20 มิ.ย. 2021 เวลา 08:18 • ปรัชญา
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
กำเนิด
หลวงพ่อเกิดที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่5 กันยายน พ.ศ. 2454 ตรงกับวันอังคารเดือนสิบ ปีกุน ขึ้น 13 ค่ำบิดาของท่านชื่อจีน มารดาชื่อโสม นามสกุลอินทผิว
หลวงพ่อมีนามจริงว่าพันธ์ อินทผิว เหตุที่ท่านเป็นที่รู้จักในนามหลวงพ่อเทียน ก็เนื่องจากท้องถิ่นของท่านนิยมเรียกชื่อกันตามชื่อของลูกคนหัวปี บุตรชายคนแรกของหลวงพ่อชื่อเทียน ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจึงเรียกท่านว่าพ่อเทียน ภรรยาของท่านชื่อหอม ก็ได้รับการเรียกขานว่าแม่เทียนเช่นเดียวกัน
ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน คนแรกเป็นชายชื่อ สาย คนที่สองเป็นชายชื่อ ปุ้ย คนที่สามเป็นชายชื่อ อุ้น คนที่สี่เป็นหญิงชื่อ หวัน พิมพ์สอน ท่านเองเป็นคนที่ห้า และคนที่หกเป็นชายชื่อ ผัน พี่น้องของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่คือพี่สาวคนเดียวของท่านชื่อ หวัน พิมพ์สอน หรือป้าหนอม พี่น้องคนอื่น ๆ ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วทั้งสิ้น
ปฐมวัย
หลวงพ่อมีชีวิตในวัยเด็กเช่นเดียวกับเด็กชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกลความเจริญทั่วไป ตื่นเช้าท่านก็ออกไปช่วยพ่อแม่ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตกเย็นก็ไล่ต้อนวัวควายกลับบ้าน ท่านเล่าว่าท่านไม่เคยได้มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียน เนื่องจากในท้องถิ่นของท่านยังไม่มีโรงเรียน ถ้าจะเรียนก็ต้องเดินทางไปเรียนในท้องถิ่นที่เจริญกว่า ในสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก หลวงพ่อจึงไม่สามารถจะเดินทางไปเรียนในโรงเรียนที่อยู่ไกลจากบ้านท่านได้ ท่านเล่าว่าในท้องถิ่นของท่านไม่มีความเจริญทางวัตถุแต่อย่างใด รถไฟ รถยนต์ เครื่องบินหรือแม้แต่จักรยาน ท่านก็ยังไม่เคยเห็น สำหรับเครื่องบินนั้นแม้แต่ชื่อก็ยังไม่เคยได้ยิน
บรรพชาเป็นสามเณร
บริเวณที่หลวงพ่อเคยเดินจงกรมกับหลวงน้า
สมัยที่บวชเป็นสามเณรที่วัดภู หรือวัดบรรพตคีรี
เมื่อหลวงพ่ออายุได้ราว 10 ขวบ หลวงน้าของท่านซึ่งไปเรียนหนังสือมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้มาขอกับบิดามารดาของท่านให้ท่านบวชเป็นเณรคอยรับใช้หลวงน้า เรียกว่าเณรใช้ หลวงน้าของท่านชื่อยาคูผอง นามสกุลจันทร์สุข อุปสมบทเมื่ออายุยังน้อยและครองเพศบรรพชิตมาโดยตลอด หลวงพ่อเล่าว่าทางบ้านเกิดของท่านมีประเพณีรดน้ำพระภิกษุที่บวชมานาน รดครั้งแรกเรียกสมเด็จ รดครั้งที่สองเรียกซา รดครั้งที่สามเรียกยาคู และในพิธีรดน้ำครั้งต่อ ๆ ไปก็เรียกยาคูทั้งสิ้น
ก่อนที่หลวงพ่อจะบรรพชาเป็นสามเณรนั้น หลวงพ่อไปวัดหลวงน้าอยู่เป็นประจำทุกเช้า เย็น วัดที่หลวงน้าจำพรรษาอยู่นั้นชื่อวัดภูหรือวัดบรรพตคีรี อยู่ไม่ห่างจากบ้านหลวงพ่อ ตอนเช้าหลวงพ่อต้องนำอาหารและดอกไม้ไปกราบหลวงน้าแล้วจึงไปนา ตอนเย็นหลังจากตักน้ำที่คลองน้ำแล้วท่านก็จะไปวัด
ขณะที่บวชเป็นเณรอยู่กับหลวงน้า หลวงน้าสอนหลวงพ่อให้ท่องนะโม ตัสสะ ทำวัตรเช้า วัตรเย็น อาราธนาศีล อาราธนาธรรมดูฤกษ์ยาม ทำกรรมฐาน เดินจงกรม หลวงพ่อได้เรียนตัวลาวหรือตัวไทยน้อย และอักษรธรรมซึ่งเขียนบนใบลานกับหลวงน้า สำหรับการเรียนการสอนนี้เป็นแบบปากเปล่า ไม่มีการเขียน ใช้วิธีจดจำ เวลากลางคืนหลังจากเลิกเรียนหนังสือแล้ว หลวงน้าจะพาหลวงพ่อเดินจงกรม หลวงน้าเป็นพระที่ขยันปฏิบัติ บางครั้งท่านก็ลุกขึ้นเดินจงกรมในเวลาดึก ทางเดินจงกรมของหลวงน้ายาวราว 20 วา หลวงพ่อเดินห่างจากหลวงน้า 4-5 วา
สำหรับการฝึกกรรมฐานนั้น หลวงน้าให้หลวงพ่อนั่งขัดสมาธิเพชรหลับตาแล้วภาวนา หายใจเข้าให้ว่า “พุท” หายใจออกให้ว่า “โธ” ในเวลานั้นหลวงน้ามีเพื่อนพระภิกษุที่สอนกรรมฐานอยู่หลายรูป หลวงพ่อจำได้ว่าเพื่อนหลวงน้ารูปหนึ่งที่สอนกรรมฐานให้หลวงพ่อชื่ออาจารย์เสา เมื่ออาจารย์เสาเห็นหลวงพ่อภาวนา “พุทโธ” ท่านให้ความเห็นว่า เวลาขึ้นต้นไม้จะขึ้นปลายที่เดียวไม่ได้ ต้องขึ้นตั้งแต่ต้น ๆ ท่านให้นับหนึ่ง สอง สาม หายใจเข้าให้ภาวนาว่า หนึ่ง หายใจออกให้ภาวนาว่า สอง เรื่อยไปจนถึงสิบ เมื่อถึงสิบให้นับย้อนหลังลงมาถึงหนึ่ง แล้วตั้งต้นจากหนึ่งถึงสิบ ทำเช่นนี้เรื่อยไป อาจารย์เสาท่านบอกว่า การภาวนาเช่นนี้ทำให้เกิดความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าถูกของมีคมบาดเป็นแผล ให้ภาวนาตามวิธีการดังกล่าวแล้วเป่าที่แผลเลือดจะหยุดทันที เมื่อไปนอนตามป่าตามดง มีเสือมีผี ให้เสกก้อนหินด้วยการภาวนาดังกล่าว แล้วเอาก้อนกรวดก้อนหินวางเรียงรายไว้รอบตัว จะนอนได้อย่างปลอดภัย เสือและผีจะกลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้
บนภูทอกน้อย อ. เชียงคาน จ.เลย
หลวงพ่อเล่าว่าหลวงน้าได้สอนการเพ่งกสิณให้ท่าน โดยให้ใช้เท้าขีดวงกลมให้ห่างจากสายตาราว 1 เมตร เพ่งกสิณลงไปให้เห็นเป็นแสงเวลาเช้าให้จ้องดวงอาทิตย์โดยไม่กะพริบตา จนกระทั่งสายตาสู้แสงพระอาทิตย์ได้ หลวงน้าบอกท่านว่าถ้าทำได้จะเป็นฤษีตาไฟ ถ้าจ้องมองไปที่ใครคนนั้นจะล้มทันที หรือจะทำให้เป็นไฟไหม้ก็ยังได้ นอกจากนี้หลวงน้ายังมีคาถาย่อแผ่นดิน ซึ่งหลวงพ่อเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หลวงน้าของท่านรูปร่างสูงและผิวขาวเหมือนฝรั่ง เวลาติดตามหลวงน้าไปไหน หลวงน้าเดินแต่หลวงพ่อต้องวิ่ง หลวงพ่อจึงมาคิดได้ในภายหลังว่า ที่หลวงน้าบอกว่ามีคาถาย่อแผ่นดินให้หดเข้านั้นเป็นอย่างนี้เอง เวลาเดินหลวงน้าท่านขายาว ท่านก็ก้าวเพียงก้าวเดียว ในขณะที่หลวงพ่อต้องก้าวถึงสามก้าวจึงจะเดินทันท่าน
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้ติดตามหลวงน้าไปอยู่ที่เมืองลาว แต่ด้วยความที่ยังเป็นเด็กเมื่อใครพูดถึงบ้าน ท่านก็ร้องไห้คิดถึงบ้าน ในที่สุดก็ต้องเดินทางกลับมาบ้านเกิดของท่าน
หลวงพ่อบวชเป็นสามเณรอยู่กับหลวงน้าเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ได้เรียนมนต์คาถาจากหลวงน้าพอสมควร เนื่องจากขณะที่หลวงน้าไปเรียนมูลกัจจายน์ที่อุบลฯ ท่านได้เรียนเวทมนต์คาถาอาคมของเขมรด้วย เช่น คาถาไส้หนังบังควัน วัวธนูดูหน้าน้อย ซึ่งเป็นอาคมไล่ผี เมื่อหลวงพ่อลาสิกขาบทแล้ว ท่านยังรู้สึกเสียดายช่วงเวลาที่บวชอยู่กับหลวงน้า ด้วยในขณะนั้นท่านอยากมีความรู้ทางไสยศาสตร์ อยากมีหูทิพย์ ตาทิพย์เหาะได้ หายตัวได้ ย่อแผ่นดินได้ มีคาถาอาคม ฟันไม่เข้ายิงไม่ออกเหมือนกับหลวงน้า ในสมัยนั้นในท้องถิ่นที่หลวงพ่ออาศัยอยู่ยังมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจกันอยู่มาก ลูกผู้ชายต้องมีเวทมนต์ไว้รักษาตัวเองและคุ้มครองรักษาคนในครอบครัวรวมทั้งญาติพี่น้อง หลวงน้าจึงได้เมตตาอบรมสั่งสอนหลวงพ่ออย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์เมื่อสึกออกมาเป็นผู้ครองเรือน
อุปสมบทครั้งแรก
หลวงพ่อเมื่อครั้ง
เป็นฆราวาส
เมื่ออายุครบบวช หลวงพ่อก็ได้มาบวชอยู่กับหลวงน้าอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระครูวิชิตธรรมาจารย์ เจ้าคณะอำเภอเชียงคานเป็นอุปัชฌาย์ ท่านได้ฝึกวิชาต่าง ๆ กับหลวงน้าต่อไปเช่นเดิม คือฝึกกรรมฐานและเรียนเวทมนต์คาถาต่าง ๆ ท่านเล่าว่าไม่มีวิชาอะไรเพิ่มขึ้น แต่ทำที่สอนไว้ให้เจริญขึ้น นอกจากนั้นก็มีการเดินธุดงค์ ซึ่งเป็นการทำตามประเพณี ยังไม่เข้าใจว่าธุดงค์หมายถึงอะไร การธุดงค์ที่หลวงพ่อทำในขณะนั้นคือ ไปอยู่ตามป่าช้า ตามสวน ใกล้ ๆ บ้านคน หรือตามกระต๊อบปลายนาไม่ห่างจากบ้านคนมากนัก เพื่อให้ออกบิณฑบาตได้โดยไม่ลำบากจนเกินไป
ครองเรือน
นางหอม
โยมผู้หญิงของท่าน
หลวงพ่อบวชเป็นพระอยู่ได้ 6 เดือน จึงลาสิกขาบท มารดาของท่านได้จัดการให้ท่านมีครอบครัวเมื่ออายุราว 21 หรือ 22 ปี ภรรยาของท่านชื่อหอม เป็นญาติกับท่าน มารดาของภรรยาท่านเป็นน้องของบิดาของท่าน ซึ่งท่านเรียกว่าแม่อา ทั้งท่านและภรรยาต่างก็เป็นกำพร้าบิดามาตั้งแต่เด็ก
ท่านอยู่กับภรรยามานานยังไม่มีบุตร จึงได้นำบุตรของพี่สาวภรรยาท่านซึ่งแยกทางกับพี่เขยมาเลี้ยง ต่อมาท่านจึงมีบุตรชาย 3 คน ชื่อ เนียม เทียน และเหียม เมื่อมีบุตรคนแรกชื่อเนียม ใคร ๆ จึงเรียกท่านว่า พ่อเนียม ตามประเพณีนิยมของคนในท้องถิ่นนั้นที่เรียกร้องกันตามชื่อลูกคนหัวปี ต่อมาบุตรคนแรกของหลวงพ่อ ที่ชื่อเนียม ถึงแก่กรรม เมื่ออายุได้เพียง 5 ปี ท่านจึงได้รับการเรียกขานตามชื่อลูกคนที่สองตราบเท่าทุกวันนี้ บุตรคนที่สองของท่านถึงแก่กรรมลงก่อนที่ท่านจะมรณภาพราว 2 ปีเศษ
เวทย์มนต์คาถา
หลวงพ่อกับนายเหียม บุตรคนสุดท้อง
หลวงพ่อเล่าว่า ช่วงระยะที่หลวงพ่อครองเพศฆราวาสอยู่นั้น ท่านได้ใช้เวทย์มนต์คาถาที่ร่ำเรียนมาจากหลวงน้าอยู่เนือง ๆ สมัยนั้นยังเชื่อเรื่องผีสางกันอยู่มาก บางครั้ง เพื่อนบ้านก็มาขอให้ท่านไปเป็นหมอมนต์ ไล่ผีให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย สำหรับในครอบครัว ท่านก็เป็นผู้คุ้มครองคนในบ้าน และญาติพี่น้อง ที่เข้ามาให้คุ้มครอง ซึ่งเรียกว่ามาเข้าของรักษา
หลวงพ่อเล่าว่าในขณะนั้นท่านก็ยังพอใจคาถาอาคม เวทย์มนต์ต่าง ๆ อยู่ อยากมีฤทธิ์เดช อิทธิปาฏิหาริย์ หายตัว ดำดิน มุดน้ำ เหาะได้เหมือนนก ทั้งนี้เนื่องจากท่านได้รับอิทธิพลจากนิทานใบลานหลายเรื่อง อาทิ การะเกด สินชัย สุริวงศ์ แตงอ่อน ลิ้นทอง เป็นต้น
ท่านได้พยายามแสวงหาวิชาอาคมเรื่อยมา เมื่อเรียนกับหลวงน้าจนหมดสิ้นแล้ว ท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์อื่น ๆ ต่อไป หลังจากหลวงน้ามรณภาพแล้ว ท่านได้ข่าวว่ามีอาจารย์ที่เก่งกว่าหลวงน้าอยู่ที่เมืองลาวชื่อยาคูบุญมาดอนพุง ยาคูท่านนี้เลี้ยงนกยูงไว้ ท่านทำปลอกใส่ขานกยูงแล้วปล่อยไป ฝรั่งเอาปืนมายิงก็ยังยิงไม่ออก หลวงพ่อจึงไปอยู่กับยาคูบุญมาพรรษาหนึ่ง
หลวงพ่อเล่าว่าท่านได้ความรู้หรือจะเรียกว่าความโง่จากยาคูบุญมาหลายเรื่อง อันได้แก่ เวทย์มนต์คาถาอยู่ยงคงกะพันต่าง ๆ ที่หลวงพ่อจำได้คือ “โอม ธุลี ๆ นอกมีแผ่นทองกั้นพร้า หน้าผากกูแกร่งปานหิน ตีนกูแกร่งปานเหล็ก ขนแข้งกูเท่าหนามคา ขนขากูเท่าขนเม่น กูจักเต้นไปร้อยโยชน์พันวา พญามนต์ทั้งหลายจงมาบัง มากั้นตนกู”
เมื่อหลวงพ่อไปปฏิบัติธรรมะจนรู้ธรรมะแล้ว หลวงพ่อจึงเข้าใจว่าคอหลวงพ่อไม่มีแผ่นเหล็กแผ่นทอง หน้าผากหลวงพ่อชนโน่นชนนี้ก็ต้องแตก เท้าหลวงพ่อก็ไม่ได้แข็งเหมือนเหล็ก ถ้าเดินไปตามถนนหนทาง เหยียบขวดเหยียบแก้ว ก็ต้องบาด เหยียบหนามก็ต้องตำ ท่านว่า คนโง่สอนคนฉลาดไม่ได้ คนฉลาดสอนคนฉลาดหรือสอนคนโง่ ให้ฉลาดได้
อุปนิสัยในเรื่องการทำบุญู
บ้านเดิมของหลวงพ่อที่ตำบลบุฮม
หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อเป็นนักแสวงบุญตั้งแต่อายุยังน้อย และได้เป็นผู้นำชาวบ้านทำบุญเสมอมา ในขณะนั้นท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านมีคนเคารพนับถืออยู่มาก ท่านเองอายุอยู่ในราว 27-28 ปี ท่านได้ชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในการทำบุญ แม้แต่ผู้ที่ได้ทำกรรมหนักถึงขั้นอนันตริยกรรม ท่านก็ได้หาโอกาสให้ได้ร่วมทำบุญด้วย
ท่านเล่าว่าการทำบุญที่บ้านของท่านมีหลายวิธี เช่นมีการแจกข้าวตอนพระจำพรรษา ถึงวันพระชาวบ้านจะนิมนต์พระไปแสดงธรรมที่บ้าน ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญที่บ้านนั้น มีการตัดใบตองห่อข้าวต้มมัดทำขนมมาแจกกันกิน คนหนุ่มคนสาวมีหน้าที่ทำขนมจีนแจกกันไปกินที่บ้าน มีการจีบหมากจีบพลู มวนบุหรี่ถวายพระ ซึ่งหลวงพ่อได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านทำไปเพราะท่านยังไม่รู้ หลังจากปฏิบัติธรรมแล้วท่านจึงเข้าใจว่าการถวายหมากพลูบุหรี่แก่พระ ไม่ใช่เรื่องทำบุญ เป็นเรื่องพอกพูนความชั่วให้พระมีความผิด เรียกว่าเอากิเลสไปให้พระ เราอยากละกิเลส แต่เราไม่รู้จักกิเลส เรานึกว่าทำดี การทำดีนี้ หลวงพ่อพูดว่าคนอื่นว่าดีแต่เราเห็นว่ามันไม่ดี ไม่ต้องทำ คนอื่นว่าผิด แต่เราเห็นว่าดี เราต้องทำหลวงพ่อจึงเลิกถวายหมากพลูบุหรี่พระสงฆ์ พร้อมทั้งห้ามคนในครอบครัวของท่านถวายสิ่งของดังกล่าวแก่พระสงฆ์ด้วย สำหรับครอบครัวคนอื่นนั้นหลวงพ่อไม่ได้ห้าม และท่านมิได้สนใจว่าคนอื่นจะเห็นชอบหรือติฉินแต่อย่างใด
ในช่วงระยะเข้าพรรษาคนเฒ่าคนแก่ต้องไปจำศีลที่วัดในวันพระคนหนุ่มคนสาวบางคนก็ไป บางคนก็ไม่ไป ขึ้นอยู่กับศรัทธา ท่านเล่าว่าท่านเองชอบไปวัดเพราะหลวงน้าสอนไว้
เดือนสิบเอ็ด หลังออกพรรษาแล้ว มีการทอดกฐิน ชาวบ้านเริ่มทำกองกฐินกันตั้งแต่ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 บ้านไหนจะไปทอดกฐินต้องไปปักหมายไว้ที่วัด เรียกว่าไปจอง วัดที่จะรับกฐินได้ต้องมีโบสถ์ ถ้าไม่มีโบสถ์ต้องทำโบสถ์จำลองขึ้นกลางน้ำเรียกว่า สีมน้ำ (สิม : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่าโบสถ์)
นอกจากทำบุญกองกฐินแล้วก็มีทำบุญประจำปี คือทำบุญบั้งไฟในเดือน 5 หรือเดือน 6 หลายบ้านมาร่วมกันทำบุญ เรียกว่าใช้ฎีกา ไปฎีกาเก้าบ้าน สิบบ้าน ยี่สิบบ้าน สามสิบบ้าน ปลุกถามรอบวัด มีทั้งคนหนุ่มคนสาวคนแก่คนเฒ่า ทุกบ้านไปรวมกัน นิมนต์พระมาเทศน์ ซึ่งหลวงพ่อเล่าว่าการเทศน์ดังกล่าวเป็นการอ่านจากใบลานเท่านั้น คนหนุ่มคนสาวเล่นหมอลำกันเป็นที่สนุกสนาน ผู้ชายถามปัญหา ผู้หญิงต้องตอบ ใครตอบไม่ได้ก็แพ้ การร้องหมอลำนี้ใช้แคนเป็นดนตรีประกอบ
บ้านที่อำเภอเชียงคาน ท่านย้ายเข้ามา
อยู่ในตัวอำเภอเพื่อให้ลูก ๆ ของท่าน
ได้เข้าโรงเรียน
บุญประจำปีเช่นนี้ต้องมีทุกหมู่บ้าน ตั้งแต่เดือน 5 เดือน 6 จนถึงเดือน 7 เดือน 8 จวนจะเข้าพรรษาจึงหยุด ที่เรียกว่าบั้งไฟนั้นเขาก็จุดเหมือนจรวดขึ้นไป เวลาจุดเสียงดังเหมือนเสียงเครื่องบิน บั้งไฟที่ใช้จุดทำขึ้นขนาดต่าง ๆ กัน เรียกว่า บั้งไฟมะกอก บั้งไฟห่อหมก บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน เมื่อหลวงพ่อรู้ธรรมะแล้ว ท่านจึงให้เลิกการจุดบั้งไฟนี้ทั้งหมด เพราะหากยิงขึ้นไป แล้วตกใส่บ้านเรือนก็อาจเป็นอันตรายกับชีวิตหรือทรัพย์สินได้ ทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองอีกด้วย
นอกจากนี้ก็มีการทำบุญมหาชาติ การเทศน์มหาชาตินี้ต้องเทศน์ให้จบภายในวันเดียว ถ้าไม่จบ ถือว่าได้บุญไม่มาก
หลวงพ่อได้เล่าถึงการทำบุญอีกแบบหนึ่งคือการทำบุญสังฮอม (สำรวม) ธาตุ ซึ่งถือกันว่าหากทำไม่ถูกไฟจะไหม้บ้าน หลวงพ่อไปทำบุญสังฮอมธาตุที่วัดภู ซึ่งเป็นวัดที่หลวงน้าของท่านเคยจำพรรษาอยู่ ปัจจุบันมีเชื่อว่าวัดบรรพตคีรี ของที่ถวายพระในการทำบุญนี้ได้แก่ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ผ้าไตร มีเทศน์ไม่ยาวนัก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เทศน์จากหนังสือใบลาน 4 ผูก พระที่นิมนต์มาเทศน์ต้องเป็นพระที่เทศน์เก่ง
อาชีพ
หลังจากลาสิกขาบทแล้วหลวงพ่อได้ยึดอาชีพทำนา ทำสวน และค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งหลวงพ่อได้เริ่มทำมาตั้งแต่สึกจากสามเณรแล้ว ต่อมาหลวงพ่อจึงมีเรือกระแชง 7 ลำ ค้าขายขึ้นล่องระหว่างหนองคายและเชียงคาน การค้าขายได้ผลดีขึ้นเรื่อย ๆ หลวงพ่อเล่าว่าบิดาของท่านชำนาญในการเดินเรือค้าขาย แต่ก็ได้เสียชีวิตลงตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก
ภายหลังมีการตั้งกรมเกษตรขึ้น และมีการสั่งห้ามขนย้ายสินค้าเกษตรกรรมบางชนิด หลวงพ่อจึงได้ไปค้าขายอยู่ที่เมืองลาว แต่ครอบครัวของท่านยังคงอยู่ในเมืองไทย ท่านได้ทำการค้าฝ้ายมีกำไรงดงาม ได้ขายเรือกระแชงและซื้อเรือกลไฟ ทำการค้าขึ้นล่องตามลำแม่น้ำโขง หลวงพ่อเล่าว่า แม้ท่านจะประสบความสำเร็จในการค้าขายเป็นอย่างดี แต่ท่านก็ไม่มีความสุข แม้เวลาจะนอนก็มีแต่ทุกข์ คิดถึงแต่เรื่องเงินทอง และสินค้าที่จะซื้อจะขาย
เหตุที่ท่านออกแสวงหาสัจธรรม
หลวงพ่อเล่าว่าก่อนที่ท่านจะออกมาปฏิบัติธรรมจนได้รู้ธรรมะตามวิธีของท่านนั้น ท่านได้ทำกรรมฐานมาพอสมควร แต่กรรมฐานก็ไม่อาจช่วยให้หลวงพ่อหมดทุกข์ได้
ได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ก่อนที่หลวงพ่อจะออกมาปฏิบัติธรรมนั้นท่านมีความทุกข์อย่างไร
หลวงพ่อเล่าว่า ครั้งหนึ่งคนที่เมืองลาวมาขอให้ท่านนำกฐินไปทอดที่เมืองลาว ในครั้งนั้นมีการทำกฐินถึง 5 กอง เนื่องจากมีหลายบ้านขอร่วมไปทอดด้วย และในการทำกองกฐินจะต้องมีมหรสพ เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ให้คนชม หลวงพ่อได้ตกลงกับภรรยาไว้แล้วว่า การใช้จ่ายต่าง ๆ และการจัดหาอาหารให้แขก ยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน ตัวท่านเองจะรับอุโบสถศีลและรับแขกทางไกล
ครั้นเวลาเช้า ภรรยาของท่านมาถามท่านว่า จะต้องจ่ายเงินค่าหมอลำเท่าไร ท่านรู้สึกโกรธมาก ท่านเล่าว่า “ มันหนักจนลุกแทบจะไม่ได้ มันตำเข้าในใจ” แต่ท่านข่มอารมณ์ไว้ มิได้แสดงให้ภรรยาของท่านทราบ กลับตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน แต่ความโกรธนั้นยังอยู่ในใจของท่าน
หลังจากนำกฐินไปถวายที่ฝั่งลาว และกลับมารับประทานข้าวมื้อเย็นพร้อมกับภรรยาและบุตรทั้งสอง ท่านได้กล่าวเปรยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนเช้าว่า “คนไม่รู้จักเคารพนับถือก็อย่างนี้แหละ”
ท่านกล่าวซ้ำหลายครั้งจนภรรยาของท่านรู้สึกสะดุดใจ เมื่อภรรยาของท่านพาบุตรทั้งสองไปนอนแล้ว จึงมาถามว่า ท่านโกรธที่ถามเรื่องค่าหมอลำใช่หรือไม่ เมื่อท่านตอบว่าใช่ ภรรยาของท่านจึงพูดว่า สามีภรรยาถามกันเรื่องการจับจ่ายใช้สอยถือว่าผิดด้วยหรือ
หลวงพ่อเล่าว่า ท่านเห็นด้วยกับคำพูดของภรรยา ท่านรู้ว่าท่านผิด มีมานะทิฐิอยากจะเอาชนะ
ภรรยาของท่านพูดว่า “เจ้าไม่พอใจละสิ โอ ! ข้อยบ่รู้จักเจ้าไม่พอใจ ก็นั่งหน้าตาดีอยู่นี่นะ โอ ! เจ้าตกนรกแล้ว”
หลวงพ่อท่านเห็นจริงตามคำพูดของภรรยาท่าน คำพูดนี้กระทบใจท่านมาก จนท่านถือว่าภริยาของท่านเป็นครูท่าน มีบุญคุณต่อท่านที่สุด
แต่ก่อนท่านไม่เข้าใจว่า ความโกรธนี้เป็นความทุกข์ หนักเหมือนตกนรก ภรรยาของท่านเองก็ไม่เข้าใจแต่พูดไปตามอารมณ์ “เจ้าตกนรกแล้ว แม้ทำกองกฐินก็บ่ได้บุญดอกเจ้า”
หลวงพ่อท่านเล่าว่าท่านเองก็เข้าใจว่า ท่านคงจะไม่ได้บุญเพราะท่านหนักใจอยู่ทั้งวัน เมื่อภรรยาท่านพูดว่าท่านเช่นนี้ ทำให้ท่านสบายใจขึ้น ออกจากความคิดแบบนั้นได้ แต่ยังไม่รู้จักวิธีที่จะออกจากความคิด ท่านคิดในใจว่า หากท่านยังเอาชนะความทุกข์แบบนี้ไม่ได้ ก็จะไม่เลิกละในการปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อคิดถึงเรื่องนี้อยู่เป็นเวลาหลายปี ท่านพยายามทำการซื้อขายให้น้อยลง ในที่สุดท่านตัดสินใจว่าจะไม่ทำมาหากินอีกต่อไป ท่านจึงได้สะสางบัญชีและเงินที่ตกค้างอยู่กับผู้ที่ค้าขายอยู่กับท่านให้เป็นที่เรียบร้อย
หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อท่านจะทำอะไร ท่านต้องคิดเตรียมไว้นาน ๆ ไม่ใช่ปุบปับทำ กว่าท่านจะจัดการเรื่องเงินทองต่าง ๆ เรียบร้อยก็เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี
ในคราวที่หลวงพ่อกลับจากปากลายหรือล้านช้าง ซึ่งเป็นระยะที่หลวงพ่อจะเลิกทำการค้าขายแล้วนั้น หลวงพ่อได้มาพบเพื่อนคนหนึ่งซึ่งบวชเป็นพระอยู่ ชื่อพระมหาศรีจันทร์ ได้เปรียญ 5 ประโยค อายุอ่อนกว่าหลวงพ่อราว 2-3 ปี พระมหาศรีจันทร์ได้เคยเดินทางขึ้นล่องระหว่างเชียงคานและหนองคาย กับเรือกลไฟของหลวงพ่อ และได้ธุดงค์ไปตามถ้ำ ตามป่าช้า ท่านอยู่ที่ตำบลพันพร้าว ซึ่งเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายในปัจจุบัน หลวงพ่อได้เคยอุปัฏฐาก ถวายจังหันถวายเพลแก่ท่าน เมื่อท่านเดินทางขึ้นล่องไปกับเรือกลไฟของหลวงพ่อ
เมื่อได้พบกันที่หนองคายครั้งหลังนี้ หลวงพ่อได้คุยกับพระมหาศรีจันทร์เรื่องการทำกรรมฐาน ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า หลวงพ่อได้ถามปัญหาพระมหาศรีจันทร์หลายเรื่อง ในที่สุดพระมหาศรีจันทร์ท่านก็บอกหลวงพ่อว่า เรื่องวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากจะถามไปเท่าไรก็ไม่มีวันจบสิ้น ผู้ใดอยากรู้ต้องลงมือปฏิบัติเอง
หลวงพ่อท่านได้ครุ่นคิดเรื่องการปฏิบัติที่พระมหาศรีจันทร์กล่าวกับท่านอยู่เป็นเวลากว่า 3 ปี เวลานั้นท่านยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ยังคงแสวงหาอาจารย์ต่อไป
ตัดสินใจออกไปปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อเล่าว่า เมื่อหลวงพ่ออายุได้ 40 กว่าปี ท่านเลิกทำการค้าขายโดยเด็ดขาด ไม่มีงานการอะไรต้องทำ ท่านจึงเฝ้าแต่ครุ่นคิดไม่หยุดหย่อนว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย ไม่เห็นมีอะไรไปด้วย คนรวยก็ตาย คนจนก็ตาย ไม่เห็นมีอะไร มีแต่บาปกับบุญ ในที่สุดท่านจึงตัดสินใจออกปฏิบัติธรรม เพื่อหาทางพ้นทุกข์ให้ได้
ท่านได้บอกความตั้งใจของท่านกับภรรยา ภรรยาของท่านจึงได้จัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าให้ท่าน ท่านไม่ได้บอกภรรยาของท่านว่าจะไปอยู่ที่ใด และจะไปนานเท่าไร เพียงแต่บอกว่า หากท่านไม่ตายเสียก่อนก็จะกลับมาอีก
เมื่อหลวงพ่อไปถึงตำบลพันพร้าว อำเภอท่าบ่อ ซึ่งเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ในปัจจุบัน ท่านจึงได้ทราบว่า เพื่อนของท่านคือมหาศรีจันทร์ ที่ท่านตั้งใจจะมาศึกษาธรรมะด้วยนั้น ไปจำพรรษาอยู่ที่หลวงพระบาง มีแต่หลวงพ่อวันทอง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นปลัดอำเภอ ปลดเกษียณแล้วจึงมาบวชเป็นพระ มีพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งชื่ออาจารย์ปาน เป็นผู้สอบอารมณ์ปฏิบัติให้หลวงพ่อ อาจารย์ปานผู้นี้ท่านเป็นชาวลาว อยู่ที่สุวรรณเขต ได้ไปเรียน วิธีติงนิ่ง* และวิธีพองยุบมาจากพม่า
(ติงนิ่ง : การเจริญสติโดยวิธีการเคลื่อนไหว ประกอบคำบริกรรม ติง-นิ่ง เมื่อเคลื่อนมือให้บริกรรม “ติง” เมื่อหยุดให้บริกรรม “นิ่ง” และให้รู้ว่าเคลื่อนไหว หรือ นิ่ง ซึ่งแตกต่างจากวิธีที่หลวงพ่อทำ คือ เมื่อเคลื่อนมืออยู่หรือหยุดอยู่ก็ให้รู้สึกเท่านั้น ไม่มีการแยกแยะว่าเคลื่อนไหวอยู่หรือหยุดอยู่ หรือ ฯลฯ)
เมื่อหลวงพ่อมาถึง หลวงพ่อได้จ้างคนญวนซึ่งมาจากเวียงจันทน์ให้ปลูกกุฏิให้ โดยรื้อยุ้งข้าวมาปลูก ให้ทำกุฏิทำส้วมให้เรียบร้อย
หลวงพ่อเล่าว่า ท่านเป็นคนพยศ เสื้อผ้าที่จะนุ่งจะใส่ต้องรีดให้เรียบ ถ้าไม่รีด ท่านก็ไม่อยากนุ่งอยากใส่ ท่านจึงได้ว่าจ้างคนให้มาช่วยซักรีดเสื้อผ้า ทำอาหาร ส่งปิ่นโต โดยหลวงพ่อจ่ายเงินให้เดือนละ 300 บาท
แต่ในที่สุดทางสำนักที่หลวงพ่อไปปฏิบัติไม่ยินยอม ด้วยเหตุผลว่า การว่าจ้างคนมาทำงานให้ระหว่างปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้คนอื่นอาจคิดไปว่า ถ้าใครไม่มีเงินก็ไม่สามารถมาปฏิบัติได้ จึงเสนอให้หลวงพ่อมอบเงินให้กับส่วนกลางเพื่อใช้เป็นค่าอาหารสำหรับพระเณรและญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมด้วย
หลวงพ่อท่านก็ยอมตามนั้น แต่ท่านขอให้มีคนซักรีดเสื้อผ้า และขอให้ส่งโอวัลตินกับขนมให้ทุกเช้า ทางสำนักก็ยินยอมตามความประสงค์ของท่าน
ผู้ที่ร่วมปฏิบัติธรรม
ในคราวที่หลวงพ่อไปปฏิบัติธรรมนั้น มีผู้ร่วมปฏิบัติ 30 กว่าคน เป็นพระ 23 รูป โยม 5 คน เป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 3 คน ผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 19 ปี อีก 2 คนอายุ 20 ปี
พระสงฆ์ที่มาปฏิบัติในครั้งนี้ล้วนบวชมาแล้วหลายพรรษา อย่างน้อยที่สุด 2 พรรษา บางรูปบวชมาแล้ว 5 พรรษา บางรูป 8 พรรษา บางรูป 12 พรรษา 15 พรรษาก็มี
หลวงพ่อเล่าว่ามีพระรูปหนึ่ง เป็นพระครูมาจากอำเภอท่าบ่อ ตีตะปูอยู่เรื่อย กุฏิที่เขาสร้างไปแล้ว ท่านก็ไปรื้อไปซ่อมตีตะปูดังโป๊ก ๆ หลวงพ่อท่านก็ได้แต่คิดว่า เมื่อไรจึงจะแล้วเสร็จสักที
โยมที่มาปฏิบัติธรรมอีกคนหนึ่งคือ นายฮ้อย * พ่อมุก ซึ่งมีความคุ้นเคยกับหลวงพ่อและเป็นผู้ให้ความรู้กับหลวงพ่อในเรื่องการทำมาหากิน จนถึงขนาดที่ท่านพูดว่า ทำให้ท่านสามารถทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้
(นายฮ้อย หรือ นายร้อย ในภาษาถิ่นอีสานใช้เรียกผู้ที่เป็นพ่อค้า)
หลวงพ่อเล่าว่า นายฮ้อยพ่อมุกชอบมาชวนท่านคุยในขณะที่ปฏิบัติ ภายหลังเมื่อท่านเห็นนายฮ้อยพ่อมุกเดินมาหา ท่านก็รีบเอาผ้าโพกศีรษะแล้วไปเดินจงกรมกลางแดด บริเวณนั้นเป็นท้องนาไม่มีร่มไม้ หลวงพ่อได้จ้างคนญวนยกท้องร่องให้ และทำถนนกลางท้องนา
หลวงพ่อทำเช่นนี้หลายครั้ง นายฮ้อยพ่อมุกจึงคิดว่าหลวงพ่อเกลียด แต่ความจริงแล้วหลวงพ่อไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น ท่านเห็นว่า เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้วก็ควรจะปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ควรเสียเวลาไปกับการคุยเล่น หรือทำสิ่งอื่นซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับการปฏิบัติ
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
การปฏิบัติและการรู้ธรรม *
* เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบขั้นตอนการปฏิบัติ และการรู้ธรรมะของหลวงพ่อโดยละเอียด ผู้จัดพิมพ์จึงใคร่ขอนำคำให้สัมภาษณ์ของหลวงพ่อมาลงพิมพ์ไว้ทั้งหมด
หลวงพ่อวันทองท่านให้ไปขอกรรมฐาน รับเอาตัวกรรมฐานนี่นะ เวลาจะเข้ากรรมฐาน ต้องมีการสมาทานเข้า ออกจากห้องกรรมฐานต้องมีการสมาทานออก ตั้งแต่หลวงพ่อเรียนสมัยเป็นเณรเป็นพระ ไปหาหลวงพ่อวันทองนี่ ท่านให้รับอุโบสถศีล ก็หลวงพ่อรับอยู่แล้ว ท่านให้ภาวนาตาย หายใจเข้าให้ว่าตาย หายใจออกให้ว่าตาย หลวงพ่อก็ทำเพราะว่าไปเรียนกับเขา ต้องทำกับเขา
ในขณะนั้นหลวงพ่อไปรับกรรมฐานจากหลวงพ่อวันทอง ทุ่มหนึ่งหรือสองทุ่มนี่แหละ ก็มาทำ มาภาวนา ตาย ตาย ตาย
พุทโธ ก็เคยทำมาแล้ว หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ พุทโธ แต่ไม่ให้ออกเสียง ทุกคนคงจะรู้นะ
“ทำไปหลวงพ่อ”
มันมี 2 คน (ใน) ตัวหลวงพ่อเอง
เดี๋ยวก็ “ทำไปทำไม” มันชวนนอนลง (พอเรา)นอนแล้ว
“บัดนี้ มานอนหรือมาทำไม” มันถามกัน 2 คน
“แท้มาเจริญสติ”
“มาเจริญสติมาศึกษาธรรมะ นอนมันจะได้เรื่องอะไร ลุกขึ้นมา ลุกขึ้นมา”
หลวงพ่อก็มา ภาวนา ตาย
“แหม ทำไปทำไม” อีก
นี่มันเป็นอย่างนี้ มัน 2 คน หลวงพ่อเป็นบ้านะ
ไม่ใช่บ้าอย่างที่บ้าอันนี้นะ พวกคุณเข้าใจไหม บ้าเหมือนมันมี 2 คน เดี๋ยวก็ขยัน เดี๋ยวก็ขี้เกียจ ขี้เกียจไม่รู้จักขี้เกียจ ไม่รู้จักว่าขี้เกียจ ไม่รู้จักว่าขยัน แต่มันเป็นไปตามเรื่อง นอนลง
“มานอนหรือ”
นี่มันมีคำพูดในใจ แต่ไม่ได้ยินทางหูนะ มันได้ยินทางใจ
“ลุกขึ้นมา ทำไปทำไม จะได้อะไร”
แน่ะ มันถามขึ้นมา นอนลงไป
โอ้..นาน หลวงพ่อเป็นอย่างนั้น ก็เลยตัดสินใจนอน วันนั้นก็เลยนอน นอนแล้วตอนเช้าหลวงพ่อก็ลุก ข้างหน้า แปรงฟันดี ๆ แล้วก็ตั้งใจทำใหม่
หลวงพ่อทำจริง ๆ นะ หลวงพ่อไม่เหมือนกับที่ว่า พรรคพวกทำ พรรคพวกไปปฏิบัติธรรมด้วยกันคราวนั้น พระ 23 รูป พระไม่ใช่พระที่อายุพรรษา 2-3 พรรษา ตั้งแต่ 5 พรรษาขึ้นไป อย่างน้อยที่สุด 8 พรรษา 12 พรรษา 15 พรรษาก็มี มีพระครูองค์หนึ่ง ที่ท่านมาจากอำเภอท่าบ่อ ตีตะปูอยู่ทั้งวันเลย ไปปฏิบัติธรรมะ กุฏิเขาแปลงแล้ว ท่านก็ไปถอนอันนั้น แปลงอันนี้ แต่ก็ไม่ทั้งวันหรอกนะ ท่านตีตะปู โป๊ก โป๊ก อยู่นั่น หลวงพ่อก็ “จักปานใดหนอ จึงจะแล้วหนอ หลวงตานี่ ท่านเจ้าคุณนี่ พระครูนี่”
พระ 23 รูป มีโยม 5 คน เป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 3 คน ผู้หญิงน่ะอายุ19 ปี 20 ปี กับ 20 กว่าปีนี่แหละ 2-3 คนนั้น คนหนึ่ง 19 ปี ส่วน 2 คนนั่น 20 กว่าปี แล้วก็มีนายฮ้อยพ่อมุกนี่คนหนึ่ง นายฮ้อยพ่อมุกนี่หลวงพ่อได้ความรู้ การทำมาหากินก็เพราะนายฮ้อยพ่อมุกนี่เอง หลวงพ่อจึงรู้จักการทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ ไปปฏิบัติธรรมะพร้อมกัน
พอดีไปปฏิบัติธรรมะ (แก)เกิดมาชวนหลวงพ่อคุยอยู่อย่างนั้นแหละ หลวงพ่อไม่เอา
หลวงพ่อก็เห็น(ว่า) อ้อ! ถ้าทำอย่างนี้ จะไม่ได้ผล หลวงพ่อเห็นนายฮ้อยพ่อมุกมา หลวงพ่อก็เอาผ้าปรกหัวไปเดินจงกรมตากแดดอยู่โน่น เพราะมันไม่มีร่มนี่ เป็นทุ่งนา ทุ่งนาก็รู้นะ หลวงพ่อให้คนญวนทำถนนไว้กลางทุ่งนา ยกท้องร่องให้ เดินอยู่นั่นแหละ 2-3 วัน นายฮ้อยพ่อมุกก็เลยหนีไปไม่กลับคืนมา หาว่าหลวงพ่อนี่เกลียดเขา แต่ความจริงหลวงพ่อไม่ได้เกลียดเขาหลวงพ่อตั้งใจจะไปศึกษาธรรมะจริง ๆ หลวงพ่อเป็นอย่างนั้น
พอดีหลวงพ่อทำระยะนั้นก็ไม่นาน ขอกรรมฐาน ดูเหมือนมื้อ 8 ค่ำ 9 ค่ำ มื้อ 10 ค่ำ หลวงพ่อก็รู้เลย ก่อนที่จะรู้นั้น หลวงพ่อนั่งพับเพียบ ตอนเช้า มื้อ 10 ค่ำนี่ แมงป่องตัวหนึ่งมันตกใส่ขา ให้หลวงพ่อพูดภาษาบ้าน หลวงพ่อดีนะ แมงป่องรู้จักไหม แมงงอด แมงงอดแม่ลูกอ่อนมันตกลงใส่ขาหลวงพ่อ พอดีตกปุ๊บลงมา ลูกมันอยู่กับแม่มันนะ ลูกมันอยู่ท้องแม่มันน่ะ มันก็แล่นออกตามขาหลวงพ่อนี่เลย พอดีมันแล่นตามขา หลวงพ่อก็เบิ่งมัน ดูมัน ลูกมันก็แล่นตาม แม่มันหมอบอยู่คาที่เลย ลูกมันก็ออกจากท้องแม่มัน ไปนาน ๆ แล้ว ลูกมันก็ก็กลับมาหาแม่มันอีก พอดีลูกมันมาหาแม่มัน หลวงพ่อก็ไปหาเอา ไม่ได้ไปทางใด หลวงพ่อก็นั่งอยู่ มีไม้อันหนึ่งหลวงพ่อก็เอาไม้แตะขาหลวงพ่อนี่ พอดีแตะขาอย่างนี้ แมงงอดตัวนั้นมันก็แล่นเข้าจับไม้หลวงพ่อเลย หลวงพ่อก็จับไม้หลวงพ่อไป มันมาส้น* นี้ หลวงพ่อก็จับส้นนั้น ไปส้นนั้น หลวงพ่อก็จับส้นนี้ แล้วเอาไปวางไว้ที่คันนา
* ส้น : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่าข้าง
หลวงพ่อรู้จักธรรมะ ให้ว่าพริบตาเดียวก็ได้ หรือจะว่าอึดใจเดียวก็ได้ ในขณะนั้นหลวงพ่อรู้เรื่องรูป เรื่องนาม รู้รูปธรรม นามธรรม รู้รูปโรค นามโรค
รูปโรค นามโรค มี 2 อย่าง โรคทางเนื้อหนังอันหนึ่ง โรคทางจิตใจอันหนึ่ง หลวงพ่อรู้อย่างนี้ นั่งอยู่สบาย แต่จิตใจเกลียดหรือพอใจ ที่หลวงพ่อรู้อย่างนี้ก็เพราะว่า สมัยที่ทำกองกฐิน หลวงพ่อทุกข์ทางใจคือ แม่ออกแม่เทียน (แม่เทียน คือ ภรรยาหลวงพ่อในครั้งนั้น) ถาม หลวงพ่อมันทุกข์ทางใจ ไม่ได้ทุกข์ทางเนื้อหนัง อันนั้นเรียกว่า จิตวิญญาณเป็นโรค จึงว่าโรคมี 2 อย่าง
หลวงพ่อสะดุดใจ เมื่อหลวงพ่อรู้จักรูปโรค นามโรค โรคทางจิตใจดีแล้ว หลวงพ่อก็รู้จัก ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา รู้จริง ๆ ไม่ใช่รู้กับตำรา รู้โดยญาณความรู้ หรือว่าสัญญา ความหมายรู้จำได้ มันเฉพาะตัวมันเอง
เมื่อรู้ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ดีแล้ว หลวงพ่อก็รู้สมมติ รู้สมมติผี สมมติเทวดา สมมุตินรก สวรรค์สมมติ หลวงพ่อรู้สมมติ ให้ว่าครบทีเดียว ทุกแง่ทุกมุมหลวงพ่อรู้ เวทมนต์กลคาถาหลวงพ่อรู้ ตอนนี้หลวงพ่อจะพูดให้ฟัง ตอนที่หลวงพ่อรู้สมมตินี่ หลวงพ่อเคยไปเรียนมนต์ แต่ไม่ต้องเอ่ยถึงคนนั้นคนนี้นะ มนต์คง มนต์ไล่ผี วัวธนูดูหน้าน้อย ไส้หนังบังควัน หลวงพ่อเรียนมา ตอนหลวงพ่อจะมาเล่าให้ฟัง ตอนหลวงพ่อรู้ธรรมะเรื่องสมมตินี่ คำมนต์จำได้เป็นบางตอน โอม ธุลี ธุลี คำมนต์ขึ้นมา มนต์ขลัง ปืนยิงไม่ออก มีดพร้าฟันไม่เข้า ท่านว่าอย่างนี้
โอมธุลี ธุลี คอกูมีแผ่นทองกั้นพร้า แผ่นเหล็กแผ่นทองกั้นพร้า กั้นมีดกั้นพร้า คอเรามีแผ่นเหล็กแผ่นทองกั้นไว้ เขาฟันไม่เข้า คอกูมีแผ่นทองกั้นพร้า หน้าผากกูแกร่งปานหิน แข็งปานหิน หน้าผากนี่ คนตีไม่แตกนี่ ตีน แปลว่า เท้านะ เท้าเราแกร่งปานเหล็ก ขนแข้งขนขาขนเรานี่เท่าหนามคา รู้จักหนามคาไหม หญ้าคาน่ะ ขนเราเท่ากับหญ้าคาน่ะ ขนขาเรานี่เท่ากับขนเม่น รู้จักขนเม่นไหม ขนเม่นที่มันติดตัวเม่นน่ะ กูจะเต้นไปได้ร้อยโยชน์พันวา เต้นคราวเดียวนี่ได้จักร้อยโยชน์พันวา พญามนต์ทั้งหลายจงมากราบมาไหว้มากั้นมาบังตัวกู คำมนต์มันพูด
หลวงพ่อมาจับคอหลวงพ่อ ไม่มีแผ่นเหล็กแผ่นทองทั้งหมดเลย หลวงพ่อน้ำตาพังลงเลย น้ำตาหลวงพ่อ โอ้... ถ้าว่าคิดว่าสมน้ำตานั้นได้จักเป็นถัง แหม ! น้ำตาไหลออกมาที่ไหนไม่รู้ เพราะว่าหลวงพ่อโง่ หลวงพ่อตายแล้ว ถ้าหลวงพ่อไปเชื่อมนต์เชื่อของขลัง หลวงพ่อตายจริง ๆ แต่หลวงพ่อก็เชื่อจริง ๆ เรื่องมนต์นี่ แต่หลวงพ่อไม่ทำ ไม่ทำเหมือนคนอื่น หลวงพ่อไม่คบคนชั่ว คือไม่เข้าวงการพนัน หลวงพ่อไม่เข้า คนกินเหถ้า หรือเขาทะเลาะผิดเถียงกัน หลวงพ่อไม่เอา หลวงพ่อไม่เข้าใกล้ แต่หลวงพ่อไปฟังได้อยู่ไกล ๆ หลวงพ่อกลัวเขา เพราะหลวงพ่อไม่มีกำลัง
หลวงพ่อเลยรู้จักสมมติดี เมื่อรู้จักสมมติอย่างนี้ หลวงพ่อก็เลยรู้จักศาสนา ไม่ใช่ศาสนาอย่างที่เราเคยถือมา รู้จักพุทธศาสนาเข้ามา ศาสนาแปลว่าคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ ใครมีความรู้เรื่องอะไรต้องสอน สอนให้เราไหว้ผี สอนเรื่องฤกษ์งามยามดี สอนอะไร คำสอนของผู้รู้ทั้งนั้นสอนให้ตาเรานี่ให้ดู สอนให้หูเรานี่ให้ฟัง สอนตัวเรานี่แหละ เรียกว่าตัวคนเป็นศาสนา หลวงพ่อเข้าใจ ตัวทุกคนนั่นแหละเป็นตัวศาสนาดังนั้นไปฆ่าคน ไปตีคน ไปหลอกลวงคนนั้น แปลว่าไปหลอกลวงศาสนา เป็นบาป หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น
พุทธศาสนาบัดนี้ พุทธศาสนาคือตัวรู้นี้แหละ ตัวสติ ตัวปัญญา ตัวสมาธิ จะว่าตัวอะไรก็รู้แหละ พลิกมือขึ้นก็รู้ ตัวรู้อันนี้นี่แหละ ความรู้สึกนั่นแหละเป็นตัวพุทธศาสนา
พุทธะ จึงแปลว่า ผู้รู้ แต่มันไม่ใช่รู้แต่เฉพาะเท่านี้นะ มันรู้ให้แตกฉานจริง ๆ ไม่ใช่แตกฉานนับเม็ดหิน เม็ดทราย ไม่ใช่อย่างนั้นนะ คือ แตกฉานใจตัวเอง รู้ทุกข์ รู้สุข รู้วิธีทำให้ทุกข์เกิด รู้วิธีทำให้ทุกข์หมด หลวงพ่อรู้อย่างนี้ จึงว่าพุทธศาสนาแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม หลวงพ่อรู้อย่างนี้
รู้อย่างนี้แล้วก็รู้บาป รู้บุญ แต่มันเป็นสมมุติเหมือนกันนะ บาปก็คือโง่นั่นเอง บุญก็คือฉลาดนี่เอง บาปจึงว่าคือมืด มืดจิตมืดใจ บุญคือรู้ รู้ก็แปลว่า สว่างจิต สว่างใจ จึงว่า จิตใจสะอาด จิตใจสว่าง จิตใจสงบ จิตใจบริสุทธิ์ จิตใจผ่องแผ้วว่องไว ท่านว่าอย่างนั้น จิตใจพระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น แต่หลวงพ่อรู้อย่างนั้น หลวงพ่อก็เลย... หมดความรู้อันนี้ตอนเช้า รู้แค่นี้ละ แต่ว่ารู้มากกว่านี้
ที่หลวงพ่อพูดเป็นหัวข้อนี่ เป็นหัวข้อสั้น ๆ แต่ความรู้มันมาก ตอนนี้ มันเกิดความรู้อันหนึ่งขึ้นมา รู้สามารถที่จะไปอธิบายให้ผีฟัง แน่ะ ! รู้จักสมมติก็ยังลืมได้ นี้เรียกว่ามันถูกวิปัสสนูลากไป จึงว่าการปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องเป็นวิปัสสนู วิปลาสจินตญาณ หลวงพ่อรู้ แต่คราวนั้นหลวงพ่อยังไม่รู้ วิปัสสนู วิปลาส จินตญาณ หลวงพ่อติดวิปัสสนู ติดคนเดียว หลวงพ่อไม่รู้ แต่ไม่เป็นอะไรหลวงพ่อเห็นใคร อยากพูดธรรมะให้ฟังทั้งนั้น เห็นตัววัวตัวควาย อยากเทศน์ธรรมะให้เขาฟัง นึกว่าวัว ควาย เขาก็รู้ได้ สุนัขกรายไป หลวงพ่อก็อยากพูดธรรมะให้มันฟัง นึกว่าทุกคนมันมีธรรมะชนิดนี้หมด แต่ว่าพวกนั้นมันไม่มีสัญญาจำ
เพราะคนนี่ แม้จะเขียนหนังสือเป็นก็ต้องจำ เขียนหนังสือไม่เป็นก็จำได้ คนจนก็จำได้ คนรวยก็จำได้ หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น จึงว่าทุกคนต้องรู้ ยกเว้นไม่ได้ หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น ในขณะที่หลวงพ่อเป็นนะ หลวงพ่อเจ้าใจอย่างนั้นจริง ๆ แต่มันคิดอย่างนี้ คิดจะไปสอนคนคิดถึงพ่อ ถึงแม่ ผู้ล้มหายตายไป ทำไมเสียชีวิตไปโดยไม่รู้ ไร้ประโยชน์ที่สุด เกิดมาเป็นคนทำไมจึงไม่รู้ มันคิดไปอย่างนั้น แต่ตัวเองก็ไม่รู้ ก็นานก็ไม่รู้ คิดไป ตัวเองก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้จะไปโทษคนอื่นไม่ได้ เราก็จำเป็นเป็นความรู้อย่างนั้นน่ะ
จนตกเย็น พอประมาณในเกณฑ์ 5 โมง หลวงพ่อก็ไปอาบน้ำ ไปอาบน้ำมาก็ เช็ดตนเช็ดตัว มาแล้วก็มาเดินจงกรม มันก็ยังไม่เย็นดีเท่าไร ต้นฟากนั้นเป็นต้นส้มค้อ บ้านหลวงพ่อเรียกว่าต้นส้มค้อต้นฟากนี้เป็นต้นหมากทัน หลวงพ่อก็เดินตรงกลางนี่ ต้นส้มค้อนี่ ทางนี้เรียกว่าต้นข่อย เรียกว่าหมากทันเรียกว่าต้นพุทรานี่ หลวงพ่อเดินตรงกลาง ข้างนั้นเป็นพุทรา ข้างนี้เป็นต้นข่อย เดินอย่างนั้นน่ะ
ในราว 6 โมงกว่านี่ ใกล้ๆ จะทุ่มหนึ่ง หลวงพ่อคล้าย ๆ คือ มีคนมาผลักตรงสีข้างหลวงพ่อเลย วูบหนึ่ง เอ๊ะ ! เราเดินอยู่คนเดียวใครมาซุก* ไม่มีใครเลย มองไปทางไหน ก็ไม่เห็น มองหาคนไม่เห็น
เอ๊ะ ! ทำไม เป็นอย่างนั้น
ในขณะที่หลวงพ่อหาคน หลวงพ่อไม่รู้แล้ว ไม่รู้คิด แต่หาคน แล้วลืมตัวเจ้าของไปแล้วบัดนี้ ก็เดินไปเดินมา บัดเดี๋ยวมันคิดแวบเข้ามา
อ้าว ! มันคิด
อ้อ ! เมื่อกี้นี้มันก็คิด แต่เราไม่รู้มัน
หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น
เอ๊ะ ! มันคิด
หลวงพ่อก็เลยรู้ ต่อมามันคิดครั้งที่สามนี่ หลวงพ่อก็เลยรู้ ทำเหมือนแมวกับหนู บ้านเรามีหนู ต้องเอาแมวมาเลี้ยงไว้ มันเปรียบอุปมาไปอย่างนั้น
ทีแรกหนูตัวโต แมวตัวเล็ก พอดีหนูออกมา แมวตัวเล็ก แมวตัวน้อยนะ ก็จับหนู หนูมันตื่นบัดนี้ แมวมันก็กำลังไม่เท่าหนู หนูมันก็ลากแมวไป
หลวงพ่อคิดอย่างนั้น ที่เล่ามาตั้งแต่เช้าน่ะ มัน ความคิดลากไป ลากความรู้สึกอันนี้ไป ความรู้สึกจึงเข้าไปในความคิด จึงว่ารู้คิด ไม่ใช่เห็นคิด บัดนี้ อย่าไปโทษหนู อย่าไปโทษแมว ไม่โทษทั้งสองเลย เอาอาหารให้แมวกินเยอะ ๆ แมวกินอาหารแล้วมันอ้วนเร็ว พอดี แมวมันตัวอ้วนมันแล้ว กำลังมันดีนะ พอดีหนูออกมา แมวตัวใหญ่ หนูก็ตัวใหญ่เต็มที่ หนูก็ตาย แมวมันกระโจนปุ๊บ จับหนู
หลวงพ่อคิดเปรียบเอาเองคนเดียวนะนี่ หนูใจขาดตายเลย ช้อคตายเลย นี่...หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น
* ซุก : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่าผลัก
แมวกินหนูจึงไม่มีเลือด อันนี้หลวงพ่อจะไม่เล่าเลย พ่อหลวงพ่อพูดให้ฟังว่า เสือเกิดลูก จำเป็นต้องเอาแมวมาเป็นครูเสือ เพราะว่าเสือกินเนื้อน่ะยังมีเลือด แมวกินไม่มีเลือด พ่อเล่าให้ฟังก็ยาว หลวงพ่อจะไม่พูดไปเลย พอดีเป็นอย่างนั้น
หลวงพ่อก็คอยดู มันคิด หลวงพ่อก็เห็น พอดีมันเห็น มันหยุด ความคิดมันหยุด มันคิดปุ๊บ หลวงพ่อเห็นปั๊บ เหมือนกับนักมวยขึ้นเวที บัดนี้เราไม่ต้องไหว้ครูแล้ว บัดนี้ไม่ต้องไปอ้างอิงกับตำรับตำรา เพราะตำรามีในตัวเราบัดนี้ แต่ก่อนมันไปอ้างตำรา ตอนเช้ามาถึงตอนเย็น มันไปอ้างตำรามาก
บัดนี้ทิ้งตำราให้หมดเลย มาคอยจับการเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ ยกแข้ง ยกขา ยกมือ ยกเท้า พริบตา เหลือบซ้าย แลขวา ก้ม เงย เอียงซ้าย เอียงขวา ให้มีสติหรือให้รู้จักตัว กลืนน้ำลายก็ให้รู้ หายใจเช้า หายใจออก มันรู้เร็วที่สุด ความรู้จึงว่ามากที่สุด เร็วที่สุด
ความรู้นี่ ใครจะมาจับตัวหลวงพ่อนี่ สมมุติเอานะ มาจับสักสิบคน สิบคนมาจับพร้อมกันทั้ง 10 มือ หลวงพ่อก็รู้ เป็นอย่างนั้น รู้พร้อมกันจริง ๆ ความรู้จึงว่ารอบตัว สัญญาณจึงแปลว่ารู้ หลวงพ่อรู้วิญญาณขึ้นมา พอดีเป็นอย่างนั้น
หลวงพ่อก็เลย รู้ เห็น เข้าใจ เห็นวัตถุ วัตถุนี่หมายถึงทุกอย่างทีเดียว แต่ไม่อธิบายแล้ว มันเข้าใจ แต่ว่าวัตถุนี่ก็หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าใจไหม
ก็รู้ปรมัตถ์ ไม่ใช่รู้นะ มันเห็น เห็นรู้ เข้าใจ ซาบซึ้ง อยู่นั่นแหละ เห็น รู้ ปรมัตถ์ ปรมัตถ์แปลว่าของจริง เข้าใจไหม
แล้วก็เห็นอาการ อาการสภาพความเปลี่ยนแปลงของคนหรือสัตว์ มันมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างนี้ หลวงพ่อเข้าใจอย่างนี้ ในช่วงนั้นนะ แต่มันรู้มันไม่ใช่ช้า ๆ อย่างที่หลวงพ่อพูดนี้นะ
เห็นวัตถุ เห็นปรมัตถ์ เห็นอาการ แล้วก็เห็นโทสะ เห็นโมหะ เห็นโลภะ ไม่ใช่ตาเห็น ใจมันเห็น ใจมันรู้
จึงว่า นี่แหละตำหนิแผลที่ลี้ลับ คนอื่นมองไม่เห็น เราต้องเห็น ต้องรู้ ดังนั้น จึงว่าตำหนิแผลที่ลี้ลับ คือในตัวเรานี่มันเป็นเปลือกนอก แต่สำหรับจิตใจ อย่างโทสะ โมหะ โลภะ มันเป็นที่ลี้ลับ คนจึงมองไม่รู้ ไม่เห็น
ในสมัยกี่หลวงพ่อไม่สบายใจ ทุกข์ก็ได้ เมื่อแม่ออกแม่เทียนถาม หลวงพ่อไม่เห็น ไม่เห็นว่า โทสะ โมหะ โลภะ หลวงพ่อไม่รู้ มันหนักใจ แต่หลวงพ่อทำกรรมฐานมาพอแล้ว ดังนั้น กรรมฐาน หลวงพ่อจึงไม่มีอารมณ์ คนอื่นอาจจะมีก็ได้ จึงว่า อารมณ์ของกรรมฐานหลวงพ่อไม่รู้ พอดีมาเห็นอันนี้หลวงพ่อรู้เลย เป็นอารมณ์ อ้อ ! ลักษณะใกล้ๆ แต่เราไม่รู้ สิ่งที่มันมีอยู่ในตัวเรา
พอดีรู้อันนี้แล้วก็ เวทนาไม่ทุกข์ สัญญาไม่ทุกข์ สังขารไม่ทุกข์ สัญญาไม่ทุกข์ เพราะโทสะ โมหะ โลภะ ปรุงไม่ได้ แต่ว่าเวทนาก็มีอยู่ สัญญาก็มีอยู่ สังขารก็มีอยู่ สัญญาก็มีอยู่ แต่มันไม่ได้รู้อย่างนี้นะ มันรู้เร็วที่สุด
พอดีพูดอย่างนี้คล้าย ๆ คือ มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งขวางหน้าไว้ หลวงพ่อก็ทำความรู้สึก ตึ๊บ ! อึดใจเดียวเท่านั้นเอง เห็นกิเลสตัณหา อุปาทาน กรรม เห็น 4 ข้อนี้เลย พอดีเห็นอันนี้ก็ กิเลส ตัณหาอุปาทาน กรรม จางคลายไป พอดีรู้อันนี้ หลวงพ่อเปรียบตัวหลวงพ่อทันทีเลย ตัวหลวงพ่อน้ำหนัก 100 กิโล ถ้าหลวงพ่อพูดเบา ๆ 60 กิโลไปแล้ว หลุดไปแล้ว แต่ในขณะนั้นเดินอยู่ 80 กิโล ไปแล้ว ยังเหลืออยู่ 20 กิโล หลวงพ่อ อ้อ...นี่ ความเป็นพระอยู่ที่ตรงนี้
ดังนั้น พระนี่ หลวงพ่อเข้าใจว่าต้องโกนผม โกนคิ้ว นุ่งเหลืองห่มเหลือง หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้นแต่ก่อน พอดีวันนั้น หลวงพ่อรู้ ตัวหลวงพ่อนุ่งกางเกง หลวงพ่อก็ อ้อ...เราเป็นพระได้แล้ว หลวงพ่อพูดเองคนเดียว หลวงพ่อ ไม่มีใครไปสับสนวุ่นวายทั้งนั้น หลวงพ่ออยู่คนเดียวหลวงพ่อเข้าใจว่าหลวงพ่อเป็นพระได้ในตอนนั้น
ตอนแลง* แต่ไม่ใช่ตอนแลงนะ ประมาณเกือบจะถึง 1 ทุ่มแล้ว หลวงพ่อเดินไป เดินมากลับไป กลับมา รู้ เกิดปีติ บัดนี้ ไม่มีความรู้ แต่มีปีติ ภูมิใจในความรู้ตัวเอง เป็นอย่างนั้น ว่าเราเป็นพระได้แล้ว อ้อ... เป็นเทวดาแล้ว บัดนี้เป็นพระได้แล้ว
* แลง : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่าเวลาเย็น
ถ้าจะเปรียบให้ฟัง ก็มีตาทิพย์ เห็น รู้ เข้าใจ สัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งนั้น หูทิพย์ ก็มีพร้อม เพราะว่าเคารพตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้ในวันนั้น แต่ตอนรู้ รูปนามยังไม่ยกมือไหว้ ตอนนี้แหละหลวงพ่อยกมือไหว้ว่า ของดีมีในตัว ทำไมจึงไม่ค้น ทำไมจึงไม่เอามาใช้
หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น หลวงพ่อก็เลยมานอน ไม่ใช่นอนในขณะนั้น เดินไปเกิดปีติ ภูมิใจว่าตัวเองจิตใจเปลี่ยนแปลงได้ เป็นพระได้แล้ว บัดนี้เข้าใจอย่างนั้นนะ แต่ความจริงเป็นโยม นุ่งกางเกง นุ่งเสื้อ เดิน ประมาณ3 ทุ่มนี่แหละ หลวงพ่อเดิน เดินยังไม่เปลี่ยนนะ ยังเดินอยู่ เดินนานก็มานอน มานอนยังภูมิใจกับความรู้ที่ตัวเองรู้นะ จนหลับ หลับก็ประมาณในเกณฑ์ตี 2
ตี 3 นี่ หลวงพ่อก็ลุกมาล้างหน้าแปรงฟัน พอดีล้างหน้าแปรงฟัน หลวงพ่อก็จุดเทียนไข เอาเทียนไขไปไต้ไว้ส้นเบื้องนั้น ไปไต้ไว้ส้นเบื้องนี้ เป็นอย่างนั้น เดิน จึงว่า มีตะขาบ รู้จักขี้เข็บไหม เขาว่าตะขาบตัวใหญ่กว่าข้อมือนี่ แดงยาวประมาณคืบกว่า แล่นผ่านหน้าหลวงพ่อไปแล่นผ่านทางหลวงพ่อ แต่มันไม่แล่นตรง มันแล่นเฉียง ๆ มันแล่นไปมันไปเร็ว มันวิ่ง แต่มันไม่ได้ตื่นหลวงพ่อ แต่มันไปประสามัน
บัดนี้หลวงพ่อก็ เห็น อ้อ... คิดว่า กลัว มันจะมาตอดเรา มากัดเรา เราก็ต้องเอาเทียนไขตามไป ตามไป แต่ไม่เห็น ไม่เห็น หลวงพ่อก็เอาเทียนไขมาไต้ไว้ที่เดิม มาไต้ไว้ที่เดิม หลวงพ่อก็เดินจงกรม เดินไปเดินมาอยู่
คราวนั้น หลวงพ่อเ.ดินจงกรม เดินไปรู้สึกตัวมากขึ้น มากขึ้น เกิดความรู้มาอีกแล้วบัดนี้ อ้อ... ศีลเป็นเครื่องทำจัดกิเลสอย่างหยาบข้อแรกขึ้นมาสมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด
อ้อ... กิเลสอย่างหยาบคือ โทสะ โมหะ โลภะ กิเลส ตัณหาอุปาทาน กรรม มันหลุดไป มันจางไป เมื่อแลง ศีลก็ปรากฏขึ้นมา ศีลขันธ์บัดนี้ หลวงพ่อรู้จักอย่างนี้ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ศีลขันธ์รูปขันธ์ คือรูปนี่ รูปเป็นขันธ์ ขันธ์มีศีล เวทนาขันธ์ เวทนาเสวยอารมณ์ สัญญาขันธ์ สัญญาแปลว่า ความหมายรู้จำได้ สังขารขันธ์ สังขารมีศีล วิญญาณขันธ์ วิญญาณก็มีศีล สังขารแปลว่าปรุงแต่งนะ มีศีลแต่ไม่ปรุงแต่งทางเลวร้าย วิญญาณแปลว่ารู้ ไม่ใช่ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ไม่ใช่ศีล 227 ศีลเฉพาะตัวมัน
หลวงพ่อเลยรู้ รูป 4 คือ เวทนาเป็นรูป สัญญาเป็นรูป สังขารเป็นรูป วิญญาณเป็นรูป ไม่ใช่เป็นรูปนะ เป็นรูปคิด คือเวทนามันคิด สัญญามันคิด สังขารมันคิด มันเป็นรูปความคิด เป็นนามรูป ไม่ใช่เป็นรูปนาม เป็นนามรูป เป็นนาม เวทนาเป็นนาม สังขารเป็นนาม วิญญาณเป็นนาม แต่ความคิดเป็นรูป เรียกว่านามรูป หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น อันนี้เป็นรูปนาม รูปจับถูกด้วยมือ มองเห็น แต่นามแปลว่ารู้ บัดนั้น รูปอันนั้น มันคิดเฉพาะเข้ามา เรียกว่า นามรูป หลวงพ่อก็รู้อย่างนั้น หลวงพ่อ พอดีรู้อย่างนี้
อ้อ ! ขันธ์ แปลว่า รองรับ แปลว่าต่อสู้ ครั้นว่าแปลก็ได้ หมายก็ได้ เพราะหลวงพ่อไม่ได้อ้างตำรา ขันธ์ หมายถึง การรองรับ หมายถึงต่อสู้รองรับอะไร ถ้าฝนตกมา โอ่งน้ำก็ดี ขันก็ตี ไปรองรับเอาน้ำฝนตกมา น้ำก็เต็มได้ เก็บน้ำได้ ถ้าขันดี ไปตักน้ำได้กิน ถ้าขันดี ไปตักข้าว ไปใส่บาตรให้พระก็ดี ถ้าขันดี ไปตักอาหารกินก็ได้ ถ้าขันแตกแล้ว ตักข้าวไปให้พระก็ไม่น่าเอา ถ้าขันแตกแล้วไปตักน้ำก็ไม่ได้กิน ตักอาหารไม่ได้กินทั้งนั้น อ้อ ! ขันธ์ล่ะ ก็หมายถึง ตัว นี่เอง ตัวทำดี พูดดี คิดดี ทำอะไรก็รู้ ถ้าตัวไม่ดี คิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี ทำอะไรก็ไม่รู้ หลวงพ่อเลยเข้าใจอย่างนั้น พอดีเข้าใจอย่างนั้นก็เลยเปรียบไว้
อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา สิกขาแปลว่าถลุง แปลว่าบด ตำให้มันแตกเลย ขบให้มันแตกเลย เหมือนที่โรงงานเรานะ โรงสีข้าวก็ดี โรงโม่หินก็ได้ จะว่าอย่างไรก็ได้นะ ทางกรุงเทพฯ โรงโม่หินน่ะดีนะ เอาหินก้อนโต ๆ นี่โยนเข้าไป โรงงานมันจะถลุง หินจะมุ่น*บดเข้าไป มันจะเป็นก้อนเล็ก ๆ เข้าไป ข้าวก็เหมือนกัน เป็นข้าวเปลือก โยนเข้าไปโรงสี ไม่ใช่โยน ไปเทใส่ที่นั้น มันจะค่อยไปตามเรื่องของมัน มันจะมุ่นออกมาเป็นข้าสาร เป็นข้าวที่ 1 ข้าวที่ 2 ข้าวที่ 3 บางทีก็เป็นแกลบเป็นรำไป
* มุ่น : ภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า บด หรือทำให้ละเอียด
ดังนั้น คนเจริญวิปัสสนาก็ตาม คนเจริญสมถกรรมฐานก็ตาม ถ้าหากว่าเป็นแกลบเป็นรำ ก็แสดงว่าคนนั้นยังไม่ได้ตั้งใจจริง ถ้าเป็นข้าวที่ 1 แล้ว คนนั้นก็ต้องตั้งใจจริง ๆ ถ้าเป็นข้าวที่ 2 ที่ 3 แล้ว ก็ตามลำดับสติปัญญาและความตั้งใจของคน
ดังนั้นไปปฏิบัติธรรมะนำ*กันคราวนั้น พระ 23 คน โยม 5 คน รู้ไม่เหมือนกัน
* นำ : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่า ด้วย
ตอนนี้หลวงพ่อจะพูดเรื่องอารมณ์ให้ฟัง บัดนี้อาจารย์ปานไปลาม ตอนที่หลวงพ่อรู้ รูป นาม ตอนเช้า อาจารย์ปานไปถาม ไม่ใช่รู้วันนั้น ถามวันนั้นนะ มันมีเมืองลาวกับเมืองไทย มันเป็น 8 สองหนไม่ตรงกัน คือเป็นวัน 14 ค่ำของเรา เป็นวัน 15 ค่ำของเมืองลาว ถึงวัน 15 ค่ำ อาจารย์ปานก็มา มาถามหลวงพ่อ คือ พระ เณร 23 รูป ถามหมดแล้ว แล้วก็เอาโยมไป 4 คน ถามหมดแล้ว หลวงพ่อเป็นคนสุดท้าย ไปถาม
เป็นยังไงโยม
ไม่เป็นยังไงครับ
ทำไมไม่เป็นยังไง
ผมมีแต่มึนหัว เพลีย
หลวงพ่อพูดความจริงนี่ หลวงพ่อเป็นวิน** มันไกล เดินไป เดินไปหาอาจารย์ ไกล แล้ว ทุ่งนามันกว้าง ตากแดดไป ไปหลวงพ่อก็บอก
** วิน : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่า เวียนศีรษะ
มันวินหัว มันเหนื่อย หลวงพ่อก็บอกยังงั้น
นั่งอยู่นั่นรู้สึกตัวไหม
รู้ครับ
สติอยู่ไหน
สติอยู่กับผมนี่แล้วครับ หลวงพ่อก็ตอบอย่างนี้
อาจารย์ปานก็เลยบอก เข้าไปห้องกรรมฐานอีกไป๊
หลวงพ่อก็หนีมา หลวงพ่อคิด แหม ! คราวนี้ อยากเถียงอาจารย์ปาน แหม ! เราพูดความจริง ไม่ฟัง ไม่เอา จะมาถามปัญหากันอย่างนี้
หลวงพ่อเลยเข้าใจปัญหาของอาจารย์ปาน ทีแรกหลวงพ่อเข้าใจว่าเขาถามเฉย ๆ โอ้ ! เมื่อใดจะได้พบกับอาจารย์ปานอีกหนอ แน่ะ ! ตั้งใจไว้แล้วบัดนี้ จะแก้ปัญหาอาจารย์ปานให้มันตรงเปรี๊ยะที่เดียว บัดนี้คนปัญหาก็ต้องปัญหา หลวงพ่อมีปัญหาเยอะ เอ้า ! ถามมาเถอะ บัดนี้เราจะไม่ติดเลย หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น ได้อีกนานแล้ว มาอีกแล้ว
ถึงวันพระก็มาอีกแล้ว มาก็มาถาม ไม่ใช่มาถามหลวงพ่อนะ พระจำนวน 12 รูป ถามไปทั้งหมดเลย แล้วก็โยม 4 คน ถามไปทั้งหมดเลย หลวงพ่อเป็นคนสุดท้าย ท่านก็นั่งเก้าอี้ แล้วก็มีหมอนเทิ่ง*** ท่านก็นั่งทำอย่างนี้แหละ แล้วก็เอาหลวงพ่อไปนั่งใกล้ๆ เหมือนหนูนี่แหละ หลวงพ่อก็นั่งพับเพียบ ถามเลย
*** หมอนเท่ง : ภาษาถิ้นอีสานแปลว่าหมอนอิง
เป็นอย่างไรโยมเชียงคาน
ไม่เป็นอย่างไร
หลวงพ่อตอบปัญหาแล้วบัดนี้ ไม่ตอบตามความจริงแล้ว เพราะคนต้องการปัญหา ก็ต้องแก้ปัญหากันแล้วบัดนี้
ทำไมไม่เป็นอย่างไร
ผมไม่เจ็บแข้งเจ็บขา ไม่ปวดหัว ปวดท้อง ผมก็บอกไม่เป็นอย่างไรครับ
ถามอย่างงี้เลย ก็ต้องแก้อย่างนี้แหละ เข้าใจไหม บัดนี้ท่านก็เลยถาม
รู้อะไรบ้างไหม
รู้ครับ
บัดนี้ รู้อะไร
รู้ตัวผมเอง
รู้ตัวผมรู้อย่างไร
ก็รู้ตัวผมนี่ การเคลื่อนไหว การนั่ง การนอน ก็รู้ตัวผมนี่
เอ้ ! คนไม่รู้ตัวเองก็เหมือนกับคนตายแล้ว
อาจารย์ปานถามอย่างนี้
ผมตายแล้วจริง ๆ ผมเกิดใหม่แล้วครับ
คราวนี้หลวงพ่อก็ตอบเลย
ทำไมว่าตายแล้วเกิดใหม่ ตายแล้วก็ต้องเอาไปทิ้ง
มันตายความสกปรก จิตใจมันชั่วร้าย จิตใจเศร้าหมอง จิตใจมืด จิตใจซึมเซา ตายไปแล้วครับ แต่ตัวผมยังไม่ตาย
หลวงพ่อก็บอกอย่างนี้เลย ท่านก็ พอดีตอบอย่างนั้นท่านก็ไปคิด คิดปัญหามาถาม ท่านก็เลยถาม
โยม เกลือเค็มไหม
เอ้ ! ผมไม่รู้จักว่าเกลือเค็ม เกลือไม่เค็มครับ
เอ้ ! ทำไมว่าเหลือไม่เค็ม
เกลือจะเค็มทำไม เกลืออยู่กะทอ*โน่นครับ เกลือไม่ได้อยู่กับลิ้นผม ผมไม่ได้สัมผัส ผมไม่รู้ หลวงพ่อก็ตอบอย่างนี้เลย
* ภาชนะที่จักสานด้วยไม้ไผ่
เอ้ ! ทำไมไปพูดอย่างนั้น
ก็พูดอย่างนี้ซิครับ พูดของจริง ก็ต้องพูดอย่างนี้
ท่านก็ถาม หมากพริก เผ็ดไหม
เอ้ ! หมากพริกจะเผ็ดทำไม หมากพริกไม่ได้อยู่กับผม
เอ้ ! ทำไมพูดอย่างนี้
พระจำนวนไม่ใช่ 23 รูปนะ คนไปฟังเทศน์นะ พอดีสอบปัญหาหลวงพ่อ แล้วก็จะเทศน์เลย หลวงพ่อก็ตอบไปอย่างนี้ล่ะ บัดนี้ท่านก็ถาม หลายเรื่อง ท่านถาม
บัดนี้ น้ำอ้อย ท่านก็ถาม หวานไหม
น้ำอ้อย น้ำตาล ไม่หวาน หลวงพ่อตอบปฏิเสธไปทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ปฏิเสธนะ ความจริงหลวงพ่อเอาปัจจุบันมาแก้
บัดนี้ สีดำ อันใดดำมาก ท่านว่า ท่านถามไปอย่างนี้
ไม่มีอันใดดำครับ ดำเท่ากับดำเท่านั้นเอง อันใดจะดำเหนือดำไม่ได้ครับ ขาว ก็เท่ากับขาวเท่านั้นเอง อันใดจะเหนือขาวไม่มีครับ ขาวเฉพาะขาวเท่านั้นเอง แดงนี่ ทุกอย่างครับ ไม่มีอะไรจะดีเหนือสิ่งนั้นไปได้ ขาวก็ต้องหมดกับขาว ดาก็ต้องหมดกับดำ แดงอะไรทั้งหมดเลยครับ
หลวงพ่อตอบอย่างนี้ไป ท่านก็เฉยไป พอดีท่านถามมาหลายเรื่องหลวงพ่อก็เลยแก้ไปอย่างนั้น บัดนี้ท่านก็เลยถาม
โยม ครับ สมมติทุ่งนานี้เป็นดง แล้วก็มีอีกคนหนึ่งมาหาอาจารย์นี่แล้ว กลับคืนไป แล้วสมมุติ โยมอยู่ศรีเชียงใหม่ แล้วเขามีปืนไป 1 กระบอก แล้วเขาไว้ยิงเสือไว้ที่ตรงนั้น
ท่านพูดอย่างนี้ ท่านถามเป็นปัญหาอย่างลึกซึ้ง ท่านถาม
แล้วบัดนี้โยมคนนั้นไปบอกให้โยมไปหาอาจารย์ปาน ไปหาอาจารย์ โยมจะมาไหม
มาครับ เพราะอาจารย์สั่งก็ต้องมา เพราะถ้าไม่มา ก็เป็นคนอกตัญญู ไม่รู้จักบุญคุณของครูบาอาจารย์ หลวงพ่อก็ตอบอย่างนี้
ถ้ามา เสือก็ต้องกัด ท่านว่าอย่างนั้น เพราะเขายิงเสือปล่อยไว้ที่ตรงนั้น
เอ้ ! ผมไม่เห็นเสือ
คุณจะมาตามทางหรือจะลัดป่ามา
ผมไม่ไปตามป่า ผมไปตามทางครับ ถ้าไม่มีทาง ผมมองหาเสือไม่เห็น ถ้าผมเดินตามทางมา ผมมองเห็นเสือทันที เห็นเสือมา ผมก็หนีหลบหลีกมันได้ ถ้าผมไม่เห็นเสือแล้ว ผมจะหลบหลีกเสือไม่ได้
ท่านก็เลยหมดคำพูดเลย ก็หลายเรื่องท่านพูดไป ถ้าว่าอย่างนั้น ท่านก็จะชมคำพูดหลวงพ่อ แต่ท่านเคยสอบอารมณ์ เคยถามคนปฏิบัติไม่พูดอย่างหลวงพ่อ ท่านว่าอย่างนั้น มันจะพูดคือกันทำไม ความรู้ไม่เหมือนกันนะ อันนี้แหละ ปัญหานี้หลวงพ่อจึงว่า หลวงพ่อไม่เชื่อใครทั้งหมดเลย หลวงพ่อรู้ธรรมะแบบที่หลวงพ่อรู้มานี่ หลวงพ่อจึงไม่เชื่อครูอาจารย์ ไม่เชื่อใครทั้งหมดเลย เป็นอย่างนั้น
พอดีพูดเรื่องอาจารย์ปานแล้วนะ บัดนี้ บัดนี้ ก็จะมาพูดเรื่องถลุงแร่ พอดีวกเข้ามาตอนที่เอาแร่ เอาหินเข้าโรงงาน พอดีมาถึงเข้าไป หลวงพ่อก็เลยรู้สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานไม่เหมือนกัน แต่สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นข้างสนับสนุนบำรุงกันได้ ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่ง ไปด้วยกันไม่ได้ เป็นอุปสรรคตรงกันข้าม
1
บัดนี้จะถามพวกหนู เคยเห็นคนเล่นการพนันไหม เคยเห็นเป็นพรรคเป็นพวกกันไหม แต่พวกเล่นการพนันนี้ไว้ใจกันไม่ได้ แม้สามีภรรยาเข้าไปในวงการพนันก็ตาม เมื่ออยู่ข้างนอกร่วมมือกันได้ ซื้ออาหารสู่กันกินได้ พอเอาเงินลงการพนันกันแล้ว ไว้ใจกันไม่ได้ เอาเปรียบกันทั้งนั้น
ดังนั้น สมถะกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าพูดตรงกันข้ามกัน เข้าทันไม่ได้ ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็เป็นเพื่อนกัน สนับสนุนกันเหมือนคนเล่นการพนัน สามีภรรยารักกันก็ตาม เข้าในวงการพนันแล้ว เพื่อนเราก็เหมือนกัน รักกันขนาดไหนก็ตาม
ดังนั้นสมถกรรมฐานกับวิปัสสนาจึงเข้ากันไม่ได้ แต่เป็นต่างสนับสนุนกันได้ เอาเปรียบกันเท่านั้นเอง หลวงพ่อรู้เรื่องนี้จริง ๆ กรรมฐานไม่มีอารมณ์ มีแต่ความสงบ เมื่อสงบแล้วก็มาพิจารณาเอาเอง เรื่องอสุภะเท่านั้นเอง วิปัสสนานี่ไม่ต้องพิจารณา เพราะครูบาอาจารย์เคยพูดให้หลวงพ่อฟังแล้วว่า จะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเรียนอารมณ์หก คือขันธ์ห้า ต้องเรียนให้รู้จัก อายตนะ 12 ต้องให้รู้จัก ธาตุ 18 ต้องให้รู้จัก อินทรีย์ 22 อริยสัจสี่ ปฎิจจสมุปบาทให้รู้จัก ให้ได้คล่องแคล่ว
หลวงพ่อไม่เรียน เพราะหลวงพ่อเรียนมาพอแล้ว เรื่องแค่นี้หลวงพ่อเรียนได้ รู้แต่สมัยเป็นเณร เพราะหลวงน้าสอน บัดนี้มาปฏิบัติธรรมะมันไม่ได้เอาความรู้อันนั้นมาด้วย หลวงพ่อรู้ ไม่ใช่สักแต่รู้ ขันธ์ห้า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ 5 อายตนะ 12 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะภายใน รูป เสียง กลิ่น รู้สึกสัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นอายตนะภายนอก มันไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อรู้เห็นมันตรงข้ามทั้งหมดเลย
1
ธาตุ 18 ก็ จักขุคือตา จักขุธาตุคือธาตุทางตา จักขุวิญญาณธาตุคือวิญญาณทางตา 3 คูณ 6 ก็ 18 พูดเท่านี้ก็พอแล้ว เรื่องอารมณ์ของวิปัสสนา หลวงพ่อเรียนตั้งแต่สมัยเป็นเณร แต่เมื่อมาปฏิบัติธรรมะมันไม่เป็นอย่างนั้น
เมื่อรู้เรื่องนี้แล้ว หลวงพ่อก็เลยรู้ว่าสมถะกรรมฐานไม่มีอารมณ์ วิปัสสนากรรมฐานมีอารมณ์ มีอารมณ์อะไร ตัดสินทำลายอารมณ์นั้นทั้งหมด เหมือนรถแทรกเตอร์ รถแทรกเตอร์ไปทางใด ต้นไม้ใหญ่เท่าใดก็ดันไป ถอนรากถอนโคนไปทั้งหมดเลย อย่างที่หลวงพ่อพูด เรื่องเห็น โทสะ โมหะ โลภะ ถอนรากไปเลย เห็นกิเลส ตัณหา อุปาทาน ถอนรากไปเลย เป็นอย่างนั้น หลวงพ่อก็ไม่เห็น พอดีรู้ว่าอย่างนี้เราเห็น รู้จักว่า หลวงพ่อเอาแร่เอาหิน อะไรเอาถลุงหมด อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ถลุงให้ละเอียด ก็เลยเห็น รู้ เข้าใจ สัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้
กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ หลวงพ่อเห็น อันนี้ กามาสวะ จำพวกติดอารมณ์ ความสงบ จะอารมณ์ อะไรก็ตาม ติดความสงบ อันนี้เรียกว่า กามาสวะ เรียกว่า กามารมณ์ อาสวะเรียกว่า กิเลส หลวงพ่อก็เห็นเข้าใจ จำพวกกาม กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ หลวงพ่อเห็นอันนี้ พอดีเห็นอันนี้ คล้ายคือ เอารถแทรกเตอร์นี้ถอนรากถอนโคนมันไปเลย
จำพวกทำความสงบไม่เห็นกาม เรียกว่าตกอยู่ในอาณัติของกามารมณ์ กามาสวะ คือ กามารมณ์ กามาคือกาม อาสวะคือ กิเลส อาสวะกิเลส กิเลสกับกามเป็นอันเดียวกัน แต่ว่ามันลึกซึ้งผิดกัน เอารถแทรกเตอร์ไถไปเลย
ภวาสวะหมายถึงภพ คำว่าภพชาตินี่มันลึก จะว่าภพชาติการเกิดจากท้องของมารดาก็ได้ จะว่าภพชาติการเกิดทางจิตใจก็ได้ จะว่ายังไงก็ได้มันเป็นเพียงสมมติ รถไถไปเลย ถอนรากถอนโคนอย่างนี้ เห็นแจ้งรู้จริงอย่างนี้
อวิชชาสวะ อวิชชา คือไม่รู้จริง ไม่รู้อะไรทั้งหมดก็ได้ หรือจะว่าไม่รู้โดยเฉพาะชีวิตตัวก็ได้ รถไถออกไปทั้งหมดเลย ก็เลยรู้เห็นเข้าใจอย่างนี้ หลวงพ่อเห็นรู้ประจักษ์ชัดในใจ ใครจะพูดยังไงหลวงพ่อไม่ฟังเลย เพราะว่าหลวงพ่อเห็นอย่างนี้
จึงว่าทิฐิของหลวงพ่อ ไม่เหมือนทิฐิของพรรคพวกเขานั้น พอดีเห็นอันนี้แล้ว เข้าใจอันนี้ ทำลายสิ่งเหล่านี้จางคลายไป ถอนรากถอนโคนมันไป ก็เลยเห็น รู้ เข้าใจ
การทำบุญด้วยกาย คือกายนี่ทำดี กราบไหว้แต่คำพูดไม่พูด หรือทำบุญทำทานทำอะไรก็ตาม เขาใช้แต่รูปกายนี้ทำ ถ้าหากสวรรค์มี นิพพานมี จะไปเกิดสวรรค์ชั้นไหน นิพพานชั้นไหน และจะไปเสวยสุขอยู่ที่นั้น ๆ กี่ปี กี่เดือน บัดนี้ถ้าทำบุญด้วยคำพูด พูดเฉย ๆ ร่างกายไม่ทำ พูดดี พูดจาไพเราะ เพราะหูคน เรียกว่าทำดี พูดดีนั่นเองตายไปแล้วจะไปอยู่สวรรค์ชั้นไหน นิพพานชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือน ที่เข้าใจอย่างนี้ บัดนี้กายไม่ทำคำพูดไม่พูด ใจคิดแต่ดีทั้งนั้น เรียกว่าใจคิดอย่างเดียว ถ้าหากสวรรค์นิพพานมีจริง ตายไปแล้วจะไปเกิดสวรรค์ชั้นไหน นิพพานชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือน เข้าใจอย่างนั้น
บัดนี้ 3 อันแล้วนะ กายก็ทำดี คำพูดก็พูดดี ใจก็คิดดี พร้อมกันทั้ง 3 อย่างนี้ ถ้าสวรรค์มี นิพพานมี ตายไปจะไปเกิดสวรรค์ชั้นไหน นิพพานชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือน หลวงพ่อเห็นอย่างนี้รู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ บัดนี้
ในทางตรงกันข้าม ทำชั่วเรียกว่า ทำบาปด้วยกาย เอากายไปทำชั่ว ทำทุจริตผิดความเป็นคน ทำทุจริตผิดความเป็นมนุษย์ ทำทุจริตผิดความเป็นเทวดา ทำทุจริตผิดความเป็นอริยบุคคล ตายไปแล้วจะไปตกนรกขุมไหน อเวจีขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือน บัดนี้
กายไม่ทำ มีแต่คำพูด คำพูดทุจริต ผิดศีล ผิดธรรม ผิดความเป็นมนุษย์ ผิดความเป็นเทวดา ผิดความเป็นพระอริยบุคคล กายก็ไม่ทำ มีแต่ใจคิดอิจฉาริษยา เคียดแค้น คือกลัวคนนั้นจะดีเหนือเรา กลัวคนนี้จะเลวกว่าเรา คิดไม่ดีนะ ถ้าหากคิดอย่างนั้นนะ ตายไปจะตกนรกขุมไหน ถ้านรกมีจริงนะ อเวจีขุมไหน นานกี่เดือนกี่ปี หลวงพ่อเห็นอย่างนั้นเข้าใจอย่างนั้น บัดนี้
ทำเป็น 3 อย่าง ทีละอัน กายก็ทำทุจริต คำพูดก็พูดทุจริต ใจก็คิดไม่ดี สามอันพร้อมกัน ตายไปแล้วจะไปตกนรกขุมไหน อเวจีขุมไหน นานกี่เดือนกี่ปี พอดีเห็นมันตรงข้ามอย่างนี้ มันสะบั้นไปเลย
หลวงพ่อกำลังเดิน เดินไปเดินมา ประมาณตี 5 เหมือนกับหลวงพ่อถอดเสื้อ ถอดกางเกงออกหมดตัว แต่หลวงพ่อไม่ได้ถอด แต่มันเป็นเอง คล้าย ๆ หลวงพ่อเดินไป เดินดินประมาณสักเมตรอย่างน้อย คล้าย ๆ กับมีอะไรรับไปทุกก้าว ๆ เป็นอย่างนี้ แหม มองเห็นสภาพเราทั้งหมดมันขาดไป สภาพอาการเกิดดับอยู่ที่ตรงนี้ พอดีมันเป็นอย่างนี้มันจืด หมดทั้งตัวเลย กายก็เข้าสู่สภาพเดิมของมัน ใจก็เข้าสู่สภาพเดิมของมัน มันขาดออกจากกัน
หลวงพ่อเคยพูดให้ฟังว่า เอาเชือกไนล่อนผูกเสานั้น เสานี้ ตัดตรงกลาง มันขาดออกจากกัน ดึงเข้าหากันไม่ถึง คำพูดนี้มันอยู่ลึก นี้เรียกว่าสภาพอาการเกิดดับของจิตของใจ ไม่ใช่ว่าพลิกมือขึ้นเป็นเกิด คว่ำมือลงเป็นดับ พริบตา หายใจเป็นเกิดดับ อันนี้เป็นเกิดดับ สมมติยังไม่เกิดดับตรงนี้ ตอนเกิดดับตรงนี้แหละมีค่ามากที่สุด ของจริงใจ พระพุทธศาสนาเกิดในคน ทุกคน ๆ มีอย่างนี้
แต่เรื่องหลวงพ่อพูดให้ฟังทุกคนจะต้องประสบ จะรู้ก็ประสบ จะรู้ก็ต้องไปที่นี่ ไม่รู้ก็ต้องไปที่นี่ ต้องตายแน่ ๆ ทีเดียว คนทุกคนจึงเรียกว่าตายจริง ๆ เรียกว่าสัจจะ คือของจริง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน จะรู้หนังสือก็ต้องตาย ไม่รู้หนังสือก็ต้องตาย มีเงินก็ต้องตาย ไม่มีเงินก็ต้องตาย รู้อันนี้ก็ต้องไปนี้ ไม่รู้อันนี้ก็ต้องไปนี้ แต่ว่าไปผิดทางกับไม่ผิดทางเท่านั้นเอง แต่ทุกคนต้องประสบกับความตาย
คนจะตายควรศึกษาและปฏิบัติให้รู้เรื่องนี้ เรียกว่าความตายมันเป็นของแน่อยู่แล้วต่อหน้าเรา เราต้องศึกษาและปฏิบัติให้รู้ เมื่อเราศึกษาปฏิบัติให้รู้เราก็สบายใจ ตายเวลาไหนก็ได้ แม้จะเป็นตอนค่ำ เช้า เย็น ตอนไหนก็ได้ เรื่องความตายเราไม่ง้อแล้ว เพราะว่าตายอย่างไรก็มีความสนุกอยู่แล้ว ความสนุก ความร่าเริงใจ เพราะเราไม่มีความกลัว ไม่กลัวอะไรทั้งหมดเลย เรียกว่าเราได้เห็น รู้ เข้าใจคำพูด ที่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์เคยสอน
พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ สอนมาว่า พระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียว ไม่ยาวอีกสักทีเลย เท่าเดิม แต่เราไม่รู้ ไม่ใช่ผม ที่ศีรษะ อันนี้ไม่ใช่ผมในหัวจริง ๆ รับรองได้ ไม่ใช่ผมจริง ๆ มันเข้าสู่สภาพของมันทั้งหมดเลย ใจก็เข้าสู่สภาพของใจ รูปเข้าสู่สภาพของรูป มันไม่เกี่ยวข้องกัน จึงว่าไม่ต้องเรียนอายตนะ 12 ก็ได้ ไม่ต้องเรียนธาตุ 18 ก็ได้ อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท ก็ไม่ต้องเรียนก็ได้ หรือเรียนก็ได้ แต่มันไม่เกี่ยวข้องอารมณ์
ที่หลวงพ่อรู้มาเท่านี้เอง รู้เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ต้องพูดว่า ปฐมฌานก็ได้ ทุติยฌาน ตติยฌาน ปัญจมฌาน ก็ได้ พูดก็ได้ ไม่พูดก็ได้ เพราะตัวมันเองจะรู้เอง มีอะไรเกิดขึ้นเราจะรู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง
หลวงพ่อจึงพูดว่า ตำหนิแผลที่ลี้ลับของเรามีอยู่ ใครจะรู้ดีเหมือนเราไม่ได้ เราต้องรู้เอง คนอื่นก็เช่นเดียวกัน เราจะไปรู้คนอื่นนั้นไม่ได้ ตำหนิแผลที่ลี้ลับของเขา เราจะรู้แทนเขาไม่ได้ ดังนั้นสันทิฎฐิโก อันผู้รู้จะพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบกาลเวลา จะเป็นเวลาไหนก็ได้
หลวงพ่อทำอันนี้ หลวงพ่อรู้ตอนเช้า หลวงพ่อจึงรู้จักสภาพสภาวะความเป็นเอง ไม่ต้องทำอะไร หลวงพ่อพูดความจริง แต่เป็นความเล่น พระพุทธเจ้าฆ่าคน ถ้าพูดอย่างนี้นะเขาไม่พอใจ แต่ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ได้ฆ่าคน พระพุทธเจ้าฆ่าความชั่ว ให้คนเจริญสติ เจริญปัญญา ฆ่าความชั่ว แต่ไม่ได้ฆ่าคนจริง ๆ แต่คนธรรมดาฟังไม่รู้ ความชั่วจะหายไปเอง
เหตุการณ์หลังจากที่หลวงพ่อรู้ธรรมะ
หลังจากที่หลวงพ่อรู้ธรรมะแล้ว หลวงพ่อยังอยู่ที่วัดรังสีมุกดาราม จนกระทั่งออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางกลับบ้านของท่านที่ตำบลบ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อกลับไปถึงบ้าน ภรรยาของท่านกำลังไม่สบายมาก ล้มป่วยมาตลอด 3 เดือน นับตั้งแต่หลวงพ่อจากบ้านไปปฏิบัติธรรม เมื่อหลวงพ่อจากบ้านไปนั้น ไม่มีใครทราบว่าท่านไปไหน เมื่อน้องชายของท่าน ไปถามกับภรรยาของท่าน และไม่ได้คำตอบว่าท่านเดินทางไปที่ใด น้องชายของท่านจึงเข้าใจผิด คิดระแวงว่า ภรรยาของท่านฆ่าท่านเพราะต้องการมรดก ซึ่งทำให้ภรรยาของท่านเสียใจมาก
ในขณะนั้นภรรยาของท่านยังลุกไม่ได้ แต่ท่านก็ได้บอกกับภรรยาของท่านว่า ความตายเป็นของธรรมดา และท่านได้บอกให้ภรรยาปฏิบัติธรรมตามวิธีที่ท่านได้ปฏิบัติจนบรรลุธรรมขั้นสูงสุดทันที ภรรยาของท่านมีความเคารพท่านอยู่แล้ว จึงเชื่อฟัง และลงมือปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำ
หลวงพ่อกับ ปู่ฮวน, ป้าหนอม, ยายเรือง, ยายจูมศรี, และแม่ดอกไม้
หลวงพ่อเล่าว่า พี่สาวของท่านที่ชื่อ หวัน พิมพ์สอน หรือที่ท่านเรียกว่าป้าหนอม เป็นอีกผู้หนึ่งที่ท่านต้องการให้ปฏิบัติธรรมมากที่สุด ป้าหนอมตกลงจะปฏิบัติ แต่พี่เขยของท่าน คือลุงหนอมไม่ยินยอม หลวงพ่อท่านจึงบอกกับลุงหนอมว่า จะยกที่นาซึ่งเป็นของบิดาท่าน ให้กับลุงหนอม และจะให้ป้าหนอมมาอยู่กับท่าน ทำให้ลุงหนอมโกรธมาก คิดว่าหลวงพ่อดูถูก
หลวงพ่อต้องขอให้ภรรยาของท่านชี้แจงให้ลุงหนอมเข้าใจ ในเวลานั้นบังเอิญบุตรชายของลุงหนอม หรือที่หลวงพ่อเรียกว่าบักหนอม ซึ่งป่วยอยู่สิ้นชีวิตลง หลวงพ่อท่านไม่ยอมไปช่วยงานศพหลาน ท่านให้เหตุผลว่าคนตายแล้วย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะไปช่วย ช่วยไม่ได้ ทำให้ลุงหนอมโกรธท่านมากยิ่งขึ้น
ญาติพี่น้องก็พากันแปลกใจและคิดว่าท่านบ้า แต่ก่อนนี้ท่านเคยคุ้มครองช่วยเหลือญาติพี่น้อง แต่มาบัดนี้ท่านกลับกลายเป็นเช่นนี้ไปได้ หลานตายทั้งคนยังไม่มา ทุกคนจึงพากันโกรธหลวงพ่อกันไปหมด ใครมาตามให้ท่านไปเผาศพหลานชาย ท่านก็ไม่ยอมไป ลุงหนอมนั้นโกรธท่านมาก แต่ไม่แสดงออก
เมื่อเผาศพลูกชายเรียบร้อยแล้ว ลุงหนอมก็มาหาท่าน ซักถามเรื่องวิธีปฏิบัติธรรม อันที่จริงหลวงพ่อท่านได้สอนวิธีปฏิบัติให้ป้าหนอมแล้ว แต่ลุงหนอมต้องการจะทราบจากหลวงพ่อเอง
