ
ที่
รายนาม
วันเดือนปีเกิด และวันตาย
ผลงานสำคัญ, ความชำนาญ
๑.
พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป) อดีตเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ และอดีตเจ้าอาวาสเจ้าวัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย)
ชาตะ
ส.ค. พ.ศ. ๒๔๑๗
มตะ
๒๔ มิ.ย.๒๔๘๐
ผู้นำการก่อสร้างและบูรณะวัดวาอารามหลายแห่ง เช่น วิหารพระเจ้าใหญ่อินแปง วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่)
๒.
พระครูวุฒิกรพิศาล (ทุย ธมมฺทินโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดวารินทราราม
ชาตะ ๑๓ ส.ค.พ.ศ. ๒๔๓๘
มตะ ๒๔ ส.ค.พ.ศ. ๒๕๐๑
ช่างพระผู้ก่อสร้างวัดวาอาราม หลายแห่งตามบัญชาของพระครูวิโรจน์ฯ ได้แก่ วัดวรรณวารี (วัดบ้านหนองตาโผ่น) และ เป็นช่างทำนกหัสดีลิงค์ที่มีชื่อเสียง
๓.
พระครูวิบูลย์สมณวัตร์ อดีตเจ้าคณะตำบลตาลสุม
ไม่มีข้อมูล
ช่างพระ ผู้ซ่อมหอพระบาท วัดทุ่งศรีเมือง และผู้สืบทอดวิชาแกะสลักรูปปั้น และงานวิจิตรศิลป์ของพระครูวิโรจน์ฯ
๔.
พระครูปัญญาวุฒิวิบูลย์ อดีตเจ้าคณะตำบลบ้านด่าน
ไม่มีข้อมูล
ช่างพระ ผู้ซ่อมหอพระบาท วัดทุ่งศรีเมือง
๕.
หลวงชาญอักษร (ชาญ เทพคำแหง)
ไม่มีข้อมูล
เป็นคนกรุงเทพฯ รับราชการที่นครราชสีมาฝากตัวเป็นศิษย์พระครูวิโรจน์ฯ และร่วมบูรณะพระธาตุพนม ท่านเป็นครูช่างทางด้านการวาดเขียนคนสำคัญในแถบเมืองนครพนม มีผลงานอยู่หลายวัด เช่น วัดหัวเวียงรังษี และเป็นครูช่างให้กับชาวบ้านถิ่นนั้น ลูกศิษย์สำคัญ ได้แก่ ช่างลี ชะปราน และทิดคูณ
๖.
ช่างโพธิ์ ส่งศรี
ชาตะ ต.ค. ๒๔๓๐
มตะ พ.ศ. ๒๕๒๒
ผู้ร่วมบูรณะพระธาตุพนม และประกอบอาชีพทางงานช่างศิลปะ โดยเฉพาะช่างเงิน เป็นผู้ทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์เป็นคนแรกของเมืองอุบลราชธานี
๗.
พ่อช่างคำหมา แสงงาม
ชาตะ ธ.ค. ๒๔๓๑
มตะ ๓ ก.พ. ๒๕๒๒
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๒๙ มีผลงานการสร้างเสนาสนะ ได้แก่ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ ซุ้มประตู หอระฆัง ฯลฯ เป็นจำนวนมากทั่วภาคอีสาน อีกทั้งเป็นช่างทำนกหัสดีลิงค์คนสำคัญ และเป็นผู้ริเริ่มการแกะเทียนพรรษา (ประเภทแกะสลัก) ของเมืองอุบลราชธานี
๘.
ช่างหล้า จันทรวิจิตร
ชาตะ พ.ศ.๒๔๔๙
มตะ พ.ศ. ๒๕๑๓
ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เสนาสนะในวัดวาอารามต่าง ๆ ฝีมือได้รับการยกย่องว่าเทียบได้กับช่างคำหมา แสงงาม ความชำนาญได้ถ่ายทอดมายังบุตรชายทั้ง ๕ คนโดยมีช่างอุส่าห์ จันทรวิจิตร เป็นผู้สืบทอดฝีมือช่าง และมีชื่อเสียงจากการทำเทียนพรรษาโดยได้รับรางวัลการประกวดหลายปีติดต่อกัน
๙.
ช่างล้วน มุขสมบัติ
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๔๘
มตะ พ.ศ. ๒๕๒๑
ช่างไม้ และชำนาญการตัดกระดาษลวดลายติดพิมพ์หีบศพ เคยทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ได้รับรางวัลชนะเลิศหลายครั้ง
๑๐.
พ่อเฒ่าโพธิ์ขาว
ไม่มีข้อมูล
ช่างผู้ร่วมบูรณะพระธาตุพนม
๑๑.
ช่างสาย สุนทราวงษ์
ไม่มีข้อมูล
ผู้สร้างโกศเงินบรรจุอัฐิธาตุพระครูวิโรจน์ฯและช่างทำนกหัสดีลิงค์
๑๒.
ช่างสินธุ์ ฟุ้งสุข
ไม่มีข้อมูล
ช่างทำนกหัสดีลิงค์
ที่มา : ปกรณ์ ปุกหุต หลักสูตร สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๕๕๗
ภาควัตถุมงคลและอิทธิปาฏิหาริย์
ความเป็นผู้ทรงคุณธรรมทางด้านความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเวทมนต์ และคาถาอาคมต่าง ๆ
ย่อมเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีและกว้างขวางในสมัยนั้นว่า หลวงปู่ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นอาจารย์ผู้มีเวทมนต์และ คาถาอันศักดิ์สิทธิ์และแก่กล้าสามารถที่จะกำจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนของประชาชนผู้ที่ถูกคุณไสยถูกใส่ถูกทำถูกผีเข้าเจ้าสิงต่าง ๆ ได้อย่างดียิ่ง ท่านสามารถไล่ปัดรังควานและเสนียดบ้านเสนียดเมืองให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข บ้านใดเมืองใดเกิดเดือดร้อนมีเหตุภัยต่าง ๆ บ้านเมืองนั้นจะนิมนต์ท่านไปทำพิธีปัดเสนียดจัญไรระงับความเดือดร้อนและเหตุเภทภัยต่าง ๆ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขสืบไปอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ท่านยังสามารถรักษาผู้เจ็บไข้ได้ทุกข์ต่าง ๆ ให้หายได้เป็นอย่างดี เช่นคนที่แขนหักขาหักกระดูกแตกเหล่านี้ ท่านก็สามารถทำน้ำมนต์ให้ทาที่เจ็บที่หักให้ติดต่อกันหายสนิทดีได้ด้วยอำนาจบุญญาภินิหาร และด้วยเวทมนต์คาถาอาคมอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านเอง
ในหนังสือประวัติวัดทุ่งศรีเมือง ได้กล่าวถึงความเมตตาในการสงเคราะห์ชาวบ้านผู้เดือดร้อนอย่างไม่เลือกหน้าของท่าน สมกับ ฉายานามของท่าน คือ "นนฺตโร" ซึ่งแปลว่า "ผู้มีความเมตตาแผ่กว้างออกไปไม่มีขอบเขตขีดกั้น" ไว้ดังนี้
"เกียรติคุณท่านขลัง, ชรามากแล้วเดินเหินไปไหนไม่ค่อยได้ ถ้าบ้านใดเดือดร้อนมิค่อยอยู่ดี ชาวบ้านแนะให้มาหาท่านให้ไปโปรด ทำน้ำมนต์และทำมงคลให้ บ้านเมืองก็ค่อยสงบ ชาวบ้านก็เลยไม่เกรงใจ เดี๋ยวบ้านนั้นมาหาม ประเดี๋ยวบ้านนี้มาหามไป ศิษย์และญาติโยมใกล้ชิดเกรงท่านจะลำบากและเป็นอันตราย ร้องขอให้ตำรวจช่วยห้าม จึงค่อยได้พักขึ้น"
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์เล่าถึงเมื่อคราวมีเหตุฉุกเฉินที่บ้านสว่าง ตำบลสว่าง อำเภอวารินชำราบว่า
"บ้านเมืองขุมเขือกหลาย (ขุมเขือก หมายถึง เดือดร้อนวุ่นวาย) มีคนตายทุกวัน เขาก็มานิมนต์พระเดชพระคุณวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดไปแก้ อาตมาเป็นศิษย์ติดตามไป ตอนนั้นเป็นพระแล้วสองพรรษา เพิ่นก็ให้สวดพระสูตรอย่างเดียว"
"หลังจากสวดเสร็จแล้ว เพิ่นก็สั่งให้ขุด" หลวงพ่อพระใบฎีกาเล่า
"คือเพิ่นชี้บอกตำแหน่งบนพื้นดินกลางบ้านแล้วสั่งให้ขุด พอขุดลงไปสักสันฝ่ามือก็พบหม้อดิน ในหม้อนั้นมีกระดูก มองดูคล้ายรากไม้ เพิ่นว่าเป็นกระดูกผีตายโหง คงมีคนเอามาฝังไว้ เมื่อขุดได้แล้วถ่วงทิ้งลงแม่น้ำมูล เรื่องขุมเขือกก็สงบไปแต่นั้นมา
ที่แปลกคือ เพิ่นชี้ให้ขุดตรงนั้น พอขุดก็พบเลย
เรื่องไปถอดไปถอนความเดือดร้อนวุ่นวาย ไปปลูกฝังความชุ่มเย็น ชาวบ้านเมืองชอบนิยมมานิมนต์เพิ่นมาก ไปฝังหลักบ้านหลักเมืองก็เป็นเพิ่นทั้งนั้น อาตมาก็ได้ติดตามไปทุกครั้ง เพราะว่าเพิ่นแก่มากแล้ว เราเป็นลูกศิษย์ต้องคอยปรนนิบัติให้ตลอด อดเป็นห่วงเพิ่นไม่ได้ ด้วยความที่เพิ่นมีเมตตาต่อทุกๆ คนมาก ป่วยลุกไม่ไหว ก็รับนิมนต์ไปแก้ไปช่วยเสมอ ให้เขามาหามไป
เห็นอยู่คราวหนึ่ง เพิ่นไปไม่ได้จริงๆ แต่ด้วยการเมตตาสงสารของเพิ่น ก็ส่งอาตมาไป คือมีเหตุว่า วัวควายตายกันมากที่บ้านขามใหญ่ ตายด้วยห่าลง ทุกวันนี้เรียกว่า อหิวาต์ใช่ไหม เพิ่นก็ใช้ให้ไป
อาตมาก็จนใจและกราบเรียนเพิ่นว่า ข้าน้อยไม่ได้แก่กล้าวิชา ไม่มีวิชาจะไปทำอะไรได้ เพิ่นบอกไม่เป็นไร จะสอนให้ ที่เพิ่นสอนให้ก็คือพระสูตรนี่แหละ อาตมาก็แย้งว่า เมื่อไปถึงแล้วจะพูดกับชาวบ้านเขาอย่างไร เพราะว่าเป็นพระน้อยๆ อย่างนี้ เพิ่นก็ว่า ไม่เป็นไร ให้ไปหาผู้ใหญ่บ้านตีกลองประชุมลูกบ้านเสียก่อน แล้วบอกว่า เฮาใช้โตมาแทน อาตมาก็ไปด้วยขัดขืนไม่ได้ มีพระไปด้วยกัน ๕ รูป อาตมาก็นำพระสวดพระสูตรไปหนึ่งกัณฑ์ แล้วฝังหลักบ้านเมืองให้
ปรากฏอภินิหารของเพิ่นคือ หลังจากสวดตามที่เพิ่นสั่งและทำตามที่เพิ่นบอกแล้วทุกประการ วัวควายที่ตายแล้วก็ตายไป ส่วนที่ยังไม่ตายก็รอดหมด
เป็นเหตุอัศจรรย์ที่เพิ่นใช้ไป ถ้าไม่ไปก็เท่ากับไม่เห็นเพิ่นเป็นอุปัชฌาย์เท่านั้น"
เรื่องพระครูวิโรจน์รัตโนบลกับพญานาค
หลวงปู่สังข์ ฐิตธมโม วัดบ้านท่าช้างใหญ่ จ.อุบลราชธานีได้เล่าถึงเรื่องที่ท่านได้พบเห็นพญานาค โดยพบเห็นขณะเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่ดีโลด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) วัดทุ่งศรีเมือง ท่านเล่าว่า
“สมัยปู่เป็นเณรอยู่กับคุณอาจารย์พ่อถ่าน (พ่อท่าน) ดีโลด ท่านถามอาตมาครั้งหนึ่งว่า
"เณรเชื่อว่าพญานาคมีจริงไหม "
ตอบท่านว่า "เชื่อขอรับ"
ท่านถามอีกว่า "เคยเห็นไหม"
ตอบท่านว่า "ไม่เคยเห็น"
ท่านถามต่อไปว่า "อยากเห็นไหม"
ตอบท่านว่า "อยาก"
ต่อมาได้ไปทำงานอยู่กับท่านข้างสระน้ำในวัดทุ่งฯ (สระที่มีสิมโบราณกลางน้ำ ซึ่งทุกวันนี้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้แล้ว) กำลังเพลินๆ ท่านก็เรียกให้ดูอะไรที่กลางสระ ปู่เองยังเป็นเณรน้อยตกใจกลัวจนแทบจะคุมสติไม่อยู่ ดีแต่ว่าคุณอาจารย์ท่านปลอบเอาไว้ว่าอย่ากลัวให้ดูเฉยๆ ท่านพญานาคไม่ทำอะไรหรอก
ที่ปู่ได้เห็นนั้นเป็นงูขนาดใหญ่ หงอนแดง ลำตัวเขียว ตาแดง ชูคออยู่กลางน้ำ ท่าทางไม่ดุร้ายอะไร ดูๆ ไปเหมือนจะมาแสดงสักการะคุณอาจารย์ พักใหญ่ๆ ก็มุดน้ำหายไป”
หลวงปู่ดีโลด หรือพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี ท่านนี้มีความเกี่ยวข้องกับเหล่าพญานาคหลายวาระ ซึ่งจะเล่าให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ คือ เกิดขึ้นที่ปากเซ ซึ่งไหลตกแม่น้ำมูล ปัจจุบันนี้เป็นวัดดอนรังกา อยู่ในเขตอำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี
เรื่องนี้พ่อถ่านมายเป็นผู้เป็นเล่าให้ฟังในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนรังกา จนมรณภาพไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒
ท่านเล่าว่า สมัยนั้นท่านเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่ดีโลดที่วัดทุ่งฯ ชาวบ้านดอนรังกาพากันมานิมนต์หลวงปู่โลดดีโลดให้ไปแก้อาถรรพณ์ที่ปากเซนั้น เพราะว่าชาวบ้านเขากลัวด้วยมีคนตายกันมาก คือใครหลงพายเรือเข้าไปบริเวณเวิ้งน้ำตรงปากเซ มักจะประสบเหตุมีลมพัดหมุนขึ้นมาจากใต้น้ำ และดูดเอาเรือจมลง คนก็หายลงไปในน้ำถึงขนาดหาศพไม่เจอ บริเวณนี้มักจะมีเสียงฆ้องกล้องมโหรีดังขึ้นเสมอทุกวันพระ จนชาวบ้านยุคหลังไม่กล้าเข้าไปหาปลาบริเวณนั้น เดือดร้อนถึงกับมาขอพึ่งหลวงปู่ดีโลดช่วยแก้
พ่อถ่านมายเล่าต่อไปว่า ได้ติดตามท่านมาทำพิธีที่นั่นด้วย เห็นท่านเอาเรือออกไปกลางเวิ้งน้ำปากเซ ทิ้งก้อนหินลงไปในน้ำ ๓ ก้อน แล้วเอาเรือกลับเข้าฝั่ง ต่อมาสถานที่นั้นก็สงบปลอดภัย
ภายหลังหลวงปู่ดีโลดได้สั่งพ่อถ่านมายเอาไว้ว่า เหล่าพญานาคที่นั่นอาศัยบริเวณนั้นเป็นทางขึ้นลง เมื่อเราไปขอเขาให้เว้นชีวิตผู้คน เขาก็ขอให้เราสร้างอนุสรณ์สถานสักอย่างหนึ่งตรงปากทางขึ้นลง ซึ่งอยู่บนฝั่งปากเซนั้น (ท่านบอกตำแหน่งไว้ด้วย) แต่ท่านจะไม่สร้าง ต่อไปภายหน้าจะมีผู้มาสร้างให้เอง ถึงเวลานั้นจะรู้ว่าเป็นใคร
หลวงปู่ดีโลดสั่งพ่อถ่านมายเอาไว้เหมือนว่าจะรู้พ่อถ่านมายจะได้มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ตรงนี้ในอนาคต
ประวัติหลวงพ่อดีโลด ๑
พระครูวิโรจน์ รัตโนบล (บุญรอด)
ผู้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมคนที่ ๔
วัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
จากหนังสือ "ยอดนิยมที่อุบลราชธานี ดี ดี ดี ดีโลด พระครูวิโรจน์รัตโนบล"
โดย อำพล เจน
คำนำของผู้เขียน
ข้อเขียนเรื่อง ยอดนิยมที่อุบลราชธานี "ดี ดี ดี ดีโลด" หรือเรื่องของพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เขียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารรายปักษ์ "ศักดิ์สิทธิ์" โดยต่อเนื่องหลายฉบับ ดังนั้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนั้น อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้วในปัจจุบัน บางท่านอาจยังมีชีวิตอยู่ บางท่านอาจเสียชีวิตไปแล้ว รวมทั้งสถานที่ซึ่งปรากฏในสมัยนั้น ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ อย่างเช่น สิมวัดบ้านท่าช้างใหญ่ที่เดี๋ยวนี้ได้ถูกรื้อสร้างใหม่ไปแล้วเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนนี้ก็ได้ถูกรวบรวมอยู่ด้วยกันในเล่มนี้ ทำให้สะดวกต่อการอ่านและเก็บรักษา จึงหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจตามสมควร
อำพล เจน
บ้านห้วยไผ่ อุบลราชธานี
๑๗ เมษายน ๒๕๔๘
ออกจะเป็นเรื่องยากลำบากใจไม่น้อย เมื่อจะเขียนถึงครูบาอาจารย์รุ่นเก่าซึ่งล่วงลับไปแล้วหลายสิบปี หรือบางทีนับร้อยปีขึ้นไป
เรื่องยากลำบากคือ เขียนไปแล้วจะถูกหรือผิดอย่างไรไม่ทราบ เพราะว่าเจ้าของประวัติก็มรณภาพไปนานปี ไม่มีทางจะลุกขึ้นมาชี้ถูกชี้ผิดอะไรได้ เขียนถูกก็ดีไป เขียนผิดก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะมีคนมาแก้ไขทัดทาน
หากจะแยกชีวประวัติของครูบาอาจารย์แต่ละท่านจะพบว่ามีเขียนมีเล่ากันอยู่สองแบบ คือ แบบแรกเป็นประวัติที่เป็นทางการ ซึ่งทางวัดต้นสังกัดได้บันทึกเอาไว้ และตรวจทานแล้วเป็นอย่างดี เป็นที่เชื่อถือกันได้โดยมาก ใครจะนำมาเขียนหรือเล่าต่อก็สามารถหยิบฉวยมาได้ โอกาสผิดพลาดมีน้อย
แบบที่สอง เป็นเกร็ดปลีกย่อย ซึ่งประวัติทางการไม่ได้บันทึกเอาไว้ หรือไม่ยอมบันทึก จะด้วยเหตุไม่แน่ใจเพราะเป็นเรื่องเล่าสู่กันเท่านั้น หรือเกรงว่าอาจจะทำให้ประวัติของครูบาอาจารย์ท่านไม่สวยงาม หากบันทึกไปแล้วอาจคาบลูกคาบดอกระหว่างดีและเสื่อมกับเจ้าของประวัติ สู้เว้นไว้ไม่กล่าวถึงจะดีกว่า
ประวัติอย่างเป็นทางการนั้น คนไม่ชอบอ่าน เพราะว่าไม่สนุก ส่วนใหญ่มักบันทึกชาติกำเนิด ผลงาน สมณศักดิ์และมรณกาลเป็นหลัก อ่านแล้วไม่ติดอกติดใจ แต่เกร็ดประวัติคนชอบอ่าน เพราะว่ามีเรื่องเร้าใจ บางทีก็มีขบขัน เกิดความสนุกสนานและติดอยู่ในหัวใจนาน
ยกตัวอย่างเช่น พระประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อย่างที่เรียกกันว่า เป็นทางการ ไม่กล่าวถึงเรื่องในครอบครัวเลย ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้นำมาเล่าไว้ในหนังสือโครงกระดูกในตู้ว่า
ครั้งหนึ่งเจ้าพระยาจักรีกลับจากราชการสงคราม คุณหญิงนาคนั่งคอยต้อนรับอยู่บนเฉลียงใต้พาไลเรือนหลังใหญ่ หันหน้าไปทางบันไดขึ้นเรือน
คุณนวลน้องสาวคุณหญิงซึ่งกำลังเป็นสาวเต็มตัวอุ้มคุณฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ) ซึ่งยังทรงพระเยาว์เป็นเด็กเล็ก ไปนั่งคอยรับกลางนอกชาน ให้หลานชายนั่งบนตัก หันหน้าออกไปทางบันไดเรือนและหันหลังให้คุณหญิงพี่สาว
เจ้าพระยาจักรีขึ้นจากเรือนแล้วเดินตรงขึ้นบันไดบ้าน เดินผ่านนอกชานมา พอถึงที่คุณนวลนั่งอยู่ก็ก้มต่ำลงจับอะไรก็ไม่รู้
คุณหญิงท่านก็ว่า เจ้าคุณจับนมน้องสาวฉัน
เจ้าคุณบอกว่าเปล่า ฉับจับแก้มลูกฉันต่างหาก
แก้มคุณฉิมกับนมคุณนวลอยู่ระดับเดียวกันและคุณนวลนั่งหันหลังให้คุณหญิงนาค เจ้าคุณท่านแก้ตัวหลุด
เกร็ดประวัติอย่างนี้คนชอบอ่าน กุ๊กกิ๊กน่ารัก ทำให้สนุกสนานเพลิดเพลินกว่าเรื่องที่เป็นทางการเป็นไหนๆ เพราะว่าทำให้เห็นบรรยากาศอย่างปกติธรรมดา ที่มีพ่อบ้านเจ้าเสน่ห์ แต่แม่บ้านขี้หึง ผู้อ่านรู้สึกใกล้ชิดเจ้าของประวัติยิ่งขึ้นแต่เกร็ดประวัติจะเป็นที่เชื่อถือหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับเครดิตผู้เล่า ถ้าผู้เล่าฟังเขาลือกันมาอีกทีก็น่าหนักใจอยู่ไม่น้อย หากผู้เล่าเป็นลูกหลานท่าน หรือคนใกล้ชิดสนิทชิดเชื้อ ก็ดูจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พอจะอะลุ่มอล่วยใจให้คล้อยเชื่อได้บ้าง
เรื่องของพระครูวิโรจน์รัตโนบล ที่จะเล่าต่อไปนี้ ได้สร้างความหนักใจให้ตลอด เป็นเวลา ๖-๗ เดือน เพราะว่าประวัติที่เป็นทางการ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในหนังสือประวัติวัดทุ่งศรีเมืองและอุรังคนิทาน - ตำนานพระธาตุพนมมีน้อยมาก ไม่พอจะทำให้เกิดรายละเอียดหรือความพิสดารแก่ผู้อ่านและเป็นเรื่องเล่าลือในหมู่ชาวบ้านชาวเมืองก็มีมาก แต่น้ำหนักพอจะปลงใจรับเอามาเล่าต่อได้อย่างสนิทใจไม่ไหว เรื่องเหล่านั้นมีเค้ามูลจริงอยู่บ้าง ใช่ว่าจะไม่มีอะไรเลย เป็นแต่ว่าขาดความชัดเจน ไม่สามารถจะลงเป็นหลักฐานได้
เวลา ๖-๗ เดือนที่เสียไปนั้น เสียให้กับการติดตามหาตัวผู้ใกล้ชิดพระครูวิโรจน์ฯ อย่างแท้จริง ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในเมื่อเจ้าของประวัติ มรณภาพไปแล้วครึ่งศตวรรษ ก่อนผู้เขียนเรื่องนี้เกิดตั้ง ๑๓ ปี แต่ผลที่ได้นับว่าคุ้มค่า เพราะได้พบกับคนที่ต้องการถึง ๓ คน
๑. ดร.ปรีชา พิณทอง ปัจจุบันเปิดกิจการโรงพิมพ์ชื่อ ศิริธรรมออฟเซ็ท ถ.ชยางกูร จ.อุบลฯ ท่านผู้นี้สมัยยังเป็นพระภิกษุ ได้เป็นลูกศิษย์เรียนลาย (วิชาช่างศิลป์) จากพระครูวิโรจน์ฯ ที่วัดทุ่งศรีเมือง ในปี ๒๔๗๘
