21 มิ.ย. 2021 เวลา 07:07 • ท่องเที่ยว
(16) พุกาม .. เจดีย์ชเวกูจี พุกาม ประเทศพม่า
“… การสร้างเจดีย์ย่อมได้บุญมาก ข้าฯปรารถนาจะสร้างทาง เพียงเพื่อจะข้ามไปสู่แม่น้ำแห่งสังสารวัฏ เพื่อผู้คนทั้งปวงจะเร่งข้ามไปกระทั่งบรรลุถึงนิพพาน ข้าฯเองจะข้ามไปและดึงผู้ที่จะจมน้ำให้ข้ามไปด้วย … ข้าฯมีอิสรภาพแล้ว จะช่วยปลดปล่อยผู้ที่ยังผูกพันอยู่ ข้าฯถูกปลุกขึ้นมา แล้วก็จะปลุกผู้ที่ยังนิทราอยู่ … ข้าฯมีความสงบในจิตใจและมีคำสั่งสอนที่ดีนำใจอยู่ …”
(จารึกที่เจดีย์ชเวกูจี ของพระเจ้าอลองสินธู รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์พุกาม)
1
รถม้า สียงดัง กุบกุบๆๆๆ แทรกผ่านบรรยากาศของมวลหมู่เจดีย์ … แดดยามบ่ายถึงแม้จะจัดจ้าน แห้งแล้ง แต่ก็ยังมีลมโชยมาบ้างเป็นระยะๆ พุกามร้อน แต่ไม่อบอ้าวแบบเนื้อตัวเหนียวเหนอะเหมือนบ้านเรา การเดินทางท่ามกลางความร้อนของบรรยากาศรอบตัวจึงไม่ทำให้เราหงุดเหงิดมากมาย …
เรากำลังมุ่งหน้าไปยังเจดีย์ที่จารึกพระปณิธานของกษัตริย์พุกามพระองค์หนึ่ง ที่กลายเป็นคำตอบสำหรับคำถามจากผู้ที่มาเยือนจากแดนไกลอย่างเราว่า เหตุใดอาณาจักรเก่าแก่แห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า ดินแดนแห่งเจดีย์ห้าพันองค์
ภาพรถม้าที่วิ่งลัดเลาะออกมาจากซอกเงาของเจดีย์ที่ดารดาษ ในขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง อยู่กลางทุ่งกว้างที่โอบกอดเอาเจดีย์เหล่านี้เอาไว้เหมือนมารดาโอบกอดทารกในอุทร …
จำนวนที่มากมายของเหล่าเจดีย์ และความขรึมที่ดูขลัง ให้ความรู้สึกราวกับว่าได้หลุดหลงเข้ามาในเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ของอาณาจักรที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองสุดขีด
“Shewgugyi” ในภาษาพม่าหมายถึง “the golden cave” หรือถ้ำทอง ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระราชวังเดิม (ซึ่งถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมดในปี ค.ศ. 1225) จึงมักจะรู้จักกันในชื่อ “Nandaw Oo Paya” หมายความว่า วัดที่ตั้งอยู่หน้าพระราชวัง
วิหารแห่งนี้สร้างโดยพระเจ้าอลองสินธู ในปี ค.ศ. 1140 ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า มีการก่ออิฐเป็นแท่งอย่างสูงถึง 12 ฟุตจากพื้นดิน เพื่อแสดงถึงพลังแห่งธรรมะของพระเจ้าอลองซีตู ซึ่งต่อมาได้เป็นฐานในการสร้างวิหารแห่งนี้ … นอกจากนี้มีการเล่าขานกันว่า การก่อสร้างวิหารใช้เวลาทั้งสิ้น 7 เดือน กับอีก 7 วันเท่านั้น
ประวัติศาสตร์กล่าวเอาไว้ว่า พระเจ้าอลองสินธู ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพุกาม มีพระโอสร 2 พระองค์ คือ เจ้าชายมินซินซอ และเจ้าชายนราสุ … พระเจ้าอลองสินธูทรงครองราชย์มายาวนานถึง 55 ปี จึงทำให้พระโอรสต้องรอครองราชย์ต่อจากพระองค์มายาวนาน
เจ้าชายมินซินวอ พระโอรสองค์โต เป็นผู้ที่มีโทสะร้าย และมีทิฐิมานะสูง ไม่ยอมรับพระมเหสีองค์ใหม่ที่มาจากอินเดีย โดยเฉพาะเมื่อพระองค์ทรงเข้าเฝ้าพระราชบิดา แล้วต้องคุกเข่าต่อหน้าพระมเหสีองค์ใหม่ ซึ่งทรงพิโรธมาก ขนาดบริภาษด้วยความน้อยพระทัยว่า “ข้าต่ำต้อยกว่านางแพศยาอินเดียคนนี้แล้วหรือ” … จนทำให้พระเจ้าอลองสินธูทรงกริ้ว
