5 ก.ค. 2021 เวลา 02:55 • การตลาด
Guerrilla marketing เคล็ดวิชาการตลาดแบบ ‘กองโจร’ จู่โจมให้ตรงจุดด้วยงบประมาณที่จำกัดอย่างไม่หยุดยั้ง!
หากเพื่อนๆ เคยดูหนังสงครามหรือเล่นเกมแนววางแผนมาบ้าง คงจะคุ้นเคยกับการบุกจู่โจมแบบ ‘กองโจร’ ที่มักเป็นกลยุทธ์ของฝ่ายที่มีกำลังพลด้อยกว่า เพื่อให้การบุกจู่โจมนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไม่เสียกำลังพลไปเปล่าๆ (ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกพระเอกล่ะนะ)
แล้วรู้รึเปล่าว่าในโลกของ ‘การตลาดเอง’ กลยุทธ์นี้ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สามารถใช้งานได้ดีเช่นกัน กลยุทธ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า Guerrilla Marketing หรือการตลาดแบบกองโจรที่หากเปรียบกำลังพลเป็น ‘งบประมาน’ กลยุทธ์นี้ก็คือการทำการตลาดที่ใช้งบประมาณที่จำกัดเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางการตลาดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง
แหม่! ใช้งบที่น้อยเพื่อผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่มันจะทำแบบนั้นได้จริงๆ หรือ? ใครกำลังสงสัยในกลยุทธ์นี้ วันนี้แอดจะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับ Guerrilla Marketing กัน เผื่อนำไปปรับใช้กับการทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนะครับ พร้อมแล้วก็อ่านต่อได้เลย
Guerrilla marketing คือ???
Guerrilla Marketing หรือก็คือกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกลยุทธ์ทางการตทหารที่คุ้นเคยในชื่อ ‘กองโจร’ เป็นการใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการตลาดในประสิทธิภาพสูงสุด โดยกลยุทธ์ที่ทำให้กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จนั้นแบ่งออกได้ทั้งหมด 5 อย่างดังนี้
(1) Creativity (ใช้ความคิดสร้างสรรค์)
การตลาดที่ดีก็ต้องมาจากความคิดสร้างสรรค์ที่ดีเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่จะให้ทำอะไรที่ไม่เหมือนใครจริงๆ เลยในยุคนี้ก็คงจะเป็นไปได้ยากมาก เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์อาจจะไม่ได้มาจากการคิดสิ่งใหม่แต่เอาสิ่งเดิมหลายๆ อย่างมาผนวกรวมกันอย่างเหมาะสมในการสื่อสารต่างๆ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ออกมานั่นเอง
หากสามารถสร้างการสื่อสารที่สร้างสรรค์และแตกต่างได้ด้วยกระบวนการเหล่านี้ ไม่ว่าจะมีงบน้อยหรือมากก็สามารถเป็นที่สนใจของผู้คนได้ในยุคใหม่นี้
(2) Sudden Attack (จู่โจมแบบฉับพลัน)
อย่างที่รู้กันว่าในโลกของ Social Media ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่น่าสนใจมากแค่ไหนต่างก็มีอายุขัยไม่นานเหมือนสมัยก่อน ในการสื่อสารทางการตลาดจึงต้องปรับตัวให้เกิดการสื่อสารที่ฉับไวและตรงกับกระแสความสนใจที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อาทิเช่น ช่วงเทศกาล, ประเด็นสังคมที่เกิดขึ้น, ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง, ข่าวสารของบุคคลที่น่าสนใจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในโลกการตลาดยุคนี้
เพราะฉะนั้นการสร้างการสื่อสารทางการตลาดให้ฉับไวในช่วงกระแสต่างๆ ก็คือวิธีการหนึ่งจะทำให้ Guerrilla Marketing ประสบความสำเร็จ คิดอะไรได้รีบทำรีบโพสต์รีบสื่อสาร แล้วเราจะได้ความสนใจจากโลกการตลาดก่อน
(3) Innovation (สร้างนวัตกรรม)
แบรนด์หรือธุรกิจที่ใช้ Guerrilla Marketing อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือการสร้าง ‘นวัตกรรม’ แต่ก็ไม่ต้องถึงขั้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ อย่าง รถยนต์ไฟฟ้าหรือยานอวกาศ แต่สินค้าและการบริการของเพื่อนๆ จะต้องเป็นสิ่งใหม่ที่อาจจะเป็นเจ้าแรกๆ ที่เริ่มทำ หรือจะให้ดีกว่านั้นต้องเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และที่สำคัญมันช่วยอะไรผู้คนได้บ้างหากสามารถสร้างนวัตกรรมแบบนั้นได้ ก็จะส่งผลให้การสื่อสารมีความน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย
1
(4) Shocking (ทำให้ตะลึง)
เวลาดูหนังใครๆ ก็ชอบการเปิดตัวที่อลังกาลงานสร้างจริงไหม Guerrilla Marketing ก็เช่นกัน หากสามารถเปิดตัวสินค้าหรือโพสต์คอนเทนต์สื่อสารที่สร้างความตื่นตระหนกและน่าสนใจให้กับผู้คนได้ก็นับว่าเป็นการสื่อสารที่ประสบผลสำเร็จ
ซึ่งการสื่อสารที่สั่นสะเทือนโลกการตลาดได้ส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า Viral Content ซึ่งเป็นคำเรียกคอนเทนต์ที่ถูกแชร์ต่ออย่างรวดเร็วและได้รับความสนใจจากคนในสังคมอย่างมาก ซึ่งการสร้างคอนเทนต์แบบนี้ไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับข้อ (1) กับข้อ (2) รวมกันว่าเราจะสามารถสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์และเข้ากับความสนใจผู้คนในขณะนั้นได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น คอนเทนต์ประเด็นสังคมในอดีตและปัจจุบัน เป็นต้น
(5) All ages (เข้าถึงทุกเพศทุกวัย)
สำคัญมากๆ คือการสื่อสารการตลากเหล่านั้นต้องเป็นสิ่งที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้ หรือแม้จะเป็นสินค้าหรือการบริการเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ควรที่จะสื่อสารให้คนที่ไม่ใช้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจด้วยว่าไอเดียของการสื่อสารดังกล่าวคืออะไร ให้พวกเขาสัมผัสได้ถึงความสร้างสรรค์ที่มีในการสื่อสารนั้นๆ
(6) Cost less (ใช้เงินน้อยลง)
ข้อสุดท้ายที่นับว่าเป็นหัวใจหลักของ Guerrilla Marketing เลยก็ว่าได้ก็คือการใช้งบประมาณในการสื่อสารที่น้อย การตลาดในยุคนี้ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปเสียเงินทำโฆษณาแพงๆ ลงโทรทัศน์หรือป้ายบิลบอร์ดที่แพงกระเป๋าแห้งกันอีกแล้ว แต่เรามี Social Media ที่เป็นช่องทางในการสื่อสารที่แทบไม่ต้องใช้งบประมาณเลยก็ว่าได้
แต่สิ่งต้องลงทุนก็คือธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้เราเข้าใจกลไกการทำงานของเครื่องมือในการสื่อสาร และกลุ่มผู้คนที่วนเวียนอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างถ่องแท้ หากเรารู้ธรรมชาติของพฤติกรรมการใช้งาน ความต้องการ เครื่องมือการสื่อสาร ได้อย่างเชี่ยวชาญ ก็เป็นวิธีการที่จะช่วยประหยัดงบประมาณของเราได้ และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายและความต้องการจริงๆ ได้อย่างตรงจุดนั่นเอง
ข้อดีของ Guerrilla Marketing
ด้วยความที่จุดเริ่มต้นของ Guerrilla Marketing มักจะมาจากการกระตุ้นยอดขาย ข้อดีหลักๆ ก็คือไอเดียที่เกิดขึ้นมักจะสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดเดิม, สามารถกระตุ้นยอดขายที่นิ่งหรือซบเซาได้, ในบางครั้งก็สามารถช่วยระบายสินค้าค้างสต๊อกได้อีกด้วย, และใช้งบประมาณในการสื่อสารน้อยลง
ข้อเสียของ Guerrilla Marketing
ด้วยความที่ไอเดียต่างๆ ถูกคิดขึ้นมาด้วยความรวดเร็วและจับกระแสความสนใจในแต่ละช่วงเวลาเป็นโครงของการสื่อสาร ทำให้ระยะเวลาของคอนเทนต์การตลาดเหล่านั้นมีอายุขัยไม่นานนัก ส่วนมากจะหายไปตามกระแสที่เป็นวัตถุดิบนั่นแหละ
ส่วนอีกข้อก็คือหากเราใช้วิธีการสื่อสารการตลาดแบบนี้มากเกินไปหลายๆ รอบ ลูกค้าก็จะไม่สามารถรับรู้ถึงตัวตนของแบรนด์จริงๆ ได้ จนเหลือแต่ความทรงจำตามกระแสที่แบรนด์ได้สร้างเอาไว้เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ต้องชั่งน้ำหนักการใช้ Guerrilla Marketing กับการตลาดที่แสดงตัวตนของแบรนด์ให้ดี
หากเพื่อนกำลังจะทำคอนเทนต์เพื่อผลลัพธ์ทางการตลาดบางอย่างก็ลองเอาเจ้า Guerrilla Marketing ไปปรับใช้ดู ลองดูว่าในการสื่อสารนั้นมีทั้ง 6 ข้อนี้หรือไม่ หากขาดข้อใดข้อหนึ่งไปก็ลองหาเหตุผลสักนิดว่าเพราะอะไรจึงไม่จำเป็นต้องใช้ปัจจัยข้อนั้น เพื่อจะได้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของแบรนด์ตัวเองที่การตลาดรูปแบบนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้อย่างตรงจุด
หากเพื่อนๆ คนไหนชื่นชอบความรู้ทางการตลาดดีๆ หรือกำลังหาเทคนิคการตลาดใหม่ๆ ก็สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการตลาดและโฆษณาได้ที่ Ad Addict นะครับแอดและทีมงานจะพยายามหาความรู้ทางการตลาดมาลงอยู่เรื่อยๆ หรือใครมีความรู้การตลาดไหนน่าสนใจก็อย่าลืมมาบอกกันบ้างนะ
โฆษณา