๒. หลวงพ่อพระมหาคูณ ปัญญาปัชโชโต อายุ ๗๖ ปี ท่านผู้นี้เคยอยู่รับใช้พระครูวิโรจน์ฯ ๑๑ ปี ระหว่างอายุ ๑๘-๒๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๘๔) ปัจจุบันอยู่วัดนามน อ.ตาลสุม จ.อุบลฯ
๓. หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธมฺโม อยู่วัดคำนกเปล้า อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นเด็กนักเรียนเตรียมประถม จนบวชเณรน้อย และกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านเป็นผู้ที่พระครูวิโรจน์รักและเมตตาเป็นพิเศษ จะค่อยๆ ได้ทราบเองว่า พิเศษ นั้น พิเศษอย่างไร
เฉพาะสองท่านหลัง ถือได้ว่า เป็นผู้ใกล้ชิดสนิทเชื้อพระครูวิโรจน์ฯ อย่างแท้จริง ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้
ทั้งสองท่านก็เก็บตัวเงียบอยู่ในวัดบ้านนอก ไกลคนละอำเภอ กว่าจะไปติดตามพบท่านทั้งสองไม่ง่าย เมื่อพบแล้วเรื่องยากทั้งหลายก็ดู ง่ายไปหมด ข้อสงสัย ข้อขัดข้องก็คลี่คลายไปจนสิ้น
เรื่องพระครูวิโรจน์รัตโนบล ที่จะเล่าต่อไปนี้ เกิดจากการจดบันทึกอัดเทปสัมภาษณ์ และกระจัดกระจายอยู่อย่างไร้ระเบียบ ยากจะเรียบเรียงตามลำดับได้ ดังนั้นจึงต้องเล่าอย่างเท่าที่นึกออกได้ คือ นึกเรื่องใดออกก่อน หรือข้อมูลใดฉวยได้ก่อนก็จะเขียนทันที ซึ่งก็คงอยู่อาการที่ว่าเดินไปตามถนนแล้วแวะข้างทางเรื่อยไป ขออย่าถือสาเลย
ชื่อ "พระครูวิโรจน์รัตโนบล" ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ และเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ไม่ใคร่มีใครรู้จัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อ "ญาท่านดีโลด" ล้วนรู้จักดีทุกคน
ดร.ปรีชา พิณทอง เล่าว่า สมัยที่ท่านเป็นศิษย์เรียนลายกับท่านพระครูฯ ในปี ๒๔๗๘ ระหว่างนั่งเรียนกับท่านพระครูฯ ได้มีชายคนหนึ่งอายุ ๓๐ กว่าปี แบกกะทอเกลือเดินมาถวาย "กะทอ" นี่ภาษากลางเรียกว่าอย่างไรนึกไม่ออก เป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่คล้ายชะลอมแต่ใบเล็กกว่ามาก เมื่อจะใส่เกลือ ก็เอาใบตองช้าง หรือใบตองกุง ปูรองเสียก่อน เกลือที่ใส่คือเกลือสินเธาว์ ใส่แน่นแล้วถักด้วยตอกปิดแข็งแรงแล้วนำออกมาขายทั้งกะทอ
มีภาษิตยวนๆ อยู่สำนวนหนึ่งว่า "เชื่อไม่เชื่อเอาเกลือไปแช่น้ำ รับรองเหลือแต่กะทอแงะๆ"
หมายความว่า เรื่องอะไรก็ตามที่ไม่เป็นความจริง แต่ผู้เล่าพยายามเล่าให้เชื่อ เสร็จแล้วค่อยบอกใบ้ด้วยภาษิตนี้ว่า อย่าเชื่อ เพราะเป็นเรื่องเล่าสนุกปากเท่านั้น
เมื่อท่านพระครูเห็นชายคนนั้นแบกกะทอเกลือเดินมา ก็ร้องถามว่า พ่อออก นั่นกะทออิหยัง ชายคนนั้นตอบว่า กะทอเกลือดอกข้าน้อย ท่านพระครูกวักมือเรียกและบอกให้เอาเข้ามาที่นี่ แล้วให้ชายคนนั้นควักเกลือถวายใส่ฝ่ามือ ก้อนโตเกือบเท่าไข่ไก่ พอได้เกลือ พระครูก็เอาเข้าปากชิมเกลือแล้วกล่าว
"จ่ะแม่นแค็มแซ่บเค็มนัวหลายน้อ ดี ดี ดี"
หมายความว่า เกลือนี่เค็มอร่อยกลมกล่อมจริงๆ ดี ดี ดี
ถ้าใครเคยกินเกลือสินเธาว์ จะต้องสงสัยท่านพระครูว่ามันอร่อยกลมกล่อมตรงไหนยังไง กินเปล่าๆ แล้วเค็มจนออกขมไปทั้งปากยังงั้น แต่ท่านกลับบอกว่าดี
ไม่ว่าใครจะนำของอย่างไรไปถวาย ล้วนแต่เป็นของดีสำหรับท่านไปทั้งนั้น เผ็ดก็ว่าดี เค็มก็ว่าดีไปทั้งหมด
ครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์ที่เคยบวชกับท่านพระครู แต่สึกออกไปมีครอบครัวและมีลูกเต้าหลายคน มาบ่นกับท่านพระครูว่า ผมสึกออกไปตั้งหลักตั้งฐาน มีครอบครัวเป็นปึกแผ่นแล้ว แต่ยุ่งหลายเพราะลูกมาก ตั้งเจ็ดแปดคน ท่านพระครูก็ว่า "ดี ดี ดี"
ทุกครั้งที่กล่าวคำว่าดี จะต้องสามพยางค์เสมอคือ ดี ดี ดี
"คนที่มีลูกหลายคนนี่ดี จะทำไร่ ทำนาค้าขายก็มีคนคอยช่วยเหลือ เบาแรง ดี ดี ดี"
ต่อมาลูกศิษย์อีกคนมากราบท่านพระครู สำหรับศิษย์คนนี้สึกออกไปมีครอบครัวแล้วไม่มีลูก แต่อยากมี ก็มาปรับทุกข์กับท่านว่า คนอื่นๆ เขามีลูกมีเต้ากันทั้งนั้น ผมอยากมีบ้างแต่กลับไม่มี
ท่านก็ว่า
"คนไม่มีลูกนี่ดี ไปไร่ไม่มีคนข้องขา ไปนาไม่มีคนข้องแข้ง ได้อาหารน้อย สนุกอยากสนุกกิน ดี ดี ดี"
คำว่า "ดี ดี ดี" ดังไปทั้งบ้านทั้งเมือง
ถ้าบอกว่า "พระครูวิโรจน์ฯ" ไม่มีใครเข้าใจ แต่บอกว่า "ญาท่านดีโลด" ใครๆ ก็รู้จักอย่างนี้
คำว่า "โลด" มีผู้พยายามแปลว่า "เลย, เสมอ, ทุกอย่าง" แต่จริงๆ แล้วดีกรีของคำว่า โลด นั้นสูงกว่าคำแปลหลายเสต็ป จะเอาเป็นที่เข้าใจก็ต้องแปลออกมาอย่างนั้น
ถ้าบอกว่า "ไปโลด" ฟังแล้วคึกคัก แต่ถ้าว่า "ไปเลย" ดูซึมๆ ชอบกล
คำว่า "โลด" เป็นคำคลาสสิกคำหนึ่งในภาษาอีสาน ว่างั้นเถิด
แปลแล้วหงอยเปล่าๆ ปล่อยให้มีชีวิตชีวาโลดแล่นไปในสวนภาษาดีกว่า
ต่อไปนี้จะเรียกท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบลว่า "ญาท่านดีโลด" ซึ่งในสำเนียงอีสานออกสียงว่า "ญ่าถ่านดีโลด"
ญาท่านดีโลด หรือพระครูวิโรจน์รัตโนบล นามเดิม บุญรอด สมจิต เป็นบุตรของนายบุดดี และนางกา สมจิต เกิดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๑๗ (๑ มกราคม ๒๓๙๘) ที่บ้านแต้เก่า หมู่ ๑ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ปีเกิดอยู่ช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เรื่องราวในวัยเด็กหรือวัยก่อนบวชพระ ออกจะลางเลือนเต็มที ไม่สามารถจะกล่าวได้ถนัด คงทราบแต่เพียงว่า ญาท่านดีโลดมีเพื่อนสนิทเป็นฆราวาสด้วยกันคือ เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ทั้งสองท่านเกิดปีเดียวกันคือ ๒๓๙๘
มีข้อสงสัยเกี่ยวกับปีเกิดของทั้งสองท่านอยู่บ้าง เนื่องจากว่า ประวัติที่เป็นทางการของวัดทุ่งศรีเมืองบอกว่า ญาท่านดีโลด เกิดปีเถาะ ๒๓๙๘ แต่ประวัติของเจ้าคุณพระอุบาลีฯ บอกว่าท่านเกิดปีมะโรง ๒๓๙๘ ไม่ทราบว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไรแน่ ไม่มีปฏิทินร้อยปีอยู่ในมือ และไม่มีเวลาไปขอเปิดดูจากผู้ที่มี ถ้าใครมีปฏิทินร้อยปีอยู่ในมือขณะนี้ ขอให้เปิดดูเอาเอง (ตามปฏิทินร้อยปี ปี ๒๓๙๘ เป็นปีเถาะ - webmaster)
ญาท่านดีโลด กับ เจ้าคุณอุบาลีฯ คือ "เสี่ยวฮักเสี่ยวแพง" ของกันและกัน เจ้าคุณเป็นหมอลำ ญาท่านดีโลดเป็นหมอแคน เป็นคู่แฝด เป่าแคนลำคู่กันมาตลอด เมื่อบวชพระแล้วต่างแยกย้ายกันไป เจ้าคุณลงไปอยู่กรุงเทพฯ นานๆ จะได้ขึ้นมาเยี่ยมเยียนเสี่ยวของเจ้าคุณ ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ ทีหนึ่ง เจ้าคุณพระอุบาลีฯ ท่านใหญ่กว่าญาท่านดีโลดเยอะ มีอำนาจบริหารตลอดมณฑลอีสาน เมื่อขึ้นมาเยี่ยมเสี่ยวก็ได้ถือเป็นโอกาสตรวจการณ์คณะสงฆ์จังหวัดอุบลฯ ไปในตัว
ญาท่านดีโลดอุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี ๒๔๒๒ ขณะอายุได้ ๒๔ ปี ที่วัดป่าน้อย หรือวัดมณีวนาราม ซึ่งมีอาณาเขตติดกับวัดทุ่งศรีเมือง เพียงมีถนนคั่นกลางสายหนึ่งเท่านั้น พระอุปัชฌาย์ของท่านคือเจ้าอธิการจันลา พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระอาจารย์คำ และได้พระอาจารย์ดีเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า "นนฺตโร"
"คุณงามความดีและความสามารถของ "ญาท่านดีโลด" ผมไม่รู้จะสรรเสริญอย่างไรได้หมด"
ดร.ปรีชา พิณทอง บอก "ญาท่านมีดีหลาย ในเรื่องการก่อสร้าง ญาท่านก็ดีหลาย ได้สร้างวัดวาอาราม โบสถ์วิหาร สร้างพระพุทธฮูบรูปพระเจ้าไม่รู้ที่ไหนตรงไหนบ้าง"
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ และหลวงพ่อพระมหาคูณเล่าไว้ในโอกาสต่างกันแต่ความตรงกันว่า พระประธานในพระอุโบสถวัดพลแพน เป็นฝีมือสร้างของญาท่านดีโลด จำลองมาจากพระเหลาเทพนิมิต พระพุทธรูปองค์สำคัญของอำเภอพนา ซึ่งญาท่านดีโลดได้ไปบูรณปฏิสังขรณ์วิหารพระเหลาจนสำเร็จ หลังจากนั้นได้มาสร้างพระอุโบสถวัดพลแพน พระเหลาถูกถอดแบบมาด้วย
หลวงพ่อพระมหาคูณเป็นศิษย์ผู้หนึ่งที่ได้ร่วมสร้างพระอุโบสถหลังนี้ร่วมกับญาท่านดีโลด ส่วนหลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้ไปร่วมสร้างวัดบูรพา และที่วัดบูรพา ได้พบพระพี่ชายคนหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ในตอนนั้นต่างไม่ทราบว่าเป็นพี่น้องกัน ภายหลังจึงทราบ
พระพี่ชายรูปนั้นคือ หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล เจ้าอาวาสวัดคอนสาย* หลังสนามบินอุบลฯ หลวงพ่อบุญมีเป็นพระองค์หนึ่งในปัจจุบันที่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เคารพเลื่อมใส ถึงกับแอบมาสร้างศาลาวิหารไว้ที่นี่เงียบๆ และได้สร้างพระเครื่องขึ้นอีกรุ่นหนึ่ง เป็นรูปเหมือน ก้นอุดกริ่ง และเหรียญรูปหยดน้ำ
อาจกล่าวได้ว่า สำหรับครูบาอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ นอกจากหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง แล้วก็เห็นจะเป็นหลวงพ่อบุญมี วัดคอนสายนี่เอง ที่ปรากฏชื่อเสียงเกียรติยศอยู่ในจังหวัดอุบล**
* ปัจจุบันคือ วัดสระประสานสุข
** ปัจจุบันมรณภาพแล้วทั้งสององค์
เอ่ยชื่อหลวงพ่อบุญมีแล้ว คนทั่วเมืองอุบลฯ รู้จักทั้งนั้น แต่โดยมากไม่ใคร่จะมีใครอยากไปหาไปกราบ เนื่องจากท่านขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่ง "ปากร้าย" ไปแล้วมักถูกด่าเพลิน ทั้งๆ ที่เนื้อแท้จริงๆ หลวงพ่อใจดีมีเมตตาปรารถนาจะเห็นคนทั้งปวงเป็นสุข ปากท่านเท่านั้นที่ไม่เว้น แต่ใจท่านเว้นเสมอ ขอให้พิจารณาดูจะพบว่าไม่มีคำหยาบคายในคำด่าของท่านแม้แต่คำเดียว
คุณวิเศษอย่างหนึ่งของหลวงพ่อบุญมีคือ "เหยียบหัว" ลูกศิษย์ลูกหามักไปขอให้ท่านเหยียบหัวเสมอ เหยียบแล้วเรื่องทุกข์ร้ายคลี่คลายหายสูญไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ ว่างั้นเถอะ
ตระกูลของผู้เขียนเรื่องนี้ ตั้งแต่ชั้นพ่อลงมาถึงหลาน ท่านเหยียบหัวราบหมดแล้ว
ระหว่างเหยียบหัว หลวงพ่อจะพร่ำสอนอบรมไปด้วย แต่ละเรื่องแทงใจดำแปล๊บๆ อย่างกับท่านแอบสะกดรอยเราทุกฝีก้าว ไปเห็นความประพฤติยังไงยังงั้น
"ปากร้าย" ของท่านก็อยู่ตรงนี้ด้วยอีกแห่ง
พอเริ่มขึ้นถนนก็แวะข้างทางแล้วไหมล่ะ
อุโบสถหลังเก่าที่เป็นฝีมือสร้างของญาท่านดีโลด ทราบข่าวเลาๆ ว่าถูกรื้อไปแล้ว ยังไม่ได้แวะเข้าไปดู แต่ที่ทราบแน่ชัดคือ บานประตูและหน้าบันแกะสลักของพระอุโบสถที่สวยงาม เป็นฝีมือเก่าของญาท่านดีโลด ทางวัดพลแพนยังรักษาไว้
งานสร้างศาสนวัตถุศาสนสถานของท่านดีโลดเฉพาะสิม ท่านสร้างไว้มาก ที่ยังเหลือเค้าฝีมือเดิมอยู่ คือ สิมวัดบ้านโพธิ์ศรี และสิมวัดบ้านบุ่งมะแลง (ท่าช้างใหญ่เก่า) ส่วนที่อื่นๆ เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเป็นอันมาก
ผลงานด้านก่อสร้างของญาท่านดีโลด ดูเหมือนจะคู่คี่กับผลงานด้านบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งทำไว้มากเช่นเดียวกัน สิมวัดทุ่งศรีเมืองที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันก็เป็นฝีมือบูรณะของท่าน เดี๋ยวนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้ว
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์อธิบายว่า ในเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์ของญาท่านดีโลดนั้น ท่านไม่นิยมรื้อของเก่าแล้วสร้างใหม่ ถ้าจำเป็นจะต้องรื้อ ก็สร้างใหม่เหมือนเดิม คือรักษาเค้าเดิมเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ว่า คราวที่ญาท่านดีโลดไปบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงองค์พระธาตุจนผิดเค้าเดิม ท่านรักษารูปเก่าไว้ทุกประการ พระธาตุมาเปลี่ยนรูปทีหลังคือ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และมาเปลี่ยนอีกครั้งในคราวสร้างใหม่หลังพระธาตุล้ม ซึ่งรายละเอียดเรื่องบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม จะแยกไว้เล่าเป็นการจำเพาะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของญาท่านดีโลดที่เรียกว่า "คันถธุระ" ซึ่งปฏิบัติเสมอ และถูกขอให้ปฏิบัติอยู่เสมอ คือการก่อสร้างซ่อมแซมศาสนสถานและวัตถุทางศาสนา ตลอดทั้งจังหวัดอุบลฯ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านกันดาร ตำบลไกลปืนเที่ยง หากนิมนต์ท่านแล้วไม่ขัด ลูกศิษย์ใกล้ชิดและลูกศิษย์ทางไกลทุกคนมักจะได้ติดตามท่านไปสร้างซ่อมวัดวาอารามต่างๆ ตลอดเวลา ท่านจึงเป็นผู้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย
ความสามารถอย่างหนึ่งซึ่งแทบจะไม่มีผู้ใดทำได้แล้วในปัจจุบันคือ การสร้าง "นกหัสดีลิงค์" ซึ่งเป็นของสำคัญในงานฌาปนกิจศพเจ้านายและพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั่วไป นกหัสดีลิงค์จะถูกเผาไปพร้อมกับศพผู้ตาย
ลูกศิษย์รับถ่ายศิลปะการสร้างนกหัสดีลิงค์ เข้าใจว่ายังมีตัวอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งก็คงแก่มากแล้วและคงจะได้ถ่ายทอดต่อมาถึงคนรุ่นใหม่อยู่บ้าง ทราบเป็นเลาๆ ว่ายังมีครอบครัวสร้างนกหัสดีลิงค์ในจังหวัดอุบลฯ ที่ยังไม่ทอดทิ้งศิลปะพิเศษนี้ ดูเหมือนจะเป็นครอบครัวของลุงคำหมา แต่โอกาสที่จะได้แสดงฝีมือเหลือน้อย เพราะว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป นกหัสดีลิงค์พอจะเรียกได้ว่าเป็น "Luxury" อย่างหนึ่งเพื่อเชิดชูเกียรติผู้ตาย อย่างเช่น พระพรหมราชวงศา, พระปทุมราชวงศา อดีตเจ้าเมืองอุบลฯ และพระภิกษุผู้ใหญ่ทุกองค์ ล้วนมีนกหัสดีลิงค์ เชิดชูเกียรติทั้งนั้น
อาจมีผู้สงสัยว่าทำไมจะต้องมีนกหัสดีลิงค์ในงานพระศพ, ศพ เรื่องนี้ออกจะน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากว่านกหัสดีลิงค์ดูจะมีแต่เพียงในจังหวัดทางภาคอีสานและภาคเหนือเท่านั้น ไม่เคยเห็นในภาคอื่นๆ คำอธิบายเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในตำนานซึ่งจะได้เล่าอย่างย่อ ดังนี้ขนาดช้างมากินไม่ได้ง่ายๆ
ชื่อนกหัสดีลิงค์ เมื่อเขียนเป็นบาลีจะเขียนเป็น หัตถีลิงคสกุโณ เมื่อมาอยู่บนปากชาวอีสาน ก็เป็นนกหัสไดลิงค์ หรือ หัสดีลิงค์
แม้นกหัสดีลิงค์จะเป็นสัตว์ใหญ่ จับช้างกินเป็นอาหารได้ แต่ไม่เคยปรากฏว่ามีการจับคนไปกินแต่อย่างไร ถึงอย่างนั้นแล้วก็ยังมีการเข้าใจผิดเข้าจนได้
วันหนึ่งพระมเหสีของพระเจ้ากรุงโกสัมพี (พระเจ้าปะรัณตะปะ) ซึ่งกำลังมีครรภ์แก่เต็มที่ ได้ขึ้นไปบนดาดฟ้าปราสาทเพื่ออาบแดดอ่อนๆ ตอนเช้าตรู่ พระมเหสีสวมเสื้อผ้าสีแดง เพราะสีแดงนี่เองเป็นเหตุให้นกหัสดีลิงค์ซึ่งบินออกมาหากิน เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร
เลยโฉบเอาพระมเหสีไปเฉยๆ
พอไปถึงต้นไทรใหญ่ที่เคยเอาเหยื่อมาพักไว้สำหรับฉีกเนื้อกิน พระมเหสีก็ร้องเอะอะขึ้น นกหัสดีลิงค์ได้ยินเสียงคนเข้าก็ตกใจ ทิ้งพระมเหสีไว้ที่ต้นไทรแล้วบินหนีหาย
ต้นไทรนั้นสูงใหญ่มาก อะไรๆ ในป่าหิมพานต์ล้วนแต่ไม่ใช่ของเล็กๆ ของน้อยๆ ต้นไทรนั้นใหญ่ขนาดไหน ให้นึกถึงนกที่จับช้างกินเป็นอาหาร สามารถเกาะพักได้ก็แล้วกัน เมื่อต้นไทรสูงใหญ่ขนาดนั้น พระมเหสีเป็นอันหมดหนทางที่จะปีนป่ายลงมา คงอาศัยอยู่บนนั้นจนตลอดคืน
และคืนนั้นเองก็คลอดพระกุมารบนต้นไทร
พระกุมารได้ชื่อว่า "อุเทน"
รุ่งเช้า ดาบสองค์หนึ่งออกมาหาอาหารและผ่านพบเข้าจึงช่วยเหลือลงจากต้นไทรแล้วพาไปพำนักเสียด้วยกันที่อาศรม
ต่อมาก็เลยร่วมหอลงโรงกันไปโดยปริยาย
เรียกว่า ไฟใกล้น้ำมันก็ลุกไหม้
๑๕ ปี ต่อมา ดาบสองค์นั้นมองเห็นดาวเพดานเมืองโกสัมพีเศร้าหมองผิดปกติ จึงเอะอะว่าน่ากลัวพระเจ้ากรุงโกสัมพีจะไม่รอด พระมเหสีได้ยินก็ตกใจร้องไห้ ดาบสก็สงสัยถามว่าร้องไห้ทำไม พระมเหสีจึงเล่าความจริงให้ฟังว่า พระเจ้ากรุงโกสัมพีเป็นพระสวามี และพระกุมารอุเทนเป็นลูก หากพระเจ้ากรุงโกสัมพีสิ้นพระชนม์แล้ว ราชสมบัติควรเป็นของพระราชกุมาร ดาบสจึงบอกว่า ถ้าอยากได้ราชสมบัติจะสอนมนต์เรียกช้างให้ จงเรียกช้างทั้งป่าหิมพานต์ไปเป็นกองทัพชิงเอาราชสมบัติเถิด
ในที่สุด พระกุมารก็นำทัพช้างไปยึดเมืองโกสัมพีได้สำเร็จ
หลังจากได้ราชสมบัติแล้ว พระเจ้ากรุงโกสัมพีพระองค์ใหม่ เสด็จไปรับพระราชมารดาและดาบสเข้ามาอยู่ในเมืองอย่างเป็นสุข สบายดีด้วยกันทุกฝ่าย
ต่อมาพระมเหสีถึงแก่สวรรคาลัยภายหลังทรงเสวยสุขในบั้นปลายชีวิตได้ไม่กี่ปี พระเจ้ากรุงโกสัมพีผู้เป็นลูกทรงมีพระราชดำริว่า พระมารดาตกทุกข์ได้ยากเพราะนกหัสดีลิงค์ ไหนๆจะถวายพระเพลิงศพแล้ว ควรเอานกหัสดีลิงค์มาเผาไปพร้อมๆ กับพระศพเสียเลย จึงร่ายมนต์เรียกนกหัสดีลิงค์มา แล้วนำพระศพพระมารดาขึ้นหลังนกหัสดีลิงค์เผาไปด้วยกัน
