19 มิ.ย. 2021 เวลา 12:21 • ท่องเที่ยว
วัดมหาธาตุ .. อดีตอันงดงาม ณ เมืองเก่าสุโขทัย
“มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข”
สุโขทัย ... รุ่งอรุณแห่งความสุข คือความหมายของชื่อจังหวัด สุโขทัย
 
สุโขทัย ... เป็นอาณาจักรยุคต้นประวัติศาสตร์ชาติไทย พื้นที่บริเวณนี้พัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมือง กระทั่งขยายใหญ่ขึ้นเป็นแว่นแคว้นที่สำคัญแห่งหนึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ด้วยตั้งอยู่ในทำเลซึ่งเป็นชุมทางการติดต่อ คมนาคม และการค้าขายของผู้คนระหว่างภูมิภาค
อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองที่สุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ด้วยพระองค์เป็นทั้งนักรบและนักปกครองที่สามารถ ... แต่หลังจากนั้นอาณาจักรก็เสื่อมลง และในที่สุดเมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 แห่งสุโขทัยสวรรคต สุโขทัยและบ้านเมืองในแว่นแคว้นนี้ ก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาโดยสมบูรณ์
สุโขทัย ... ยิ่งใหญ่ในใจคนไทยทุกคน นับตั้งแต่สุโขทัย ก่อตั้งเป็นอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อราว 800 ปีที่แล้ว จนมาถึงปัจจุบัน เป็นยุคทองของหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น การกำเนิดลายสือไทย ความเจริญรุ่งเรืองในพุทธศาสนา และการปกครองราษฎรที่เรียกว่า “พ่อปกครองลูก” ประชาชนสามารถเข้าถึงผู้ปกครองได้
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
“อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย... เป็นสถานที่เป็นตัวแทนของภาพความเจริญและความมีเอกลักษณ์ทางศิลปะของไทยในสมัยสุโขทัยได้เป็นอย่างดี และการได้รับยกย่องให้เป็น “มรดกโลก” จากองค์การ UNESCO เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534
วัดสระศรี เดิมชื่อ ตระพังตระกวน ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ มีอุโบสถขนาดเล็ก และมีสะพานไม้สีแดงเชื่อมต่อไปยังเจดีย์ทรงลังกา มีซุ้มพระพุทธรูปสี่ทิศ
อุทยานฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 70 ตร.กม. ซึ่งทุกก้าวย่าง ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของอดีตเมืองสุโขทัย ... เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางการปกครอง ศาสนา และเศรษฐกิจ ผ่านสถานที่สำคัญที่เป็นพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัยซึ่งมีอยู่มากมาย
ภายในกำแพงเมืองสุโขทัย อันกลายมาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในวันนี้ มีวัดวาอารามสำคัญมากมาย ซึ่งวัดที่สำคัญที่สุด เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุโขทัยก็คือ “วัดมหาธาตุ” ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง
ในจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงบรรทุกถึงวัดนี้ไว้ว่า ... กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีปู่ครูนิสับมุติก์ มีเถร มีมหาเถร ...
“วัดมหาธาตุ”... วัดที่สำคัญ และใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัยในยุคนั้น ด้วยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนานิกายเถรวาทในลัทธิลังกาวงศ์ที่ว่า เมืองใหญ่นั้นต้องมัวัดมหาธาตุอยู่กลางเมือง เสมือนเป็นศูนย์รวมจิตใจ วิญญาณ ละความศักดิ์สิทธิ์
วัดแห่งนี้ ... โดดเด่นไปด้วยพระเจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อันเป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้เเต่ดั้งเดิม เป็นเจดีย์ประธานที่ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์บนฐานเดียวกัน ที่ด้านเหนือและด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระเรียกว่าพระอัฏฐารส
วัดแห่งนี้ ยังประกอบไปด้วยวิหาร 10 หลัง มณฑป 8 องค์ อุโบสถ 1 หลัง ตระพังหรือสระน้ำ 4 แห่ง และเจดีย์รายกว่า 200 องค์ ..
