24 มิ.ย. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
อ่านงบกระแสเงินสด ใน 5 นาที
ถ้าอยากรู้ว่าเงินสดของกิจการหมุนเวียนอย่างไรให้อ่านงบกระแสเงินสด
อ่านงบกระแสเงินสด
เพราะเงินสด คือ หัวใจของกิจการ การรู้ที่มาที่ไปของเงินสด และการหมุนเวียนของมันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่แพ้กับการเฝ้าดูผลประกอบการจากงบกำไรขาดทุน
ถ้าอยากอ่านงบกระแสเงินสดต้องเริ่มต้นจากตรงไหน วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
งบกระแสเงินสดคืออะไร?
งบกระแสเงินสด เป็นงบที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของเงินสดในช่วงเวลาหนึ่ง ว่ามีที่มาที่ไปจากกิจกรรมอะไรบ้าง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม คือ
3 กิจกรรมที่เกี่ยงข้อง
1. กิจกรรมดำเนินงาน (Cash Flow from Operating: CFO)
2. กิจกรรมการลงทุน (Cash Flow from Investing: CFI)
3. กิจกรรมจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing: CFF)
ยกตัวอย่างเช่น งบกระแสเงินสำหรับปีสิ้นสุด 2563 จะบอกการเปลี่ยนแปลงของเงินสดต้นงวดไปจนถึงปลายงวดว่าเป็นอย่างไรบ้าง เช่น เริ่มต้นปี 62 มีเงินสด 200 บาท มีการรับเงินจากกิจกรรม CFO 100 บาท จ่ายเงินในกิจกรรม CFI 20 บาท และจ่ายเงินในกิจกรรม CFF 30 บาท ทำให้มีเงินสดคงเหลือปลายปี = 200+100-20-30 = 250 บาท
ต่อมาเราทำความเข้าใจทั้ง 3 กิจกรรมกัน
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสด เราแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมในงบนี้ คือ
กิจกรรมดำเนินงาน (Cash Flow from Operating: CFO)
1. กิจกรรมดำเนินงาน (Cash Flow from Operating: CFO) คือ กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้และค่าใช้จ่ายในธุรกิจ ที่มีทั้งการรับ (เป็นเครื่องหมายบวก) และการจ่าย (เครื่องหมายลบ) เช่น
- + เงินสดรับจากการขายสินค้า การให้บริการ
- - เงินสดจ่ายเพื่อซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าบริการ จ่ายค่าแรงพนักงาน
สังเกตุง่ายๆ กิจกรรมดำเนินการจะเป็นกิจกรรมหลักที่อยู่ในงบกำไรขาดทุน แต่งบนี้แตกต่างตรงที่เราจะสนใจเฉพาะกระแสเงินสดเท่านั้น
ถ้าเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานมีค่าเป็นบวก แสดงว่าดี เพราะว่ามีเงินสดรับมากกว่าเงินสดจ่ายในกิจกรรมนี้
กิจกรรมการลงทุน (Cash Flow from Investing: CFI)
2. กิจกรรมการลงทุน (Cash Flow from Investing: CFI) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนของกิจการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินลงทุนระยะสั้นหรือยาว และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอย่างที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ตัวอย่างเงินสดรับและจ่าย เช่น
- + เงินสดรับจากการขายเงินลงทุน เงินสดรับจากการขายโรงงาน
- - เงินสดจ่ายเพื่อลงทุนในบริษัทอื่น เงินสดจ่ายเพื่อซื้อที่ดิน โรงงาน
กิจการส่วนใหญ่มักจะมีเงินสดจ่าย (ติดลบ) ในกิจกรรมการลงทุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดเพราะว่ากิจการมักต้องลงทุนอยู่สม่ำเสมอ แต่สิ่งที่ต้องเช็คต่อคือ ลงทุนไปแล้วมีเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO) กลับมาเพิ่มไหม
กิจกรรมจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing: CFF)
3. กิจกรรมการจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing: CFF) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดหาเงินของกิจการ โดยปกติแล้วจะมาจากสองทาง คือ การกู้ยืมเงิน หรือผู้ถือหุ้นลงทุนเพิ่ม ตัวอย่างเงินสดรับและจ่าย เช่น
- + เงินสดรับจากการกู้ยืมเงิน เงินสดรับจากการเพิ่มทุน
- - เงินสดจ่ายคืนเงินกู้
สำหรับกิจกรรมนี้อาจจะมีทั้งกระแสเงินสดรับและจ่ายปะปนกันไป ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดหาเงินและช่วงเวลาจ่ายชำระของแต่ละกิจการ
สรุปสมการงบกระแสเงินสด
คำนวณง่ายๆ โดยเริ่มจากเงินสดต้นงวด และบวกหรือหักออกด้วยเงินสดรับและจ่ายจากทั้ง 3 กิจกรรม
เงินสดปลายงวด = เงินสดต้นงวด +- เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO)
+-เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการลงทุน (CFI)
+-เงินสดสุทธิจากกิจกรรมจัดหาเงิน (CFF)
ลองมาดูตัวอย่างงบกระแสเงินสดกัน
พอจะเข้าใจคอนเซ็ปของงบกระแสเงินสดแล้ว ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างงบกระแสเงินสดกันจริงๆ บ้างว่าเป็นอย่างไร
งบกระแสเงินสด
สังเกตุง่ายๆ งบกระแสเงินสดจะแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมเหมือนที่เราเข้าใจกัน
แต่ความพิเศษจะอยู่ตรงที่ งบกระแสเงินสด จะทำได้สองแบบ คือ 1) แบบทางตรง 2) แบบทางอ้อม
โดยที่ความแตกต่างมันจะอยู่ที่กิจกรรมดำเนินงาน (CFO) โดยงบกระแสเงินสดทางตรงจะแสดงรายการเงินสดเข้าและออกให้เห็นชัดๆ ส่วนงบกระแสเงินสดทางอ้อม จะเป็นการกระทบยอดจากงบกำไรขาดทุนแล้วปรับปรุงมาเป็นกระแสเงินสดสุทธิจากการกิจกรรมดำเนินงาน (CFO) ในภายหลัง
งบกระแสเงินสดแบบทางตรง P1/2
งบกระแสเงินสดแบบทางตรง P2/2
1. อ่านงบกระแสเงินสดทางตรง
เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นสำหรับคนอ่านงบมือใหม่ เราจะขอยกตัวอย่าง งบกระแสเงินสดแบบทางตรง มาให้ดูกัน ซึ่งถ้าลองอ่านดูดีๆ จะพบว่ากระแสเงินสดถูกแบ่งออกมาแสดงเป็น 3 กิจกรรมหลักๆ แล้วในแต่ละกิจกรรมจะมีรายละเอียดปลีกย่อยออกมา ตามนี้
• เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO) = -133,000 บาท เพราะมีเงินสดจ่ายรวมแล้วมากกว่าเงินสดรับ ส่วนมากจะเป็นการจ่ายค่าสินค้าและค่าใช้จ่ายดำเนินงาน
• เงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน (CFI) = 213,000 บาท เพราะในระหว่างปีมีเงินสดรับจากค่าขายเงินลงทุนสูงมากที่ 313,000 บาท ส่วนเงินสดจ่ายมีบ้างแต่ว่ายังน้อยกว่าเงินสดรับ เช่น ค่าซื้อที่ดิน และอุปกรณ์สำนักงาน
• เงินสดสุทธิจากกิจกรรมจัดหาเงิน (CFF) = -67,000 บาท เพราะว่าในปีมีการจ่ายเงินปันผลจำนวน 82,000 บาท ในขณะที่เงินสดรับมีแค่ 15,000 บาท จากการกู้ยืมเงิน
สมการงบกระแสเงินสด
ที่นี้เราลองมารวมกระแสเงินสดที่เปลี่ยนแปลงไปสุทธิ และกระทบยอดกับเงินสดต้นงวดกัน
เงินสดปลายงวด = เงินสดต้นงวด + (CFO + CFI + CFF)
= 30,000 + (-133,000+213,000-67,000)
= 43,000
จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากต้นงวด 30,000 บาท เป็น 43,000 บาท ตอนปลายงวด เกิดจากเงินสดเข้าจากกิจกรรมการลงทุน ในขณะที่กิจกรรมอื่นๆ มีกระแสเงินสดเป็นลบ
และสำหรับใครที่อ่านงบแสดงฐานะการเงินเป็นแล้ว ขอให้สังเกตุเพิ่มเติมอีกนิด เพราะยอดเงินสดต้นงวด และเงินสดปลายงวด จะเท่ากับรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดแสดงในงบแสดงฐานะการเงินฝั่งสินทรัพย์เป๊ะเลย (ถ้าไม่เท่าล่ะก็แปลว่าทำงบมาผิดแน่นอน)
อ่านงบกระแสเงินสดทางตรงเป็นแล้ว ย้ายมาอ่านงบกระแสเงินสดทางอ้อมกันบ้าง
ลำดับแรกเลย ข้อควรจำของงบกระแสเงินสดทางตรงและอ้อมนี้ คือว่า จะแตกต่างกันเฉพาะกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเท่านั้น ส่วน 2 กิจกรรมที่เหลือจะเหมือนกันเป๊ะ
งบกระแสเงินสดทางอ้อม
ตัวอย่างงบกระแสเงินสดทางอ้อม P1/2
ตัวอย่างงบกระแสเงินสดทางอ้อม P2/2
ในส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ขอให้อ่านไปพร้อมๆ กันทีละ Step ตามนี้
1. ตั้งต้นจากกำไรสุทธิก่อนดอกเบี้ย เงินปันผล และภาษี ในงบกำไรขาดทุน
2. จากนั้นจะมีรายการปรับปรุงต่างๆ เช่น รายการที่ไม่ใช่เงินสด อย่างค่าเสื่อมราคา และรายการที่ไม่ใช่ CFO เพื่อให้งบกำไรขาดทุนนี้แสดงในรูปแบบเงินสด เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับ CFO เท่านั้น
3. ส่วนถัดมาเป็นการแสดงการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สิน หลักการง่ายๆ ที่ควรจำคือ
- ถ้าสินทรัพย์เพิ่ม กระแสเงินสดจะติดลบ
- ถ้าหนี้สินเพิ่ม กระแสเงินสดจะเป็นบวก
พอลองไล่ดูในลิสการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินก็จะอ๋อขึ้นมาทันที เพราะเครื่องหมายจะเป็นไปตามที่เราสรุปไว้เป๊ะ
4. ส่วนสุดท้ายจะเป็นการกระทบยอดเงินสดรับและจ่าย จากค่าดอกเบี้ย ปันผล และภาษี
5. จากนั้นจะได้ยอดรวมกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานที่ -133,000 บาท เท่ากับ CFO วิธีกระแสเงินสดทางตรงเลย
และในส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (CFI) และกิจกรรมการจัดหาเงิน (CFF) ก็ยังแสดงเหมือนงบกระแสเงินสดทางตรงเป๊ะ ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ยอดรวมสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงในเงินสดมีอยู่เท่าเดิม
ลองหัดอ่านงบกระแสเงินสดกันไปแล้ว คงจะเข้าใจการทำงานของเงินสดมากยิ่งขึ้น
ต่อไปนี้ถ้าสงสัยว่าเงินที่เราหามาได้ หายไปไหนหมด ให้ลองมาอ่านงบกระแสเงินสดกัน แล้วจะรู้ว่าคำตอบทั้งหมดอยู่ในงบกระแสเงินสดที่นี่ที่เดียว
#zerotoprofit #อ่านงบกระแสเงินสด #งบกระแสเงินสด
1
โฆษณา