ตั้งแต่นั้นมา จึงเกิดธรรมเนียมเผานกหัสดีลิงค์พร้อมกับศพบุคคลสำคัญ ส่วนจะถือเป็นเกียรติอย่างไรไม่ทราบชัด คงเห็นแต่เป็นตัวอย่างได้กระทำตามกันมา อย่างไรก็ตามนกหัสดีลิงค์จะไม่ถูกสร้างขึ้นมาในงานศพชาวบ้านธรรมดา คงปรากฏแต่ในงานพระศพหรือของเจ้านายชั้นสูงและพระภิกษุผู้ใหญ่ภาคอีสานเท่านั้น
ในชีวิตของผู้เขียนเรื่องนี้ เคยเห็นนกหัสดีลิงค์เพียงครั้งเดียว สมัยเป็นเด็กเล็กไม่กี่ขวบ และได้เห็นในงานพระราชทานเพิงศพพระครูวุฒิกรพิศาล (หลวงพ่อทุย ธมฺมทินฺโน) เจ้าอาวาสวัดวารินทราราม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ดูเหมือนจะราวๆ พ.ศ. ๒๕๐๒
ความทรงจำที่แสนกิ่วขณะนี้พอจะนึกเค้าโครงลางๆ ได้ว่า นกหัสดีลิงค์ทำด้วยโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษฉลุลายสีสันสวยงาม รูปร่างคล้ายหงส์และไก่ หรือจะคล้ายอะไรอีกก็บอกไม่ถูก ตัวใหญ่มาก สูงไม่น้อยกว่าต้นมะม่วงโตเต็มที่ เด็กขนาดนั้นเห็นแล้วทั้งกลัวและชอบที่จะดู
มีอีกภาพหนึ่งที่นึกถึงเมื่อไหร่แล้วแจ่มชัดทุกที คือ ภาพเจ้าเจ้าหน้าที่วัดช่วยกันย่างศพหลวงพ่อทุย อาการเหมือนย่างไก่ไม่มีผิด ภายหลังจากทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ให้ตาย ศพหลวงพ่อทุยถูกย่างข้างในท้องของนกหัสดีลิงค์ ย่างจนเหลือแต่กระดูก หรือจะย่างไปจนศพแห้งแล้วเผาก็ไม่ทราบ ไม่ได้อยู่ดูจนเสร็จ เด็กตัวกระเปี๊ยกขนาดนั้นผู้ใหญ่ที่ไหนจะมีใจยอมให้ดู
ได้พยายามสอบถามในภายหลังว่า ทำไมจึงต้องย่างศพ ด้วยว่าไม่เคยปรากฏมีอยู่ในธรรมเนียมงานศพ และนึกหาเหตุผลอย่างไรไม่ออก คงเห็นอยู่ประการเดียวคือ ย่างเพื่อให้ศพสุกและแห้งสนิท เป็นการป้องกันไม่ให้ศพเน่าเหม็นเร็วเกินไป แต่ถ้าเจตนาในการย่างศพคืออย่างนี้ ทำไมจึงต้องย่างในวันสุดท้ายของงานศพแล้วเผาต่อเนื่องไปเลย เหตุผลที่ต้องการจะทราบจึงลางเลือนจนบัดนี้
พี่สาวเล่าว่า หลวงพ่อทุยเมตตาผู้เขียนมาก เคยเจ็บไข้ปางตายก็หายด้วยยาหม้อของหลวงพ่อทุย ทั้งยังกำชับพี่สาวให้เลียงดูและดูแลเด็กคนนี้ให้ดี จนเดี๋ยวนี้พี่สาวอายุเกือบ ๖๐ แล้วยังคงไม่เลิกดูแลเด็กฝากของหลวงพ่อทุยซึ่งเกือบจะ ๔๐ อยู่มะรอมมะร่อ
หลวงพ่อทุยเป็นลูกศิษย์คนสำคัญอีกคนหนึ่งของญาท่านญาท่านดีโลด เป็นผู้สืบทอดวิชาช่างไม้แกะสลักฉลุลายปัดหีบศพ และการก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่สำคัญท่านยังเป็นนักสร้างนกหัสดีลิงค์มือฉกาจ แต่ท่านก็ไม่มีโอกาสสร้างสำหรับงานพระราชทานเพลิงศพท่านเอง
ผลงานการก่อสร้างที่สำคัญของหลวงพ่อทุยที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ คือ วัดวรรณวารี บ้านหนองตาโผ่น อำเภอวารินชำราบ ซึ่งท่านได้สร้างตามบัญชาของญาท่านดีโลดผู้เป็นอาจารย์ เกสรมือของท่านยังงดงามอยู่ที่นั่นทุกวัน
ลูกศิษย์วิชาช่างศิลป์ของญาท่านดีโลดมีมากมายจริงๆ และยังคงสืบทอดกันต่อๆ มาจนทุกวันนี้ ถ้าพบครอบครัวช่างฝีมือลายแบบลาวในจังหวัดอุบลฯ ให้ลองไล่เรียงดูจะพบว่า มักได้รับการถ่ายทอดจากญาท่านดีโลดเกือบทั้งหมด
ในหนังสือประวัติวัดทุ่งศรีเมือง เล่าประวัติของญาท่านดีโลดโดย พระมหากมลรัตน์ นนฺทสิริ ว่า
"ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นคือ อักขระจากสำนักราชบรรเทา คงจะเรียนอักษรไทยน้อย (ลาว) ไทยใหญ่ (อักษรไทยปัจจุบัน) อักษรขอม อักษรธรรมที่นิยมกันในสมัยนั้น วิชาคำนวณก็คงได้ศึกษาจากวิชาเลขโบราณ ซึ่งมีสูตรเป็นภาษาสันสกฤต เช่น โท-เอกา-โท เท่ากับ สองหนึ่งเป็นสอง, โท-โท เท่ากับจัตวา เท่ากับ สองสองเป็นสี่ เป็นต้น และเรียนศิลปะศาสตร์คือวิชาแต้มเขียน (วิชาวาดรูปและลายต่างๆ) จากสำนักราชบรรเทา อาจารย์เดียวกับที่สอนหนังสือเบื้องต้น"
นายแพทย์จรัญ ชัยศิริ ก็ได้เขียนประวัติพระครูวิโรจน์รัตโนบลไว้ในหนังสือ พระเครื่องประยุกต์ มีความตรงกันกับพระมหากมลรัตน์ว่า "ท่านได้รับการศึกษาเล่าเรียนจากสำนักราชบรรเทา อักษรขอม อักษรธรรมที่นิยมกันในสมัยนั้น นอกจากนี้ก็เรียนเลขโบราณและวิชาช่างแต้มเขียน (วิชาวาดรูปและเขียนลวดลายต่างๆ)"
มีข้อความที่น่าสนใจอยู่ ๒ แห่ง คือ ประการแรกได้กล่าวถึงอักษรไทยน้อย (ลาว) อักษรไทยใหญ่ (ไทยปัจจุบัน) ดูจะขัดแย้งกับความรู้ของคนทั่วไปที่ว่า ไทยน้อย คือ ไทยปัจจุบัน ส่วนไทยใหญ่ หมายถึง คนไทยในพม่า ที่เรียกพวกเขาว่า "ไต"และคนอื่นๆ เรียกพวกเขาว่า "ไตหลง" คำว่า โหลง คือ ใหญ่ ซึ่งพวกเขามีภาษาพูด และเขียนเป็นของตนเอง ผู้เขียนเคยถูกหลวงพ่อพระอธิการศาสน์ สาสโน วัดพระนอนพลากิง เมืองแม่ฮ่องสอน จับเข้าชั้นเรียนร่วมกับเณรและลูกๆ ของชาวไทยใหญ่ในแม่ฮ่องสอนเพื่อเรียนหนังสือไทยใหญ่อยู่พักหนึ่ง ได้ความรู้มาพออ่านออกเขียนได้ เรื่องราวของชาวไทยใหญ่ มีที่น่าสนใจอยู่มากมาย โอกาสเหมาะๆ คงจะได้พูดคุยกันบ้าง
อย่างไรก็ตามคำว่า "อักษรไทยน้อย" ก็ถูกต้องแล้ว ซึ่งก็ได้มีคำอธิบายอยู่ในสารานุกรมภาษาอีสาน, ไทย, อังกฤษ ของ ดร.ปรีชา พิณทองดังนี้
อักษรไทยน้อย น. อักษรไทยน้อยเป็นอีกอักษรหนึ่งที่ประเทศลาวใช้ในการจดเรื่องชาดกจารีตประเพณีศิลปวิทยาการต่างๆ ที่จำเป็น
การจดจารึกใช้ใบลาน ตัวอักษรไทยน้อยก็อาศัยตัวอักษรลาวเป็นปทัฏฐาน แต่รูปร่างของตัวไทยน้อยสูงกว่า ตัวไทยน้อยมิได้ครบ ๓๓ ตัว เพราะตัดตัวซ้ำออกไป ตัวที่ตัดออกไปมีตัว ฆ ฌ ญ ฎ ฒ ณ ธ ก ตัวที่เพิ่มเข้ามามี ด บ ฝ ฟ ฮ ส่วนสระคงมี ๘ ตัว เหมือนตัวลาว
แต่คำในวงเล็บที่ว่า (ลาว) อาจทำให้เกิดความสับสนไป เพราะว่าตัวอักษรไทยน้อย ก็คือ ไทยน้อย แม้ว่าจะแอพพลายมาจากอักษรลาวแล้วก็ตาม ส่วนตัวอักษรลาวนั้นเป็นตัวเดียวกันกับที่เรียกว่าตัวธรรม หรือ ตัว ธมฺ ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ได้เค้ามาจากอินเดีย คืออินเดียมีอักษร ๔๑ ตัว เป็นสระเสีย ๘ ตัว เป็นพยัญชนะ ๓๓ ตัว อักษรลาวหรืออักษรธรรมก็มีพยัญชนะ ๓๓ ตัว สระ ๘ ตัว เหมือนอินเดีย แต่เมื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศลาวเกิดขัดข้อง คือตัวพยัญชนะไม่พอใช้ จึงเพิ่มพยัญชนะเข้าอีก คือ ตัว ฎ ด บ ฝ ฟ ฮ
อักษรไทยน้อย กับ อักษรลาว จึงเป็นคนละอัน
ส่วนคำว่า อักษรไทยใหญ่ (ไทยปัจจุบัน) เข้าใจว่าจะถูกต้องแล้วเหมือนกัน คำว่าไทยใหญ่ อาจเป็นคำเรียกเฉพาะท้องถิ่น เมื่อเรียกอย่างนี้แล้ว เป็นอันเข้าใจว่าหมายถึง ไทยปัจจุบัน ขณะที่เขียนนี้ยังไม่ทันได้สอบดูขอฝากผู้รู้วินิจฉัยต่อไป
อีกประการหนึ่ง "สำนักราชบรรเทา" ได้สอบถามจากคนรุ่นเก่ามากมายแล้วไม่อาจหาคำตอบได้ว่า สำนักราชบรรเทาเป็นสำนักอะไรอย่างไร และไม่มีโอกาสสอบถามกับพระมหากมลรัตน์และนายแพทย์จรัญ ชัยศิริ จึงเป็นเหตุให้มืดไป
ผู้เขียนได้กราบเรียนถาม ดร.ปรีชา พิณทอง ซึ่งท่านกรุณาแสดงความคิดเห็นว่า "เมื่อพิจารณาถึงคำว่า ราชบรรเทา ไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งราชบรรเทา ทั้งในประเทศและลาว แต่ถ้ามีสำนักราชบรรเทาขึ้นมาก็อาจเป็นสำนักที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะกิจเฉพาะกาลในเวลานั้น"
ความเรื่องการศึกษาของญาท่านดีโลดนั้น หลวงพ่อพระมหาคูณ ปัญญาปัชโชโต และหลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธมฺโม ลูกศิษย์ใกล้ชิดญาท่านดีโลดได้เล่าไว้ตรงกันว่า ญาท่านดีโลดศึกษาวิชาช่างศิลป์และศาสตราคมมาจาก "ครูบาธรรมวงศ์" วัดผาแก้ว ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลฯ ซึ่งเป็นพระอาจารย์รูปเดียวที่มีชื่อปรากฏว่าเป็นอาจารย์ของญาท่านดีโลดอย่างแท้จริง
บางทีสำนักราชบรรเทาจะอยู่ที่นี่ไม่ทราบ
ว่ากันว่าครูบาธรรมวงศ์สามารถฟังภาษาสัตว์ออก การรู้ภาษาสัตว์อย่างนี้เกิดจากการปฏิบัติที่ไม่อาจอธิบายได้และไม่บังอาจอธิบาย โดยมากครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมสูงมักมีความสามารถแปลกๆ เกินปกติธรรมดาเสมอ ซึ่งจะได้ยินได้ฟังความสามารถแปลกๆ เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ
เรื่องราวของครูบาธรรมวงศ์ยังไม่พบตัวผู้รู้โดยละเอียด เข้าใจว่าจะล้มหายตายจากกันหมดแล้ว คนรุ่นหลังเมื่อเอ่ยถึงครูบาธรรมวงศ์แทบไม่รู้จัก แต่กับคนที่รู้จักอยู่บ้าง ต่างพากันสรรเสริญว่าท่านเก่งเป็นเลิศทั้งนั้น
ครูบาธรรมวงศ์ มรณภาพขณะมีอายุได้ ๑๓๕ ปี หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้เล่าว่า ท่านติดตามญาท่านดีโลด ไปงานถวายเพลิงศพของครูบาธรรมวงศ์ด้วย เวลานั้นยังเป็นเณรน้อย และญาท่านดีโลดยังเป็นเจ้าคณะจังหวัด ไม่ทันถูกถอดออกไปเป็นเจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์
เรื่องถูกถอดออกจากเจ้าคณะจังหวัดนี้มีความซับซ้อนอยู่มาก เล่าไปแล้ว จะเกิดความเสียหายแก่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ไหนๆ ก็มรณภาพกันหมดแล้ว ขอถวายเรื่องนี้เป็นกุศลแก่ท่านไปเถิด
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์เล่าว่า ศพของครูบาธรรมวงศ์ถูกเผาอยู่กลางทุ่งนา ไม่ได้เผาในวัด เข้าใจว่าคงจะทำเช่นนั้นเพื่อหาสถานที่เผาศพที่บริสุทธิ์ต่างหาก ไม่เผาซ้ำซ้อนในสถานที่ของคนตายคนอื่นๆ เป็นการแสดงความเคารพอีกแบบหนึ่ง
ตัวอย่างนี้จะเห็นได้จากงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ขาว อนาลโย ฯลฯ ได้มีการสร้างจิตตกาธานสำหรับงานพระราชทานเพลิงศพขึ้นใหม่เป็นการจำเพาะ
ต้องบอกว่า ข้อที่แสดงความเข้าใจออกมาอย่างนี้เป็นเพียงสันนิษฐานหรือว่ากันแบบลูกทุ่ง คือ "เดา" ถ้าหากเดาผิดอย่างไร ขออภัยนักปราชญ์ทั้งหลายด้วย
สมัยแรกๆ ของญาท่านดีโลด ก่อนจะมาอยู่วัดทุ่งและได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ ท่านเคยเป็นเจ้าอาวาส วัดบ้านแต้ใหม่หลายปี มูลเหตุที่ต้องย้ายออกจากวัดบ้านแต้ใหม่มีว่า
วันหนึ่งมีพระหลวงตาแก่ๆ เดินเท้ามาถึงวัดบ้านแต้ใหม่ แล้วเข้าพักในศาลาเฉยอยู่ ไม่มีใครทราบว่าพระหลวงตารูปนี้มาจากไหน
ธรรมเนียมของวัดมีว่า เมื่อมีพระอาคันตุกะเข้ามาภายในวัด เจ้าอาวาสต้องออกไปปฏิสันถารต้อนรับ ญาท่านดีโลดก็ออกมาสนทนาด้วย ถามไถ่ว่าหลวงตามาจากไหน อยู่ที่ไหน พระหลวงตาแก่ๆ ตอบว่า ไม่ได้มาจากไหนหรอก อยู่ที่วัดนี้เองแหละ พอดีญาท่านดีโลดเหลือบเห็นผ้านุ่ง (เข้าใจว่าเป็นสบง) ของหลวงตาแปลกหน้า เป็นผ้าลายพร้อย อย่างที่ชาวบ้านนุ่ง ไม่ใช่อย่างวิสัยพระนุ่งกัน ก็ถามว่า ทำไมท่านจึงนุ่งผ้าไหมควบ (ไหมหางกระรอก) หลวงตาแปลกหน้ากลับตอบว่า นี่ล่ะ ผ้าถูกหลักถูกวินัยสงฆ์ สำหรับสงฆ์ใช้นุ่งกัน
แล้วอธิบายยืดยาวว่า ทำไมจึงเป็นผ้าถูกต้องตามหลักพระวินัย
ผู้เขียนเสียใจที่จำคำอธิบายถึงเหตุผลนี้ไม่ได้ แต่คำตอบของพระหลวงตาแก่ๆ แปลกหน้ามีผลให้ญาท่านดีโลด ต้องย้ายออกจากวัดบ้านแต้ใหม่ สละวัดให้หลวงตาแปลกหน้ารูปนั้นครองวัดแทน แล้วเดินทางเข้าจังหวัด พำนักที่วัดทุ่งศรีเมืองจนตลอดชีพ
ปีที่ท่านดีโลดสละวัดบ้านแต้ใหม่แล้วเดินทางมาอยู่วัดทุ่งศรีเมืองไม่อาจจะระบุได้ แต่ในประวัติที่เป็นทางการได้บอกด้วยว่า
"พ.ศ. ๒๔๓๔ พรรษา ๑๓ ได้เป็นเจ้าคณะแขวงอำเภออุตตรูปลนิคม คือ อำเภอม่วงสามสิบในปัจจุบัน ต่อมาได้เป็นพระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช เป็นเจ้าคณะอำเภออยู่ ๑๒ ปี
พ.ศ. ๒๔๔๖ พรรษาที่ ๒๔ ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เห็นจะเป็นรูปแรกตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ต่อมาอีก ๑ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูวิโรจน์รัตโนบล"
เข้าใจว่าญาท่านดีโลดจะเดินทางมาอยู่วัดทุ่งฯ ก่อนปี ๒๔๓๔ ซึ่งได้เริ่มเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภออุตตรูปลนิคม ขณะที่มาอยู่วัดทุ่งฯ ใหม่ๆ ยังเป็นพระผู้น้อย ครั้นพรรษาสามารถได้ที่ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวง ต่อจากนั้นจึงย้ายกลับมาเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ และพำนักอยู่ที่วัดทุ่งฯ อีกครั้ง และอยู่ตลอดไปจนสิ้นชีวิตที่นี่
ญาท่านดีโลด เป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ออกประกาศใช้ทั่วประเทศ ก่อนหน้าพระราชบัญญัตินี้จะออกมาประกาศใช้ อาจมีพระสงฆ์รูปอื่นๆ เป็นเจ้าคณะจังหวัด หรือ อยู่ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดมาก่อน เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ญาท่านดีโลดจึงได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ องค์แรกที่เป็นทางการ พร้อมกันนั้นได้รักษาวัดทุ่งฯ ในฐานะเจ้าอาวาสด้วย ขณะนั้นญาท่านดีโลดมีอายุได้ ๔๘ ปี
ทางชีวิตของญาท่านดีโลดเท่าที่มองเห็นในขณะนี้ ดูจะวุ่นวายอยู่กับคันถธุระและภารกิจของเจ้าคณะจังหวัดหรืองานบริหารคณะสงฆ์ในจังหวัดมาโดยตลอด แต่ญาท่านกลับเป็นพระที่มีคุณธรรมสูงไปได้อย่างไร ญาท่านเอาเวลาที่ไหน ไปปฏิบัติธรรม หรือจะเรียกว่าวิปัสสนาธุระก็ได้ ประวัติทางด้านนี้ของญาท่านไม่มีเลย ไม่พบว่ามีบันทึกไว้ที่ไหนอย่างไร นอกจากในหนังสือประวัติวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งได้กล่าวถึงไว้ดังนี้
"เกียรติคุณท่านขลัง, ชรามากแล้วเดินเหินไปไหนไม่ค่อยได้ ถ้าบ้านใดเดือดร้อนมิค่อยอยู่ดี ชาวบ้านแนะให้มาหาท่านให้ไปโปรด ทำน้ำมนต์และทำมงคลให้ บ้านเมืองก็ค่อยสงบ ชาวบ้านก็เลยไม่เกรงใจ เดี๋ยวบ้านนั้นมาหาม ประเดี๋ยวบ้านนี้มาหามไป ศิษย์และญาติโยมใกล้ชิดเกรงท่านจะลำบากและเป็นอันตราย ร้องขอให้ตำรวจช่วยห้าม จึงค่อยได้พักขึ้น" และ
"...พ.ศ. ๒๔๘๓ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในอินโดจีน จนได้ปะทะกันด้วยอาวุธ กองทหารหน่วยบุกยึดนครจำปาศักดิ์ได้มาตั้งฐานปฏิบัติการอยู่อุบลฯ พระกล้ากลางสมร เป็นผู้บังคับบัญชา ได้เลือกพระมหาเถระที่มีความขลัง ได้เลือกพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง สั่งหน่วยทหารทั้งหมดที่อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เข้ากราบขอพรทุกคน ท่านแก่มากแล้วลุกไม่ได้ นอนบนเตียงที่รับแขกยื่นมือยื่นเท้าให้เขาทั้งหลายแตะศีรษะเพื่อความปลอดภัย ท่านให้พรว่า ให้ลูกอยู่เป็นสุข ๆ ปลอดภัย เท่านั้นตลอดวันยันค่ำ"
พระกล้ากลางสมร (พ.ต.อ.พระกล้ากลางสมร (มงคล หงษ์ไกร) ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.2483-2484 - webmaster) หรือ พลเอกมังกร พรหมโยธี (หลวงพรหมโยธี อดีต รมต.ว่าการกระทรวงกลาโหม - webmaster) นี่เองที่เป็นผู้สร้างเหรียญญาท่านดีโลดพิมพ์นิยม ต่อมาได้กลายเป็นเหรียญยอดนิยมอันดับ ๑ ของจังหวัดอุบลฯ ซึ่งจะได้เล่ารายละเอียดกันต่อไป
คุณธรรมและบุญฤทธิ์หรือ อิทธิฤทธิ์นี้ เพิ่งมาปรากฏในบันทึกซึ่งก็เป็นขณะที่ญาท่านดีโลดชราภาพมากแล้ว เป็นตอนปลายสุดโต่งของชีวิต คือ ปี ๒๔๘๓ เพราะว่าอีก ๒ ปี ต่อมา ญาท่านก็ถึงกาลมรณภาพ
ไม่มีใครทราบว่าวัตรปฏิบัติจนมาถึงที่ "ขลัง" ของญาท่านดีโลดเป็นอย่างไร มาทราบเอาก็ตอนญาท่านลงมือบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เห็นเท่านั้น
เรื่องนี้ผู้เขียนได้กราบเรียนถามหลวงพ่อพระใบฏีกาสังข์ ฐิตธมฺโม ซึ่งท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังรวมๆ ไปทั้งหมดดังนี้
"กลางคืนเพิ่นมีความเพียรมากไม่ค่อยได้เห็นเพิ่นนอนภาวนาเมตตาธรรมแล้วไหว้พระไหว้ธาตุ ทำวัตรทั้งค่ำและเช้า เอาจนสุดอยู่ผู้เดียว อาตมาในเวลานั้นเป็นเณรน้อย บางครั้งก็ร่วมกับวัตรกับเพิ่น บางคราวขี้เกียจ ก็หลบไปนอนที่อื่น คือปกตินอนกุฏิเพิ่นนั้นแหละ แต่ตัวขี้เกียจจะจูงไปนอนหลบที่กุฏิอื่น เพิ่นก็ไม่ว่าอะไร ไม่เคยว่าใคร สำหรับเพิ่นดีหมด ไม่มีไม่ดี ทำก็ดี ไม่ทำก็ดี
การไม่เห็นแก่การนอนมากนักต้องเพิ่น การไปพิจารณาที่นั้นที่นี่ไม่มีใครเหมือนเพิ่น ความอยากไม่ให้มีก็ต้องเพิ่น จึงไม่พบว่าเพิ่นสะสมทรัพย์สมบัติอะไร ที่นอนของเพิ่นไม่เป็นเบาะเหมือนคนอื่นๆ เขาเอาใยมะพร้าวมาทำเป็นเบาะถวาย เพิ่นก็นอนใยมะพร้าวอยู่ตลอดไป
เพิ่นอยู่ของเพิ่นเงียบๆ ตามลำพัง ไม่มีใครเข้าไปยุ่มย่ามวุ่นวายกับเพิ่น อาตมาก็เพียงแต่เอากระโถนเยี่ยวของเพิ่นไปเททุกเช้า ส้วมโบราณเพิ่นก็ถ่ายอยู่ผู้เดียว มันก็แปลกที่ไม่มีกลิ่นเหม็นกลิ่นคาว การฉันเพิ่นฮักอันดับหนึ่งคืออาตมา ของเหลือจากที่ฉันที่เป็นของดีๆ เพิ่นก็เก็บไว้ให้อาตมา แต่เพิ่นก็มีโรคประจำตัวอยู่อันหนึ่งคือ คือ หลังจากฉันมักมีอาการดน คืออิ่มนาน หรือเรียกแบบทั่วไปว่าท้องขึ้น เพิ่นก็มียาประจำสำหรับฉันแก้เรียกว่า ยาสิทธิเวชปราบพิษ ภายหลังยานี้ถูกกฎหมายบังคับให้เปลี่ยนชื่อเป็น สิทธิเวชพละ ๕ ต้องสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ อาตมาเป็นผู้สั่งซื้อถวายเพิ่นเป็นประจำ
ยังมียาพิเศษอีกสองชนิดที่เพิ่นปลุกเสกเอาไว้ คือเป็นสมุนไพรสองต้นปลูกอยู่ในวัดนั่นเอง เฉพาะสองต้นนั้นถ้าใครรู้จัก ก็ไปเอามากินแก้โรคได้ ฮำฮอกต้นหนึ่ง อีกต้นหนึ่งจำชื่อไม่ได้ ไม้ง่ายๆ นี่ละ แต่คิดไม่ออก (ฮำฮอก นี้ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่เพราะฟังจากเทปไม่ถนัด)
กิจอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่นปฏิบัติไม่ขาดคือบิณฑบาต จะมางดไปก็ตอนที่ป่วยลุกไม่ขึ้นเท่านั้น กลับจากบิณฑบาตจะต้องอาบน้ำทุกครั้ง หลังจากอาบน้ำแล้วจึงฉัน จากนั้นก็อยู่เงียบๆ ตามลำพังเรื่อยไป ถ้ามีแขกก็รับแขก หมดแขกก็อยู่เงียบๆ เป็นปกติ"
"หลวงพ่อเริ่มมาอยู่กับญาท่านดีโลดตั้งแต่เมื่อไหร่" ผู้เขียนถาม
"พ.ศ. ๒๔๖๖ ยังไม่ทันเข้าโรงเรียน" หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ตอบ
"ยังไงถึงได้มาอยู่กับญาท่าน"
"ปี ๒๔๖๐ อาตมาอยู่วัดบูรพา ฟังพระสอนหนังสือแล้วคิดเลื่อมใส ขอแม่ไปอยู่กับพระ พอมีเดียงสาสักหน่อย แม่อนุญาตให้ไปอยู่วัดทุ่งศรีเมือง เพิ่นก็รับไว้ และอุปการะทั้งที่อยู่และการเล่าเรียน เพิ่นให้พักกุฏิเดียวกับเพิ่น ให้เรียนหนังสือในวัดทุ่งฯ นั่นเอง
อาตมาอยู่กับเพิ่นด้วยความขยันหมั่นเพียร หุงข้าวก็อาตมาผู้เดียว ไม่แฉะไม่แข็ง รักษาระดับเดิมไว้ เพิ่นก็ใช้อาตมาผู้เดียว หมากพลูเพิ่นเคี้ยวประจำ หมากนั้นเพิ่นเคี้ยวทั่วไปแล้วแต่ใครจะถวาย แต่พลูเคี้ยวของอาตมา เอาพลูมาต้มเสียก่อนจนสุก ไม่ต้องไปหาความงามไม่งามอะไร เพิ่นเคี้ยวตลอด
กระทั่งวิชาอาคม เพิ่นไม่เคยสอนตรงๆ แต่อยู่กับเพิ่น ติดสอยห้อยตามเพิ่นก็ได้เห็นเอง เพิ่นบอกคนโน้นมั่ง คนนี้มั่ง อาตมาได้ยินก็จำได้หมด เด็ก ๆ จำได้ดี
ใครก็ตาม อยู่กับเพิ่นจะได้ความรู้ได้ประโยชน์อย่างนี้"
เรื่องวิชาอาคมของท่านดีโลด ไม่ปรากฏว่าญาท่านถ่ายทอดไว้ให้ใครเป็นการจำเพาะ แต่บรรดาลูกศิษย์ใกล้ชิดทั้งหลาย อย่างเช่น หลวงพ่อพระมหาคูณ ปญฺญาปชฺโชโต และ ดร.ปรีชา พิณทอง ต่างกล่าวต้องตรงกันว่า หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้ไปหมด คนอื่นๆ ไม่มีใครได้ ถ้าได้ก็แต่เพียงน้อยๆ ไม่ถึงที่หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้แม้สักคนเดียว
และวิชาอาคมของญาท่านดีโลดก็หาตัวผู้ทราบไม่ได้ว่า ใครเป็นครูบาอาจารย์ของญาท่านบ้าง นอกเหนือไปจากครูบาธรรมวงศ์ วัดผาแก้ว ตำบลดอนมดแดง
บางทีญาท่านดีโลดจะได้รับการถ่ายทอดทั้งหมดจากครูบาธรรมวงศ์ก็ไม่รู้
"เรื่องที่ต้องใช้ความขยันหมั่นเพียรเป็นพิเศษก็มีอยู่" หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์เล่า คือ หนึ่งเรียนลาย สองเรียนสวดอภิธรรม สามเรียนนักธรรมตรี สี่เรียนการช่าง พระ ๔๐ องค์ในตอนนั้นสู้อาตมาไม่ได้หรอก
ส่วนการเขียนอักษรธรรม หรือ หนังสือธมฺ อาตมามีความพอใจเขียนเอง เพิ่นไม่ได้บอกไม่ได้สั่งดอก เมื่อเพิ่นรู้ว่าอาตมาเขียนเป็นแล้ว เพิ่นไม่บาย (บาย = จับ, แตะ) ไม่แตะต้องอีกเลย ยกให้อาตมาเขียนแต่เพียงผู้เดียว ภายหลังพระมหาคูณมาอยู่ด้วย ก็ช่วยกันเขียนสองคน คือหมายความว่า แต่เดิมหากมีใครมาขอให้ลงตะกรุดหรือเขียนคาถาปิดประตูบ้านเรือน เพิ่นก็เขียนให้ แต่หลังจากรู้ว่าอาตมาเขียนได้ ก็ไม่เคยเขียนอีก เป็นอาตมาตลอด พอเขียนเสร็จค่อยเอาไปถวายเพิ่นอีกที
เรื่องสวดเพิ่นก็ขึ้นต้นให้ ต่อจากนั้น อาตมาเป็นผู้สวดแทนโดยที่นั่งเฉยอยู่ ผู้มาขอให้สวดก็ดูพอใจกันดี ไม่มีปัญหา เรียกว่าธุระและภาระของเพิ่น อาตมาอาสาทำแทนหมด เพิ่นไม่ได้สั่ง ใช่ไหม
การปฏิบัติวัฏฐากเพิ่นอยู่ที่นั่น เพิ่นก็ให้พรว่า เออโต สุขพออยู่พอกิน ทุกข์มีผู้ให้ ให้มีผู้เอ็นดู
สมพรเพิ่นทุกอย่าง ที่ได้เรียนจากปากของเพิ่น ก็มี ธมฺเมตตา และ ปาฏิโมกข์ ธมฺเมตตาเรียนจบแล้วจะเรียนอะไรเพิ่มเติมดูสะดวกราบรื่นไปหมด แปลกดีเหมือนกันนะ
พระสูตรนี่ก็สวดได้เต็มบท สมัยก่อนสวดเป็นชั่วโมงกว่าจะจบ เดี๋ยวนี้สามสิบนาทีก็จบ เขาตัดออกให้สั้นลง ย่อลง พระเถระอายุ ๓๐ - ๔๐ ทุกวันนี้สวดเต็มบทกันไม่ได้แล้ว เอาแบบใหม่แบบสั้นแทน ก็สะดวกไปอีกอย่าง
พระสูตรนี่ก็ได้เอาไปสวดแก้บ้านเมืองเดือดฮ้อนบ่อยๆ เพิ่นนั่นแหละเป็นผู้กำหนดให้อาตมาสวด
เมื่อคราวมีเหตุฉุกเฉินที่บ้านสว่าง ตำบลสว่าง อำเภอวารินชำราบ บ้านเมืองขุมเขือกหลาย (ขุมเขือก หมายถึง เดือดร้อนวุ่นวาย) มีคนตายทุกวัน เขาก็มานิมนต์พระเดชพระคุณวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดไปแก้ อาตมาเป็นศิษย์ติดตามไป ตอนนั้นเป็นพระแล้วสองพรรษา เพิ่นก็ให้สวดพระสูตรอย่างเดียว"
พระสูตร คือ ถ้อยร้อยความที่แต่งขึ้นเป็นแบบแผนแน่นอนแล้ว เช่น มงคลสูตร รัตนสูตร และก็คงมีสูตรบทอื่นๆ อีก
"หลังจากสวดเสร็จแล้ว เพิ่นก็สั่งให้ขุด" หลวงพ่อพระใบฎีกาเล่า
"คือเพิ่นชี้บอกตำแหน่งบนพื้นดินกลางบ้านแล้วสั่งให้ขุด พอขุดลงไปสักสันฝ่ามือก็พบหม้อดิน ในหม้อนั้นมีกระดูกๆ มองดูคล้ายรากไม้ เพิ่นว่าเป็นกระดูกผีตายโหง คงมีคนเอามาฝังไว้ เมื่อขุดได้แล้วถ่วงทิ้งลงแม่น้ำมูล เรื่องขุมเขือกก็สงบไปแต่นั้นมา
ที่แปลกคือ เพิ่นชี้ให้ขุดตรงนั้น พอขุดก็พบเลย
เรื่องไปถอดไปถอนความเดือดร้อนวุ่นวาย ไปปลูกฝังความชุ่มเย็น ชาวบ้านเมืองชอบนิยมมานิมนต์เพิ่นมาก ไปฝังหลักบ้านหลักเมืองก็เป็นเพิ่นทั้งนั้นอาตมาก็ได้ติดตามไปทุกครั้งเพราะว่าเพิ่นแก่มากแล้ว เราเป็นลูกศิษย์ต้องคอยปรนนิบัติให้ตลอด อดเป็นห่วงเพิ่นไม่ได้ ด้วยความที่เพิ่นมีเมตตาต่อทุกๆ คนมาก ป่วยลุกไม่ไหว ก็รับนิมนต์ไปแก้ไปช่วยเสมอ ให้เขามาหามไป
เห็นอยู่คราวหนึ่ง เพิ่นไปไม่ได้จริงๆ แต่ด้วยการเมตตาสงสารของเพิ่น ก็ส่งอาตมาไป คือมีเหตุว่า วัวควายตายกันมากที่บ้านขามใหญ่ ตายด้วยห่าลง ทุกวันนี้เรียกว่า อหิวาต์ใช่ไหม เพิ่นก็ใช้ให้ไป
อาตมาก็จนใจและกราบเรียนเพิ่นว่า ข้าน้อยไม่ได้แก่กล้าวิชา ไม่มีวิชาจะไปทำอะไรได้ เพิ่นบอกไม่เป็นไร จะสอนให้ ที่เพิ่นสอนให้ก็คือพระสูตรนี่แหละ อาตมาก็แย้งว่า เมื่อไปถึงแล้วจะพูดกับชาวบ้านเขาอย่างไร เพราะว่าเป็นพระน้อยๆ อย่างนี้ เพิ่นก็ว่า ไม่เป็นไร ให้ไปหาผู้ใหญ่บ้านตีกลองประชุมลูกบ้านเสียก่อน แล้วบอกว่า เฮาใช้โตมาแทน อาตมาก็ไปด้วยขัดขืนไม่ได้ มีพระไปด้วยกัน ๕ รูป อาตมาก็นำพระสวดพระสูตรไปหนึ่งกัณฑ์ แล้วฝังหลักบ้านเมืองให้
ปรากฏอภินิหารของเพิ่นคือ หลังจากสวดตามที่เพิ่นสั่งและทำตามที่เพิ่นบอกแล้วทุกประการ วัวควายที่ตายแล้วก็ตายไป ส่วนที่ยังไม่ตายก็รอดหมด
เป็นเหตุอัศจรรย์ที่เพิ่นใช้ไป ถ้าไม่ไปก็เท่ากับไม่เห็นเพิ่นเป็นอุปัชฌาย์เท่านั้น"
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้กรุณาเล่าต่อไปว่า
"เป็นของแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ขอแต่ปากญาท่านดีโลดออกปากอะไรออกมา เป็นศักดิ์สิทธิ์หมด
อักขระธรรม ๔๑ ตัว อักขระบาลี ๔๑ ตัว เพิ่นจะบอกใช้ตัวไหน ตรงไหน ศักดิ์สิทธิ์หมด และเพิ่นก็บอกอาตมาว่า อักขระเหล่านี้สามารถเอาไปใช้ได้ เพราะมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ทุกตัว"
"เกี่ยวกับตัวอักขระธมฺนี้ ญาท่านดีโลดเอามาทำอะไรบ้าง" ผู้เขียนบอกอยากรู้
"เมื่อเพิ่นไปสวดบ้านสวดเมืองระงับแล้ว เวลากลางคืนหว่านหินแฮ่ (กรวดทราย) ตลอดบ้าน ครั้นรุ่งเช้า ฉันเสร็จก็เริ่มเขียนคาถาปิดประตู ก็ใช้อักขระธมฺนั่นแหละ อาตมาเป็นผู้เขียน อะ อี อึ อุ อู อา โอ นี่วรรคหนึ่ง วรรคต่อไปก็ กะ ขะ คะ ฆะ งะ ต่อไปจนครบ ๔๑ ตัว วรรคแรกแปดตัว วรรคต่อๆ มาวรรคละห้าตัว ถึงวรรคสุดท้ายแปดตัวอีก ยะ ระ ละ วะ สะ หะ ฬะ อัง
อาตมาเขียนจนเหนื่อย เขียนให้ทุกบ้านทุกเรือน บ้านเรือนใดมีประตูเดียวก็ให้หนึ่ง มีสองให้สอง ได้ครบทุกคน
เครื่องรางของขลัง ถ้ามีผู้มาขอ เพิ่นก็ให้อาตมาเป็นผู้เขียนทั้งผ้ายันต์และจารตะกรุด โดยที่เพิ่นเป็นผู้กำหนดให้ว่าจะต้องเขียนอะไร อย่างไร
อาตมาทำหน้าที่เขียนถวายเพิ่น จนกระทั่งสึกออกไปสงครามอินโดจีนไปรบที่พระตะบองศรีโสภณนั่นแหละ จึงได้เลิกไปเอง แต่ก็มีพระมหาคูณมารับช่วงเขียนแทน
สมัยสงครามอินโดจีนนั้น ปืนหรือระเบิดไม่สะเทือนญาท่านดีโลดหรอก"
(รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังของญาท่านดีโลด จะขอยกไปเล่ารวบยอดในภาคของวัตถุมงคลทั้งหมด เพื่อไม่ให้กระจัดกระจาย จนยากแก่การทำความเข้าใจ)
มีความจริงอยู่ว่า แม้หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ จะอยู่รับใช้ใกล้ชิดญาท่านดีโลดจนดูเหมือนว่าท่านจะต้องครองผ้าเหลืองไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับญาท่านดีโลดผู้เป็นอุปัชฌาย์ แต่ในที่สุดท่านก็สึกออกมาดำรงชีวิตอย่างฆราวาสจนได้
ไม่บอกด้วยว่า ทำไมจึงสึก
คงเล่าแต่เพียงว่า ได้ไปขอสึกกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ที่วัดสุปัฏฯ ในปี ๒๔๘๒ ภายหลังซ่อมพระธาตุพนมเสร็จ สึกแล้วก็เกิดสงครามอินโดจีนพอดี จึงถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ออกรบที่พระตะบองและศรีโสภณอยู่หนึ่งปี ถึงปี ๒๔๘๕ ก็มีครอบครัว และได้พาภรรยาไปกราบญาท่านดีโลด พอปลายปีเดียวกันนั้นเอง ญาท่านดีโลดก็มรณภาพ
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ใช้ชีวิตฆราวาสอยู่หลายสิบปี เลี้ยงลูกจนโต สร้างหลักฐานให้ครอบครัวพอสมควรแล้วจึงย้อนกลับเข้ามาสู่ผ้าเหลืองอีกครั้ง และได้ครองสมณเพศอยู่จนทุกวันนี้*
ระหว่างที่เป็นฆราวาส และเป็นเวลาหลังจากญาท่านดีโลดมรณภาพไปแล้ว ชาวบ้านชาวเมืองที่รู้จักท่าน มักมาขอให้ท่านไปช่วยปัดเป่าความขุมเขือก หรือความเดือดร้อนวุ่นวายให้เสมอ
* กลับมาบวชเมื่อปี ๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบัน (๒๕๔๘) มีอายุได้ ๙๖ ปี
ท่านก็ได้อาศัยวิชาอาคมที่ได้จากญาท่านดีโลด ไปใช้สำหรับช่วยเหลือใครต่อใครตลอดมา
ท่านเล่าว่า
"อภินิหารของญาท่านดีโลดมาปรากฏอีกครั้งที่บ้านคำสมิง ประมาณปี ๒๔๘๗ ตอนนั้นอาตมามีครอบครัวอยู่ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร บ้านเขาตายวันละเจ็ดคน แปดคน ทุกวัน เขาไปนิมนต์อาจารย์บุญ ลูกศิษย์อาจารย์เดียวกันกับอาตมานี่แหละ แต่ว่าเถ้าจ้ำปู่ตาไม่ยอม (เถ้าจ้ำ ก็คือ หมอผี หรือคนทรงเจ้าเข้าผี) สั่งให้คนเอาคนเก่ามาแก้
พวกเขาก็ติดตามถามข่าว จนทราบว่าอาตมาอยู่ที่พิบูลฯ นั่น
มาขอให้ไปแก้
อาตมาก็สักไม้กะเท้าของญาท่านดีโลดไป
ไม้เท้าเพิ่นให้อาตมาไว้ตั้งแต่เป็นพระอยู่กับเพิ่น ได้เก็บรักษาชั่วเวลาหนึ่ง จนกระทั่งมีผู้มาขอ เขาอยากได้มาก ก็ยกให้ เดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่ายังอยู่หรือเปล่า หายไปแล้วก็ไม่รู้
ชาวบ้านเล่าว่า ก่อนที่อาตมาจะไปถึงนั้น กลางคืนมีดวงไฟสว่างเป็นลูกโตขนาดกระด้งฝัดข้าวฉายอ้อมบ้านอ้อมเมือง นกก็ร้อง หมาก็หอนตลอดคืน เหตุการณ์ขุมเขือกปานนั้น
อาตมาก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่ไปนอนที่ศาลาที่พักคนเดินทางเท่านั้น ชาวบ้านก็มาบอกเหตุการณ์ขุมเขือกได้อันตรธานไปจนหมด
เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ดีแล้ว จึงได้พาเขาฝังหลักบ้านหลักเมืองสวดพระสูตรให้ด้วย
ต่อมาอีกหลายปี จำไม่ได้ว่า พ.ศ.อะไร ตอนนั้นอาตมาเป็นเสมียนอยู่โรงงานน้ำตาลบ้านบุ่งมะแลง ก็เกิดขุมเขือกที่บ้านคำสมิงอีกครั้งหนึ่ง คือมีเรื่องลือว่า เด็กๆ ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำมูล ถูกนาคกัดทุกคน บางคนก็ได้เนื้อไปกิน บางคนก็เป็นแผลเท่านั้น แผลที่ถูกกัดเหวอะหวะออกเป็นวงเหมือนแผลตูดไก่
อาตมาไปเห็นแล้วก็บอกว่า แผลอย่างนี้อาตมาเคยเห็นสมัยไปสงครามอินโดจีน เอาใบหว้ามาเคี้ยวใส่ก็หายดอก ชาวบ้านก็เถียงว่าไม่ใช่ยังงั้น แผลนาคกัดจริงๆ อาตมาก็รวบรัดไปเลยว่า นาคนั้นเป็นนาคปลอมไม่ใช่นาคจริง ชาวบ้านก็ไม่เชื่อและได้ขอร้องให้อาตมาทำพิธีระงับทางน้ำให้ อาตมาหมดทางจะอธิบาย จึงอนุโลมตามใจเขาปรารถนา
ได้บอกให้ผู้ใหญ่บ้านไปเอาก้อนหินมาสามก้อน ไปมุดเอาในแม่น้ำมูลนั้นแหละ เอาก้อนโตขนาดพอจะเขียนอักขระลงได้ เขาก็ไปเอามา อาตมาก็เขียนให้
ถึงตอนเช้าอีกวัน ก็อาเรือออกไปกลางแม่น้ำมูลสองสามลำ หย่อนหินลงทีละก้อน ตั้งแต่หัวน้ำลงมา
หัวน้ำก้อนหนึ่ง กลางน้ำก้อนหนึ่ง ท้ายน้ำอีกก้อนหนึ่ง ขณะหย่อนหินลงน้ำก็สวดคาถาของญาท่านดีโลดไปด้วย
ปรากฏความศักดิ์สิทธิ์ว่า เขาหากินกันไม่ได้
ปลาแถวนั้นไม่กินเบ็ดกินมองของเขา ก็เลยว่ากันไปว่า เป็นเพราะพ่อใบฎีกาสังข์นี่แหละ ปลาจึงไม่กินเบ็ดกินมอง ไม่มีใครได้ปลาที่นั้นตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้"
หลวงพ่อใบฎีกาสังข์หัวเราะ
"เภทภัยทางน้ำ หรือภูตผีปีศาจที่ชาวบ้านเชื่อก็ไม่มี บ้านคำสมิงชุ่มเย็นตลอดมา ก็ด้วยบารมีญาท่านดีโลดผู้ประสิทธิประสาทวิชาให้"
จริงๆ แล้วหลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์มีอุปนิสัยเป็นอย่างพระตลอดมา แม้ว่าจะดำรงเพศฆราวาสก็ตาม ท่านก็ยังต้องรับเชิญไปช่วยเหลือแก้ไขความขุมเขือกในที่ต่างๆ ตลอดเวลา ดำเนินเจริญรอยตามญาท่านดีโลดอย่างไม่ลดละ และตัววิชาอาคมของญาท่านดีโลดได้เป็นที่อาศัยในการช่วยเหลือทุกคนอยู่จนทุกวันนี้ซึ่งได้กลับเข้ามาห่มผ้าเหลืองอีกครั้ง
วัตถุมงคลก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ท่านทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านชาวเมือง บรรดาลูกศิษย์ของหลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ต่างเห็นว่า แม้ในยามที่เป็นฆราวาส ท่านก็เคยทำพระเครื่องให้ลูกหลานชาวบ้านที่มาขอก่อนออกไปแนวหน้า ซึ่งก็ปรากฏว่าได้ผลดี แต่พระเครื่องของท่านทำคราวละองค์สององค์เท่านั้น ทำให้เป็นคนๆ ไป ไม่ได้ทำเป็นมหกรรมแจกจ่ายแต่อย่างไร
เช่นเดียวกับตะกรุด ท่านก็จารให้ผู้มาขอตั้งแต่เป็นฆราวาสจนถึงเวลาที่บวชอยู่ขณะนี้ คาถาอักขระที่ใช้จาร ก็เป็นบทเดียวกับที่เคยจารถวายญาท่านดีโลดสมัยที่อยู่รับใช้ท่านที่วัดทุ่งศรีเมือง
แม้รุ่นหลังนี้ หลวงพ่อใบฎีกาสังข์จะจารตะกรุดขึ้นมาโดยไม่มีญาท่านดีโลดปลุกเสกแล้ว
ตะกรุดที่ลงด้วยคาถาของญาท่านดีโลดก็ขลังและศักดิ์สิทธิ์ได้เหมือนกัน
มีผู้หญิงคนหนึ่งบ้านอยู่อำเภอบุณฑริก เล่าว่า ตนเองมีท้องแก่เต็มที หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์เห็นก็เมตตาให้ตะกรุดอลูมิเนียม วันหนึ่งไปหาหมอ และหมอจะต้องฉีดยาให้ ปรากฏว่าเข็มฉีดยาแทงอย่างไรก็ไม่เข้า ต้องเอาตะกรุดออกเสียก่อนจึงฉีดได้
อีกรายหนึ่งอยู่ใกล้ๆ วัดคำนกเปล้านี่เอง ไปทำนาเป็นปกติ กำลังเพลินทำอยู่นั้น ควายเกิดคลั่งอะไรไม่ทราบ วิ่งตะบึงเข้ามาจะขวิด ตัวเขาหมดหนทางหนีไม่ออก เพราะว่าดินนาเฉอะแฉะเป็นโคลนตม ได้แต่ตะลึงมองควายขย่มเขาเข้ามาหา
พอควายจวนจะถึงตัวก็ลื่นล้มไปเฉยๆ
ลุกขึ้นได้ หายคลั่ง ก็เดินหนีไป
หมดเรื่อง
ทั้งสองรายที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เป็นผู้ได้รับตะกรุดอลูมิเนียมไปคนละดอก
ตะกรุดอลูมิเนียมรุ่นนี้ หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้จารถวายพระราชรัตโนบล เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืององค์ปัจจุบันไปร้อยดอก ใครได้รับแจกจากเจ้าคุณพระราชรัตโนบล ขอให้ทราบไว้ด้วยว่า เป็นตะกรุดของหลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ซึ่งจารด้วยคาถาของอาญาท่านดีโลดทั้งหมด
ออกจะเป็นที่สงสัยไม่น้อยว่า ทำไมจึงต้องเป็นตะกรุดอลูมิเนียม เพราะว่าโดยทั่วไปแล้วมักเห็นเป็น ตะกรุดเงิน ทองคำ ทองแดง มากกว่า ครั้นกราบเรียนถามหลวงพ่อใบฎีกาสังข์แล้ว ที่ท่านก็อธิบายว่า
"อลูมิเนียมจารง่ายดี ไม่ต้องออกแรงมาก อาตมาแก่แล้วแรงไม่ค่อยดี อีกอย่าง อลูมิเนียมก็ดูจะทนทานไคลได้ดีกว่าทองแดง ไม่ค่อยเป็นสนิมเท่าไหร่"
"อลูมิเนียมก็ใช้ได้หรือครับ"
"ได้" หลวงพ่อพระใบฎีกาตอบ "ญาท่านดีโลด เพิ่นเคยบอกอาตมาว่า โลหะอะไรก็ใช้ได้ทั้งนั้นแหละไม่ต้องไปยึดว่าต้องเป็นทองแดง หรือเป็นเงิน เป็นคำ"
"หลวงพ่อมีพระเครื่องไหมครับ"
"ไม่มี ไม่เคยสร้าง ตั้งแต่เป็นพระอีกครั้งที่เคยทำให้ลูกๆ หลานๆ ที่มาขอไปแนวรบสมัยที่ยังเป็นฆราวาส ก็แค่ไม่กี่องค์ ส่วนใหญ่เขามาขอตะกรุดกันมาก ก็เลยทำตะกรุดให้เขาไป