เมื่อมองจากด้านหน้าวัดมหาธาตุเข้าไป ... จะเห็นเสาศิลาแลงของวิหารที่ยังหลงเหลืออยู่ตั้งเรียงรายเป็นแถวนำสายตาสู่พระประธานองค์โตที่ประดิษฐานอยู่บนฐานที่ยกระดับสูงไปจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ส่วนที่ด้านหลังองค์พระประธานก็จะโดดเด่นไปด้วยองค์เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูม นับเป็นองค์ประกอบแห่งความงามทางพุทธศิลป์ที่ดูเคร่งขรึมแต่ว่าก็แฝงไปด้วยความงดงามอ่อนช้อยไม่น้อยทีเดียว
นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า บริเวณลานวัดด้านหนึ่งของพระประธาน“ขอมดำดิน” เคยมาพบกับ“พระร่วง”และด้วยวาจาอันสิทธิ์ของพระร่วงทำให้ขอมกลายเป็นหินอยู่ ณ ที่ตรงนั้น
สิ่งสำคัญๆในวัดมหาธาตุ มีพอสังเขปดังนี้
1. มหาธาตุเจดีย์ .. เป็นเจดีย์ประธานของวัด ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์นี้อาจจะหมายถึง พระธ่ตุเจดีย์จุฬามณ๊ ตามคติความเชื่อที่ว่า พระอินทร์สร้างพระธาตุเจดีย์นี้ไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อประดิษฐานเกศาและพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า
2. ลายปูนปั้นตอนปรินืพพาน ... ประดับอยู่ที่หน้าบันด้านใต้ของเจดีย์ทรงปราสาท แสดงภาพพุทธประวัติตอนเสด็จปรินิพพาน ด้านล่างมีปูนปั้นรูปพระสาวกกำลังร้องไห้เสียใจ ซุ้มกรอบหน้านางที่ครอบหน้าบันนี้ มีลายปูนปั้นเก่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์
3. ลายปูนปั้นตอนประสูติ .. ประดับอยู่ที่หน้าบันด้านตะวันออกของเจดีย์ทรงปราสาท แสดงภาพพุทธประวัติตอนประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ
4. กลุ่มเจดีย์กลาง
ในกลุ่มเจดีย์กลางนี้ … งานปูนปั้นนูนสูงรูปพระสาวกเดินพนมมือรอบฐานไพทีกลุ่มเจดีย์กลาง เป็นงานซ่อมใหม่เมื่อราวปี พ.ศ. 2500 โดยยึดตามแบบเดิม
5. วิหารหลวง .. เชื่อว่าเคยเป็นสถานที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปองค์สำคัญซึ่งหล่อด้วยสำริดในสมัยพระยาลิไท หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ ปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบศิลปะสุโขทัย .. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดสุทัศเทพวราราม ในกรุงเทพฯ
6. มณฑปพระอัฏฐารส .. ในสมัยสุโขทัยเรียกพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ว่า พระอัฏฐารส คำว่า “อัฏฐารส” ในภาษาบาลีแปลว่า สิบแปด จึงนิยมสร้างให้สูง 18 ศอก หรือราว 9 เมตร เป็นคติลังกาว่า พระพุทธรูปองค์นี้สูงเท่านี้
ในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี ออรรถกถาของคัมภีร์พุทธวงศ์ และพระไตรปิฏกขุททกนิกายพุทธวงศ์ ของนิกายลังกาวงศ์ ได้กล่าวถึงชื่อนามของ “พระอัฎฺฐารส” (อัด-ถา-ระ-สะ) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีความหมายเป็น “ปมาณเวมัตตะ” (ประมาณความสูง) ของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์เมื่อครั้งยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ โดยกล่าวถึงพระพุทธเจ้าสมณโคตมไว้ว่า “อมฺหากํ ภควา อฏฺฐรส หตฺถุพฺเพโธ อโหสิ” แปลความว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรานั้นมีความสูง 18 ศอก” (9 เมตร) ในขณะที่พระอดีตพุทธเจ้าทั้งหลายในกัลป์ก่อนหน้านั้น มีความสูง 80 ศอก (40 เมตร)
