21 มิ.ย. 2021 เวลา 07:24 • อาหาร
มัสมั่น แกงแก้วตา
หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง                 
แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน
แกงไก่มัสมั่นเนื้อ             นพคุณ พี่เอย
หอมยี่หร่ารสฉุน                    เฉียบร้อน
ชายใดบริโภคภุญช์               พิศวาส หวังนา
แรงอยากยอหัตถ์ข้อน            อกให้หวนแสวง
ขอบคุณข้อมูลจาก https://board.postjung.com/651658
สันนิษฐานว่าคำว่า “มัสมั่น” มาจากภาษาเปอร์เซียคำว่า مسلمان (มุสลิมมาน) ซึ่งหมายถึง ชาวมุสลิม ชาวไทยมุสลิมมักเรียกแกงชนิดนี้ว่า ซาละหมั่น
“มัสมั่น” ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกจนกลายเป็นเมนูอาหารไทยที่ได้รับความนิยมในต่างแดนไปแล้ว
อาหารไทย 5 เมนูที่เป็นจุดเริ่มต้นและมีส่วนช่วยให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยในหลายมิติขึ้น มาดูกันค่ะมีอะไรบ้าง
1. ต้มยำกุ้ง
2. แกงเขียวหวาน
3. ส้มตำ
4. ผัดไท
5. มัสมั่น
แม้ว่าปัจจุบัน มัสมั่นจะมีสัญชาติเป็นอาหารไทย แต่จุดเริ่มต้นของมัสมั่นนั้นต้นตำรับมาจากอินเดีย
และในประเทศไทยนั้นเกิดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโน่น ซึ่งนำเข้ามาโดยชาวเปอร์เซีย
เส้นทางเครื่องเทศ
เส้นทางเครื่องเทศ
ในอดีตเส้นทางการค้าเครื่องเทศมีอยู่ 2 เส้นทางหลักคือ
หนึ่ง เส้นทางทางบก ผ่านเส้นทางที่เรียกว่า The Silk Road หรือทางสายไหม ซึ่งมีปลายทางอยู่ที่จีน
สอง เส้นทางทางทะเล ที่ผ่านทะเลแดง มาผ่านบริเวณพื้นที่ของชาวอาหรับ โดยเฉพาะเมืองท่าอเล็กซานเดรีย (ในประเทศอียิปต์ปัจจุบัน) จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าเครื่องเทศที่สำคัญในยุคก่อน ไปจนถึงแหล่งเครื่องเทศในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี เส้นทางที่มีปริมาณการค้ามากกว่าก็คือ เส้นทางทางทะเล
บ้านเราเมืองไทยที่ตั้งอยู่ในวิสัยที่จะได้รับอิทธิพลของเส้นทางสายไหมทั้งบกและทะเล เราอยู่ไม่ห่างจากหมู่เกาะโมลุกะและเรามีการติดต่อค้าขายกับแขกเปอร์เซียที่มาได้ดิบได้ดีในราชสำนักอยุธยา (ถึงตรงนี้แล้วภาพหลวงศรียศในบุพเพสันนิวาส ลอยเข้าหน้ามาเลยค่ะ)
หลวงศรียศ หรือ ออกญาจุฬาราชมนตรี เป็นมหาดเล็กในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนได้รับตำแหน่งเป็น หลวงศรียศ (แก้ว) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรี นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา
ออกญาจุฬาราชมนตรี ยังมีศักดิ์เป็นหลานของ เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียที่มาจากที่ราบทางตอนเหนือของเตหะราน ในประเทศอิหร่าน
ซึ่งเฉกอะหมัด ได้เข้ามาตั้งรกรากที่กรุงศรีอยุธยา ค้าขายจนกลายเป็นเศรษฐีใหญ่ ช่วยปรับปรุงราชการกรมการท่าจนได้ผลดี สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา และเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีคนแรกในสยาม
ในยุคสมัยที่ท่านเฉกอะหมัดเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยานั้น เป็นยุคที่โปรตุเกสเรืองอำนาจทางทะเลในแถบมหาสมุทรอินเดีย ทำให้พ่อค้าชาวพื้นเมืองต้องใช้เส้นทางขนส่งสินค้าทางบกเป็นช่วง ๆ เส้นทางที่เป็นไปได้ในการเดินทางจากอิหร่านเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น คือเดินเท้าจากเมืองแอสตะราบาด ซึ่งปัจจุบันคือเมืองกอร์กัน (گرگان) ตั้งอยู่แถบทะเลแคสเปียน ในประเทศอิหร่าน เข้าสู่แคว้นคุชราตในอินเดียตะวันตก จากนั้น เดินเท้าตัดข้ามประเทศอินเดียมายังฝั่งตะวันออกทางด้านโจฬมณฑล จากนั้นลงเรือข้ามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันมายังเมืองตะนาวศรีหรือเมืองมะริด แล้วจึงเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา
เส้นทางค้าขายทางทะเล
เครื่องเทศเป็นที่นิยมอย่างมากในอารยธรรมตะวันตก และนิยมมาเป็นเวลานานแล้ว คาดกันว่า กรีกเป็นอารยธรรมแรกที่นำเครื่องเทศมาใช้ในการปรุงอาหารและในการทำเครื่องหอม
ต่อมาโรมันจึงได้มีการนำไปใช้ต่อ ขณะเดียวกัน มีหลักฐานการใช้เครื่องเทศในเมโสโปเตเมีย ตั้งแต่ประมาณ 5,000 ปีก่อน รวมถึงในอียิปต์ก็มีการค้นพบเครื่องเทศในสุสานของฟาโรห์ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนแล้ว
เครื่องเทศที่ใช้กันมากได้แก่ กานพลู ลูกจันทน์เทศ อบเชย พริกไทย หรือดอกจันทน์เทศ
ว่ากันว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้เครื่องเทศเป็นที่นิยมมากมาจากการใช้เครื่องเทศเพื่อกลบกลิ่นความเค็มของเนื้อที่มักจะถูกหมักด้วยเกลือ เพื่อถนอมอาหารในยุคนั้น
ตำรา Materia Medica (ปี ค.ศ.65) เป็นตำรับเภสัชเล่มแรก ได้กล่าวถึง การใช้เครื่องเทศว่า ในอินเดียใช้น้ำมันหอมระเหยของเครื่องเทศหลายชนิด เป็นยารักษาโรคอหิวาตกโรค และแพทย์แผนโบราณของไทยเองก็นำเครื่องเทศบางชนิด เช่น น้ำมันหอมระเหยของใบโหระพาและกระเพรา มาใช้ในการบำบัดรักษาอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเดิน
แหล่งผลิตเครื่องเทศที่สำคัญในยุคก่อนมาจากอินเดียและหมู่เกาะโมลุกกะ (ในประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน
หมู่เกาะโมลุกกะ (Moluccas) หรือ หมู่เกาะมาลูกู (Maluku Islands) เป็นหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเกาะมลายู ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกออสเตรเลีย ทางด้านตะวันออกของเกาะซูลาเวซี (เซเลบีส) ทางด้านตะวันตกของเกาะนิวกินี และทางเหนือของติมอร์ ในอดีตนั้น ชาวจีนและชาวยุโรปเรียกหมู่เกาะนี้ว่า หมู่เกาะเครื่องเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะเป็นภูเขา บางส่วนยังเป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ และมีสภาพภูมิอากาศที่ชื้น พืชพรรณอุดมสมบูรณ์
555 ฮาตัวเอง รู้สึกออกเรือไปไกลมาก แค่มัสมั่นถ้วยเดียว แต่เคี่ยวหาเรื่องราวมาอ้างอิงให้วุ่นวาย ดูไป ดูมา น่าจะมากกว่าส่วนผสมในแกงมัสมั่นหม้อนี้เสียอีก
ส่วนผสมของแกงมัสหมั่นย่านชานกรุงเทพฯ
ขอให้ทุกท่าน ไปตักข้าวสวยร้อนๆ หรือหาโรตีนุ่มๆ มานั่งกินคู่กับซาละหมั่น แกงแก้วตากันดีกว่าค่ะ
โฆษณา