19 มิ.ย. 2021 เวลา 06:47 • การศึกษา
ตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย
ก่อนอื่นผมขอชื่นชมอาจารย์เจ แห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่เขียนโพสต์แสดงความคิดเห็นเรื่องตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ในประเทศไทย เปรียบเทียบกับของมหาวิทยาลัย ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เห็นความแตกต่างและเสนอความคิดเห็นในบางแง่มุม เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือสัดส่วนจำนวนนายพลกับจำนวนศาสตราจารย์ (ศ.) ของประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้เขียนออกตัวไว้ใน Disclaimer ด้วยว่า "อาจมี bias จากประสบการณ์ และคงไม่อาจ apply ได้กับทุกเคสและกับทุกสาขาวิชาค่ะ มีอะไรผิดพลาดก็แลกเปลี่ยนและบอกกล่าวกันได้นะคะ"
ผมเองไม่ได้ประสงค์จะออกมาโต้แย้งอาจารย์เจ เพื่อปกป้องระบบและเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย หรือสร้างวิวาทะกับอาจารย์เจ ในเรื่องนี้ เพราะผมเองได้มองเห็น ทั้งข้อดีและข้อเสียของระบบและเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย เนื่องจากผมเองก็ได้ผ่านการขอกำหนดตำแหน่งวิชาการในทุกระดับมาหมดแล้ว ผมได้อยู่ในวงการวิชาการมหาวิทยาลัยไทยมาประมาณ 40 ปี เคยเป็นอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งวิชาการของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (อนุฯ กพอ.) ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และในปัจจุบันยังคงมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ (กพว.) ของมหาวิทยาลัยอยู่ด้วย ผมจึงเขียนโพสต์นี้ ด้วยความประสงค์จะช่วยให้ข้อเท็จจริงแก่อาจารย์เจและสังคมไทย และแสดงความคิดเห็นส่วนตัวบางประการเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง
เรี่องมหาวิทยาลัยไทยมีสัดส่วนของศาสตราจารย์ (ศ.) น้อยกว่ามหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นและของสหรัฐอเมริกานั้น ผมเห็นด้วย แต่สำหรับเรื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้ว อย่างที่ผมกล่าวไว้ว่าอาจารย์เจ มีข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งวิชาการของมหาวิทยาลัยไทยน้อย และข้อมูลไม่อัพเดต
ประเด็นใหญ่ๆ ที่อาจารย์เจกล่าวถึงในเรื่อง "วัฒนธรรมศักดินา" “การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ” "การเชือดไก่ให้ลิงดู" "การลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการโดยระบบโครงสร้างที่มีลักษณะรวมศูนย์" "การประเมินที่เปิดพื้นที่ให้กับการเมือง" ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ตรงกับข้อเท็จริง และผมเองมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากของอาจารย์เจมาก
ก่อนอื่น ถ้าหากอาจารย์เจ ต้องการจะทราบเรื่องเกี่ยวกับตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย ผมขอแนะนำให้อ่านประกาศ กพอ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ล่าสุด ที่ได้พัฒนาในหลายประเด็นให้ดีกว่าฉบับก่อนๆ แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก เพื่อที่จะได้ทราบหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยทุกแห่ง แม้จะมีการออกประกาศของตนเอง ก็ออกโดยอ้างอิงประกาศ กพอ. ปี พ.ศ. 2563 ฉบับนี้
เป็นเรื่องปกติที่หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน จึงย่อมจะมีข้อดีข้อเสียในบางเรื่องบางอย่างที่แตกต่างกันได้
หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย ฉบับปี พ.ศ. 2563 ร่วมทั้งฉบับก่อนหน้ามีข้อดี เหมือนๆ กันอย่างหนึ่ง คือ การให้อาจารย์ผู้ที่มีความพร้อม เป็นผู้ขอตำแหน่งวิชาการของตนเอง ในทุกๆ ระดับ และสามารถจะขอข้ามระดับ เช่น จากอาจารย์ไปเป็นรองศาสตราจารย์ (รศ.) หรือ ศาสตราจารย์ (ศ.) เลยก็ได้ การกำหนดไว้เช่นนี้ จึงไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวน หรือไม่ได้มีโควต้าตามที่อาจารย์เจเข้าใจแต่อย่างใด เหตุที่มหาวิทยาลัยไทยมีอาจารย์ที่มีตำแหน่งวิชาการในระดับต่างๆ โดยเฉพาะตำแหน่ง ศ. จำนวนน้อย มีสาเหตุหลายอย่าง แต่สาเหตุใหญ่ คือ ความไม่พร้อมของอาจารย์เองที่จะมีผลงานอย่างเพียงพอต่อการขอตำแหน่งวิชาการตามเกณฑ์ เพราะอาจารย์ยังมีอุปสรรคปัญหาต่างๆ ในการทำงานวิจัยและวิชาการเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเอง และความเข้มแข็งและการพัฒนาของมหาวิทยาลัย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อความเข้มแข็งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทยและประเทศไทย ซึ่งผู้ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้อง ควรจะให้ความสนใจและแก้ไข มหาวิทยาลัยไทยควรจะสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ระบบนิเวศ (Ecosystem) และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ให้เพียงพอ เพื่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถจะทำงานวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมได้มากๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยและมีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งวิชาการไปพร้อมๆ กันด้วย
การพิจารณาตำแหน่งวิชาการ แม้จะมีประกาศของเกณฑ์กลางให้อ้างอิง แต่ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องไปออกประกาศของตนเอง ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปของแต่ละมหาวิทยาลัย และการพิจารณาก็กระจายอำนาจไปดำเนินการกันเองของแต่ละมหาวิทยาลัย ไม่ใช่รวมศูนย์ตามที่อาจารย์เจเข้าใจ การแต่งตั้ง ผศ. และ รศ. แต่ละมหาวิทยาลัยก็ประกาศกันเอง แล้วแจ้งให้ กพอ. รับทราบ แต่การแต่งตั้ง ศ. เมื่อมหาวิทยาลัยพิจารณากันเองเสร็จแล้ว ก็จะต้องเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวง อว. นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้ในหลวงทรงโปรดเกล้าแต่งตั้ง โดย รมต.อว. จะให้ กพอ. และอนุฯ กพอ. เกี่ยวกับตำแหน่งวิชาการ ตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยตามเกณฑ์ก่อน
เรื่องเวลาปฏิบัติงานของอาจารย์ก่อนจะขอตำแหน่งวิชาการ ก็ไม่ได้กำหนดไว้นานแต่อย่างใด หากอาจารย์สำเร็จปริญญาเอก ปฏิบัติงานเพียง 1 ปี ก็สามารถจะขอตำแหน่ง ผศ. ได้แล้ว เมื่อได้ตำแหน่ง ผศ. ปฏิบัติงานอีก 2 ปี ก็สามารถขอตำแหน่ง รศ. และเมื่อได้ตำแหน่ง รศ. แล้ว ปฏิบัติงานอีก 2 ปี ก็สามารถจะขอตำแหน่ง ศ. ได้ รวมแล้ว หากอาจารย์มีความพร้อมและมีผลงานตามเกณฑ์ที่กำหนด ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก อาจารย์สามารถจะขอตำแหน่งวิชาการไปตามลำดับจนเป็น ศ. ได้ ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องระยะเวลาที่กำหนดไว้ในเกณฑ์ แต่เป็นเรื่องระยะเวลาที่อาจารย์จะสร้างผลงานวิจัยและวิชาการให้ได้เพียงพอตามเกณฑ์ต่างหาก
ความล่าช้าในการพิจารณาตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง และในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของไทยนั้น เป็นความจริง ซึ่งควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการให้เร็วขึ้น แต่แม้จะมีความล่าช้า การเริ่มนับเวลาเมื่ออาจารย์ได้รับตำแหน่ง มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะนับย้อนหลังให้ โดยเริ่มนับเวลาตั้งแต่เมื่ออาจารย์ยื่นเอกสารที่ครบถ้วนต่อมหาวิทยาลัยเพื่อขอตำแหน่งวิชาการ
ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยบางแห่ง (เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น) สามารถจะพิจารณาตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ในระดับ ผศ. และ รศ. ได้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 3-6 เดือนก็มี แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถจะพิจารณาได้เร็วเช่นนี้ ส่วนระดับ ศ. บางมหาวิทยาลัยก็สามารถจะพิจารณาได้เร็วเพียง 1 ปี แต่หลายๆ แห่งจะใช้เวลาพิจารณานานมาก เช่น 2-3 ปี เป็นต้น ซึ่งนานเกินไปและควรจะมีการปรับปรุงแก้ไข
การมีผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาตำแหน่งวิชาการตามเกณฑ์ ปี พ.ศ. 2563 ใช้จำนวน 3 คนหมดในทุกระดับ และทั้งแบบวิธีปกติและแบบวิธีพิเศษ (เช่น การขอข้ามระดับจากตำแหน่งอาจารย์ไปเป็น รศ. หรือ ศ. ซึ่งใช้เกณฑ์ความแตกต่างในเชิงคุณภาพ) และเป็นความจริงที่มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีตำแหน่งวิชาการสูงกว่า ตำแหน่งที่จะต้องพิจารณา ซึ่งก็มีเหตุผลในทางวิชาการและเหมาะสมแล้ว มิใช่หรือ วิธีปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งใช้ในการดำเนินการ พิจารณาผลงานวิชาการ เป็นระบบ Peer review คล้ายระบบพิจารณาผลงานวิจัยหรือวิชาการก่อนการตีพิมพ์ของวารสาร ซึ่งเป็นระบบที่ดี เพื่อลดและหลีกเลี่ยงการมีอคติ (Bias) และผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) คือผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องอยู่ต่างมหาวิทยาลัยกับผู้ขอตำแหน่งวิชาการ ไม่เคยเป็นอาจารย์และลูกศิษย์กัน และไม่ได้ทำงานวิจัย มีผลงานวิจัยและวิชาการร่วมกัน กระบวนการพิจารณาในขั้นตอนนี้ ก็ถือเป็นชั้นความลับ เพื่อป้องการล็อบบี้และการมีอิทธิพลต่อกันและกัน จนกว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จ จึงจะนำผลการพิจารณามาเช้าสู่การตรวจสอบและกลั่นกรองของ กพว. และสภามหาวิทยาลัย ก่อนจะแจ้งให้อาจารย์ผู้ขอตำแหน่งวิชาการรับทราบ และส่งเรื่องไปแจ้งต่อ อนุฯ กพว. และ กพว.
ผลงานวิจัยและวิชาการที่นำมาขอตำแหน่งวิชาการตามเกณฑ์ในแต่ละระดับ มีการกำหนดให้เป็นผลงานเพิ่มใหม่ ผลงานที่ใช้สำเร็จการศึกษา ได้คุณวุฒิและปริญญาไปแล้ว ไม่สามารถจะนำมาใช้ได้ เพราะการได้รับตำแหน่งวิชาการเป็นการกำหนดว่าเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิที่สูงขึ้น จึงไม่ควรจะเอาผลงานเก่าที่ใช้เพิ่มคุณวุฒิไปแล้ว มาขอกำหนดคุณวุฒิที่สูงขึ้นอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลและเหมาะสมแล้วเช่นกันมิใช่หรือ
ในเกณฑ์การขอตำแหน่งวิชาการฉบับใหม่ปี พ.ศ. 2563 นี้ มีช่องทางที่อาจารย์ ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในอีกบางสาขา (ตามที่ กพอ. กำหนด) ที่เก่ง ขยัน มีผลงานที่มีคุณภาพมาก มีการอ้างอิง (Citation) มากหรือมีผลกระทบมาก สามารถจะขอตำแหน่งวิชาการ ในระดับ รศ. และ ศ. ได้โดยไม่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิอ่านพิจารณาผลงาน แต่ใช้ผลงานซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based outputs) คือ ใช้ผลงานวิจัยที่อาจารย์ผู้ขอตำแหน่งเป็นชื่อแรก (First author) หรือเป็นผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding author) จำนวนการอ้างอิงผลงาน (Citation) ค่า h-index และการเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย (Principal investigator) จำนวนมากน้อยตามระดับ รศ. หรือ ศ. แนวทางนี้มีความเป็นสากล ไม่ต้องอิงต่อการพิจารณาและใช้ดุลยพินิจของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นไปในลักษณะอัตวิสัยและมีความแตกต่างหลากหลายกันได้มาก
ข้อดีของเกณฑ์การขอตำแหน่งวิชาการ ตามประกาศ กพอ. ปี พ.ศ. 2563 มีอยู่มากตามที่เขียนไว้นี้ แต่ยังหาใช่ประกาศของเกณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ เพราะในประกาศฉบับนี้มีการใช้เกณฑ์คนละแบบกัน ระหว่างสาขาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี กับสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ (เช่น การใช้แต่หนังสือโดยไม่ต้องมีการทำวิจัย ถ้าทำงานวิจัยก็ไม่ต้องตีพิมพ์แม้จะกำหนดให้มีการเผยแพร่ หรือถ้าตีพิมพ์ วารสารก็ไม่ต้องอยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติ เป็นต้น) จึงทำให้เกิดลักษณะสองมาตรฐาน (Double standard) ขึ้น การกำหนดให้เกณฑ์การขอตำแหน่งวิชาการของสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ อ่อนลง เป็นการทำให้วิชาการในสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งอ่อนแออยู่แล้ว ยิ่งอ่อนแอลง แทนที่จะกำหนดเกณฑ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เข้มแข็งขึ้น
ในขณะนี้ กำลังมีความพยายามที่จะแก้ไขเกณฑ์ตามประกาศ กพอ. ปี พ.ศ. 2563 ของสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ซึ่งอ่อนมากอยู่แล้ว ให้อ่อนลงไปอีก การแก้ไขเกณฑ์ให้อ่อนและง่าย ด้วยความต้องการเพิ่มตำแหน่งวิชาการของสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แบบไม่เข้าใจสาเหตุจึงเป็นการเดินผิดทางในเรื่องนี้ แทนที่จะไปสร้างระบบพัฒนาทักษะทางด้านงานวิจัยและวิชาการ (Research and academic skills) ของอาจารย์มหาวิทยาลัย การสร้างระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง (Mentoring system) การสร้างระบบเกื้อหนุนและนิเวศของการทำงานวิจัยและวิชาการ (Research and academic ecosystem) ภายในมหาวิทยาลัยและคณะวิชาต่างๆ จึงกลับกลายเป็นการทำลายวิชาการในสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ของประเทศไทยให้อ่อนแอลงไปอีก ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจและการเอาง่ายเข้าว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
โฆษณา