คำว่า “อัฏฐารส” ยังปรากฏใน “อัฏฐารสพุทธธรรม” จากคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาอธิบายความในพระสุตตันตปิฎก หมวดทีฆนิกาย ที่คัดลอกแปลจากภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลีโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ที่กล่าวถึง “รูปธรรมแห่งพระพุทธเจ้า 18 ประการ” ที่ประกอบด้วย กายไม่ทุจริต วจีไม่ทุจริต มโนไม่ทุจริต พระพุทธญาณไม่ติดขัดในอดีต พระพุทธญาณไม่ติดขัดในอนาคต พระพุทธญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน กายกรรมทั้งปวงคล้อยตามพระญาณ วจีกรรมทั้งปวงคล้อยตามพระญาณ มโนกรรมทั้งปวงคล้อยตามพระญาณ ไม่เสื่อมฉันทะ ไม่เสื่อมวิริยะ ไม่เสื่อมสติ ไม่มีการเล่นเกิน ไม่มีพลั้งปาก ไม่มีกระทำการพลาด ไม่มีหุนหัน มีพระทัยขวนขวาย และไม่มีอกุศลจิต
Ref : EJeabAcademy
7. กรุ ... เมื่อปี พ.ศ. 2536 กรมศิลปากรขุดพบกรุสี่แห่งในเจดีย์รายองค์นี้ ภายในบรรจุพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 1-2 ศอก
รอบๆบริเวณ มีเจดีย์รายอยู่เป็นจำนวนมาก
8. เจดีย์ห้ายอด ... เชื่อกันว่าเจดีย์องค์นี้บรรจุพระบรมอัฏฐิของพระยาลิไท กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของสุโขทัย
นอกจากนี้ที่ฐานเจดีย์ยัประดับด้วยลายปูนปั้นเป็นรูปยักษ์ ช้าง และสิงห์ทำท่าแบกฐานเจดีย์ เป็นการแสดงความเทิดทูนพระศาสนา โดยยอมรับภาระอันหนักหน่วงไว้
รูปศิลปะงานปูนปั้น“คนแคระ-ยักษ์แคระ-คุหยกะ” บริเวณรั้วกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมพระเจดีย์พระมหาธรรมราชาลิไท เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม ทางฝั่งทิศใต้ของวัดมหาธาตุสุโขทัย เป็นคติความเชื่อและงานศิลปะในช่วงวัฒนธรรมทางพุทธศาสนายุค “โปโลนนารุวะ” (Polonnaruwa) และ “คัมโปละ” (Gampola) จากเกาะลังกา มาตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19
ปกรณัมที่บอกเล่าเรื่องราวของ “ยักษ์แคระ” ซึ่งเป็นผู้ชดใช้บาปกรรมด้วยการแบกในคติลังกา คงพบเห็นได้เฉพาะที่ผนังกำแพงแก้ว กลุ่มเจดีย์ด้านทิศใต้ของวัดมหาธาตุสุโขทัย สลับกับรูปช้างและสิงห์ในท่าทางที่แปลกตา แต่ยังคงเค้ากลิ่นอายของศิลปะลังกาผสมผสานศิลปะสุโขทัยพื้นถิ่นในอดีต ที่ยังรักษา “ขนบแบบแผนเก่าแก่” ด้วยอาการแบกยกที่มีรอยยิ้มสนุกสนาน (จากการได้ทำความดีชดใช้กรรม) หันหน้าไปเล่นกับเพื่อนคนแคระด้านข้างแล้ว และแต่งอาภรณ์ประดับประดา แต่ยังถูกพันเชือกรัดพันธนาการด้วยเพราะเป็น “ผู้ถูกลงทัณฑ์” ให้ชดใช้บาปกรรม
นับเป็นร่องรอยความสัมพันธ์ สุโขทัย-ลังกา ที่คงเหลือในงานศิลปะจากโลกยุคโบราณมาจนถึงในปัจจุบัน เพียงแห่งเดียวที่วัดมหาธาตุสุโขทัย
Ref : EJeabAcademy
“วัดศรีสวาย” .. วัดที่สร้างในรูปแบบศิลปะแบบขอม ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ เป็นศิลปะแบบลพบุรี ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยแบบจีน และยังได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วได้ต่อเติมเป็นวัดในพุทธศาสนาในภายหลัง
ขณะก้าวเท้าตามทางเดิน ในขณะท่าสายตาจับจ้องไปยังโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย .. ในใจของฉันก็จินตนาการถึงความรุ่งเรืองในอดีตของราชธานีแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย ..
… วัดวาอารามต่างๆที่อยู่ตรงหน้านี้ เมื่อในอดีตก็คงจะมีความงดงามอลังการมากมาย แม้ว่าเวลาที่ผ่านไปหลายร้อยปี ได้ทำให้ความงดงามเหล่านั้นด้อยลง หรือผุพังไปตามกาลเวลา
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา