23 มิ.ย. 2021 เวลา 05:37 • ยานยนต์
#EP17 CAT ทำให้รถวิ่งไม่ออก ถอดออกเลยดีไหม?
เคยได้ยินนักเลงรถทั่วไปคุยกันว่าเจ้า CAT ที่ติดอยู่ใต้ท้องรถเป็นตัวดักไอเสีย ทำให้เครื่องยนต์เสียแรงม้า อัตราเร่งไม่ดี สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้วย ไม่ดีขนาดนี้เก็บเอาไว้ทำไมไปตัดออกเลยดีกว่า นอกจากนี้ยังมีเว็บไซด์ต่างๆ บอกว่าตัดออกแล้วสามารถรีแม็ปกล่องสมองกลหรือ ECU ให้คำนวนใหม่ช่วยให้ประหยัดน้ำมันกว่าเดิมด้วยนะ แต่เดี๋ยวก่อนครับ! อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจรีบถอด CAT ออกกันนะครับ ให้ผมเล่าเรื่องราวของ CAT ให้ฟังก่อน ท่านทราบหรือไม่ว่าถ้าท่านเอา CAT ออกนั้นท่านจะมีความเสี่ยงหลายๆเรื่องตามมา ไล่กันตั้งแต่เสี่ยงที่จะต่อทะเบียนรถประจำปีไม่ได้ เสี่ยงที่จะโดนปรับเรื่องควันไอเสียไม่ผ่านเวลาเจอด่านตรวจ เสี่ยงต่อการหลุดจากการรับประกันรถ(Warrantee) และที่สำคัญมากๆเลยท่านทราบหรือไม่ว่าเจ้า CAT นี้ภายในทำด้วยแร่หายากของโลกหรือเราเรียกว่า “Rare earth stabilizers metal” ประเภท Pt(Platinum)หรือทองคำขาวนั่นเอง ราคาซื้อขายกันนั้นแพงมากครับ ในอังกฤษเจอปัญหาการโจรกรรม CAT กันเยอะมาก เมืองไทยเราก็มีโรงงานที่รับรีไซเคิล CAT ครับ บางท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วไม่ตัด CAT ออก แล้วจะเอาไว้เพื่ออะไร? เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ
CAT มีชื่อเต็มๆ ว่า “Catalytic Converter” เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปรสภาพแก๊สคาร์บอนมอนน๊อคไซค์(CO)และไฮโดรคาร์บอน(HC) ให้เป็นแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซค์(CO2)และน้ำ(H2O) ขยายความเรื่องแก๊สคาร์บอนมอนน๊อคไซค์(CO)และไฮโดรคาร์บอน(HC)กันหน่อยนะครับ เจ้าสองตัวนี้คือแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงแล้วการเผาไหม้นั้นไม่สมบูรณ์แล้วทำให้เกิดแก๊สพิษสองตัวนี้ สาเหตุที่เครื่องยนต์เผาไหม้เชื้อเพลิงไม่หมดนั้นก็เพราะในบางขณะที่เครื่องยนต์ทำงานอาจมีอากาศหรือไอดี(มีออกซิเจนปะปนอยู่ 21%)ไหลเข้าไปในห้องเผาไหม้น้อยเกินไปสัดส่วนผสมกับเชื้อเพลิงไม่พอดีซึ่งโดยปกติแล้วสัดส่วนที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 14.7:1 (อากาศ 14.7 ส่วน: น้ำมันเชื้อเพลิง 1 ส่วน) ยกตัวอย่างตอนเช้าๆ เราติดเครื่องยนต์กล่อง ECU สมองกลจะสั่งจ่ายเชื้อเพลิงมากกว่าปกติเพราะเมื่อเครื่องยนต์เย็นนั้นเชื้อเพลิงจะระเหยเป็นไอน้ำมันน้อยลง สมองกลเลยต้องสั่งให้หัวฉีดจ่ายเชื้อเพลิงมากเผื่อไว้เยอะๆนั่นเองครับ ในตอนเช้าๆนี้ สัดส่วนจะอยู่ที่ประมาณ 6:1 ครับ นั่นคืออากาศน้อย:เชื้อเพลิงมาก เมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงมากเกินพอดีการเผาไหม้จึงเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่หมดจึงต้องคายออกมาเป็นควันไอเสีย เราจะสังเกตได้ตอนเช้าๆ ติดเครื่องยนต์ใหม่ๆ เราลองเอามือตักเอาควันไอเสียจากท่อมาดมกลิ่นดูจะมีกลิ่นเหม็น แล้วถ้าไอเสียเข้าตาเราจะรู้สึกแสบตาด้วยครับ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะตอนนี้ CAT ยังไม่ร้อนพอที่จะแปรสภาพแก๊สพิษแต่พอเราขับรถไปสักระยะหนึ่งแล้ว เช่น 5 กิโลเมตร แล้วหาที่จอดลงมาดมกลิ่นไอเสียใหม่ตอนนี้กลิ่นเหม็นเดิมจะหายไป แล้วจะเห็นมีไอน้ำ(H2O)พ่นออกมาที่ปลายท่อแสดงว่าตอนนี้ CAT ของเราทำหน้าที่แปรสภาพได้สมบูรณ์แล้ว เป็นการแปรสภาพแก๊สเสียคือคาร์บอนมอนน๊อคไซค์(CO)และไฮโดรคาร์บอน(HC) ให้เป็นน้ำ(H2O)และคาร์บอนไดอ๊อกไซค์(CO2)นั่นเอง แล้วเจ้า CO2 ที่ปล่อยออกมานี่เองที่ภาครัฐใช้เป็นตัวแปรในการกำหนดอัตราภาษี อัตราภาษีนี้จะบวกอยู่ในราคารถที่ขายให้เราครับ เช่นรถใครพ่น CO2 ออกมามากก็ต้องจ่ายภาษีมากครับ แก๊ส CO2 นี้ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนขึ้นหรือสภาวะเรือนกระจกนั่นเองครับ
ส่วนแก๊สอีกตัวที่จะต้องแปรสภาพด้วยคือแก๊สไนโตรเจนอ๊อคไซค์(NOx) แก๊สนี้จะทำให้เกิดฝนกรดแต่เรากำจัดเขาได้ด้วย Catalytic Converter(CAT) ซึ่ง CAT จะทำหน้าแปรสภาพแก๊ส NOx ให้เป็นแก๊สไนโตรเจน(N2) แก๊สเป็นไนโตรเจน(N2)นี้จะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมครับเพราะปกติเขาก็เป็นแก๊สที่ปะปนอยู่ในสภาพอากาสรอบตัวเราอยู่แล้วครับ แก็ส NOx นี้จะเกิดขึ้นมากถ้าเครื่องยนต์มีความร้อนสูง และมักจะเกิดในเครื่องยนต์ดีเซลมากกว่าเบนซินครับเนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลนั้นมีแรงอัดสูง(18-20:1)แก๊ส NOx จึงเกิดขึ้นมากกว่าเครื่องยนต์เบนซินที่มีแรงอัดอยู่ที่ 8-10:1 ครับ
Catalytic Converter ของเครื่องยนต์เบนซินจะเป็นแบบสามทางหรือ Three-Way Catalyst Converter(TWC) ทำไมต้องสามทางด้วยก็เพราะ CAT ต้องทำหน้าที่กำจัดแก๊สชั่วร้ายสามตัวคือ คาร์บอนมอนน๊อคไซค์(CO), ไฮโดรคาร์บอน(HC) และไนโตรเจนอ๊อคไซค์(NOx) ให้แปลงร่างเป็นแก๊สดีคือ คาร์บอนไดอ๊อกไซค์(CO2),น้ำ(H2O)และไนโตรเจน(N2) ส่วนประกอบหลักๆ ของ CAT นั้นจะมีรังผึ้งสองชุด :
1. รังผึ้งชุดแรก มีสารเคลือบผิวที่ทำหน้าที่เร่งปฎิกิริยา(Catalyst)ทำหน้าที่แปรสภาพแก๊สไนโตรเจนอ๊อคไซค์ (NOx) ให้เป็นไนโตรเจน(N2)
2. รังผึ้งชุดที่สอง ทำจากเซรามิก(Ceramic)ทนความร้อนสูงเคลือบสารสามชนิดที่หายากและราคาแพงมากคือ Pt(Platinum), Pd(Palladium)และ Rh(Rhodium)รังผึ้งชุดนี้จะเร่งปฎิกิริยา Oxidation จนเกิดความร้อนสูงมาก ออกซิเจนจะแทรกตัวเข้าไปทำปฎิกริยากับไอเสียดังนี้ครับ
• CO+1/2O2 = CO2 (คาร์บอนมอนน๊อคไซค์ + ออกซิเจน = คาร์บอนไดอ๊อกไซค์)
• H4C2+3O2 = 2CO2 + 2H2O (ไฮโดรคาร์บอน + ออกซิเจน = คาร์บอนไดอ๊อกไซค์ + น้ำ)
• CO + NOx = CO2 + N2 (คาร์บอนมอนน๊อคไซค์ + ไนโตรเจนอ๊อคไซค์ = คาร์บอนไดอ๊อกไซค์ + ไนโตรเจน)
จากโครงสร้างรังผึ้งที่มีช่องทางให้ไอเสียไหลผ่านนั้นบริเวณผิวด้านในจะเคลือบสารเร่งปฎิกิริยาไว้คือ Pt, Pd และ Rh เงื่อนไขที่แก๊สออกซิเจนจะเข้าจู่โจมแทรกตัวเข้าไปใน CO, HC, NOx นั้นความร้อนต้องสูงถึงจุดที่ต้องการ ฉะนั้นเวลาติดเครื่องเช้าๆ ไอเสียจะเหม็นเพราะ CAT ยังไม่ร้อนนั่นเองครับ ในต่างประเทศเขากังวลช่วงนี้มากเพราะอากาศบ้านเขาเย็นมากไอเสียที่ออกมาจะสร้างมลภาวะเยอะ บริษัทรถยนต์จึงเพิ่มอุปกรณ์เป็นฮีตเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปเพื่ออุ่น CAT ในช่วงแรกให้ทำงานเร็วขึ้นครับ
แล้วสารเคลือบเหล่านี้เขากลัวอะไรบ้าง? ถ้าจำกันได้รถบ้านเราที่ติด CAT รุ่นแรกๆคือ Mitsubishi Champ ขณะเดียวกันน้ำมันเบนซินตอนนั้นต้องเปลี่ยนไปใช้แบบไร้สารตะกั่ว(Unlead Gasoline) นั่นหมายถึงรถที่มี CAT กลัวสารตะกั่วไงครับ เพราะสารตะกั่วจะเข้าไปปกคลุมสารเดลือบทั้งสามอีกชั้นหนึ่งและสะสมตัวเป็นชั้นหนาๆด้วย ทำให้ CAT เกิดความร้อนสูงมาก ผมมีเหตุการณ์ตอนทำงานที่ศูนย์รถมาสด้าเกี่ยวกับ CAT และน้ำมันมีสารตะกั่วจะเล่าให้ฟังครับ เหตุการณ์เกิดขึ้นกับคนขับรถผู้บริหารของมาสด้าที่ขับรถ 929 รถรุ่นนี้เป็นรถนำเข้าจึงมี CAT ติดตั้งมาด้วย แน่นอนรถนี้ต้องการน้ำมันไร้สารตะกั่ววิธีป้องกันการเติมน้ำมันผิดเขาจะออกแบบรูเติมฝาถังให้เล็กกว่าเดิม เหตุเกิดจากคนขับรถไปเติมน้ำมันที่ปั๊ม ซึ่งตอนนั้นมีน้ำมันให้เลือก 2 ชนิดคือมีสารตะกั่วสูตรเดิมกับไร้สารตะกั่วสูตรใหม่ คนขับมีความเชื่อว่าน้ำมันไร้สารตะกั่วไม่ดี อยากใช้สูตรดั้งเดิมมากกว่าจึงไปหาอุปกรณ์ช่วยเติมคือกรวยครับ เพื่อรองรับน้ำมันมีสารตะกั่วจากหัวบีบใส่ลงในถังรถรุ่นใหม่ที่มี CAT แต่มาตรฐานรูเติมน้ำมันนั้นจะเล็กกว่าปกติเดิม จากความพยายามของพขร. สามารถเติมน้ำมันมีสารตะกั่วลงไปในรถที่มี CAT ได้สำเร็จครับ หลังจากนำไปใช้งานได้ประมาณ 2-3 วันผลลัพธ์คือรถวิ่งไม่ออก เร่งไม่ขึ้นอาการเหมือนท่อไอเสียตัน ต้องวิ่งกลับเข้ามาในศูนย์ซึ่งเหตุการณ์ตอนนั้นมีควันตลบไปทั้งศูนย์ สาหตุเนื่องมาจากสารตะกั่วเข้าสะสมในรังผึ้งของ CAT จนอัดแน่นและตันไอเสียคายออกมาไม่ได้จึงร้อน ฟริ้นโค้ดที่พ่นกันสนิมที่นิยมกันตอนนั้นจึงละลายหยดลงมาโดนตัว CAT ที่ร้อนมากอยู่แล้วเกิดเป็นควัน สรุปต้องตัด CAT ออกทิ้งแล้วเปลี่ยน CAT ใหม่ครับ
นอกจากสารตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิงที่ CAT กลัวแล้วยังมีกำมะถัน(Sulphur)ที่อยู่ในน้ำมันเชื้อเพลิงก็สร้างปัญหาลดประสิทธิภาพของ CAT ได้ครับ เวลาเลือกเติมน้ำมันเบนซินอยากแนะนำให้ใช้เกรดกำมะถันต่ำเช่น เกรด Euro 5 ก็จะดีครับ แต่ที่ CAT กลัวมากกว่านั้นคือปริมาณฟอสฟอรัส(P)ที่อยู่ในน้ำมันเครื่องยนต์ครับ ฟอสฟอรัส(P)นั้นเป็นสารเพิ่มคุณภาพหรือ Additive ที่ใส่ลงไปในน้ำมันเครื่องเพื่อทำหน้าที่ป้องกันการสึกหรอ(Anti-wear additive) โดยมาตรฐานน้ำมันเครื่องเก่าๆ จะมีปริมาณฟอสฟอรัส(P)มากกว่ามาตรฐานใหม่ๆ เช่น มาตรฐาน API SL จะมีปริมาณฟอสฟอรัส(P)มากกว่ามาตรฐาน API SM, มาตรฐาน API SM จะมีปริมาณฟอสฟอรัส(P)มากกว่ามาตรฐาน API SN โดยสรุปแล้ว รถรุ่นใหม่จะมี CAT ที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถแปรสภาพให้ลดปริมาณแก๊สพิษได้ดีและต่ำกว่า CAT รุ่นเก่าๆ ฉะนั้นรถรุ่นใหม่จึงต้องเลือกใช้น้ำมันเครื่องมาตรฐานใหม่ๆด้วยครับ เช่นมาตรฐาน API SN จะมีฟอสฟอรัสน้อยที่สุดจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อ CAT ครับ สมมุติผมใช้รถรุ่นใหม่ล่าสุดอยู่ในคู่มือบอกว่าต้องการ API SN วันหนึ่งไปเจอในเวปขายน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ลดราคาบอกว่าทำมาจาก Ester Base ที่นิยมใช้ในรถแข่งรับรองใช้แล้วอัตราเร่งดี เครื่องยนต์แรงดี บลา… แต่ข้างแกลลอนอาจไม่ได้ระบุมาตรฐาน API อะไรไว้เลยแบบนี้ถูกใจขาซิ่งครับซื้อทันที น้ำมันแบบนี้เน้นใช้ในรถในสนามแข่งที่ไม่มี CAT เมื่อเราซื้อมาใช้กับรถบ้านใช้งานทั่วไปที่มี CAT จะใช้ไม่ได้นะครับ ผลเสียที่จะมีต่อ CAT เยอะมากเพราะรถที่ใช้แข่งขัน ต้องการป้องกันการสึกหรอ ฟอสฟอรัส(P)มาเต็มแน่นอนครับ สรุปว่าถ้าเป็นรถบ้านมี CAT ซื้อน้ำมันเครื่องต้องดูมาตรฐานเป็นหลัก เช่น มาตรฐาน API สำหรับรถญี่ปุ่น มาตรฐาน ACEA สำหรับรถยุโรป ถ้าไม่มีระบุห้ามใช้เด็ดขาดครับ!
ในเครื่องยนต์ดีเซลนั้นใช้ CAT แบบ DOC (Diesel Oxidation Catalyst) โดยมีการเพิ่มอากาศหรือออกซิเจนเข้าไปใน CAT เพื่อช่วยเร่งปฎิกิริยา CAT แบบ DOC จะประกอบด้วยสารเร่งปฎิกืริยา แพลเลเดียมหรือแพลตตินั่มที่เคลือบอยู่บนอลูมินา ตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้จะทำหน้าที่
1. แปลงอนุภาคเขม่าควันดำหรือ Particulate Matter (PM), ไฮโดรคาร์บอน(HC)และคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) ให้ไปเป็น คาร์บอนไดออกไซด์(CO2)และน้ำ(H2O) โดย CAT แบบ DOC นี้มักจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในการขจัดกลิ่นจากการเผาไหม้น้ำมันดีเซลได้อย่างแท้จริงและช่วยลดอนุภาคที่มองเห็นได้หรือลดควันดำนั่นเองครับ
2. CAT แบบ DOC นี้จะไม่สามารถไปช่วยลดการปล่อยแก๊ส ไนโตรเจนอ๊อคไซค์ (NOx)ได้เลย ดังนั้นการปล่อย NOx จากเครื่องยนต์ดีเซลจึงถูกควบคุมโดยใช้ระบบหมุนเวียนก๊าซไอเสียเข้าไปป้อนเข้าไอดีหรือระบบ EGR (Exhaust Gas Recirculation) ค่ายรถญี่ปุ่นทั้งแบบรถกระบะและรถบรรทุกในปัจจุบันนี้จะมีระบบ EGR แทบทุกคันโดยจะใช้ร่วมกับ CAT แบบ DOC ครับ
เมื่อใช้งานไป CAT จะมีการสะสมสิ่งตกค้างอยู่บนผิวรังผึ้งเซรามิกที่เคลือบสารเร่งปฎิกิริยาไว้ สิ่งตกค้างเหล่านี้เองจะทำให้การทำงานของ CAT เกิดความผิดปกติขึ้น เราสามารถสังเกตพบได้จากสัญญาณไฟเตือนโชว์ขึ้นมาที่หน้าปัดรถ อาจเป็นรูปเครื่องยนต์หรือรูป CAT ก็ได้ครับ ผมขอสรุปนะครับว่าสัญญาณไฟ CAT จะโชว์ขึ้นมาจากสาเหตต่อไปนี้ครับ
1. เครื่องยนต์มีความร้อนสูงเกินไปจนเกิดการหลอมละลายหรือชำรุดแตกหัก ต่อไปนี้คือสาเหตที่ทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด(อุณหภูมิที่สูงกว่า 1600°F หรือ 871oC อาจทำให้ตัวเร่งปฏิกิริยา Pt, Pd, Rh เสียหาย โดยไม่มีร่องรอยของการหลอมละลายที่มองเห็นได้)
• ความผิดพลาดในการจุดระเบิดหรือจุดระเบิดผิดจังหวะ(Misfires)
• กำลังอัดต่ำเกินไป(Low compression)
• ประกายไฟไม่ดีหรือไม่มีประกายไฟ(Poor spark or no spark)
• ความไม่สมดุลของส่วนผสมในแต่ละสูบ(AFR cylinder imbalance)
• เครื่องยนต์ทำงานหนักหรือรถบรรทุกมากเกินไป
• ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงผิดปกติหรือคุณภาพเชื้อเพลิงต่ำมาก
• เซ็นเซอร์ O2 เสื่อมสภาพทำให้ ECU จ่ายน้ำมันไม่เหมาะสม
• แรงดันย้อนกลับมากเกินไป(Excessive backpressure)กรณีมีการโมเครื่องแล้วเกิดระเบิดในท่อร่วมไอเสียเกิดแรงดันย้อนกลับรุนแรง เครื่องยนต์จะร้อนจัด
• สารเร่งปฎิกิริยา(Pt, Pd, Rh)ที่เคลือบผิวรังผึ้งถูกปกคลุมด้วยสารอื่นได้แก่
1. การสะสมของคาร์บอนมากเกินไปจากไอเสียมีเขม่าเยอะนั่นเอง
2. การรั่วไหลของน้ำหล่อเย็นเข้ามาภายในห้องเผาไหม้(ปะเก็นฝาสูบหรือท่อร่วมไอดีรั่ว)
3. การใช้วัสดุซีลปะเก็น(Gasket sealants)ที่ไม่ปลอดภัยต่อตัว CAT
4. เครื่องยนต์กินน้ำมันเครื่องมากเกินไป(Burning oil)ทำให้ฟอสฟอรัสถูกเผาไปตกค้างและเคลือบที่รังผึ้ง
5. การใช้เชื้อเพลิงที่ไม่เหมาะสมเช่นเมื่อใช้ E85 เครื่องยนต์จะต้องการปริมาณเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นประมาณ 34% (ต้องการส่วนผสมหนา 9.8:1) องศาการจุดระเบิดก็จะแก่มากขึ้นเพราะน้ำมัน E85 มีค่าออกเทนสูงกว่าเบนซินทั่วไปทำให้เครื่องยนต์มีความร้อนสูงขึ้นด้วยครับ
จากส่วนประกอบสำคัญคือสารเร่งปฎิกิริยาประเภท Pt(Platinum), Pd(Palladium)และ Rh(Rhodium) ที่เคลือบที่บริเวณรังผึ้งเซรามิก ถ้าเรานำเอาส่วนรังผึ้งที่ชำรุดแล้วเหล่านี้นำมาหลอมแล้วสกัดเอาแร่มีค่าเหล่านี้ออกมาได้นั้น มูลค่ามันจะสูงมากเลยครับ ในหลายๆประเทศแถบยุโรปและอเมริกากำลังประสบปัญหา CAT ถูกโจรกรรมกันมาก
สำหรับบ้านเรานั้นมีการประกาศรับซื้อ CAT ในราคาที่สูง ซึ่งรถแต่ละรุ่นราคา CAT ก็จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ขนาดและชนิดของสารเคลือบที่สกัดได้ ผมไปเจอประกาศรับซื้อ CAT ติดไว้ตามห้องน้ำในปั๊มน้ำมัน เขาบอกว่าจะใช้เวลาแค่ 15 นาทีในการถอด CAT แล้วใส่ท่อต่อตรงแทนให้ รับรองเสียงเงียบเหมือนเดิม ดูประกาศแล้วน่าสนใจกันไหมครับ ราคาดีนะครับ จากที่เคยได้ยินนักเลงรถซิ่งมักจะเข้าใจกันไปและจะบอกว่า CAT นั้นทำให้การคายไอเสียไม่ดี ทำให้รถวิ่งไม่ออก สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย จึงมักจะนิยมไปตัดออก แล้วใส่ท่อเฮดเดอร์ใหม่เสียงเพราะด้วย
สรุป “การถอด CAT ออกแล้วจะช่วยให้เครื่องยนต์มีกำลังดีขึ้นหรือไม่ ถ้าถอดแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร?”
ในรถรุ่นแรกๆที่ติดตั้ง CAT นั้นมีผลกระทบต่อการไหลของไอเสียจริงครับ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสมรรถนะของรถและการประหยัดเชื้อเพลิง แต่ในรถสมัยใหม่ CAT ไม่ได้จำกัดการไหลของไอเสียเหมือนรถรุ่นก่อนๆแล้ว ตัวอย่างเช่น การทดสอบในปี 2006 กับ Honda Civic ปี 1999 ได้แสดงให้เห็นว่าการถอดเครื่องแปรสภาพไอเสียหรือ CAT ออกนั้นทำให้แรงม้าสูงสุดเพิ่มขึ้นเพียง 3% เท่านั้น ตัวแปรสภาพแกนโลหะแบบใหม่(New metallic core converter)ในรถรุ่นใหม่ๆ จะมีการสูญเสียแรงม้าไปเพียง 1% ของแรงม้าทั้งหมดเมื่อเทียบกับรถที่ไม่มี CAT ในความเป็นจริงคือคนขับรถสามารถสัมผัสถึงความแตกต่างของแรงม้าที่หายไป 1% หรือไม่ ผมว่าถ้าไม่เอาการอุปทานไปเองเข้ามาเกี่ยวข้องรับรองได้ครับว่าแยกกันไม่ออกแน่นอนครับ
สรุปว่าถ้าถอด CAT ออกนะครับเราได้แรงม้าเพิ่มมา 1% คุ้มไหมครับ กับการเสี่ยงที่จะ :
• การรับประกัน(Warrantee)รถในส่วนของเครื่องยนต์สิ้นสุดลง
• เมื่อถอด CAT ออกเซนเซอร์ O2 ติดไปด้วยเครื่องยนต์ทำงานไม่สมบูรณ์ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ควันดำ
• กรณีรถเกิน 7 ปีต้องตรวจสภาพรถก่อนต่อทะเบียนประจำปี กรอ.ตรวจแก๊สไอเสียไม่ผ่านแน่นอนครับ
• เจอข้อหาดัดแปลงรถ เนื่องจากมีอุปกรณ์ไม่ตรงตามมาตรฐานโรงงาน
แล้วถ้าไม่ถอด CAT ออก เราจะได้อะไรบ้าง?
• รถไม่หลุดประกัน
• ต่อทะเบียนรถทุกปีไม่มีปัญหา
• ไม่โดนปรับข้อหาดัดแปลงรถ
• ระบบการตรวจสอบความผิดปกติของเครื่องยนต์ทำงานเป็นปกติ ทางศูนย์สามารถวิเคราะห์ปัญหาต่างๆได้ตรงจุด
• ไม่มีปัญหาเรื่องควันดำ
ผมหวังว่าข้อมูลที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ จะมีส่วนช่วยให้หลายๆท่านได้สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นนะครับ
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจนะครับ ฝากกด Like กด Share กด Follow ให้ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจในการสรรหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอต่อไปครับ
มีคำเสนอแนะหรือคำถามสามารถ คอมเม้นด้านล่างมาพูดคุยได้ครับ
โฆษณา