พระเครื่องนี่เคยทำมาก่อนครั้งหนึ่งเหมือนกัน สมัยยังเป็นเณรอยู่กับท่านดีโลด ตอนนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ท่านมีบัญชาให้ทุกวัดเผาหนังสือผูกหนังสือธัมทิ้งให้หมด ไม่มีใครขัดบัญชาได้ ก็ต้องเผากันไป วัดทุ่งฯ ก็เผาด้วย อาตมาเห็นแล้วเสียดาย เก็บเอาผงเถ้าถ่านของหนังสือผูก หนังสือธัม มาปั้นเป็นพระเครื่ององค์เล็กๆ ได้องค์หนึ่ง เจตนาทำขึ้นมาเล่นๆ ก็ว่าได้ ทำด้วยความเสียดายก็ได้ เอาเป็นว่าบอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมจึงมีความคิดและทำเช่นนั้น"
"ทำเสร็จแล้วหลวงพ่อทำไง เอาไปถวายญาท่านดีโลดเสกใช่ไหม"
"เปล่า" ท่านปฏิเสธ "พระเครื่ององค์นั้นไม่มีใครได้เสกหรอก"
"งั้นหลวงพ่อก็เสกเอง"
"ฮึ่ยยย...เป็นเณรไม่กี่ขวบ เอาอะไรมาเสกเล่า แต่ว่าเวลามีสวดปาฏิโมกข์ อาตมาก็เอาพระเครื่ององค์นั้นไปวางๆ ไว้"
"รูปร่างพระเครื่ององค์นั้นเป็นอย่างไร"
"สามเหลี่ยม คล้ายพระแบบนี้" ท่านล้วงเอาพระนางพญาจากย่ามให้ดู
"พระนี่หลวงพ่อทำเหรอ"
"ญาติโยมถวายให้ก็เก็บไว้ พระอะไรล่ะ"
"เขาเรียกว่า พระนางพญาพิษณุโลก ครับ"
"อ้อ" ท่านหงึกหน้า "อยากได้เรอะ"
"ไม่ละครับ" ผู้เขียนสั่นหัวส่ายหน้าวูบวาบ "อันนี้เก๊ครับ หลวงพ่อ"
"อ้อ เก๊รึ" ท่านเก็บกลับเข้าไว้ในย่ามเหมือนเดิม
"แล้วพระเครื่ององค์นั้นยังอยู่หรือเปล่าครับ"
"มีคนมาเห็นเข้าและขอไปตั้งแต่ตอนนั้น"
"เขาเอาไปใช้ได้ผลไหมครับ"
"เขามาบอกว่า ใช้ได้ดี ถูกยิงก็ไม่เป็นไร" ท่านหัวเราะ "อาตมาก็ยังงงๆ อยู่ เดี๋ยวนี้ตัวเขาไปอยู่ที่ประเทศลาว ไปตั้งแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระก็ไปด้วยไม่กลับจนบัดนี้"
"แปลก พระไม่ได้เสกแล้วขลังได้เหมือนกัน"
"อ้าวทำไมจะไม่ขลัง ผงหนังสือผูกก็เป็นอักขระธัมทั้งนั้น แถมยังมีเส้นเกศาของญาท่านดีโลดอีกด้วย อาตมาใส่เข้าไปยังงั้นแล้ว ถึงไม่เสกก็ขลังแน่ๆ จริงไหมล่ะ"
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธมฺโม นามเดิม สังข์ ปัจจุบันอายุ ๗๖ ปี* พำนักอยู่ที่วัดคำนกเปล้า ประมาณกิโลเมตรที่ ๑๖-๑๗ จากอำเภอวารินชำราบไปตามถนนสายพิบูลมังสาหาร ยังแข็งแรงพอจะสนทนากับใครต่อใครได้ ท่านเป็นลูกศิษย์ต้นของญาท่านดีโลด หรือพระครูวิโรจน์รัตโนบลอย่างแท้จริง และบูชากราบไหว้ญาท่านดีโลดประดุจพ่อบังเกิดเกล้าโดยไม่เคยเสื่อมคลาย
*ปัจจุบัน (๒๕๔๘) ยังมีชีวิตอยู่ อายุได้ ๙๖ ปี และย้ายมาอยู่วัดบ้านท่าช้าง
นี่ก็แวะข้างทางมาเล่าเรื่องหลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์จนได้เรื่องอย่างนี้
ต่อไปจะได้เลี้ยวกลับขึ้นถนน เล่าเรื่องญาท่านดีโลดบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม
เป็นอันสรุปได้ว่า คุณวิเศษของญาท่านดีโลด หรือพระเดชพระคุณวิโรจน์รัตโนบล นอกจากวิเศษด้านคันถธุระแล้ว วิปัสสนาธุระท่านก็วิเศษด้วย
คือหมั่นเพียรในการก่อสร้างซ่อมแซมศาสนสถานและหมั่นเพียรในการบำบัดทุกข์บำรุงชาวบ้านชาวเมือง จนแม้แก่เฒ่าเดินไม่ไหวก็อนุญาตให้หามไปได้
เรียกว่า เมตตาธรรมนั้นสุดจะประมาณไหว
คันถธุระที่สำคัญยิ่งที่สุดในชีวิตของท่านดีโลด ได้แก่การบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นผลให้พระธาตุพนมเด่นสง่าเป็นหัวใจแห่งศรัทธาคนลุ่มน้ำโขงสืบต่อมาจนทุกวันนี้
ญาท่านเป็นคนที่ ๔ ที่ได้ทำงานนี้
ไม่อาจทราบแน่ชัดว่า พระธาตุพนมถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่ คงประมาณสมัยได้ว่า สร้างขึ้นก่อนสมัยขอม เก่าแก่กว่าปราสาทหินทั้งหลายที่มีในประเทศไทยและเขมร
เรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่ง มีความว่า
"พระเจดีย์นครพนมสร้างขึ้นเป็นสถูปทางพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีเค้าศาสนาพราหมณ์เจือปน บรรดาเจดียสถานในพระพุทธศาสนาซึ่งสร้างในสมัยขอม ทั้งสร้างในเมืองเขมร และเมืองไทยที่สร้างพระสถูปเป็นประธาน มีแต่พระธาตุพนมแห่งเดียวหามีที่อื่นไม่ ทั้งรูปพรรณสัณฐานและลวดลายก็เป็นอย่างหนึ่งต่างหากออกจากแบบของขอม ชวนให้เห็นว่า น่าจะสร้างก่อนสมัยขอม คือสร้างแต่สมัยเมื่อมีประเทศอันหนึ่งซึ่งเรียกในจดหมายเหตุจีนว่า "ฟูนัน" คล้ายกับ "พนม" เป็นใหญ่อยู่ต่างหาก"
อาณาจักรฟูนัน ก็หาตัวผู้ทราบแน่ชัดไม่ได้ว่า เป็นอาณาจักรอะไร อย่างไร คงทราบแต่ใจความตามจดหมายเหตุของจีนบันทึกเอาไว้ คือ เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และเจริญสุดขีดทางภูมิภาคนี้ ไม่รู้จะระบุลงไปที่อาณาจักรใดที่ปรากฏประวัติแน่ชัด คงเป็นแต่เพียง "ฟูนัน" ลอยเคว้งคว้างอยู่ในจดหมายเหตุ
แต่ฟูนันก็ต้องมีตัวตน
ที่สับสนงุนงงก็ตรงชื่อ เพราะว่าลงเมื่อจีนได้เรียกชื่ออะไรแล้วก็เรียกเพี้ยนไปตามสำเนียงจีน
ต้องไม่ลืมอย่างหนึ่งว่า จีนเป็นประเทศเดียวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและต่อเนื่องมากที่สุดในโลก ดูเหมือนจะราวๆ ห้าพันปีมาแล้ว
ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดคือ สมัยอียิปต์รุ่งเรือง จีนก็รุ่งเรืองมาก่อนอียิปต์ พออียิปต์ล่มสลายไป แต่จีนก็ยังคงอยู่สืบมาจนทุกวันนี้ เรื่องของอียิปต์ จีนก็บันทึกไว้ในจดหมายเหตุมากมายเหมือนกัน นักประวัติศาสตร์สามารถค้นได้
ยุคโรมันมีอำนาจ จีนก็ยังได้ขายผ้าไหมให้ชาวโรมันเป็นว่าเล่น ได้เงินทองเข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ โรมันล่มสลายไปแล้วจีนก็ยังอยู่ จดหมายเหตุที่บันทึกเกี่ยวกับการค้า หรือบรรยายลักษณะต่างๆ ของบ้านเมืองโรมันก็ยังมีอยู่
ฟูนันก็เช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ขอมซึ่งใหญ่กว่าฟูนัน จีนก็มีบันทึกไว้หมด เพราะว่าได้เที่ยวเดินทางไปค้าขายกับใครต่อใครทั่วไปทั้งหมด
นิสัยค้าขายของชาวจีน ยังเห็นได้ชัดจนทุกวันนี้
ไปเดินเตร่แถวเยาวราชสักชั่วโมงก็จะเห็น
ชื่อที่จีนเรียก อียิปต์ โรมัน และขอม หรือประเทศอื่นๆ ค้นออก แต่ ฟูนัน ค้นไม่ออก เลยไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ รู้เพียงว่า ฟูนันอยู่แถวๆ ลุ่มน้ำโขงนั้นแหละ
ถึงงั้น นักประวัติศาสตร์หลายท่านก็ไม่ลดละ พากันพากเพียรสอบค้นจนได้ความเห็นต้องตรงกัน มาลงเป็นหลักในภายหลังว่า อาณาจักรฟูนัน ก็คือ อาณาจักรศรีโคตรบูร
ซึ่งจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้
เอาเป็นว่า ฟูนัน คือ ประเทศหนึ่งซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุของจีน ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์เอาไว้ และอาณาจักรนี้เก่ากว่าขอมก็แล้วกัน
พระองค์ท่านได้ทรงอุตสาหวินิจฉัยเข้าข้างไทยนครพนมด้วยกันแล้วว่า "ฟูนัน" คล้ายกับ "พนม"
เป็นที่พออกพอใจมากเกินจะพอ ออกอย่างนี้
จะเรียกว่าอาณาจักรพนมบ้างก็ได้ ใครจะทำไม
อย่างไรก็ตาม พระธาตุพนมเมื่อถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ย่อมจะต้องถูกกาลเวลาทำลายให้เสื่อมสภาพลง และก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อกันมาทุกสมัยจนถึงปัจจุบันนับได้ ๖ ครั้ง ครั้งสุดท้ายได้สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่รักษารูปพรรณสัณฐานเดิมไว้ เพราะว่าพระธาตุพนมได้ล้มลงดังที่ทราบกันแล้ว
ในอุรังคนิทาน ได้กล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมไว้เพียงแค่ ๔ ครั้ง เล่าถึงยุคของ ญาท่านดีโลดแล้วก็หมดกัน
พระธาตุพนมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก โดยพระยาสุมิตตธรรมแห่งมรุกขนคร ไม่ปรากฏเดือนปีที่บูรณปฏิสังขรณ์ และเมืองมรุกขนครอยู่ที่ไหน ไม่มีใครทราบแน่ชัด พระเทพรัตนโมลี (แก้ว กนฺโตภาโส) (ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระธรรมราชานุวัตร - webmater) ผู้รวบรวมและเรียบเรียงอุรังคนิทานนี้ ได้บอกแต่เพียงว่า เมืองนี้ร้างไปแล้ว แต่ในอุรังคนิทานฉบับเดียวกัน ก็ได้กล่าวว่า ภายหลังจากที่พระธาตุพนมเสร็จแล้ว ได้กลับไปอยู่เมืองมรุกขนครพักหนึ่ง ต่อจากนั้นก็ "ละเสียจากเมืองมรุกขนคร ไปเสวยราชสมบัติในเมืองร้อยเอ็ดประตูสืบพระศาสนา"
ร้อยเอ็ดประตู ก็ยินว่าเป็นเมืองร้อยเอ็ดทุกวันนี้ จริงเท็จอย่างไรไม่รู้
เดี๋ยวก่อนครับ นี่พลิกมาเจอเอาข้อความหนึ่ง ซึ่งพระเทพรัตนโมลี ผู้เรียบเรียงอุรังคนิทานได้กล่าวไว้เกี่ยวกับมรุกขนครอย่างน่าสนใจดังนี้
"เมืองมรุกขนครที่ล่มร้างนั้นได้แก่ บึงกลอง บึงน้อย บึงขี้เหล็ก ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม เดี๋ยวนี้ยังมีซากวัดปรากฏให้เห็นพิสูจน์ได้อยู่หลายวัด จนเท่าทุกวันนี้ ครั้นต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๔ มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เดินธุดงค์มาอาศัยอยู่วัดพระธาตุพนม มีนามว่า พระอาจารย์โส ฐิตธมฺโม ได้ชักชวนชาวบ้านโคกหัวขัว, พระกลางทุ่ง, พระกลางท่า และหนองหอย, บุ่งฮี มีเฒ่าหาญชนะเป็นต้น พากันไปจับจองสวนและตั้งบ้านเรือนขึ้นในบริเวณเมืองมรุกขนครร้างนั้น ได้ชื่อว่า บ้านหลักศิลามงคล เพราะถือเอาศิลาจารึกรูปใบสีมาซึ่งปักอยู่ในลานวัดเป็นนิมิต ส่วนบ้านธาตุน้อยศรีบุญเรืองที่ตั้งมาก่อนสัก ๙๐ ปีแล้วนั้น ก็อยู่ในเขตเมืองมรุกขนครเช่นเดียวกัน เดี๋ยวนี้เป็นบ้านใหญ่ยาวถึง ๔ กิโลเมตร ส่วนวัดร้างอีกวัดหนึ่ง อยู่ตอนใต้ริมฝั่งตะวันออก บึงกลอง ตรงหัวบึงขี้เหล็ก แต่เก่าเรียกว่า วัดสวนตาล เพราะมีต้นตาลชราสูงโอนเอน เกิดอยู่ในโบสถ์ร้าง พระครูศิลาภิรัติ (หมี) สร้างเป็นวัดขึ้น ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๘ พระครูพิทักษ์เจติยานุกิจ (จูม) ได้ตั้งขึ้นอีก คณะสงฆ์จึงให้ชื่อว่า "วัดมรุกขนคร" รักษาตำนานเมืองไว้"
ตามความเห็นของพระเทพรัตนโมลี (แก้ว) นั้นเห็นว่า มรุกขนครอยู่ตรงนี้เอง ไม่ไกลเกินสิบกิโลเมตรจากองค์พระธาตุพนม
วัดหลักศิลามงคลก็เป็นวัดของหลวงปู่บัว เตมิโย ที่เพิ่งมรณภาพไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (มรณภาพ เมื่อ ๕ พฤศิกายน ๒๕๓๑ - webmaser) นี่เอง
หลวงปู่บัว เป็นพระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานอีกรูปหนึ่งที่น่าศรัทธามาก เมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้มีลูกศิษย์เยอะแยะ ปลัดพิศาล มูลศาสตร์สาทร และผู้ว่าฯ สมพร กลิ่นพงษา คือหนึ่งในบรรดาผู้เคารพเลื่อมใส โดยเฉพาะท่านปลัดฯ ได้ไปสร้างศาลาการเปรียญถวายไว้เป็นอนุสรณ์ร่วมกับคุณหญิงมะลิ ที่วัดหลักศิลามงคล และศาลานี้ก็ได้ใช้เป็นที่เก็บศพของหลวงปู่จนกระทั่งถึงวันเผา
หลวงปู่บัวเป็นลูกศิษย์อีกคนหนึ่งของญาท่านดีโลด ดูเหมือนจะฝากตัวกับญาท่านดีโลด สมัยที่ท่านเดินทางไปบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมนั่นเอง
ต่อมาพระธาตุพนมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นครั้งที่ ๒ ระหว่างรัชกาลพระเจ้าธรรมิกราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต คือ เมืองเวียงจันทน์เดี๋ยวนี้ พระเจ้าธรรมิกราชสืบวงศ์มาจาก ขุนบรมมหาราช ถ้านับจากพระเจ้าไชยเชษฐา ซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองศรีสัตนาคนหุต หรือเวียงจันทน์ พระเจ้าธรรมิกราชก็จะเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๕๗ ถ้านับจากแผ่นดินของพระเจ้าสุมงคลโพธิสารก็เป็นลำดับที่ ๖
แต่ผู้ลงมือบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ไม่ใช่พระเจ้าธรรมิกราช
เจ้านครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตรบูรเป็นผู้ลงมือ
ขณะนั้น ศรีโคตรบูรเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีสัตนาคนหุต ต่อมาภายหลัง คนทั้งเมืองศรีโคตรบูรได้พากันอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งรกรากในสถานที่แห่งใหม่ ตั้งชื่อว่า เมืองนครพนม ซึ่งก็คือจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน เมื่อย้ายกันมาทั้งเมืองอย่างนั้น เมืองศรีโคตรบูรณ์ก็กลายเป็นเมืองร้างจนบัดนี้ คงเหลือแต่เพียงพระธาตุศรีโคตรบูรตั้งอยู่เป็นที่รำลึกเท่านั้น
ศิลาจารึกการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมของเจ้านครหลวงพิชิตฯ ที่ขุดพบที่ใต้ฐานพระในหอพระแก้ว เคยถูกนำไปติดตั้งไว้ที่มุมกำแพงด้านในทางทิศเหนือขององค์พระธาตุ ปัจจุบันนี้จะยังอยู่ที่เดิมหรือไม่ ผู้เขียนไปวัดพระธาตุพนมมาหลายครั้ง แต่ลืมสังเกตดูทุกครั้งเหมือนกัน
เจ้านครหลวงพิชิตฯ ได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมในปี พ.ศ. ๒๑๓๔ ไปสำเร็จเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. ๒๑๖๕ รวมเวลาทั้งหมด ๒๗ ปี
ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมครั้งที่ ๓ เป็นผลงานของพระราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ ที่รู้จักกันไปทั่วว่า พระครูขี้หอม พระราชครูฯ องค์นี้เป็นพระเถระองค์สำคัญในนครเวียงจันทน์ ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเป็นกษัตริย์ โดยเริ่มงานที่พระธาตุพนมในปี ๒๒๓๓-๒๒๓๕ รวมเวลาทั้งสิ้น ๓ ปี ก็แล้วเสร็จ
พระราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ พระครูขี้หอม เป็นพระอาจารย์สอนทั้งพระปริยัติและวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่คฤหัสถ์บรรพชิตในนครเวียงจันทน์ สอนตั้งแต่เจ้านายชั้นสูงในราชวงศ์กษัตริย์ลงมาถึงสามัญชน เรื่องราวของพระครูขี้หอมนี้น่าสนใจมาก ซึ่งในอุรังคนิทานได้กล่าวถึงท่านไว้ว่า
"ก็แหละในนครเวียงจันทน์ขณะนั้น มีพระเถรสำคัญอยู่รูปหนึ่ง เป็นผู้มีอภินิหาร เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นที่ยกย่องนับถือของพระเจ้าเวียงจันทน์องค์ก่อนมาก เป็นผู้มีอิทธิพลจนมีผู้นับถือและศิษย์โยมมากมาย พระเถระองค์นี้เดิมเป็นศิษย์พระครูลึมบอง อยู่กระลึมเมืองพาน ได้เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์พระครูยอดแก้ว สังฆนายกเวียงจันทน์ ตั้งแต่อายุ ๑๓-๑๔ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๑๘๖"
ความตอนนี้ไม่ได้กล่าวเกินเลยเพราะพระครูขี้หอมมีอิทธิพลจริง
มีมากถึงขั้นเขย่าบัลลังก์กษัตริย์สั่นวูบวาบได้
ต่อไปนี้จะเล่าเรื่องพระครูขี้หอมแต่ย่อๆ พอได้ความ
สมัยพระครูขี้หอมเข้ามาฝากตัวกับพระครูยอดแก้ว สังฆนายกเวียงจันทน์ ยังเป็นสามเณรน้อยอยู่ แต่ข่าวลือว่าท่านเป็นผู้มีเชาว์ปัญญา เรียนพระไตรปิฎกได้เร็วเป็นพิเศษ ได้ไปถึงพระกรรณพระเจ้าเวียงจันทน์ และเมื่อทรงพบตัวแล้ว ก็ทรงเห็นจริงดังข่าวลือ พระองค์จึงอภิเษกท่านขึ้นเป็น ราชาจัว และทรงรับอุปถัมภ์บำรุงเป็นอย่างดี
จัว หมายถึง เณร ก็คือ ราชาแห่งเณร
พระเจ้าเวียงจันทน์ทรงเพิ่มศรัทธาสามเณรรูปนี้ยิ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คือเมื่ออายุท่านครบบวชแล้ว ก็ทรงเป็นธุระบวชให้พร้อมๆ กับสามเณรรูปอื่น รวมเป็นพระบวชใหม่ทั้งหมด ๕๐๐ รูป พิธีบวชทำกันตรงท่าน้ำเมืองเวียงจันทน์ โดยต่อแพลอยอยู่ในแม่น้ำโขง พอพิธีบวชเสร็จสิ้น แพก็ล่ม พระรูปอื่นๆ เปียกน้ำหมด แต่พระครูขี้หอมรูปเดียวไม่เปียก คนทั่วไปที่ได้เห็นก็เกิดศรัทธาท่านไปด้วยกัน
ครั้นพรรษาพระได้ ๑ พระเจ้าเวียงจันทน์ก็ทรงอาราธนาท่านไปอยู่วัดโพนสะเม็ก ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระครู คนทั่วไปจึงเรียกท่านว่า พระครูโพนสะเม็ก สืบมา
และได้กลายเป็นพระเถระองค์สำคัญจนตลอดรัชสมัยพระเจ้าเวียงจันทน์
ต่อมาพระเจ้าสุริยวงศ์ธรรมิกราช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบจากพระเจ้าเวียงจันทน์ได้ระยะหนึ่งก็เกิดจลาจล ความมีว่า
"พระมเหสีเจ้าชมพูกำลังทรงพระครรภ์แก่อยู่ ได้พากุมารโอรสอายุ ๑๓ ปี นามว่า เจ้าองค์หล่อ หนีไปพึ่งท่านพระครูโพนสะเม็ก ท่านเห็นว่าไม่ปลอดภัยจึงมอบให้มหาดเล็กคนสนิทและศิษย์โยมมี แสนทิพย์นาบัว เป็นต้น พาเอาเจ้าองค์หล่อหนีไปพึ่งพระเจ้ากรุงเวียดนามเมืองเว้"
จะเห็นได้ว่า พระครูขี้หอมมีอิทธิพลและบารมีมากจริงๆ มากถึงขนาดพระมเหสีเจ้าชมภูเลือกมาพึ่งหลบภัย
เจ้าชมพูก็คงจะทรงเป็นเจ้านายในราชวงศ์ชั้นสูงเสมอจะครองราชย์สมบัติได้เหมือนกัน ส่วนจะขัดกันกับพระเจ้าสุริยวงศ์ธรรมิกราชด้วยเรื่องอะไรไม่ทราบ คงใกล้ๆ กับเรื่องชิงราชสมบัตินั่นแหละ
แต่พระครูขี้หอมจะรักษากุมารและพระมเหสีเอาไว้ในวัดโพนสะเม็กหน้าตาเฉยไม่ได้ จึงจัดส่งพระกุมารไปอยู่ในที่ปลอดภัยคืออยู่กับพระเจ้ากรุงเวียดนาม และพระเจ้ากรุงเวียดนามก็คงจะทรงมีศรัทธาเลื่อมใสท่านพระครูขี้หอมไม่น้อย เพราะว่าเมื่อพระอาจารย์ฝากคนมาอยู่ด้วย ก็ยินดีรับเอาไว้ ส่วนพระมเหสีท่านก็จัดส่งตัวไปซ่อนที่ภูสหง้อคำ อยู่ลึกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปด้านหลังนครเวียงจันทน์ และก็ทรงมีประสูติกาลพระโอรสที่ภูสหง้อคำนั่นเอง พระโอรสองค์นี้ทรงมีพระนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ซึ่งภายหลังได้ครองนครจำปาศักดิ์ หัวเมืองฝ่ายใต้ ประเทศลาว เมืองนี้อยู่ทางด้านจังหวัดอุบลราชธานีนี่เอง ข้ามช่องเม็กผ่านเมืองปากเซไปก็ถึง
เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นเหตุให้พระเจ้าเวียงจันทน์องค์ปัจจุบันเกิดระแวงในตัวท่านพระครูขี้หอม และท่านพระครูขี้หอมก็รู้เรื่องระแวงนี้ด้วย
เหตุจากความระแวงส่งผลให้พระครูขี้หอมหลบเรื่องยุ่งๆ ข้ามโขงมาบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมในที่สุด
ท่านพระครูคงจะคิดแล้วว่า ถ้าเอาตัวเองไปอยู่ที่อื่นสักพัก ให้พ้นหูพ้นตา เรื่องระแวงสงสัยก็น่าจะคลี่คลายได้ และไหนๆ จะไปให้พ้นเมืองเวียงจันทน์แล้ว จะปล่อยพระมเหสีไว้ที่ภูสหง้อคำตามลำพังไม่ได้ เพราะว่า ท่านก็คงรับธุระเลี้ยงดูอยู่ เมื่อไม่อยู่แล้ว ต้องอดอยากถึงลำบากแน่ จึงรับพระมเหสีมาบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเสียด้วยกัน การณ์ปรากฏว่า สานุศิษย์ญาติโยมทั้งหลาย ติดตามท่านมาสู่พระธาตุพนมมากมายเป็นประวัติการณ์ คือมีผู้ติดตามมามากกว่า ๓,๐๐๐ คน
คนจำนวนขนาดนี้ซ่อมแซมพระธาตุได้สะดวกมาก และปรากฏว่าเพียง ๓ ปี ก็เสร็จบริบูรณ์
ระหว่างเดินทางจากเวียงจันทน์มาพระธาตุพนม ผ่านตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก (เดี๋ยวนี้คือบ้านพันลำ อยู่เหนือที่ว่าการอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย) พระครูขี้หอมเห็นเป็นสถานที่น่าอยู่และปลอดภัยดี หรือไม่ก็อาจพบลูกศิษย์ที่เข้มแข็ง มีอำนาจพอจะรักษาพระมเหสีกับพระกุมารหน่อกษัตริย์ ไว้ได้โดยสวัสดิภาพ จึงได้ให้พระมเหสีกับพระโอรสพำนักอยู่ที่นี่ ส่วนท่านและคนอื่นๆ เดินทางสู่พระธาตุพนมต่อไป
ภายหลังซ่อมพระธาตุเสร็จแล้ว พระครูขี้หอมได้แบ่งคนจำนวนหนึ่งไว้อุปัฏฐากพระธาตุ ส่วนท่านและคนที่เหลืออพยพล่องแม่น้ำโขงไปอยู่เมืองเขมรพักหนึ่ง แล้วย้ายกลับมาประเทศลาว แต่ไม่ยอมกลับไปอยู่เวียงจันทน์ หากแต่เลือกอยู่นครจำปาศักดิ์แทน
นครจำปาศักดิ์ขณะนั้นมีเจ้าปกครองเป็นผู้หญิง (ไม่ทราบชื่ออะไร) พอท่านพระครูโพนสะเม็ก หรือ พระครูขี้หอมมาถึง ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ถึงกับยกบ้านเมืองให้พระครูขี้หอมปกครองแทน ซึ่งท่านก็รับไว้ ไม่ขัดศรัทธาอยู่ ๔ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๒๕๒-๒๒๕๖ แต่พระจะปกครองบ้านเมืองไปตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร มีมิจฉาชีพเกิดขึ้น จะลงโทษหรือปราบปรามท่าไหน ผิดวิสัยพระ ขืนทำก็มัวหมองแก่ผ้าเหลืองเปล่าๆ และก็ปรากฏว่ามีอันธพาลโจกโจร ตั้งแก๊งค์ขึ้นเป็นอันมาก
คงได้ใจว่าถูกตำรวจจับแล้วพระครูก็ให้ปล่อยกระมัง
เมื่อเป็นเช่นนี้ พระครูขี้หอมจึงให้คนไปรับเจ้าหน่อกษัตริย์ โอรสพระมเหสีเจ้าชมพูจากตำบลงิ้วพันลำโสมสนุกมาครองเมืองจำปาศักดิ์แทน และได้ชื่อว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร
ชื่อนี้ก็คงเป็นพระครูขี้หอมตั้งให้เพราะฟังดูเป็นพระชอบกล
ส่วนท่านก็ได้รับการสถาปนาจากเจ้านครองค์ใหม่ให้เป็นเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก สังฆนายกแขวงนครจำปาศักดิ์ ปกครองคณะสงฆ์ให้ถูกวิสัยพระไป
อาจมีผู้สงสัยว่า เมื่อราชตระกูลเจ้าชมภูซึ่งขัดแย้งกับพระเจ้าสุริยวงศ์ธรรมิกราชแห่งเวียงจันทน์มาเป็นใหญ่ทางหัวเมืองฝ่ายใต้อย่างนี้จะไม่เป็นปัญหาหรือ
ไม่เป็น เพราะว่า เจ้าองค์หล่อที่ท่านพระครูขี้หอมส่งไปอยู่กับพระเจ้ากรุงเวียดนามได้หวนกลับมาเวียงจันทน์ และช่วงชิงราชสมบัติไว้ได้เรียบร้อยแล้ว และทรงกลายเป็นกษัตริย์เวียงจันทน์พระองค์ใหม่ ทรงพระนามว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ บางทีเรียกว่า พระไชยองค์แว ชื่อหลังนี้ก็คงติดมาจากเมืองเว้เวียดนามนั้นเอง
บั้นปลายของราชตระกูลนี้จึงมั่นคงแข็งแรงหายห่วงไป
พระครูขี้หอมก็ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบสุข และมรณภาพที่จำปาศักดิ์ด้วยโรคชราในปี พ.ศ. ๒๒๖๓ อัฐิของท่านพระครูขี้หอมถูกนำมาบรรจุไว้ในพระสถูปที่วัดพระธาตุพนม โดยก่อขึ้นใหม่สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของท่านโดยจำเพาะ เรียกว่า "ธาตุท่านโพนสะเม็ก" หรือ "ธาตุท่านพระครูขี้หอม" หรือ "ธาตุพระอรหันต์ภายสร้อย" ทุกวันนี้ยังอยู่เป็นปกติดี ขณะที่ท่านมรณภาพนั้นมีอายุได้ ๙๐ ปี
ตั้งแต่เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กหรือพระครูขี้หอมบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเป็นครั้งที่ ๓ แล้วนั้น พระธาตุพนมก็ร้างคนแตะต้อง จนอีก ๒๐๙ ปีต่อมา พระครูวิโรจน์รัตโนบล หรือ ญาท่านดีโลดก็มาถึงและลงมือทำงานนี้เป็นคนที่ ๔
ก่อนการมาถึงของญาท่านดีโลด หรือพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้ปรากฏว่า องค์พระธาตุพนมมีสภาพเศร้าหมองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอุรังคนิทานที่เรียบเรียงโดย พระเทพรัตนโมลี (แก้ว กนฺโตภาโส) ได้บรรยายสภาพร้างไว้อย่างชนิดที่มองเห็นถนัดดังนี้
"ลุจุลศักราช ๑๒๖๓ ปีอ้วงเป้า พุทธศักราช ๒๔๔๔ ปีฉลู เป็นรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ แห่งจักรีวงศ์ ครองกรุงรัตนโกสินทร์ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖) * (ปี ๒๔๔๔ อยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ผู้เขียนคงจะเขียนผิด - webmaster) องค์พระธาตุพนมของเรานี้คร่ำคร่าเศร้าหมองมาก จนปรากฏว่าตามองค์พระธาตุมีต้นโพธิ์ต้นไทรขนาดเท่าแขนลงมาจับเกาะอยู่ตามซอกอิฐปูนทั่วไป ไม่มีผู้ใดจะมีบุญญาภินิหารสามารถซ่อมแซมได้ ผู้ใดริเริ่มจะทำขึ้นเวลาเกิดเจ็บป่วยก็โทษเทวาอารักษ์พระธาตุว่ามิให้ทำ แม้ชั้นที่สุด รูปและแผ่นศิลาที่ตั้งอยู่ในที่ต่างๆ ตามบริเวณพระธาตุก็พากันหวาดระแวงไปหมดไม่กล้าปีนป่ายเหยียบย่ำเลย เพราะปรากฏว่าผู้กระทำเช่นนั้นได้รับโทษทันตาเห็น ต้องเสียเครื่องเซ่นคาวหวานเป็นพลีกรรม ชาวบ้านชาววัดถือเช่นนี้กันหมด ถึงกับพากันบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน จึงไม่กล้าแตะต้องอันใด
แม้แต่วิหารใหญ่ที่เล่ากันว่า เจ้าอนุวงศ์ปฏิสังขรณ์ไว้อย่างสวยงาม จนเล่ากันว่า ผู้ใดเข้าไปในนั้นแล้วจะเหลืองเป็นสีทองหมดทั้งตัว ซึ่งเรียกกันว่าหอพระแก้ว บัดนี้ก็ได้พังทลายลงเป็นกองอิฐปูนไปหมด ลานพระธาตุก็มีหญ้าขัดหญ้าคาเกิดตามซอกอิฐปูน ซะทายปูก็ผุพังรกเรื้อแทบจะหาที่นั่งกราบไหว้มิได้ องค์พระธาตุพนมแลวัดในยุคนี้เป็นยุคที่เสื่อมโทรมมาก เพราะแต่เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กบูรณะมาห่างกันถึง ๒๐๙ ปี"
ในขณะที่พระธาตุพนม เสื่อมโทรมเต็มที่นั้น ประเทศลาวก็มีแต่เรื่องเดือดร้อนวุ่นวาย ดังความว่า
"ในตอนหลังนี้ก็มักเกิดศึกสงคราม ผู้คนอพยพแตกตื่น เจ้านายก็ประสบภัยเช่นเดียวกัน จึงไม่มีแก่ใจบำรุงพระศาสนามีองค์พระธาตุพนมเป็นต้น"
ต้องอธิบายว่า พระธาตุพนมได้รับการทำนุบำรุงโดยชาวลาวเป็นหลัก กษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงหรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายลาวจะเป็นผู้ทำนุบำรุงพระธาตุพนมมาโดยตลอด ไม่เคยปรากฏว่า ฝ่ายไทยจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวแม้แต่ครั้งเดียว เมื่อในระยะหลังเกิดศึกเล็กศึกใหญ่หาความสงบไม่ได้ องค์พระธาตุก็ต้องหม่นหมองลงไป ซึ่งไม่แต่จะเป็นองค์พระธาตุพนมเท่านั้นที่ทรุดโทรม วัดวาอารามอื่นๆ ที่ลาวอุปถัมภ์ ทั้งบนริมโขงฝั่งขวาซึ่งก็คือฝั่งไทย และริมโขงฝั่งซ้ายซึ่งก็คือแผ่นดินลาวนั่นเองก็ชำรุดทรุดโทรมไปด้วยกัน โดยเฉพาะฝั่งไทยแล้วจะทรุดโทรมยิ่งกว่า เพราะในเวลานั้น ไทยลาวเริ่มจะแบ่งเขตแดนชัดเจนยิ่งขึ้น ฝรั่งเศสก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในแถบลุ่มน้ำโขงตอนนั้น ลาวก็ไม่อยู่ในฐานะสบายอกสบายใจพอจะทำนุบำรุงพระธาตุพนมที่เห็นชัดขึ้นทุกวันว่าเป็นของไทยไปแล้ว แถมฝรั่งเศสเมื่อเข้ามาควบคุมประเทศลาวก็จะเปลี่ยนคนลาวให้เป็นฝรั่งเศสไปเสียอีก พระจากฝั่งไทยที่เคยข้ามไปธุดงค์ฝั่งลาวระยะหลังๆ ไปกันไม่ใคร่จะได้ โอกาสที่จะประจันหน้ากับฝรั่งเศสมีมากพอๆ กับประจัญเสือสางนางไม้ และดูเหมือนว่าเจอกับฝรั่งเศสจะมีอันตรายมากกว่า เพราะมักปรากฏว่า คนลาวพื้นบ้าน เมื่อเห็นพระจากฝั่งไทยแบกกลดเดินท่อมๆ เข้าไปเมื่อไหร่ เป็นอันต้องช่วยกันห้ามปรามไม่ให้ไปต่อ ทั้งยังขอให้กลับหลังแทบทั้งนั้น
จึงกล่าวได้ว่า ในสมัยนั้นศาสนาทั้งสองฝั่งโขงถึงกาลเสื่อมโทรมลงทั่วกัน อย่างเช่น พระธาตุใหญ่เมืองหนองคาย ที่วัดธาตุ ก็ถึงกาลพังทลายลงแม่น้ำโขง ทั้งๆ ที่เคยได้รับการทำนุบำรุงโดยประเทศลาวตลอดมา
พระธาตุใหญ่เมืองหนองคาย สันนิษฐานว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนที่เป็นฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า สร้างสมัยหลังพระธาตุพนม แต่พังลงแม่น้ำโขงก่อน คือ พังลงในปี ๒๓๙๐ ระหว่างสงครามเวียงจันทน์-กรุงเทพฯ และยังมีสงครามแย่งดินแดนระหว่างไทยกับญวนต่อเนื่องมาอีกด้วย หลังจากนั้น ลาวก็ไม่เคยได้รับความสงบ จนกระทั่งฝรั่งเศสได้เข้ามาเต็มตัว
พระธาตุใหญ่เมืองหนองคายที่พังลงมานั้น เป็นสัญญาณบอกความเสื่อมโทรมของพระศาสนาในบ้านเมืองที่มีแต่ศึกสงคราม ขอให้สังเกตเถิดว่า บ้านเมืองใดก็ตาม ถ้ามีสงครามแล้วศาสนาจะเสื่อม เพราะคนมัวแต่จะรบพุ่งรักษาเมืองรักษาชีวิตของตนจนไม่มีเวลาให้พระศาสนา แต่ถ้าบ้านเมืองมีความสุขสงบสบายแล้ว ศาสนาจะบรรเจิดเสมอ เพราะว่าเมื่อคนมีความสุขกายสบายใจ ก็มักหันหน้ามาทำบุญกุศลได้สะดวกดี
จะเห็นได้ว่า พระธาตุพนมหรือวัดพระธาตุพนม ได้มาถึงกาลเสื่อมโทรมอย่างแท้จริง คือ มีสภาพไม่ผิดจากวัดร้างทั่วๆ ไป เข้าไปทุกที
ไหนจะชำรุดทรุดทลาย ไหนจะร้างคนเข้ามากราบไหว้บูชา เพราะว่าพากันหวาดกลัวไปจนหมดทุกคน ไม่ว่าพระว่าฆราวาส
ส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมจนดูเศร้าหมองนั้น เข้าใจว่าจะเป็นแต่เฉพาะในบริเวณกำแพงแก้วพระธาตุฯ และโบสถ์วิหารข้างเคียง ซึ่งเป็นศาสนสถานหลักของวัดพระธาตุพนม ส่วนที่เป็นกุฏิที่พักสงฆ์ที่อยู่นอกกำแพงแก้ว คงยังเป็นที่จะพอดูได้อยู่บ้าง เนื่องจากว่ายังมีพระสงฆ์พักอาศัยเป็นปกติ
แม้พระสงฆ์ยังมีอยู่ในวัดพระธาตุพนมก็เหมือนไม่มี เพราะพากันหวาดกลัวภัยอันจะเกิดแก่ตน คือ กลัวที่จะต้องเป็นผู้เข้าไปในกำแพงแก้วองค์พระธาตุ
เมื่อพระไม่กล้า ชาวบ้านยิ่งไม่กล้ากันใหญ่ ต้นไม้ใหญ่น้อยก็ขึ้นรกรุงรังเต็มองค์พระธาตุ หญ้าขัดหญ้าคาก็งอกงามตามซอกพื้นกระเบื้องปูลานรอบพระธาตุโดยไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดเลย เป็นเหตุให้องค์พระธาตุดูน่ากลัวยิ่งขึ้นและชำรุดเร็วยิ่งขึ้น
เฉพาะความหวาดกลัวองค์พระธาตุนี้ พระเทพรัตนโมลีได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า
"ความเข็ดยำในพระมหาธาตุเจ้านั้น ถ้าสมจริงก็มีทางที่จะสันนิษฐานได้ว่า โบราณวัตถุที่สำคัญในทางศาสนานั้น เมื่อมนุษย์ขาดสมรรถภาพในการคุ้มครองรักษาแล้ว ชะรอยเทพเจ้าผู้มีความห่วงใยในพระศาสนาทั้งหลาย จะพากันเข้าพิทักษ์เสียเอง เมื่อผู้ใดมีบุญวาสนาสมควรจะทำแล้วก็หวงแหนไว้ จะเป็นอย่างนี้ก็ได้
ฉะนั้นจึงปรากฏว่ามักมีอันตรายแก่ผู้ขาดความเคารพเสมอ จนเป็นธรรมเนียมประจำของชาวธาตุสืบมาแต่บรรพบุรุษถึงบัดนี้ในการเคารพพระบรมธาตุ และถือเป็นสรณะประจำชีวิตและครอบครัวเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็บนบานด้วยปราสาทผึ้งผ้าไตร จะไปไหนมาไหนก็ต้องขอเอาขี้ผึ้งแลไคลพระธาตุไปเป็นเครื่องราง บนบานให้มีความสวัสดี วิธีนี้ก็เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้องค์พระธาตุเป็นอันมากเหมือนกันฯ"
"ความเข็ดยำ" หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ใครล่วงละเมิดแล้วอาจได้รับความเสียหาย หรือมีอันตรายเกิดแก่ตนเอง ซึ่งจะต้องมีความเคารพยำเกรงในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ บางทีก็เรียกว่า "เข็ดขวาง"
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคนเรามีความหวาดกลัวถึงที่สุดแล้ว มักจะเกิดความเคารพยำเกรงติดตามมาเสมอ เมื่อเคารพยำเกรงแล้วก็เกิดการยึดถือเอาเป็นที่พึ่ง ครั้นเห็นว่าพึ่งได้จริงๆ ก็พากันปฏิบัติเช่นนั้นมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดก็เกิดเป็นประเพณี
"จะไปไหนมาไหนก็ต้องขอเอาขี้ผึ้งแลไคลพระธาตุไปเป็นเครื่องราง บนบานให้เกิดความสวัสดี"
เหรียญพระธาตุพนมรุ่นปี ๒๔๘๒ ซึ่งปลุกเสกโดยญาท่านดีโลดก็ยังมีไคลพระธาตุหรือเกร็ดพระธาตุบรรจุอยู่ด้านหลังเหรียญทุกเหรียญ
ไคลพระธาตุพนมหรือเกล็ดพระธาตุ ก็คือผิวขององค์พระธาตุที่ผุกร่อนหรือที่ล่อนออกมาแล้วนั่นเอง
แต่ว่าความหวาดกลัวและความเคารพในองค์พระธาตุพนมของชาวบ้านเมืองแถบนั้นออกจะพิกลอยู่บ้าง เพราะว่าแม้จะกลัวจริงเคารพจริงแต่ไม่มีใครกล้าในเรื่องที่ถูกที่ควร
เรื่องที่ถูกที่ควร คือ เรื่องเข้าไปตัดไม้ดายหญ้าให้สะอาดสะอ้านน่าดูแก่สถานที่เคารพ
ตั้งเจตนาจะเข้าไปทำความสะอาดให้แก่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างพระธาตุพนมแล้ว เทพยดาอารักษ์ที่ไหนจะมีใจเล่นงานถึงขั้นเจ็บป่วยได้ลงคอ มีแต่จะอนุโมทนาสาธุการเท่านั้น แต่ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกครับ ความกลัวไม่เข้าใครออกใคร ลงกลัวขึ้นถึงขีดสุด เหตุผลก็ดูจะอ่อนกำลังไป
ในที่สุดแล้ว พระธาตุพนมยังคงจะต้องได้รับการซ่อมแซมทำนุบำรุงอยู่ดี ซึ่งอุรังคนิทานได้เล่าถึงปฐมเหตุที่พระครูวิโรจน์รัตโนบลจะได้เดินทางมาที่นี่ดังนี้
"ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๔๔๔ ที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้ มีพระเถระเมืองอุบลเดินธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่ป่ารอบสะพังโบราณในบริเวณวัดพระธาตุพนมของเรานี้ คือพระครูสีทา วัดบูรพาและพระอาจารย์หนู รูปหลังนี้ต่อมาได้เป็นพระปัญญาวิศาลเถรเจ้า วัดสระปทุม กรุงเทพฯ ท่านและคณะได้มาเห็นความเสื่อมโทรมในองค์พระธาตุ ก็เกิดความสลดใจใคร่ที่จะซ่อมแซม แต่มาคิดเห็นว่าอำนาจวาสนาของตนไม่เพียงพอ จึงแนะนำให้ทายกชาวธาตุพนมลงไปอาราธนาเอาท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง อุบล แต่เมื่อท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช ขอให้ท่านขึ้นมาเป็นหัวหน้าพาซ่อมพระบรมธาตุ"
พระครูสีทาที่กล่าวมาถึงคือ พระอุปัชฌาย์สีทา ชัยเสโน ส่วนพระอาจารย์หนู รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ท่านเป็นคู่หูเดินธุดงค์กับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล หลายครั้ง นามฉายาของท่านคือ ฐิตปญฺโญ ส่วนคณะของท่านทั้งสองที่ไม่ได้บอกว่ามีใครบ้าง จะบอกในที่นี้เสียเลยว่า เป็นพระเถระที่สำคัญยิ่งสองรูป คือ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต นั่นเอง
ในขณะนั้น พระอาจารย์เสาร์กับพระอาจารย์มั่นยังไม่เป็นที่รู้จักแก่ผู้บันทึกเรื่องราวตอนนี้ สองท่านเพิ่งมาปรากฏชื่อเสียงเรียงนามในสมัยหลัง
ภายหลังจากที่คณะพระธุดงค์จากเมืองอุบลฯ ให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านเมืองพระธาตุพนม ให้ไปอาราธนาท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล ขึ้นมาแล้ว ปรากฏว่า
"ท่านพระครูก็ยินดีรับขึ้นมาตามความประสงค์ ท่านพระครูรูปนี้ทรงคุณธรรมหลายประการคือ มีขันติ วิริยะกล้าแข็ง อดทน บึกบึน มีใจสุขุม เยือกเย็นโอบอ้อมอารี เมตตากรุณาแก่คนทุกจำพวก รู้จักสงเคราะห์อนุเคราะห์อันโตชนและบริวารชน รู้จักพูดจาปราศรัยเอาใจคนทั่วไป เมื่อผู้ใดเข้าคบหาก็เกิดความเคารพไม่จืดจาง จนได้นามนิมิตว่า "ท่านพระครูดีโลด" จากประชาชนทั้งหลาย เพราะไม่ว่าใครจะทำอันใดพูดอันใดก็ว่าดีทั้งนั้นไม่ขัดคอ คุณพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่านเป็นช่างเขียนภาพและลวดลาย ช่างอิฐปูนและก่อสร้าง จึงเหมาะสมในการมาอำนวยการซ่อมแซมพระบรมธาตุยิ่งนักฯ..."
