24 มิ.ย. 2021 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
ส่อง ‘อีสาน’ หลังย่ำรุ่ง 24 มิถุนา 2475
“ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”
ความข้างต้นปรากฏบนหมุดโลหะตัวเล็กๆ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระราชวังดุสิต ศูนย์กลางการปกครองของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นจุดที่พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” ยืนอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งพระราชวงศ์จักรี
และประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ทำให้ “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (Absolute Monarchy State) สิ้นสุดลงพร้อมๆ กับการก่อตัวขึ้นของ “รัฐประชาชาติ” (Nation State) ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้น ณ เวลานั้น และเป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาว่า “การปฏิวัติสยาม”
หมุดคณะราษฎร ที่มา : https://www.silpa-mag.com/history/article_34128
ปฏิบัติการที่รวดเร็วและเฉียบขาดทำให้คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสามารถกุมสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ไว้ได้ทั้งหมดโดยที่ฝ่ายรัฐบาลเดิมไม่ทันตั้งตัว
พร้อมกันนั้นเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงซึ่งมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลก่อน ถูกกลุ่มผู้ก่อการอัญเชิญมาเป็นองค์ประกันเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนั้นกำลังเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน
ไม่นานนักข่าวการปฏิวัติสยามก็แพร่กระจายไปทั่วพระนครและกลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของราษฎรเป็นจำนวนไม่น้อย
นายทหารคณะราษฎรกำลังแจกจ่ายประกาศคณะราษฎรในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่มา : https://www.bbc.com/thai/thailand-53160098
ห้วงเวลาเดียวกัน ณ ภาคอีสาน ซึ่งไกลออกไปจากศูนย์กลางของรัฐ หลักฐานร่วมสมัยจำนวนหนึ่งก็พอจะสะท้อนให้เห็นกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของคนอีสานที่เกิดขึ้นในเขตเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวมณฑล จังหวัด หรือบางอำเภอใหญ่ๆ
สิบโทสุพรรณ อนันตะโสภณ ข้าราชการชั้นผู้น้อยจากจังหวัดอุดรธานี ได้เขียนจดหมายถึงคณะราษฎรรายงานบรรยากาศในตัวเมืองอุดรธานีในระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน ว่า
"เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลาเที่ยงวัน เสียงโจทก์กันอย่างตื่นเต้นกลาหลว่าที่กรุงเทพฯ เกิดเรื่องกันใหญ่หลวงด้วยราษฎรคณะหนึ่งทำการจับพระเจ้าอยู่หัว เจ้านาย
ข้าราชการคนสำคัญกักขังไว้เพื่อจะบังคับให้พระเจ้าอยู่หัวยอมลดอำนาจลงอยู่ใต้กฎหมาย
…สุดแต่จะโจทก์เล่าลือกันด้วยนาๆ ประการและมีข่าวทางวิทยุราษฎรพากันไปฟังอย่างล้นหลาม…ที่บ้านใดมีวิทยุกระจายเสียงจะล้นหลามด้วยฝูงชนพากันไปฟังข่าวการเมืองและเป็นเช่นนี้ตลอดมาจนข่าวหนังสือพิมพ์แพร่หลาย…"
นอกจากบรรยากาศความสนใจต่อกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จดหมายของสิบโทสุพรรณ ยังเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นการตื่นตัวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในภาคอีสาน
เขาเหล่านี้เข้าสู่ระบบราชการหรือมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานด้วยศักยภาพของตนเอง จึงมีลักษณะเป็น “คุณวุฒินิยม” รวมถึงมีสำนึก “พลเมือง” ในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐ
ทำนองเดียวกัน สงวน ศิลปะเจริญ ข้าราชการพลเรือนชั้นผู้น้อยซึ่งปฏิบัติราชการอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอชัยบุรี จังหวัดหนองคายได้เขียนบรรยายถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายนว่า
“…ตอนหัวค่ำได้รับข่าวทางเครื่องกระจายเสียง ณ ที่ว่าการอำเภอชัยบุรี มีราษฎร พ่อค้าและพระสงฆ์องค์เจ้าไปฟังกันเนืองแน่น…”
สงวนได้อ่านประกาศของคณะราษฎรและช่วยชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่บรรดาพ่อค้าและราษฎรในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งในสายตาของสงวนนั้นเห็นว่า
"วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ราษฎรทั้งหลายถือว่าเป็นวันสำคัญของชาติ ซึ่งคณะราษฎรได้กระทำเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จ
…ราษฎรทั้งหลายต่างมีความปิติยินดีสรรเสริญทั่วไปตลอดทั้งประเทศ ข้าพเจ้าผู้หนึ่งรู้สึกมีความปลื้มอกปลื้มใจอย่างล้นเหลือ จึงได้กระทำความช่วยเหลือแก่คณะราษฎรตามความสามารถที่จะกระทำได้"
ด้านสิบตำรวจเอกเจิม หรรษาวงศ์ ข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองที่ 9 จังหวัดขุขันธ์ทำจดหมายถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนและเป็นมันสมองคนสำคัญของคณะราษฎร
แสดงความเห็นและความยินดีต่อความสำเร็จของคณะผู้ก่อการฯ เขากล่าวถึงความสำคัญของการปฏิวัติสยามด้วยความภาคภูมิใจ
“เนื่องจากคณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยามโดยมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน ไม่มีข้าเจ้าบ่าวนาย นับว่าเป็นบุญลาภของชนชาติไทยอย่างยิ่ง…”
อย่างไรก็ดี กระแสการตื่นตัวทางการเมืองดูจะปรากฏชัดเฉพาะพลเมืองในเขตเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยข้าราชการระดับกลาง ระดับล่าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระ (รวมถึงราษฎรส่วนหนึ่งในเขตเมืองแต่ไม่เด่นชัดนัก)
"เมือง” นอกจากจะเป็นศูนย์กลางอำนาจและเครือข่ายของรัฐ ในแง่หนึ่งนั้น “เมือง” ยังมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงยังเป็นแหล่งชุมนุมของบรรดาผู้ที่มีความสนใจข่าวสารการบ้านการเมืองอยู่แล้วด้วย
คนกลุ่มนี้โดยมากแล้วมีพื้นฐานมาจากกลุ่มอำนาจท้องถิ่นเดิมและพ่อค้า มีศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และตอบสนองต่อการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น การเข้าสู่ระบบการศึกษา เข้าสู่ระบบราชการ หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านวารสารวิชาการ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ คนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมสนับสนุนระบอบใหม่ได้ดี
สำหรับชาวบ้านในชนบทไม่ปรากฏหลักฐานชัดว่าให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดด้วยเหตุผลเชิงการเมืองเด่นชัดหากนัก
การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งนี้นำมาซึ่งความชื่นชมและการคาดหวังต่ออนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นความกังวลใจว่าระบอบใหม่นี้จะสามารถมั่นคงอยู่ได้ยาวนานหรือไม่
สิบโทสุพรรณ อนันตะโสภณ ข้าราชการชั้นผู้น้อยจากจังหวัดอุดรธานี และสิบตำรวจเอกเจิม หรรษาวงศ์ ข้าราชการตำรวจภูธรภาคที่ 9 จังหวัดขุขันธ์ มีความกังวลว่ากระแสการตื่นตัวทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นจะจำกัดอยู่เฉพาะในเขตเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวมณฑล จังหวัด หรือบางอำเภอใหญ่ๆ เท่านั้น
สำหรับชาวบ้านส่วนใหญ่ในชนบทตามความเห็นของสิบตำรวจเอกเจิมแล้ว “ยังโง่เขลา…หาได้รู้สึกหรือเข้าใจในสิทธิหน้าที่ของตนตามที่รัฐบาลใหม่ได้หยิบยื่นคืนให้ไม่….”
ทางด้านสิบโทสุพรรณก็แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า
“ชาวชนบทซึ่งตั้งภูมิลำเนาประกอบการอาชีพอยู่ตามป่าดงห่างที่ตั้งที่ว่าการอำเภอและจังหวัด…รู้สึกว่ายังมีความงงงวย ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ มีความสงสัยหลงเชื่อในถ้อยคำที่เล่าลือกันด้วยนาๆ ประการ”
พวกเขามีความเห็นตรงกันในเชิงว่า ขอให้รัฐบาลเร่งส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจและเผยแพร่หลักการของระบอบรัฐธรรมนูญให้กับชาวบ้านทุกคนอย่างรีบด่วนทุกพื้นที่ ตั้งแต่ระดับมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านทั้งหลายได้ตระหนักรู้ถึงสาระสำคัญของการปฏิวัติสยามและหลักการของระบอบใหม่ อันจะทำให้แรงสนับสนุนรัฐบาลขยายวงกว้างไปมากขึ้น
หลักฐานร่วมสมัยที่ยกมานี้ พอจะสะท้อนให้เห็นกระแสการตื่นตัวทางการเมืองในภาคอีสานหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ที่เต็มไปด้วยความคึกคักและมีชีวิตชีวา ขณะเดียวกันยังส่อให้เห็นว่ากระแสการตื่นตัวทางการเมืองที่มีต้นเค้าอยู่บ้างแล้วก่อนหน้านี้ได้รับการกระตุ้นและสำแดงออกมาอย่างเด่นชัด
คนหนุ่มผู้เป็นพลังทางสังคมลูกใหม่ไม่ได้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างนิ่งเฉย แต่ได้เคลื่อนไหวและแสดงเจตจำนงอย่างกระตือรือร้นในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์
เมื่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง พร้อมๆ กับการก่อตัวขึ้นของ “รัฐประชาชาติ” ที่ “...เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง...”
1
อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2477 เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม ที่มา : https://www.silpa-mag.com/history/article_34128
เอกสารอ้างอิง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2559), 35-36.
“เรื่อง ส.ท. สุพรรณเล่าเรื่องความรู้สึกของพลเมืองในจังหวัดอุดรคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475),” 2 กันยายน 2475, เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สร.0201.25/436 กล่อง 12, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
“เรื่องนายสงวน ศิลปะเจริญ อ้างว่าได้ช่วยชี้แจงเผยแพร่ข่าวคณะราษฎรในท้องที่อำเภอชัยบุรี จังหวัดหนองคาย (พ.ศ. 2475,” 13 สิงหาคม 2475, เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สร.0201.25/239 กล่อง 7, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
“เรื่อง ส.ต.อ. เจิม หรรษาวงศ์ขอให้ส่งผู้แทนไปปาฐกถาและตั้งกรรมการสอดส่องความประพฤติข้าราชการ และแสดงความเห็นเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยงเดินทาง (พ.ศ. 2475),” 12 สิงหาคม 2475, เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สร.0201.25/303 กล่อง 9, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
โฆษณา