22 มิ.ย. 2021 เวลา 10:19 • ท่องเที่ยว
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระปรางค์).. ศรีสัชนาลัย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย .. เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ราชวรวิหาร
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ได้โอนมาขึ้นในปกครองคณะสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑
อาณาบริเวณวัด ... ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง ภายในมีปรางค์องค์สูงใหญ่ เป็นประธานของวัด แวดล้อมด้วยอาคารอื่นๆอีกหลายหลัง .. เป็นวัดสำคัญที่ได้รับการทำนุบำรุงเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
การเริ่มสร้างวัด ... หลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว วัดนี้มีอายุตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ คือ ประมาณ 800 ปีมาแล้วเป็นอย่างต่ำ .. แต่อาจจะมีอายุมากกว่านี้ ด้วยเหตุที่ตั้งของวัดมีลักษณะเป็นศูนย์กลางของชุมชนหรือเมืองบริเวณนี้ คือ “เมืองเชลียง” ซึ่งเป็นเมืองที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับยุคทวารวดี
วัดนี้เป็นวัดสำคัญของเมืองเชลียง … ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในศิลาจารึกหลักที่ 1 และในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบชุมนุมพระฝางเมืองสวางคบุรี แล้วได้เสด็จสมโภชพระบรมธาตุเมืองเชลียงนี้ด้วย และวัดนี้ยังเป็นที่สรงน้ำมูรธาภิเษก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล
วัดแห่งนี้สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนสมัยสุโขทัย โดยระยะแรกคาดว่าคงสร้างเป็น พุทธสถานในนิกายมหายาน ... เมื่อล่วงมาถึงสมัยสุโขทัย ได้ดีดแปลงมาเป็นวัดในนิกายเถรวาท ปัจจุบันวัดนี้ยังมีพระสงฆ์จำพรรษา โดยสร้างหมู่อาคารขึ้นใหม่นอกโบราณสถาน
ส่วนประกอบที่สำคัญของวัด
กำแพงวัดและซุ้มประตู .. เป็นศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๙๐ เมตร มีคานทับหลังกำแพง เป็นรูปหลังเจดีย์ตัด มีทางเข้าออกที่ด้านหน้าและด้านหลังเหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคายอดแหลมเหมือนช่อฟ้า เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นรูปปั้นรูป “พรหมพักตร์” ส่วนด้านล่างเป็นรูปเทพธิดานั่งในกรอบ ซุ้มด้านล่างเป็นงานนูนต่ำรูปเทพธิดากำลังร่ายรำด้วยลีลาและเครื่องแต่งกายแบบขอม
... ที่น่าสนใจคือระดับพื้นดินนอกกำแพงสูงกว่าในกำแพงราว เมตร เมื่อจะเข้าไปในวัดจึงต้องเดินลงจากประตู เรื่องนี้เป็นปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบ
ปรางค์ประธาน ... ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนแล้วลงสีชาดทับ แต่ปัจจุบันสีได้ลอกออกบางส่วน ลักษณะภายนอกเป็นปรางค์แบบอยุธยา เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หลังจากพระองค์ทรงยึดเมืองนี้คืนมาจากกองทัพล้านนาในราว พ.ศ. 2008 โดยสร้างครอบปรางค์องค์เดิมซึ่งเป็นแบบขอม
ลักษณะฐานปรางค์ .. เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๓๐ เมตร ฐานเขียงขั้นแรกย่อมุมไม้สิบสอง ฐานล่างสุดก่อผนังแบบทึบ เจาะช่องแสงกันอยู่ด้านในวิหารคดสามชั้น ฐานปรางค์แผ่ขยายกว้างออกไปทั้ง 3 ด้าน (ด้านหน้าเป็นพระวิหาร) คล้ายสร้างครอบสถูปหรือเจดีย์ที่สำคัญไว้ภายใน มีอายุอยู่ ในช่วงก่อนสุโขทัยตอนต้น เนื่องจากขุดค้นพบฐานโบราณคดีก่อด้วยอิฐอยู่ใต้ฐานพระวิหารหลวง นอกจากนี้ยังพบกระเบื้องเชิงชายรูปนางอัปสรและเทวดา ซึ่งมีลักษณะร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบายน
เรือนธาตุทางด้านหน้าทำเป็นซุ้มโถง มีบันไดขึ้นไปสู่ซุ้มทางด้านหลังพระวิหาร ภายในซุ้มโถงมีเจดีย์ขนาดเล็กทรงดอกบัวตูม อาจจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ หรือบรรจุสิ่งของสำคัญสำหรับการบูชา ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หัวใจพระพุทธเจ้า"
ตามผนังภายในองค์ปรางค์มีร่องรอยว่าแต่เดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่ลบเลือนไปมากเขียนด้วยสีแดงแบบโบราณ ลายพรรณพฤกษา ... ส่วนบริเวณเรือนธาตุทางด้านหลัง ทำเป็นบันไดขึ้นสู่องค์ปรางค์เช่นเดียวกัน แต่เป็นประตูหลอก ฐานชั้นล่างสุดมีพระสาวกเดินประณมมือประทักษิณ
หน้าบันปรางค์ประธาน ... บนหน้าบันขององค์ปรางค์ประธานด้านทิศเหนือ มีปูนปั้นเรื่องพุทธประวัติ
พระวิหาร ... อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ ก่อด้วยศิลาแลง ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๙.๒๐ เมตร ยาว ๒๕.๒๐ เมตร ฐานสูง ๑.๒๐ เมตร เป็นวิหารขนาดหกห้อง มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า ผนังวิหารเป็นแบบผนังทึบเจาะช่องแสง พระประธานเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ประทับอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยพระพุทธรูปยืนขนาดเล็กทั้งขวาและซ้าย ปัจจุบันเหลือเฉพาะฐานพระวิหารและเสาบางส่วน
พระวิหารขนาดเล็ก ... ก่อด้วยศิลาแลงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหารประธานฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ด้านหลังตอนบนทำเป็นซุ้มพระ ทรงโค้งแหลมภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก
ฐานพระวิหารขนาดเล็ก ... ก่อด้วยศิลาแลงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานขนาดห้าห้อง กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ด้านหลังทำเป็นซุ้มพระ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งซึ่งชำรุดหักพังเป็นส่วนใหญ่
พระเจดีย์ราย ... เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บริเวณมุมทั้งสี่ของพระปรางค์ประธาน ขนาดโดยเฉลี่ย ๕ เมตร มีอยู่ห้าองค์
พระพุทธรูปปางลีลา ... เป็นพระปูนปั้นนูนสูง ยกย่องกันว่าเป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่สวยที่สุดองค์หนึ่งในกระบวนศิลปะสุโขทัยทั้งหมด
เพดานไม้จำหลัก ... แต่เดิมประดับอยู่ในคูหาปรางค์ประธาน คาดว่าคงสร้างขึ้นมาพร้อมกับการสร้างองค์ปรางค์ ช่างที่สร้างสรรค์ผูกลายบัวไว้อย่างซับซ้อน …
.. ดูภาพรวมคล้ายบัวบาน แต่หากสังเกตในรายละเอียด จะเห็นว่าวงเล็กๆ ก็คือ บัวหนึ่งดอก .. ปัจจุบันเพดานไม้ชิ้นนี้เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติรามคำแหง
พระธาตุมุเตา ... อยู่ด้านหลังพระปรางค์ประธาน นอกกำแพงแก้ว เป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๒ เมตร ซ้อนกันสี่ชั้น ต่อจากนั้นเป็นชั้นบัวสามชั้น ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปหักพังทลายไปเกือบหมด บริเวณบัวถลาทำเป็นซุ้มหลอกเจ็ดส่วน ซุ้มทางด้านหน้ามีทางเข้าไปภายในแต่หักพังปิดทับหมด มีบันไดขึ้นไปสู่ซุ้ม ...
… ลักษณะโดยรวมคล้ายเจดีย์มอญ คือ ส่วนกลางอ้วน ส่วนบนเล็ก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อเจดีย์องค์นี้ตามพระธาตุเจดีย์ที่อยู่ในเมืองมอญ
.. มีเรื่องเล่า ตำนานของคนท้องถิ่นว่า .. เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในการแข่งขันระหว่าง “พระร่วง” กับ “พระลือ” ที่ฝ่ายพระร่วงเห็นว่า พระลือกำลังสร้างเจดีย์ได้สูงกว่า จึงเตะยอดเจดีย์ที่พระลือสร้างกระเด็นไปตกที่เมืองสองแคว (ปัจจุบันคือเจดีย์ประธานวัดราชบูรณะ พิษณุโลก)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสเมืองศรีสัชนาลัย ในปี พ.ศ. 2450 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ทรงวินิจฉัยพระเจดีย์ใหญ่ 8 เหลี่ยมว่า
"...เข้าใจว่าคงสร้างขึ้นภายหลังพระปรางค์ คือเมื่อสมัยกำลังตื่นนิยมว่า พระศาสนาทางรามัญประเทศเป็นศาสนาอันแท้จริง บางท่านก็ว่ามีการพยายามสร้างให้สูงเท่าปรางค์ให้คู่กัน แต่ค้างอยู่ สร้างไม่เสร็จ มีผู้ก่อยอดประสมพอให้แล้ว จึงดูคล้ายเจดีย์รามัญ...” คนในพื้นที่จึงนิยมเรียกกันต่อมาว่า “พระธาตุมุเตา” หรือ “เจดีย์ชเวมอดอว์” (Shwemawdaw) พระมหาสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ศูนย์กลางของนครมอญ-รามัญในยุคหงสาวดี
Ref : EJeabAcademy
มณฑปพระอัฏฐารส ... อยู่ทางด้านหลังพระธาตุมุเตา สันนิษฐานว่า เป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนทางทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกเหลือส่วนพระชงฆ์ของพระพุทธรูป ด้านหลัง (ทิศใต้) และทางด้านขวาหักพังเสียหายมาก จากการสำรวจโดยรอบพระมณฑป พบเศษกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ตกกระจายอยู่ค่อนข้างหนาแน่น สันนิษฐานว่า หลังคาพระมณฑปน่าจะเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา
วิหารสองพี่น้อง ... อยู่ทางด้านซ้ายของพระมณฑปพระอัฏฐารส ก่อด้วยศิลาแลงฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๗ เมตร ขนาดเจ็ดห้อง
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัย 2 องค์ พระพุทธรูปองค์หลังมีขนาดใหญ่กว่าด้านหน้าตั้งอยู่ในลักษณะที่ลดหลั่นกัน ซึ่งคติการประดิษฐานพระให้ลดหลั่นกันนั้นนิยมกันในสมัยอยุธยา จึงคาดว่า พระสององค์นี้น่าจะสร้างปลายสมัยสุโขทัย คือ เป็นช่วงที่อยุธยาเข้ามาครองครองสุโขทัยแล้ว
ทัศนียภาพ ในระหว่างเดินชม
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา