9 ก.ค. 2021 เวลา 11:00 • สุขภาพ
แอ๊บผลเลือดได้มั้ย มาตรวจเลือดกัน ตรวจแล้วแปลผลกันอย่างไร เราจะแอ๊บผลเลือดได้หรือไม่?
สืบเนื่องจากโพสต์นี้ของคุณหมอหนอน>>ลิ้งค์นี้ 👇
คุณหมอหนอนโน้ตไว้ว่า
*..ถ้าเพื่อนๆ ท่านใด แอบสงกะสัยว่าการตรวจเลือดนั้น แปลผลกันอย่างไร & และแอ๊บได้จริงรึไม่? เดี๋ยวป้าพากะลังทำบทความอยู่..
🌟วันนี้มาแล้วค่ะ อย่างยาว ต้องทำทั้งพอดและบทความกันเลย
* ลิ้งค์ของพอดแคสต์ ที่นี่ค่ะ
* คือหมอเราจะพอรู้นะคะว่า คนไข้บางคนตั้งใจทำตัวดีเฉพาะ2-3 วันก่อนไปหาหมอเพื่อให้น้ำตาลในเลือดดูดี พอคล้อยหลังหมอ ตรวจเลือดเสร็จก็กินชดเชย..เช่นกินแบบหมอหนอน อุ๊ปส์..ลงบทความไว้..!
ป้าสังเกตุว่าหลายคนตรวจเลือดแล้ว ฟังผลแล้ว แต่เมื่อคุยกันใหม่ว่าได้ความว่ากระไร มักจำไม่ได้หรือไม่เข้าใจ ม่ะ คราวนี้เรามาคุยเรื่องผลเลือดกัน
Blood chemistry แปลว่า
“เคมีของเลือด”หมายถึงระดับของสารต่างๆที่อยู่ในเลือดซึ่งก่อปฏิกิริยาเคมีได้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสารเหล่านี้ บ่งบอกไปถึงว่าจะมีโรคอะไรเกิดขึ้นในร่างกายบ้าง
1. FBS มาจาก fasting blood sugar แปลว่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังการอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เป็นการตรวจสถานะของโรคเบาหวานโดยตรง
👉คนปกติค่านี้จะต่ำกว่า 100 mg/dL ถ้าของใครสูงเกิน 125 ก็ถือว่าเป็นเบาหวานแล้วอย่างบริบูรณ์
2. HbA1C ย่อมาจาก hemoglobin A1C แปลว่าระดับน้ำตาลสะสมเฉลี่ยสามเดือนในเม็ดเลือดแดง
👉ตัวนี้ดูระดับน้ำตาลคล้ายกันกับค่า FBS แต่เป็นตัวเลขที่บอกระดับน้ำตาลสะสมเฉลี่ยในช่วงเวลาย้อนหลัง คือตรวจอดีตได้
- ค่าตัวนี้ของใครถ้าสูงกว่า 6.5% ก็ถือว่าเป็นโรคเบาหวานไปแล้วแน่ ๆ
* ค่า HbA1C นี้ดีกว่าค่า FBS ในสองประเด็น คือ
- ทำให้เราตรวจคัดกรองเบาหวานได้ทุกเมื่อ โดยไม่ต้องอดอาหารมาล่วงหน้า
- และตอบบทความคุณหมอหนอนน้อยซ์..ว่า การตรวจเลือดแบบตั้งใจบิดเบือนหรือ"แอ๊บค่า"นั้น ทำไม่ได้ทั้งหมดค่ะ
🔺การตรวจตัวนี้ HbA1C เพราะมันสะท้อนค่าน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลาสามเดือนย้อนหลัง จึงตัดปัญหาระดับน้ำตาลขึ้นลงจากการตั้งใจ"แอ๊บ"ในช่วงหนึ่งวันก่อนการตรวจ
🦋คือหมอเราจะพอรู้นะคะว่า คนไข้บางคนตั้งใจทำตัวดีเฉพาะ2-3 วันก่อนไปหาหมอเพื่อให้น้ำตาลในเลือดดูดี พอคล้อยหลังหมอ ตรวจเลือดเสร็จก็กินชดเชย..เช่นกินแบบหมอหนอน อุ๊ปส์..ลงบทความไว้🥰
คนไข้แบบนี้การตรวจ HbA1C จะทำให้ทราบสถานะที่แท้จริงของเบาหวานดีกว่า
3. BUN หรือ blood urea nitrogen แปลว่าไนโตรเจนในรูปของยูเรีย
ยูเรียคืออะไร ยูเรียคือผลลัพธ์หรือเศษของเหลือจากการเผาผลาญโปรตีนที่ตับ
ซึ่งจะต้องถูกกำจัดทิ้งโดยไต ค่าปกติเลือดของคนเราวิ่งไปผ่านการกรองที่ไตด้วยอัตราตัวเลขคงที่ระดับหนึ่ง รายงานเป็นอัตราการไหลของเลือดผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที(ดูข้อต่อ ๆ ไป eGFR)
📌ถ้าพูดให้ละเอียดขึ้นคือ >> การวัดค่า BUN นี้เป็นการวัดปริมาณไนโตรเจนในกระแสเลือด ร่างกายจะย่อยสลายโปรตีนที่ตับ ชั้นต้น สารของเสีย จะอยู่ในรูปของแอมโมเนีย (NH) และต่อจากแอมโมเนีย จึงสร้างเป็นสารยูเรีย (urea) และจะนำของเสียดังกล่าวนี้ไปกำจัดผ่านไต เพื่อออกเป็นปัสสาวะต่อไป
🔺การวัดระดับค่าของ BUN จึงเป็นตัวบ่งบอกว่าเลือดไหลไปกรองที่ไตมากพอหรือไม่
ในภาวะที่เลือดไหลไปกรองที่ไตน้อยลง เช่นในภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่นท้องเสียรุนแรง
หรือสูญเสียเลือดไปทางอื่นเช่นเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือในภาวะช็อก 👇👇
ระดับของ BUN จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าปกติของ BUN คือ 8-24 mg/dL (หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)
4. Cr หรือ Creatinine คือเศษเหลือจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ
คือกล้ามเนื้อของคนเรานี้มันสลายตัวและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา คนมีกล้ามมากก็สลายตัวมากสร้างมาก Cr ซึ่งเป็นเศษซากที่สลายตัวออกมาจะถูกไตขับทิ้งไป
แต่ถ้าไตสูญเสียการทำงาน เช่นเป็นโรคไตเรื้อรัง ไตจะขับ Cr ออกทิ้งไม่ทันกับที่กล้ามเนื้อสลายออกมา ทำให้ระดับ Cr ในเลือดสูงผิดปกติ ค่าปกติของมันคือ 0.7-1.2 mg/dL
5. eGFR เรียกสั้นๆว่า จีเอฟอาร์ ย่อมาจาก estimated glomerular filtration rate แปลว่าอัตราการไหลของเลือด
ใช้ดูว่าปริมาณเลือดที่ผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที ค่านี้ได้จากการคำนวณเอาจาก Cr กับอายุ และชาติพันธุ์ของเจ้าตัว
🔺สมัยป้าจบเป็นแพทย์ใหม่ ๆ ห้องแล็บที่ยังไม่ทันสมัยจะไม่รายงานค่านี้ แต่สมัยนี้รายงานกันแทบทุกแลบแล้วค่ะ สมัยที่ไม่รายงาน ถ้าอยากทราบค่านี้ต้องเอาค่า Cr ที่ได้ไปเข้าสูตรคำนวณ GFR calculator ตามเว็บในอินเทอร์เน็ตเพื่อหาค่า
จีเอฟอาร์ นี้มีประโยชน์มากในแง่ที่ใช้แบ่งระดับความรุนแรงของโรคไต โดยคนที่ Cr ผิดปกติ(เป็นโรคไต)ว่ามีความรุนแรงเป็นโรคไตเรื้อรัง ระยะไหนของ 5 ระยะ ดังนี้
🔺ระยะที่ 1 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว แต่ไตยังทำงานปกติ (จีเอฟอาร์ 90 มล./นาที ขึ้นไป)
🔺ระยะที่ 2 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว และไตเริ่มทำงานผิดปกติเล็กน้อย (จีเอฟอาร์ 60-89 มล./นาที)
🔺ระยะที่ 3 ไตทำงานผิดปกติปานกลาง ไม่ว่าจะตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตหรือไม่ก็ตาม (จีเอฟอาร์ 30-59 มล./นาที)
🔺ระยะที่ 4 ไตทำงานผิดปกติมาก (จีเอฟอาร์ 15-29 มล./นาที)
🔺ระยะที่ 5 ระยะสุดท้าย (จีเอฟอาร์ต่ำกว่า 15 หรือต้องล้างไต)
6. Uric acid ก็คือกรดยูริกที่เป็นต้นเหตุของโรคเก้าท์นั่นแหละ ค่าปกติของ Uric acid ในผู้ชาย คือ 4.0 - 8.5 mg/dL. ค่าปกติของ Uric acid ในผู้หญิง คือ 2.7 - 7.3 mg/dL. ค่าปกติของ Uric acid ในเด็ก คือ 2.5 - 5.5 mg/dL.
👉ถ้าจำง่าย ๆ ค่าปกติ(รวม ๆ ) 3.4-7.0 mg/dL ค่ะ
ต่อไปเป็นชุดไขมันค่ะ
7. Triglyceride คือไขมันไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นไขมันก่อโรคชนิดหนึ่งในร่างกายเรา ระดับที่สูงจนต้องใช้ยาคือเกิน 200 mg/dl
8. HDL-cholesterol เรียกสั้น ๆ ว่าเอ็ช.ดี.แอล. เรียกอีกอย่างว่า “ไขมันดี”
👉เป็นไขมันที่ดึงไขมันที่พอกหลอดเลือดออกไปจากหลอดเลือด ดังนั้นยิ่งมีเอ็ช.ดี.แอล.มากก็ยิ่งดี
คนปกติควรมีเอ็ชดีแอล.เกิน 40 mg/dl ขึ้นไป ขึ้นกับเพศด้วย
ผู้หญิงจะมีค่าสูงกว่าเล็กน้อยค่ะ
9. LDL-cholesterol เรียกสั้นๆว่าแอลดีแอล. หรือเรียกอีกอย่างว่า “ไขมันเลว”
เป็นตัวไขมันที่พอกอยู่ที่ผนังหลอดเลือดและเป็นไขมันก่อโรคโดยตรง
🔺การจะตัดสินว่าคนไข้คนไหนควรกินยาลดไขมันเมื่อไหร่ก็ตัดสินกันจากระดับแอลดีแอล
โดยเทียบกับความเสี่ยงในการเป็นโรคที่แต่ละคนมีเป็นทุนอยู่แล้ว
- มีความเสี่ยงต่ำ จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 160
- มีความเสี่ยงปานกลาง จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 130
- มีความเสี่ยงสูง หรือเป็นโรคหัวใจ หรือเบาหวาน หรืออัมพาตแล้ว จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 100
10. Total Cholesterol หมายถึงโคเลสเตอรอลรวมในร่างกาย เป็นค่ารวมของไขมันสามอย่าง กล่าวคือ👇
โคเลสเตอรอลรวม = ไขมันดี (HDL) + ไขมันเลว (LDL) + หนึ่งในห้าของไขมันไตรกลีเซอไรด์
เดิมเราใช้ค่าโคเลสเตอรอลรวมตัวนี้ตัวเดียวในการประเมินว่า ไขมันในเลือดสุงหรือยัง
โดยถ้าตัวนี้(ผลรวม) สูงเกิน 240 mg/dl จึงจะถือว่าสูงและเริ่มใช้ยา
แต่สมัยนี้เราไม่ค่อยดูค่าโคเลสเตอรอลรวมกันเท่าไหร่แล้ว แต่ดูเจาะลึกลงไปถึงไขมันแต่ละชนิด และตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้ยาจากระดับไขมันเลว (LDL) ค่ะ
📌โดยไม่สนใจโคเลสเตอรอลรวมแล้ว เพราะค่านี้มักชักนำให้เข้าใจผิด
เช่น ถ้าดูค่าโคเลสเตอรอลรวมได้ 214 ซึ่งก็แค่สูงเกินพอดีไปบ้างแต่ไม่สูงถึงกับต้องใช้ยา แต่จริง ๆ แล้วผิด เพราะค่าโคเลสเตอรอลรวมดูต่ำอยู่ได้เพราะมีไขมันดี (HDL) ต่ำกว่าปกติ เลยพลอยทำให้ค่าโคเลสเตอรอลรวมต่ำไปด้วย ทั้งที่มีไขมันเลวอยู่ในระดับสูงถึงขั้นต้องใช้ยาแล้ว
มีรายละเอียดยุ่งยากอยู่ควรปรึกษาแพทย์ให้แปลผลด้วยจะถูกต้องกว่าค่ะ
สำหรับตัวอื่น ๆที่รวมอยู่ในการตรวจร่างกาย คือ
- การทำงานของตับและเอนไซม์ตับ
- การหาตัวเชื้อตับอักเสบ B (HBSAg) และ
- ภูมิต่อโรคตับอักเสบบี(anti HBS Ab) มีรายละเอียดอีกมากยาว..ค่ะ
ป้าขอยกไปรวมกันในตอนต่อ ต้องว่ากันอีกหนึ่งบทความเลยล่ะค่ะ
🥰วันนี้ไม่ค่อยสบายแต่ติดค้างคุณหมอหนอน คุณพี่สามล้อและแฟนคลับไว้ ลาป่วยแล้วดีขึ้นเลยมาทำอันนี้
1
🌿ป้าขอขอบคุณทุกการติดตาม การไลค์ บุคมาร์ค เม้นต์ และการแชร์ไปให้ได้อ่าน/ฟังกันเยอะ ๆ ไว้ด้วยค่ะ
รักษาสุขภาพกันด้วยค่ะ เลิ้ฟ ๆ ป้าพา
อ้างอิง
1. Laboratory Reference Ranges in Healthy Adults
3. อ่านผลตรวจเลือดด้วยตนเอง โดย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
โฆษณา