22 มิ.ย. 2021 เวลา 04:07 • ท่องเที่ยว
วัดศรีชุม … สดับรับฟังพระพุทธรูปพูดได้
รอยอดีตอันยิ่งใหญ่ของมรดกโลกสุโขทัย ปรากฏผ่านโบราณสถานงานพุทธศิลป์ที่ยังคงอยู่มากมายในเมืองแห่งรุ่งอรุณของความสุขแห่งนี้ .. หนึ่งในวัดที่เป็นไฮไลท์สำคัญของเมืองมรดกโลกสุโขทัยก็คือ “วัดศรีชุม”
“วัดศรีชุม” .. เป็นโบราณสถานที่โดดเด่นมากแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีคูน้ำล้อมรอบเป็นอาณาเขตวัด
“วัดศรีชุม” ... เชื่อว่าคำนี้มาจากคำว่า “สะหลีชุม” หรือหมายถึง “ดงต้นโพธิ์”
“วัดศรีชุม” ... สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ก่อนจะถูกทิ้งร้างลงในสมัยอยุธยาตอนปลาย จากนั้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วง พ.ศ. 2496-2499 ได้ทำการบูรณะฟื้นฟูวัดแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ เป็นการบูรณะครั้งสำคัญ โดยยึดรูปแบบ วิธีการ และวัสดุแบบโบราณ มีการซ่อมแซมพระประธานใหม่ตามแบบอย่างพระพุทธรูปสำริดศิลปะสุโขทัย
ร่องรอยการบูรณะที่ทำต่อเนื่องกันมาหลายครั้งในสมัยโบราณ แสดงว่า วัดแห่งนี้น่าจะเป็นวัดที่สำคัญมาตลอด ... ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้วัดนี้เป็นสถานที่ประชุมพล และทรงทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อเบื้องพระพักตร์ “พระอจนะ” ก่อนจะยกพลไปตีเมืองสวรรคโลก ที่เจ้าเมืองไม่ยอมสวามิภักดิ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เชื่อว่า เป็นต้นตอของตำนาน “พระพูดได้”
โบราณวัตถุและสิ่งสำคัญภายในวัดศรีชุม
วิหาร ... สันนิษฐานว่าในสมัยสุโขทัย อาคารหลังนี้นอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่ให้สาธุชนเข้าไปกราบไหว้พระอจนะ โดยไม่ต้องล่วงล้ำเข้าไปในมณฑป ซึ่งเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์
พระมณฑป ... เป็นอาคารประธานของวัด ก่อด้วยอิฐถือปูน รูปสี่เหลี่ยมเกือบเป็นลูกบาศน์ สูง 15 เมตร นับเป็นมณฑปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสุโขทัย (และเป็นอาคารสำคัญอยู่เพียงหนึ่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน) ...
… หลังคามณฑปพังเสียหายไปหมดนานแล้วนั้น สันนิษฐานว่า เมื่อแรกสร้างคงก่ออิฐ แต่ตวามชำนาญของช่างไม่สูงพอ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นโครงสร้างเบาชนิดเครื่องไม้มุงกระเบื้อง
พระมณฑปคับแคบแบบนี้ เป็นอาคารที่เรียกว่า “ปฏิมาฆระ” ... สร้างตามคติความเชื่อสมัยสุโขทัยที่ไม่ได้ต้องการใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาเหมือนโบสถ์ในสมัยปัจจุบัน หากแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการจำลอง “พระคันธกุฎี” หรือ กุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญเปรียบได้กับองค์เจดีย์ประธานที่เป็นดังตัวแทนของพระพุทธองค์
มณฑปหลังนี้แม้จะคับแคบ แต่กำแพงมณฑปกลับมีความกว้างร่วม 3 เมตร เนื่องเพราะไม่ได้สร้างเป็นกำแพงทึบตัน หากแต่สร้างเป็นช่องกำแพงคล้ายอุโมงค์ เจาะทำเป็นบันไดทางเดินขึ้นถึงหลังคา(ปัจจุบันพังทลายไม่เหลือร่องรอยให้เห็น) ตามผนังทางเดินมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แม้จะเลอะเลือนไปตามกาลเวลาแต่นี่ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งงานจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย
พระอจนะ ... พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 11.30 เมตร ประทับนั่ง ปางมารวิชัยโครงสร้างด้านในเป็นศิลาแลง ฉาบปูนด้านนอก พุทธลักษณะเป็นแบบสุโขทัยที่งดงามมากืพระวรกายอวบอิ่ม พระพักตร์อมยิ้ม ดูอิ่มบุญเปี่ยมศรัทธา
ชื่อ “พระอจนะ” ปรากฏปรารกฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 มีความหมายว่า “ผู้ไม่หวั่นไหว” .. สันนิษฐานว่า เดิมคงสร้างอยู่กลางแจ้ง ต่อมาจึงมีผู้เลื่อมใสมาสร้างมณฑปสี่เหลี่ยมคลุม และด้วยเหตุนี้เอง จึงต้องเจาะช่องด้านข้างให้พระชานุ (หัวเข่า) ของพระพุทธรูปสามารถยื่นเข้าไปในผนังมณฑปได้
“พระอจนะ” พระประธาน อันเป็นไฮไลท์สำคัญของวัดศรีชุม และถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองมรดกโลกสุโขทัย องค์พระที่เราเห็นในปัจจุบัน ผ่านการยูรณะครั้งใหญ่ระหว่าง พ.ศ. 2496-2499
แผ่นหินชนวนเรื่องชาดก ... เพดานอุโมงค์ทำด้วยแผ่นหินชนวน ผิวหน้าของแผ่นหินจารเป็นภาพลายเส้น พร้อมตัวหนังสือสมัยสุโขทัย เรื่องชาดกต่างๆ รวมกว่า 50+ แผ่น และแผ่นหินนี้ทำหน้าที่เป็นคานรับน้ำหนักด้วย
ศิลาจารึกวัดศรีชุม ... เป็นศิลาจารึกหลักที่ 2 พบเมื่อปี พ.ศ. 2403 ภายในช่องอุโมงค์ของวัด ลักษณะเป็นแผ่นหินดินดานรูปใบเสมากว้าง 67 เซนติเมตร สูง 275 เซนติเมตร คาดว่ามีการจารึกในนสมัยของพระมหาธรรราชาที่ 1 (พระยาลิไทย) .. เนื้อหากล่าวถึงประวัติของพระมหาศรีศรัทธา ขุนศึกผู้ออกบวชเป็นพระ และที่สำคัญที่สุด คือ ประวัติสุโขทัยในช่วงต้น นับแต่เริ่มตั้งราชวงศ์ ตลอดจนความสัมพันธ์ทางด้านพุทธศาสนากับลังกา นับเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์สุโขทัยชิ้นหนึ่ง
ช่องอุโมงค์ ... ความโดดเด่นของอาคารนี้ คือ ภายในผนังที่มีความหนาถึง 3 เมตร มีช่องแคบๆพอที่คนจะเดินได้ ลักษณะเป็นอุโมงค์ลดเลี้ยวไปตามแนวผนัง ผ่านเบื้องหลังองค์พระ แล้วไปทะลุออกถึงลานข้างบนได้ โดยปากทางเข้าอยู่ทางด้านซ้ายมือตรงซุ้มประตู
ส่วนทางขวามือก็มีอุโมงค์เช่นกัน แต่ตื้นประมาณ 3 เมตร ... ต้นเค้าของตำนาน พระอจนะพูดได้ อาจจะเกิดจากมีคนแอบเข้าไปในช่องลับนี้ แล้วเปล่งเสียงออกมา ก็เป็นได้
ตลอดช่วงเวลาที่เราเดินชม .. เราได้เห็นภูมิปัญญา และความสามารถของคนสมัยก่อน ที่คนรุ่นหลังๆควรศึกษาไว้เป็นแนวทาง รวมถึงเรียนรู้ถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ในอดีตแห่งอาณาจักรสุโขทัย เมืองรุ่งอรุณแห่งความสุขที่ ซึ่งแม้ว่าจะผ่านกาลเวลามากว่า 700 ปีแล้ว แต่ว่ารอยอดีตอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัยยังคงมีเรื่องราวและความน่าสนใจให้คนรุ่นหลังได้ค้นคว้าศึกษากันไม่มีที่สิ้นสุด
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา