20 มิ.ย. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
พระทัพพมัลลบุตร (๒)
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมอันบริสุทธิ์ ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ จะสามารถยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ให้บริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับ เมื่อจิตสะอาดบริสุทธิ์เต็มที่ ก็จะสามารถหยั่งลงสู่อริยมรรค เส้นทางสายกลางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฉะนั้นการปฏิบัติตนให้ดำรงอยู่ในหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย มีชีวิตที่รอดปลอดภัยในสังสารวัฏ และสามารถข้ามห้วงแห่งวัฏทุกข์ ไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้ในที่สุด
1
มีวาระแห่งพระบาลีที่ปรากฏใน ภตสูตร ความว่า…
 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ได้รับเชิญให้มาบังเกิดบนสวรรค์ ธรรม ๕ ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ ปรารภความเพียร มีปัญญา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ได้รับเชิญมาบังเกิดบนสวรรค์
ผู้ที่มีธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ จะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ใช้ได้กับทุก ๆ คน ถ้าปฏิบัติตามแล้วจะพ้นจากอบายภูมิ ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อย่างแน่นอน พระพุทธองค์ได้ตรัสหนทางไปสวรรค์แล้ว ผู้มีหิริโอตตัปปะคือมีความละอายต่อการทำความชั่ว และเกรงกลัวต่อผลของบาป ทำให้ไม่ต้องไปรับใช้กรรมในอบายภูมิ แต่จะพากเพียรพยายามทำบุญกุศลให้มาก ๆ ใช้สติปัญญาไตร่ตรองว่าช่วงเวลาอันแสนสั้นในโลกมนุษย์นี้ ทำอย่างไรถึงจะได้บุญใหญ่ ทางใดเป็นหนทางสู่สวรรค์นิพพาน ก็จะขวนขวายประพฤติปฏิบัติอย่างไม่ย่อท้อ เมื่อคิด พูด ทำ แต่เรื่องดี เป็นประจำ ครั้นละโลกไปแล้ว กุศลกรรมย่อมนำไปสู่สุคติสวรรค์ได้โดยไม่ยาก
เมื่อตอนที่แล้ว ได้เล่าถึงอัตชีวประวัติของท่านพระทัพพมัลลบุตรเถระ คราวนี้เรามาศึกษากันต่อ คือ หลังจากที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ด้วยวัยเพียง ๗ ขวบเท่านั้น จากนั้น ท่านได้เป็นผู้ขวนขวายกิจการงานของสงฆ์ โดยรับหน้าที่เป็น ผู้จัดแจงเสนาสนะ และเป็นพระภัตตุเทศก์ จัดแจงกิจนิมนต์ต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับท่านว่า ทัพพะ เธอยังเยาว์นัก แต่ดำรงตำแหน่งใหญ่ เธอสมควรที่จะได้รับการอุปสมบท เมื่อตรัสแล้ว พระพุทธองค์ทรงให้ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในขณะที่ท่านมีอายุได้เพียง ๗ ขวบเท่านั้นเอง นี้เป็นบุญเก่าของท่านที่อธิษฐานมาดี ทำให้ได้บวชเป็นพระตั้งแต่ ๗ ขวบ เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ท่านทำหน้าที่แจกแจงเสนาสนะ พร้อมทั้งดูเรื่องการนิมนต์พระไปยังสถานที่ที่ทายกทายิกาทั้งหลายนิมนต์ไว้
การจัดแจงเสนาสนะของพระเถระ ทำได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นระเบียบเรียบร้อย แยกเป็นสัดเป็นส่วน โดยจัดให้เหล่าภิกษุที่มีจริตอัธยาศัยตรงกันอยู่ในเสนาสนะเดียวกัน พวกภิกษุที่ถนัดเรื่องพระสูตร ก็จัดให้อยู่ส่วนหนึ่ง พวกที่ถนัดเรื่องวินัย ก็จัดให้อยู่อีกส่วนหนึ่ง พวกที่เป็นพระธรรมกถึก ก็จัดให้อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง ฝ่ายพวกที่ชอบทางสมถวิปัสสนา ก็จัดให้อยู่อีกส่วนหนึ่ง ส่วนพวกที่ชอบสนทนา ก็จัดไว้ให้อยู่อีกสถานที่หนึ่งต่างหาก เพื่อความเป็นอยู่อย่างผาสุกของหมู่สงฆ์ ไม่สร้างความรำคาญแก่กัน
บางคราวเมื่อมีพระอาคันตุกะมาในวัดยามวิกาล ท่านก็จะเข้าเตโชธาตุ บันดาลให้เกิดแสงสว่าง และจัดแจงเสนาสนะให้ บางรูปคิดจะแกล้งท่าน เพื่อจะดูปาฏิหาริย์ โดยขอร้องท่านให้ไปจัดเสนาสนะในที่ไกล ๆ เช่น ที่ภูเขาคิชฌกูฏบ้าง ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหาบ้าง ข้างภูเขาเวภารบรรพตบ้าง เป็นต้น พระเถระก็จัดแจงให้ตามความต้องการของพระภิกษุรูปนั้น ๆ เมื่อจัดแจงแล้ว ก็เชื้อเชิญด้วยถ้อยคำที่ไพเราะว่า ท่านขอรับ นี่เตียง นี่ตั่ง นี่ที่นอน นี่ที่ขับถ่าย นี่น้ำใช้ นี่น้ำฉัน นอกจากนั้น ท่านยังบอกธรรมเนียมข้อปฏิบัติให้กับพระภิกษุทั้งหลาย ผู้เข้ามาพักในที่ต่าง ๆ ได้ทราบด้วย
ท่านจัดแจงเสนาสนะอย่างรอบคอบ และชาญฉลาด กิจการงานของสงฆ์จึงสำเร็จเรียบร้อย จะหาผู้อื่นที่ทำได้อย่างท่านไม่ได้อีกแล้ว จึงทำให้ท่านได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศที่สุดในทางจัดแจงเสนาสนะมีอย่างเหมาะสม รวมถึงการทำหน้าที่เป็นภัตตุเทศก์ ซึ่งท่านสามารถจัดพระไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่มีผู้นิมนต์โดยทั่วถึง ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งขาดตกบกพร่อง โดยท่านจัดตามลำดับพระเถระ และอาวุโส ไม่เคยทำให้เกิดความลักลั่น หรือมีอคติใด ๆ จึงเป็นที่ชื่นชมของหมู่สงฆ์โดย ถ้วนหน้า
แม้ท่านจะตั้งใจทำหน้าที่อย่างดีขนาดนี้ แต่ไม่แคล้วที่จะเกิดเรื่องขึ้นจนได้ คือในสมัยนั้น ชาวเมืองราชคฤห์มีความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์สามเณรทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันตกแต่งบิณฑบาต โดยจัดแจงอาหารหวานคาวที่มีรสอร่อยประณีตถวาย ซึ่งแต่ละคนต่างทำกันสุดฝีมือของตน บางคนมีทรัพย์น้อย ก็มีเพียงปลายข้าวกับน้ำผักดองถวาย แต่บังเอิญพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ มักจะได้แต่อาหารประเภทนี้เป็นประจำ
วันหนึ่ง เมื่อท่านทั้งสองกลับจากบิณฑบาต ได้พบกับพระทัพพมัลลบุตร จึงถามว่า ท่านไปบิณฑบาตมา ได้อาหารอะไรมาบ้าง เมื่อได้รับคำตอบจากพระเถระ ท่านทั้งสองจึงบอกถึงอาหารที่ตนได้รับในวันนั้นบ้างว่า วันนี้พวกกระผม ได้รับแต่ปลายข้าวกับน้ำผักดองเท่านั้น พระเถระฟังแล้วเกิดมหากรุณา อยากให้ท่านทั้งสองได้ฉันอาหารที่ประณีต จึงนิมนต์ให้ไปฉันที่บ้านของท่านคฤหบดีในวันรุ่งขึ้น ซึ่งในสมัยนั้น ท่านกัลยาณภัตติกคฤหบดี จะจัดภัตตาหารอันประณีตถวายแด่พระสงฆ์วันละ ๔ รูปทุกวัน อีกทั้งท่านคฤหบดีพร้อมด้วยบุตร และภรรยาจะคอยอุปัฏฐากรับใช้คณะสงฆ์ด้วยตนเองด้วยความเคารพเลื่อมใสยิ่งนัก
ในวันนั้น ท่านทานบดีมีกิจธุระจะต้องไปที่วัด และได้แวะเข้าไปกราบพระทัพพมัลลบุตร เมื่อท่านฟังธรรมกถาจากพระเถระจนปีติเบิกบานใจและลากลับ ก่อนกลับท่านรู้ว่า วันพรุ่งนี้พระเมตติยะ และพระภุมมชกะจะไปฉันที่บ้าน แต่ท่านเศรษฐีไม่อยากให้ท่านทั้งสองเข้าไปในบ้าน เพราะกิตติศัพท์ในทางไม่ดีของภิกษุฉัพพัคคีย์ดังมาก เมื่อกลับถึงบ้าน ก็สั่งคนใช้ให้จัดอาสนะที่ซุ้มประตู และให้ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุที่จะมาฉันในวันพรุ่งนี้ ด้วยปลายข้าวกับน้ำผักดองเท่านั้น
ฝ่ายพระภิกษุทั้ง ๒ รูป รู้ตัวว่า พรุ่งนี้จะได้ฉันภัตตาหารที่บ้านของท่านกัลยาณภัตติกคฤหบดี คืนวันนั้นจึงนอน ไม่ค่อยหลับ เพราะดีใจที่จะได้ฉันอาหารอร่อยๆ ครั้นรุ่งเช้า ทั้งสองรูปรีบพากันไปที่บ้านของท่านคฤหบดี นึกกระหยิ่มอยู่ในใจว่า นานๆ ครั้งถึงจะโชคดี มีโอกาสมาฉันในเรือนของคฤหบดีผู้มีทรัพย์มาก วันนี้เราคงจะได้ปัจจัยไทยธรรมมากมายแน่นอน เดินไปนึกไป นึกไปยิ้มไป ภิกษุทั้งสองรูปจะเกิดความรู้สึกเช่นไรกับเหตุการณ์นั้น ไว้ศึกษากันต่อในตอนต่อไป
จะเห็นได้ว่า ท่านพระทัพพมัลลบุตร ถึงแม้ว่าจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เสร็จกิจของการประพฤติพรหมจรรย์แล้ว ท่านยังมีความเสียสละ รับเป็นธุระในกิจการงาน ของสงฆ์ เป็นการกระทำที่น่ายกย่อง และเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี แม้พวกเราจะมีภารกิจการงานมาก แต่สิ่งใดที่เป็นเรื่องของส่วนรวม ของหมู่คณะ ของพระพุทธศาสนา เราจะต้องช่วยกัน ทั้งให้การสนับสนุน และคอยสอดส่องดูแลปกป้องผองภัย ให้เกิดความผาสุกในสังฆมณฑล และดำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ดังที่พระทัพพมัลลบุตร ท่านได้แสดงความรับผิดชอบต่องานพระพุทธศาสนา
บุญนี้จะคอยปกป้องคุ้มครอง ทำให้เราพ้นจากภยันตรายทั้งปวง ไม่มีคนมาคิดร้ายปองร้าย ห่างไกลจากคนภัยคนพาล เป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย และเมื่อปฏิบัติธรรมก็จะปฏิบัติได้สะดวก เข้าถึงธรรมได้อย่างง่ายดาย รู้แจ้งเห็นแจ้งในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างทะลุปรุโปร่ง
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔ หน้า ๔๖๔ – ๔๗๔
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ประวัติพระทัพพมัลลบุตร..... เล่ม ๓๒.... หน้า ๔๒๓
พระเมตติยะและพระกุมมชกะ เล่ม ๓ หน้า ๔๕๐
โฆษณา