20 มิ.ย. 2021 เวลา 08:00 • ธุรกิจ
ในหนึ่งที่ทำงานย่อมมีผู้คนหลากหลายวัย แต่หากคุณหรือคนในที่ทำงานมีอายุระหว่าง 36-41 ปี (เกิดปี 1980-1985) ล่ะก็แปลว่าในที่ทำงานของคุณมี ‘Geriatric Millennial’ หรือที่เขาว่ากันว่าเป็นคนในเจนเนเรชันที่เหมาะกับการเป็นผู้นำในที่ทำงานลูกผสมระหว่างแอนะล็อก-ดิจิทัลมากที่สุด
เดี๋ยวนี้ ‘เจนย่อย’ หรือว่า Micro-generation มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ เพราะคนจากแต่ละช่วงอายุมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นแตกต่างกัน เช่นเดียวกับ ‘Geriatric Millennial’ หรือ ‘มิลเลนเนียลสูงอายุ’ ด้วย
ถึงจะมีคำว่า ‘Geriatric’ หรือ ‘สูงอายุ’ อยู่ในชื่อของเจนย่อยนี้ก็อย่าพึ่งคิดไปว่าคนในเจนเนเรชันนี้จะเป็นผู้สูงอายุที่ตามเทรนด์ไม่ทัน เพราะพวกเขาแค่ ‘สูงอายุ’ ในหมู่มิลเลนเนียลหรือในกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 1980-2000 เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่สุดในสังคมแต่อย่างใด
1
ส่วนที่ว่าทำไม ‘Geriatric Millennial’ หรือ ‘มิลเลนเนียลสูงอายุ’ ถึงน่าสนใจ
ก็เพราะว่าพวกเขาพกพาเอาความพิเศษจากโลกแอนะล็อกมาสู่โลกดิจิทัล
Geriatric Millennial นั้นเกิดระหว่างปี 1980-1985 หรือเกิดในช่วงที่โลกยังคงเป็น ‘แอนะล็อก’ คุ้นเคยกับทีวีจอตู้ โทรศัพท์บ้านเครื่องยักษ์ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะตัวใหญ่ และค่อยๆ เติบโตมาพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับ ‘ทหารผ่านศึก’ ของยุคอินเทอร์เน็ตที่ผ่านมาทั้งร้อนหนาวน้ำหลากหิมะตก
ข้ามผ่านการใช้งาน MSN มาสู่โลกของ Line คุ้ยเคยทั้งกับ Hi5 และ Facebook อยู่มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสยามโซนจนถึงยุคเด็กดี รวมถึงสามารถปรับตัวได้ดีกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Tiktok และ Clubhouse
ทำให้ Geriatric Millennial นั้นเป็น ‘Hybrid’ หรือ ‘ลูกผสม’ ระหว่าง ‘แอนะล็อก-ดิจิทัล’ อย่างแท้จริง คนในเจนย่อยนี้จึงมีความสามารถในการทำความเข้าใจการสื่อสาร ทั้งแบบต่อหน้า (face to face) และแบบดิจิทัล (digital) ที่มีบริบทและรูปแบบการแสดงความรู้สึกแตกต่างกัน
คนในเจนนี้จึงช่วยให้ Baby Bloomer (56-74 ปี) ปรับตัวเข้ากับงานดิจิทัลได้ง่ายขึ้น พอๆ กับที่ช่วยคนเจน Z (11-25 ปี) ที่เป็น Digital Native ปรับตัวเข้ากับโลกการทำงานที่ต้องการการสื่อสารแบบดั้งเดิมได้ด้วย
หลายครั้งคนเจน Z มักจะเจอกับปัญหาเมื่อต้องสื่อสารแบบเก่า เพราะไม่ค่อยคุ้นเคยกับการสื่อสารอย่างเป็นทางการผ่านโทรศัพท์หรือพูดคุยต่อหน้า ทำให้มักพลาดเรื่องสังเกตสีหน้าของลูกค้าในที่ประชุม ลืมแต่งตัวดีๆ ตอนสื่อสารผ่าน Zoom หรือหาคำพูดเหมาะๆ ในการรับโทรศัพท์ไม่ได้
เช่นเดียวกับที่คนในเจน Baby Bloomer มักไม่เข้าใจการสื่อสารแบบดิจิทัล หลายๆ ครั้ง Baby Bloomer มักจะเลือกโทรศัพท์มากกว่าทิ้งข้อความไว้ แต่ลูกค้าเจน Z ไม่ชอบรับโทรศัพท์ที่ไม่ได้นัดไว้ก่อนว่าจะโทรมา ทำให้การสื่อสารระหว่างคน 2 เจนนี้มีปัญหา
และ Geriatric Millennial มักจะสามารถช่วยดึงคนจากสองเจนเข้าหากัน
คนจากเจนนี้มักจะไม่ได้ฝังตัวอยู่ในองค์กรจนแก่เฒ่า หลายคนออกมาสร้างบริษัทของตัวเองและกลายเป็นผู้นำของโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Mark Zuckerberg (เกิดปี 1984) จาก Facebook หรือ Alexis Ohanian (เกิดปี 1983) จาก Reddit และ Brian Chesky (เกิดปี 1981) จาก Airbnb รวมถึง Jennifer Fleiss (เกิดปี 1985) จาก Rent the Runway
ทักษะดิจิทัลมี ทักษะแอนะล็อกพบ ‘มิลเลนเนียลสูงอายุ’ จึงถูกมองว่าเป็น ‘ผู้นำที่ดีที่สุด’ ในที่ทำงานไฮบริด (แม้จะไม่ใช่สำหรับทุกออฟฟิศ) เพราะผู้นำที่ดีคนในเจนไหนก็ย่อมเป็นได้ดี หากรู้วิธีและมีความสามารถ
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณา E-mail: advertorial@workpointnews.com
โฆษณา