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธมฺโม ได้เล่าว่า ผู้ที่เดินทางมาอาราธนาท่านดีโลดขึ้นไปซ่อมพระธาตุไม่ทราบว่าชื่ออะไร แต่เป็นผู้มีตำแหน่งในฐานะ เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจัน ญาท่านดีโลดรับอาราธนาแล้วได้เดินทางขึ้นไปภายหลังจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองอุบลฯ ระหว่างปี ๒๔๓๖-๒๔๕๓ เพิ่งจะทรงเสด็จปราบกบฏ การเดินทางนั้นใช้เวลา ๘ วัน ๘ คืน จึงจะถึงโดยพาพระไปด้วย ๔๐ องค์ เป็นการเดินทางโดยอาศัยเกวียนและเท้าเปล่าเป็นหลัก เพราะว่าไม่มีรถยนต์อย่างเช่นสมัยหลังๆ นี้
(ตำแหน่งเจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจัน หรือเมืองแสนเมืองจัน คนสมัยนี้ไม่รู้จักกันแล้ว ต้องอธิบาย คนไทยสองฝั่งโขง สมัยนั้นใกล้ชิดกับประเทศลาวมากกว่า ธรรมเนียมการแกครองก็ได้แบบอย่างตามนครเวียงจันทน์ เมื่อฝั่งขวามาขึ้นประเทศไทยเต็มตัวแล้ว ทางกรุงเทพฯ ยังอะลุ้มอล่วยให้หัวเมืองทางนี้ปกครองกันอย่างเดิมไปก่อน แม้ว่าระเบียบการปกครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้เปลี่ยนแปลงตามแบบกรุงเทพฯ ในปี ๒๔๓๗ แล้วก็ตามแต่คนในภูมิภาคนั้น ก็ยังคงติดปากที่เรียกตำแหน่งในการปกครองต่างๆ ตามอย่างเดิม
เมืองแสนเมืองจันแต่เดิมเป็นตำแหน่งของเลขานุการเจ้าเมือง ทำหน้าที่เป็นตุลาการ ช่วยเจ้าเมืองพิจารณาอรรถคดี และทำหน้าที่เป็นตำรวจจับกุมโจรผู้ร้าย กับเป็นผู้เก็บรักษาอาวุธสำหรับบ้านเมือง แต่เมื่อมาถึงสมัยหลัง ๒๔๓๗ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองเป็นแบบกรุงเทพฯแล้ว คือสมัยที่เมืองแสนเมืองจันมาอาราธนาญาท่านดีโลด ไปซ่อมพระธาตุตำแหน่งนี้คงจะมีฐานะเท่ากำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น
ตำแหน่ง "เจ้าเมือง" ตามแบบเดิม มีฐานะเป็นเจ้าเมืองจริงๆ เป็นได้ตลอดชีพ เพราะว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อถูกเปลี่ยนให้มาปกครองแบบกรุงเทพฯ แล้ว เจ้าเมืองก็มีฐานะแค่นายอำเภอ และก็เรียกว่า "นายอำเภอ" มาจนทุกวันนี้ ตำแหน่งอุปฮาด ก็กลายเป็น ปลัดอำเภอ ตำแหน่งราชวงศ์เป็น สมุห์อำเภอ และตำแหน่งราชบุตร ก็คือ เสมียนอำเภอ
เมืองแสนเมืองจัน จึงเป็นกำนันและนายอำเภอไปอย่างนั้น)
อุรังคนิทานได้กล่าวว่า
"ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบลขึ้นมาถึงพระธาตุพนม ณ วันเดือนอ้าย ข้างขึ้น (เข้าใจว่าจะเป็นเดือนธันวาคม ปลายปี ๒๔๔๔ นั่นเอง) ขณะแรกท่านได้ประชุมหัวหน้าชาวบ้านและชาววัดว่า จะให้ท่านพาทำอย่างใด ชาวบ้านทั้งหลายบอกว่าให้ท่านปูลานพระธาตุพนมมีที่กราบไหว้บูชาเท่านั้น
ท่านบอกว่า ถ้าเราไม่ได้ทำการซ่อมแต่พื้นดินถึงยอดและแต่ยอดลงถึงพื้นดินแล้วจะไม่ทำ
เขาทั้งหลายไม่ยอม พูดขัดขวางโดยประการต่างๆ เขาหาว่าท่านพระครูเป็นพระไม่ตั้งอยู่ในธรรมวินัย เพราะจะรื้อพระเจดีย์ ตัดโพธิศรี ลอกหนังพระเจ้าเป็นบาปนัก และถ้าปล่อยให้ทำดังท่านพระครูต้องการนั้น เทพาอารักษ์ที่พิทักษ์พระบรมธาตุก็จะรบกวนเบียดเบียนชาวบ้านให้ได้รับความเดือดร้อน ท่านพระครูและคณะของท่านได้ชี้แจงเหตุผลโดยประการต่างๆ ก็ไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ท่านจึงแจ้งแก่ชาวบ้านว่า ถ้าญาติโยมไม่ยอมให้ทำการซ่อมแซมดังที่กล่าวแล้วก็จะกลับเมืองอุบลฯ ชาวบ้านทั้งหลายเรียนท่านว่า จะกลับก็ตามใจ แล้วพากันเลิกประชุม กลับบ้านของตน"
จะเห็นได้ว่า งานอันหนักของญาท่านดีโลดไม่อยู่เพียงแต่บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมที่ชำรุดทรุดโทรม ชวนให้สังเวชแก่ผู้พบเห็นเท่านั้น ญาท่านยังต้องสู้กับความเชื่อถือของชาวบ้านที่มีมาจากความกลัวอีกด้วย พวกเขาไม่กล้าในสิ่งใด ก็ไม่ยอมให้ท่านแตะต้องสิ่งนั้น
เรื่องสู้กับความเชื่อถือผิดๆ ของชาวบ้าน หรือที่เรียกว่าความงมงายไร้เหตุผล ได้มีปรากฏอยู่ตลอดเวลา ระหว่างที่ญาท่านลงมือบูรณพระธาตุพนม ซึ่งจะได้เล่าต่อไปตามลำดับ
ความขัดแย้งไม่ลงกันระหว่างญาท่านกับชาวบ้านในข้อที่ว่า ญาท่านประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมใหม่หมดทั้งองค์ แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้ทำทั้งหมด คงยอมแต่เพียงให้ถากถางหญ้าตัดหญ้าคาบนลานพระธาตุและทำลานพระธาตุให้พอมีที่กราบไหว้เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ไม่ให้แตะต้อง
เหตุการณ์ตอนนี้ หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธมฺโม ได้เล่าให้ฟังจนเกิดรายละเอียดดังนี้
เมื่อญาท่านดีโลดไปถึงพระธาตุพนมแล้ว เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันออกมารับและปรึกษาหารือกันว่า
"นิมนต์อาตมามาแล้วให้ทำอย่างไร" เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันผู้นิมนต์กราบเรียนว่า "ให้พระคุณเจ้าปราบที่ตรงนี้ให้ปราบหญ้าคา และโบกซะทายเดิม"
พอว่าอย่างนั้นแล้วญาท่านก็มองเห็นข้างบนจึงกล่าวว่า
"..พระบรมธาตุฮากไทรหย่องแหย่งรัดกุมสิให้เฮ็ดจังได๋."
(หมายถึงองค์พระธาตุมีรากไทรรัดกุมร่องแร่งจะให้ทำอย่างไร)
"อย่าสิปาก อย่าสิปาก" เจ้าเมืองแสนห้ามไม่ให้ญาท่านพูด
เขากลัวว่าเขาจะตาย เขาถือกันว่า ตายจริงๆ
ครั้นเหเรื่องสนทนาไปทางอื่นได้สักพัก ญาท่านท่านก็ถามเรื่องเดิมอีก
"..พระบรมธาตุฮากไทรหย่องแหย่งจังซั่นสิให้เฮ็ดจังได๋.ละหือ"
"อย่าปากน่า อย่าสิปากหลาย" เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันชักจะไม่พอใจ
ญาท่านดีโลดท่านก็คุยเรื่องการก่อสร้างอย่างอื่นต่อไป พอเพลินๆ ก็กลับมาถามเรื่องเดิมอีกเป็นครั้งที่สาม
"..พระบรมธาตุฮากไทรหย่องแหย่งสิเฮ็ดจังได๋ ล่ะ พ่อออก"
"ฮ่วย! พระจังใดมายุเฮ็ดยุทำ" พวกเขาเหลืดอดก็ตวาดญาท่าน
์"อาตมารับนิมนต์มาซ่อมพระธาตุก็ตั้งใจจะซ่อมให้ดี ถ้าโยมไม่พอใจอาตมาก็จะกลับพรุ่งนี้..." ญาท่านกล่าว
"นิมนต์" เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันว่า
ความหวาดกลัวของชาวบ้านนั้น กลัวอย่างเหลือที่จะกล่าวจริงๆ คือ กลัวจนแม้แต่คิดจะซ่อมองค์พระธาตุให้กลับดีดังเดิม ยังไม่กล้า
และไม่กล้าแม้แต่จะดายหญ้าหรือปราบหญ้าขัดหญ้าคาบนลานพระธาตุ
เมื่อญาท่านดีโลดมาถึง พวกเขาก็ดีใจที่จะมีผู้มาปราบหญ้าให้ ไม่ได้หวังหรือต้องการจะให้ทำอะไรเกินกว่านั้น
ออกจะเป็นเรื่องชอบกลไม่น้อย ถ้าหากญาท่านดีโลดต้องเดินทางไกล ๘ วัน ๘ คืน พร้อมด้วยพระอีก ๔๐ รูป จากเมืองอุบลราชธานี มาถึงพระธาตุพนมเพียงเพื่อดายหญ้าและปูลานพระธาตุใหม่ให้พอได้มีที่กราบไหว้ ส่วนพระธาตุจะพังมิพังก็ช่างปะไร
ถ้าใครเป็นช่างแล้ว จะเข้าใจหัวอกช่างด้วยกัน
ญาท่านดีโลดท่านเป็นช่างฝีมือเอกในจังหวัดอุบลราชธานี บางทีจะเป็นเอกในอีสานทั้งภาคขณะนั้น และใจคอญาท่านคงไม่สู้จะเป็นปรกติเมื่อเห็นพระธาตุพนมมีสภาพเศร้าหมองอย่างงั้น
ถ้าไม่ได้ทำจนสุดฝีมือแล้ว สู้ไม่ทำเสียเลยดีกว่า ว่างั้นเถอะ
จึงเป็นที่ตกลงปลงใจกันทั้งสองฝ่าย ญาท่านดีโลดจะกลับอุบลฯ เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันและชาวบ้านทั้งหลายงดเรื่องซ่อมพระธาตุไป
แต่การณ์ไม่ได้ยุติอยู่แค่นี้
พวกชาวบ้านที่เพิ่งจะแยกย้ายออกจากที่ประชุมยังกลับไม่ถึงบ้านเรือนของตน ก็ได้มีอันแตกตื่นเป็นโกลาหล ความตอนนี้มีว่า
"ฝ่ายนางเทียมถูกเจ้าเฮือน ๓ พระองค์เข้าสิงให้ บ่นดุด่าอาฆาตมาดโทษหัวหน้าชาวบ้านผู้ขัดขวางคัดค้านมิให้ท่านพระครูซ่อมพระธาตุ เป็นต้นว่า " อ้ายใดมันบังอาจขัดขวางเจ้ากูมิให้ซ่อมพระธาตุกูจะหักคอมัน ท่านจะทำก็ปล่อยให้ทำเป็นไร สูไปขัดขืนท่านทำไม แต่กูเองก็ยังกลัวท่าน" ดังนี้
ที่กล่าวมานี้เล่าตามท่านพระครูวิโรจน์ฯ เล่าให้ฟัง และผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลาย ฝ่ายชาวบ้านมีเฒ่ามหาเสนาเป็นต้น เห็นเหตุการณ์วิปริตเช่นนั้น ก็เกิดความสะดุ้งตกใจกลัวแต่มรณภัย จึงพากันรีบกลับมาวัด กราบไหว้วิงวอนขอขมาลาโทษต่อท่านพระครูวิโรจน์ฯ นิมนต์ท่านไว้มิให้กลับ เมื่อท่านประสงค์จะทำสิ่งใดก็สุดแล้วแต่ท่านจะเห็นควร ฝ่ายท่านพระครูทราบเรื่องและเห็นอาการเช่นนั้นจึงคิดว่า ความมุ่งหวังของเราจะสำเร็จเป็นมั่นคงคราวนี้แล้ว เพราะแม้แต่ผีสางเทวดาก็ช่วยเรา จึงทำทีแสร้งว่าจะกลับอุบลฯ ให้ได้ในวันรุ่งขึ้น พวกชาวบ้านทั้งหลายไหว้วอนมอบธุระทุกสิ่งทุกอย่างจนเป็นที่พอใจของท่าน เมื่อท่านพระครูเห็นว่าหมดอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในเบื้องหน้าจากประชาชนแล้ว ท่านก็รับนิมนต์อยู่ปฏิบัติต่อไปฯ"
เกี่ยวกับนางเทียมที่ถูกเจ้าเฮือน ๓ พระองค์เข้าสิงนี้ บางทีจะมีผู้ไม่เข้าใจ จะได้อธิบายพอเป็นแนวทางสักเล็กน้อย
ตามตำนานสร้างพระธาตุพนมแต่ครั้งแรกได้กล่าวว่า เมื่อสร้างพระธาตุสำเร็จแล้ว พระอินทร์ได้พาเทพเจ้าทั้งหลายลงมาทำมหกรรมทำนองเฉลิมฉลอง เป็นที่เอิกเกริกมโหฬาร ก่อนจะเลิกพิธีฉลองพระธาตุ พระอินทร์ได้มอบหมายให้เทวดา ๖ องค์อยู่รักษาพระธาตุพร้อมด้วยบริวารอีกจำนวนหนึ่ง โดยแบ่งหน้าที่รักษาพระธาตุคนละจุด เทวดา ๓ องค์ในจำนวนนั้นได้มีหน้าที่เป็นหูเป็นตาของบ้านเมือง ชาวบ้านเรียกว่า มเหสักข์หลักเมือง ๓ พระองค์บ้าง เจ้าเฮือน ๓ พระองค์บ้าง ถือเป็นเทพารักษ์หลักเมืองยิ่งกว่าอารักษ์ทั้งหลาย มีประชาชนเคารพนับถือกันมาก มีนางเทียม หรือ คนทรง เป็นผู้หญิง สำหรับให้เจ้าเฮือนทั้ง ๓ พระองค์เข้าประทับร่าง เพื่อติดต่อสนทนากับชาวบ้าน นางเทียมมีอยู่ประจำพระธาตุสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย
เจ้าเฮือนทั้ง ๓ พระองค์นี้เองที่มาเข้าสิงนางเทียม แล้วออกแสงด่ากราดบรรดาผู้ที่ขัดขวางญาท่านดีโลด เป็นเหตุให้เหตุการณ์กลับลำในทันทีทันควันได้ง่ายๆ
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ได้กรุณาเล่ารายละเอียดตอนนี้ให้ฟัง ท่านว่าจำมาจากญาท่านดีโลดเล่าให้ท่านฟังอีกที เป็นความทรงจำของคนแก่วัยเจ็ดสิบกว่าปีที่ชัดเจนฉาดฉานจริงๆ
ท่านว่า "พอเจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันหันหน้าออกจากวัดพระธาตุพนม แค่พ้นเขตวัด ก็เกิดนางเทียมถูกสิงโดยผีรักษาพระธาตุ เรียกว่าเดือดร้อนถึงผีสางเทวดาทันตาเห็น ผีที่เข้าสิงชี้หน้าด่าว่า บักเจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจัน กระทั่งกูยังกลัวท่าน สูหรือจะเหนือกว่าท่าน ไป หากท่านกลับอุบลฯ อำเภอธาตุพนมไม่มี กูจะทำลายไม่ให้มี สูต้องหาดอกไม้คำไปขมาคารวะท่าน ถ้าท่านไม่รับก็จะทำลายไม่ให้มี
ทุกคนตกใจกลัว รีบจัดหาเครื่องขอขมาไปคารวะญาท่านดีโลด ซึ่งเมื่อไปถึงแล้วญาท่านไม่รับ ต้องอ้อนวอนอยู่ถึงสามครั้งท่านจึงรับและกล่าวว่า เป็นธรรมดา สี่ขารู้พลาด นักปราชญ์รู้พลั้ง เอาละให้มาทำด้วยกัน อาตมาไม่กลับ ขอให้มาทำพร้อม ๆ กันเพราะว่าพระบรมธาตุถึงคราวสิ้นอายุไป แต่ความจริงไม่สิ้นง่าย ๆ ตามประวัติพระมหากัสสปเป็นผู้สร้างและมีผู้ซ่อมแซมกันมาตลอด สุดท้ายคือ พระครูขี้หอม ทีนี้ มาถึงพวกเรา พ้นจากพวกเราแล้ว พระธาตุจะเป็นของบ้านเมืองดูแลรักษา ให้พากันจำเอาไว้และมาช่วยกันทำ พรุ่งนี้ให้ทุกคนมาพร้อมกันที่นี่ เอามีดเอาขวานติดมือมาด้วยทุก ๆ คน"
ถึงตรงนี้เริ่มจะสนุกแล้วครับ มาดูกันว่า ประวัติที่เป็นทางการว่าไว้อย่างไร แล้วเทียบเคียงกับเกร็ดประวัติที่หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์เล่า ซึ่งได้เรื่องราวอย่างเดียวกัน แต่รายละเอียดดูแปลกไป
เริ่มที่อุรังคนิทานก่อน
"ครั้น ณ วันเดือนอ้ายขึ้น ๑๕ ค่ำปีนั้นแล ท่านพระครูพร้อมด้วยศิษย์ที่ติดตามมาก็ได้เริ่มทำความสะอาดพระบรมธาตุ ให้ตั้งเครื่องสักการบูชา ขอขมาคารวะพระบรมธาตุ ประกาศเทวาแล้ว ให้คาดนั่งร้าน รื้อถอนต้นไม้ต้นหญ้าและกะเทาะ ซะทาย (ปูนฉาบ) ที่หักพังคร่ำคร่าออก ชาวบ้านทั้งหลายไม่มีใครกล้ามาช่วยเพราะกลัวอารักษ์ในพระบรมธาตุจะทำอันตราย แม้พระเณรในวัดก็พากันปิดประตูกุฏิหลบลี้ไม่กล้ามองดู เพราะหวาดเกรงอันตรายเช่นเดียวกัน
ท่านพระครูเล่าว่าจะหาคนใช้ช่วยเหลือยากมาก มีแต่ไชยวงศาผู้ใหญ่บ้านดอนกลาง คนเดียว เข้ามารับใช้หยิบโน่นหยิบนี่ช่วย
ครั้นล่วงมาได้ ๗ วัน มีชาวบ้านมายืนดูอยู่ห่าง ๆ ประมาณ ๙ - ๑๐ คน ครั้นล่วงมาหนาแน่นขึ้นโดยลำดับ ต่อมาถึงเดือน ๓ เพ็ญ ประชาชนหลั่งไหลมาจากจตุรทิศเหมือนหมู่มดหมู่ปลวก จนไม่มีที่พักเพียงพอ เกณฑ์กันไปตัดหญ้าแซงปลูกปะรำทั่วไปจนถึงริมบึงหน้าวัด เงินทองก็หลั่งไหลมาผิดคาดหมาย เจ้าเมืองสกลนครหนองคายก็ปวารณาให้ช้างมาใช้งานจนแล้วเสร็จบริบูรณ์ ได้ทำการฉลอง ณ วันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ จนถึงวันเพ็ญในปีนั้น
กากอิฐกากปูนเศษที่เหลือที่กะเทาะลงมาจากองค์พระเจดีย์ ท่านมิให้ทิ้งเรี่ยราด ได้ให้ก่อเจดีย์เล็กบรรจุไว้ต่างหากที่ลานพระธาตุตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรียกว่า พระธาตุฝุ่น เดี๋ยวนี้ ด้วยเกรงจะเป็นที่รังเกียจของผู้เคารพคารวะ แสดงให้เห็นว่า ท่านพระครูเป็นผู้ละเอียดอ่อนอยู่มาก น่าสรรเสริญ เพราะชาวบ้านพากันถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการเคารพพระบรมธาตุ แม้แต่อิฐปูนเขาก็นำไปเคารพบูชาอยู่แล้ว และตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน วัดใดจะสร้างพระเจดีย์ ก็พากันนำขันธูปเทียนเครื่องสักการะมาไหว้วอน ขอเอาเศษปูนไปบรรจุเป็นสิริมงคลอยู่จนทุกวันนี้
งานที่ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบลได้ทำในครั้งนี้คือ ได้เซาะซะทาย (ซะทาย=ปูนฉาบ) พระธาตุ กำจัดต้นไม้ต้นหญ้าที่เกาะจับอยู่ออกไป แล้วถือปูนใหม่แต่ภูมิถ้วน ๓ ลงมาจนถึงพื้น ประดับกระจก ปิดทอง ประดับดอกที่ทำด้วยดินเผา ติดแผ่นจังโกทองคำที่ยอดพระธาตุ ซ่อมกำแพงชั้นกลางก่อเพิ่มให้สูงขึ้นอีก ๑ แขนและถือปูนใหม่"
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมเดินทางไปซ่อมพระธาตุพนม ในขณะยังเป็นพระหนุ่มน้อย แม้ไม่ได้ไปในเที่ยวแรก แต่ในเที่ยวหลังท่านก็ได้ไปในที่สุด ใจความทั้งหลายที่ท่านเล่าถึงในคราวแรกที่ญาท่านดีโลดเดินทางไปโดยไม่มีท่านร่วมด้วยยังเป็นที่พอฟังได้ เพราะอย่างไร เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นไม่นานปี ยังไม่เป็นเรื่องต่อเติมเสริมแต่งจนเพี้ยนไปใหญ่โต
การเดินทางไปซ่อมพระธาตุพนมของท่านดีโลดไม่ได้ไปครั้งเดียวแล้วเสร็จ แต่ยังมีลูกติดพันอีกหลายเที่ยว หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้เดินทางไปตามบัญชาของญาท่านอีกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อพระมหาคูณ ปัญญาปัชโชโต ก็ได้เดินทางไปอีกครั้งหนึ่ง จึงพอจะกล่าวได้ว่า พระจากเมืองอุบลฯ เดินทางไปซ่อมพระธาตุพนมอย่างน้อย ๓ เที่ยว พระธาตุพนมจึงสำเร็จบริบูรณ์
กรณีที่เป็นปัญหายุ่งยากในการที่ริเริ่มพิธีบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ของญาท่านดีโลด หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ได้เล่าตรงกันกับหลวงพ่อพระมหาคูณ ดังนี้
"หลังจากที่ญาท่านเพิ่นสั่งให้ชาวบ้านทุกคนมาพร้อมกันที่วัดในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับให้พากันถือมีดถือขวานจอบเสียมติดมือมาทุกคน ปรากฏว่า พอรุ่งเช้า ไม่มีผู้ชายมา มีแต่ผู้หญิง ก็เป็นความแปลกใจ เพิ่นก็อดทนเอา การเฮ็ดการทำฝืดเคืองหลาย วันแรกมีพระขึ้นไปตัดต้นไม้ที่ขึ้นตามองค์พระธาตุเพียงสองสามองค์ เพราะว่ามีดพร้าไม่มีในวัด ขัดสนเครื่องมือไปเสียทุกอยาง วันที่สองและวันที่สามยังคงลำบากเช่นเดิม ไม่มีอะไรสะดวกขึ้น พระที่ญาท่านเอาไปด้วย ๔๐ องค์ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีเครื่องมือ
ถึงวันที่สี่ ขัดข้องหลาย จนฮ้อนไปถึงไท้เทวาท้าวปั่นดลลงมาเอง
(หมายถึง ร้อนถึงเทพไท้เทวา บันดาลต้องลงมาเอง)
สงสัยจะเป็นพระอินทร์ทีเดียว เพิ่นลงมานั่งหัวขาวโพลนอยู่ตรงธรรมาสน์ด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุ คือ อยู่ในกำแพงแก้วนั่นแหละ ญาท่านดีโลดเพิ่นเดินตรวจงานมาเรื่อยจนถึง และได้เห็นเข้าก็เลยถูกเรียกให้เข้าไปหา "มานี่ มานี่" ญาท่านดีโลดเข้าไปนั่งตรงหน้า แล้วกราบสามครั้ง ทีนี้เพิ่นก็ให้พรญาท่านว่า "ลูกเฮ็ดอิหยัง ขัดข้องอันใด บ่ขัดข้องดอก ตั้งแต่นี้ต่อไป" พอให้พรแล้วก็หายหนี"
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์เล่าให้ฟังว่า วันรุ่งขึ้น พระออกไปบิณฑบาตตามปกติ แต่ญาท่านดีโลดไม่ได้ไปด้วย ญาท่านเดินสักไม้เท้าเวียนรอบลานพระธาตุ ตั้งแต่ตะวันออกมาทิศใต้ ทิศตะวันออกจนถึงทิศเหนือ ตามลำดับ ในที่สุดมาครบที่บริเวณทิศตะวันออกอีกครั้ง
ตรงนี้ไม้เท้าของญาท่านสักลงไปไม่ยอมถอดถอนขึ้นมา
"เณร เอาเสียมมาขุดตรงนี้ซิ"
ญาท่านดีโลดท่านเรียกเณรที่อยู่ใกล้ๆ และเณรก็ปฏิบัติตามบัญชาท่านทันที แต่ขุดไปได้ครู่หนึ่งก็ต้องหยุด
"ขุดบ่ได้ดอก ข้าน้อย มันถูกแผ่นหิน"
"มันสิใหญ่ปานใดน่ะ ขุดไปเถอะ" ญาท่านดีโลดท่านสั่ง
เณรพยามอีกทีก็ขุดไม่ได้ เรียกว่าประสาเด็กน้อย สามารถมีไม่พอจริงๆ ไม่อาจขุดลงไปจนถึงขอบเขตขันธสีมาได้
พอดีพระที่ออกไปบิณฑบาตกลับมาถึงวัด ญาท่านบอกให้เณรไปรับบาตรแล้วตามพระที่แข็งแรงและให้เอาจอบมาด้วย
แรงพระกับแรงเณรคนละอย่าง ผลที่สุดก็พบหีบสีเหลี่ยมผืนผ้า เป็นหีบศิลาขนาดใหญ่ฝังแน่นอยู่ในดินลึกตรงนั้น
เป็นหีบบรรจุเครื่องมือสร้างพระธาตุ ตั้งแต่สมัยใดไม่ทราบ
"หีบเครื่องมือพระมหากัสสป ที่สร้างพระธาตุแต่แรก เพิ่นฝังเอาไว้" หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์คาดหมาย
"ข้างในมีพวก พร้า ขวาน และเครื่องมือต่างๆ มากมาย"
บางทีจะเป็นเครื่องมือสร้างหรือซ่อมพระธาตุในสมัยของใครคนหนึ่ง เมื่อสร้างหรือซ่อมเสร็จ ก็ฝังเครื่องมือทั้งหมดไว้ในทำนองว่า เป็นเครื่องมือมงคล เพราะว่าใช้สำหรับสร้างหรือซ่อมสิ่งสักการะอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็ไม่สมควรนำไปสร้างสิ่งอื่นได้อีก
แต่เครื่องมือที่ขุดพบ ก็มีทั้งยังใช้การได้ และชำรุดเสียหายไม่อยู่ในสภาพจะทำงานได้อีก ญาท่านให้นำขึ้นมาจดบัญชีเอาไว้ทั้งหมด คือเครื่องมือกี่ชนิด แต่ละชนิดมีจำนวนเท่าใด ที่เป็นสนิมใช้การไม่ไหวมีกี่ชิ้น ญาท่านให้จดไว้จนครบถ้วน
เครื่องมือที่ยังใช้การได้ดี ถูกนำมาใช้งานในครั้งนี้อีกครั้ง ที่ใช้การไม่ได้ก็ให้ญาท่านทา เจ้าอาวาสในขณะนั้นเก็บรักษาไว้
เป็นอันว่า ความขัดสนฝืดเคืองเครื่องไม้เครื่องมือได้คลี่คลายไปเปลาะหนึ่ง
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ได้เล่าต่อไปว่า เมื่อขุดได้เครื่องมือโบราณซึ่งเคยสร้างซ่อมพระธาตุมาตั้งแต่เดิมแล้ว วันที่ ๕ งานจึงเริ่มดำเนินไปอย่างคล่องแคล่วขึ้น แม้เครื่องมือที่ชำรุดเสียหายจะมีมาก แต่เครื่องมือที่ยังใช้การได้ก็มีไม่น้อย งานปราบต้นไม้ต้นหญ้าในชั้นนี้จึงเป็นไปอย่างราบรื่น ผิดกับวันแรกๆ
มีผู้ช่างสังเกต ได้สังเกตเห็นว่า การขึ้นไปตัดต้นไม้ที่งอกงามอยู่บนองค์พระธาตุจนราบเรียบนั้น ไม่ปรากฏว่าคมมีดคมขวานจะกระทบกระทั่งองค์พระธาตุให้เสียหายเลย ช่อลายเล็กๆ น้อยๆ ก็ปลอดภัย แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความเคารพในองค์พระธาตุของผู้ทำงานนี้อย่างแท้จริง
หลายวันที่ผ่านไปโดยไม่มีชาวบ้านคนใดเข้าช่วยเหลือ นอกจากมาด้อมๆ มองๆ อยู่ห่างๆ อย่างกล้าๆ กลัว จนที่สุด ต้นไม้ต้นหญ้ารกรุงรังหายเหี้ยนไปแล้วนั่นแหละ จึงมีชาวบ้านเริ่มเข้ามาช่วยเหลือบ้าง และค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งชาวบ้านในอำเภอพระธาตุพนมเอง และชาวบ้านชาวเมืองไกล
ช่างปูหินจากนครพนมมาสมทบ เครื่องมือเครื่องไม้ที่ทันสมัยเดินทางมาถึง ช้างม้าวัวควายใช้งานถูกส่งมาร่วม วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ทุกสิ่งทุกอย่างมาพร้อมกับกำลังคน สภาวะขัดข้องคลี่คลายหายไปในที่สุด คงมีแต่ความคึกคัก กระปรี้กระเปร่าเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป หัวใจของคนทุกคนที่เคยแปลกต่างกันมา ก็รวมลงเป็นหัวใจดวงเดียว
"ปีแรกยังบ่ทันให้ช่างแก้วจากกรุงเทพฯ มา แก้วสีต่างๆ มาถึงในปีที่สอง พวกแก้วสีเหล่านี้นำมาประดับเป็นลวดลายดอกกาฬกัลป์" หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์เล่า
"เงินปีนั้นปรากฏว่าหลาย เพราะข่าวลือว่า ควายตู้จะกลายเป็นยักษ์ เขาก็ปล่อยทิ้ง เอาเงินมาทิ้งใส่วัดจนเกลื่อนลานวัด ญาท่านดีโลดก็ให้พระเณรกวาดเก็บเอามาลงบัญชีไว้"
เหตุการณ์ตอนนี้เป็นความประจวบเหมาะอย่างที่สุด อาจเรียกได้ว่า เป็นบุญของผู้ซ่อมพระธาตุ จะได้ดำเนินงานไปโดยสะดวก เพราะว่าในขณะที่ญาท่านดีโลดกำลังลงมือซ่อมพระธาตุนั้น ได้เกิดมีผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้มีบุญคุมสมัครพรรคพวก ตั้งมั่นอยู่ที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลฯ ประกาศว่าควายตู้จะกลายเป็นยักษ์ เงินทองจะกลายเป็นกรวดและหินกรวดจะกลายเป็นเงินเป็นทอง มีคนหลงเชื่อกันมาก พากันเอาเงินทองที่มีอยู่มาทิ้งใส่ลานวัด เพราะคิดว่าอีกหน่อยเงินเหล่านี้จะกลายเป็นกรวดหินไร้ค่า ทำให้ญาท่านดีโลดได้เงินมาใช้จ่ายในการซ่อมพระธาตุอย่างมากมายไม่ขัดสน
อุรังคนิทานได้บันทึกไว้ดังนี้
"ประชาชนผู้อ่อนการศึกษา ขาดเหตุผลเชื่อถือกันมาก ถึงกับหอบหินกรวดไปให้เจ้ากูเสกเป่าให้ แล้วหาบกลับคืนมาสักการบูชาเพื่อให้เกิดเป็นเงินเป็นทอง บางบ้านระยะทาง ๖-๗ คืน ก็อุตสาห์พากันไป พวกนี้เรียกว่า ผีบ้าผีบุญ พากันกำเริบขึ้นจะยกเข้ายึดเมืองอุบลฯ จนทางราชการจัดการปราบปรามด้วยกองทหารจึงสงบเรียบร้อย" (พระเจ้าวรวงศเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงปราบ)
อุรังคนิทานได้เล่าว่า
เมื่อท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบลซึ่งกำลังซ่อมพระธาตุพนมประสบเหตุการณ์เช่นนี้ กลับได้รับผลดีคือ ประชาชนไม่มั่นใจเงินของตน ก็นำเงินมาบริจาคเป็นอันมาก แต่ญาท่านดีโลดไม่ได้เห็นเป็นเรื่องที่ต้องฉวยโอกาส ญาท่านกลับมีเมตตาช่วยเหลือประชาชนผู้หลงผิดทั้งหลาย ให้หันกลับเข้ามาถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผีบ้าผีบุญอย่างงมงายน่าสงสาร
ญาท่านดีโลดได้มอบให้ตาผ้าขาวหนู ทำรูปช้างม้าขึ้นแล้วเอาเครื่องไทยธรรมแขวนและตกแต่งให้เป็นต้นไม้เงิน แห่รอบพระธาตุ บูชาพระธาตุไปในตัว ประชาชนก็พากันบริจาคเงินเป็นที่เพลิดเพลิน ครั้นรวมขบวนแห่มาวางไว้ที่ลานพระธาตุแล้ว ตั้งปัญหาถามขึ้นให้ประชาชนเป็นผู้ตอบ เช่นว่า ได้ชี้ไปที่ตาม้า แล้วถามว่า นี่อะไร? ทุกคนตอบว่า ตาของมัน
"ทำด้วยอะไร" ญาท่านถามต่อไป
"ทำด้วยกระจก" ประชาชนทั้งหลายตอบเช่นกัน
"กระจกนี้จะเป็นตาช้างตาม้าจริง ๆ ได้หรือไม่"
"ไม่ได้"
"ช้างม้านี้เป็นของจริงหรือของปลอม"
"ของปลอม"
"ของปลอมจะกลายเป็นของจริงได้หรือไม่"
"ไม่ได้"
"นี่แหละท่านทั้งหลาย เขาลือกันว่าหินกรวดจะเป็นเงินก็ดี ควายหรือหมูจะเกิดเป็นยักษ์ก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนรูปนี้ไม่กลายเป็นช้างเป็นม้าจริง ๆ"
การทำอุบายเช่นนี้ ทำนองนี้ทุกวัน วันละหลายๆ เที่ยว ทำให้ประชาชนหายงมงายไปเป็นอันมาก นับว่าได้ประโยชน์แก่สังคมและศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
พิจารณาดูจะเห็นว่า อุบายที่ญาท่านดีโลดบัญชาให้ทำขึ้นเพื่อแก้ไขความเชื่อผิดๆ คงไม่ได้ทำครั้งเดียวจริงๆ ด้วยเหตุว่า ผู้คนจะค่อย ๆ ทยอยมาที่วัดคราวละกลุ่มละพวก พอมาถึงก็ทิ้งเงินใส่ลานวัด ญาท่านก็ให้คนของท่านแห่รูปช้างม้าที่ทำขึ้นในทันที ชาวบ้านก็หันมาบริจาคใส่เข้าไปอีก เพราะไม่เห็นว่า เงินของตนเป็นของมีค่า และกว่าจะแก้ไขความเชื่องมงายให้หายไปได้ เงินที่ชาวบ้านนำมาทิ้งก็มีจำนวนมหาศาล บางทีมากจนเหลือเฟือสำหรับบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุทีเดียว
"แต่ญาท่านเพิ่นวางเฉย เพิ่นไม่ติดอยู่กับเงินมาแต่ไหนแต่ไร" หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์บอก
"รวมเวลาสร้างพระธาตุในครั้งแรกประมาณ ๓ ปี คือ ซ่อมพระธาตุจนเสร็จสิ้นดีแล้ว ยังเหลือแต่เพียงตกแต่งเพื่อให้เกิดความวิจิตรพิสดารอีกเล็กน้อย ซึ่งญาท่านก็ได้ค่อย ๆ ทำต่อมาในคราวหลังๆ"
ที่สุดแล้ว พระธาตุพนมยังคงจะต้องได้รับการซ่อมแซมทำนุบำรุงอยู่ดี ซึ่งอุรังคนิทานได้เล่าถึงปฐมเหตุที่พระครูวิโรจน์รัตโนบลจะได้เดินทางมาที่นี่ดังนี้
"ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๔๔๔ ที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้ มีพระเถระเมืองอุบลเดินธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่ป่ารอบสะพังโบราณในบริเวณวัดพระธาตุพนมของเรานี้ คือพระครูสีทา วัดบูรพาและพระอาจารย์หนู รูปหลังนี้ต่อมาได้เป็นพระปัญญาวิศาลเถรเจ้า วัดสระปทุม กรุงเทพฯ ท่านและคณะได้มาเห็นความเสื่อมโทรมในองค์พระธาตุ ก็เกิดความสลดใจใคร่ที่จะซ่อมแซม แต่มาคิดเห็นว่าอำนาจวาสนาของตนไม่เพียงพอ จึงแนะนำให้ทายกชาวธาตุพนมลงไปอาราธนาเอาท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง อุบล แต่เมื่อท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช ขอให้ท่านขึ้นมาเป็นหัวหน้าพาซ่อมพระบรมธาตุ"
พระครูสีทาที่กล่าวมาถึงคือ พระอุปัชฌาย์สีทา ชัยเสโน ส่วนพระอาจารย์หนู รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ท่านเป็นคู่หูเดินธุดงค์กับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล หลายครั้ง นามฉายาของท่านคือ ฐิตปญฺโญ ส่วนคณะของท่านทั้งสองที่ไม่ได้บอกว่ามีใครบ้าง จะบอกในที่นี้เสียเลยว่า เป็นพระเถระที่สำคัญยิ่งสองรูป คือ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต นั่นเอง
ในขณะนั้น พระอาจารย์เสาร์กับพระอาจารย์มั่นยังไม่เป็นที่รู้จักแก่ผู้บันทึกเรื่องราวตอนนี้ สองท่านเพิ่งมาปรากฏชื่อเสียงเรียงนามในสมัยหลัง
ภายหลังจากที่คณะพระธุดงค์จากเมืองอุบลฯ ให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านเมืองพระธาตุพนม ให้ไปอาราธนาท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล ขึ้นมาแล้ว ปรากฏว่า
"ท่านพระครูก็ยินดีรับขึ้นมาตามความประสงค์ ท่านพระครูรูปนี้ทรงคุณธรรมหลายประการคือ มีขันติ วิริยะกล้าแข็ง อดทน บึกบึน มีใจสุขุม เยือกเย็นโอบอ้อมอารี เมตตากรุณาแก่คนทุกจำพวก รู้จักสงเคราะห์อนุเคราะห์อันโตชนและบริวารชน รู้จักพูดจาปราศรัยเอาใจคนทั่วไป เมื่อผู้ใดเข้าคบหาก็เกิดความเคารพไม่จืดจาง จนได้นามนิมิตว่า "ท่านพระครูดีโลด" จากประชาชนทั้งหลาย เพราะไม่ว่าใครจะทำอันใดพูดอันใดก็ว่าดีทั้งนั้นไม่ขัดคอ คุณพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่านเป็นช่างเขียนภาพและลวดลาย ช่างอิฐปูนและก่อสร้าง จึงเหมาะสมในการมาอำนวยการซ่อมแซมพระบรมธาตุยิ่งนักฯ..."
หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธมฺโม ได้เล่าว่า ผู้ที่เดินทางมาอาราธนาท่านดีโลดขึ้นไปซ่อมพระธาตุไม่ทราบว่าชื่ออะไร แต่เป็นผู้มีตำแหน่งในฐานะเจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจัน ญาท่านดีโลดรับอาราธนาแล้วได้เดินทางขึ้นไปภายหลังจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองอุบลฯ ระหว่างปี ๒๔๓๖-๒๔๕๓ เพิ่งจะทรงเสด็จปราบกบฏ การเดินทางนั้นใช้เวลา ๘ วัน ๘ คืน จึงจะถึงโดยพาพระไปด้วย ๔๐ องค์ เป็นการเดินทางโดยอาศัยเกวียนและเท้าเปล่าเป็นหลัก เพราะว่าไม่มีรถยนต์อย่างเช่นสมัยหลังๆ นี้
(ตำแหน่งเจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจัน หรือเมืองแสนเมืองจัน คนสมัยนี้ไม่รู้จักกันแล้ว ต้องอธิบาย คนไทยสองฝั่งโขง สมัยนั้นใกล้ชิดกับประเทศลาวมากกว่า ธรรมเนียมการแกครองก็ได้แบบอย่างตามนครเวียงจันทน์ เมื่อฝั่งขวามาขึ้นประเทศไทยเต็มตัวแล้ว ทางกรุงเทพฯ ยังอะลุ้มอล่วยให้หัวเมืองทางนี้ปกครองกันอย่างเดิมไปก่อน แม้ว่าระเบียบการปกครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้เปลี่ยนแปลงตามแบบกรุงเทพฯ ในปี ๒๔๓๗ แล้วก็ตามแต่คนในภูมิภาคนั้น ก็ยังคงติดปากที่เรียกตำแหน่งในการปกครองต่างๆ ตามอย่างเดิม
เมืองแสนเมืองจันแต่เดิมเป็นตำแหน่งของเลขานุการเจ้าเมือง ทำหน้าที่เป็นตุลาการ ช่วยเจ้าเมืองพิจารณาอรรถคดี และทำหน้าที่เป็นตำรวจจับกุมโจรผู้ร้าย กับเป็นผู้เก็บรักษาอาวุธสำหรับบ้านเมือง แต่เมื่อมาถึงสมัยหลัง ๒๔๓๗ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองเป็นแบบกรุงเทพฯแล้ว คือสมัยที่เมืองแสนเมืองจันมาอาราธนาญาท่านดีโลด ไปซ่อมพระธาตุตำแหน่งนี้คงจะมีฐานะเท่ากำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น
ตำแหน่ง "เจ้าเมือง" ตามแบบเดิม มีฐานะเป็นเจ้าเมืองจริงๆ เป็นได้ตลอดชีพ เพราะว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อถูกเปลี่ยนให้มาปกครองแบบกรุงเทพฯ แล้ว เจ้าเมืองก็มีฐานะแค่นายอำเภอ และก็เรียกว่า "นายอำเภอ" มาจนทุกวันนี้ ตำแหน่งอุปฮาด ก็กลายเป็น ปลัดอำเภอ ตำแหน่งราชวงศ์เป็น สมุห์อำเภอ และตำแหน่งราชบุตร ก็คือ เสมียนอำเภอ
เมืองแสนเมืองจัน จึงเป็นกำนันและนายอำเภอไปอย่างนั้น)
อุรังคนิทานได้กล่าวว่า
"ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบลขึ้นมาถึงพระธาตุพนม ณ วันเดือนอ้าย ข้างขึ้น (เข้าใจว่าจะเป็นเดือนธันวาคม ปลายปี ๒๔๔๔ นั่นเอง) ขณะแรกท่านได้ประชุมหัวหน้าชาวบ้านและชาววัดว่า จะให้ท่านพาทำอย่างใด ชาวบ้านทั้งหลายบอกว่าให้ท่านปูลานพระธาตุพนมมีที่กราบไหว้บูชาเท่านั้น
ท่านบอกว่า ถ้าเราไม่ได้ทำการซ่อมแต่พื้นดินถึงยอดและแต่ยอดลงถึงพื้นดินแล้วจะไม่ทำ
เขาทั้งหลายไม่ยอม พูดขัดขวางโดยประการต่างๆ เขาหาว่าท่านพระครูเป็นพระไม่ตั้งอยู่ในธรรมวินัย เพราะจะรื้อพระเจดีย์ ตัดโพธิศรี ลอกหนังพระเจ้าเป็นบาปนัก และถ้าปล่อยให้ทำดังท่านพระครูต้องการนั้น เทพาอารักษ์ที่พิทักษ์พระบรมธาตุก็จะรบกวนเบียดเบียนชาวบ้านให้ได้รับความเดือดร้อน ท่านพระครูและคณะของท่านได้ชี้แจงเหตุผลโดยประการต่างๆ ก็ไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ท่านจึงแจ้งแก่ชาวบ้านว่า ถ้าญาติโยมไม่ยอมให้ทำการซ่อมแซมดังที่กล่าวแล้วก็จะกลับเมืองอุบลฯ ชาวบ้านทั้งหลายเรียนท่านว่า จะกลับก็ตามใจ แล้วพากันเลิกประชุม กลับบ้านของตน"
จะเห็นได้ว่า งานอันหนักของญาท่านดีโลดไม่อยู่เพียงแต่บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมที่ชำรุดทรุดโทรม ชวนให้สังเวชแก่ผู้พบเห็นเท่านั้น ญาท่านยังต้องสู้กับความเชื่อถือของชาวบ้านที่มีมาจากความกลัวอีกด้วย พวกเขาไม่กล้าในสิ่งใด ก็ไม่ยอมให้ท่านแตะต้องสิ่งนั้น
เรื่องสู้กับความเชื่อถือผิดๆ ของชาวบ้าน หรือที่เรียกว่าความงมงายไร้เหตุผล ได้มีปรากฏอยู่ตลอดเวลา ระหว่างที่ญาท่านลงมือบูรณพระธาตุพนม ซึ่งจะได้เล่าต่อไปตามลำดับ
ความขัดแย้งไม่ลงกันระหว่างญาท่านกับชาวบ้านในข้อที่ว่า ญาท่านประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมใหม่หมดทั้งองค์ แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้ทำทั้งหมด คงยอมแต่เพียงให้ถากถางหญ้าตัดหญ้าคาบนลานพระธาตุและทำลานพระธาตุให้พอมีที่กราบไหว้เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ไม่ให้แตะต้อง
เหตุการณ์ตอนนี้ หลวงพ่อพระใบฎีกาสังข์ ฐิตธมฺโม ได้เล่าให้ฟังจนเกิดรายละเอียดดังนี้
เมื่อญาท่านดีโลดไปถึงพระธาตุพนมแล้ว เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันออกมารับและปรึกษาหารือกันว่า
"นิมนต์อาตมามาแล้วให้ทำอย่างไร" เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันผู้นิมนต์กราบเรียนว่า "ให้พระคุณเจ้าปราบที่ตรงนี้ให้ปราบหญ้าคา และโบกซะทายเดิม"
พอว่าอย่างนั้นแล้วญาท่านก็มองเห็นข้างบนจึงกล่าวว่า
"..พระบรมธาตุฮากไทรหย่องแหย่งรัดกุมสิให้เฮ็ดจังได๋."
(หมายถึงองค์พระธาตุมีรากไทรรัดกุมร่องแร่งจะให้ทำอย่างไร)
"อย่าสิปาก อย่าสิปาก" เจ้าเมืองแสนห้ามไม่ให้ญาท่านพูด
เขากลัวว่าเขาจะตาย เขาถือกันว่า ตายจริงๆ
ครั้นเหเรื่องสนทนาไปทางอื่นได้สักพัก ญาท่านท่านก็ถามเรื่องเดิมอีก
"..พระบรมธาตุฮากไทรหย่องแหย่งจังซั่นสิให้เฮ็ดจังได๋.ละหือ"
"อย่าปากน่า อย่าสิปากหลาย" เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันชักจะไม่พอใจ
ญาท่านดีโลดท่านก็คุยเรื่องการก่อสร้างอย่างอื่นต่อไป พอเพลินๆ ก็กลับมาถามเรื่องเดิมอีกเป็นครั้งที่สาม
"..พระบรมธาตุฮากไทรหย่องแหย่งสิเฮ็ดจังได๋ ล่ะ พ่อออก"
"ฮ่วย! พระจังใดมายุเฮ็ดยุทำ" พวกเขาเหลืดอดก็ตวาดญาท่าน
์"อาตมารับนิมนต์มาซ่อมพระธาตุก็ตั้งใจจะซ่อมให้ดี ถ้าโยมไม่พอใจอาตมาก็จะกลับพรุ่งนี้..." ญาท่านกล่าว
"นิมนต์" เจ้าเมืองแสนเจ้าเมืองจันว่า
ความหวาดกลัวของชาวบ้านนั้น กลัวอย่างเหลือที่จะกล่าวจริงๆ คือ กลัวจนแม้แต่คิดจะซ่อมองค์พระธาตุให้กลับดีดังเดิม ยังไม่กล้า
และไม่กล้าแม้แต่จะดายหญ้าหรือปราบหญ้าขัดหญ้าคาบนลานพระธาตุ
โฆษณา