หลังจากที่ลุงหนอมมาหาหลวงพ่อได้ไม่นาน ลุงหนอมก็เป็นโรคตาเจ็บ ลืมตาไม่ได้ ลุงหนอมได้มาขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านเต็มใจช่วย และได้บอกกับลุงหนอมว่า คนเป็นท่านช่วยได้ แต่คนตายท่านช่วยไม่ได้
หลวงพ่อพาลุงหนอมไปรักษาตาที่จังหวัดหนองคาย ครั้นเมื่อหายเป็นปกติแล้ว ลุงหนอมซึ่งเคยสนิทสนมชอบพอกับหลวงพ่อมาก่อนก็กลับมารักใคร่สนิทสนมกับหลวงพ่อเหมือนเดิม ไม่ว่าหลวงพ่อจะพูดอะไรลุงหนอมก็ไม่เคยขัด นอกจากนั้นยังกระตือรือร้นที่จะลงมือปฏิบัติธรรมตามที่หลวงพ่อแนะนำ ถึงกับบอกกับป้าหนอมผู้เป็นภรรยาว่า “แม่หนอม เจ้าไม่ต้องทำ ข้อยทำก่อน”
ลุงหนอมปฏิบัติต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 เดือน ก็ได้รู้รูป-นาม และเมื่อปฏิบัติได้ 3 เดือน ก็ได้เห็นความคิด ต่อจากนั้นป้าหนอมก็มาปฏิบัติธรรมโดยหลวงพ่อไม่ได้ชักชวนแต่อย่างใด
หลวงพ่อท่านเล่าว่าท่านฝึกภรรยาของท่านอย่างเข้มงวดกวดขัน แม้จะมีการเปิดอบรมปฏิบัติธรรมไป 2-3 รุ่นแล้ว แต่ภรรยาของท่านก็ยังคงต้องปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ไม่มีการหยุดหรือเลิกรา จะหยุดได้บ้าง แต่ก็น้อยที่สุด
ท่านเล่าให้ฟังด้วยอารมณ์ขันว่า “คนนี้หยุดไม่ได้ ต้องใช้อำนาจบังคับ เป็นราชาธิปไตย” ท่านถือว่าภรรยาของท่านมีอุปการคุณต่อท่านมากที่สุด เนื่องจากคำพูดของภรรยาที่ว่า ความโกรธทำให้ท่านตกนรกแล้ว นั้น เป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจแสวงหาสัจธรรม
ในเวลานั้นป้าหนอมพี่สาวของท่านได้รู้รูป-นาม หลังจากปฏิบัติธรรมได้ 1 เดือน 18 วัน อีกทั้งได้รู้ความคิดด้วย จึงมีคนมาปฏิบัติกันมากขึ้น หลวงพ่อจึงเริ่มก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น โดยสร้างกุฏิขึ้น 13 หลัง หลังคามุงสังกะสี หลวงพ่อได้ขอความร่วมมือจากเจ้าของโรงเลื่อยเชียงคาน ซึ่งหลวงพ่อเคยให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน เมื่อครั้งที่ท่านยังทำการค้าขายอยู่ รถโรงเลื่อยต้องขนไม้บุกเข้าไปส่งที่ ๆ ดินซึ่งหลวงพ่อเตรียมไว้ เจ้าของโรงเลื่อยถามหลวงพ่อว่าจะเอาไม้ไปทำอะไร หลวงพ่อตอบว่าเอาไปสร้างสำนักวิปัสสนา เจ้าของโรงเลื่อยก็ถามว่า วิปัสสนาเป็นอย่างไร แล้วก็ไม่ได้สนใจอีกต่อไป
หลวงพ่อใช้เวลาก่อสร้างกุฏิสิบกว่าวันจึงแล้วเสร็จ พร้อมที่จะเปิดการอบรมวิปัสสนา ก่อนการเปิดอบรม หลวงพ่อท่านได้ไปขอพบท่านเจ้าคณะจังหวัดเลย สีหนาทภิกขุ กราบเรียนว่าท่านมีอุดมการณ์ต้องการจะฟื้นฟูหลักพระพุทธศาสนา ท่านเจ้าคณะจังหวัดได้ถามท่านว่าจะทำอย่างไร ท่านกราบเรียนว่าจะเปิดอบรมวิปัสสนา ท่านเจ้าคณะจังหวัดเห็นชอบด้วย และได้เขียนหนังสือเป็นทางการถึงเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย
หลวงพ่อขอเป็นผู้นำหนังสือดังกล่าวไปถวายเจ้าคณะจังหวัดด้วยตนเอง แม้ว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดเลยจะทักท้วงว่าการเดินทางลำบาก ถนนยังเป็นลูกรัง ขรุขระกันดารมาก และในขณะนั้น หลวงพ่อก็ได้ขายเรือกลไฟและเรือกระแชงทั้งหมด ที่ท่านมีอยู่ไปแล้ว ที่หลวงพระบาง ก่อนที่ท่านจะออกปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อเดินทางด้วยรถยนต์มาที่จังหวัดอุดรธานี ค้างแรมกับเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านเคยจักชอบพออยู่ 1 แล้วจึงเดินทางต่อไปจังหวัดหนองคาย เพื่อกราบเรียนเจ้าคณะจังหวัดหนองคายเรื่องการเปิดสำนักวิปัสสนา หลวงพ่อได้เดินทางไปพบพระสงฆ์หลายรูปที่ท่านรู้จัก เพื่อขอความร่วมมือร่วมใจจากท่านเหล่านั้น ในการเปิดอบรมวิปัสสนา อาทิ กลุ่มของพระมหาไพฑูรย์ ที่ อ.ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งหลวงพ่อก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยชอบการทำบุญ เข้าวัดฟังธรรม มาตั้งแต่ยังหนุ่ม
ท่านได้ข้ามไปเมืองลาว เพื่อพบท่านอาจารย์ปาน และได้ซื้อเครื่องขยายเสียงติดเรือกลไฟ โฆษณาสำนักวิปัสสนามาตลอดริมแม่น้ำโขง มาจนถึงบ้านของท่าน ท่านเล่าว่าในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้จักคำว่าวิปัสสนา
เมื่อหลวงพ่อกลับมาถึงบ้าน ท่านได้เปิดอบรมขึ้นเป็นเวลาสิบกว่าวัน ท่านเล่าว่าท่านเสียสละเพื่อสิ่งนี้จริง ๆ ท่านเตรียมข้าวปลาอาหารไว้รับรองผู้มาปฏิบัติด้วยทุนทรัพย์ของท่าน และท่านคำนวณว่า เงินทองที่ท่านมีอยู่ จะสามารถใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร สำหรับผู้มาปฏิบัติได้เป็นเวลา 3 ปี
ในการจัดอบรมครั้งแรก มีผู้เข้าอบรมทั้งหมดประมาณ 30-40 คน มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส เจ้าคณะจังหวัดเลย และเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ได้เดินทางมาร่วมในการอบรมด้วย เมื่อท่านทั้งสองเดินทางกลับไปแล้ว หลวงพ่อก็เป็นผู้สอนการปฏิบัติ มีผู้รู้ธรรมเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อเล่าว่า คนที่ไม่เห็นชอบด้วยก็มี แต่ท่านไม่สนใจ ท่านคิดว่าเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา ท่านไม่หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของใครทั้งหมด ท่านพูดให้ฟังถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของท่านว่า
“โอ้โฮ.....อันตราย หลวงพ่อสู้จริง ไม่ใช่สู้น้อย เรียกว่าลมพัดใบไม้หักไปทั้งหมด แต่หลวงพ่อไม่หัก ทุกคนกลัวทั้งนั้น เพราะหลวงพ่อมีกำลังอยู่แล้ว”
ในช่วงเวลานั้น ท่านยังไม่คิดจะบวชเป็นพระ ด้วยท่านเมตตา ต้องการให้ญาติพี่น้องของท่านได้รูปธรรมมากที่สุด หากท่านบวชเป็นพระแล้วก็ต้องลือว่าตัดขาดจากญาติพี่น้อง ไม่อาจใช้อำนาจบังคับผู้ใด ให้มาปฏิบัติธรรมตามความประสงค์ของท่านได้ ท่านเล่าว่าท่านวางแผนให้ญาติพี่น้องมาปฏิบัติธรรมโดยใช้มรดกเป็นเครื่องต่อรอง
หลังจากที่หลวงพ่อบรรลุธรรมและเป็นฆราวาสอยู่เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือนนั้น ท่านได้เปิดสำนักอบรมวิปัสสนาที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน 2 สำนักและที่บ้านนาบอนอีก 2-3 สำนัก แต่ละสำนักต่างก็ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เจ้าคณะอำเภอเชียงคานก็ได้ให้การสนับสนุนหลวงพ่อเป็นอย่างดี
ภรรยาของท่านปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลา 2 ปีกว่าก็ถึงที่สุดของทุกข์ หลวงพ่อเล่าว่าขณะนั้นภรรยาของท่านกำลังเก็บผักอยู่ในสวนครัวเพื่อจะมาต้มรับประทานในตอนกลางวัน เก็บได้ไม่เท่าใดก็พูดขึ้นมาว่า
“โอ๊ย ! ข้อยเป็นหยังหวา...”
หลวงพ่อท่านถามว่า เป็นอย่างไร
ภรรยาของท่านก็ตอบท่านว่า “หมดตัวแล้ว มันจืดหมด จับแขนดูสิ”
หลวงพ่อจึงบอกกับภรรยาของท่านว่า “เอ้า ! อย่าไปดูอย่างนั้น ทำสบาย ๆ อย่าไปยุ่ง”
ภรรยาของท่านบอกท่านว่า “มันหดเข้าไปหมดตัว เหมือนเนื้อถูกเกลือ”
หลวงพ่อจับตัวภรรยาของท่าน ภรรยาของท่านก็บอกว่า สบายแล้ว
ท่านจึงบอกว่า “อย่าไปยุ่งมัน ความทุกข์มันมีที่ตัวเราเอง”
ภรรยาของท่านได้บอกท่านว่า สบายแล้ว
เมื่อภรรยาของท่านได้รู้ธรรมจนถึงที่สุดของทุกข์แล้ว หลวงพ่อจึงปรึกษากับญาติมิตรว่า ท่านจะละเพศฆราวาส ไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่ประการใด หลวงพ่อจึงได้ให้ลูกของท่านเข้ารับการอบรมวิปัสสนาก่อนที่ตัวท่านเองจะบวชเป็นบรรพชิต
ได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมในช่วงเวลา 2 ปี 8 เดือน ที่หลวงพ่อเป็นฆราวาสอยู่นั้น มีผู้ที่รูปธรรมเห็นธรรมเป็นจำนวนเท่าใด ท่านตอบว่าที่รู้รูป-นาม นั้นมาเล่าให้ท่านฟังเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องหมดเนื้อหมดตัวนั้น น้อยคนที่จะพูด ใน 100 คน จะมีสัก 20-30 คนที่พูดให้ท่านฟัง
อุปสมบทครั้งที่สอง
หลวงพ่อบวชเป็นพระครั้งที่สองเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2503 ที่วัดศรีคุณเมือง ตำบลบ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีพระ วิชิตธรรมาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการชุนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสุบรรณ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุได้ 48 ปี
หลวงพ่ออบรมปฏิบัติธรรมที่วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม พ.ศ. 2530
เมื่อบวชเป็นพระแล้ว หลวงพ่อก็ได้ทำหน้าที่ของท่าน คือสอนธรรมะให้ทั้งพระสงฆ์และญาติโยม ท่านเล่าว่าท่านสอนไปทุกที่ ไม่จำกัดว่าอยู่ในวัดหรือกุฏิ แม้แต่คนเดินอยู่บนถนน ถ้าถามท่าน ๆ ก็แนะนำให้ หรือบางครั้ง ท่านก็ยังเคยเป็นผู้ถามนำขึ้นก่อนก็มี ท่านมักจะถามผู้ที่ได้พบปะสนทนากับท่านว่า เขาผู้นั้นมีความทุกข์เดือดร้อนอะไรบ้าง ถือศาสนาพุทธมากี่ปีแล้ว และความทุกข์ลดน้อยลงไปบ้างหรือไม่ หรือยังคงมีความทุกข์อยู่ตามเดิม เพราะหากยังมีความทุกข์อยู่ตามเดิม แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักพุทธศาสนา เพียงเข้าใจหลักศีลธรรม ศาสนาศีลธรรม ไม่ใช่เป็นพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาสอนให้คนมีปัญญา กำจัดเหตุแห่งทุกข์ลงได้
หลวงพ่อสอนธรรมะแก่พระสงฆ์และญาติโยมอยู่ที่บ้านเกิดของท่านราวปีกว่า ท่านจึงย้ายเข้ามาอยู่ในอำเภอเชียงคาน ขณะนั้น หลวงพ่อตั้งสำนักวิปัสสนาอยู่ที่อำเภอเชียงคาน 2 แห่ง คือที่วัดสันติวนาราม และที่วัดโพนชัย นอกจากนั้น หลวงพ่อยังได้ข้ามไปเปิดสำนักอบรมวิปัสสนาที่เมืองลาวอีกแห่งหนึ่งด้วย
ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
หลังจากที่หลวงพ่อเปิดอบรมวิปัสสนาอยู่ระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีผู้กล่าวหาว่าหลวงพ่อเป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องจากคำสั่งสอนของหลวงพ่อชัดแย้งกับสิ่งที่คนเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติอยู่ หลวงพ่อท่านสอนให้เลิกละธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งแท้จริงแล้ว มิได้เกื้อกูลต่อการสร้างบุญสร้างกุศลแต่อย่างใด เช่นการฆ่าวัวฆ่าควาย หรือการเลี้ยงสุรา เครื่องดองของเมา การเล่นการพนันในงานบุญ
ท่านกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวไม่ใช่บุญ แต่เป็นบาป ผู้ที่ไม่เข้าใจ จึงกล่าวหาว่า ท่านลบล้างขนบธรรมเนียมประเพณี
หลวงพ่อเล่าว่า บางคนไม่เข้าใจเรื่องการทำบุญ คนประเภทนั้นเมื่อไม่รู้จักบุญ ก็ย่อมเอาบุญไม่ได้ หรือทำบุญ แต่อาจกลายเป็นบาปไปได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อญาติโยมมีศรัทธาช่วยกันสร้างโบสถ์หรือกุฏิขึ้น ความรู้สึกศรัทธา ยินดีในสิ่งที่ทำนั้น ทำให้ใจเป็นสุข นับว่าเป็นบุญ แต่เมื่อลงมือสร้างไปได้สักระยะหนึ่ง มีเรื่องทะเลาะวิวาทบาดหมางใจกัน ก็กลับกลายเป็นบาปไปแล้ว เราจึงได้บุญในขณะที่เราดีใจ แต่ในขณะที่โกรธขึ้นมาความดีใจหรือบุญนั้นก็หมดไป
หลวงพ่อเปรียบเทียบให้ฟังว่า สมมุติเราปลูกบ้านหลังหนึ่ง สวยงามถูกใจเราทุกอย่าง เราขนของเข้าไปอยู่สักระยะหนึ่ง แล้ววันหนึ่ง เราก็เอาน้ำมันก๊าดสักปี๊บหนึ่งเทราดบนพื้นแล้วจุดไฟเผาบ้านหลังนั้น ไม้ขีดก้านเดียวนั้นก็เผาบ้านหลังใหญ่นั้นได้ทั้งหลัง จะ
ใช้เป็นที่คุ้มแดดคุ้มฝนต่อไปอีกไม่ได้ การทำบุญก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่ทำเราดีใจ แต่เมื่อโกรธขึ้นมาครั้งเดียว บุญที่ทำหมดแล้ว ดังนั้น การทำบุญ กับการรักษาบุญนั้นไว้ จึงเปรียบเทียบได้กับการปลูกบ้านและการรักษาบ้าน การรักษาบ้านให้มีสภาพดีอยู่เสมอนั้น ต้องใช้เวลานาน จึงนับว่าเป็นภาระผูกพันมากกว่าการปลูกบ้าน ดังนั้นเมื่อทำบุญแล้วก็ต้องรักษาบุญนั้นไว้ให้ได้
หลวงพ่อท่านเล่าว่า ท่านสอนเช่นนี้ คนมีปัญญาฟังแล้วเข้าใจ แต่คนไม่มีปัญญา ฟังแล้วไม่เข้าใจ คนฟังธรรมะของท่านมี 3 ประเภท
ประเภทที่หนึ่ง ฟังแล้วเข้าใจ ส่งเสริมสนับสนุนท่าน ช่วยท่าน
ประเภทที่สอง ฟังแล้วกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม หาวิธีกลั่นแกล้ง ขัดขวาง
ประเภทที่สาม ฟังแล้วก็แล้วไป ไม่มีความสนใจแต่ประการใด
พวกนี้ไม่เห็นด้วยกับคำสอนของหลวงพ่อ ก็สงสัยว่า หลวงพ่อคงจะเป็นคอมมิวนิสต์ และได้เงินมาจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เอาเครื่องบินมาสอบสวนหลวงพ่อ ติดตามหลวงพ่อ และไปสอบถามตามบ้านต่าง ๆ ชาวบ้านแถบนั้น ซึ่งมีทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของหลวงพ่อ และทั้งผู้ที่มิได้ปฏิบัติธรรม ต่างก็ให้การตามความเป็นจริงว่า หลวงพ่อท่านไปปฏิบัติธรรมตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส เมื่อกลับมาบ้านแล้วท่านก็สอนธรรมะอยู่ราว 2 ปีเศษจึงได้บวชเป็นพระ และไว้สอนธรรมะเรื่อยมา แต่คำสอนของท่านนั้นแรงขึ้นกว่าเดิม เช่น ท่านชอบพูดว่า คนไม่รู้จักบุญ เอาบุญไม่เป็น คนไม่รู้จักบาป จะหลีกบาปไม่ได้ เมื่อครั้งท่านเป็นฆราวาสก็เป็นผู้ที่ทำบุญทำกุศลอยู่เป็นนิจ
เจ้าหน้าที่ได้สอบถามไปทั่ว ๆ ทั้งคนหนุ่มคนสาวคนเฒ่าคนแก่ ต่างก็ให้การเป็นเสียงเดียวกันหมด
หลวงพ่อท่านไม่มีความวิตกกังวลใดๆ ในเรื่องที่ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ท่านยังคงยืนหยัดสั่งสอนธรรมะตามแนวของท่านเรื่อยไป ท่านกล่าวว่าเมื่อเราทำดี คนอื่นว่าชั่วก็เป็นเรื่องของเขา ในทำนองเดียวกันเมื่อเราทำชั่ว แต่เขาชมว่าเราทำดี เราก็ไม่ได้ดีไปตามปากเขาเช่นกัน เรื่องคำพูดจึงเป็นเพียงเรื่องสมมุติ
หลวงพ่อพยายามสอนให้คนที่ไม่เข้าใจ ได้มาเข้าใจว่า บุญนั้นคือความพอดี เหมือนกับเมื่อเราจะปลูกบ้าน เราต้องรู้เรื่องฐานราก ต้องรู้ว่าเสาเข็มขนาดไหน จะรับน้ำหนักได้เพียงใด ต้องรู้ว่าจะต้องใช้ไม้ขนาดเท่าไร ถ้าจะใช้ไม้ยาว 2 เมตร แต่ตัดมา 2 เมตรครึ่ง ที่เหลือก็เสียประโยชน์ ถ้าเป็นเช่นนี้แสดงว่าไม่รู้จักความพอดี ถ้าเรา พอดี ใครพูดอะไรมาก็ย่อมรู้ แต่ถ้าใครมาชมเราแล้วเราดีใจ หรือใครมาตำหนิเรา เราก็เสียใจ แสดงว่าเรายังไม่พอดี จะเรียกว่ามีบุญไม่ได้เพราะยังเอียงซ้ายเอียงขวาอยู่ หวั่นไหวไปกับคำพูดซึ่งเป็นเรื่องสมมุติ เราต้องอยู่ด้วยความพอดีหรือความปกติ บุญคือปกติ ศีลคือปกติ บุญคือพอดี ศีลคือพอดี ถ้าไม่พอดี ไม่ปกติ ก็แสดงว่ายังไม่มีบุญ ยังไม่มีศีล
ท่านเล่าว่า การที่ท่านพูดเช่นนี้ พวกที่ไม่เข้าใจก็ว่าท่านพูดรุนแรง ธรรมะสูงเกินไป แต่หลวงพ่อก็ยังคงยืนยันคำสอนของท่านเช่นนี้ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ได้ไปขอสอบสวนเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอ แต่ท่านทั้งสองก็ได้ยืนยันกับทางเจ้าหน้าที่ว่า หลวงพ่อไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เพียงแต่คนฟังธรรมะของท่านไม่เข้าใจ
หลวงพ่อเล่าว่าเจ้าคณะอำเภอ ได้เอาจดหมายที่มีผู้บอกให้ท่านขับไล่หลวงพ่อ ให้หลวงพ่อดู สิบกว่าฉบับ ทั้งเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอต่างสนับสนุนให้หลวงพ่อปฏิบัติหน้าที่สอนธรรมะของท่านต่อไป และในเมื่อชาวบ้านต่างให้การตามความเป็นจริง เรื่องที่ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จึงค่อย ๆเงียบลงและเลิกราไปในที่สุด
ผีผานกเค้า
ผานกเค้า จ.เลย
พรรษาที่ 4 หลวงพ่อไปจำพรรษาที่ตำบลผานกเค้า จังหวัดเลยได้พบสามเณร 2 รูปชื่อ เณรสมัคร และเณรรอด หลวงพ่อได้เณรทั้งสองมาอยู่เป็นเพื่อน เมื่อมีข้าวสุกที่บิณฑบาตเหลือจากฉัน หลวงพ่อก็ให้เณรเอาไปตากแห้งแล้ว.เอาไปขาย ได้เงินมากให้เอาไปให้พ่อแม่ของเณร หลวงพ่อบังคับให้เณรทั้งสองรูปเดินจงกรม เณรก็มีความเพียรในการปฏิบัติ จึงได้รู้ธรรมะขึ้น หลวงพ่อพาเณรทั้งสองไปดูผานกเค้า ในสมัยนั้นเป็นที่ร่ำลือกันว่า ผีผานกเค้านั้นมีอิทธิฤทธิ์มาก รถที่ผ่านผานกเค้าต้องเอาไก่ย่างและสุราไปเซ่นสรวง จึงจะเดินทางโดยปลอดภัย
โยมแม่ของเณรก็เกรงกลัวผีผานกเค้า หลวงพ่อท่านจึงให้เณรบอกกับโยมแม่ของเณรว่า ผีตาปู้ ผีผานกเค้ากลัวเณร ต้องกราบเณร โยมแม่ของเณรก็ยิ่งโกรธหนักขึ้น ต่อมาหลวงพ่อจึงพาเณรทั้งสองหนีมาอยู่ในตัวจังหวัดเลย โยมแม่ของเณรตามหาไม่พบ จึงไปกราบเรียนถามกับเจ้าคณะอำเภอ ได้ความจากเจ้าคณะอำเภอว่า เณรไปอยู่กับหลวงพ่อเทียนที่ในเมือง ถ้าจะไปหาลูกชายต้องปฏิบัติธรรมก่อน โยมแม่ของเณรจึงได้ปฏิบัติธรรมและรู้ธรรมะขึ้น จึงได้เลิกความเชื่องมงายเรื่องผีผานกเค้า
หลวงพ่อท่านจึงได้พูดให้ชาวบ้านที่ผานกเค้าฟังว่า
“ผีผานกเค้ามันจะไปศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร เอาไก่ย่างเอาอะไรให้กิน ก็กินไม่เป็น ผีมันโง่ขนาดนี้แล้ว แต่คนยิ่งโง่กว่าผีอีก สุนัขยังไม่เคยกลัวผี มืดค่ำแล้วมันก็ยังเข้าไปในป่าช้า ป่าเหวได้ แต่คนกลับกลัวผี จิตใจคนจึงแย่กว่าสุนัข”
หลวงพ่อเล่าว่า บางคนฟังแล้วก็ได้สติ เลิกเชื่อถืองมงาย แต่บางคนฟังแล้วกลับโกรธ หลวงพ่อท่านให้เณรพาเด็กคนหนึ่งไปรับประทานของที่คนเอามาเซ่นผีผานกเค้า เณรและเด็กจัดการกับอาหารที่เซ่นผีผานกเค้าเรียบร้อยแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลังจากนั้น ความงมงายเกี่ยวกับผีผานกเค้าจึงลดน้อยลง รถ 10 คันจะนำของไปเช่นสรวงผีผานกเค้าไม่เกิน 3 คัน
ปัจฉิมวัย
นับเป็นเวลากว่า 30 ปีที่หลวงพ่อได้มานะบากบั่น อบรมสั่งสอนธรรมะ แก่เพื่อนมนุษย์ โดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากและอุปสรรคใด ๆ ปฏิปทาข้อนี้ของท่าน ย่อมเป็นที่ซาบซึ้งใจแก่บรรดาศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี
หลวงพ่อเริ่มมีอาการอาพาธด้วยโรคมะเร็งมาตั้งแต่ต้นปี 2525 โดยก่อนมีอาการอาพาธปวดท้องอยู่เนือง ๆ
ในระหว่างที่ท่านโปรดลูกศิษย์ที่ประเทศสิงคโปร์ครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 นั้น ท่านมีอาพาธปวดท้องอย่างรุนแรง จนถึงกับต้องลงนอนเหยียดยาวกับพื้นทันทีที่ท่านกลับเข้ามาในที่พัก หลังจากที่ท่านเดินจงกรมบนถนนหน้าบ้านพัก ท่านจำเป็นของเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่สิงคโปร์ ถึงกระนั้น ท่านก็ยังคงเมตตาสั่งสอนชาวสิงคโปร์ผู้สนใจในการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด
และในคราวที่ท่านรับนิมนต์ไปโปรดลูกศิษย์ชาวสิงคโปร์ครั้งที่สองเมื่อเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น อาการของโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ปรากฏขึ้นอย่างเฉียบพลัน ท่านจำเป็นต้องเดินทางกลับเพื่อเข้ารับการผ่าตัดโดยทันทีตามคำแนะนำของคณะแพทย์ชาวสิงคโปร์
หลวงพ่อได้รับการผ่าตัดครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี ท่านจึงได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลสมิติเวช จากการผ่าตัดครั้งที่สองนี้ แพทย์พบว่าโรคมะเร็งได้ลุกลามไปมากแล้ว แม้กระนั้นหลวงพ่อท่านก็มิได้เคยแสดงให้เห็นถึงทุกขเวทนาแต่อย่างใด
เมื่อต้นปี 2529 ท่านจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอีกครั้ง เนื่องจากแพทย์ตรวจพบว่ามีโรคมะเร็งเกิดขึ้นอีกที่ลำไส้ หลังจากนั้นท่านก็ยังคงได้รับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ จากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลสมิติเวช
แม้ว่าท่านจะอาพาธด้วยโรคที่มีความรุนแรงถึงชีวิต และก่อให้เกิดวิบากของสังขาร ซึ่งดูเหมือนว่าจะหนักหนาเกินกว่าจะกล่าว สำหรับคนทั่วไป แต่หลวงพ่อยังคงดำเนินชีวิตของท่านด้วยความปกติ ปกติทั้งกายและใจ ท่านยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้ได้รูปธรรมมากที่สุดเท่าที่ท่านสามารถจะทำได้ การเผยแพร่ธรรมะในระยะหลังนี้จึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง
แม้ว่าในช่วงปีสุดท้ายนี้สุขภาพของหลวงพ่อจะทรุดโทรมลงอย่างน่าเป็นห่วง แต่ท่านก็ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจของท่านในการปรับปรุงเกาะพุทธธรรม ทับมิ่งขวัญให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่จะก่อประโยชน์สูงสุด ให้แก่ผู้ปฏิบัติ
พรรษาสุดท้าย ท่านจึงไปจำพรรษาอยู่ที่ทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย แม้ว่าท่านจำเป็นต้องเดินทางมากรุงเทพฯ ถึงเดือนละ 2-3 ครั้งเพื่อรับการตรวจรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ท่านสู้ทนตรากตรำด้วยเมตตาธรรม หวังจะสร้างเกาะพุทธธรรม ให้เป็นที่ผลิตผู้รู้ธรรมะ ออกไปอบรมสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ ท่านเคยพูดว่า ต่อไปภายหน้า เกาะพุทธธรรมนี้จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ไม่แพ้ที่ใด
ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคนิวมอเนีย ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเลย และกลางเดือนสิงหาคม ขณะที่เดินทางกลับจากจังหวัดเลย หลวงพ่อถูกฝน ต่อมามีไข้สูงและอ่อนเพลียลง แพทย์ตรวจพบว่า หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคปอดบวม จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันอาการของโรคมะเร็งได้กำเริบหนักขึ้น สุขภาพของหลวงพ่อทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว เป็นที่วิตกห่วงใยแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ แม้จะทราบดีว่าสภาวะจิตของท่านนั้นอยู่เหนือวิบากทั้งปวงของสังขารแล้วก็ตามที
วันหนึ่งศิษย์ที่เฝ้ารักษาพยาบาลได้กราบเรียนถามท่านว่า
“หลวงพ่อมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ไม่มีทุกข์ ใช่ไหม ขอรับ”
ท่านยิ้มและตอบว่า “ใช่”
วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2531 หลวงพ่อออกจากโรงพยาบาล และกลับมาพำนักที่วัดสนามใน
ร่างของหลวงพ่อ ณ ศาลาแสดงธรรม เกาะพุทธธรรม
คืนวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. 2531
วันที่ 6 กันยายน ท่านปรารภว่าจะกลับไปจังหวัดเลย บรรดาศิษย์ได้กราบเรียนทักท้วงว่า หากท่านเดินทางไปจังหวัดเลยในขณะนั้น ท่านก็จะต้องเดินทางกลับมากรุงเทพฯ อีกในวันที่ 13 กันยายน เพื่อรับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัด แต่หลวงพ่อกล่าวว่าท่านจะไม่กลับมาอีก
และในวันที่ 7 กันยายน หลวงพ่อได้มอบหมายให้พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นผู้พยาบาลท่าน ติดต่อให้ศิษย์ที่ใกล้ชิด จองตั๋วเครื่องบินไปจังหวัดเลยเที่ยวบินวันที่ 9 กันยายน โดยก่อนให้จองตั๋วเที่ยวไปเท่านั้น เพราะท่านจะไม่กลับมาอีก ทั้งนี้ท่านกำชับมิให้บอกผู้ใด
ต่อมาเมื่อญาติโยมและบรรดาศิษย์ได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อจะเดินทางกลับจังหวัดเลย ต่างพากันทราบเรียนขอร้องมิให้ท่านเดินทางไปจังหวัดเลย ท่านกล่าวว่า
“โรครักษาได้ แต่ชีวิตรักษาไม่ได้”
วันที่ 9 กันยายน หลวงพ่อเดินทางกลับจังหวัดเลย โดยมีศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและที่เป็นฆราวาสกลุ่มหนึ่งเดินทางไปส่งท่าน ในขณะนั้นอาการของหลวงพ่อทรุดหนัก จนเป็นที่น่าวิตกว่า ร่างกายของท่านอาจจะไม่สามารถทนต่อความกระทบกระเทือนจากการเดินทางได้
เมื่อเดินทางถึงทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย หลวงพ่อปฏิเสธที่จะฉันยาทุกชนิด แม้ว่าหลวงพ่อจะมีวิบากของสังขารหนักหนาปานใด ท่านก็ยังเมตตาแสดงธรรมโปรดญาติโยมและศิษย์ที่มาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น
หลวงพ่อสนทนาธรรมกับพระวรราชมุนี 10 ก.ย. 31
หลวงพ่อโปรดญาติโยมก่อนมรณภาพเพียง 2 วัน
หลวงพ่อ แสดงปัจฉิมโอวาท 10 ก.ย. 31
พลบค่ำ 13 ก.ย. 31 ที่หลวงพ่อจากไป
พิธีรดน้ำศพหลวงพ่อ 14 ก.ย. 31
พิธีรดน้ำศพหลวงพ่อ 14 ก.ย. 31
วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 เวลา 18.15 น. หลวงพ่อได้ละสังขารอย่างสงบ ณ ศาลามุงแฝกของเกาะพุทธธรรม ทับมิ่งขวัญ สถานที่ปฏิบัติธรรมที่หลวงพ่อได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต
สถานที่ที่หลวงพ่อจำพรรษาตามลำดับเวลา
พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2503
วัดบรรพตคีรี หรือนาย่าหนอม บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
พรรษาที่ 2-3 พ.ศ. 2504-2505
เมืองลาว
พรรษาที่ 4 พ.ศ. 2506
ผานกเค้า พบพระอาจารย์มหาบัวทอง พุทธโฆสโก
พรรษาที่ 5 พ.ศ. 2507
วัดโนนสวรรค์ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 6 พ.ศ. 2508
วัดบรรพตคีรี
พรรษาที่ 7-11 พ.ศ. 2509-2513
ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย
เริ่มก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ ปัจจุบันป่าพุทธยานเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยครู จังหวัดเลย และป่าพุทธยานได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านกำเนิดเพชร อำเภอเมือง จังหวัดเลย
พบพระอาจารย์บุญธรรม ปลายปี พ.ศ. 2509
พบพระอาจารย์ทอง อาภากโร และพระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ พ.ศ. 2510
พรรษาที่12-14 พ.ศ. 2514-2516
วัดโมกขวนาราม ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในขณะนั้นหลวงพ่อกำลังแสวงหาสถานที่สำหรับเผยแพร่ธรรมอยู่ บังเอิญมีกุฏิว่างอยู่หลังหนึ่ง ชาวบ้านหัวทุ่งและคำไฮ จึงได้ถวายกุฏิหลังนั้นให้หลวงพ่อจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่หา ระยะนี้เองที่ธรรมะและวิธีปฏิบัติของหลวงพ่อเริ่มแพร่หลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
พรรษาที่ 15 พ.ศ. 2517
เวียงจันทน์ ประเทศลาว
พรรษาที่ 16-17 พ.ศ. 2518-2519
วัดชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีญาติโยมนิมนต์หลวงพ่อมาจำพรรษาที่วัดสนามใน* ตำบลชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นวัดร้าง หลวงพ่อเริ่มมาดูสถานที่ หักร้างถางพง ปลูกกุฏิตอนปลายปี พ.ศ. 2519 และท่านได้มอบหมายให้พระอาจารย์ทองล้วน อธิปญฺโญ มาอยู่ก่อนที่ท่านจะมา
พรรษาที่ 18-19 พ.ศ. 2520-2521
วัดสนามใน
พรรษาที่ 20 พ.ศ. 2522
วัดสวนแก้ว อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 21-23 พ.ศ. 2523-2525
วัดสนามใน
พ.ศ. 2525 หลวงพ่อได้รับนิมนต์ไปเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศสิงคโปร์ 2 ครั้ง และในปีนี้เองที่ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
พรรษาที่ 24 พ.ศ. 2526
วัดโมกขวนาราม
ต้นปี 2526 หลวงพ่อได้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมทับมิ่งขวัญ* ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 25-28 พ.ศ. 2527-2530
วัดสนามใน
ต้นปี 2529 หลวงพ่อเริ่มปรับปรุงเกาะพุทธธรรม ซึ่งอยู่ถัดจากทับมิ่งขวัญ ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
พรรษาที่ 29 พ.ศ. 2531
สำนักทับมิ่งขวัญ
หลวงพ่อตัดสินใจจำพรรษา ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้าย ณ สถานที่นี้ เพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมดของท่านในการอบรมสั่งสอนธรรมะแก่ศิษยานุศิษย์และ ควบคุมดูแลการปรับปรุงเกาะพุทธธรรม เพื่อให้เป็นสถานที่ผลิตผู้รู้ธรรม ออกไปสั่งสอนธรรมะแก่บุคคลทั่วไปสืบไป
* วัดสนามใน แต่เดิมเป็นวัดร้าง ขณะที่หลวงพ่อจำพรรษาและสอนปฏิบัติธรรมที่วัดชลประทาน ได้มีญาติโยมกลุ่มหนึ่งนิมนต์หลวงพ่อให้มาพัฒนาวัดร้างนี้ เพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นที่สงบสงัดห่างไกลจากชุมชน ขณะนั้นวัดร้างแห่งนี้และบริเวณโดยรอบยังเป็นป่าทึบและดงหวาย มีงูพิษชุกชุม เมื่อหักร้างถางพงแล้วจึงพบกองอิฐเป็นหย่อม และเสาโบสถ์ แสดงให้เห็นว่า เคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์และศาลามาก่อน หลวงพ่อได้มาช่วยก่อสร้างกุฏิ ซึ่งต่อมาเป็นที่พำนักของท่านเจ้าอาวาส ด้วยตัวของท่านเอง
* ทับมิ่งขวัญ ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2526 โดยศิษย์กลุ่มหนึ่งได้มาซื้อที่ดินราว 3 ไร่เศษ ตามดำริของหลวงพ่อ และได้ปลูกสร้างเรือนไม้หลังย่อม ๆ ไว้เป็นที่ปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
ความเป็นมาของเกาะพุทธธรรม
กาจ รักษ์มณี
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
ระหว่างที่ข้าพเจ้าย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าได้มีโอกาสมากราบนมัสการหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528 ที่วัดสนามใน จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีผู้นำหนังสือธรรมะของหลวงพ่อมาฝากไว้ให้ที่บ้าน จึงนับเป็นโชคดีของข้าพเจ้าอย่างยิ่งและข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้นำหนังสือมาฝากไว้ให้ข้าพเจ้าได้โปรดรับความขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลกรรมที่ท่านได้กระทำในครั้งนี้ด้วย
เบื้องหน้าของหลวงพ่อ คือเกาะพุทธธรรม
ข้าพเจ้ามีความสนใจศึกษาธรรมะมามากพอสมควร เมื่อได้อ่านหนังสือธรรมะของหลวงพ่อ แล้วก็รู้ได้ว่าเป็นแนวทางที่ถูกกับจริตของตนเอง ธรรมะของหลวงพ่อไม่ได้ประกอบด้วยศัพท์แสงใด ๆ ที่มักจะใช้ในหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาซึ่งข้าพเจ้าไม่สู้สันทัดนัก อุปมาอุปมัยที่หลวงพ่อนำมาพูดในการสอนธรรมะเป็นเรื่องธรรมชาติพื้น ๆ ทำให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นเด็กบ้านนอกมาก่อน สามารถเห็นภาพพจน์และเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด อาทิ น้ำในรอยเท้าควาย หลวงพ่อเปรียบจิตใจของคนที่ยังไม่ได้รับการอบรมขัดเกลา เหมือนกับน้ำในโคลนตมที่ควายเพิ่งเหยียบไปหมาด ๆ ย่อมขุ่นเพราะมีดินมีโคลนผสมอยู่ ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปสักครู่ น้ำในรอยเท้าควายนั้นก็จะกลับใสเหมือนเดิม เพราะตะกอนนอนก้นแล้ว จิตใจของบุคคลที่มองเห็นกิเลส รู้จักกิเลสแล้วก็เช่นเดียวกัน กิเลสไม่อาจรบกวนให้เกิดทุกข์ได้
ธรรมะของหลวงพ่อนั้นเป็นธรรมะระดับปัญญา ท่านให้เจริญสติให้ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ จนเกิดปัญญาญาณที่จะไปทำความทุกข์ให้จบสิ้นลง เปรียบเสมือนน้ำแต่ละหยดเมื่อรวมกันเป็นปริมาณมากก็ย่อมเกิดพลังทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ศาสนาอื่น ๆ นั้นสอนให้เป็นคนดี นับเป็นระดับศีล ยังมิได้สอนให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น อันเป็นระดับปัญญา ดังที่หลวงพ่อสอน
คำสอนของหลวงพ่อนั้นมีคุณค่ายิ่งหากรู้จักนำไปใช้กับชีวิตของตน เช่น ท่านสอนให้มีความพอดี มีความปกติ สำหรับอานิสงส์ในชาติหน้านั้น หลวงพ่อไม่ให้ใส่ใจ ท่านพูดแต่เพียงว่า เมื่อปฏิบัติแล้วจะรู้เอง
สำหรับตัวข้าพเจ้านั้นเมื่อปฏิบัติแล้วก็เห็นผลเป็นที่ประจักษ์มีความเบากาย เบาใจ สุขกาย สุขใจ มีความปรารถนาที่จะอุปัฏฐากรับใช้หลวงพ่อ หวังอยากให้หลวงพ่อช่วยคนให้มาก ๆ ซึ่งหลวงพ่อก็ได้ให้กำลังใจแก่ข้าพเจ้าเสมอมา
ดังนั้นเมื่อหลวงพ่อปรารภกับข้าพเจ้าว่า ทับมิ่งขวัญสถานที่ปฏิบัติธรรมซึ่งได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 นั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเลย ตลิ่งด้านหนึ่งถูกน้ำเซาะ ทำให้พื้นที่ 3 ไร่เศษนั้นเล็กลงเรื่อย ๆ ที่ฝั่งตรงข้ามทับมิ่งขวัญมีที่สาธารณะหรือที่ป่าอยู่ หากตัดแม่น้ำเลยจะได้ที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 30-40 ไร่ สามารถก่อตั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ หลวงพ่อท่านมีความหวังอย่างยิ่งที่จะขยายบริเวณสำหรับปฏิบัติธรรมเพื่อรับผู้ปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น ข้าพเจ้าจึงน้อมรับจะเป็นผู้ดำเนินการให้ความประสงค์ของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ผล
ข้าพเจ้าได้นำความประสงค์ของหลวงพ่อไปแจ้งให้หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งได้แก่ กรป. รพช. ที่จังหวัดเลย เทศบาลจังหวัดเลย และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้เคยร่วมงานกับท่านมาก่อน หลังจากนั้นจึงได้จัดให้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายกเทศมนตรี ผู้แทน กรป. รพช. และได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากหน่วยเหนือ
หลวงพ่อดูแลการพัฒนาเกาะพุทธธรรม
เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการขุดร่องน้ำแล้วคิดเป็นเงิน 4 แสนบาท เทศบาลมีงบประมาณอยู่ 1 แสน 2 หมื่นบาท สำหรับเครื่องจักรและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นทาง กรป.จะเป็นผู้รับผิดชอบในวงเงิน 208,000 บาท หลวงพ่อและข้าพเจ้าจะต้องหาเงินมาเพิ่มเพื่อการนี้เป็นจำนวน 8 หมื่น ถึง 1 แสนบาท
บังเอิญเมื่อข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตนั้น ข้าพเจ้าไปรู้จักชอบพอกับนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูตร และหม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล ซึ่งได้ไปลงทุนทำธุรกิจที่นั่น และเมื่อครั้งที่หลวงพ่อเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมิติเวชนั้น ข้าพเจ้าได้นำคุณหมอชัยยุทธไปกราบเยี่ยมถวายปัจจัย และได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อ ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้าแสดงความประสงค์ของหลวงพ่อให้ทราบ ท่านทั้งสองนี้ก็ได้มีจิตศรัทธาถวายปัจจัยรวมทั้งสิ้น 80,000.- บาท
โครงการจึงได้เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2529 ขณะนั้นเป็นต้นฤดูฝน จึงเป็นที่วิตกกันว่า ฝนอาจจะตกลงมาเป็นอุปสรรคในการขุด อย่างไรก็ตามคณะผู้ปฏิบัติงานก็ได้ตัดสินใจลองเสี่ยงลงมือทำการขุดโดยทางจังหวัด กรป. และ รพช. ได้วางแผนงานร่วมกัน ทั้งนี้พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก็ได้อนุมัติและให้การสนับสนุน เมื่อทำการขุดไปได้ลึกเพียง 5 เมตรตลอดสาย ก็มีฝนตก ทำให้มีน้ำไหลบ่ามากระแทกส่วนที่เหลือทั้งหมดให้กลายเป็นร่องน้ำได้ โดยที่ตามความเป็นจริงแล้วจะต้องทำการขุดลึกถึง 20 เมตรตลอดสาย จึงจะทำให้เป็นร่องน้ำได้ นับเป็นโชคดีอย่างคาดไม่ถึง การขุดร่องน้ำตัดแม่น้ำเลยซึ่งเป็นเรื่องยาก จึงกลับกลายเป็นเรื่องง่ายไป
ที่เกาะพุทธธรรม
ปัญหาต่อมาคือปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ดินบางส่วนในบริเวณนั้นมีผู้ครอบครองอยู่ หลวงพ่อท่านได้ชี้แจงให้บุคคลเหล่านั้นทราบว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่นี้ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และท่านได้หาทางประนีประนอมโดยจ่ายเงินให้กับผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วน ปัญหาในส่วนนี้จึงค่อยคลี่คลายไป
หลังจากนั้นจึงได้เริ่มลงมือพัฒนาพื้นที่ส่วนที่ไม่มีปัญหาก่อน มีญาติโยม ลูกศิษย์ของหลวงพ่อมาช่วยกันวางแผนงาน หักร้างถางพง ปลูกต้นไม้ ปลูกกุฏิ มีคุณแม่รัตน์ คุณแม่ดอกไม้ เป็นผู้เสียสละนำหน้า ข้าพเจ้าเองก็ได้คอยให้การสนับสนุน หาไม้ พันธุ์ไม้ ดิน หิน มาให้ ต่อมาก็เริ่มมีผู้มองเห็นและเข้าใจในปฏิปทาของหลวงพ่อ เกิดความศรัทธาเลื่อมใสมาช่วยร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้น หลวงพ่อท่านได้ตั้งชื่อสถานที่นี้ว่า เกาะพุทธธรรม และในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2531 หลวงพ่อได้เปิดการอบรมที่นี่ขึ้นเป็นครั้งแรก
ในช่วง 2 ปีหลังนี้ หลวงพ่อได้เดินทางมาที่ทับมิ่งขวัญเป็นประจำ ท่านเป็นผู้วางแผน และดำเนินการพัฒนาเกาะพุทธธรรมทุก ๆ ด้าน โดยท่านมีความหวังอย่างยิ่งที่จะให้ทับมิ่งขวัญ และเกาะพุทธธรรมนั้น คงอยู่ต่อไป แม้ชีวิตของท่านจะหาไม่แล้วก็ตาม
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
เมื่อหลวงพ่อเทียนพบอาจารย์เซน
การเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ครั้งแรก
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
26 ธันวาคม 2531
หลวงพ่ออบรมธรรมะปฏิบัติที่สวนยาง อำเภอหาดใหญ่
พ.ศ. 2525
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้รับนิมนต์จากชาวสิงคโปร์ให้เดินทางไปเผยแพร่วิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ณ ประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 โดยก่อนหน้านี้ ท่านโกวิท เขมานันทะ ซึ่งขณะนั้นยังครองเพศเป็นบรรพชิตอยู่ ได้เผยแพร่คำสอนและแนวการปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน ให้ชาวสิงคโปร์ได้รู้สึกเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว
การนิมนต์หลวงพ่อเทียนไปประเทศสิงคโปร์ในครั้งนี้ มีความสำคัญพิเศษถึงสองประการ
ประการแรกเป็นการเดินทางไปเผยแพร่การปฏิบัติธรรม ของหลวงพ่อเทียนในประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรก ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์กลุ่มหนึ่ง ได้ปฏิบัติธรรมในแนวทางของหลวงพ่อเทียนตลอดมา กระทั่งถึงปัจจุบัน
ประการที่สอง เป็นการพบปะกันเป็นครั้งแรก ระหว่างอาจารย์ธรรมะที่ยิ่งใหญ่สองท่าน จากพุทธศาสนาในสองสาย ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คือหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ปรมาจารย์แห่งการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของไทย และท่านยามาดะ โรชิ (Yamada Roshi) อาจารย์เซนผู้มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุ่น
การพบปะกันในครั้งนี้ นับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทยและญี่ป่น และเป็นที่รอคอยของชาวสิงคโปร์มาเป็นเวลานาน
หลวงพ่อเทียนและคณะอันประกอบด้วยข้าพเจ้าและอาจารย์ชูศรี รุ่งโรจนารักษ์ ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2525 โดยขบวนรถไฟสายใต้สู่หาดใหญ่ โดยหลวงพ่อเดินทางด้วยรถตู้นอนชั้นสอง ส่วนข้าพเจ้ากับอาจารย์ชูศรีนั่งไปในขบวนรถชั้นสาม เพื่อไปร่วมเปิดอบรมการปฏิบัติธรรมให้แก่ชาวหาดใหญ่ ที่สวนยาง บ้านของคุณวิสิฐ ทวีกิติกุล ตามที่ชาวหาดใหญ่ได้นิมนต์เป็นเวลาสองสัปดาห์
ชาวหาดใหญ่ได้ร่วมกันปลูกกุฏิเล็ก ๆ ในสวนยางขึ้นหลายหลัง โดยนิมนต์ให้หลวงพ่อพักอยู่ในที่หลังหนึ่ง ส่วนหลังอื่น ๆ สำหรับผู้ที่มาปฏิบัติแบบ “เก็บอารมณ์”
ในการเปิดอบรมการปฏิบัติธรรมตลอดทั้งสองสัปดาห์ มีผู้มาฟังธรรมกันเป็นจำนวนมากไม่เว้นแต่ละคืน และมีผู้ที่มาอยู่ปฏิบัติเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน นับเป็นการวางรากฐานการปฏิบัติธรรมครั้งสำคัญครั้งหนึ่งแก่ชาวหาดใหญ่ อันยังผลให้ชาวหาดใหญ่รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นและปฏิบัติธรรมแบบเคลื่อนไหวในแนวของหลวงพ่อเทียนต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการอบรม คุณวิสิฐ และเพื่อน ๆ ชาวหาดใหญ่จำนวนหนึ่งได้ไปส่งหลวงพ่อเทียนและคณะถึงปาดังเบซาร์ อันเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย หลวงพ่อเทียน ข้าพเจ้า และอาจารย์ชูศรี ได้เดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525
คณะของเราได้เดินทางด้วยรถประจำทางจากปาดังเบซาร์ถึงเกาะปีนังในวันเดียวกัน และได้พักอยู่ที่วัดไทยในปีนังประมาณ 3-4 วัน ข้าพเจ้าและอาจารย์ชูศรี ได้พาหลวงพ่อขึ้นรถเคเบิ้ลไปถึงยอดเขาปีนัง และได้เยี่ยมชมวัดฮินดูบนยอดเขานั้น อีกทั้งทัศนียภาพรอบ ๆ เกาะปีนัง
หลวงพ่ออบรมธรรมะปฏิบัติที่สวนยาง อำเภอหาดใหญ่
พ.ศ. 2525
ในเมืองปีนัง หลวงพ่อได้เยี่ยมชมวัดพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน วัดในลัทธิขงจื๊อ วัดในลัทธิเต๋า สุเหร่าในศาสนาอิสลาม และโบสถ์ในศาสนาคริสต์ ซึ่งทั้งหมดนี้หลวงพ่อได้แต่บอกว่า “ใครรู้อย่างไหนก็สอนได้แต่อย่างนั้น”
เราได้นั่งรถบัสในตอนกลางคืนจากเกาะปีนังไปกรุงกัวลาลัมเปอร์อันเป็นเมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย ถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ในตอนเช้ามืด และได้นั่งรถแท็กซี่ไปยังวัดพุทธศาสนาแห่งหนึ่งในกลางเมืองนั้นและพักอยู่ที่นั่นอีกประมาณ 3-4 วัน ได้รับการต้อนรับจากพระที่นั่นด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดี
ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ หลวงพ่อได้เยี่ยมชมมัสยิดแห่งชาติของมาเลเซีย พิพิธภัณฑ์และสุเหร่าที่สำคัญอีกบางแห่ง ข้าพเจ้าและอาจารย์ชูศรีได้พาหลวงพ่อขึ้นไปถึงยอดเขาเกนติ้ง เพื่อชมทัศนียภาพและดูแหล่งการพนันที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย คณะของเราได้เดินทางด้วยขบวนรถไฟในตอนกลางคืน จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังประเทศสิงคโปร์ ถึงประเทศสิงคโปร์ในตอนเช้า ของวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2525
ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของสิงคโปร์ เราได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ โดยเฝ้าหน้าที่มิได้ตรวจค้นกระเป๋าแต่อย่างใด ด้วยเห็นว่าเป็นคณะของพระที่มุ่งมาเพื่อการเผยแพร่ศาสนา
จากสถานีรถไฟสิงคโปร์ ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ถึงเดวิด ลอย (David Loy) อาจารย์ชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ในขณะนั้นให้ได้ทราบ เดวิดและชาวสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องกล่มใหญ่ กำลังรอคอยข่าวคราวการเดินทางไปถึงของคณะของเราอยู่ เดวิดได้มารับเราถึงสถานี และพาคณะของเราไปพักที่บ้าน บ้านของเดวิดเป็นบ้านพักของอาจารย์มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ซึ่งกว้างขวางพอสมควร
เดวิดได้ใช้บ้านพักหลังนี้ เป็นศูนย์กลางของเซน และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแบบเซนในสายของท่านยามาดะ โรชิ อันเป็นสายที่ผสมผสานระหว่างรินไซเซน (Rinzai Zen) และโซโตะเซน (Soto Zen) ของญี่ปุ่น
ข้าพเจ้าได้รู้จักกับเดวิดตั้งแต่เมื่อครั้งเราเรียนหนังสือด้วยกันที่ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยฮาวายในช่วงปี พ.ศ. 2516-2518 และหลังจากนั้นเราก็ได้ติดต่อกันเรื่อยมา
เดวิดเคยเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้ง และเมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าได้บวชเป็นพระภิกษุ เพื่อปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน เดวิดก็ได้เดินทางมาเยี่ยมข้าพเจ้าที่บ้านที่กรุงเทพฯ และที่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่นด้วย
ข้าพเจ้าได้ลาราชการ อุปสมบทเพื่อปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม ถึงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นเวลา 5 เดือนกับ 1 วัน โดยได้เข้าพิธีอุปสมบทพร้อมกับชาร์ลส์ ทาบัคสนิค (Charles Tabacznik) เพื่อนชาวออสเตรเลีย ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามว่า พระชาร์ลส์ นิโรโธ และคุณไพบูลย์ แซ่จึง มีพระราชวีรมุนี เจ้าคณะจังหวัดเลยเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้น ก็ได้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมในพรรษา กับหลวงพ่อเทียนที่วัดโมกขวนารามจังหวัดขอนแก่น
ครั้นออกพรรษา หลวงพ่อเทียนและข้าพเจ้าได้ลงมากรุงเทพฯ และพักที่บ้านของข้าพเจ้า 1 คืน และในตอนบ่ายวันนั้น เดวิดก็ได้มาที่บ้านของข้าพเจ้า และได้พบหลวงพ่อเทียนเป็นครั้งแรก
หลวงพ่อได้แสดงธรรมแก่เดวิดหลายอย่าง เช่น ท่านให้เดวิดมองตรง ๆ เฉย ๆ แล้วท่านเดินกลับไปกลับมาตรงหน้าเดวิด แล้วบอกให้เดวิดดูความคิดโดยไม่ต้องจ้องเหมือนอย่างที่ดูท่าน
อีกอย่างหนึ่งท่านจุดไม้ขีดไฟขึ้น ไฟสว่างขึ้นครู่หนึ่งก็มอดดับลง แล้วท่านบอกเดวิดว่า การปฏิบัติกรรมฐานแบบนั่งนิ่งหลับตา ให้ความสงบหรือความสว่างเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนจุดไม้ขีดไฟ ยังไม่ใช่ความสงบหรือความสว่างที่แท้จริง แล้วท่านจูงมือเดวิด เดินคลำกำแพงห้องไปรอบ ๆ จนกระทั่งถึงปากประตู ท่านก็ได้ผลักประตูออก ท่านจูงมือเดวิดก้าวออกไปนอกห้องซึ่งเป็นดาดฟ้า ท่านบอกเดวิดว่า ข้างนอกห้องเป็นแสงสว่างที่แท้จริง อยู่ในห้องเหมือนอยู่ในความคิด ออกนอกห้องเหมือนออกจากความคิด
เดวิดรู้สึกประทับใจในตัวของหลวงพ่อมาก
เมื่อหลวงพ่อเสร็จธุระที่กรุงเทพฯ และกลับขึ้นไปอยู่ที่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่นแล้ว ข้าพเจ้าก็มีโอกาสพาเดวิดขึ้นไปกราบนมัสการท่านอีก และเดวิดก็ได้พักอยู่ที่วัดโมกขวนารามเป็นเวลา 1-2 วัน
หลังจากนั้นเดวิดกับข้าพเจ้า ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นพระภิกษุอยู่ ได้เดินทางจากกรงเทพฯ โดยทางเครื่องบินเข้าไปในประเทศพม่าเป็นเวลา 7 วัน โดยเราได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเมืองร่างกุ้ง มัณฑเล และพุกาม และได้พักอาศัยอยู่ในวัดของพม่าโดยตลอด เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว เดวิด ข้าพเจ้า และพระภิกษุไพบูลย์ก็ได้เดินทางลงไปยังอาศรมนวชีวัน จังหวัดสงขลา เพื่อกราบนมัสการท่านโกวิท เขมานันทะ
1
ณ ที่นั้นเดวิดก็ได้พบกับท่านโกวิท เขมานันทะ เป็นครั้งแรก เดวิดรู้สึกประทับใจในท่านโกวิท เขมานันทะ เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน ซึ่งต่อมาในภายหลัง เดวิดก็ได้นิมนต์ท่านโกวิท เขมานันทะ ให้ไปเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศสิงคโปร์ อันเป็นการปูพื้นฐานคำสอนของหลวงพ่อเทียนแก่ชาวสิงคโปร์เป็นครั้งแรก
จากอาศรมนวชีวัน เดวิดก็ได้เดินทางต่อไปยังหาดใหญ่ ประเทศมาเลเซียและกลับไปยังประเทศสิงคโปร์ ส่วนข้าพเจ้าและพระภิกษุไพบูลย์ได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่อาศรมนวชีวันอีกระยะหนึ่ง
ข้าพเจ้าชอบบรรยากาศของอาศรมนวชีวันเป็นอย่างมาก ซึ่งต่อมาภายหลัง หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ลาสิกขาบทแล้ว ก็ได้มีโอกาสกลับไปเขียนหนังสือที่นั่นอีกเป็นเวลา 4-5 เดือน
ขอย้อนกลับมายังประเทศสิงคโปร์ เมื่อคณะของเรามาถึงบ้านพักแล้ว หลวงพ่อก็ได้กางกลดพักอยู่กลางห้องชั้นสอง โดยมีข้าพเจ้าพักอยู่ใกล้ ๆ ส่วนอาจารย์ชูศรีไปพักอยู่อีกห้องหนึ่ง
เมื่อชาวสิงคโปร์ทราบข่าวการเดินทางมาถึงของหลวงพ่อเทียนกับคณะ ต่างก็ค่อย ๆ ทยอยกันเข้ามาพบหลวงพ่อ นับเป็นครั้งแรกที่ชาวสิงคโปร์ได้พบหลวงพ่อเทียน หลังจากที่ได้ยินได้ฟังเรื่อราวของหลวงพ่อเทียนจากปากคำของท่านโกวิท เขมานันทะ มาเป็นเวลานาน
ขณะนั้นท่านโกวิท เขมานันทะ ไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ข้าพเจ้ากับอาจารย์ชูศรีได้ผลัดกันเป็นล่ามให้แก่หลวงพ่อตลอดเวลา ในบ่ายวันนั้นเองหลวงพ่อก็ได้รับนิมนต์ให้แสดงธรรมในห้องกรรมฐานของเซนซึ่งอยู่ชั้นล่างของที่พัก มีผู้มาฟังธรรมประมาณ 10 คน เพราะข่าวการเดินทางมาถึงของหลวงพ่อเทียนยังไปไม่ทั่ว หลังจากนั้นหลวงพ่อก็ได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรมในที่สาธารณะเกือบทุกวัน เช่น ที่สมาคมศาสนา (Sasana Association) ซึ่งเป็นศูนย์การปฏิบัติธรรมแบบทิเบต มีผู้ฟังประมาณ 40-50 คน ที่สมาคมเทวญาณวิทยา (Theosophical society) มีผู้ฟังประมาณ 40-50 คนเช่นกัน ที่วัดไทยในสิงคโปร์มีผู้ฟังประมาณ 50-60 คน และที่ศูนย์เซนอันเป็นที่พักอีกหลายครั้งหลายครา ซึ่งก็มีผู้ฟังเป็นจำนวนมากเช่นกัน
นอกจากนั้นมีชาวสิงคโปร์เข้ามาขอฟังธรรมะจากหลวงพ่อเป็นส่วนตัวอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญก็มี เค ซี อูน (K. C. Oon) วอง ชง-เลง (Wong Choong-Leng) มิสคี (Ms. Kees) ทั้งคนพี่และคนน้อง หมอตัน (Dr. Ton) เจมส์ ชาน (James Chan) กวี (Gwee) และหยกเหลียน (Geok Lian)
มีอยู่วันหนึ่งที่บังเอิญข้าพเจ้ากับอาจารย์ชูศรีไม่อยู่ หยกเหลียน เยาวชนนักปฏิบัติธรรมหญิงได้เข้าไปพบหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ได้สอนธรรมะให้โดยไม่ได้ใช้ภาษาพูด เมื่อข้าพเจ้ากับอาจารย์ชูศรีกลับมาถึง ปรากฏว่า หยกเหลียนสามารถเข้าใจธรรมะของหลวงพ่อ และได้เป็นนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญคนหนึ่งในแนวทางของหลวงพ่อเทียน
ที่ศูนย์เซนของเดวิด ลอย ในสิงคโปร์มีสมาชิกอยู่ประมาณ 30-40 คน มีการนั่ง “ซาเซน” (zazen) หรือกรรมฐานของเซนเป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง โดยมีเดวิด ลอยเป็นผู้ที่คอยแนะนำการปฏิบัติ และในปีหนึ่งก็จะเชิญท่านยามาดะ โรชิ (Yamada Roshi) อาจารย์เซนผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นมาควบคุมการปฏิบัติครั้งหนึ่งประมาณ 5-7 วัน ในปีนี้ก็เช่นเดียวกันได้มีการเตรียมการล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว ที่จะเชิญท่านยามาดะ โรชิ ให้มาควบคุมการปฏิบัติแบบอุกฤษฎ์ของเซน (sesshin หรือ retreat) เป็นเวลา 5 วัน
และเนื่องจากเดวิด ลอย และชาวสิงคโปร์ ได้รู้จักและได้รับฟังเรื่องราวของหลวงพ่อเทียนมาเป็นเวลานานพอสมควร ทุกคนจึงลงความเห็นกันว่า ให้นิมนต์หลวงพ่อเทียนมาในโอกาสเดียวกันนี้
บัดนี้หลวงพ่อเทียนได้มาประกาศธรรมที่ศูนย์เซน ก่อนหน้าที่การปฏิบัติแบบอุกฤษฏ์ของเซนจะเริ่มขึ้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ สมาชิกของเซนเลื่อมใสศรัทธาในคำสอนและตัวของหลวงพ่อเป็นยิ่งนัก ยิ่งใกล้ถึงวันปฏิบัติแบบอุกฤษฎ์เข้าไปเท่าใด คำถามในเรื่องแนวทางการปฏิบัติแบบนั่งนิ่งและภาวนา “มู” (mu ความว่าง) ของเซน กับวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียนก็ยิ่งดังขึ้นเท่านั้น และหลวงพ่อก็ได้ตอบคำถามในเรื่องนี้แก่สมาชิกเซนและชาวสิงคโปร์ทั้งหลายอย่างแจ่มแจ้ง
ก่อนหน้าที่การปฏิบัติครั้งใหญ่ประจำปีของเซนจะมาถึงเพียงไม่กี่วัน หลวงพ่อก็ได้ล้มป่วยด้วยอาการปวดที่กระเพาะอย่างรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาล โดยมีชาวสิงคโปร์เป็นจำนวนมากตามไปเยี่ยมไข้ท่านด้วยความห่วงใย
ในตอนเย็นก่อนการปฏิบัติธรรมครั้งใหญ่ของเซนจะเริ่มขึ้นเพียง 1 วัน ท่านยามาดะ โรชิ ก็เดินทางมาถึง พร้อมด้วยล่ามชาวอเมริกันคนหนึ่ง โดยมีเดวิด ลอย และสมาชิกเซนจำนวนหนึ่งไปให้การต้อนรับ
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ท่านยามาดะ โรชิ เป็นอาจารย์เซนในสายที่เป็นการผสมผสานระหว่าง รินไซเซน และ โซโตะเซน โดยท่านได้รับการส่งมอบธรรมะมาจากท่านยาสุทานิ โรชิ (Yasutani Roshi) ท่านยามาดะ โรชิ เป็นอาจารย์เป็นที่เป็นฆราวาส มีภรรยาและลูก โดยลูก ๆ ของท่านโตและแยกย้ายกันไปหมดแล้ว ท่านอยู่กับภรรยาของท่านเพียงสองคนที่ “ซานอาน เซนโด” (San-un Zendo) ในเมืองคามาคุระ (Kamakura) ประเทศญี่ป่น โดยมีลูกศิษย์ชาวตะวันตกไปปฏิบัติใน “ เซนโด” (ห้องกรรมฐานของเซน)ของท่านประมาณ 20 กว่าคน
ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปตะวันตก ท่านมีอายุมากกว่าหลวงพ่อเทียนอยู่หลายปี ข้าพเจ้าเคยไปปฏิบัติกับท่านคราวหนึ่ง เมื่อครั้งที่อยู่ฮาวาย จึงรู้แนวทางการปฏิบัติของท่านเป็นอย่างดี
การปฏิบัติธรรมครั้งใหญ่ของเซนที่สิงคโปร์ในครั้งนี้มีสมาชิกชาวสิงคโปร์เขาร่วมในการปฏิบัติประมาณ 20-25 คน โดยมีเดวิด ลอย เป็นหัวหน้าศิษย์ทำหน้าที่นำในการปฏิบัติและสวดมนต์ ท่านยามาดะ โรชิ เป็นอาจารย์เป็นที่ให้ “โกอาน” (ko-an, ปริศนาธรรม) และ “สอบอารมณ์” (kokusan) แก่นักปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมของเซนใกล้จะเริ่มขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าตัดสินใจเข้าร่วมการปฏิบัติธรรมของเซ็นในครั้งนี้ เพื่อรายงานความเป็นไปทั้งหมดให้หลวงพ่อได้ทราบ ส่วนอาจารย์ชูศรีคอยดูแลหลวงพ่ออยู่ที่โรงพยาบาล
การปฏิบัติธรรมแบบอุกฤษฏ์ของเซนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าได้รับ “โกอาน” จากท่านยามาดะ โรชิ ให้ภาวนาและค้นหาคำตอบของคำว่า “มู” (mu) หรือ “ความว่าง”
วิธีปฏิบัติก็คือ ให้นั่งนิ่งในท่าขัดสมาธิบนเบาะและหมอนรองนั่ง ปิดเปลือกตาลงครึ่งหนึ่ง มิให้ลืมตาเต็มที่และมิให้ปิดตาสนิท จากนั้นหายใจเข้าก็ให้ภาวนาคำว่า “มู” หายใจออกก็ให้ภาวนาคำว่า “มู” ให้กายและใจทั้งหมดจดจ่ออยู่ที่คำว่า “มู” เพียงคำเดียว และจะต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่า “มู” คืออะไร
ในระหว่างการปฏิบัติ ข้าพเจ้าได้เข้าพบท่านยามาดะ โรชิ หลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้อธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่า ในการปฏิบัติธรรมนั้นแม้เราจะรู้สึกว่าไม่ได้ผล แต่ขอให้พยายาม หากไม่ได้ผลในชาตินี้ก็จะไปส่งผลในชาติหน้า เหมือนเรามีโจทย์คณิตศาสตร์อยู่ และคิดอย่างหนักแต่ก็คิดไม่ออกจนดึกและเข้านอนไป รุ่งเช้าคำตอบนั้นอาจจะผุดขึ้นมาอย่างง่ายดาย ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องนี้ให้หลวงพ่อฟังในตอนหลัง เห็นท่านส่ายหน้านิดหนึ่งและได้แต่ยิ้ม ๆ
การปฏิบัติธรรมของเซนผ่านพ้นไปได้ 4 วัน หลวงพ่อก็ออกจากโรงพยาบาล และท่านได้ดูการปฏิบัติของเซ็นในวันสุดท้ายด้วยตัวของท่านเอง
ครั้งหนึ่งที่ศูนย์เซน มีผู้เขียนถามหลวงพ่อเทียนในที่ประชุมว่า ท่านรู้ธรรมะถึงที่สุดหรือไม่ หรือยังมีธรรมะที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงอีก
หลวงพ่อได้ตอบว่า “สิ่งที่สูงที่สุดนั้น ย่อมไม่มีอะไรที่จะสูงยิ่งไปกว่าอีก สีที่ดำที่สุดนั้นไม่มีอะไรที่จะดำยิ่งไปกว่าอีก สีที่แดงที่สุดนั้นย่อมไม่มีอะไรที่จะแดงยิ่งไปกว่าอีก”
คำตอบของท่านทำให้ที่ประชุมนิ่งอึ้งไปชั่วขณะหนึ่ง ทุกคนต่างก็รู้สึกพึงพอใจในคำตอบนั้น
ในตอนบ่ายวันสุดท้ายของการปฏิบัติ ท่านยามาดะ โรชิ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกเซนทั้งหมดได้ซักถามปัญหาในที่ประชุม หลวงพ่อก็ได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมฟังการถามตอบปัญหาด้วย โดยมีข้าพเจ้านั่งอยู่ข้าง ๆ คอยแปลถ้อยความทั้งหมดให้หลวงพ่อฟังตลอดเวลา
คำถามสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งสมาชิกเซนทั้งหลายอยากฟังความเห็นจากท่านยามาดะ โรชิ มากก็คือแนวทางการปฏิบัติของเซน และวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน ซึ่งท่านยามาดะ โรชิ ก็ได้ตอบแบบออมชอมว่า ทั้งสองวิธีต่างก็มีข้อดีทั้งนั้นสุดแล้วแต่ว่าใครจะสนใจวิธีไหน และท่านได้ตอบคำถามข้ออื่น ๆ อีกกว่าครึ่งชั่วโมง
หลวงพ่อได้นั่งฟังโดยตลอดและสุดท้าย ท่านได้บอกข้าพเจ้าว่า
“หลวงพ่ออยากถามท่านยามาดะ โรชิ ว่า คนเราสามารถปฏิบัติให้ถึงที่สุดทุกข์ในชีวิตนี้ไหม”
แต่ก็น่าเสียดายกี่ข้าพเจ้าลังเลที่จะถามให้ท่านและการประชุมก็ได้สิ้นสุดลง ข้าพเจ้าเรียนถามความเห็นจากหลวงพ่อถึงธรรมะของท่านยามดะ โรชิ
ท่านได้ตอบข้าพเจ้าว่า “หลวงพ่อวิ่งรอบท่านยามาดะ โรชิ ตั้งหลายสิบรอบแล้ว”
และว่า “ในด้านสติปัญญาแล้ว ท่านยามาดะ โรชิ ยังห่างไกลท่านพุทธทาสอยู่อีกไกล”
หลวงพ่อกับอาจารย์ยามาดะ โรชิ ผู้นำลัทธิเป็นของญี่ปุ่น
เดวิด ลอย อาจารย์ทวีวัฒน์ และอาจารย์ชูศรี
การประชุมได้สิ้นสุดลงและเดวิด ลอยได้แนะนำท่านยามาดะ โรชิ ให้รู้จักกับหลวงพ่อเทียน และอาจารย์ธรรมะทั้งสองท่านได้แลกเปลี่ยนของที่ระลึกต่อกัน จากนั้นอาจารย์ทั้งสองท่านก็ได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก มีเสียงกล่าวขานกันว่า น่าเสียดายที่มิได้มีการจัดรายการให้อาจารย์ธรรมะทั้งสองท่านได้สนทนาโต้ตอบกัน
เดวิด ลอย เองซึ่งเป็นผู้จัดรายการทั้งหมด ก็ลังเลที่จะทำเช่นนั้น เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกของเซนเกือบทั้งหมดเกิดความปั่นป่วนระส่ำระสายในแนวทางของการปฏิบัติ แม้ท่านยามาดะ โรชิ จะมาควบคุมการปฏิบัติด้วยตัวของท่านเอง แต่ความไม่เชื่อมั่นในแนวทางการปฏิบัติของเซนในญี่ปุ่นปัจจุบันก็ได้เกิดขึ้นเสียแล้ว
เช้าวันรุ่งขึ้น ท่านยามาดะ โรชิ ก็ได้เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในทันที และต่อมาท่านก็ได้ปฏิเสธที่จะเดินทางมายังประเทศสิงคโปร์อีก
ท่านยามาดะ โรชิ ได้เดินทางกลับไปแล้ว สมาชิกเซนกลุ่มใหญ่ได้เข้ามาห้อมล้อมหลวงพ่อ และซักถามปัญหาความสงสัยต่าง ๆ จากหลวงพ่อ ซึ่งหลวงพ่อก็ได้ตอบตรง ๆ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง จนเป็นที่หายข้องใจกัน
ท่านได้ย้ำให้เคลื่อนไหวดูความคิด มิให้นั่งนิ่ง
หลังการปฏิวัติครั้งใหญ่ของเซนผ่านพ้นไป สมาชิกเซนกลุ่มใหญ่ได้หันมาหาแนวทางของหลวงพ่อเทียน
หลวงพ่อ ข้าพเจ้า และอาจารย์ชูศรี ได้พักอยู่ที่ศูนย์เซนในประเทศสิงคโปร์ต่ออีกประมาณ 3-4 วัน จึงได้เดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์โดยทางเครื่องบินเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 เพื่อกลับประเทศไทย มีสมาชิกเซนและชาวสิงคโปร์อื่น ๆ มาส่งหลวงพ่อกับคณะที่สนามบินเป็นจำนวนมาก
การเดินทางไปประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรกของหลวงพ่อเทียนก็เป็นอันสิ้นสุดลง ทิ้งร่องรอยของทางเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในวงการธรรมะของสิงคโปร์ไว้เบื้องหลัง
ทราบต่อมาในภายหลังว่าสมาชิกที่ศูนย์เป็นของเดวิด ลอย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีสมาชิกถึง 30-40 คน มาบัดนี้เหลือเพียง 3-4 คนเท่านั้น ที่เหลือทั้งหมดโดยการนำของ เค ซี อูน (K.C. Oon) ได้ออกไปตั้งกลุ่มใหม่ภายในแนวทางการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน และได้ตระเตรียมการที่จะนิมนต์หลวงพ่อเทียนให้เดินทางไปแนะนำการปฏิบัติที่ประเทศสิงคโปร์อีกเป็นครั้งที่สอง
ผู้ที่ผิดหวังที่สุดในครั้งนี้ได้แก่เดวิด ลอย เพื่อนของข้าพเจ้านั่นเอง แต่มิตรภาพของเราก็มั่นคงเกินกว่าที่ความแตกต่างในด้านแนวทางจะมาเปลี่ยนแปลงได้
ข้าพเจ้าใคร่ขอเพิ่มเติมในที่นี้ด้วยว่า ในความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน เป็นการหวนกลับคืนสู่รากเหง้าที่แท้ของพุทธศาสนา และเป็นเป็นในความหมายที่แท้อีกด้วย
ข้าพเจ้าเคยเล่าวิธีการปฏิบัติของเซ็นในญี่ปุ่นปัจจุบันที่ข้าพเจ้าเคยไปศึกษามาจากอาจารย์เซนอย่างน้อยสามท่านให้หลวงพ่อเทียนฟัง ท่านแสดงอาการไม่เห็นด้วยและไม่สนใจ
ภายหลังข้าพเจ้าอ่าน “สุตรของเว่ยหล่าง” และ “คำสอนของฮวงโป” ให้ท่านฟัง ท่านฟังด้วยความเอาใจใส่และยอมรับในความรู้ธรรมะจริงของท่านฮุยเน้ง (Hui-neng) และท่านฮวงโป (Huang-po)
ในหนังสือ “สูตรของเว่ยหล่าง” มีข้อความอยู่หลายตอน ที่ท่านฮุยเน้งกล่าวคำตำหนิติเตียน บรรดาผู้ที่ตั้งตนเป็นอาจารย์สอนสมาธิแบบนั่งนิ่งหลับตา
อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าอ่านงานของ “กฤษณะมูรติ” (Krishnamurti) ให้หลวงพ่อเทียนฟัง ท่านรู้สึกพอใจมากและกล่าวกับข้าพเจ้าว่า “ กฤษณะมูรติพูดเรื่องจิตใจโดยตรง พูดเรื่องการออกไปจากความคิด”
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยพบหลวงพ่อเทียนกับเณรฝรั่งสายลามะของทิเบตรูปหนึ่งที่วัดสนามใน เห็นท่านกล่าวชี้แจงให้เณรฝรั่งรูปนั้นละจากความหลงผิด และเมื่อข้าพเจ้าเล่าเรื่องการภาวนาโกอาน “มู” ให้หลวงพ่อเทียนฟัง ท่านบอกกับข้าพเจ้าว่า
“ภาวนาไปเถอะ ภาวนาไปจนตายก็ไม่มีวันได้รู้”
สำหรับข้าพเจ้าแล้วหลวงพ่อเทียนคือครูของข้าพเจ้า ท่านช่วยให้ข้าพเจ้าพ้นไปจากความหลงผิดในท่ามกลางความสับสนแห่งการแสวงหาธรรมะในโลกยคปัจจุบัน การอุบัติขึ้นของหลวงพ่อเทียน ไม่เพียงแต่ท้าทายวงการพุทธศาสนาของไทยเท่านั้น แต่เป็นการท้าทายพุทธศาสนาของโลกอีกด้วย
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
การเดินทางไปสิงคโปร์ ครั้งที่ 2 *
* เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์อาจารย์โกวิท เขมานันทะ และอาจารย์ชูศรี รุ่งโรจนารักษ์
ซู เชียน เต, อ. ชูศรี, หลวงพ่อ, วี ชูน เซ็ง และอ. โกวิท
ที่สิงคโปร์
หลวงพ่อได้รับนิมนต์จากศิษย์ชาวสิงคโปร์ให้ไปสอนวิธีปฏิบัติธรรมที่นั่น ทั้งนี้เนื่องจากมีชาวสิงคโปร์หลายท่านได้เคยฟังธรรมเทศนาและทดลองปฏิบัติตามวิธีของหลวงพ่อในคราวที่หลวงพ่อไปสิงคโปร์ครั้งแรก และได้รับคำแนะนำจากอาจารย์โกวิท ซึ่งพำนักอยู่ที่นั่นในขณะนั้น
บุคคลเหล่านี้มีความเลื่อมใสศรัทธาปรารถนาจะได้ฝึกปฏิบัติกับหลวงพ่อ จึงได้เช่าบ้านหลังใหญ่แบบโบราณ มีห้องถึง 10 ห้อง ตั้งอยู่บนถนนแบรงค์ซั่ม (Branksome) ไว้เป็นสถานที่รับรองหลวงพ่อ และเป็นสถานที่สำหรับเก็บอารมณ์ (retreat)
หลวงพ่อเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ประมาณบ่าย 2 โมงของวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2525 ถึงสิงคโปร์ประมาณ 6 โมงเย็น มีชาวสิงคโปร์มารอรับที่สนามบิน 10 กว่าคน เมื่อไปถึงที่พักได้มีผู้มาสนทนาธรรมกับหลวงพ่อจนถึง 3 ทุ่มกว่า และบางท่านก็ได้พักที่บ้านหลังนี้เพื่อปฏิบัติธรรม ในการมาสิงคโปร์ครั้งที่ 2 นี้ อาจารย์โกวิท และอาจารย์ชูศรีทำหน้าที่ล่ามให้กับหลวงพ่อ และได้ช่วยให้คำแนะนำในการปฏิบัติธรรมกับชาวสิงคโปร์ที่มาเก็บอารมณ์
ผู้มาฟังธรรมเทศนาและสนทนาธรรมกับหลวงพ่อในครั้งนี้ มิได้มีแต่กลุ่มเซนเหมือนในคราวแรก แต่มาจากบุคคลทั่วไปหลายอาชีพ มีทั้งถ้าราชการชั้นสูง พ่อค้า นักหนังสือพิมพ์ ทันตแพทย์ เป็นต้น ซึ่งทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการเดินทางมาสิงคโปร์ครั้งแรกของหลวงพ่อ
ตามกำหนดการ หลวงพ่อจะเทศน์อบรมเวลา 2 ทุ่ม ครั้นถึงเวลา 1 ทุ่ม ผู้คนก็เริ่มทยอยกันมา ทำให้บรรยากาศของบ้านโบราณหลังนี้คึกคักทุกค่ำคืน ผู้ที่มาก็เปลี่ยนหน้ากันอยู่เสมอเนื่องจากพูดต่อ ๆ กันไป จึงมีคนใหม่ ๆ เพิ่มมาเรื่อย ๆ
การที่มีผู้ให้ความสนใจมากนั้น ประการหนึ่ง ก็เนื่องมาจากคำพูดหรือคำเทศน์ของหลวงพ่อซึ่งเป็นสิ่งที่มาจากใจและจากประสบการณ์ของท่าน คำพูดธรรมดาของท่านนี้ เมื่อเป็นภาษาไทย ผู้ฟังคนไทยฟังแล้วก็อาจจะรู้สึกเฉย ๆ เพราะมีความคุ้นเคยกับโวหารไทย แต่เมื่อแปลเป็นอีกภาษาหนึ่งแล้ว บางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้นทันที หากคำพูดนั้นไม่มีสภาวะรองรับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คำพูดของหลวงพ่อนั้นมีสภาวะรองรับ เพราะมาจากใจ มาจากประสบการณ์ของท่าน จึงกระทบใจผู้ฟังทุกชาติทุกภาษา
ในการแปลนี้อาจารย์โกวิทและอาจารย์ชูศรีได้ขอร้องให้หลวงพ่อพูดให้แปลทีละประโยคเพราะหากหลวงพ่อพูดรวม ๆ แล้วการแปลจะยากขึ้น ปรากฏว่าผู้ฟังมีความพอใจมาก
สมัยนั้นสิงคโปร์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างดียิ่ง จนได้รับสมญาว่าไข่มุกของเอเซีย ฉะนั้นบรรดานักศาสนาหลายลัทธิจึงพากันมุ่งหน้ามายังสิงคโปร์เพื่อใช้เป็นจุดเผยแพร่ศาสนา เนื่องจากสิงคโปร์ประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ แม้จะอยู่ในเอเซียแต่วิถีชีวิตของประชาชนเป็นแบบตะวันตก มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ มีหลายลัทธิศาสนา
รัฐบาลสิงคโปร์ต้องการให้มีลัทธิขงจื้อเป็นหลัก แต่ได้รับการท้วงติงบ้าง จึงรับพุทธศาสนาเข้าไป พระทิเบตหลายนิกาย นักสอนศาสนาคริสต์และลัทธิต่าง ๆ ได้พยายามเข้ามาเผยแพร่ลัทธิศาสนาในสิงคโปร์ และในกระแสของความสับสนนี้ ผู้ที่เสนอตัวเข้ามาแก้ไขความสับสน หรือผู้ที่อ้างตนว่าเป็นคุรุ หรือผู้ที่จะมาช่วยมนุษยชาติ คือเจ้าลัทธิต่าง ๆ นั้นก็กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสับสนด้วย
ดังนั้นการแสดงธรรมเทศนาของหลวงพ่อจึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวสิงคโปร์ เพราะคำสอนของท่านดูไปแล้วไม่มีลัทธินิกายอะไร ไม่มีกลิ่นอายของสิ่งซึ่งเจ้าลัทธิอื่น ๆ หรือนักศาสนาอื่น ๆ กระทำ ไม่มีการบอกให้เจอพระพุทธเจ้า ไม่มีการบอกให้เชื่อพระเยซู ผู้ฟังจึงเกิดความตื่นเต้นและทึ่งในคำพูดของท่าน แม้หลวงพ่อจะสวมเครื่องแบบเป็นพระ แต่สิ่งที่ท่านสอนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา
ในระหว่างที่หลวงพ่อพักอยู่ในสิงคโปร์เพื่อแสดงธรรมและให้การอบรมแก่ผู้ที่มาปฏิบัตินั้น ท่านมีอาพาธมิใช่น้อย หลวงพ่อฉันอาหารไม่ได้และอาเจียน ท่านมีอาการอ่อนเพลียและปวดท้องมาก ในระหว่างการแสดงธรรม ท่านจำเป็นต้องถ่มน้ำลายอยู่เกือบตลอดเวลา
นายแพทย์ตัน ผู้นำทางด้านศาสนาคนหนึ่งของสิงคโปร์ ซึ่งแม้ในขณะนี้ก็ยังทำหน้าที่ผู้สอนศาสนาอยู่ ได้ปรารภว่า หลวงพ่ออาพาธมากขนาดนี้ แต่ยังสามารถแสดงธรรมได้ครั้งละนาน ๆ แสดงว่าหลวงพ่อจะต้องมีเมตตามาก แต่หลวงพ่อตอบว่าท่านไม่ได้มีเมตตาอะไร เพียงรู้สึกว่าชีวิตมันเป็นอันเดียวกันทุกชาติทุกภาษาเท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่ควรแก่การเล่าสู่กันฟังคือ วิธีการสอนของหลวงพ่อที่ได้กระทำต่อผู้ปฏิบัติ ในขณะที่จิตกำลังจะเข้าสู่สภาวะใหม่ อันนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิบัติ การกระทำของหลวงพ่อนั้นจึงเปรียบดุจพี่เลี้ยงนางนม หรืออาจพูดได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดก็มิได้ผิดเพี้ยน เพราะเท่ากับท่านได้เปลี่ยนชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ปฏิบัติ
คุณรอนนี่หรือ Hsu chien Teh เป็นชาวสิงคโปร์ผู้หนึ่งที่มาค้างปฏิบัติอยู่ด้วย เมื่อหลวงพ่อได้ทราบจากอาจารย์โกวิทว่า คุณรอนนี่ซึ่งปกติเป็นคนร่าเริง ช่างพูดช่างคุย มีอาการตาลอยผิดไปจากทุกวัน หลวงพ่อท่านรีบลุกขึ้นนั่งทันที ทั้ง ๆ ที่ท่านยังนอนซมอยู่ เนื่องจากในคืนที่ผ่านมาท่านมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ซึ่งได้ทราบในภายหลังว่าท่านเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร หลวงพ่อห่มจีวรยังไม่ทันเรียบร้อย ท่านก็ออกมาทันที ท่านตรงเข้าจับมือคุณรอนนี่ ถามคำถามช้า ๆ ซ้ำ อยู่หลายครั้งโดยมีอาจารย์ชูศรีเป็นผู้แปล
การที่หลวงพ่อถือเป็นความรับผิดชอบของท่านที่ต้องมาดูแลคุณรอนนี่ ก็เนื่องจากคุณรอนนี่ได้ปฏิบัติมาจนจิตได้ที่ เปรียบเหมือนผ้าที่ต้มฟอกจนขาวสะอาด เตรียมพร้อมที่จะย้อมสีใหม่ เมื่อย้อมสีไหนก็จะติดสีนั้นทันที หรืออาจเปรียบได้กับทารกที่กำลังจะคลอด ผู้เป็นครูก็อาจจะเปรียบเหมือนผู้ที่มาช่วยฉีกรกนั้นออก ทำให้ทารกนั้นออกมาได้ง่ายขึ้น ทำให้การปฏิบัตินั้นได้ผลสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นทางช่วยไม่ให้ผู้ปฏิบัติติดอยู่กับปีติสุขต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรคทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้า
คุณหยกเหลียน อดีตประธานชมรมพุทธของวิทยาลัยโปลิเทคนิคก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีอุตสาหะวิริยะอย่างยิ่งในการปฏิบัติ เธอได้เดินจงกรมติดต่อทันทั้งวันทั้งคืน จนในวันที่ 3 ของการเก็บอารมณ์ ก็ได้อารมณ์กรรมฐานเบื้องต้น เกิดปีติตื้นตันร้องไห้สะอึกสะอื้น แม้ว่าหลวงพ่อยังอาพาธอยู่ แต่ท่านก็ได้ช่วยแก้อารมณ์โดยพาเธอออกไปที่สนามหญ้า ชี้ให้ดูต้นไม้ต่าง ๆ แล้วถามว่าต้นอะไร จนอารมณ์ปีติตื้นตันนั้นคลายไปในที่สุด
แรกทีเดียวหลวงพ่อตั้งใจจะพำนักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 1 เดือน แต่แล้วอาการของโรคมะเร็งในกระเพาะได้บังเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หลวงพ่อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อแพทย์ทำการตรวจเอกซเรย์แล้ว ได้แนะนำว่าควรจะทำการผ่าตัดทันที เพราะเกรงว่าจะเป็นเนื้อร้าย แต่หลวงพ่อต้องการจะเดินทางกลับมาทำการผ่าตัดที่เมืองไทย
ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้เดินทางกลับในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2525 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525
แพทย์ได้ตรวจพบเนื้อร้ายในกะเพาะ และได้ทำการผ่าตัดในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525
การไปสิงคโปร์ครั้งที่ 2 ของหลวงพ่อ แม้จะเป็นเวลาเพียง 2 สัปดาห์ และแม้ว่าท่านจะไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้เปลี่ยนวิถีชีวิตหรือความเชื่อในลัทธิศาสนาของคนสิงคโปร์เป็นส่วนรวม แต่ท่านก็ได้เปลี่ยนชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นคนเพียงไม่กี่คน แต่ก็นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าการเปลี่ยนแนวความคิด (concept) ในคนจำนวนมาก ตราบจนทุกวันนี้ แม้เมื่อหลวงพ่อมรณภาพแล้ว ศิษย์ชาวสิงคโปร์กลุ่มหนึ่งของหลวงพ่อที่ได้เคยติดตามมาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อก็ยังคงเดินทางมาปฏิบัติธรรมในเมืองไทยอยู่เหมือนเช่นเคย บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ คุณกี คุณวอง ชุงเหล็ง และคุณเจมส์ ชัน เป็นต้น
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
บันทึกการอาพาธของหลวงพ่อ
นายแพทย์วัฒนา สุพรหมจักร
หลวงพ่อ ได้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวชครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2526 เพราะมีอาการปวดท้อง โดยที่ท่านเคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านี้ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งในเวลาต่อมา ท่านได้มีก้อนเกิดขึ้นในช่องท้อง แพทย์ได้ตรวจท่านหลายครั้ง รวมถึงการตรวจทางเอกซเรย์ และการส่องกล้องเข้าไปตรวจในกระเพาะอาหาร เนื่องจากท่านยังไม่ตัดสินใจที่จะผ่าตัดอีก แพทย์จึงได้พยายามให้ยารักษา โดยที่ให้การวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นมะเร็งของกระเพาะอาหาร
เมื่อท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวชนั้น ได้พบว่ามีการอุดตันของกระเพาะอาหารมาก ไม่สามารถจะรักษาด้วยการให้ยา จึงได้แนะนำให้ท่านผ่าตัดที่นี่
ผลการผ่าตัดเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2526 นั้น พบว่า ท่านเป็นมะเร็งค่อนข้างมากแล้ว มะเร็งได้ลามไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของกระเพาะอาหาร มีบางก้อนของมะเร็งขนาดโตเกือบถึง 11 เซนติเมตร และได้ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงด้วย
แพทย์ไว้ตัดกระเพาะอาหารท่านออกเกือบหมด เมื่อได้ตรวจทางพยาธิวิทยา ก็พบว่า ท่านเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาการชนิด Diffuse Histiocytic Lymphoma ที่ได้กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว
แม้ว่าท่าน จะได้รับการผ่าตัดใหญ่ แพทย์ผู้รักษาได้พบว่า ท่านมีแต่ความสงบ ปราศจากการตื่นเต้น กระวนกระวาย หรือปฏิกิริยาใด ๆ ไม่ว่าจะเนื่องจากความเจ็บปวดก็ดี หรือ เมื่อภายหลังได้เรียนให้ทราบว่าท่านเป็นโรคมะเร็งที่ลุกลามไปแล้วก็ดี เมื่อได้ถามถึงความเจ็บปวดหลังผ่าตัด ท่านจะตอบด้วยความสงบว่า
“ปวดเป็นธรรมดา ยังไม่ต้องฉีดยาหรอก”
และเมื่อได้อธิบายให้ท่านทราบว่า ต้องใช้ยาและการฉายรังสีในการรักษาต่อหลังผ่าตัด ท่านได้พูดแต่เพียงว่า
“เรื่องการเจ็บป่วยทางกายก็ต้องให้หมอรักษา ถ้าต้องการให้ได้ผลการรักษาที่ดี ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ”
หลวงพ่อได้ไปตรวจและรับการรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช รวมทั้งการฉายรังสีรักษา ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอย่างสม่ำเสมอ จนครบกำหนด เป็นที่น่าประจักษ์ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความสังเกต และรู้ตัวเองเป็นอย่างดี บอกอาการข้างเคียงจากการให้ยา หรืออธิบายกลุ่มอาการ Dumpingsyndrome สืบเนื่องจากการตัดกระเพาะอาหาร ที่เกิดกับท่านได้อย่างชัดเจน
ซึ่งเมื่อท่านได้รับคำอธิบายให้เข้าใจว่า อาการเหล่านี้เกิดขึ้น เนื่องจากการให้ยา หรือผ่าตัดก็ดี ท่านยอมรับและไม่สนใจมันอีกต่อไป อาการต่าง ๆ เหล่านี้ ในระยะต่อมาปรากฏว่าดีขึ้นมาก
แม้ว่าท่านจะมาตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ 3 ปีต่อมา แพทย์ได้ตรวจพบว่า ท่านมีโรคมะเร็งเกิดขึ้นอีกที่ลำไส้เล็กต่อกับลำไส้ใหญ่ตอนต้น จึงได้ทำผ่าตัดให้อีกครั้งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2529 ผลการตรวจก็พบว่า เป็นมะเร็งชนิดเดิม การผ่าตัดสำเร็จด้วยดีและ ท่านได้ฟื้นตัวเร็วเหมือนครั้งที่แล้ว แต่ก็ต้องให้การรักษาทั้งทางยา และการฉายรังสีอีกครั้ง
แม้ว่าจะมีผลแทรกซ้อนข้างเคียงบ้าง แต่ก็น้อยกว่าคราวก่อน ถึงท่านจะเป็นคนป่วย แต่ท่านไม่เคยทำตัวให้ป่วย และไม่เคยก้อถอย ตรงกันข้ามกลับพยายามที่จะเผยแพร่ธรรมะอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยแสดงความรำคาญต่อการถาม หรือการที่ขอให้ท่านอธิบายเรื่องธรรมะต่าง ๆ ส่วนในเรื่องความสงบ และ ความรู้สึกตัวของท่านนั้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เมื่อต้นปี 2531 ร่างกายของท่านรู้สึกว่าได้ทรุดถอยลง แพทย์ตรวจพบว่า ก้อนน้ำเหลืองที่ใต้คางและคอโตขึ้น เมื่อท่านได้มาตรวจในวันที่ 29 มีนาคม 2531 ซึ่งเป็นลักษณะของมะเร็งได้ลุกลามขึ้นมาอีก แพทย์ได้พยายามที่จะให้ยาควบคุมโรคดังกล่าวอีกครั้ง แต่รู้สึกว่าได้ผลไม่ดีเหมือนเดิม
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2531 ท่านได้ไปตรวจครั้งสุดท้าย ด้วยอาการเป็นไข้และไอ แพทย์ตรวจพบว่าท่านมีปอดขวาอักเสบ และต่อมน้ำเหลืองใต้คอเริ่มมีการอักเสบเกิดขึ้นอีก ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าการอักเสบนี้เกิดจากเชื้อ salmonella gr B ที่แพร่กระจายไปทั่วร่างกายซึ่งมีปัญหามากในการรักษาในคนป่วยที่มีสภาพเช่นนี้
หลวงพ่อ เดินทางกลับ จ.เลยเป็นครั้งสุดท้าย
วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2531
ท่านได้ปรารภในการรักษาตัวครั้งนั้นว่า เป็นเรื่องหนักสำหรับท่าน แต่ท่านไม่เคยที่จะแสดงความกังวลเที่ยวกับการที่จะอยู่ หรือการที่ท่านจะมรณภาพ นอกจากจะขอให้แพทย์ผู้รักษาตระหนักว่า ถ้าหากมีทางใดที่จะรักษาได้ก็ให้ทำไป แต่ถ้าคิดว่าการรักษาไม่ได้ผลขอให้บอกท่าน โดยที่ท่านต้องการจะกลับไปจังหวัดเลย และได้บอกว่า ตลอดเวลาที่ไม่สบายครั้งนี้ ท่านสังเกตลมหายใจตัวเองโดยตลอด เพื่อดูว่าจะหยุดเมื่อใด
หลังจากให้การศึกษาครบ 3 สัปดาห์ อาการของท่านกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ผลการตรวจยังพบเชื้อโรค salmonella จากต่อมน้ำเหลืองที่คอทั้ง ๆ ที่ได้ให้ยาปฏิชีวนะอย่างมากมาย แสดงว่าภูมิต้านทานของร่างกายท่านได้ลดน้อยลงอย่างมากจนไม่สามารถจะกำจัดเชื้อโรคดังกล่าวได้
ท่านได้ออกจากโรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2531 และได้กลับไปจังหวัดเลย เพื่อที่จะเผชิญกับวาระสุดท้ายอย่างมีสติ และรู้สึกตัวตลอดเวลา จนถึงวันที่ 13 กันยายน 2531 ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ในด้านการรักษาโรคดังกล่าว ท่านได้มีมะเร็งที่ลุกลามไปมากแล้วตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังมีชีวิตยืนยาว และยังประโยชน์แก่คนอื่นอีก 5 ปี ทั้ง ๆ ที่ได้รับการรักษาทั้งการผ่าตัด การให้ยา และการให้รังสีรักษาจำนวนมาก นับได้ว่าได้ผลดีเกินกว่าที่คาดไว้ ดีกว่าที่ปรากฏในคนไข้คนอื่น ๆ ที่มีสภาพเดียวกันอย่างเทียบไม่ได้
แม้ว่าสภาพร่างกาย และโรคจะไม่แตกต่างกับคนอื่นมากนัก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดว่า ท่านมีความแตกต่างจาก คนไข้อื่น ๆ ก็คือ ความมีสติรู้ตัวตลอดเวลา รู้สึกตัวท่านเองอย่างดียิ่ง แก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล และท่านไม่เคยที่จะกลัวกับวาระสุดท้ายของชีวิต มีสภาพที่เป็นอยู่กับภาวะปัจจุบันตลอดเวลา ไม่หวั่นไหวกับอดีต และอนาคตแต่อย่างใด
ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อ
พระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ
วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ
หลวงพ่อกับ พระอาจารย์ทอง อาภากโร, หลวงพ่อเพียร อตฺตปุญฺโญ, พระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ และพระอาจารย์บุญธรรม อุตฺตมธมฺโม
ในปี 2508 ได้ยินแต่กิตติศัพท์จากผู้คนทั้งหลายว่า หลวงพ่อเทียนตั้งสำนักสอนกรรมฐานอยู่ที่ป่าพุทธยาน เมืองเลย ผู้ที่ไปศึกษาปฏิบัติจะรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม ไม่สงสัยเรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องนรกสวรรค์เรื่องมรรค เรื่องผล มีผู้คนไปชวนให้ไปศึกษาดู เพราะช่วงนั้นอาตมาก็ขวนขวายศึกษาอยู่แบบพุทโธ เข้าถึงสมถะ มีผลสุขสงบพอสมควร แต่ยังสงสัยเรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องนรกสวรรค์ และมรรคผลนิพพาน ทำให้คิดถึงหลวงพ่อเทียนอยู่ตลอดเวลา พยายามหาโอกาสอยู่เสมอ
ต่อมา มีหลวงพ่อบุญธรรมซึ่งเป็นญาติกัน ก่อนที่ท่านยังไม่ได้บวชก็เคยพูดกันในเรื่องของกรรมฐาน พอท่านบวชก็ไปศึกษาอยู่กับหลวงพ่อเทียนในช่วงต้นปี 2509 ตอนนั้นอาตมายังไม่ทันได้บวช ได้มีโอกาสไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย ท่านสอนให้สร้างจังหวะและเดินจงกรม ความรู้สึกตอนนั้นไม่ค่อยจะชอบการสร้างจังหวะ ตนเองเคยฝึกหัดแบบพุทธ นั่งนิ่ง ๆ เข้าถึงความสงบได้ไวดี แต่หลวงพ่อท่านสอนไม่ให้เอาความสงบ สอนให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ กำหนดรู้ไปกับการสร้างจังหวะ ไม่ให้เข้าไปอยู่ในความสงบ เป็นการสวนทางกับวิธีที่ฝึกหัดมา บางทีไม่อยากจะทำ มันคัดค้านอยู่ในใจมาก ท่านก็พูดให้ฟัง ท่านก็ทำให้ดู คำที่ท่านพูดถึง ความรู้ที่ท่านสอน เรายังไม่มี ยังทำไม่ได้ ความรู้ที่เรามี การกระทำที่เราทำ หลวงพ่อท่านบอกว่าเอาทิ้งไป มันค่อยกินใจไปเรื่อย ๆ บางทีท่านพูดท้าทายมาก ท่านพูดว่า“ คุณทำงานอยู่ที่บ้าน ถ้าคิดเป็นเงินจะได้เดือนละกี่บาท ?” ก็ตอบท่านว่า อย่างน้อยก็ได้เดือนละ 1,000 บาท“ คุณมาอยู่นี้มาปฏิบัติธรรม สร้างจังหวะ เดินจงกรมให้มีสติสัมปชัญญะ ถ้าคุณไม่รู้อะไร จิตใจไม่เปลี่ยนไปจากเดิม อาตมาจะเสียเงินให้เดือนละ 1,000 บาท แต่ต้องทำจริง ๆ นะ ให้ทำตามอาตมาสอนทุกอย่างนะ” ท่านพูดกับอาตมาอย่างนี้ ท่านอาจเห็นอาตมามีทิฐิมาก ในที่สุดก็ตกลงทำ ไหน ๆ ก็ได้มาแล้ว ทดลองดู พยายามทวนความรู้สึกเดิม ๆ ตั้งใจสร้างจังหวะ เพื่อปลูกสติสัมปชัญญะ สร้างสติ มันก็ได้สติ จะไปเอาอะไร ตั้งหลักทำไปเรื่อย ๆ
เมื่อมันคิดก็รู้สึกตัวกลับมา อยู่กับการสร้างจังหวะ มันจะสงบ ก็รู้สึกตัว ไม่เข้าไปอยู่ในความสงบ รู้กายรู้ใจชัดขึ้น มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น รู้ทันต่อกายเคลื่อนไหว ทันต่อใจที่มันคิด เกิดปัญญาญาณขึ้นมา รู้เรื่องรูป-นาม เรื่องกาย เรื่องใจ ตามความเป็นจริง ลำดับไปจนจบอารมณ์รูป-นามเบื้องต้น จิตใจเปลี่ยนไปพ้นสภาวะเดิม ความลังเลสงสัยหมดไป รู้เรื่องสมถะและเรื่องของวิปัสสนา ความทุกข์หมดไป 60% มั่นใจในคำสอนของหลวงพ่อมาก ความรู้เก่าเดิมจืดจางไปหมด เคยเรียนคาถาอาคมเครื่องรางของขลัง เห็นว่ามันเป็นเรื่องสมมุติ พิธีรีตองต่าง ๆ ที่เคยยึดมั่นถือมั่นวางได้ มีความเชื่อในการกระทำ รู้เรื่องบุญ เรื่องบาปเรื่องนรกสวรรค์ รู้เรื่องศาสนา พุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เหมือนกับแบกของหนักมา 100 ก.ก. พอเกิดปัญญาญาณขึ้น น้ำหนักหลุดออกไป 60 ก.ก.
เราทำเท่านั้นมันหลุดได้ถึงขนาดนี้ ถ้าเราทำให้มากกว่านี้แล้ว มันจะเป็นอย่างไร มีความมั่นใจในการเจริญสติสัมปชัญญะแบบการเคลื่อนไหวมาก หลวงพ่อก็ให้อารมณ์ ท่านบอกว่า นี้มันเป็นอารมณ์ของกรรมฐานเบื้องต้นนะ อย่าไปหลงติดคิดว่าตัวรู้มากนะ ยังมีอยู่อีกมาก ต้องตั้งใจปฏิบัติต่อไป ให้บำเพ็ญทางจิตต่อ จึงจะรู้อารมณ์ของปรมัตถ์ ท่านถามว่า ทำอย่างนี้รู้ได้ไหม เห็นจริงไหม เชื่ออาตมาหรือเชื่อตัวเอง ก็ตอบท่านว่า เชื่อตัวเอง หลวงพ่อฉลาด สอนให้มาเห็นความจริงของชีวิต ทุกคนจะต้องมารู้อย่างนี้จึงจะถูก การที่จะแสวงหาครูอาจารย์อีกต่อไปไม่มี เพราะได้บทเรียนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิต จากครูผู้อ่านหนังสือไม่ได้ เขียนหนังสือไทยไม่เป็น
ปฏิปทาของหลวงพ่อ
ในช่วงปี 2509 หลวงพ่อยังอ่านหนังสือไทยไม่ได้ อ่านได้แต่หนังสือลาว เขียนหนังสือไทยก็ยังไม่เป็น ท่านขยันหัดอ่านหัดเขียน ทั้งสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา บางทีอาตมายังได้สอนอ่านให้ท่านหลายต่อหลายครั้ง หลวงพ่อสอนสิ่งใด ท่านก็ทำสิ่งนั้นได้ ทั้งพูดให้ฟัง ทั้งทำให้เราดู การใช้ชีวิตของท่านอยู่อย่างเรียบง่าย การนั่งนอน การขบฉัน การใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีระเบียบ เอาใจใส่ต่อลูกศิษย์ลูกหา ไม่เห็นแก่ความยากลำบาก เสียสละทุกอย่างทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ขวนขวายใช้ชีวิตของท่านเพื่อผู้อื่น อยากจะให้รู้ธรรมะจริง แม้เวลาจะผ่านมาแล้วถึง 30 กว่าปี ปฏิปทาของหลวงพ่อไม่เคยเปลี่ยนแปลง อาตมามีความเคารพนับถือว่าท่านเป็นผู้มีคุณอันยิ่งใหญ่ ไม่มีวันเสื่อมคลายได้ในชีวิตนี้
เหตุการณ์ต่าง ๆในสำนักป่าพุทธยาน
ผู้ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าพุทธยานในครั้งกระโน้น ทุกคนมีความตั้งใจที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมร่วมกันเหมือนคน ๆ เดียวกัน ไม่ได้ตั้งระเบียบติดไว้ประตูกุฏิเหมือนทุกวันนี้ อยู่กัน 20-30 ชีวิต เหมือนกับไม่มีคน เงียบสงบ จะไต่ถามกันก็ต้องระมัดระวัง มีแต่นั่งสร้างจังหวะและเดินจงกรม อาตมาเคยถามสามเณรที่นั่งสร้างจังหวะอยู่ เธอก็ยังไม่ค่อยอยากจะพูด
การสอนกรรมฐานของหลวงพ่อในครั้งกระโน้น ให้มีแต่การกระทำเป็นส่วนใหญ่ เสียงเดินจงกรมในตอนเช้ามืด เสียน้ำค้างหยดลงใส่ใบตอง ที่เมืองเลยมีน้ำค้างมาก ถ้าได้ยินเสียงน้ำค้างตกลงใส่ใบตอง ก็เป็นเวลาตีสามพอดี ต่างชีวิตก็ลุกขึ้นปรารภความเพียร เสียงเดินจงกรมกับเสียงน้ำค้างตกลงใส่ใบตอง ดังตับ ๆๆ แสงตะเกียงผ่านละอองน้ำค้างสลัว ๆ วันหนึ่งช่างหมดง่าย ๆ เหลือเกิน ได้รับรสพระธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติ ได้คำตอบของชีวิตไปเรื่อย ๆ
ที่อยู่อาศัยก็คือ กระต๊อบหลังเล็ก ๆ เวลาฝนตกก็เปียกบ้างนิดหน่อย ได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตที่ไม่ปรุงแต่งเกินไป การขบฉัน บางครั้งก็เอาน้ำในกาเทลงไปในน้ำพริกที่กำลังจะหมดไป เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า น้ำล้างบาตรก็ต้องเทรวมกันในภาชนะเดียว เพื่อนำไปล้างถ้วยชามอีกที ต่อไปก็นำไปรดต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ น้ำดื่ม น้ำอาบ อยู่ห่างจากสำนักประมาณกว่าหนึ่งกิโลเมตร เวลาไปอาบน้ำ ก็ต้องหาภาชนะสำหรับใส่น้ำกลับมาพร้อม พยายามช่วยตัวเองเต็มที่ พระผู้เฒ่าก็เห็นหิ้วกระป๋องใส่น้ำกลับกุฏิ พระหนุ่มก็ต้องหาบ ความยากจนทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีระบบโดยที่ไม่ท้อถอย ไม่กลัวความทุกข์ยากลำบาก บางทีถุงพลาสติกที่ญาติโยมห่ออาหารใส่ในบาตรก็เก็บไว้นำมาสอดแซมหลังคารั่ว การปรารภความเพียรแน่วแน่มั่นคง กระตือรือร้นกันมาก ทางเดินจงกรมเป็นมันวาววับ ที่นั่งบนกุฏิเป็นรูปรอยนั่ง ถ้าได้นั่งสร้างจังหวะ และได้เดินจงกรม เหมือนหนึ่งว่าในโลกนี้มีตัวคนเดียว ไม่ถูกแบ่งแยกไปทิศทางอื่นเลย
เวลาที่ญาติโยมนิมนต์ไปขบฉันในบ้าน ไปประกอบพิธีต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ฝืนความรู้สึกมาก คิดถึงทางเดินจงกรม ที่นั่งบนกุฏิ ซึ่งให้แต่ความสงบร่มเย็น เป็นสง่า มีความภาคภูมิใจในเวลาที่ได้เดินจงกรม และในเวลาที่ได้นั่งสร้างจังหวะเจริญสติ รู้สึกว่าเป็นงานที่มีเกียรติในชีวิต ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย บางวันในขณะที่นั่งสร้างจังหวะในกุฏิ หลวงพ่อเดินไป จำได้ว่าเป็นเสียงฝีเท้าของหลวงพ่อ
“อยู่นี่หรือ ?”
“อยู่ครับ หลวงพ่อ”
“ทำอะไร ?”
“สร้างจังหวะ ครับ”
“เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในไหม ?”
“ไม่เห็นข้างนอกครับ เห็นแต่ข้างใน
“ถ้าอยากเห็นข้างนอกทำอย่างไร ?”
“เปิดประตูออกครับ”
“เอ้า ! ลองเปิดประตูออกมาดู”
พอเปิดประตูออก หลวงพ่อก็บอกว่า
“ ให้เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในนะ อย่าให้เห็นแต่ข้างนอก และอย่าให้เห็นแต่ข้างในนะ ดูตรงกลาง ๆ นี้นะ”
ว่าแล้วท่านก็เดินผ่านไปยังกุฏิอื่น ก็เข้าใจว่าหลวงพ่อพูดภาษาจิตใจ คือ การดูกาย ดูจิตใจ การบำเพ็ญทางจิต ก็ต้องทำอย่างนี้ ถ้าเข้าไปอยู่ในความคิดก็ผิด ถ้าคิดออกไปข้างนอกตัวเกินไปก็ผิด ต้องเป็นผู้ดู อะไรเกิดขึ้นมาก็ให้ดูด้วยตาใน คือ สติและปัญญา คือ อย่าไปเอา อย่าไปเป็น
ตอนเข้า-ตอนเย็น หลังจากทำวัตรเสร็จ หลวงพ่อให้การอบรมทุกวัน ไม่มีเทปฟัง ไม่มีหนังสืออ่าน ได้ยินแต่คำสอนของหลวงพ่อ และลำดับจากสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติ จิตใจเปลี่ยนไปเรื่อย รู้เองเห็นเอง
คำพูดที่หลวงพ่อคอยชี้คอยแนะ ประกอบกับการกระทำบำเพ็ญเพียร พูดภาษาธรรมฟังเข้าใจและพบเห็นเป็นได้ ทำได้ หลุดพ้นได้ การสอบอารมณ์ไม่ใช่คิดเอามาถาม มันพบเห็นมาด้วยผลของกรรมฐาน ไม่ใช่คิดมาจากจินตนาการด้วยเหตุด้วยผลอันใดทั้งสิ้น มันเป็นกฎตายตัวของธรรมชาติที่มันมีอยู่แล้ว คือตั้งต้นจากการเห็นรูป-นาม คือของจริงที่มันมีอยู่ เรารู้กฎเกณฑ์อันนี้ แล้วถูกฟ้องไปเรื่อย ๆ จนทุกข์หาที่ตั้งไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่ไหน หลวงพ่อท่านสอนแต่เรื่องอย่างนี้ ชี้ให้เห็นชัด เหมือนกับจูงมือมาดู ไม่ไปเห็นโดยการคิดเดากันไป.
เมื่อทุกข์มันไม่มีที่ตั้ง เหี่ยวแห้งหมดยางเพาะไม่ขึ้น เมื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่มีสิ่งใดที่จะทำอีก เรียกตามอาการที่มันเป็นว่า การดับไม่เหลือของนาม-รูป ไม่รู้ว่ามีอยู่ในตำราหรือไม่ นี่พูดตามอาการที่มันเป็น เรียกอย่างอื่นไม่ได้ คำสั่งสอนของหลวงพ่อชี้ชัดมากในเรื่องนี้ ไม่ใช่ท่านสอนให้รู้ให้เข้าใจแต่เพียงอย่างเดียว สอนให้เป็นจริง ๆ เช่นกับว่า ปลิง.มันเกาะดูดเลือดเรา แต่ก่อนเราไม่เห็นมัน แต่พอดีเหตุปัจจัยมันมี ทำให้ปลิงหลุดออกจากตัวเรา เราจึงรู้ว่า มันเป็นเรื่องสะอิดสะเอียนมาก แต่ขณะที่ปลิงเกาะอยู่ เราไม่รู้ไม่เห็นมัน เหมือนกับที่เราปล่อยให้กิเลสตัณหามีอยู่ในใจเรา เมื่อเรารู้ เราเข้าใจ เห็นมันแล้วมันก็จะหลุดออกไป เราก็จะรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึกกับปลิง มันเป็นแล้วจึงรู้ รู้แล้วก็ไม่ต้องไปถามใคร ชีวิตของคนเรามาจบลงที่ตรงนี้ โดยตั้งต้นศึกษาปฏิบัติธรรม ตามแบบของการเคลื่อนไหวสร้างจังหวะ เดินจงกรม เจริญสติสัมปชัญญะ ทำแบบวิธีอื่นไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า
อาตมาได้ถือเอาหลักการเจริญสติแบบการเคลื่อนไหว มีหลวงพ่อเป็นครู จะมีอยู่ในตำราหรือไม่นั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายจงพิจารณาดูเองเถิด การที่ลำดับเขียนไว้นี้เป็นส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีอีกมาก ยังไม่สมควรพูดในตอนนี้ อาตมายังขอรับรองว่า สักวันหนึ่ง ถ้าท่านทั้งหลาย มีเวลานั่งสร้างจังหวะ เดินจงกรม เจริญสติ ดูการเคลื่อนไหว ดูใจที่มันคิดรู้เท่าทัน จับได้ไล่ทัน ปัญหาภาวะที่ท่านมีจะสารภาพ จำนนต่อหสักฐาน หมดพิษสง ได้รับอิสรภาพ ชีวิตเป็นอมตะ เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย
งานสอนธรรมะของหลวงพ่อก็กระจายออกไปเรื่อยตามลำดับ จนเข้าสู่เมืองหลวง ออกไปถึงต่างประเทศ ตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ในโลก จะเป็นชนชาติใดก็ตาม ถ้ามาศึกษาดู ก็จะพบเห็นเช่นเดียวกันหมด ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายจงศึกษาดูเถิด จะอ่านหนังสือได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ
ขณะที่หลวงพ่ออาพาธหนัก หลวงพ่อก็ยังสั่งยังสอนอยู่ ท่านอุทิศชีวิตของท่านเพื่อผู้อื่นจริง ๆ เมื่อครั้งหลวงพ่อยังไม่ทันได้บวช ก็ขวนขวายที่จะให้คนทั้งหลายมาพบเห็นเรื่องนี้ อาตมาเคยได้ไปจำพรรษาที่บ้านเกิดเมืองนอนของท่าน มีคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่ม รุ่นลูกหลานของท่านเล่าให้ฟัง นี้ยังไม่พอ ยังเห็นกุฏิหลังเล็กทำอย่างดี มีเป็นสิบ ๆ หลัง ท่านสร้างขึ้นด้วยทรัพย์สินส่วนตัว แล้วก็ให้ผู้คนมาอยู่ปฏิบัติ ตลอดทั้งจัดอาหารการขบฉันให้โดยที่ไม่ให้ผู้อื่นมีภาระ
ชีวิตของหลวงพ่อเมื่อครั้งครองฆราวาส ก็เป็นผู้ที่มีฐานะมีอันจะกิน เป็นพ่อค้าใหญ่ในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีเรือจักรขนาดใหญ่ล่องสินค้าในแม่น้ำโขง ขึ้นไปทางเหนือก็เกือบถึงหลวงพระบาง ทางใต้ก็แถบนครพนม สมัยก่อนเมืองลาวยังไปมาหาสู่ค้าขายกันได้เป็นอิสระสองฝั่งแม่น้ำโขงจะรู้จักนายฮ้อยพ่อเทียน (นายฮ้อย : ภาษาถิ่นอีสานเป็นคำที่ใช้เรียกพ่อค้า) ชื่อหลวงพ่อจริง ๆ ไม่ใช่ชื่อหลวงพ่อเทียน ชื่อหลวงพ่อพันธ์ แต่ประเพณีคนแถวเมืองเลยเมืองลาว เขาเอาชื่อของลูกคนโตมาประกอบ ลูกคนโตของหลวงพ่อ ชื่อ นายเทียน คนต่อมาชื่อนายเตรียม หลวงพ่อมีลูกสองคน ตกลงหลวงพ่อก็ได้ชื่อลูกมาประกอบ คนแถวนั้นเขาไม่นิยมเรียกชื่อกันตรง ๆ เขาถือว่าเสียมารยาท นายฮ้อยพ่อเทียน เมื่อบวชเข้ามาก็ได้ชื่อว่าหลวงพ่อเทียน. ถ้าเราไปเรียกว่า หลวงพ่อพันธ์ คนแถวเมืองเลย เชียงคาน เขาคิดว่าเราไม่เคารพ เป็นอย่างนี้กันทั้งหมด ในหมู่คนเมืองเลยเมืองลาว บางทีมาถึงหนองคายด้วย หลวงพ่อมีบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ที่บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตระกูลของหลวงพ่ออยู่ที่นั่นเป็นส่วนใหญ่
หลวงพ่อสมัยครองฆราวาส มีผู้เคารพเชื่อฟังมาก เป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย เรื่องทำบุญให้ทานมักจะได้เป็นผู้นำ สร้างอุโบสถหลังหนึ่งด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว มีอะไรอีกมากที่ไม่ได้นำมาพูด ก็ไม่ได้คิดว่านำเรื่องนี้มาโอ้อวดแต่ประการใด เพียงแต่ให้เราเห็นว่า ท่านก็เป็นคนเราธรรมดา ๆ นี้เอง แต่มีความสามารถค้นพบสัจธรรมอีกผู้หนึ่งในยุคนี้สมัยนี้เราท่านทั้งหลายจะได้เอาเป็นตัวอย่าง
เมื่อก่อนที่ไปศึกษากับหลวงพ่อ หลวงพ่อมักจะพูดอยู่เสมอว่าเคยทำบุญ บวช ทำกฐิน ทำผ้าป่า สร้างโบสถ์วิหาร ทำทุกอย่างที่เป็นพิธีทำบุญ แต่มันไม่รู้ธรรมะแบบนี้ อาตมาก็มาคิดว่า เอ ! ตัวเรานี้ไม่ได้ทำบุญเหมือนกับหลวงพ่อ คงไม่มีโอกาสรู้ธรรม เห็นธรรม ที่แท้ไม่ใช่เลย จะเป็นคนจน คนมี ก็รู้ได้ทั้งนั้น ถ้าปฏิบัติจริง ๆ ให้ได้สัมผัสกับสติ-สัมปชัญญะ ให้เวลาเพียงพอ หลวงพ่อท่านก็ยืนยันเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ท้าทายต่อผู้คนทั้งหลาย เชิญชวนมาพิสูจน์ดูด้วยตนเอง
อาตมาขอพูดอีกว่า ที่ได้มาเป็นลูกศิษย์ลูกหานี้ ไม่ใช่เพราะประวัติของหลวงพ่อ ไม่ใช่เพราะกิริยามารยาท ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินคำพูด คำเล่าลือของผู้คนทั้งหลาย หากแต่เมื่อได้ทดลองวิธีการเจริญสติสัมปชัญญะแบบการเคลื่อนไหว เกิดผลแก่ตนเอง มากมายหลายอย่าง จนถึงที่สุดคำว่าทุกข์ไม่มีเหลือเลย เพราะการกระทำแบบอย่างหลวงพ่อเทียนสอน จะเป็นคำสอนหรือจะพูดว่า เป็นวิธีแบบพระพุทธเจ้าสอนไว้ก็ไม่ผิด ไม่ได้ยกย่องหลวงพ่อเทียน ไม่ได้โอ้อวด พูดถึงเรื่องที่มันเป็นได้ มีได้ ทำได้ในชีวิตนี้ ไม่ใช่รอให้ตายลง ทุกคนทำได้ มีได้เป็นได้
หลวงพ่อเทียน เป็นครูผู้ฝึกสอนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ทำตามที่ท่านสอนทุกอย่าง ให้สร้างจังหวะและเดินจงกรม เพื่อเป็นการปลูกสติ มีสติเห็นกายที่เคลื่อนไหว มีสติเห็นใจที่มันคิด ให้เป็นผู้ดูธรรมชาติสองอย่างนี้ สติสัมปชัญญะเป็นดวงตาภายใน เป็นผู้เฝ้าดูกายดูใจ จนเห็นธรรมชาติสองอย่างนี้ ได้คำตอบว่า เป็นเพียงแต่รูปธรรม นามธรรม เท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน เป็นธรรมชาติล้วน ๆ เห็นแล้วรู้จริงว่า เป็นแต่เพียง รูป นามตอบมันได้ หมดปัญหา ผ่านได้
ต่อไปท่านสอนให้ดูทุกข์ ที่มันมีอยู่กับรูป และที่มันมีอยู่กับนามเราก็มาดูรูปก่อน ที่มันเป็นรูปธรรม เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดูรูป มันก็เห็นว่ามันเป็นรูปทุกข์ เป็นกองทุกข์ เป็นก้อนทุกข์ หายใจนี้ก็คือแก้ทุกข์กินก็แก้ทุกข์ ตลอดถึง ยืน เดิน นั่ง นอน ก็คือแก้ทุกข์ให้รูป และเห็นว่ามันเป็นรูปโรค การเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องหาวิธีแก้ให้มัน ทุกข์ของรูปนี้มีแต่แก้ให้มัน ทำได้แต่เพียงนี้ จะละไม่ได้ เกินนี้ต้องบอกคืนมันไป นี้เป็นเรื่องของรูปธรรม ส่วนนามธรรมก็เห็นแจ้งอีกนั่นแหละถ้าเราดูสภาพจิตใจ เหมือนกับว่าเรานั่งอยู่ในห้องกระจก อะไรเข้ามาก็เห็นทันที ใจหรือจิตใจแต่เดิมมันก็ปกติ แต่อารมณ์มันจรมา คืออาคันตุกะมันจรมา จะเป็นความดีใจ เสียใจ ก็เห็นมัน มันรัก มันโกรธมันโลภ มันหลง ก็เห็นมัน เห็นทุก ๆ อย่างเพราะเราเป็นผู้ดู ถ้าดูมันก็เห็น เห็นแล้วมันละได้ไม่เป็นไปกับมัน ไม่เหมือนกับดูรูปธรรมนะ ทุกข์ของรูปละไม่ได้ ทำได้แต่เพียงแก้ เช่นหิวข้าวก็ต้องกินข้าวแก้ แต่แก้อยู่อย่างนั้น จะไม่ให้มันหิวไม่ได้ ไม่เหมือนกับใจ จิตใจนี้ละได้เด็ดขาดเลยละทีเดียวไปได้ตลอดชีวิต จนไม่มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย นี่ถ้าเรามาศึกษาให้ถูกจุด ถูกเป้า มันไม่ยาก เหมือนกับกุญแจที่ใช้ถูกลูก มันก็เปิดออกได้ทันที ไม่เสียเวลา
หลักของสติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าจะเปรียบเหมือนกับกุญแจก็ได้ หรือจะเหมือนเครื่องมือการเดินทางที่สมบูรณ์แบบผ่านได้ตลอด กาย เวทนา จิต ธรรมารมณ์ เป็นด่านกักขังมนุษย์ ยากที่จะพ้นไปได้ แต่ถ้าเราได้เจริญสติปัฏฐาน ทำให้มาก เอา กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเวที สติสัมปชัญญะก็จะเป็นแชมป์ในเรื่องนี้ ได้ชัยชนะผ่านได้ตลอด เพราะรู้ว่ากาย เวทนาจิต ธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน เป็นการสารภาพ จำนน ต่อสติ
ความจริงหนีความจริงไปไม่ได้ ความไม่จริงก็ทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้ หลักของสติปัฏฐานที่นี้ อุปมาอันหนึ่งก็คือ พิพากษาตุลาการที่เที่ยงตรง ทรงอำนาจแห่งความเที่ยงตรง ฟ้องทุกข์ ตัวกูของกู ตัวตนยินดี ยินร้าย ดีใจ เสียใจ กิเลสตัณหา ภพ ชาติ เกิดขึ้นไม่ได้ สติปัฏฐานนี้ถ้าอุปมาอันหนึ่งก็คือ เป็นการคุมกำเนิดของทุกข์ ถ้าชื่อว่าทุกข์แล้วหาที่ตั้งไม่ได้ เพราะเห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่า เป็นแต่เพียงรูป นาม พอเห็นว่าเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม ตั้งแต่ต้น ก็กระทบกระเทือนไปถึงตัวทุกข์ทันที สั่นคลอนไปเลย เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ทั้งหลาย
ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
ประสบการณ์เมื่อได้พบกับหลวงพ่อเทียน
พระอาจารย์ทอง อาภากโร
วัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์
หลวงพ่อกับ พระอาจารย์ทอง อาภากโร, หลวงพ่อเพียร อตฺตปุญฺโญ, พระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ และพระอาจารย์บุญธรรม อุตฺตมธมฺโม
อาตมาเป็นพระบ้านนอก พ่อแม่เป็นชาวไร่ชาวนา ก่อนบวชก็ได้ทำบุญให้ทาน เข้าวัดตามประเพณีที่พ่อแม่เคยทำมา การปฏิบัติก็ยังไม่ได้ทำอะไรในขณะนั้น อาตมาบวชเมื่ออายุ 22 ย่าง 23 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2504 อาตมาก็บวชเรียนอยู่วัดธรรมดา บวชมหานิกาย ที่จังหวัดอุดรธานี ได้ทำสมาธิกรรมฐานบ้าง แต่ก็ไม่เข้าใจ พอดีปีนั้น พ.ศ. 2510 อาตมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านพรม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ออกพรรษาแล้วก็ไปเรียนเทศน์ แต่ก่อน การจะเป็นพระนักเทศน์ต้องเรียนจากครูบาอาจารย์
บังเอิญมีโยมคนหนึ่งมาจากเมืองเลย เขามาเยี่ยมญาติที่นี่ เขาไปได้ยินหลวงพ่อเทียนพูดธรรมะกับท่านมหาบัวทอง เพราะท่านมหาบัวทองเป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน เขานิมนต์มาแสดงธรรมะให้ญาติโยมฟัง แกก็คุยให้อาตมาฟัง คุยกันไปคุยกันมา อาตมาก็สะดุดใจว่าเป็นโยมก็พูดธรรมะได้ เราบวชมาตั้ง 7 ปียังไม่รู้ ไม่เข้าใจธรรมะ ก็ชักสงสัย คิดอาย ๆ เหมือนกัน เราเรียนคัมภีร์ เรียนตำรามาแล้วมันอยู่ที่ไหน พระมหาบัวทองได้มหาเปรียญแล้ว ก็ยังไปเรียนธรรมะไปปฏิบัติธรรม แล้วธรรมะมันอยู่ที่ไหน ถ้าเราอยู่เป็นพระบวชไปนาน ๆ เวลาไปแสดงธรรมะกับพระกรรมฐาน บางทีอาจจะติดเขาก็ไอ้ อาจจะเทศน์แล้วอายเขาก็ได้ ก็เลยคิดในใจว่า ปีนี้เราต้องไปปฏิบัติธรรม ต้องไปศึกษาธรรมะกับหลวงพ่อเทียน ให้มันรู้ ให้มันเข้าใจก่อน เรื่องเทศน์เรื่องอะไร ค่อยมาว่ากันทีหลัง
ตอนนั้นอาตมาคิดฝันไปว่า เมื่อไปปฏิบัติธรรมแล้วมันคงจะมีฤทธิ์มีเดช ดำดิน ล่องหน หายตัว อะไรอย่างนั้นได้ เพราะเรียนมาในตำราเขาว่า -ปฏิบัติธรรมะจะมีหูทิพย์ ตาทิพย์ เราก็นึกว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงจะเข้าท่าดี ก็เลยตัดสินใจไปหาอาจารย์ มันมีอะไรอย่างหนึ่ง ตั้งความคิดไว้สูงมาก เป็นแรงผลักดันพาไป
อาตมาไปหาหลวงพ่อเทียนที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย ไปถึงที่นั่นตอนเย็น ไปถามหาหลวงพ่อ ก็รู้ว่าท่านไปเปิดอบรมธรรมะให้ญาติโยมอยู่ที่บ้านบุฮม อาตมาก็จะตามไป ตอนนั้นอาตมามีศรัทธาแรงกล้ามาก อยากจะเห็นว่าหลวงพ่อเทียนหน้าตาเป็นอย่างไร แต่พระที่วัดให้นอนค้างคืนก่อน พรุ่งนี้เราจะพาไปส่ง อาตมาก็ตกลงค้างคืนหนึ่ง ก็ได้คุยกับท่านมหาบัวทองแต่ใจยังคิดอยู่อยากพบหลวงพ่อเทียน
พอรุ่งเช้าก็ออกเดินทางไปหาหลวงพ่อเทียนที่บ้านบุฮม ไปถึงที่นั่นประมาณ 4 โมงกว่า ๆ ยังไม่เพล ไปกราบท่าน
ท่านถามว่า มาจากไหน ?
ก็บอกท่านว่า ผมบวชที่จังหวัดอุดรธานีบ้านเกิดเมืองนอน พ่อแม่อยู่ที่อุดรฯ ผมบวชแล้วก็ไปเรื่อย ๆ ศึกษาตามหนังสือหนังหาไปเรื่อย ๆ ผมบวชมาก็ 7 ปีแล้ว มาจำพรรษาที่ชัยภูมิ ออกพรรษาแล้วก็ไปฝึกเทศน์ที่อำเภอหนองบัวแดง พอดีได้ยินโยมพูดคุยธรรมะ แล้วสงสัย ยังไม่เข้าใจ ผมก็เลยถามที่อยู่ของหลวงพ่อ เขาก็บอกแนะนำมา ผมก็เลยอยากจะมาศึกษาธรรมะกับหลวงพ่อ อยากจะปฏิบัติธรรมะกับหลวงพ่อ
ท่านก็ไม่ได้พูดอะไรมาก ท่านก็ถามว่า สนใจจริง ๆ หรือ
อาตมาก็บอกว่า สนใจจริง ๆ
ท่านถามว่า จะปฏิบัติจริงหรือ
ก็บอกท่านว่า จริง
ท่านว่า การปฏิบัติธรรมะนี่ทำง่ายไม่มีอะไรเป็นพิธีรีตอง
อาตมาก็ชอบอยู่แล้ว เพราะตั้งใจทีเดียวว่าถ้าให้ทำยุบหนอ-พองหนอจะไม่ทำ เพราะได้ยินเด็ก ๆ คนทั่ว ๆ ไปพูดหนอ ๆ นี่ อาย ๆ นะ พอดีท่านพูดให้ฟังว่า ทำง่าย ๆ ทำสบาย ๆ ทำวิธีเคลื่อนไหว ไม่ต้องหลับตาในขณะนั่ง นั่งยกมือขึ้น เอามือลง ทำวิธีเคลื่อนไหว เอ๊ะ ! ไม่เห็นจะมีอะไร ท่าจะทำง่าย
ท่านก็ทำให้เราดู เราก็ทำตาม พอทำเป็น ท่านก็ปล่อยให้เราทำคนเดียว ใหม่ ๆ ก็อายนะ อาตมาเป็นคนขี้อาย ท่านให้ไปอยู่กุฏิคนเดียว อาตมาปฏิบัติอยู่คนเดียว ปฏิบัติอยู่ที่บ้านบุฮม วัดที่ท่านอยู่ นาน 15 วัน ก็ยังไม่เข้าใจ
ต่อมาก็ลงมาปฏิบัติที่วัดป่าพุทธยาน ปฎิบัติอยู่นานประมาณ 1 เดือน ระหว่างปฏิบัติ ท่านก็มาหาวันละ 2-3 ครั้ง ท่านก็ถามคำสองคำ เข้าใจหรือไม่ อาตมาก็ไม่เข้าใจ
วันหนึ่งต่อมา หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จก็เลยนั่งคุยกันกับหลวงพ่อและมหาบัวทอง อาตมาก็บอกกับท่านว่า ถ้าผมปฏิบัติแบบนี้คงไม่เข้าใจคงไม่รู้ บวชมาก็ตั้ง 6-7 ปีแล้วยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ตำราก็เรียนมาแล้วท่านพูดอะไรให้ฟัง เข้าใจรูป เข้าใจนามแล้วหรือยัง เราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ อายุก็แก่แล้วทำไมยังไม่เข้าใจ
อาตมาก็เลยบอกกับท่านว่า ผมจะขอเก็บตัวสักระยะหนึ่ง ตอนนี้ผมจะไม่ออกมาทำวัตร บิณฑบาต จะขอเก็บตัวปฏิบัติคนเดียวอยู่ในห้อง หลวงพ่อจะอนุญาตหรือไม่
ท่านก็บอกว่า เอ...ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ท่านก็คิดพูดคุยกัน ตกลงกัน ให้ก็ให้ ก็ตัดสินใจเลยทีเดียว เรื่อข้าวเรื่องน้ำก็แล้วแต่หลวงพ่อจะจัดญาติโยมไปส่งให้
อาตมาไปอยู่ได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ก็เข้าใจ แต่เข้าใจพื้น ๆ นะ เข้าใจแรก ๆ ไม่เห็นรูป ไม่เห็นนาม ต่อมาเมื่อมาเห็นรูป เห็นนาม มาเข้าใจรูป เข้าใจนาม รวมเวลาประมาณ 1 เดือน จึงรู้จักการบวช ทั้ง ๆ ที่เราบวชมา 7 ปีไม่รู้เลย เราเรียนหนังสือตามตำรา ตามหลักวิชาการก็เรียนมา ไม่รู้ว่าเราได้บวชได้เรียนอะไร คล้าย ๆ กับเราไม่มีอะไรเลย โกนหัวก็โกน ห่มผ้าเหลืองก็ห่ม แต่มันไม่เข้าใจในการบวช
ตอนที่เข้าใจ อาตมาก็นั่งสร้างจังหวะ นั่งยกมือ ทำความรู้สึกตัวมันรู้ขึ้นเลย รู้โดยไม่มีใครบอก รู้โดยไม่เคยได้ยินได้ฟัง รู้โดยไม่ได้อ่านตำรับตำรามาเลย มันรู้มันเข้าใจเอง มันเห็นรูป เห็นนาม เห็นรูปธรรม นามธรรม เห็นรูปโรค นามโรค เห็นสมมุติ เห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา เห็นบาป เห็นบุญ เห็นศาสนา เห็นพุทธศาสนา จนจบเลย รู้แล้วมันรู้จนจบไปเลย รู้ในขณะเดียวเลย อันนี้เป็นอารมณ์เบื้องต้น
รู้เมื่อหลังจากเก็บตัวได้ 7 วัน แต่รวมทั้งหมดหนึ่งเดือนพอดี เราจึงรู้ รูป-นาม รู้อะไรหลาย ๆ อย่าง รู้สารพัดอย่าง มันเป็นความรู้ของ วิปัสสนู เป็นความรู้ของจินตญาณ แต่หลวงพ่อท่านก็มีวิธีสอนเรา แต่เราก็ไม่รู้หรอก แม้เมื่อเดินจงกรมมันก็ยังมีอะไร ๆ อยู่ อาตมานึกถึงพ่อ อาตมาเป็นทำพร้าตั้งแต่เด็ก ๆ อายุราว ๆ 5-6 ขวบ โยมแม่เลี้ยงมาตลอด ก็นึกถึงพ่อ โอ้..พ่อเราเกิดมาเป็นคนไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาทำไม ไม่รู้ตัวเอง ไม่เห็นตัวเอง ถ้าเป็นสิ่งที่ปั้นได้เหมือนกับดิน เหมือนกับอิฐ เหมือนกับปูน จะไปเอามาปั้นแล้วก็เอามาทำใหม่ให้ดีเลย ตอนนั้นอาตมาคิด นึกถึงพ่อแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ช่วยได้แต่เฉพาะตัวเราเท่านั้นเอง
ตามหลักจริง ๆ แล้วช่วยไม่ได้ เสียชีวิตไปแล้วมันก็แล้วกันไป แต่สิ่งที่เราทำมันก็ได้กับเรา การบวชให้พ่อให้แม่นี่เป็นประเพณี แต่พูดถึงการปฏิบัติธรรมแล้วมันไม่เกี่ยวกันเลย
เมื่ออาตมารู้อย่างนี้แล้ว พอได้อรุณรุ่ง หลวงพ่อก็ให้อาตมาออกมาเลย กลัวจะเป็นตัวอย่างกับคนอื่น บางทีคนอื่นมาขอแล้วท่านไม่ให้มันจะไม่ยุติธรรม ไม่ดี ท่านว่าอย่างนั้น เพราะยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน มีแต่ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ อยู่กับท่านทำการทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีการเก็บอารมณ์ ท่านให้ออกมาก็ออก แต่ใจจริงยังอยากปฏิบัติคนเดียว ท่านให้ออกก็ออก เพราะเราเคารพท่าน ท่านว่าอย่างไรก็ต้องทำตาม ท่านให้ออกมาทำการทำงาน ตอนปฏิบัติธรรมะใหม่ ๆ ท่านยังไม่ให้ดูความคิด หลังจากออกมาได้ 4-5 วัน ตอนนั้นกำลังพุ่ง กำลังแรง กำลังเป็นจินตญาณเป็นปีติ มันกล้า อยากจะอยู่คนเดียว เรื่องเทศน์ เรื่องอะไร ไม่ว่าใครจะจบอะไรมา จบกระไตรปิฎก หรือได้เปรียญ 9 ประโยคมา อาตมาไม่กลัวใคร อาตมารู้รูป-นามอย่างดี ไม่เคยได้ประสบการณ์อย่างนี้ในชีวิต มันเป็นอย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการบวช มันอยู่ที่นี่เอง ถึงจะได้บวชเรียนมานาน ถ้ายังไม่ได้ทำอันนี้ ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ อันนี้ ถือว่าบวชนอกพุทธศาสนา เมื่อก่อนเราเรียนในตำรานึกว่ามีแต่ครั้งพุทธกาล มีแต่ในประเทศอินเดีย
หลวงพ่อได้ถามอาตมาว่า “ถ้าเป็นอย่างนี้กลับบ้านได้ไหม”
บอกท่านว่า “กลับได้ กล้าพูดกับอาจารย์แล้ว”
อาจารย์ของอาตมาบวชมานาน 10 กว่าปีแล้ว แกไปเรียนบาลีมา ได้เป็นอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะตำบล มีความรู้ทางวิชาการ ปริยัติ หลวงพ่ออยากให้ไปสอน
อาตมารู้สึกคล้าย ๆ ว่าตอนนั้นมันยังไม่จบลง เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง ทำไมหลวงพ่อท่านพูดอย่างนั้น ท่านคงมีเหตุผล หลวงพ่อท่านอยากให้ไปพูดคุยกับโยมพ่อโยมแม่ และญาติ ๆ พูดอะไร ๆให้ฟัง อยากให้เอาประสบการณ์ อยากให้เอาธรรมะนี่ไปพูดให้คนฟัง สมัยก่อนเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ท่านก็เปลี่ยนอีกอย่างหนึ่ง
แต่อาตมาไม่เหมือนคนอื่น ถ้าคนอื่นหลวงพ่อยุไปเลย ตอนนั้นอาตมาบวชได้ 7 ปีพอดี ท่านมหาบัวทองนี้เป็นรุ่นแรก ๆ ต่อมาก็มีอาจารย์คำเขียน อาจารย์บุญธรรม อาจารย์สมหมาย รุ่นนี้ไล่ ๆ กัน
หลังจากนั้นหลวงพ่อท่านให้ดูความคิด ปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ ถ้ารู้รูป-นาม เข้าใจรูปเข้าใจนามแล้ว เกือบทุกคนจะเป็นจินตญาณ บางคนมีปีติแรง บางคนไม่แรง ถ้าเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อท่านไม่ให้ดูความคิด ท่านให้ทำการทำงาน บางคนให้อยู่เฉย ๆ แต่ความคิดท่านไม่ให้สนใจมัน ปล่อยมันไป มันคิดแต่สิ่งดี ๆ ทั้งนั้น คิดไปเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้างอะไรต่ออะไรที่จะไปสอนนั่นแหละ มันคิดขึ้นมา แต่หลวงพ่อท่านไม่ให้คิด ท่านว่าให้มันค่อย ๆ เย็นลง ๆ ให้มันสงบ หลวงพ่อท่านก็มีจิตวิทยาในการสอนเหมือนกัน ท่านมีวิธีดูจิต ดูผู้คนที่จะมาปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร จิตดีหรือไม่ คล้ายว่ามีอะไรหรือไม่ เหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าจิตของเรามีสภาพแบบนั้น คล้าย ๆ ไม่มีอะไร เดี๋ยวนี้ไม่รู้เห็นอะไรทั้งนั้น ท่านจึงจะให้ดูความคิด
พระพุทธเจ้าตรัสรู้บำเพ็ญเพียรทางจิต เอาสติดูจิต ดูตรงนี้ ท่านก็มาแนะให้ดูตรงนี้ ท่านบอกว่า “คิดให้รู้ แล้วก็ปล่อยรู้”
ท่านก็ให้ยกมือสล้างจังหวะ เคลื่อนไหวให้รู้สึกตัว ให้ดูความคิด ให้เห็นความคิด เท่านั้น ท่านก็หนีไปเลย
ตอนนั้นอาตมาดูความคิดอยู่ 9 วัน ได้มาเห็นปรมัตถ์ เห็นวัตถุ เห็นอาการ ตอนเย็น มาเห็นตอนนี้ จิตใจมันเปลี่ยนแปลง ตอนเห็นรูป-นาม จิตใจก็เปลี่ยนแปลงอีกแบบ ตอนมาเห็นปรมัตถ์ จิตใจก็เปลี่ยนอีกแบบ ตอนนี้อาตมากล้าแล้ว เอ้อ ! เราเป็นพระได้แล้ว เป็นเทวดาได้ พระมันอยู่ตรงนี้เอง มันไม่ได้อยู่ตรงหัวโล้น ห่มผ้าเหลือง มันอย่างนี้เอง มันเห็น
หลวงพ่อท่านสอน ใครมาปฏิบัติธรรม ก็ให้ดูจิตดูใจ ดูความคิดต่าง ๆ ถ้าจิตใจเปลี่ยนแปลงแล้วต้องรู้ต้องเห็นทุกคน อันนี้เป็นวิธีสอนเป็นวิธีถามผู้ปฏิบัติที่รู้ ที่เห็น ที่เข้าใจ ท่านถามเรา เราเป็นผู้บอกท่านเองว่าเราเข้าใจปรมัตถ์ เข้าใจวัตถุ เข้าใจอะไรก็ตาม เห็นอะไรก็ตาม ก่อนนั้นเข้าใจว่า ใครเป็นพระก็ได้ โกนหัวนุ่งห่มผ้าเหลืองมาอยู่วัด พอดีตอนนี้อ้อ ! พระยังไงก็ได้ จะเป็นผู้หญิง ผู้ชายก็ได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ได้ เป็นคนชาติอะไรก็ได้ ภาษาไหนก็ได้ หรือถือศาสนาไหนก็ได้ ตอนได้รูป-นามยังไม่ชัด เข้าใจแต่ยังไม่ชัด พอดีมาเข้าใจปรมัตถ์ รู้สึกมันชัดขึ้น เห็นเข้าใจอะไรละเอียดดีขึ้น
อาตมาดูความคิด จนเข้าใจปรมัตถ์ เข้าใจวัตถุ เข้าใจอะไรต่าง ๆ พอเห็นแล้ว หลวงพ่อก็แนะให้ดูความคิด ให้ดูข้ามปรมัตถ์ วัตถุอะไรต่าง ๆ มันจะมีอารมณ์เปลี่ยนอีก มีอารมณ์รับรู้เปลี่ยนอีก เราจะเห็น เห็นโลภะ เห็นโทสะ เห็นโมหะ หลังจากนั้นมันเปลี่ยนไปเลย มันรู้ มันเห็น มันเข้าใจไปตามขั้นตอนของมัน เรื่องเจ็บ เรื่องตาย เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องทำบุญ ทำดี ทำแล้วเป็นอะไร ทำบุญด้วยกาย ด้วยวาจา แต่อาตมาไม่ได้รู้ไปแบบหลวงพ่อท่านรู้ บางทีหลวงพ่อท่านรู้เป็นขั้นเป็นตอนไป แต่อาตมาเข้าใจอีกแบบ
ตอนจิตใจเปลี่ยนครั้งที่สามนี้ไม่นาน มันเปลี่ยนไปเลย พอเห็นปรมัตถ์ เห็นวัตถุ เห็นอาการ ในขณะนั้นเห็น โมหะ โลภะ โทสะ แล้วก็เห็นไปเรื่อย ๆ เห็นศีล เห็นพวกกาม เห็นไปเรื่อย ๆ จนรู้หมด จึงไปเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร อาตมาอยู่คนเดียว ทำอยู่คนเดียว ไม่พูด ไม่คุย
มีอยู่วันหนึ่ง หลวงพ่อท่านอบรม ท่านพูดไปตั้งแต่ต้น เรานั่งฟังเอ๊ะ ! ทำไมมันไปตรงกับที่เราเห็น เมื่ออบรมเสร็จ อาตมาก็เข้าไปคุยกับหลวงพ่อไม่กี่คำหรอก.
ตั้งแต่นั้น สำหรับอาตมาใครจะพูดอะไร จะว่าอะไร ใครจะสอนอะไร อาตมามั่นใจว่า วิธีการที่ทำกับหลวงพ่อ ที่หลวงพ่อสอน เป็นวิธีที่ลัด เป็นวิธีที่ตรง เป็นวิธีที่ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีรีตองอะไร คนจะได้ในสิ่งที่เขาได้ มันไม่ได้เกี่ยวกัน มาปฏิบัติอย่างนี้ เรื่องมรรคผล นิพพานที่เรากำลังสงสัย ที่เรากำลังวิ่งวุ่นแสวงหา กำลังขวนขวายหากันอยู่นี่ มันไม่ได้เกี่ยวกับการเรียน เรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้ อันนี้มันคนละอย่าง อาตมาก็เลยมั่นใจ
นับตั้งแต่แยกไปปฏิบัติคนเดียว รวมระยะเวลาแล้วประมาณ 1 เดือนกับ 20 วัน จากเปลือกถึงแก่น ในวันสุดท้ายนี้ อาตมากำลังนั่ง ส่วนใหญ่อาตมานั่ง เดินก็มีบ้าง นั่งสร้างจังหวะคล้าย ๆ กับตัวเรานี่มันหมด มันอะไรไป แต่สติเรายังดี เรายังมีความรู้สึกอยู่ อาตมาคิดคนเดียวนะ
เราบ้าหรือเปล่า
เออ ! คงไม่เป็นหรอกน่า ตาเราก็ยังดู หูเราก็ยังได้ยิน การไปการมาเราก็ยังรู้ เราไม่เป็นบ้าหรอกนะ ทำไมเป็นอย่างนี้นะ
ตอนนั้นมันยังไม่รู้ พอรู้แล้ว เอ้อ...อันนี้มันไม่ผิด พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้จริง ๆ
ก็ไปคุยกับหลวงพ่อ ท่านบอก เอ้อ...อย่างนั้น ๆ แล้วท่านก็บอกว่าชาติสิ้น ภพสิ้น พรหมจรรย์จบแล้ว
เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยพูด พระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียว พระพุทธเจ้าฆ่าคน แต่เราส่วนใหญ่ไม่เข้าใจบุคลาธิษฐาน รู้ว่าตัดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่รู้ว่าตัดอะไร แต่พอเรามีประสบการณ์ จึงว่า อ้อ...อันนี้มันเป็นอย่างนี้เอง อันนั้นมันเป็นอีกอย่าง คุยกับหลวงพ่อก็ไม่ได้คุยอะไรมาก พอรู้อย่างนี้ท่านก็ปล่อยเลย
ในช่วงสุดท้ายนี่อาตมาดูความคิด ดูความคิดดูจิตใจของเรามันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เป็นพัก เป็นพัก เป็นขั้นเป็นตอน แต่มันต้องมีอารมณ์รับรู้ ถ้าเรารู้โดยไม่มีอารมณ์รับรู้ รู้ลอย ๆ แสดงว่ามันไม่ถูกต้องยังผิด ต้องมีอารมณ์รับรู้ไปเรื่อย ๆ เห็นไปเรื่อย ๆ เรื่องศีลสิกขาอะไรนี่ มันรู้มันเข้าใจไปหมด อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เรื่องทุกอย่างมันรู้ไปหมด แต่อาตมาพูดอย่างหลวงพ่อไม่เป็น หลวงพ่อท่านพูดต้องเป็นอย่างนั้น ๆ แต่อาตมาเห็นคล้าย ๆ ว่ามันหลุดไปเลย แต่หลวงพ่อท่านก็เป็นอีกแบบ เป็นตอน เป็นตอนไป อาตมาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ทั้งหมดจิตใจเปลี่ยน 5 ครั้ง มันเร็ว มันเห็น พอดีไปถึงสุดท้าย ไปรู้ อาการเกิด-ดับ ที่หลวงพ่อเคยพูด ที่เขาพูดว่า ตามันเห็นรูป มันเกิด มันดับ มันได้ยินเสียง มันเกิด มันดับ กายสัมผัสแล้วมันเกิด มันดับ อันนั้นมันในตำรา ใคร ๆ ก็พูดได้ อันนี้มันไม่เกี่ยว มันอีกแบบหนึ่ง
อาตมาจึงกล้ายืนยัน ถ้าหลวงพ่อเสียไป อาตมาก็กล้ายืนยันว่า หลักการของท่าน วิธีการของท่าน ถ้าเราทำจริง ๆ ปฏิบัติจริง ๆ จะเป็นใครก็ได้ บวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ ไม่เกี่ยวกับบารมี ไม่เกี่ยวกับวาสนา ไม่เกี่ยวกับอะไรทุกอย่างเลย มันคนละเรื่องกันเลย มันเป็นอย่างนี้เอง
การฝึกแบบอุกฤษฏ์ ให้รู้สึกตัวนี้เป็นเพียงคำพูด มันเป็นการเก็บตัว ไม่พูดไม่จา ไม่พูดคุยกับใคร อยู่คนเดียวในกุฏิ การทำความรู้สึกตัวจึงจะต่อเนื่อง อันนั้นเป็นการปฏิบัติภายนอกให้คนมองเห็น แต่ว่าความรู้สึกภายในจริง ๆ แล้ว ถ้ามันต่อเนื่อง ถึงจะไม่ได้อยู่คนเดียว มันก็เป็นอุกฤษฏ์เหมือนกันนะ แต่มันก็ยากเหมือนกันนะ ทำให้ติดต่อกันตลอดอย่างนี้มันอาจจะเป็นได้ยาก แต่ถ้ามันเป็นได้ มันก็เป็นอุกฤษฏ์เหมือนกัน แต่ผู้ที่ทำไม่ยาก มันก็เป็นไม่ยาก อยู่ไหนก็ได้ ใน 100 คน อาจจะมีสักคนหรือ 10 คนก็ได้ ตอนทำใหม่ ๆ นี่ลำบากเหมือนกัน ความรู้สึกนี้มันก็ยังจับไม่ได้ ความคิดมันมาก มันยังสู้ความคิดไม่ได้ ความรู้สึกนี้มันน้อย พอทำไปนาน ๆ แล้ว ความรู้สึกมันก็ค่อยมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ใหม่ ๆ บางทีมันถอยเลย ความรู้สึกตัวเกิดยาก
ตอนที่ฝึกกับหลวงพ่อตอนแรกนั้น ก็ออกมาเดินนอกกุฏิบ้างเหมือนกัน พอตอนช่วงท้าย ๆ ตอนมาเก็บอารมณ์คนเดียวนั้น ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในห้องกุฏิ ไม่ออกมา การฝึกก็ใช้อิริยาบถเดินมากกว่านั่ง วันหนึ่งในขณะที่นั่งทำความรู้สึก นั่งทำความเคลื่อนไหว นั่งกำหนดอยู่ ในขณะนั้นคล้าย ๆ ว่า มันเร็วมาก คล้าย ๆ มันเพียงแว่บเดียว มันไว เหมือนกับฟ้าแลบลงมา สมมติถ้าเอาคำพูดของหลวงพ่อมาพูด ก็เรียกว่า ธรรมะอึดใจเดียว
ในช่วงนั้นคล้าย ๆ เรามีอะไรหนัก ๆ อยู่นี่ แล้วเราถอดออกไป เราโยนทิ้งออกไป ตัวของเรามันเบา เรารู้ว่ามันเบา เพราะเราไม่เคยสัมผัสมาก่อน เราไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน เรารู้สึกว่ามันแตกต่างกัน แต่สติมันมี ตัวสติมันอยู่ มันไม่ออกไป มันรู้เลยว่าเบาไป สติอันนี้ก็จะคงที่อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งการหลับก็รู้
การเจริญสติ อันนี้ ถ้าสมบูรณ์ดีแล้ว ความฝันเวลาหลับก็จะน้อยลง ๆ หรือบางทีอาจจะไม่มีเลยก็ได้ ธรรมดาคนเราความคิดมันมาก แต่ถ้าเราเจริญสติไป ๆ ความคิดมันก็น้อยลง ๆ ในตำราเขาว่า พระอริยเจ้าหรือผู้รู้ผู้มีสติปัญญาแล้วไม่ฝัน เขาว่า อันนี้เราเอาตำรามาพูด เหมือนกับกลางวันฝันกลางคืนคิด ในฝันนั้นก็รู้ คือคล้าย ๆ กับความคิดนี่ เรารู้เราเห็น เราเข้าใจอันนี้เราจึงรู้ในขณะที่มันฝัน
การเจริญสติโดยการยกมือไปมานี้ ถ้าเราไม่สะดวกที่จะยกมือ เราก็จับการเคลื่อนไหวอย่างอื่น เช่นพริบตา หายใจ อะไรก็ได้ มันทำได้หลายวิธี มันเป็นสากล เอาไปประยุกต์ใช้กับหน้าที่การงานได้ แต่ที่สำคัญคือให้รู้ รู้ในขณะนั้น รู้ในตัวเรานี้เอง เราเคลื่อนไหว เราจะจับเอาที่ไหน จะจับอะไรให้รู้อย่างนั้น เราต้องเอาที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง ถ้าเราไม่มีจุดใดจุดหนึ่ง มันจับไม่ถูก ไอ้ตัวรู้นี้สำคัญที่สุด ถ้าจับที่ใดที่หนึ่งแล้ว ส่วนอื่นเคลื่อนไหวก็ต้องรู้อยู่ดี เพราะมันสัมพันธ์กัน หากเกิดภายใน ถ้าทำงานแล้วมันรู้ ถ้าเป็นไฟฟ้าเปิดแล้วมันก็พรึ่บไปเลย มันทำงานพร้อมกันไปเลย มันโยงกันนะ คล้าย ๆ เชือก ถ้าเราตัดอันนี้ มันกระตุกหมดเลย
เราควรฝึกจิตของเราให้อยู่กับความรู้สึก ดูความคิดของเรา มันจะคิดก็ช่างมัน ไม่ใช่ว่าไม่ให้คิด คิด แต่ก็ต้องให้ดูมันนะ เป็นผู้ดูอย่างเดียว ให้เราดูไปเรื่อย ๆ แล้วก็ปล่อย พยายามฝึกอย่างนี้ไป มันจะค่อย ๆ เลื่อนไป ๆ จนถึงจุดนั้น
อันธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด จะเกิดก็เพราะเหตุ จะดับก็เพราะเหตุ พระเราก็สอนกัน แต่เราไม่รู้เหตุของมันเลย พระท่านสอนกัน “เหตุปจฺจโย อารมณปจฺจโย อธิปติปจฺจโย” มันหมดเหตุ หมดปัจจัย ไปไหนก็ไม่รู้ ไม่มีใครตามเห็นสักคน รู้ก็ตามไม่เห็น ไม่รู้ก็ตามไม่เห็น ตรงนี้ถ้าเราบอกว่าจบ อันนี้ไม่ได้นะ คนไม่รู้เลย อันนี้คล้าย ๆ กับเป็นการส่งเสริมให้คนทำชั่วมากขึ้น เป็นการทำความเข้าใจผิดให้กับบุคคลที่ยังไม่เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก ฉะนั้นอุบายในการสอนนี้มันจึงแยบคาย อย่างที่เราคุยกัน
หลวงพ่อท่านพูดว่า ไม่มีการไป ไม่มีการมา ก็พูดได้แค่นี้แหละ เราจะบอกว่าตายแล้วไม่เกิด มันหมดเรื่องกันเท่านั้นเอง คนก็ไม่ทำอะไรเท่านั้นเอง เขาว่ามันเป็นมิจฉาทิฐิ คนทำดีไม่ได้ดี ทำบุญไม่ได้บุญ นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี เป็นคำสอนผิด ไม่มีการไป ไม่มีการมา ให้คิดเอาเอง คิดได้ก็ได้ คิดไม่ได้ก็ไม่ได้ หรือศึกษาเอาเอง ให้รู้เองเป็นเอง หรือว่าให้รู้เอง เห็นเองจะดีกว่า คนอื่นเขาจะพูดอะไรก็ช่างเขา แต่ให้เรารู้เองเป็นเองดีกว่า สบายใจ
เรามีอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เราก็สบาย เขาอยากไปเกิดก็ให้เขาไปเกิดกัน เราไม่ไปไหนมาไหน เราอยู่ที่นี่ จริง ๆ แล้วคนเราถ้าเข้าใจเรื่องการจะหมดชีวิตจริง ๆ แล้วมันสบาย ทุกอย่างมันทำง่าย สบาย
แต่เดี๋ยวนี้คนเรานี้ ไม่เข้าใจ ก็ทำด้วยความไม่เข้าใจ ทำแบบไม่รู้ ถ้าทำแบบผู้รู้ก็ทำอีกแบบหนึ่ง ผู้รู้มันมี แต่ผู้ที่ไม่รู้ ถึงทำอยู่ก็ยังไม่รู้ ทำอยู่ก็ยังไม่แน่ใจ แล้วก็ไม่มั่นใจอีกด้วย แต่ผู้รู้แล้วยังไงก็มั่นใจ ทำก็มั่นใจ ไม่ทำก็มั่นใจ เพราะรู้แล้วนี่ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ มันง่าย ๆ
จริงแล้ว พระพุทธเจ้าสอนให้ทำง่าย ๆ ถ้าเราไปถึงจุดนั้นจริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนง่าย ๆ จนไม่มีอะไรที่จะพูดเลย หรือจนไม่มีอะไรที่จะสอนกันเลย จะให้เอาอะไร ไม่มีอะไรที่จะเอา พูดง่าย ๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้หยุดใช่ไหม ท่านสอนคน สอนให้หยุดนี่ แต่คนเราไม่หยุด ไม่ยอมหยุด ถ้าหยุดแล้วมันก็หมด ไม่มีอะไร แต่ร่างกายก็ยังไปได้อยู่ ยังทานอาหาร ยังทำหน้าที่ปฏิบัติอะไรต่ออะไรได้อยู่ ร่างกายก็ยังเคลื่อนไหว แต่ภายในมันนิ่งอยู่ มันไม่เอาแล้วใช่ไหม มันเย็นแล้ว มันหยุดแล้ว มันพอแล้ว เราจะบอกว่ามรรคผลนิพพานก็ได้ อะไรก็ได้ ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ไม่มีการแก่ ไม่มีการเจ็บ ไม่มีการไป ไม่มีการมา มันเป็นคำสมมุติคำพูดมันกว้างออก ขยายออกไป
ฉะนั้นขอให้พวกเราทั้งหลายจงฝึกให้เป็น เตรียมพร้อมไว้ก่อน พยายามทำสิ่งที่มันมีอยู่แล้วให้ปรากฏออกมาเสียก่อน เมื่อถึงเวลาที่มันจะหมดลมหายใจจริง ๆ มันก็จะง่ายจริง ๆ
ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
หลวงพ่อเพียร อตฺตปุญฺโญ
วัดป่าสันติสุขวนาราม จังหวัดเลย
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์
หลวงพ่อกับ พระอาจารย์ทอง อาภากโร, หลวงพ่อเพียร อตฺตปุญฺโญ, พระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ และพระอาจารย์บุญธรรม อุตฺตมธมฺโม
อาตมาเกิดประมาณ พ.ศ. 2448 ที่ป้านปากชม จังหวัดเลย บิดาชื่อจันทร์อ้วน พุทธทองศรี มารดาชื่อกี มีพี่น้อง 5 คน อาตมาเป็นคนโต ได้บวชเมื่ออายุ 20 กว่าปี ในขณะนั้นหลวงพ่อเทียนยังเป็นเณร และมาเรียนปริยัติกับอาตมา อาตมาบวชได้ 2 พรรษา แล้วก็สึกออกมา หลังจากนั้นมีครอบครัว มีภรรยาชื่อคัมภีร์ และมีบุตรชาย 4 คน บุตรสาว 1 คน จนอายุได้ 50 กว่าปี จึงได้ข่าวว่าอุบาสกพันธ์ อินทผิว มาเปิดสอนธรรมะที่บ้านบุฮม
อาตมาในขณะนั้นเป็นฆราวาสอยู่ สนใจ จึงมาปฏิบัติธรรมกับท่าน ตอนนั้นใช้เวลาประมาณ 8 วัน จึงเข้าใจรูปนาม เห็นรูป เห็นนาม ก็เห็นทุกข์ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา อันนี้เห็นมันเกิด มันดับ นี่แหละอันนี้ก็มาเห็นความคิด ก็เห็นสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
หลังจากนั้นได้บวชเมื่อปี พ.ศ. 2504 และปฏิบัติต่อไป ท่านก็แนะแนวทางให้ ก็เห็นปรมัตถ์ เมื่อหมดอารมณ์ปรมัตถ์ ให้ดูศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ก็ดำเนินไปจนเห็นศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ อันนี้
ศีลอันนี้มันเป็นศีลของมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่ศีลสมมตินี้ อันศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 อันนี้ เป็นศีลสมมุติอยู่ในโลก เมื่อเห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา แล้วก็เห็นอาสวะกิเลส มันตัดเลย ทิ้ง กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ มันพ้นหมด พ้นจากอวิชชา ถึงที่สุดของทุกข์ หลังจากที่ปฏิบัติมาราว 10 ปี ตอนนั้นอาตมามีความรู้สึกต่อหลวงพ่อว่าเป็นครู เป็นพ่อ เป็นผู้ให้กำเนิดอาตมาในทางธรรม และอาตมามีความมั่นใจว่า สิ่งที่ได้พบนี้คือพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แน่นอนเป็นอย่างนั้นนะ ครบหลักสูตร มันเห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ เห็นทางไปสู่ความดับทุกข์ เป็นแบบนั้น อันนี้แนวทางมัชฌิมาปฏิปทา อันนี้ท่านพูดเป็นหลักสูตร เราต้องทำไปอย่างนั้น การปฏิบัติก็ไม่มีอะไรมาก มีการสร้างจังหวะ แล้วก็มีสติปัฎฐานสี่ ดูกาย เวทนา จิต ธรรม ดูกายเคลื่อนไหว ให้เห็นภายในกาย ดูเวทนา ให้เห็นเวทนาในเวทนา ดูจิตให้เห็นจิตในจิต ดูธรรม ให้เห็นธรรมในธรรม สี่อย่างนี้เอาให้ได้ ได้หลักสี่นี้แล้ว ครั้นตั้งใจจริง ๆ เป็นได้ เข้าถึงได้
การทำต่อเนื่องตลอด มันพอเวลาใด มันเกิดเวลานั้น นั่นคือเป็นสันทิฏฐิโก ผู้ศึกษาและผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ใช่คิด ไม่ใช่เดาไม่ใช่คาดคะเน มันรู้เองนะ รู้เองจากความรู้อันนี้เท่านั้น มันมีอยู่แล้ว รู้อย่างพุทธะผู้รู้ รู้อย่างนี่ เห็นอันนี้ เข้าใจอันนี้
การปฏิบัตินี้ ต้องมีศรัทธาเป็นพืช มีความเพียรเป็นน้ำฝน มีหิริเป็นแอกและคันไถ มีใจเป็นเชือก มีสติเป็นผาลและปฏัก และมีนาคือบุคคลไถแล้ว ผาลคือทาง คือความเชื่อ ศรัทธาคือความเชื่อ วิริยะคือความเพียร สันติคืออดกลั้น แต่คนเรามันไม่อด มันมีเหตุขึ้นมาแล้ว มันโกรธขึ้นมา มันถอนไม่ออก การปฏิบัติต้องทำจริง มันถึงจะรู้ของจริง ไม่ใช่ของเล่น เป็นของจริง เอหิปสฺสิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวให้ผู้อื่นทำตามได้ ถ่ายทอดให้ผู้อื่นฟังได้ มันเป็นอย่างนี้แหละของจริง หากผู้ใดมีศรัทธา เขาจะมาเห็นอันนี้ หากไม่มีศรัทธา มันก็ไม่เห็นนะ ผู้ใดก็ทำได้ ผู้ชายก็ทำได้ ผู้หญิงก็ทำได้ ท่านจึงว่าพี่น้องกันเกิดร่วมท้องเดียวกัน ก็ทำได้เหมือนกัน ถ้าฝึกทุก ๆ วัน เหมือนเสืออยู่ในป่า
ธรรมของจริงก็มีอยู่ในตัวเรานี้แหละ จะไปหานอกตัวไม่ได้ ไม่มีจริง ๆ ครั้นหาในตัว ในตัวรู้นี้ มันมีจริง ๆ อย่าขี้เกียจทำ เอาขี้เกียจทิ้งซะ เอาทิ้ง มันก็ทิ้งได้ พวกเราอย่างประมาท ความประมาทเป็นบ่อเกิดแห่งความตาย ต้องเอาขันติ อดเอา พยายามเพียร เพียรปฏิบัติ ต้องทำเรื่อย ๆ นั่งก็ไม่หยด ดูมันนะ นอนก็ดูมันนะ ยืนก็ดูมันนะ เดินก็ดูมันนะ ดูเรื่อย ๆ หากเราเห็น เราก็ทันมัน หากไม่เห็น มันก็ไม่ทัน ให้มันทัน มันก็ทันความคิดนะ ความคิดพาให้เป็นทุกข์ พาให้ขี้เกียจ ทุกคนทุกข์เพราะความคิดทั้งนั้น เอาความรู้อันนี้แก้มัน มันคิดออกไปก็ไม่ไปกับมัน ให้มันไป แต่เราอย่าไปนะ ดูความรู้ให้มันกลับมา ตั้งสติให้มันรู้ อย่าไปหลงกับมัน ครั้นหลงไปแล้ว มันจะต่อเนื่องกันไปเลย คิดแล้วก็คิดอีก เป็นเรื่องเป็นราว อันนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์แล้วนะ ครั้นคิดก็ทุกข์ ครั้นดับได้เป็นสุข เป็นอย่างนั้น นี่แหละหลักปฏิบัติ
ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
พระอาจารย์สงคราม ธมฺมวโร
ป่าช้ากิ่งอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม
ประวัติย่อ ๆ ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ
มีเพื่อนพระรูปหนึ่ง บอกเล่าให้ฟังว่า มีหลวงตารูปหนึ่ง ปฏิบัติธรรมด้วยวิธีที่แปลกจากสายอื่น โดยการยกมือเคลื่อนไหวไปมาแบบวิธีธรรมชาติ ไม่ให้อยู่เฉย ๆ เดินก็ให้เดินแบบธรรมดา ๆ ง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่มีพิธีรีตองมาก แต่ก็เน้นที่จิตใจเป็นสำคัญ เมื่อสมัยก่อนฟังแล้วรู้สึกเฉย ๆ ไม่มีจุดสนใจอะไรมากนัก ขณะนั้นยังเป็นพระบ้านอยู่
เมื่อประมาณปี 2516-2517 ได้มีโอกาสมาร่วมปฏิบัติธรรมกับพระวิปัสสนาจารย์ที่วัดกระโจมทองจัดขึ้น ตรงกันข้ามกับวัดสนามในปัจจุบัน ได้พบเห็นหลวงพ่อเทียนครั้งแรก ตอนนั้นมีเพื่อนพระชี้บอกให้ดูกิริยาอาการของท่าน ระหว่างพบใหม่ ๆ ก็เหมือนหลวงตาทั่วไป ในความรู้สึกส่วนตัวครั้งนั้น ในช่วงนั้นไม่เหมือนปัจจุบันนี้ ท่านไม่มีบทบาทชื่อเสียงในการเผยแพร่เหมือนสมัยนี้ เทป หนังสือธรรมะของท่านไม่มากนัก ผู้แสวงหาสัจธรรมก็ไม่รู้จักท่าน อาตมาได้เพียงแต่แอบมองท่านห่าง ๆ ปิดอบรมแล้วก็จากกันไป
เมื่อกลางปี พ.ศ. 2522 พรรษาที่ 17 ของการบวช ได้มาพบหลวงพ่ออีกเป็นครั้งที่ 2 ที่วัดป่าหลังเขา บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยเริ่มศรัทธาเลื่อมใสสนใจในการปฏิบัติจริงบ้างแล้ว จังหวะเหมาะกับท่านเปิดอบรมที่นั่นพอดี มีผู้ปฏิบัติเก่าและใหม่ไปร่วมหลายคน ความรู้สึกส่วนตัวซึ่งมีต่อหลวงพ่อขณะนั้นรู้สึกเฉย ๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ไปกว่าพระอื่น ๆ ในวัดอื่น ๆ จะมีก็เพียงรูปแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ พูดให้ฟังบ่อย ๆ กว่าที่อื่นก็เท่านั้น ฟังก็เอาแต่หูเนื้อฟัง ไม่ได้เอาใจฟังเหมือนเดี๋ยวนี้ การดูก็เช่นเดียวกันใช้แต่ตานอก มองออกนอกตัวอยู่ตลอด ไม่ค่อยได้สนใจมองย้อนกลับเข้ามาดูตัวเองเลย เท่าที่สังเกต จึงมีแต่ความทุกข์ความสับสนไม่เห็นคุณค่าส่วนในของผู้มีธรรม
ประวัติส่วนตัวหลวงพ่อ ตั้งแต่พบเห็นครั้งแรก ช่วงกลางและครั้งสุดท้ายถึงปัจจุบัน ท่านจะปฏิบัติสม่ำเสมอมาตลอด ขณะไหน เมื่อใด ได้พบเห็นหลวงพ่อ รู้สึกว่ามีความละอายต่อตัวเอง ต่อปฏิปทาของท่านที่แสดงออกให้เราเห็น ชีวิตประจำวันของท่าน จะเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เท่าที่อยู่เป็นประจำ ส่วนประวัติละเอียดนั้น ท่านเคยเล่าให้ฟังบ้างเป็นครั้งคราว
สมัยก่อน ๆ ท่านบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุ11 ปี เคยทำกรรมฐานกับพระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิด โดยไปเรียนคาถาอาคมหลายอย่าง บรรยายธรรมบางครั้ง ท่านก็นำเอาประวัติประสบการณ์มาเล่าสู่ผู้ปฏิบัติฟัง เรื่องการทำบุญให้ทานรักษาศีล ตามประเพณีที่เคยกระทำ รวมทั้งการสร้างโบสถ์ก็เคยทำมาแล้ว ว่าได้บุญมากเป็นพิเศษ ครั้งสุดท้ายได้มาเจริญสติแบบการเคลื่อนไหว ได้เข้าใจสัจธรรม เข้าใจรูป-นามตามความเป็นจริงมั่นใจในสัจธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างหายสงสัย กล้ารับรอง ท้าทายให้ผู้สนใจศรัทธาพิสูจน์อยู่เป็นประจำเรื่อยมา จะมีผู้สนใจแสวงหาสัจธรรมมาปฏิบัติกับท่านอยู่เสมอเป็นประจำไม่ได้ขาด ระยะหลังมีผู้รู้ตามเห็นตามกันมาก ที่เขียนมานี้ไม่ละเอียดนัก เป็นแต่ได้รู้เห็น อยู่ร่วมช่วงเวลาสั้นและน้อย
กิจวัตรประจำวันของท่าน สมัยก่อนเคยจำพรรษาปฏิบัติอยู่ร่วมกันกับท่าน อายุท่านยังไม่มาก ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ ตื่นเช้ามา ก่อนทำวัตร จะเห็นท่านปรารภความเพียร เดินจงกรมเป็นประจำไม่ได้ขาดทุกวัน จะสอนโดยการปฏิบัติให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นส่วนมาก เป็นพระผู้เฒ่าที่ขยันอยู่เฉย ๆ ไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นส่วนร่างกายหรือจิตใจ ต้องหางานทำอยู่ตลอดทั้งวัน ได้เวลาก็จะทำวัตรไม่ได้ขาด ทำวัตรแปลจบ ก็จะมีการบรรยายธรรมภาคปฏิบัติทุกวัน เช้าเย็น เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ปฏิบัติเกิดศรัทธา มีกำลังใจในการศึกษาปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป การฉันอาหาร ไปไหนมาไหน เข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติธรรมหมด เข้าใจว่าเป็นการสอนธรรมะแก่ผู้พบเห็นตลอด อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัว กิจวัตรประจำวันอื่นก็เหมือนกับพระอื่น จะต่างกันอยู่ตรงที่ว่าท่านมีสติรู้สึกตัวต่อเนื่องเป็นระยะยาวนานต่างกันเท่านั้น
ความประทับใจเกี่ยวกับหลวงพ่อที่เคยอยู่ร่วมกันที่เห็นได้เด่นชัดคือ ท่านจะอยู่อย่างไม่มีทุกข์ อยู่อย่างอิสระทางด้านจิตใจมากที่สุด จะอยู่ไหน ไปไหน ที่อยู่ไปอย่างสบาย ควบคุมความรู้สึกได้ดีมาก ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถน้อยใหญ่ ยืน เดิน นั่ง นอน จะปฏิบัติอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลายมาตลอด จะพูดน้อย พูดในสิ่งที่จำเป็นเป็นสาระเท่านั้น ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะตั้งแต่เริ่มเห็นมา เมื่อมีธุระจำเป็นจะไปพบกับใครก็พูดเฉพาะเรื่องที่ต้องการเท่านั้น มีความพร้อมเรื่องสติ รู้สึกตัวอยู่เสมอ
สิ่งที่ประทับใจที่สุด ก็คือ อ่านหนังสือไม่ค่อยออก เขียนไม่ชำนาญ แต่สามารถเข้าใจสัจธรรมได้อย่างละเอียดลุ่มลึก เข้าใจว่า ที่ท่านค้นพบเกิดจากการขยันหมั่นเพียรพยายาม ด้วยการใช้ภาวนาให้ปัญญาเกิด เจริญสติแบบการเคลื่อนไหวนี้แน่ ซึ่งท่านเน้นอยู่ สอนอยู่เป็นประจำ เรื่องความประทับใจส่วนอื่น ๆ ยังมีอยู่อีกมาก
การเผยแพร่ธรรมะของท่าน เท่าที่เห็นไม่มีอุปกรณ์ เอากาย-ใจเป็นอุปกรณ์จะเน้นเรื่อรูป-นามเป็นหลัก จะพูดให้ฟังบ่อย ๆ เป็นประจำ เช้า-กลางวัน-เย็น ตลอดมา ถ้าอยู่ประจำไม่ได้ไปไหน ไม่ได้อยู่เฉย ได้บทเรียนภาคปฏิบัติโตยเฉพาะ มุ่งให้เกิดสติปัญญา เอามาดับทุกข์ ดับร้อนได้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ ยังได้บทเรียนพิเศษอยู่เสมอ ได้นำการเจริญสติวิธีนี้ไปประยุกต์กับการกับงานได้โดยไม่ขัดข้อง
นอกจากบรรยายธรรมเป็นประจำแล้ว ยังติดตามถามผลของการปฏิบัติ สำหรับผู้ปฏิบัติติดต่อด้วย บางครั้งก็ให้ผู้มีศรัทธาปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ต่อเนื่องเป็นระยะหลายวันก็มี เรียกว่า เก็บอารมณ์ ท่านทำให้ดูอยู่ให้เห็นเป็นส่วนมาก บางโอกาสก็ไปเปิดอบรมตามต่างจังหวัดครั้งละ 5 วัน 7 วัน ตามแต่ความเหมาะสมแต่ละสถานที่
ผลของการปฏิบัติส่วนตัว มีความรู้สึกว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจอยู่มาก คิดว่าได้พบชีวิตใหม่ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง สบายใจหายสงสัยสิ่งที่เคยสงสัย เห็นที่เกิดของความกลัว ความทุกข์ร้อนทางด้านจิตใจ เข้าใจชีวิตขึ้นมาก คิดว่าไม่เกิดมาเสียชาติ ที่ได้พบวิธีเข้าถึงสัจธรรมในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐอัศจรรย์จริง ๆ สมกับผู้รู้ตรัสว่า เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ขอรับรองว่าเป็นเรื่องจริง ถ้ามีการปฏิบัติจริง ๆ ต้องรู้จริง เห็นจริง ดับทุกข์ร้อนทางด้านจิตใจได้จริง ๆ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม
ความทะยานอยากเป็นต้นเหตุให้มนุษย์เรามีการแสวงหา แสวงหาไปตามสติปัญญา ฐานะหน้าที่ของตนหรือสัญชาติญาณของสัตว์โลก สัตว์สี่เท้า สองเท้า เลื้อยคลาน ก็มีการท่องเที่ยวหาเหมือนกับมนุษย์ แต่มนุษย์เรามีแนวความคิดมาก สติปัญญาฉลาด สามารถหาสิ่งที่ต้องการได้มากกว่าเพราะความรักชีวิตจิตใจตัวเองทั้งมนุษย์และสัตว์ทุกชนิด เพื่อความอยู่รอดของชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาของสรรพสัตว์ จะผิดธรรมดาอยู่ตรงที่ว่า หาได้เท่าไรก็ไม่พอ กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม อิ่มไม่เป็น ไม่รู้จักพอ เรื่องนี้สำคัญมาก อยากไม่มีขอบเขต อยากไม่ได้ควบคุม ตัณหาพาไปให้เกิดทุกข์ ความไม่รู้หรือรู้ไม่ทันทุกข์โทษของความอยาก ก็เป็นชนวนให้เกิดความอยาก มันเกาะเกี่ยวกันอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นสามารถบันดาลให้ผู้เขียนกลับใจเข้ามาศึกษาธรรมภาคปฏิบัติ
ส่วนประสบการณ์การปฏิบัติที่ได้พบ เห็น รู้ เป็นที่แปลกใจน่าอัศจรรย์อยู่มากเอาทีเดียว เรื่องจริงนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อหรือสัมผัสกันได้ด้วยวัตถุภายนอก ในขณะที่อยู่ปฏิบัติกับหลวงพ่อนั้น ท่านช่วยอนุเคราะห์ชี้แนะแนวทางให้ถึงวิธีอุบายการเจริญสติแบบการเคลื่อนไหว
ใหม่ ๆ รู้สึกจะยากอยู่ไม่น้อย เพราะไม่เข้าใจเรื่องภาษาใจด้านในที่หลวงพ่อท่านใช้อยู่ประจำ ไม่คุ้นเคยกับสำเนียงของท่านด้วย ถูกความไม่รู้ห่อหุ้มใจมาตลอดเวลาอันยาวนานหลายปี กว่าจะได้เข้ามาทางนี้ ท่านจะสอนเป็นกลุ่มมาก ๆ รวมกัน ตอนทำวัตรเช้าเย็นเสร็จ บางโอกาสท่านสอนหลังจากฉันเข้า-เพลอีก เป็นการเน้น ย้ำเตือนให้ผู้ปฏิบัติเกิดกำลังใจศรัทธา
คำสอนที่ท่านพยายามย้ำแล้วย้ำอีกคือ ให้เข้าใจเรื่องรูป-นาม เป็นประจำ ให้ทำความรู้สึกตัวอยู่บ่อย ๆ ถ้าผู้ใดปฏิบัติติดต่อกันดี มีความขยันในการปฏิบัติ ท่านก็จะติดตามอย่างใกล้ชิด ท่านตั้งใจสอน มุ่งหวังที่จะให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจสัจธรรมอย่างแท้จริง ต้องการให้ผู้สนใจเกิดสติปัญญา แก้ปัญหาชีวิตได้ ดับทุกข์ดับร้อนในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ
ท่านใช้ความเพียรพยายามเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่เริ่มเห็นท่านมา ไม่ลดละความเพียรพยายาม ขยันพูดธรรมะ รับแขก ตอบปัญหาผู้สนใจมาถามอยู่เป็นประจำ ส่วนผู้ปฏิบัติตามท่านอาศัยการฟังจากการสอน แล้วก็ปฏิบัติควบคู่กันไป หลายวันหลายเวลาเข้า จิตใจที่เคยคิดถึงอดีต วกวนอยู่กับอนาคตอยู่เป็นประจำก็ค่อย ๆ ถูกลืม เริ่มรู้สึกตัวเป็นปัจจุบันขึ้นตามลำดับ จิตใจก็มาคิดถึงคำสอนอยู่เรื่อย จะทำจะพูดก็ดี จิตจะคิดถึงคำสอนอยู่เป็นประจำ เป็นการกระตุ้นเตือนอย่างดี
การฟังบ่อย ๆ แล้วก็ทำตามคำสอน ผลก็เริ่มปรากขึ้นแบบที่ผู้ปฏิบัติไม่สึกตัว ยอมรับความจริงจากการสอนมากขึ้น บางครั้งก็คัดค้านคำสอนอยู่ในใจ โต้เถียงคัดค้านอยู่หลายครั้งเมื่อเริ่มปฏิบัติ บางครั้งก็วิพากษ์วิจารณ์คำสอนไปต่าง ๆ นานาก็มี มาสังเกตดูในช่วงหลังจึงได้รู้ว่า ตัวทิฐิ มานะ ยังไม่ลด
ระหว่างปีที่ปฏิบัติอยู่ งานด้านนอกไม่มี มีการปฏิบัติอย่างเดียว ระยะนั้นสุขภาพหลวงพ่อยังแข็งแรงดี โรคเบียดเบียนน้อย นอกจาการพูดให้ฟังแล้ว ท่านยังปรารภความเพียรเป็นตัวอย่างให้ดูเป็นประจำทุก ๆ วันอยู่หน้ากุฏิ พาให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังใจ ไม่ใช่พูดสอนเฉย ๆ เป็นการสอนโดยทำให้ดู อยู่ให้เห็น รู้สึกว่าได้รับความอบอุ่นใจ มีกำลังใจขณะที่ได้เห็น ได้อยู่ใกล้ท่าน ผู้รู้
ปีนั้นผู้ปฏิบัติล้วนแต่มีศรัทธาเลื่อมใสมุ่งปฏิบัติกันจริงเป็นส่วนมาก อุปสรรคในการอยู่ร่วมกันไม่ค่อยมี อยู่ปฏิบัติต่อมาหลายวัน เป็นแรมเดือน ความเกิดจากการฟัง คิด ผลของการปฏิบัติภาวนาก็ตามมา จนกระทั่งว่าเคลื่อนไหวไปมาเกิดแปลกใจว่า ความรู้อันนี้ไม่เคยรู้ ไม่เคยมีมาก่อน เข้าใจอย่างนั้น ตัวปัจจุบันก็รู้ชัดขึ้น
เมื่อก่อนได้ยินว่า ให้อยู่กับปัจจุบันมาก ๆ แต่มันยังไม่มี ไม่เป็น พอมีพอเป็นเช้า รู้ได้เลยว่าเป็นอย่างนี้เอง การอยู่กับปัจจุบันเป็นอย่างนี้ มีความเชื่อมั่นศรัทธาในการปฏิบัติไม่ท้อถอย เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ กิริยาอาการทางด้านรูปกาย ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใหญ่น้อยที่เคลื่อนไปมา เกิดมีความรู้สึกขึ้นมา มันจะเป็นเองในขณะที่เราดูมาตลอด อาศัยการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งต่อรอง แต่ก็ต้องอาศัยเวลาในการกระทำอยู่พอสมควร ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านในการฟังบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ เป็นเรื่องที่ดีมาก ถึงรู้หรือไม่รู้ จำได้หรือไม่ได้ ก็ฟังไป ทำมาก ๆ ไม่หยุด มันเกิดผล เห็นผลเอง จนเป็นนิสัย เป็นความเคยชินอย่างหนึ่ง
หลวงพ่อมีวิธีการสอนหลายรูปแบบ บางครั้งท้าทายให้พิสูจน์ว่าต้องเป็นเหมือนที่ท่านพูด รับรองคำพูดของท่านเอง ยิ่งชวนให้อยากรู้มากขึ้นอีก เพิ่มการปรารภความเพียร พาให้ไม่เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติ ได้ยินบ่อย ๆว่า มันจะเป็นเอง รู้เอง เห็นเอง เมื่อก่อนสงสัยคำสอนเหล่านี้มาก แต่บัดนี้ความสงสัยเหล่านั้นได้จากไปนานแล้ว
ท่านจะสอนให้คิด สอนในรูปแบบปริศนาธรรม ผู้ฟังก็ชอบเก็บเอาไปคิด มุ่งที่จะให้ผู้ทำเข้าไปสัมผัสกับความคิด รู้เห็นความคิด เพราะความคิดนี้สำคัญ ยิ่งปฏิบัติไปฟังไปความสงสัยลดลงไปเรื่อย ๆ แล้วก็มีความคิดใหม่ ๆ แปลก ๆ ผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมาให้เห็น เป็นความคิดที่ดีทั้งนั้น จิตใจที่เคยเก็บกักอารมณ์ เกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งที่ไม่ดีเมื่อก่อน มันเกิดปล่อยวางได้ ใจที่เคยหนักกลับเป็นเบา ที่เคยวุ่นเกิดเป็นว่าง ใจมันเปลี่ยนต่างเก่ามาก ไม่เป็นเหมือนก่อนเสียแล้ว ตั้งใจคิดทบทวนดูอดีตที่ผ่านมา การกระทำ พูด คิด จะเป็นไปโดยสัญชาติญาณเดิมแท้ ๆ มีตัวรู้อยู่น้อย น้อยนิดเดียว สังเกตต่อไปอีก บางครั้งไม่รู้เลย เป็นการกระทำแบบลืมตัวชัด ๆอันนี้เป็นสัจจริง จากการเฝ้าดูตัวเอง ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติมา
การเห็นความคิด เห็นจิตใจ เห็นอารมณ์ เห็นการเกิดดับ คำพูดเหล่านี้เคยได้ยิน เคยอ่านรู้ แต่ของจริงที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เห็น ไม่ทัน พอมาเห็นความคิด รู้ความคิดเข้า มันหยุด เห็นแล้วไม่ปรุงแต่งต่อไปอีก ถึงจะปรุงแต่งก็เห็นเข้าใจ ความรู้เกิดจากการภาวนา ที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา เข้าใจที่ท่านผู้สอนแนะนำ ทิฐิมานะที่เคยคัดค้านโต้เถียงอยู่ในใจว่าเรามีเราเป็น เรารู้ หายไป เกิดละอายใจในการกระทำของตัวเอง เรารู้ไม่จริง
ตั้งแต่นั้นมาถึงบัดนี้ เห็นทุกข์โทษของการรู้ไม่จริง ไม่รู้เผลอสติลืมตัวน่ากลัวมาก น่ากลัวจริง ๆ ศัตรูที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ เราไม่เห็นความคิดไม่เห็นจิตใจตัวเอง 1
เมื่อมาสร้างตัวรู้ ปลูกเขย่าธาตุรู้ ที่มีอยู่แล้วในตัวให้เกิดตื่นตัวตื่นใจขึ้น โดยการได้ฟัง ได้รับการแนะนำวิธีการจากท่านผู้รู้ ความรู้นอก ๆ หยาบ ๆ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จะเกิดรู้ขึ้นมา ในขณะที่เรากำหนดค่อย ๆ บ่อย ๆ เข้า เคลื่อนไปมาก็จะรู้ ไม่ใช่รู้แบบคิดเอาเดาเอา รู้เกิดจากการทำภาวนาจริง ๆ ค่อย ๆ รู้ รู้แบบเงียบ ๆ ละเอียดมาก ต่อ ๆ ไปความรู้ก็ขยายมากขึ้น เป็นการรู้สึกตัวทั่วพร้อมหมดทั้งตัว จะไปไหนมาไหนก็รู้เป็นเอง กำหนดไม่กำหนดก็รู้ รู้จักรูป-นาม ขึ้นมา กะพริบตาก็รู้ ทำไป ๆ หายใจรู้อีก ล้วนแต่รู้เอง เป็นเองทั้งนั้น ไม่ต้องไปกำหนดลมหายใจโดยเฉพาะ อาศัยการกระทำต่อเนื่องจากการเดินจงกรม เฝ้าดูการเคลื่อนไหวนอก ๆ เป็นฐาน ส่งผลให้ไปถึงตัวละเอียด จนกระทั่งเห็นความคิด เมื่อเห็นความคิดแล้ว เห็นที่มาของความทุกข์ ทุกข์ก็เบาบางลง เข้าใจคำว่า ญาณปัญญาเกิด สิ่งที่สงสัย หายสงสัย รู้วัตถุ ปรมัตถ์ อาการ ที่ท่านผู้สอน เป็นความรู้ เป็นความเข้าใจซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต หรือจะบอกว่าเป็นการเกิดใหม่ทางด้านจิตวิญญาณก็ได้
จิตใจก็เปลี่ยนแปลงต่างกว่าเมื่อก่อนมาก มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธเจ้า ที่ค้นพบธรรมวิเศษ สมกับเป็นศาสดาเอกของโลก และหลวงพ่อเทียน ที่เป็นเทียนส่องทางการเจริญสติ ให้ได้พบชีวิตใหม่ มีความเชื่อมั่นในตัวเองมาก ในการศึกษาปฏิบัติแบบเคลื่อนไหว ขอรับรอง เป็นทางดับทุกข์ ดับร้อนในชีวิตประจำวันได้จริง แม้เราผู้มาปฏิบัติจะไม่รู้ มืดบอด มีความอยากมาก ควบคุมใจไม่อยู่ ซึ่งทำให้เกิดทุกข์ จะทุกข์มากี่วัน ที่เดือน กี่ปีก็ตาม ไม่ต้องไปพูดและสนใจถึงเรื่องทุกข์แต่ขอให้มาเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ลองดู ต้องทำด้วยศรัทธาทำจริง ๆ ตามท่านผู้สอน ๆ ให้ เมื่อสติปัญญาเกิดแก่กล้าแหลมคม จะไปทำหน้าที่ดับทุกข์ได้เอง
ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
พระมหาบัวทอง พุทฺธโฆสโก
ทับมิ่งขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
1. ประวัติของหลวงพ่อเท่าที่ผมทราบมา
หลวงพ่อเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านบุฮม แต่ท่านเขียนหนังสือไทยไม่ได้เพราะสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน ท่านเรียนแต่หนังสือธรรมและตัวหนังสือลาว ในระหว่างเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่นั้น ท่านได้สร้างโรงเรียน สร้างสะพานข้ามน้ำสายไปโรงเรียนและตัดถนนสายบุฮมไปบ้านผาแบ่นจนสำเร็จ
ท่านเป็นคนชอบทำบุญ สร้างโบสถ์ที่บ้านอุมุงไว้หลังหนึ่ง และเคยฝึกกรรมฐานมาตั้งแต่ยังเป็นเณร ผู้คนอยู่ในเขตตำบลบุฮมนั้นรู้จักท่านดีมาก หลวงพ่อเป็นคนมีฐานะดี มีเรือกลไฟวิ่งระหว่างเชียงคาน-หนองคาย ค้าขายอยู่ในสมัยนั้น ท่านไม่เคยเป็นหนี้ใคร ทำการค้าอยู่หลายปี ก็ได้ความคิดว่า คนที่มีเงินยังมีความทุกข์อยู่ บางครั้งทุกข์มากกว่าคนจนซ้ำไป จึงทำให้ท่านคิดหาวิธีที่จะไม่ให้มันทุกข์ อยู่ต่อมาก็ได้ยินข่าวว่า อำเภอศรีเชียงใหม่เปิดอบรวิปัสสนากรรมฐาน จึงไปปฏิบัติอยู่กับหลวงพ่อวันทองหนึ่งพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วก็กลับมาเปิดสำนักอยู่ที่บ้านบุฮม อันเป็นบ้านเกิดของท่านเองเป็นเวลาหลายปี จึงออกบวช ไปอยู่กับอุปัชฌาย์เจ้าคณะอำเภอเชียงคานหนึ่งปี หลังจากนั้นก็ไปอยู่ฝั่งลาวบ้าง จนกระทั่งได้มาพบกับผม อยู่ที่วัดโนนสวรรค์ บ้านนาอ้อ ในปี พ.ศ. 2507 นี้เองท่านจึงมีโอกาสได้พูดธรรมะ ต่อ ๆ มาก็มีคนรู้จักวิธีการปฏิบัติธรรมของท่านมากขึ้นเช่นในปัจจุบันนี้
2. ครั้งแรกที่พบกับหลวงพ่อและเหตุการณ์ต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. 2507 นี้เอง เป็นปีที่อาตมาได้มาพักอยู่ที่ถ้ำผาปู่เป็นเวลา 1 เดือน อาตมาเป็นพระมหานิกาย เมื่อถึงวันอุโบสถจำเป็นต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรือไม่ก็ต้องขึ้นไปอยู่บนชะง่อนผา เพื่อให้พ้นเขตแดนแห่งสังฆกรรม นับเป็นกรรมอันน่าเวียนหัวจริง ๆ ไม่ทราบว่าบรรพบุรุษแห่งศาสนาได้แบ่งพรรคแบ่งพวกกันออกตั้งเเต่เมื่อไร
ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงคิดว่าธรรมะนี้ คงจะไม่มีเหนือ-ใต้ ดำหรือแดง จำเป็นเราต้องกลับคืนไปอยู่ดงลานผานกเค้า ปฏิบัติแบบพอง-ยุบ เห็นจะดี แต่บังเอิญเงินค่ารถหมดไม่มีเหลือ ทำให้อาตมานึกถึงพระหลวงตาที่อยู่วัดโนนสวรรค์ เพราะเวลาออกบิณฑบาตเดินสวนทางกันทุกวัน หลวงตาที่ว่านั้นก็มิใช่ใครอื่น ก็ได้แก่หลวงพ่อเทียนของเรานี้เอง ตกเย็นวันนั้นอาตมาก็แบกกลดสะพายบาตรออกจากล้ำผาปู่ มุ่งหน้าไปยังวัดโนนสวรรค์ทันที พอดีเป็นเวลาว่าง ท่านนั่งคุยอยู่กับหลวงพ่อเพชร อาตมาวางบริขารเสร็จก็เข้าไปกราบท่านทั้งสองรูป
หลวงพ่อถามอาตมาว่า “มาจากไหน ?”
อาตมาตอบว่า “มาจากถ้ำผาปู่”
หลวงพ่อถามอีกว่า “ได้กี่พรรษาแล้ว ?”
“ห้าพรรษาออกนี้แหละครับ”
พอพูดจบหลวงพ่อก็ลุกเดินไปหยิบเอากระติกน้ำร้อนมาวางตรงหน้าอาตมา แล้วท่านก็กราบอาตมา
อาตมายกมือบอกท่านว่า “ไม่ต้องหรอก หลวงพ่อ”
ท่านก็ได้ด้วยสำเนียงเมืองเลยว่า “ไม่เป็นไร” แล้วหัวเราะ
“อาตมาสี่ หลวงพ่อนี้หก”
พร้อมกับมือชี้ไปทางหลวงพ่อเพชร พวกเราสามคนพรรษาเรียงกันพอดี
ท่านยังถามอาตมาอีกว่า “มาเพื่อประสงค์อะไร” และจะไปไหน
อาตมาก็เล่าให้ท่านฟังจนหมดเรื่องและบอกความในใจว่า จะมาขอเงินค่ารถจากหลวงพ่อ แล้วจะไปปฏิบัติอยู่ที่ดงลาน
ท่านก็เลยพูดให้ความหวังว่า พวกเราอยู่ด้วยกันที่นี่ก็ดี ต่างคนต่างก็ปฏิบัติด้วยกัน เมื่อผู้ใดพบก่อนก็จะได้บอกแก่กันและกัน คงจะพอมีหวังอยู่สัก 80% พออาตมาได้ยินคำว่า 80% อาตมาก็คิดมั่นใจอยู่ว่า เราจะต้องลองทำดูให้ได้
พออาตมาพบกับหลวงพ่อได้เพียง 2 วัน อาตมาก็หัดทำจังหวะในวันที่สอง หลังจากทำวัตรเสร็จแล้ว ตามปกติหลวงพ่อท่านก็พูดอบรมพระเณรเป็นประจำ ทั้งเช้าและเย็น หลังจากนั้นพวกเราก็พากันแยกย้ายเข้าห้องปฏิบัติ
ในวันนั้นอาตมายังไม่ได้ตั้งใจจะปฏิบัติ เป็นแต่เพียงทำเพื่อไม่ให้ลืมจังหวะเท่านั้น คิดว่าพรุ่งนี้ เราจะทำให้แตกหักไปเลย พออาตมานึกเช่นนั้น ทันทีก็เกิดภาพนิมิต ให้อาตมาเห็นตัวของตัวเองนั่งอยู่บนหัวนอนเป็นภาพชัดเจน แต่ไม่มีศีรษะมีแค่คอลงมา ทำให้อาตมาใจหายวาบ ๆ เศร้าสลดลงทันที ทำให้อาตมาลืมจังหวะไปหมด
หลังจากนั้นก็ไม่ได้พิจารณาอะไรเลย เพราะดึกมากแล้ว คิดแต่ว่าพรุ่งนี้จะทำให้แตกหักเลย
พอตื่นเข้าหลังฉันเสร็จ หลวงพ่อก็เข้าไปหาอาตมา ถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง”
อาตมาก็เล่าให้ท่านฟังว่า “ผมยังไม่รู้อะไรเลยครับหลวงพ่อ เพียงแต่ได้เห็นภาพตัวเองคอขาดไม่มีศีรษะ แล้วก็เกิดความสลดในใจเท่านั้น”
หลวงพ่อก็พูดขึ้นว่า “ลองทำจังหวะดูซิ อาจารย์”
อาตมาก็ทำจังหวะให้ท่านดู ท่านชี้บอกให้อาตมาพิจารณาว่าอะไรกันแน่ “เคลื่อนไหวอยู่นั่น ใช่รูป-นามไหม ?”
อาตมาก็นึกพิจารณาอยู่สักครู่หนึ่ง ก็ตอบท่านว่า “ใช่”
หลวงพ่อพูดอีกว่า “พริบตา หายใจ คิดนึกอยู่นั้นเป็นอะไร ให้พิจารณาตรงนี้ พอดูจบท่านก็เดินออกจากห้องไป พร้อมกับพูดว่า “พิจารณาให้ดี ๆ”
วันนั้นตลอดวันอาตมานั่งทำจังหวะพิจารณาการเคลื่อนไหว เข้าใจรูป-นาม ทั้งไตรลักษณ์ การพริบตา หายใจและคิดนึก ก็นั้นแหละรูป-นาม เป็นทุกขัง เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นเกิด เป็นดับ ทุกอิริยาบถเช่นกัน ทำให้อาตมาพอใจข้อแนะนำของหลวงพ่อ อาตมาเข้าใจรูป-นามชัดเจน อารมณ์ของวิปัสสนาให้เอาสั้น ๆ แค่นี้ ที่รู้ออกไปมากนั้นเป็นความรู้ของวิปัสสนูและจินตญาณ
ต่อมาอีกสามวัน หลวงพ่อชี้ให้ดูจิต บำเพ็ญทางจิตต่อไป ตอนนี้อาตมาทำอยู่สองเดือนเต็ม ๆ จึงเข้าใจอารมณ์ของปรมัตถ์ การรู้อารมณ์ตอนนี้ไม่ใช่เราหมดกิเลส เป็นเพียงรู้ต้นทางว่า ผู้จะหมดทุกข์ต้องเดินทางนี้ คือ ให้เห็นตอคือ ขวากหนามที่จะต้องหลบไม่เดินชน วัตถุ ปรมัตถ์ อาการ ของมันคือ โทสะ โมหะ โลภะ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม ในปฏิจจสมุปบาท แต่อย่าไปทำการวิจารณ์หรือวิจัย เพราะตกอยู่ในอำนาจ วิตก วิจาร ท่านจะไม่พบกับเอกภาพจิต ผู้ที่เรียนมามากยิ่งยากที่จะเป็น ลำบากที่จะเข้าใจ จึงทำให้อาตมาพอใจในข้อปฏิบัติ ข้อแนะนำของหลวงพ่อมาก ที่อาตมาเล่ามานี้เป็นเพียงบางส่วนของการปฏิบัติ
การบำเพ็ญทางจิต คือ การเฝ้าดูจิตคิดนึก คิดก็ให้รู้ ไม่คิดก็ให้รู้ พร้อมทั้งทำจังหวะไปด้วย เพื่อช่วยไม่ให้ง่วง เมื่อก่อนหลวงพ่อไม่พูดอะไรมาก ท่านจะแนะพวกเราโดยเอาก้านไม้ขีดไฟสองก้าน หันหัวไม้ขีดใส่กัน แล้วก็เอานิ้วชี้ขีดผ่านก้านไม้ขีดทั้งสองให้แยกจากกัน พร้อมกับพูดว่า ดูให้มันขาดออกอย่างนี้ ช่วงนี้อาตมาทำอยู่สองเดือน จึงรู้สึกตื่นตัวในทางปฏิบัติ โดยไม่ต้องสงสัย และอีกสองปีต่อมาอาตมาจึงเข้าใจเรื่องที่สุดแห่งทุกข์ คืออะไรกันแน่
คำพูดในตำรามีว่า จบพรหมจรรย์ ตัดพระเกศาครั้งเดียว ส่วนคำพูดของหลวงพ่อก็ว่า ทำให้ขาด ให้จืด ให้ตาย ทำให้อาตมาเข้าใจพุทธศาสนานี้ว่า เป็นศาสตร์เหนือศาสตร์ เป็นปรัชญาเหนือปรัชญา เป็นจิตเหนือจิต เป็นธรรมเหนือธรรม และไม่เลือกบุคคล ประพฤติได้ทุกคน และเข้าใจได้ไม่ต้องผ่านการศึกษาก็เข้าใจได้ พวกมีการศึกษามาก ยิ่งยุ่งยากเพราะมัวแต่ติดตำราหลักสูตร มักอ้างพระคัมภีร์ ลืมนึกไปว่า พระศาสดาไม่เคยเขียนคัมภีร์เลยสักเล่มเดียว อาตมาจึงเข้าใจว่า พุทธศาสนา คือ ศาสนาแห่งการทำให้จิต “เป็น” เท่านั้น
3. ปฏิปทาของหลวงพ่อ
หลวงพ่อเป็นพระที่อยู่ง่ายกินง่าย วางตัวเหมาะสมกับสังคมทุกระดับ ถึงแม้จะเป็นพระหลวงตาก็จริง แต่จะหาพระหลวงตาเหมือนหลวงพ่อได้ยากมาก แม้กระทั่งลูกศิษย์ลูกหาของท่านเอง ก็ยากที่จะเสมอหรือทำตามท่านได้
เมื่อเวลาพักผ่อนไม่ว่ากลางคืนหรือกลางวัน นักปฏิบัติผู้ใดเกิดขัดข้องปัญหาอะไร ให้ไปหาท่านได้ทุกเวลา ท่านพร้อมที่จะแก้ไขให้ได้เสมอ
4. กิจวัตรประจำวันของหลวงพ่อ
กิจประจำวันชนิดหนึ่งที่หลวงพ่อไม่เคยละเว้น คือ การเดินจงกรม พร้อมทั้งการหลับและการตื่น ตามปกติหลวงพ่อจะนอนระยะสามหรือสี่ทุ่ม และตื่นเวลาตีสามตีสี่ เมื่อร่างกายท่านยังแข็งแรงอยู่ หลวงพ่อต้องเดินจงกรมทั้งเช้าและเย็นไม่เคยขาด
เมื่ออาตมามาอยู่กับหลวงพ่อ ท่านต้องเพิ่มกิจอีกประเภทหนึ่ง คือการหัดเขียนหนังสือ และหัดอ่านหนังสือ
5. ความประทับใจเกี่ยวกับหลวงพ่อ
1. หลวงพ่อเป็นพระหลวงตา ที่ไม่รู้หนังสือไทย แต่พานักปฏิบัติข้ามสู่ฝั่งแห่งพุทธธรรมได้อย่างน่าพิศวง
2. หลวงพ่อสามารถพูด ให้พวกเราเข้าใจถึงวิธีดูจิต หรือบำเพ็ญทางจิต ซึ่งแตกต่างจากอาจารย์อื่น ๆ ที่พูดให้บำเพ็ญทางจิต คือ ให้คิดให้มาก แต่หลวงพ่อพูดว่าการบำเพ็ญทางจิต คือ การเฝ้าดูจิตคิดนึกแล้วอย่าไป “ตามคิด” ให้รู้ตัวว่าคิดมากหรือคิดน้อย แล้วให้อยู่กับตัวรู้สึก ตัวที่เคลื่อนไหว คือ ตัวรู้ที่ดีพร้อมกับทำให้ไม่ง่วง
3. ความประทับใจในข้อปฏิบัติ ที่ท่านแนะนำให้พวกเราสร้างสติรู้สึกตัวอยู่เสมอเพียงเท่านี้ สติตัวนั้นจะกลายมาเป็นปัญญาวุธ ตัดที่สุดของทุกข์ ให้แก่ผู้ปฏิบัติอย่างไม่ต้องสงสัย พูดให้ฟังง่าย ๆ ว่า เพียงทำจังหวะแค่นี้ ทำไมจึงไปทำลายอุตมโลกียธรรม ให้จืดจางว่างหายจากใจคนได้ จนได้เผลอออกปากว่า อ๋อ !....นี้หรือคือที่สุดของทุกข์ ชาติสิ้นภพสิ้นไป ที่พระศาสดาปล่อยให้เป็นปริศนาธรรมแก่ชาวโลกทุกวันนี้ ก็เพราะมีอุตมโลกียธรรมตัวนี้เป็นรากแก้ว เมื่อขาดตัวนี้เสียแล้ว ศานติก็จะเกิดขึ้นทันที
6. เหตุการณ์ที่ป่าพุทธยาน
ป่าพุทธยาน สร้างขึ้นเมื่อปี 2509 พวกเรารวมกันหกเจ็ดรูปด้วยกัน ออกจากวัดหนองแวง ไปอยู่ป่าพุทธยาน ในปีนั้นได้มหาคึ้มมาปฏิบัติด้วย ท่านเข้าใจธรรมอย่างลึกซึ้ง นับว่าหลวงพ่อได้ลูกศิษย์ที่สำคัญอีกหนึ่งคน ปลายปี 2509 อาจารย์บุญธรรมก็ขึ้นไปปฏิบัติอยู่ตัวย พอสิ้นปี2509 ท่านก็กลับไปหนองแก และก็มีอาจารย์คำเขียนติดตามมาด้วย เมื่อปฏิบัติแล้ว ท่านเห็นว่าเป็นทางปฏิบัติ พอเข้าพรรษาถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2510 นี้เอง เป็นปีที่ท่านอาจารย์คำเขียน (หลวงพ่ออ้วน) บวช เพราะท่านมาปฏิบัติตั้งแต่เป็นฆราวาส และบัดนี้ท่านก็ยังอยู่ป่าสุคะโตนั่นเอง ส่วนปีต่อมามีอาจารย์ทองกับเพื่อนอีกหลายคนมาอยู่ด้วย อาตมาอยู่มาถึงปี 2512 จึงหนีไปเรียนแผนโบราณที่ จ.อุบลราชธานี
7 พรรษาที่สำคัญที่สุดของหลวงพ่อ
ในปี 2507 มีพระมหาเปรียญมาปฏิบัติด้วยถึง 2 รูป และพระที่จบนักธรรมเอกถึง 5 รูป ในปี 2509-2510 มีพระมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก
หลังจากปี 2507 แล้ว ถ้าเรียงชื่อลูกศิษย์ที่สำคัญ ๆ ก็มี อาจารย์คำพันธ์ อาจารย์บุญธรรม อาจารย์คำเขียน และอาจารย์ทอง ยังพากันอยู่ทุกวันนี้
8 เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของหลวงพ่อ
เมื่อปี 2508 ซึ่งเป็นปีที่อาตมาไปจำพรรษากับหลวงพ่ออยู่ที่บ้านบุฮม ทางเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองเข้าใจผิดคิดว่า หลวงพ่อสอนลัทธิตรงกันข้าม จึงได้มาทำการตรวจค้นหาหลักฐานหรือเอกสารบางอย่าง แต่ไม่เห็นมีอะไร จึงเข้าใจว่า หลวงพ่อสอนธรรมะจริง เป็นเรื่องของธรรมดาอยู่เอง คนไม่เคยได้ยินได้ฟังใหม่ ๆ ก็ย่อมสะดุดใจเป็นธรรมดา
9 บันทึกวันแห่งการจากไปของหลวงพ่อ
วันแห่งการจากไปของหลวงพ่อ เมื่อวันอังคารที่ 13 ขึ้น 3 ค่ำ เดือนสิบ ปีมะโรง พ.ศ. 2531 ตรงกับวันและเดือนที่ท่านเกิด คือวันอังคาร เดือนสิบ ท่านได้ทำพิธีตายให้ลูกศิษย์และญาติโยมได้ดูเป็นลำดับดังนี้
เวลา 16.00 น. ท่านได้พูดกับหลานชาย คือโยมพ่ออุ่น ว่าให้เตรียมตัวได้แล้ว เณรก็วิ่งไปบอกอาตมาว่า หลวงพ่อเป็นหนักให้เตรียมตัวกันได้แล้ว ในวันนั้นศิษย์อาวุโสมี 2 รูปเท่านั้น คือหลวงพ่อบุญธรรมและอาจารย์สมหมายจากแก่งคร้อ อาตมากับท่านทั้ง 2 พร้อมด้วยพระเณรในวัดทั้งหมด 21 รูป ญาติโยมผู้หญิง 25 คน ผู้ชาย 9 คน แม่ชี 4 ชีพราหมณ์ 2 รวมทั้งหมดประมาณ 60 กว่าคน
อาตมามาถึง ดูนาฬิกาเป็นเวลา 17.20 น. หลวงพ่อยังยกมือได้อยู่ตามปกติ อาตมาลองเอามือแตะดูที่ขาท่าน ปรากฏว่าเย็นขึ้นไปถึงบั้นเอวแล้ว มีลมเดินอยู่ตั้งแต่ช่วงท้องขึ้นไป
พอถึงเวลา 17.24 น. หลวงพ่อก็ยกมือไปไว้ที่สะดือได้ ท่านเอามือขวาทับมือซ้ายไว้ แล้วก็เลื่อนมือซ้ายขึ้นไปที่หน้าอก เอามือซ้ายออกไปไว้ข้าง ๆ ส่วนมือขวาเลื่อนลงไปไว้ที่สะดือ แล้วจึงเอามือซ้ายไปทับมือขวาไว้อีก เลื่อนมือซ้ายออกไปไว้ข้าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง
ท่านทำจังหวะมาถึงตอนนี้ อาตมาดูนาฬิกาเป็นเวลา 17.33 น. มือขวาของท่านยังอยู่ที่สะดือตามเดิม เพราะมือขวานี้หนักมากจริง ๆ ยกยากเนื่องจากแขนบวมมาก หลวงพ่อท่านก็ยังพยายามยกขึ้นลงได้อยู่ ตอนนี้จึงเลื่อนมือซ้ายไปทับมือขวา แล้วเลื่อนมือขวาขึ้นไปที่หน้าอก ส่วนมือซ้ายก็เลื่อนตามไปเหมือนเดิม เลื่อนมือทั้งสองข้างออกไปข้าง ๆ เอามือขวาไปไว้ที่สะดือ ส่วนมือซ้ายยังวางอยู่ข้างลำตัวในท่านอนหงาย ต่อจากนั้นท่านก็ลืมตาดูทุกคนที่อยู่ข้าง ๆ ท่าน
เวลา 17.40 น. หลวงพ่อยกมือซ้ายไปไว้ที่หน้าอก แล้วเลื่อนลงไปไว้ที่สะดือในลักษณะเดียวกับมือขวา เลื่อนขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ตามปกติ
เมื่อเวลา 17.42 น. ท่านก็วางมือซ้ายและขวาไว้ข้างลำตัว ทอดแขนขนานกับลำตัว แล้วท่านก็ลืมตาดูผู้ที่เฝ้าอยู่รอบ ๆ ท่านเป็นนครั้งที่สาม อาตมาดูเวลาได้.17.45 น. พอดี
คุณยุ่นมาจากกรุงเทพฯ ทันเวลาที่หลวงพ่อได้ทำพิธีตายให้ทุก ๆ คนได้เห็นพร้อมกันหมด
ต่อจากนั้นท่านก็ยกมือขึ้นไปประกบกันไว้ที่หน้าอก แล้วก็เลื่อนลงไปไว้ที่สะดือ แล้วท่านก็คู้ขาขวามาชันเข่าไว้ สักครั้งหนึ่งก็เหยียดลงไป เปลี่ยนเป็นขาซ้ายป้าง คู้เข่ามาชันไว้ถึงสองครั้งสลับกัน พร้อมกับลืมตาดูผู้คนที่มาเฝ้าดูอาการของท่าน ขณะนั้นเป็นเวลา 17.50 น.
ครั้นถึงเวลา 17.55 น. ท่านก็ยกมือซ้ายขึ้นไปวางไว้ที่สะดือแล้วเลื่อนออกไปไว้ข้าง ๆ
จนถึงเวลา 18.00 น. ท่านก็เอามือซ้ายขึ้นไปทับมือขวาในท่าสงบ เมื่อเวลา 18.05 น. ท่านเลื่อนมือซ้ายห่างมือขวาเล็กน้อยเหนือสะดือ จนถึงเวลา 18.14 น. จึงเลื่อนมือไปกุมกันไว้ที่หน้าอก แล้วเลื่อนลงมาที่สะดือแล้วท่านก็ลืมตากว้าง มือยังอยู่ที่เดิม เคลื่อนไปเคลื่อนมาเหมือนเราทำจังหวะธรรมดานี้เอง
พอถึงเวลา 18.15 น. ท่านก็เลื่อนมือทั้งสองข้างลงวางไว้ข้างลำตัว ทอดแขนตามปกติ พร้อมกับหมดลมไปพร้อมกันอย่างสงบเย็นจริง ๆ
อาตมาอดกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ด้วยความตื้นตันใจ มีทั้งความดีใจในการกระทำของหลวงพ่อซึ่งเป็นภาพอันหาดูได้ยาก และมีทั้งความเสียใจที่ตัวเองยังติดข้องอยู่หลายประการ อาตมามีความคิดถึงลูกศิษย์ของท่านทุกคน อยากให้มาดูมาเห็นด้วยกัน
ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
พระอาจารย์บุญธรรม อุตฺตมธมฺโม
วัดโพนทอง จังหวัดชัยภูมิ
ปลายปี พ.ศ. 2509 อาตมาได้ขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อเทียนที่ป่าพุทธยานเดิม (คือวิทยาลัยครูปัจจุบัน) ได้ขึ้นไปเพราะการชักชวนของอาจฯย์มหาบัวทอง พุทฺธโฆสโก ซึ่งได้สัตตาหะลงไปบอกเล่าให้ฟังว่าได้พบพระหลวงตาองค์หนึ่ง กำลังสอนปฏิบัติธรรมอยู่ที่ป่าพุทธยานอุดมการณ์ดี มีปฏิปทามั่นคง ลัดตรงมุ่งเป้าไปทำลายกิเลสโดยเฉพาะ ไม่มีปฏิปทาแอบอิงฤทธิ์เดช ไม่ทำไปเพื่อลาภสักการะ คิดว่าเป็นพระหลวงตาที่ไม่งมงาย ไม่นำไปผิดทางแน่ ๆ ได้ฟังดังนั้นอาตมาจึงสนใจเปลี่ยนความตั้งใจที่จะไปอยู่สุราษฎร์ฯ แต่แรกเสีย
พอออกพรรษาปี 2509 จึงตัดสินใจไปทางเมืองเลย หาท่านอาจารย์มหาบัวทอง วันนั้นพอถึงป่าพุทธยาน อาจารย์มหาบัวทองกำลังปฏิบัติธรรมเก็บอารมณ์อยู่บ้านนาอ้อ พอได้ข่าวว่าอาตมาขึ้นไปหา ท่านก็มีหนังสือมาให้กำลังใจ ส่วนอาตมาก็ได้เข้าไปกราบบอกความประสงค์กับหลวงพ่อ ท่านก็แนะนำวิธีสร้างจังหวะให้เลย พอปฏิบัติตาม ความคิดจะไปสุราษฎร์ก็หมดลง เลยตั้งใจปฏิบัติธรรมจริง ๆ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2510 ก็เข้าใจเรื่องรูป เรื่องนาม แล้วจึงกลับมาบอกข่าวโยมทางบ้าน เมื่อจะกลับเมืองเลย ก็ได้ฟักชวนพระไปด้วย3 รูป พอเข้าสู่ฤดูฝน อาจารย์คำเขียน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นโยมอยู่ ก็ได้ขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่ร่วมกันอีก จึงรู้สึกดีใจมาก
อาตมามีความประทับใจในแนวปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อ เพราะเป็นการปฏิบัติตามแบบธรรมชาติ และง่ายสะดวกสบาย ทั้งหลวงพ่อท่านก็เป็นกันเอง ท่านเป็นแบบอย่างที่ดี พาอยู่ง่าย ๆ พากินง่าย ๆ ไม่ถือตัว ถึงท่านเป็นพระหลวงตาบ้านนอก อ่านหนังสือไม่ได้ ท่านก็ไม่เพิกเฉย ท่านยังพัฒนาตนเองอยู่ไม่หยุดหย่อน หมั่นมาถามหนังสือจากพวกอาตมา ศึกษาหนังสือจากพวกอาตมา จนเริ่มอ่านหนังสือได้ในปีนั้น ท่านเดินจงกรมให้เป็นแบบอย่างของลูกศิษย์ลูกหาเก่งมาก พอพักก็เข้าไปหาโต๊ะฝึกเขียนหนังสือ อัจฉริยภาพพิเศษอย่างนี้มีอยู่ในพระสูงวัยเช่นท่าน พวกอาตมาก็อาย เรื่องขบฉันอยู่กินหลับนอน เราเทียบท่านยาก ท่านไม่ขวยเขินในทุกสังคม ท่านแสดงอะไรออกไปกลับเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีแก่สังคมไปหมด อาตมายิ่งรู้สึกประทับใจ
เหตุที่อาตมาหนีจากหลวงพ่อไปอยู่ที่อื่น มิใช่เบื่อหน่ายต่อคำสั่งสอน แต่อาตมาหน่ายต่อการสอน คือปี 2511 มีพระเณรมาก ทั้งเณรไทย เณรลาว มาอยู่ด้วย หลวงพ่อให้อาจารย์มหาบัวทองกับอาตมาเป็นครูสอนปริยัติ ทาให้การปฏิบัติมีเวลาน้อยลง อาตมาเองก็ไม่พอใจในการสอนอยู่แล้ว พอจะเข้าพรรษา อาจารย์มหาบัวทองก็หนีไปจำพรรษาอยู่เมืองตูม (ฝั่งแม่น้ำเหือง อ.ท่าลี) อาตมาสอนปริยัติองค์เดียวไม่มีใครช่วย ส่วนอาจารย์คำเขียนก็หนีไปเก็บตัวปฏิบัติอยู่ที่วัดภูเขา บ้านบุฮม
อาตมาจึงคิดหนัก คิดทบทวนไปคิดทบทวนมา คิดไปถึงโปฎฐิละ อาจารย์ที่ทำตัวเป็นครู จนโปฏฐิละมีลูกศิษย์ปีละ 500 คน พระศาสดาก็ยังไม่ยินดี ยังไม่ภูมิใจในการเป็นครูของโปฏฐิละ จนพระองค์ได้เรียกโปฎฐิละว่า โมฆะบุรุษ โมฆะบุรุษ แม้ท่ามกลางชุมชน เพื่อให้โปฏฐิละน้อยเนื้อต่ำใจ เบื่อหน่ายในงานสอน พระโปฏฐิละเมื่อถูกบีบเข้ามาก ๆ จึงวิ่งเต้นไปหาสำนักปฏิบัติธรรมในภายหลัง
อาตมาก็คิดเช่นนั้น ปีนั้นพอพาพระเณรไปสอบเสร็จ อาจารย์มหาบัวทองก็ลงมาร่วมในงานสอบธรรมด้วย พอปี 2512 เดือนยี่ ออกใหม่ 1 ค่ำ อาตมากับอาจารย์มหาบัวทอง อาจารย์ทองอินทร์ และอาจารย์กิ่ง 4 รูปด้วยกัน ก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ภูเขาแลนคา จ.ชัยภูมิ ถึงหลังเขาแลนคา ขึ้น 2 ค่ำ ไปปักกลดอยู่ที่แหลหนองเมย (ตะวันออกของบ้านสวนป่าทุกวันนี้ )
พอถึงเดือนยี่ ข้างแรม ย้ายไปอยู่โนนหัวช้าง (คือป่าสุคะโตปัจจุบันนี้) อันเป็นที่ของพ่อบุญ พ่อศูนย์ พ่อเบ้า พ่อดา และพ่อจันทร์ ถวายปีนั้นเอง เพื่อนทั้ง 3 รูป คือ อาจารย์มหาบัวทอง อาจารย์ทองอินทร์ และอาจารย์กิ่ง ก็ลงจากภูเขาหนีจากอาตมาไปจำพรรษาที่อื่น อาตมาเลยอยู่หลังเขาองค์เดียว 3 ปี อาจารย์มหาบัวทองจึงย้อนกลับมาจำพรรษาอยู่ด้วย 1 พรรษา ก็จากไปอีก.
พอถึงปี 2518 อาจารย์คำเขียนก็ขึ้นไปอยู่ด้วย จนถึงปี 2522 อาตมาจึงลงจากหลังเขาไปอยู่บ้านเกิดของอาตมาเอง จนถึงปัจจุบันนี้
ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
พระอาจารย์ดา สมฺมาคโต
วัดโมกขวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ทางที่เป็นทาง
คำว่า “ทาง” ในที่นี้มิใช่ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ หรือทางเดินด้วยเท้า แต่มันเป็นทางเดินของจิตใจ จากที่มีความทุกข์ไปสู่ความไม่ทุกข์ จากความมีปัญหาไปสู่ความสิ้นปัญหา จากความมืดมนสับสนวุ่นวาย ไปสู่ความสว่างสงบเย็น พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น อกฺขาตาโร ตถา คตา ส่วนการเดินทางหรือจะไม่เดินนั้น มันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะเลือกทางเดินของตัวเอง การจะทำความดี ความชั่ว พูดดีพูดชั่วและคิดดีคิดชั่วนั้น มันเป็นเรื่องเฉพาะตน ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้อย่างถูกต้องนั้น ย่อมเป็นผู้มีความสว่าง และเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน ทั้งจะเป็นผู้ที่ไม่สร้างปัญหาแก่สังคม ตรงข้ามผู้ที่ไม่สนใจต่อคำสอนของพระองค์ย่อมประสบแต่ความทุกข์ ตกอยู่ในความมืดมนหลงผิด ไม่รู้ทิศทางแห่งชีวิตที่จะเดินไป ไม่ว่าอะไรเป็นอะไร จึงหลงผิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยความประพฤติชั่ว ทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ เพราะอำนาจแห่งความโกรธ ความโลภและความหลง
การบำเพ็ญทุกรกิริยาที่มีในพระพุทธประวัติหรือมีมาก่อนพุทธกาลทั้งหลายเหล่านั้น มีฌานสมาบัติ 7-8 เป็นที่ลือลั่นกันว่าเป็นคุณวิเศษสูงสุดในสมัยนั้น พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามิใช่ทางออกไปจากความทุกข์ทั้งปวงได้โดยเด็ดขาด เป็นแต่เพียงสงบหรือสยบอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเหมือนหินทับหญ้า พระองค์จึงละทิ้งสิ่งเหล่านั้น แล้วแสวงหาทางออกโดยการบำเพ็ญเพียรทางใจ มีสติเฝ้าดูอาการของจิตใจที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และดับไปตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้พระองค์รู้แจ้งสัจธรรม ได้คำตอบทุกอย่าง เป็นพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ แล้วพระองค์จึงรู้ผิดรู้ถูก รวมความว่า การแสวงหาทางออกของพระองค์นานถึง 6 ปี โดยวิธีการต่าง ๆ เท่าที่มีในยุคนั้นทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นทางหลง ทางผิด ทางปิด ทางตัน เป็นทางที่มิใช่ทางนั่นเอง
การมีสติเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของกายและใจอย่างต่อเนื่องตามแนวสติปัฏฐาน 4 คือเน้นที่ อิริยาบถบรรพ, สัมปชัญญบรรพ, หรือกายคตาสตินั้น เป็นลู่ทางที่จะได้สัมผัสอารมณ์พื้นฐานเบื้องต้นของวิปัสสนากรรมฐาน คือ รู้รูปนาม - รูปทำนามทำ - รูปโรคนามโรค - อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา - สมมติ - ศาสนา - พุทธศาสนา - บาปบุญ...นี้เป็นอารมณ์ปฐมฤกษ์ของผู้ปฏิบัติธรรม ความรู้ประสบการณ์พวกนี้จะเป็นการเปิดทางสายด่วนแห่งธรรมะ พร้อมทั้งมีลูกศรชี้นำไปสู่จุดหมายปลายทาง คือที่สุดแห่งที่สุด หรือที่สุดของทุกข์ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่จะต้องไปให้ถึง เมื่อไปถึงแล้วจะได้คำตอบทุกอย่าง
เมื่อรู้เห็นความจริง ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว จิตใจจะเริ่มเปลี่ยนสภาวะเป็นคนละคนด้วยพลังแห่งปรมัตถสัจจะ พฤติกรรมเดิม ๆ นิสัยที่ไม่ดีจะถูกปฏิวัติ พร้อมกันนั้นความจริงแท้แห่งชีวิตก็จะถูกเปิดอย่างสิ้นเชิง จะหายสงสัยเรื่องผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม นรกสวรรค์ เป็นต้น
การได้ชีวิตใหม่ก็เริ่มต้นที่จุด ๆ นั้นนั่นเอง ความรู้สึกตัวเพียงน้อยนิดนี้เท่านั้น ที่จะเป็นยานพาหนะ นำพาชีวิตไปให้ถึงที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งปวงได้ เมื่อชีวิตไปถึงที่สุดแห่งที่สุดแล้ว ประหนึ่งว่าได้อยู่ในโลกใหม่ เป็นโลกแห่งอิสรภาพทางปัญญา และเป็นสภาพที่ปลอดทุกข์ทางจิตวิญญาณ เป็นแดนเกษมศานต์
ชีวิตที่ได้สัมผัสความจริงสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จะมีความเป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างเรียบง่าย เบาสบาย หายกังวล พ้นสงสัย ไม่มีพิษภัย รับประกันได้ว่า ผู้ที่ได้อารมณ์ปรมัตถ์แล้ว จะไม่หลงทางแน่นอน เรื่องผีสางเทวดา ฤกษ์งามยามดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ นรก สวรรค์ ตาย เกิด เหล่านี้เป็นต้น เขาจะไม่ข้องแวะเลย เพราะเหตุว่าผู้ปฏิบัติธรรมเจริญสติแนวนี้ มีรหัสอยู่ว่าจะต้องรู้อารมณ์ สัมผัสอารมณ์ได้ทุกเวลา ทบทวนอารมณ์ได้ จะกำหนดรู้ ดูอะไรที่ไหน เมื่อไรก็รู้ได้เดี๋ยวนั้นทันที ทำนองว่า “ของจริงหนีคนจริงไปไม่พ้น” และคนจริงย่อมไม่ทิ้งของจริงเช่นกัน
เคล็ดลับแห่งความเปลี่ยนสภาพทางใจ
ให้เอาความรู้สึกตัวนิด ๆ หน่อย ๆ นั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้น พอจิตมันคิดปุ๊บ รู้ คิดปุ๊บ รู้ เอาเพียงรู้เฉย ๆ รู้แล้วให้มันผ่านไป ไม่ต้องดึงมันกลับมา และไม่ต้องให้มันดึงเราไป สติจะเป็นตัวทำหน้าที่ดูเอง เมื่อสติจับตาดูเองอย่างถี่ถ้วนแล้ว ตัวรู้กับสิ่งที่ปรากฏให้รู้นั้นเป็นคนละสิ่งกัน จะไม่หลงไปกับความคิด จะมีแต่ความรู้สึกล้วน ๆ เป็นปัจจุบัน ขณะไม่มีความโกรธ โลภ หลง ในความรู้สึกนั้น ๆ มันจะรู้ออกมาจากจิตใจในส่วนลึกโดยอัตโนมัติว่า “ความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจได้ปรากฏชัดแก่เราแล้ว” แล้วในที่สุดแห่งที่สุด “สติ” ตัวน้อย ๆ นั่นแหละมันจะเป็น “พลังแฝง” อยู่ในทุก ๆ “อิริยาบถ”
เราท่านทั้งหลาย ได้รู้จักหลวงพ่อเทียน จากการพบปะสนทนากับท่านบ้าง จากการอ่านหนังสือของท่านบ้าง จากการบอกเล่าบ้าง และจากการปฏิบัติบ้าง แต่อาตมารู้จักท่าน ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตใหม่
หลักการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เบาสบายไร้กังวลนั้น อาตมาได้รับถ่ายทอด จากประสบการณ์ ที่ได้ติดสอยห้อยตามหลวงพ่ออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เป็นเวลายาวนาน เคยจำพรรษาร่วมกับท่าน 6 พรรษา เมื่อก่อนคิดว่าจะติดตามท่าน อยู่กับท่านเรื่อย ๆ ไป
การได้ชีวิตใหม่นั้น เหมือนกับการชุบชีวิตใหม่ หรือจะว่า “ตายแล้วเกิดใหม่” ก็คงจะไม่ผิด การตายก่อนตาย การเกิดใหม่ การเกิดทางธรรมของอาตมาบัดนี้ย่างเข้า 15 ปีแล้ว ปัจจุบันชีวิตกำลังเป็นวัยรุ่นทางธรรม อยู่ไม่ค่อยติดที่ ไม่ค่อยติดวัด คิดว่าประสบการณ์ชีวิตมีน้อยนิดเดียวยังไม่พอตัว ส่วนการปฏิบัตินั้นพออยู่พอกิน ไม่ทุกข์ไม่จนแล้ว
ขอย้อนหลังนิดหนึ่งว่า เมื่อก่อนจะมาหาหลวงพ่อเทียนนั้น อาตมาคิดว่าขออุทิศตนเพื่อท่าน ท่านจะแนะนำอะไร ก็จะตั้งใจทำตัวให้ได้ตามบทเรียน หรือบททดสอบนั้น ๆ เพราะมีความมุ่งหวังตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะต้องพิสูจน์ตัวเองตามหลักการของท่าน และยังคิดมั่นใจว่า จะต้องเป็นทางออกทางสุดท้ายที่เราเลือกแล้ว
ในเมื่อความตั้งใจจริงเป็นดังนี้แล้ว เรื่องทิฐิมานะ หรือความคิดที่จะขัดแย้ง เปรียบเทียบระหว่างอดีตกับปัจจุบันมันจึงถูกลบไปโดยปริยาย ไม่มีข้อกังขา ไม่มีปัญหาใด ๆ เลย เมื่อลงมือตั้งใจปฏิบัติอย่างต่อเนื่องครบวงจร โดยทำความรู้สึกตัวในขณะยืนเดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว กระพริบตา หายใจเข้าออก กลืนน้ำลาย เอียงซ้ายเอียงขวา ก้มเงย กิน ดื่ม เข้าห้องน้ำ นุ่งห่ม เป็นเวลา 3 วัน รู้จักตัว ตื่นตัวเต็มที่ มีสติเป็นปัจจุบันล้วน ไม่มีอดีตอนาคต รูปนามก็ปรากฏตัวให้เห็นชัดอย่างสิ้นสงสัย เห็นรูปเป็นรูป เห็นนามเป็นนาม เห็นแล้วหายสงสัยไม่ข้องแวะ เรื่องความรู้ส่วนตัวเอาไว้ก่อน แล้วจะว่าถึงหลักการที่เป็นเทคนิคโดยตรง
เรื่องการเก็บอารมณ์เก็บตัวอยู่คนเดียว เข้าห้องกรรมฐาน เป็นโอกาสทอง โอกาสธรรม สำหรับผู้ที่กำลังแสวงหาทางออกให้กับตัวเองและเป็นการให้โอกาสแก่ท่านที่ใฝ่ใจในทางนี้โดยตรง เป็นคนจริง ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง เพื่อพิสูจน์การปฏิบัติทางนี้จริง ๆ จะกำหนดเป็นเวลาสั้นยาวเท่าไร 7 วัน 15 วัน 3 เดือน 1 ปี และ 3 ปี ให้ผู้ที่จะสมัครใจเลือกเอาตามความเหมาะสมกับภาวะของตน ๆ แล้วให้เข้าเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียวภายในกุฏิ หรือจะเป็นที่ที่พออาศัยเก็บตัวปฏิบัติได้ก็ดี โดยมีพระพี่เลี้ยงหรือพระอาจารย์สาธิตแนะแนวการเจริญสติให้ เป็นที่ปรึกษา เป็นกัลยาณมิตร เพื่อให้ผู้เข้าอยู่ภายในนั้นได้ตั้งใจทำจริง ๆ โดยไม่ต้องไปทำกิจอย่างอื่น ให้ทำจิตทำใจ ให้เฝ้าดูตัวเอง ให้อยู่กับตัวเอง ให้ตั้งสติเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของกายและใจตลอดเวลาเพียงอย่างเดียว ไม่อ่านหนังสือ ไม่รับและเขียนจดหมาย ตัดขาดจากโลกภายนอกชั่วคราว ในขณะเก็บตัวเท่านั้น อาหารจะมีผู้นำส่งทุก ๆ วัน จะเป็นวันละครั้งหรือสองครั้งก็แล้วแต่จะตกลงกันกับพี่เลี้ยงอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตร จะคอยสอดส่องดูแลสารทุกข์สุกดิบ ให้คำแนะนำตักเตือน เป็นที่ปรึกษา แก้ไขปัญหาที่ขัดข้อง และอื่น ๆ ให้ เมื่อได้ปฏิบัติแล้วผลที่เกิดขึ้นจะประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติเอง
ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
หลวงตามาก สนฺตมโน
วัดเนินตามาก อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
อาตมามาอยู่และได้มาบวชอยู่กับหลวงปู่เทียน จิตฺตสุโภนี้ ก็เนื่องจากบุตรสาวของอาตมา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้นำนักเรียนเตรียมอุดมศึกษามาปฏิบัติธรรมะตามแนวของหลวงปู่อยู่เป็นประจำ
เขาก็บอกอาตมาว่า อยากให้อาตมาลองปฏิบัติตามแนวหลวงปู่บ้าง ของท่านง่ายดี นั่งลืมตา ไม่ฝืนธรรมชาติ
อาตมาก็เริ่มสนใจ
เสร็จแล้วอีกสองสามวันบุตรชายของอาตมา ซึ่งก็สนใจธรรมะมาก ไปซื้อหนังสือของหลวงปู่ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดเอามาหลายเล่ม เสร็จแล้วเขาก็เอามาให้อาตมาหนึ่งเล่ม คือ “สว่างที่กลางใจ” เล่มสาม
เมื่ออาตมาดูแล้วรู้สึกชอบใจมาก ก็เลยชวนบุตรสาว บุตรชายให้ไปหาหลวงปู่ ขอคำแนะนำจากท่าน
พอไปถึงวัดสนามในที่หลวงปู่อยู่ ก็เข้าไปกราบหลวงปู่ กราบเรียนขอให้ท่านแนะนำแนวปฏิบัติของท่าน ท่านก็แนะนำทุก ๆ อย่าง ตลอดทั้งวิธีกราบ วิธีนั่ง วิธียืน วิธีนอน
แล้วอาตมาก็กราบเรียนท่านว่า อาตมาได้ไปปฏิบัติมาหลายอาจารย์แล้ว สัมมาอรหัง นะมะพะทะ ยุบหนอพองหนอ อานาปานสติ นับหนึ่งถึงสิบ พุท-โธ ก็ได้ปฏิบัติมาแล้ว
หลวงปู่ท่านก็บอกว่า ดีทุกครูบาอาจารย์ ถ้าถูกกับจริต แต่ว่าเราทำวิธีใดก็ตาม ปฏิบัติแล้ว โมหะ โทสะ โลภะ ไม่ลดน้อยลงไป ยังอยู่ตามเดิมก็เรียกว่าไม่ถูกกับจริต
ท่านบอกว่าถ้าปฏิบัติตามแนวของท่านแล้ว อย่างช้า 7 ปี อย่างกลาง 7 เดือน อย่างเร็ว 1 วันถึง 25 วัน มีอานิสงส์สองอย่าง ถ้าไม่เป็นพระอรหันต์ก็เป็นพระอนาคามีแน่นอน ท่านเอาคอประกันเลย
แล้วท่านก็มอบหนังสือให้อาตมาสองเล่ม คือ “แด่เธอผู้รู้สึกตัว” หนึ่งเล่มกับ “มาทางน้ำ” หนึ่งเล่ม
เมื่ออาตมารับหนังสือแล้ว อาตมาก็ลาท่านกลับ ก็นำเอาหนังสือสองเล่มนั้นมาอ่าน ก็แน่ใจว่าควรจะปฏิบัติกับหลวงปู่ ก็เลยปรึกษากับโยมผู้หญิงว่า จะผลัดกันไปปฏิบัติธรรมะกับหลวงปู่คนละสิบห้าวัน คนหนึ่งอยู่บ้าน คนหนึ่งก็ไปปฏิบัติธรรมะ
โยมผู้หญิงเขาก็ไปก่อน
วันนั้นเป็นวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2529 โยมผู้หญิงเขาก็ให้บุตรชายบุตรสาวไปส่งหาหลวงปู่ เขาไปอยู่ได้ 9 วันเขาก็กลับบ้าน เขาบอกว่ารู้รูป รู้นามแล้ว ครูบาอาจารย์รับรองแล้ว ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของอาตมาบ้าง
วันนั้นเป็นวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2529 ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น 9 ค่ำ เดือน 10 ปีขาล อาตมาเตรียมตัวเสร็จ ก็ให้บุตรชายบุตรสาวไปส่ง
เมื่อไปถึง อาตมาก็เข้าไปกราบเรียนหลวงปู่ว่า ขอเข้าห้องเก็บอารมณ์ 30 วัน หลวงปู่ท่านเมตตาอนุญาต ให้เข้าห้องเก็บอารมณ์ได้
อาตมาก็อาราธนาศีลแปด แล้วขอพรว่า ในการเข้าเก็บอารมณ์ครั้งนี้ ขอให้ได้ดวงตาเห็นธรรม หลวงปู่ท่านก็ให้ศีลเสร็จ แล้วท่านก็ให้พร ขอให้สมหวังดังตั้งใจทุกประการ
อาตมาให้บุตรสาว บุตรชายกลับบ้าน อาตมาก็ไปหากุฏิอยู่ วันนั้นบังเอิญกุฏิเต็มหมด อาตมาเลยนอนที่ศาลาหลังเล็กรับแขกหนึ่งคืน พอวันที่ 12 บ่าย ๆ ก็มีผู้ปฏิบัติธรรมกลับบ้านหนึ่งคน อาตมาก็เข้าไปอยู่แทน แต่กุฏิหลังนี้ด้านหน้าไม่มีฝาปิด อาตมาก็นึกในใจว่า ให้โยมทางบ้านซื้อผ้าใบมาสักหนึ่งผืน เพื่อเอามาปิดด้านหน้า แล้วถึงจะเก็บอารมณ์ อาตมาเลยนอนที่กุฏิหลังนี้หนึ่งคืน
รุ่งเช้าวันที่ 13 เวลา 7 โมงเศษ หลวงพ่อกลม ถามวโร ท่านก็เอาอาหารไปส่งอาตมา เพราะว่าท่านได้พูดกับอาตมาไว้ว่า ถ้าอาตมาเข้าเก็บอารมณ์ ท่านจะส่งอาหารให้ตลอดเลย
เมื่อหลวงพ่อกลมเอาอาหารไปส่งแล้ว ท่านก็พูดว่า วันนี้ควรเก็บอารมณ์ได้แล้ว
อาตมาก็กางกลด กางมุ้งในกุฏิ แล้วก็นั่งปฏิบัติอยู่ในกลด เวลาข้างนอกไม่มีใครอยู่ อาตมาก็ออกไปเดินจงกรมข้างนอก เวลามีคน มีพระ ไปเดินจงกรมอยู่อาตมาก็เข้ามาปฏิบัติอยู่ในกลด
ทำเช่นนี้อยู่ 37 วัน โดยอาตมาอยู่ได้หนึ่งเดือนแล้วก็เลยขออนุญาตหลวงปู่ต่ออีกเจ็ดวัน หลวงปู่ท่านก็มีเมตตาอนุญาตให้
ใน 37 วันนี้ อาตมาเดินกับนั่งสลับกันเป็นลูกโซ่ ได้ 337 ชั่วโมง รับประทานอาหารได้ 1,049 คำ เคี้ยวตั้งแต่ 20 ไม่เกิน 69 ครั้งแล้วกลืน
อาตมาเริ่มทำมาตั้งแต่วันที่ 13 เดินกับนั่งสลับกัน เป็นลูกโซ่ได้ 6 ชั่วโมง
วันที่ 14 อาตมาเดินได้อีก 6 ชั่วโมง แต่ตอนบ่าย เมื่อเดินจงกรมอยู่รู้สึกผิดปกติ กะพริบตารู้ กลืนน้ำลายรู้ ยกมือจะหยิบอะไรก็เริ่มรู้ ก็นึกอยู่ในใจว่า การปฏิบัติธรรมะครั้งนี้ อาจรู้ธรรมะบ้างไม่มากก็น้อย
ต่อไปวันที่ 15 อาตมาเดินได้ 7 ชั่วโมง เพราะตามธรรมดาอาตมาเดินตั้งแต่ตีสี่ วันนั้นพอหกโมงเศษ หลวงปู่ท่านก็มาเดินจงกรมด้วย พอเห็นท่าน ก็นึกว่าจะไปกราบท่าน ท่านก็เลยเดินเข้ากุฏิไปเลย
แล้วในวันนั้น ตอนบ่าย ๆ อาตมาเดิน ๆ อยู่ ก็รู้ธรรมะว่า ให้เอาสติตามกายเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ อาตมาก็เกิดปีติดีใจมาก หลวงปู่มาก็กราบเรียนหลวงปู่ ท่านก็บอกว่า อย่าไปเชื่อมัน ให้รีบปฏิบัติเข้า อาตมาก็ปฏิบัติต่อไปอีก
จนวันที่ 5 อาตมาก็ปฏิบัติเดินกับนั่ง เป็นลูกโซ่ได้ 35 ชั่วโมงวันนั้นเดินจงกรมอยู่ตอนบ่าย ๆ ก็รู้ธรรมะอย่างหนึ่งว่า จิตในจิต คือความคิดในความคิด ก็เกิดปีติดีใจอีกนะ แต่ก็นึกว่าหลวงปู่ท่านเคยบอกไว้แล้วว่า อย่าไปเชื่อมัน ให้รีบปฏิบัติ
แล้วหลวงปู่ก็มาสอบอารมณ์ กราบเรียนท่านทุกอย่าง ท่านก็เปลี่ยนการปฏิบัติ ให้ยืนรู้ดูความคิด เดินรู้ดูความคิดนั่งรู้ดูความคิด นอนรู้ดูความคิด
เมื่อก่อนท่านสอนแต่เพียงว่ายืนรู้ เดินรู้ นั่งรู้ นอนรู้ ตอนนี้เปลี่ยนเป็นให้ดูความคิด แล้วท่านสอนว่าให้รีบปฏิบัติต่อ
อาตมาก็ปฏิบัติเข้าไปถึงวันที่เจ็ด เดินกับนั่งสลับกันได้ 55 ชั่วโมง ในวันนั้นอาตมานั่งตั้งแต่ตีสี่ นั่งดูความคิด
พอตีห้ายี่สิบก็รู้ธรรมะว่า โทสะโมหะ โลภะ เป็นสาเหตุทำให้เกิดทุกข์ เวลาจะให้ไม่เกิดทุกข์ ต้องเอาสติเฝ้าดูความคิดอยู่ โทสะ โมหะ โลภะ ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ แล้วรู้มาอีก ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน คนมีก็ทุกข์ คนจนก็ทุกข์ ก็เกิดปีติดีใจอีก
พอหลวงปู่มา ก็กราบเรียนท่านทุกอย่าง ท่านก็จูงมือเดินไปที่พื้นทราย แล้วท่านนั่ง ท่านให้อาตมานั่ง ท่านก็เอานิ้วชี้ของท่านเขียนที่พื้นทราย เป็นแม่น้ำสองฝั่ง ท่านบอกว่าอาตมามาถึงฝั่งแล้วนะ ยังไม่ข้ามฟาก ให้ปฏิบัติทำมือไว ๆ รีบปฏิบัติเข้าอาตมาก็ปฏิบัติต่อไปอีก
ถึงวันที่ 19 อาตมาเดินได้ 148 ชั่วโมง เสร็จแล้วอาตมาก็นั่งดูความคิดอยู่ตั้งแต่ตีสี่ พอตีห้า ห้านาที ก็รู้ธรรมะ รู้ธรรมในทำ ทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีสติรู้อยู่ นั่นแหละคือธรรมในทำ เสร็จแล้วก็มีแสงสว่างโพลงขึ้นมาภายในกุฏิ สว่างไปหมดทั้งกุฎิเลย เดินมองหน้ามองหลัง มองข้างหน้า มองข้างหลัง มองข้างซ้าย ข้างขวา สว่างไปหมด ก็นึกว่าหลวงปู่ท่านเคยเขียนหนังสือไว้ว่า สว่างที่กลางใจ แต่ของอาตมานี้ทำไมสว่างไปหมดทั้งห้อง มองเห็นเป็นธรรมะไปหมด พอสักพักหนึ่งก็หายไป
พอเช้าหลวงปู่ท่านก็มาสอบอารมณ์อีก อาตมาก็กราบเรียนท่าน ท่านก็จูงไปเข้าห้องว่างห้องหนึ่ง แล้วท่านก็ปิด ท่านเข้าไป ท่านให้อาตมาเข้าไป แล้วท่านก็ปิดประตู ท่านจูงอาตมาเดินไปรอบ ๆ ห้อง เสร็จแล้วท่านก็ออกมาเปิดประตู แล้วท่านก็ออกไป แล้วท่านก็ให้อาตมาออก
ท่านบอกว่าข้างนอกนี้มันกว้างขวางมากนักรู้ไหม
อาตมาก็บอกว่า รู้ครับ เพราะว่าหลวงปู่เคยสอนว่า การปฏิบัติธรรมนี้ ไม่ให้เอาจิตใจออกนอกกาย ถ้าออกไปก็ดึงเข้ามาอยู่กับการเคลื่อนไหวของกายและใจ เวลามันออกไปทีไร ก็ให้ดึงเข้ามาทุกครั้ง แล้วก็อย่าให้เข้าไปอยู่ในความคิด เมื่อมันคิดปุ๊บขึ้นมา ให้มีสติรู้ ดึงเข้ามาอยู่ที่การเคลื่อนไหว ของกาย และใจ เมื่อมันคิดดีหรือไม่ดีก็ให้มีสติรู้ ดึงให้เข้ามาอยู่ในการเคลื่อนไหว แล้วท่านก็บอกว่าให้รีบปฏิบัติเข้า
อาตมาก็ปฏิบัติไป ปฏิบัติไป ก็รู้มาว่า คนเรานี้เกิดทุกข์เพราะความคิด
ถ้าเราไม่ให้มันคิดได้ไหม
ไม่ได้ ห้ามความคิด ห้ามไม่ได้ มีทางเดียวคือ เราไม่รับฟัง ถึงแม้คิดดี เรามีสติรู้ เราก็สลัดทิ้งไป คิดไม่ดี เรามีสติรู้ เราก็สลัดทิ้งไป มันคิดมาดี คิดมาไม่ดี มีสติรู้ สลัดทิ้งไป ทำให้จิตใจเรานี้สงบ ทำให้จิตใจสะอาด ทำให้จิตใจเราสบาย ทำให้จิตใจเราบริสุทธิ์ ทำให้จิตใจเป็นปกติ ทำให้จิตใจผ่องใส ทำให้จิตใจว่องไว สามารถที่จะรู้อะไรทุกหนทุกแห่ง ทุกแง่ทุกมุม อันนี้เป็นจิตใจของพระพุทธเจ้า เหมือนดังที่หลวงปู่ท่านกล่าวย้ำอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายคล้ายเราตถาคต สัตว์ทั้งหลายเหมือนเราตถาคต สัตว์ทั้งหลายเป็นตถาคต ที่นั้นพระตถาคตไปถึงแล้ว ที่ ๆ ไม่มีทุกข์ จึงได้นำเอามาสอนให้พวกพระคุณท่าน ให้พวกท่านทั้งหลาย จงรีบประพฤติปฏิบัติให้รู้ให้เห็นให้เป็นให้มี เหมือนอย่างเราตถาคตนี้
ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ
ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532
หลวงพ่อเทียน
ความมหัศจรรย์ในพระธรรมดา
นายแพทย์วัฒนา สุพรหมจักร
ถ้าท่านทั้งหลาย ได้พบกับหลวงพ่อเทียน ก็คงจะมีความเห็นคล้ายกันว่า ท่านเป็นหลวงตาที่มีความสงบและพูดน้อย เช่นเดียวกับหลวงตาที่พบเห็นทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าได้สังเกตตัวท่านบ้าง ก็จะรู้สึกว่า ท่ามกลางความสงบนั้น ท่านมีความตื่นตัว รู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา และเมื่อมีโอกาสซักถามปัญหาต่าง ๆ ก็ได้ประสบกับความมหัศจรรย์ของหลวงตา ผู้ที่เกือบจะเรียกได้ว่าไม่รู้หนังสือ ที่เน้นสอนเรื่องสติอย่างเดียวมาตลอด ได้แสดงออกถึงปัญญาอันหลักแหลม โดดเด่นในการตอบปัญหา แทบจะเรียกได้ว่า“เหลือเชื่อ” สำหรับผู้ที่ไม่เคยผ่านการศึกษาเล่าเรียนในรูปแบบที่เรายอมรับและยกย่องกัน จะสามารถตอบชี้แจงด้วยคำพูดที่ง่าย กระชับ เต็มไปด้วยความหมายเข้าใจได้ชัดเจน หมดข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเรียกขานท่านในชื่อใด สมญานามใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่ท่านสอนหรือตอบนั้น แม้ในคำถามพื้น ๆ ธรรมดาที่เราสงสัยก็เต็มไปด้วยคุณค่า เปรียบได้ดังกับการจุดไม้ขีดไฟให้ความสว่างในความมืด ทำให้เห็นหนทางหรือเกิดความสว่างในปัญญา อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องการและแสวงหา ที่อยู่ท่ามกลางความมืด ความไม่รู้ ความสงสัย ความไม่เข้าใจทั้งหลายไม่มากก็น้อย
คำตอบและข้อคิดเห็นต่อไปนี้ได้จากคำถามที่ข้าพเจ้า และคณะแพทย์ผู้รักษามีความสงสัยได้ถามท่านในช่วงเวลา 5 ปีสุดท้าย ขอบันทึกไว้เพื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ทั้งนี้ ไม่ได้หวังเพื่อจะยกย่องเชิดชู หรือชักจูงให้เลื่อมใสโดยปราศจากวิจารณญาณไตร่ตรอง ซึ่งเป็นเอกสิทธิของแต่ละบุคคลที่เราพึงควรเคารพ
1) ศาสนา
หลวงพ่อกล่าวถึงศาสนาว่า “ศาสนาคือ คน” เมื่อฟังหรืออ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจ จึงได้ถามท่านว่าศาสนา คือ “คน” จริงหรือไม่ ท่านตอบว่า
“ศาสนาเป็นเพียงคำที่เราเรียก คำสอน คน โดย คน ที่ถือว่าเป็นผู้รู้ มีหลายอย่าง เวลาจะให้พูดเรื่องศาสนา จะมีแต่ทำให้เกิดข้อสงสัยและโต้เถียงกัน ขอไม่พูด แต่ถ้าอยากรู้ว่าความจริงของชีวิตเป็นอย่างไร จะเล่าให้ฟัง เมื่อรู้แล้วจะหมดสงสัยในคำว่า ‘ศาสนา’ ”
2) หลวงพ่อเทียนสอนแบบฉีกตำรา ?
ข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านว่า คนทั่วไปย่อมยึดถือพระไตรปิฎกเป็นตำราในการศึกษาพุทธศาสนา แต่เวลาหลวงพ่อสอนไม่ค่อยเห็นพูดถึงเลย ท่านให้ความเห็นว่า
“พระไตรปิฎกนั้นจารึกหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานหลายร้อยปีและคัดลอกต่อกันมานับพันปี คนเขียนคงเขียนดีแล้ว แต่คนอ่านจะเข้าใจเหมือนคนเขียนหรือไม่ ยังสงสัย ถ้าจะเอาแต่อ้างตำรา ก็เหมือนกับว่าเราต้องรับรองคำพูดของคนอื่นซึ่งหลวงพ่อไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่เล่าให้ฟังนั้นขอรับรองคำพูดของตัวเองเพราะจากประสบการณ์จริง ๆ”
“ตำราเปรียบเสมือนแผนที่ เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ทางไปหรือยังไปไม่ถึงจุดหมาย ผู้ที่ไปถึงแล้วแผนที่ก็หมดความหมาย”
“พระไตรปิฎกเขียนด้วยภาษาอินเดีย เหมาะสำหรับคนอินเดียหรือคนเรียนภาษาอินเดียอ่าน แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องผูกขาดของคนใดคนหนึ่ง เป็นเรื่องอยู่เหนือภาษา เชื้อชาติ เพศและเวลา ถ้าเรารู้ธรรมะที่แท้จริงแล้วจะต้องรู้ และเข้าใจในภาษาของเราได้”
“การศึกษาพระไตรปิฎกนั้นดี แต่อย่าให้ติดและเมาในตัวหนังสือ มะม่วงมีชื่อเรียกหลายอย่างหลายภาษา อย่ามัวแต่ถกเถียง ตีความ หรือยึดถือว่าจะต้องเรียกอย่างไร แล้วปล่อยให้มันเน่า ใครที่ได้กินมะม่วงก็ย่อมรู้ว่ารสมะม่วงเป็นอย่างนั้นเอง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไรหรือไม่มีชื่อเลยก็ตาม”
3) เรื่องของพระอานนท์
ข้าพเจ้ามีความสงสัยตลอดมาว่า ทำไมพระอานนท์จึงไม่ได้เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๆ ที่ได้ยิน ได้ฟัง รู้คำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าใคร ๆ หลวงพ่อตอบว่า
“พระอานนท์รู้เรื่องพระพุทธเจ้ามากก็จริง แต่ยังไม่รู้จักตนเอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วได้เรียนรู้ตนเอง จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์
4) ธรรมะไม่ใช่เสื้อผ้า
หลวงพ่อเคยกล่าวว่า ท่านเคยมีความเข้าใจผิด คิดว่าธรรมะเป็นสิ่งนอกกาย เหมือนกับเสื้อผ้าที่จะต้องเสาะแสวงหามาห่อหุ้มสวมใส่ แท้ที่จริงแล้วธรรมะนั้นมีอยู่ในตัวเรานี่เอง
5) จริง สมมติ
ท่านกล่าวว่า คนมีอายุยืน มีความจำและความคิดมากกว่าสัตว์ ครั้นอยู่กันเป็นหมู่มาก จำเป็นต้องตั้งหรือสมมติกฎเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อให้มีความสงบสุขในสังคม เมื่อเวลาผ่านไป คนรุ่นหลังย่อมหลง ยึดว่าสิ่งสมมตินั้นเป็นความจริง เมื่อมีคนบอกว่าสิ่งที่เขาว่าจริงนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งสมมติ คนส่วนใหญ่จะไม่ยอมเชื่อ ซึ่งก็เป็นธรรมดา
“ที่เรียกว่าเงินนั้น ที่จริงแล้วเป็นกระดาษ เมื่อใช้แล้วมีคนยอมรับจึงมีค่า เวลาไม่ยอมรับก็เป็นเพียงกระดาษ ในสังคมปัจจุบัน เราใช้เงินเป็นตัวกลางเพื่อแลกเปลี่ยน ชีวิตใด ครอบครัวใดไม่มีเงิน จะอยู่ได้ด้วยความเดือดร้อน เงินซื้อความสะดวกและความพอใจได้ แต่ซื้อความหมดทุกข์ไม่ได้
6) คนรักษาศีล หรือ ศีลรักษาคน
ทำไมจึงต้องคอยรักษาศีล เหมือนรักษาแก้วไม่ให้มันแตก
ทำไมเราจึงไม่ประพฤติปฏิบัติตัวให้มีศีลเล่า
ศีลจะได้รักษาเราแล้วจะได้ไม่ห่วงคอยรักษาศีล
7) การปฏิบัติธรรม
เคยถามท่านว่าทำไมการสอนและการปฏิบัติธรรมจึงมีความแตกต่างกันไปตามสำนักต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ท่านตอบว่า เรื่องนี้เป็นธรรมดา แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีคนกล่าวว่ามีตั้ง 108 สำนัก แต่ละแห่งก็ต้องว่าของตัวถูกต้อง อีก 107 แห่งเป็นมิจฉาทิฐิ ตัวเราเองจะต้องเป็นคนไตร่ตรองพิจารณาเอง การที่เป็นคนเชื่อง่าย หรือเป็นคนเชื่อยากไม่ฟังคนอื่น ต่างก็ไม่ดีทั้งนั้น ถ้าการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ทุกข์หมดไป ถือว่าได้ สำหรับเรื่องธรรมะนั้น คนที่รู้ธรรมะที่แท้จริงจะต้องรู้อย่างเดียวกัน”
เมื่อมีคนถามถึงการปฏิบัติธรรมะในรูปแบบอื่น ๆ ว่าดีหรือไม่ท่านกล่าวว่า
“ดีของเขา ไม่ใช่ดีของเรา”
8) ทำดี ทำชั่ว
เคยถามท่านว่า มีคนสงสัย ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่ ท่านให้ความเห็นว่า
“ดีชั่วเป็นเรื่องของสังคมกำหนด ดีในที่หนึ่ง อาจจะเป็นชั่วอีกที่หนึ่ง เราควรจะพูดให้เข้าใจใหม่ว่า ทำดีมันดี ทำชั่วมันชั่ว”
9) การศึกษาธรรมะ
ท่านเคยกล่าวถึงการศึกษาธรรมะว่า “การศึกษาธรรมะเพียงเพื่อเอาไว้พูดคุย ถกเถียงกันนั้น ได้ประโยชน์น้อย เราต้องนำมาใช้และปฏิบัติให้ถึงที่สุด จะได้ประโยชน์มากกว่า”
10) เรื่องของพระพุทธเจ้า
เคยมีการกล่าวถึงปัญหาพระบรมสารีริกธาตุ ว่าเป็นแก้วผลึกหรือเป็นเพียงกระดูกที่ไฟเผา เมื่อได้ขอความเห็น ท่านกลับตอบว่า
“เรื่องของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องของเรา
เรื่องของเราไม่ใช่เรื่องของพระพุทธเจ้า
แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักเรื่องของเรา
เมื่อรู้เรื่องตัวเองดีแล้ว ถึงพระพุทธเจ้าจะเสด็จมาหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา”
11) การเชื่อ
หลวงพ่อได้กล่าวอยู่เสมอว่า เราไม่ควรด่วนเชื่อทันทีและไม่ควรปฏิเสธทันทีเช่นกัน ควรพิจารณาไตร่ตรองให้ดีหรือทดลองเสียก่อน จึงจะเชื่อหรือไม่เชื่อ
ในพุทธประวัติก็มีตัวอย่าง เช่น องคุลีมาลเป็นคนที่เชื่อง่าย อาจารย์สั่งให้ฆ่าคนตั้งมากมายก็ยังทำ หรือเมื่อปริพาชกพบพระพุทธเจ้า ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีลักษณะน่าเลื่อมใส แต่ก็ไม่เชื่อว่าพระองค์ตรัสรู้ได้ด้วยตัวเองจึงหลีกไป ไม่มีโอกาสได้ศึกษาจากพระพุทธเจ้า
12) การศึกษาทำให้คนดี ชั่วจริงหรือไม่ ?
เคยถามว่า ทำไมผู้ที่เคยบวชเรียนมามาก บางคนเมื่อสึกไปแล้วกลับประพฤติตัวเหลวไหลยิ่งกว่าชาวบ้านที่ไม่เคยบวชเรียนเลย หลวงพ่อตอบว่า
“คนเหล่านั้นเรียนแต่ตัวหนังสือ ไม่เคยเรียนรู้ตัวเอง”
13) ปัญหาปลีกย่อย
หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า คนจำนวนไม่น้อยที่มาหาท่านแล้วถามแต่ปัญหาปลีกย่อย เช่น ทำบุญเช่นนี้ได้บุญแค่ไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ฯลฯ มีน้อยครั้งที่จะมีคนถามว่า พุทธศาสนาสอนอย่างไร จะเอาไปใช้ได้อย่างไร หรือ ที่จะทำให้ทุกข์น้อยลงควรทำอย่างไร ครั้นจะให้หลวงพ่อถามเองตอบเองก็ดูกระไรอยู่
14) หนา
ข้าพเจ้าเคยนิมนต์ท่านให้ไปสอนผู้ที่เคารพนับถือคนหนึ่ง ที่ติดและเลื่อมใสในการทำบุญตามประเพณีมาก เมื่อได้ถามท่านหลังจากที่ท่านกลับมาแล้ว ท่านตอบว่า
“โยมคนนี้เป็นคนหนา เราเคยอ่านพุทธประวัติหรือไม่ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ ก่อนที่จะไปโปรดปัญจวัคคีย์ พระองค์ได้ระลึกถึงอุทกดาบสและอาฬารดาบส แต่แล้วก็ทราบว่าท่านทั้งสองได้ตายเสียแล้ว หลวงพ่อสงสัย ว่าพึ่งจากกันไม่นานจะตายทางร่างกายหรือไม่นั้นยังสงสัย แต่ที่ตายแน่ ๆ คือ ความคิด”
15) หลงในความคิด
หลวงพ่อเคยกล่าวว่า คนเรานั้นคิดอยู่เสมอเหมือนกระแสน้ำ การหลงติดกับความคิดก็เหมือนการตักน้ำมาเก็บไว้ แต่ถ้ามีสติรู้เท่าทัน ความคิดนั้น ๆ ก็เหมือนกับน้ำที่ไหลมา แล้วก็ผ่านไป การหลงติดในความคิดทำให้เกิดทุกข์
16) ทำตามใจคนอื่น
เคยถามหลวงพ่อว่า คนเดี๋ยวนี้มีการศึกษาก็มาก แต่ทำไมจึงยังแก้ทุกข์ไม่ได้ ท่านตอบว่า
“คนส่วนใหญ่ทำตามใจคนอื่น ไม่ทำตามใจตัวเองจึงเป็นเช่นนี้”
17) สมณศักดิ์
เคยถามท่านว่าสมัยพระพุทธเจ้าไม่มีสมณศักดิ์ แต่ทำไมปัจจุบันในเมืองไทยจึงมีมากนัก ดีหรือไม่ ท่านตอบว่า
“สมณศักดิ์เป็นเรื่องของสังคม จะเรียกว่าดีก็ได้ หรือไม่ดีก็ได้แต่เราอยู่ในสังคมของเขา”
18) อดีต ปัจจุบัน อนาคต
ท่านกล่าวอยู่เสมอว่า อดีตผ่านไปแล้วแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง มีแต่ปัจจุบันนี้ที่เรายังทำอะไรได้ ถ้าทำดีวันนี้ วันนี้ก็จะเป็นอดีตที่ดีของวันพรุ่งนี้ และในวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นอนาคตที่ดีของวันนี้ที่ทำดีแล้ว จะไปห่วงอะไรกับสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ และสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ที่แก้ทุกข์ในปัจจุบันนี้ไม่ได้
19) พระเวสสันดร
เคยเรียนถามว่าเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งเป็นตัวอย่างทานบารมี แต่ดูคล้ายกับว่าเป็นคนไม่รับผิดชอบต่อ บุตร ภรรยา การให้ทานเช่นนี้ทำให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าจริงหรือ ท่านตอบว่า
“เรื่องพระเวสสันดรเป็นเรื่องเล่าต่อกันมา ถ้าเราคิดว่าจริง เราควรบริจาคทานภรรยาและลูกของเราเอง ให้แก่กรรมกรหรือชาวนา ไปช่วยเขาทำงาน แล้วเราก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าจะเปรียบเทียบใหม่ว่าสิ่งที่ติดตัวเรา ผูกพันเหมือนบุตร ภรรยา ก็คือ ความโลภ ความโกรธและความหลง เราบริจาคหรือท่านสิ่งนี้ไปเสีย จะพอเข้าใจได้ไหม”
20) อริยบุคคล
หลวงพ่อกล่าวว่า
“ในทางร่างกาย อริยบุคคลกับคนธรรมดานั้นไม่ต่างกัน มีแต่เรื่องจิตใจเท่านั้นที่อริยบุคคลดีกว่า เหนือกว่าบุคคลธรรมดา”
21) บุญ
เมื่อข้าพเจ้าถามท่านว่า “ทำบุญได้บุญจริงหรือ”
ท่านได้ถามว่า “เข้าใจว่าบุญเป็นอย่างไร”
เมื่อเรียนให้ท่านทราบว่า บุญนั้นเข้าใจว่าเป็นผลดี ตอบแทนเมื่อเราตายไปแล้ว
ท่านถามว่า “เคยฟังพระสวดอานิสงส์การทอดกฐินหรือไม่ ที่ว่าจะได้ฌานและนางฟ้าเป็นบริวารห้าร้อยองค์ หรือพันองค์ จงคิดดูว่าวัดในเมืองไทยมีกี่วัด ถ้ามีการทอดกฐินทุกวัด ทุกปีจะไปหานางฟ้าที่ไหนมาให้จึงจะพอ เราคิดว่าพระเป็นเสมือนพนักงานธนาคาร ที่คอยคิดดอกเบี้ยให้ เวลาเราตายอย่างนั้นหรือ”
ข้าพเจ้าได้ถามท่านต่อว่า “ถ้าเช่นนั้นการทำบุญด้วยวัตถุอย่างที่เป็นอยู่ทั่วไปนั้น ท่านเห็นเป็นอย่างไร”
ท่านตอบว่า
“การทำบุญด้วยวัตถุก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นเพียงข้าวเปลือก เอาไว้ทำพันธ์ เวลาเราจะกินให้ได้ประโยชน์ ต้องกินข้าวหุงหรือข้าวนึ่งสุก ไม่ใช่ข้าวสารหรือข้าวเปลือก การหลงติดอยู่กับการทำบุญด้วยวัตถุอย่างงมงาย เป็นความหลงที่อยู่ในความมืด ที่เป็นสีขาว บุญเหนือบุญ ก็คือ การรู้จักตัวเอง ไม่มีทุกข์นี้แหละ”
22) บังสุกุล
เคยถามท่านว่า “เวลาเราบังสุกุลให้ผู้ตาย เขาได้หรือไม่” ท่านตอบ ว่า
“การบังสุกุลเป็นเพียงประเพณีที่คนอยู่ทำขึ้น เนื่องจากยังห่วงใยในคนที่ตายไปแล้ว ที่ว่าคนตายจะได้หรือไม่ ยังสงสัย แต่ผู้ที่ได้แน่ ๆ คือพระ เราคิดว่าพระทำหน้าที่แทนบุรุษไปรษณีย์ได้หรือ ?”
23) นักศึกษา
หลวงพ่อเคยเปรียบเทียบว่า คนที่ได้รับการศึกษานั้นมี 2 จำพวก
พวกแรก เป็นผู้ที่รู้แจ้ง หรือรู้จริง เป็นบัณฑิต พูดแล้ว เข้าใจได้เลย
อีกพวกหนึ่ง เป็นเพียงผู้รู้จักและรู้จำ ซึ่งเวลาพูดจะพูดมาก คำพูดอ้อมค้อมฟุ่มเฟือย หรือไม่ก็อ้างตำรามากมาย เพื่อชักจูงให้คนเชื่อทั้งนี้ เพราะตัวเองไม่รู้จริง
24) แสงตะเกียง
ในระยะหลัง ๆ ที่หลวงพ่อสุขภาพไม่ค่อยดี ภรรยาของข้าพเจ้าได้ปรารภกับท่านด้วยความเป็นห่วงเรื่องการสอนธรรมะ หลังจากที่ท่านจากไปแล้ว ว่าจะเป็นอย่างไรนั้น ท่านตอบว่า
เรื่องนี้อย่าเป็นห่วงเลย ตราบใดที่ยังมีคนอยู่ก็จะมีคนรู้ธรรมะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เพราะธรรมะไม่ใช่เรื่องผูกขาดเป็นของส่วนตัว ธรรมะมีมาก่อนสมัยพุทธกาล แต่พระพุทธเจ้าเป็นคนแรกที่ทรงนำมาสอนและเผยแพร่ คนที่รู้ธรรมะนั้นเปรียบได้เหมือนกับตะเกียงที่จุดสว่างขึ้นในความมืด คนที่อยู่ใกล้จะเห็นชัด คนที่อยู่ไกลก็เห็นชัดน้อยลง สักพักหนึ่งตะเกียงจะดับไปและจะมีการจุดตะเกียงให้สว่างขึ้นอีกเป็นครั้งคราว
25) ลูกศิษย์หลวงพ่อ
เมื่อได้เรียนถามท่านว่า มีลูกศิษย์ท่านใดบ้างที่คิดว่าเป็นอย่างหลวงพ่อ
ท่านตอบว่า
เรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตใจ เราหยั่งถึงจิตใจคนอื่นได้ยาก แต่คำพูดที่พูดออกมานั้น เราเข้าใจกัน
26) เรียนกับใคร
ในการเข้ารักษาตัวครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาลสมิติเวช ท่านปรารภว่า การเจ็บป่วยคราวนี้เป็นเรื่องที่หนัก ท่านเองก็ได้แต่เฝ้าดูลมหายใจของตนเองว่า จะหยุดเมื่อใด ข้าพเจ้าจึงได้ถามตรง ๆ ว่า เมื่อสิ้นหลวงพ่อแล้วจะแนะนำให้ศึกษาธรรมะกับใคร จึงจะได้ผลดีที่สุด ท่านตอบว่า จงศึกษาธรรมะจากตัวเอง ดูจิตใจตัวเองดีที่สุด
27) เชือกขาดเป็นอย่างไร
เมื่อได้อ่านประสบการณ์ของท่านที่กล่าวว่า ในช่วงสุดท้ายมีความรู้สึกเหมือนเชือกขาดจากกันนั้น เข้าใจได้ยาก ท่านได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
“คำพูดเป็นเพียงการสมมุติว่าเสียงนั้น ๆ หมายถึงอะไร มันไม่มีคำพูดที่จะอธิบายภาวะดังกล่าว ถ้าเราเอาสีขาวกับสีดำซึ่งห่างกันเพียง 1 เซนติเมตร ค่อย ๆ ผสมให้กลืนกัน ตรงกลางเราเรียกสีเทาใช่ไหม แต่ถ้าหากสองสีนี้ห่างกัน 10 เมตร แล้วให้สีทั้งสองค่อย ๆ กลืนกัน จะให้อธิบายว่า จุด ๆ หนึ่งระหว่างนั้นเรียกว่าสีอะไร มันไม่มีคำพูดจะกล่าวให้เข้าใจ ต้องรู้เห็นเอง”
“เคยเห็นเมฆหน้าฝนไหม เนื่องดูคล้ายเป็นรูปเงาต่าง ๆ แต่ถ้าเรานั่งเครื่องบินเข้าไปอยู่ในก้อนเมฆนั้น ๆ เราไม่เห็นอย่างที่เห็นก่อนเข้ามาดอก ภาวะดังกล่าวไม่มีคำพูดที่จะอธิบาย มันอยู่เหนือตัวหนังสือ การประมาณคาดคะเนหรือความเข้าใจไปเองว่าจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องรู้เองเห็นเอง”
28) ผู้ที่เข้าใจท่านพูด
เคยถามท่านถึงจำนวนผู้ที่เข้าใจหลังจากที่ได้แสดงธรรมะ หรืออบรมว่ามีสักเท่าใด ท่านตอบว่า
“คงจะได้สัก 10-15% เรื่องนี้เป็นธรรมดา คนที่พร้อมจึงจะเข้าใจได้ คนส่วนใหญ่ยังติดทางทำบุญ”
29) พระกราบโยม
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านไปประเทศลาว ได้รับนิมนต์ไปสวดต่ออายุให้แม่ของชาวบ้าน หลวงพ่อไม่สวด เขาภาพเขาจึงไม่ถวายจตุปัจจัย แต่หลวงพ่อได้ชี้แจงเรื่องการต่ออายุพ่อแม่ว่า ต้องพระทำดีต่อพ่อแม่ ไม่ใช่เพียงแต่มีการสวดมนต์แล้วหวังจะให้พ่อแม่มีอายุยืน และได้พาลูก ๆ กราบพ่อแม่เป็นครั้งแรกตามท่าน ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ฮือฮากันว่าผิดประเพณี ไม่เคยเห็นพระกราบโยม ซึ่งหลวงพ่อกล่าวว่า
“ที่อาตมาพาลูกกราบแม่ตามอาตมานั้น อาตมาไม่ได้กราบโยม แต่อาตมากราบตัวเอง ที่สามารถสั่งสอนคนให้เข้าใจได้ว่า การต่ออายุที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร”
30) วิปัสสนาแล้วเป็นบ้า?
ได้เรียนถามท่านว่า การนั่งวิปัสสนาทำให้คนเป็นบ้า ตามที่มีจิตแพทย์บางคนกล่าว จริงหรือ ท่านตอบว่า
“คนที่ไม่รู้จักจิตใจตัวเองนั่นแหละคือคนบ้า การนั่งวิปัสสนาเป็นการศึกษาให้รู้จักจิตใจตัวเอง ถ้านั่งแล้วเป็นบ้าไม่ใช่วิปัสสนา”
31) นิพพาน
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เคยถามโยมผู้ที่เคยอธิษฐานหลังการทำบุญว่า ขอให้อานิสงส์ การทำบุญทำให้เขาเข้าถึงนิพพานในอนาคตกาลด้วยนั้น ว่า
“โยมเข้าใจว่าจะไปถึงนิพพานเมื่อใด”
ชาวบ้านตอบว่า “เมื่อตายไปแล้ว”
ท่านถามต่อว่า “อยากไปถึงนิพพานจริง ๆ หรือ”
ชาวบ้านก็ตอบว่า “อยากไปถึงจริง ๆ”
ท่านจึงพูดว่า “ถ้าเช่นนั้นโยมควรตายเร็ว ๆ จะได้ไปถึงนิพพานไว ๆ”
ชาวบ้านตอบด้วยความงงว่า “ยังไม่อยากตาย”
ท่านจึงชี้แจงให้ฟังว่า “นิพพานก็อยากไป แต่ทำไมไม่อยากตายเร็ว นี่โยมเข้าใจผิดแล้ว
พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้คนไปนิพพานเมื่อตายแล้ว แต่สอนคนเป็น ๆ ให้ไปถึงนิพพานขณะที่มีชีวิตอยู่”
32) อธิษฐาน
ข้าพเจ้าเคยถามท่านว่า ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ หลังจากได้ฉันอาหารของนางสุชาดา แล้วได้ลอยถาด ปรากฏว่าลอยทวนกระแสน้ำ ซึ่งดูผิดธรรมชาติ ท่านมีความเห็นอย่างไร ท่านชี้แจงว่า
“ของทุกอย่างย่อมลอยตามกระแสน้ำ เรื่องนี้เป็นการทวนกระแสความคิดที่มีอยู่เป็นอยู่ เวลาเราคิดย้อนกลับขึ้นไปบ้าง ก็จะรู้ความจริงว่าเป็นอย่างไร”
33) ทุกข์
เคยมีคนถามท่านว่า ทุกข์คืออะไร ท่านได้เอาของใส่มือให้กำไว้แล้วคว่ำมือลงและแบมือ ท่านได้ชี้ไปที่ของซึ่งหล่นจากมือไปสู่พื้นว่า
“นี่คือทุกข์”
ผู้ถามก็เข้าใจทันทีว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่เราสร้างสมมติขึ้นและยึดถือไว้ ปล่อยวางได้ ท่านไว้กล่าวถึงผู้ที่เข้าใจโดยเร็วนี้ว่า
“เป็นผู้มีปัญญา”
34) บวช-สึก
เมื่อข้าพเจ้าได้ผ่าตัดกระเพาะอาหารท่านออกเกือบหมด และได้แนะนำให้ท่านฉันอาหารจำนวนน้อย แต่บ่อย ๆ ท่านเคยปรารภว่า ท่านปฏิบัติเช่นนี้ วินัยหย่อน จะมีคำครหาได้ อยากไปขอสึก เพราะท่านจะเป็นพระหรือไม่ ก็ไม่ต่างกัน จิตใจของท่านไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว
35) รู้จักหลวงพ่อเทียนไหม ?
ท่านเคยเล่าให้ฟังเมื่อตอนที่ท่านกำลังคอยรับการฉายรังสีที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มีคนถามท่านว่า “หลวงพ่อรู้จักหลวงพ่อเทียนไหม”
ท่านตอบว่า “พอรู้จักบ้าง”
หลังจากที่ได้พูดคุยเรื่องธรรมะกับท่านแล้ว คนนั้นก็สงสัยจึงถามอีกว่า
โฆษณา