เจ้าชายมินซินซอ จึงถูกเนรเทศจากราชสำนักให้ไปอยู่ทางเหนือ ให้พ้นหูพ้นตาพระราชบิดา คงเหลือแต่เจ้าชายนราสุ พระโอรสองค์รองที่พระบิดาโปรดปราน และเชื่อว่าเป็นพระโอรสคู่บัลลังก์ โดยไม่ได้ระแวงว่าเจ้าชายนราสุได้ซ่อนความทะเยอทะยานไว้ข้างในอย่างมิดชิด
ยามเมื่อพระเจ้าอลองสินธูทรงแก่ชราลง และทรงพระประชวร จนถึงกับสิ้นสติ … เจ้าชานนราสุ คาดว่าพระบิดาประชวรหนักคงจะมีพระชนม์อยู่อีกไม่นาน จึงย้ายพระบิดาไปอยู่ที่วิหารชเวกูจี
เมื่อพระเจ้าอลองสินธูฟื้นคืนสติขึ้นมา และเมื่อรู้ว่าโดนเจ้าชายนราสุย้ายมาอยู่วัด ก็ทรงกริ้ว … เจ้าชายนราสุเกรงภัยจะเกิดกับตน จึงปลงพระชนม์พระบิดา และปราบดาพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์
ทางด้านเจ้าชายมินซินซอ เมื่อทราบความว่าพระราชบิดาถูกปลงพระชนม์ และพระอนุชาถือโอกาสครองบัลลังก์ที่ควรจะเป็นของพระองค์ ก็ทรงกริ้วโกรธอย่างมาก ทรงจัดแจงแต่งกองทัพล่องลงมาตามแม่น้ำเอยาวดี เข้าล้อมเมืองพุกามเอาไว้
พระเจ้านราสุ เห็นรี้พลของพระเชษฐามากมาย ไม่อาจจะหักหาญต่อกรได้ด้วยกำลังพลที่ด้อยกว่า จึงออกอุบายขอความช่วยเหลือจากพระสังฆราชปันสะคู ให้เข้ามาช่วยระงับเหตุ และสัญญาว่าจะยกราชบัลลังก์ให้พระเชษฐาเมื่อเสด็จเข้าเมืองมา
พระสังฆราชพาซื่อ เชื่อใจ เลยไปเกลี้ยกล่อมเจ้าชายมินซินซอ จนเจ้าชายหลงเชื่อว่า พระเชษฐาจะทำตามสัญญา จึงเข้าเมืองมาโดยไม่มีรี้พลติดตาม (อาจจะทรงลืมไปว่า ขนาดพระราชบิดายังถูกปลงพระชนม์ได้เลย)
พระเจ้านราสุ ทรงรับรองพระเชษฐาอย่างดี ให้ครองบัลลังก์แห่งพุกาม และจัดพระกระยาหารเจือยาพิษมาถวาย จนเจ้าชายมินซินซูสิ้นพระชนม์ไปอีกพระองค์หนึ่ง
ต่อมาพระเจ้านราสุทรงสำนึกผิดที่ปลงพระชนม์พระราชบิดา จึงคิดจะไถ่บาป จึงสร้างวิหารธรรมยังจีขึ้น ดังที่ได้นำเสนอบทความไปแล้วก่อนหน้านี้
วิหารชเวกูจีแห่งนี้ตั้งอยู่บนฐานสีเหลี่ยมจัตุรัส มีหน้ามุข และมีทางเดินโดยรอบ ลักษณะของวิหารงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมชั้นสูงของพุกามในสมัยนั้น โดดเด่นด้วยซุ้มเคล็กที่งดงาม เอกลักษณ์ของศิลปะพุกาม
เดิมวิหารแห่งนี้ตั้งอยู่หน้าพระราชวังเดิม จึงคงเหลือร่องรอยของแผนผัง และฐานรากของพระราชวังที่ถูกไฟไหม้ไปแล้วอยู่ ณ อีกด้านหนึ่งของวิหารที่เราเดินผ่าน อีกทั้งยังสามารถมองเห็นวิหารและเจดีย์อื่นๆในสายตาได้อีกด้วย
ต่ละทิศของวิหารจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านละ 1 องค์ เช่นเดียวกับวิหารในความนิยมของพุกามในสมัยนั้น
วิหารแห่งนี้มีประตูหน้าต่างบานใหญ่ ทำให้ห้องโถงและระเบียงทางเดินสว่างไสว นับเป็นเอกลักษณ์ของสถาปีตยกรรมแบบพม่า
เราสามารถมองเห็นโครงร่าง และเค้าโครงของจิตกรรมฝาผนังที่ยังคงเหลืออยู่ได้บางส่วน แต่ไม่มากนัก
ปัจจุบันทางการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปด้านบนได้ และสามารถมองเห็นวิว ทิวทัศน์ แม้จะเป็นวิหารที่ไม่สูงนัก
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา