20 มิ.ย. 2021 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
ใกล้สูญพันธุ์ - นักอนุรักษ์เสนอปรับสถานะโคอาล่า-จี้รัฐบาลออสเตรเลียเร่งดูแล
เมื่อปี 2019 หลังเหตุไฟป่าครั้งวิบัติของออสเตรเลียได้สิ้นสุดลง มูลนิธิโคอาล่าแห่งออสเตรเลียได้ออกประกาศว่า เจ้าสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศชนิดนี้ได้ “สูญพันธุ์ตามหน้าที่” ไปเป็นที่เรียบร้อย !
คำว่า “สูญพันธุ์ตามหน้าที่” นั้นหมายถึง สัตว์ชนิดนั้น (ฝูงนั้น) ไม่สามารถกำเนิดลูกได้อีกแล้ว และไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองให้กับระบบนิเวศได้อีกต่อไป (หรือทำหน้าที่ได้แย่ลงเรื่อยๆ)
ในกรณีของ “โคอาล่า” ถือเป็นอย่างหลัง
แต่ก็มีเสียงคัดค้านว่ายังเร็วเกินไปสำหรับการประกาศคำนี้ออกมา เพราะจำนวนโคอาล่ายังเหลืออยู่อีกตั้ง 300,000 ตัว (แต่ข้อมูลของมูลนิธิโคอาล่าแห่งออสเตรเลียบอกว่าเหลือแค่ 80,000 ตัว)
อีกทั้งไฟป่าก็ไม่ได้ทำลายที่อยู่อาศัยของโคอาล่าไปทั้งหมด
แม้รัฐนิวเซาท์เวลส์จะเสียหายหนักและมีโคอาล่าตายไปเป็นจำนวนมาก แต่ที่อยู่อาศัยอื่นๆ ของโคอาล่าก็ยังมีอยู่อีกพอสมควร
ซึ่งนอกจากรัฐนิวเซาท์เวลส์แล้ว ยังมีป่าที่ควีนแลนด์ รัฐวิกตอเรีย รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ที่โคอาล่าใช้เป็นที่อยู่อาศัย
แต่ที่ถือว่ามีมากจริงๆ คือที่นิวเซาท์เวลส์และควีนแลนด์
และคำประกาศของมูลนิธิโคอาล่าแห่งออสเตรเลีย ที่ทำให้เรื่องโคอาล่าสูญพันธุ์กลายเป็นข่าวฮือฮาชวนกังวลนั้น ก็หาได้เป็นประกาศทางการไม่
สถานะการอนุรักษ์ในการจัดอันดับแบบเป็นทางการของ IUCN ยังระบุให้โคอาล่าอยู่ในสถานะ “สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์” (VU - Vulnerable species) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเก่า
อย่างไรก็ตาม พอมีไฟป่าเกิดขึ้นแบบรุนแรงซ้ำเข้าในปีต่อมา บวกเข้ากับความเฉื่อยแฉะของรัฐบาลออสเตรเลีย ก็เริ่มทำให้หน่วยงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าเริ่มอดรนทนไม่ไหว เตรียมยื่นเรื่องเสนอให้โคอาล่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN - Endangered species) จริงๆ เสียที
โดยมีองค์กรสัตว์ป่าระดับนานาชาติอย่าง WWF, International Fund for Animal Welfare และ Humane Society International เป็นแกนนำในการดำเนินการเรื่องนี้
อันที่จริง หลังเหตุไฟป่ารุนแรงสองปีซ้อน รัฐบาลของออสเตรเลียก็ได้ทำแผนอนุรักษ์โคอาล่าเอาไว้บ้าง
โดยได้ตั้งงบไว้ 14 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 311 ล้านบาท เพื่อทำแผนสำรวจและนับจำนวนโคอาล่าทั้งประเทศว่าพวกมันอาศัยอยู่ที่ไหน และเหลือทั้งหมดเท่าไหร่
รวมถึงการเรื่องการดูแลรักษาโคอาล่าที่เจ็บป่วยจากไฟป่าและโรคภัยอื่นๆ
แต่แผนการดังกล่าวก็ถูกนักอนุรักษ์ตอกกลับไปว่า มันไม่ใช่เวลามามัวนั่งนับจำนวนกันอยู่นะโว้ย! สิ่งที่ต้องทำคือการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับโคอาล่าต่างหาก
ซึ่งการผลักดันให้โคอาล่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์นี้ โดยหลักการแล้วมันเป็นการบังคับให้รัฐบาลที่มีสัตว์ป่าชนิดนั้นอยู่ในมือ ต้องปรับกฎหมาย ออกระเบียบ และเพิ่มขั้นตอนการอนุรักษ์ต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น
เปรียบเทียบกับงานอนุรักษ์ในประเทศไทย ก็เหมือนกับการประกาศให้สัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือเป็นสัตว์ป่าสงวน
แผนการดูแล และโทษปรับเมื่อมีคนเข้าไปทำร้ายจะหนักเบาแตกต่างกันไป
และยังรวมถึงเรื่องงบประมาณที่มีไว้ใช้ในการจัดการสัตว์ชนิดนั้นๆ
เหตุที่มีการเสนอปรับสถานะให้ดูแย่ลงนี้ นักอนุรักษ์มองว่าปัจจุบันพวกโคอาล่ากำลังถูกคุกคามจริงๆ และพวกมันก็ไม่ควรหายไปจากพนาไพรที่ไหนของประเทศ
โดยเฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่โดนไฟป่าเล่นงานหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
ตามการคำนวน ถ้ารัฐบาลยังไม่จริงจังหรือลงมือทำอะไร นอกจากการนับจำนวนโคอาล่า - โคอาล่าจะหายไปจากรัฐนิวเซาท์เวลส์โดยสิ้นเชิงในอีก 30 ปี หรือปี 2050
ซึ่งไฟป่าสองปีหลังนี้ ฆ่าโคอาล่ารวมกันถึง 6,400 ตัว
หรือต่อให้รัฐบาลแสดงอภินิหารทำให้ไฟป่าหายไปได้โดยสิ้นเชิง โคอาล่าก็ยังไม่วายต้องตายจากไปเพราะภัยแล้ง ต้นยูคาลิปตัสที่น้อยลงอาหารลดลง โรคระบาด โดนหมากัด ไปจนถึงการถูกรถชนอยู่ดี
ส่วนที่ควีนแลนด์นั้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โคอาล่าลดลงไป 50% จากเหตุผลแบบเดียวกัน
ชะตากรรมของโคอาล่าจะดูว่ามีหวังก็เหมือนยังมี จะดูว่ามืดมนมันก็ใช่
ณ วันนี้คล้ายกับเรากำลังยืนอยู่บนทางแยก
จะเดินไปหาแสงกว่างหรือความมืดมน ก็คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล และเสียงเรียกของประชาชน
#IsLIFE #Koala #Extinction
อ้างอิง
The Conversation : https://bit.ly/2SCFZVL
National Geographic : https://on.natgeo.com/3vIYd5j
Australia Koala Foundation : https://bit.ly/3xDLQJf
Xinhua Thai : https://bit.ly/3zBN0qh
The Guardian : https://bit.ly/3wCg2nT
Photo : Sarah_00 l pixabay
โฆษณา