23 มิ.ย. 2021 เวลา 03:50 • ท่องเที่ยว
วัดตระพังทอง สุโขทัย
ตักบาตรเช้า .. เป็นกิจกรรมที่ฉันมักจะทำเสมอเมื่อโอกาสได้มาเยือนเมืองเก่า และเมื่อมาเยือนสุโขทัย เมื่องรุ่งอรุณแห่งความสุขแห่งนี้ เราจึงนัดหมายกันตื่นแต่เช้า เดินทางจากที่พักมุ่งหน้าไปยัง “วัดตระพังทอง” อันเป็นวันที่คนที่มาเยือนเมืองนี้ส่วนใหญ่นิยมไปตักบาตรกัน
“วัดตระพังทอง” .. ตั้งอยู่ที่ถนนจรดวิถีถ่อง หมู่ที่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
“วัดตระพังทอง” .. ตามประวัติกล่าวว่า สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และต่อมาประมาณ พ.ศ. 2450 พระยารณชัยชาญยุทธ (ครุฑ) ได้นำประชาชนบูรณะอุโบสถ ครั้นปี พ.ศ. 2473 พระราชประสิทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้นำรอยพระพุทธบาทที่เขาพระบาทใหญ่มาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ และได้จัดงานมนัสการเป็นประจำทุกปี
เราเดินทางมาถึงบริเวณวัดเมื่อแสงเช้ายังไม่สว่างไสวมากนัก .. ภาพของวัดที่ปรากฏในสายตานั้นสวยงาม ด้วยเป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่า บนพื้นที่ราบลุ่ม มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และมีสระน้ำโบราณหลายสระในบริเวณวัดซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางสระ
ว่ากันว่า ... สระน้ำเหล่านี้ เป็นแหล่งที่ใช้เก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคมาแต่โบราณ จึงตั้งชื่อวัดตามสระน้ำที่อยู่ในบริเวณวัดว่า “ตระพังทอง”
เราได้รับคำแนะนำว่า .. เราควรจะไปจับจองพื้นที่บนสะพานที่เชื่อมต่อจากด้านหน้าติดถนนไปยังวัด พอถึงเวลาจะมีพระสงฆ์เดินออกมารับบิณฑบาตบนสะพาน
มีผู้คนมาสถึงก่อนเราแล้วหลายคน .. แต่งตัวกันสวยงาม นั่งบ้าง ยืนบ้าง รอให้ถึงเวลา
เรายังมีเวลาเหลือนิดหน่อย ก่อนที่พระสงฆ์จะมาถึง ... ฉันจึงถือโอกาสเดินเข้าไปยังบริเวณวัดเพื่อถ่ายภาพมาฝากค่ะ
พระอุโบสถ … ตั้งอยู่ด้านหลังเจดีย์ประธาน สร้างขึ้นด้วยการเรี่ยไรทรัพย์ชาวเมืองเพื่อสร้างพระอุโบสถ โดย พญารณชาญ (ครุฑ) เจ้าเมืองสุโขทัย ครั้งเมื่ออุปสมบทที่วัดแห่งนี้
พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน ด้านหน้าเป็นมุขโถง ไม่มีเสาพาไลรองรับหลังคา หน้าบันไม้แบบลูกฟัก หลังคาทรงจั่วลด 2 ชั้น มีหางหงส์ปูนปั้นรูปมกร และใบเสมาหินชนวนคู่ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ ภายนอกก่อเป็นกำแพงแก้ว ภายในพระอุโบสถประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นสีขาวนามว่า “หลวงพ่อขาว” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นประธาน
เจดีย์ประธาน … ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถและมณฑปจัตุรมุข เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ศิลปะการก่อสร้างเป็นสกุลช่างสมัยสุโขทัย ฐานก่อด้วยหินศิลาแลง ส่วนบนก่อด้วยอิฐ เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่รูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นฐานกลมลดหลั่นขึ้นไป ถึงชั้นบัวถลา ถัดขั้นไปเป็นชั้นบัลลังก์ ก้านฉัตร และปลียอด
มณฑปจัตุรมุข … ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน เป็นมณฑปขนาดเล็ก ภายในมณฑปประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา จากหินสีเทาดำ สร้างขึ้นสมัย พระมหาธรรมราชาลิไทเมื่อปี พ.ศ. 1902 โดยทรงให้จำลองแบบจากศรีลังกา และได้นำไปประดิษฐานไว้ที่เขาพระบาทใหญ่ (เขาสุมนกูฎ) ปัจจุบันได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มณฑปจัตุรมุข ภายในรอยพระพุทธบาทนั้นจำหลักเป็นลายมงคลหนึ่งร้อยแปด และลายดอกจันโดยรอบ
ศาลา ... น่าจะเป็นศาลาอเนกประสงค์
อีกด้านหนึ่ง ฝั่งขวาของสะพาน หากเดินหันหน้าเข้ามาทางวัด .. เป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปปูนปั้น “พระคันฐาราฏ” ไม่รู้ประวัติค่ะ แต่เดาว่าน่าจะสร้างขึ้นมาไม่นานมาก
มองเห็นพระสงฆ์เดินเป็นแถวมุ่งหน้าไปยังทิศทางอันเป็นที่ตั้งของสะพาน คงถึงเวลาที่เราจะต้องไปตักบาตรกันแล้วค่ะ ...
บรรยากาศการตักบาตรของเหล่าพุทธศาสนิกชนบนสะพาน ..
รับพร ก่อนจะเดินทางต่อ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา