23 มิ.ย. 2021 เวลา 13:06 • การเมือง
สามัญสำนึก ตอนที่ 2: ได้เวลาเรียกระบอบปัจจุบันว่า "ฟาสซิสต์"
ลักษณะเด่นของระบอบฟาสซิสต์
ในภาวะที่สังคมไทยกำลังเอียงกะเท่เร่อย่างน่ากลัว แต่คนจำนวนไม่น้อยยังคิดง่ายๆ ว่า เรากำลังเผชิญการต่อสู้ระหว่าง “คนสองฝ่าย” ที่เท่าเทียมกันทั้งความคิดและอำนาจ – ภาวะอิหลักอิเหลื่อบรรยากาศอันตรายแบบนี้ น่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของ “ระบอบฟาสซิสต์”
ก่อนจะหันกลับมามองประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564 ว่า เราเข้าใกล้กับคำว่า “ฟาสซิสต์” แล้วหรือไม่อย่างไร
ปกติเวลาที่เราได้ยินคำว่า ฟาสซิสต์ หลายคนจะนึกถึง เบนิโต มุสโซลินี ผู้นำฟาสซิสต์อิตาลีตั้งแต่ทศวรรษ 1920 จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ประดิษฐ์คำและระบอบนี้เป็นคนแรก หรือไม่ก็จะนึกถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีและสหายร่วมรบของมุสโซลินี
พอนึกถึงแล้วหลายคนก็จะคิดว่า ฟาสซิสต์เป็นเพียงอุดมการณ์ทางการเมืองที่วิปริตผิดเพี้ยน เกิดขึ้นได้ในชั่วขณะทางประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง คงไม่มีวันหวนคืนมาอีก
อย่างไรก็ดี โรเบิร์ต แพ็กซ์ตัน นักรัฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนเตือนเราตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ในหนังสือดีเรื่อง The Anatomy of Fascism (กายวิภาคของฟาสซิสต์) ว่า ระบอบฟาสซิสต์นั้นไม่ได้มีเฉพาะในเยอรมนีและอิตาลีเท่านั้น แต่ยังพบเห็นได้ในหลายประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่จุดจบของมุสโซลินีจนถึงปัจจุบัน
1
ในหนังสือเล่มนี้ แพ็กซ์ตันศึกษารูปแบบและพฤติกรรมของผู้ที่เรียกตัวเองว่า ฟาสซิสต์ และเสนอว่าเราจะเข้าใจระบอบนี้ก็ต่อเมื่อมองพฤติกรรมของผู้คนในระดับท้องถิ่นจริงๆ เท่านั้น ผู้เขียนค่อยๆ ก่อร่างสร้างรูปข้อเสนอของเขาด้วยการไปสำรวจต้นธารของขบวนการเคลื่อนไหวที่ใช้ชื่อ ฟาสซิสต์ สำรวจวิธีการที่กลุ่มฟาสซิสต์เข้าสู่อำนาจและใช้อำนาจรัฐ และพยายามแยกแยะว่าพวกเขาบรรจุลัทธินี้เข้าไปในระบอบการเมืองดั้งเดิมมากน้อยเพียงใด
แพ็กซ์ตันย้ำหลายตอนในหนังสือว่า เราจะมองฟาสซิสต์ว่าเป็นเพียงอุดมการณ์ หรือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง” รูปแบบหนึ่งไม่ได้ เพราะมันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ มันไม่ได้มีฐานอยู่บนระบบคิดเชิงปรัชญาที่มีเหตุมีผล มีความสอดคล้องคงเส้นคงวาในตัวเอง (เช่น คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม เสรีนิยม หรือ “-นิยม” อื่นๆ) หากแต่ฟาสซิสต์เป็น “ผลผลิต” ของ “การเมืองมวลชน” อันเป็นประดิษฐกรรมค่อนข้างใหม่ในศตวรรษที่ 20
ขบวนการฟาสซิสต์ถือกำเนิดขึ้นมาได้ในยุคที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม ความคิดแนวชาตินิยม (nationalism) แพร่หลาย และพรรคการเมืองสายสังคมนิยมในยุโรปเริ่มเข้าสู่อำนาจในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แพ็กซ์ตันมองว่า การเมืองแบบที่มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค แต่ละพรรคต้องต่อรองผลประโยชน์หรือประนีประนอมกันตลอดเวลา ทำให้แรงงานและปัญญาชนจำนวนมากรู้สึกเสียความรู้สึก ส่วนนักการเมืองหลายคนก็ไม่มีทักษะที่เหมาะสมกับการเมืองมวลชน เช่น หลายคนพูดจาน่าเบื่อ ขาดเสน่ห์หรือวาทศิลป์ที่จะดึงดูดมวลชน
ภายหลังจากการปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซีย ระบอบกษัตริย์ล่มสลายลงอย่างรุนแรง นักการเมืองฝ่ายขวาจำนวนไม่น้อยก็เห็นว่า พวกเขาจำเป็นจะต้องริเริ่มขบวนการต่อต้านฝ่ายซ้ายขึ้นมา โดยประยุกต์ใช้วิธีระดมมวลชนแบบฝ่ายซ้าย หายนะรุนแรงทางสังคมและเศรษฐกิจอันเกิดจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่เรียกว่า Great Depression ในไม่กี่ทศวรรษถัดมา ล้วนช่วยผลักดันให้ขบวนการฟาสซิสต์ให้ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด
เพราะฟาสซิสต์ปลุกเร้าอารมณ์ผู้คนที่กำลังเดือดร้อน รู้สึกว่าตัวตนของพวกเขาถูกคุกคาม ฟาสซิสต์เสนอว่าทางออกคือทุกคนต้องสามัคคีกันใน “ความเป็นชาติ” (ในความหมายแคบๆ ที่เชื่อว่า “คนชาติตน” สูงส่งกว่า “คนชาติอื่น”) และต้องขยันทำตามผู้นำโดยไม่ตั้งคำถาม
แพ็กซ์ตันฉายภาพให้เห็นว่า ในยุโรปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมเป็นฝ่ายอ้าแขนรับขบวนการฟาสซิสต์เข้ามาร่วมรัฐบาลผสม เพราะหวาดกลัวฝ่ายซ้ายมาก จากนั้นฟาสซิสต์ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทุบทำลายฝ่ายซ้ายได้อย่างเด็ดขาด ฟาสซิสต์หว่านล้อมนักการเมืองอนุรักษ์นิยมและเหล่านักธุรกิจให้เชื่อว่า มีแต่พวกเขาเท่านันที่จะสามารถรับมือกับคอมมิวนิสต์ พิทักษ์ระเบียบสังคมและเศรษฐกิจดั้งเดิมเอาไว้ได้ นี่คือเหตุผลที่ฟาสซิสต์เยอรมันอย่างฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจได้สำเร็จ
ในขณะเดียวกัน ในประเทศอย่างโรมาเนียซึ่งฝ่ายซ้ายไม่ได้เป็นภัยคุกคามจริงๆ พรรคอนุรักษ์นิยมที่ครองอำนาจก็ไม่เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องอาศัยฟาสซิสต์ แต่ยังปราบปราบความพยายามที่จะก่อรัฐประหารโดยเหล่าฟาสซิสต์ได้สำเร็จถึงสามครั้ง
ฟาสซิสต์ทำอะไรบ้างเมื่อได้อำนาจรัฐมาแล้ว แพ็กซ์ตันเล่าอย่างน่าสนใจถึงความแตกต่างระหว่างระบอบมุสโซลินีกับระบอบฮิตเลอร์ ฟาสซิสต์เยอรมันใช้วิธีสร้างโครงสร้างใหม่ขึ้นมาเพื่อทำงานคู่ขนานไปกับกลไกเดิมของรัฐ ส่วนฟาสซิสต์อิตาลีอาศัยระบบราชการดั้งเดิม ปัญหาที่ทั้งสองกลุ่มเผชิญก็คือสมาชิกพรรคสายหัวรุนแรงที่ไม่อยากได้แค่ระบอบอำนาจนิยมเหมือนในอดีต แต่อยาก “ปฏิวัติถึงรากถึงโคน” เพื่อรักษาอำนาจของระบอบฟาสซิสต์ไว้ตลอดไป ในอิตาลี มุสโซลินีไม่เคยได้อำนาจควบคุมพรรคของเขาอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่เลือกใช้แนวทางเปลี่ยนคนให้หัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ (radicalization) ในขณะที่ฮิตเลอร์ใช้อำนาจควบคุมลูกน้องทุกคน ส่งเสริมให้แข่งขันกันเอง ใครหัวรุนแรงกว่ากันจะได้รับการปูนบำเหน็จ ความแตกต่างนี้ส่งผลให้ฟาสซิสต์เข้าสู่ระดับรุนแรงถึงขีดสุดในเยอรมนี ไม่ใช่อิตาลี
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว ซึ่งลูกน้องของฮิตเลอร์แข่งกันหาวิธีใหม่ๆ ที่จะฆ่าคนให้ได้เร็วที่สุด เปี่ยมประสิทธิภาพสูงสุด คือรูปธรรมที่ชัดเจนว่า “ฟาสซิสต์หัวรุนแรง” นั้นเป็นอย่างไร และเลวร้ายได้เพียงใด
แพ็กซ์ตันชวนเราไปสำรวจขบวนการฟาสซิสต์ทั่วโลกในยุคปัจจุบันด้วย เขาชี้ว่าในประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศ จะมีพลเมืองบางคนที่เชื่อว่า ไม่ควรให้กลุ่มทางสังคมหรือพลเมืองบางคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับตนเอง เขาย้ำบ่อยครั้งว่า ฟาสซิสต์จะเข้าใกล้อำนาจเมื่อชาวอนุรักษ์นิยมเริ่มหยิบยืมวิธีการของพวกเขามาใช้ เริ่มปลุกเร้าอารมณ์ของผู้คน และพยายามหว่านล้อมให้ฟาสซิสต์มาเป็นพวก
ขบวนการฟาสซิสต์เถลิงอำนาจทางการเมืองได้อย่างไร ใน “กายวิภาคของฟาสซิสต์” แพ็กซ์ตันอธิบายอย่างชัดเจนว่ามีห้าขั้นตอนหลักๆ ด้วยกัน –
1. คนจำนวนมากแค้นเคืองหรือผิดหวังกับประชาธิปไตย: ฟาสซิสต์อาศัยจังหวะนี้กระพือลัทธิคลั่งชาติ โอ้อวดว่าตัวเองอยู่ “เหนือการเมือง” ปลุกเร้าอารมณ์ให้คนรู้สึกว่าตกเป็น “เหยื่อ” ของนักการเมือง
2. ใช้ลัทธิเชิดชูตัวบุคคล เรียกร้อง “อัศวินขี่ม้าขาว” ในยามที่การเมืองในระบบติดขัดและแบ่งขั้วรุนแรง: ผู้นำฟาสซิสต์กลายเป็น “วีรบุรุษ” ของมวลชน พรรคฟาสซิสต์ได้รับความนิยมในระดับชาติ
3. เข้าสู่อำนาจ: ผู้มีอำนาจสายอนุรักษ์นิยมอยากควบคุมฝ่ายซ้ายไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจ เชื้อเชิญให้ฟาสซิสต์เข้ามามีส่วนแบ่งในอำนาจ
4. ใช้อำนาจรัฐ: ฟาสซิสต์และผู้นำของพวกเขาควบคุมรัฐ ร่วมกับสถาบันของรัฐอย่างเช่นทหารและตำรวจ และชนชั้นนำในสังคมอย่างสถาบันศาสนาและนักธุรกิจใหญ่ ขจัดพรรคการเมืองที่มองว่าเป็นศัตรู
5. กลายเป็นรัฐหัวรุนแรง (radicalization): ภายใต้การควบคุมของฟาสซิสต์ รัฐกลายเป็นรัฐที่นิยมความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นนาซีเยอรมนี หรือกลายเป็นเผด็จการอำนาจนิยมแบบดั้งเดิม อย่างเช่นฟาสซิสต์อิตาลี ระหว่างนั้นฟาสซิสต์จะกดขี่ปิดกั้นเสรีภาพด้านต่างๆ (ที่เคยเป็นปกติในระบอบประชาธิปไตย) ของกลุ่มคนที่ตนมองว่าเป็น “ศัตรูของชาติ” ปลุกระดมมวลชนอย่างต่อเนื่องให้กระหายความรุนแรง (militants) ด้วยลัทธิคลั่งชาติ
โดยรวม แพ็กซ์ตันนิยาม “ฟาสซิสต์” ว่า “รูปแบบพฤติกรรมทางการเมืองชนิดหนึ่งซึ่งหมกมุ่นกับการถดถอยของชุมชน ความอัปยศอดสู หรือความรู้สึกว่าตกเป็นเหยื่อ ชดเชยสิ่งเหล่านี้ด้วยลัทธิที่เชิดชูความสามัคคีและความบริสุทธิ์ผุดผ่อง[เชิงเชื้อชาติ] โดยพรรคการเมืองที่มีมวลชนเป็นฐาน สมาชิกพรรคเป็นชาตินิยมและนิยมความรุนแรง ทำงานร่วมกับชนชั้นนำดั้งเดิม ปฏิเสธเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย มุ่งบรรลุเป้าหมาย “ล้างความสกปรกภายในชาติ” หรือ “ขยายดินแดน” ด้วยความรุนแรง โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดใดๆ ทางศีลธรรมหรือกฎหมาย”
เมื่อผู้เขียนนำ “บันไดห้าขั้น” ที่แพ็กซ์ตันอธิบายฟาสซิสต์ มาเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 2557 สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ก็เห็นความเหมือนที่ชัดเจนอย่างยิ่ง –
1. คนจำนวนมากแค้นเคืองหรือผิดหวังกับประชาธิปไตย: ระหว่างปี 2556-2557 การเคลื่อนไหวของมวลชน “นกหวีด” ในชื่อ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศว่าจะยึดอำนาจรัฐมา “คืนประชาชน” และปฏิรูปประเทศผ่าน “สภาประชาชน” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
2. ใช้ลัทธิเชิดชูตัวบุคคล เรียกร้อง “อัศวินขี่ม้าขาว” ในยามที่การเมืองในระบบติดขัดและแบ่งขั้วรุนแรง: แกนนำผู้ชุมนุม กปปส. จำนวนมากออกมาขัดขวางการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ทางตัน ปูทางสู่การทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม และต่อมาไม่ถึงเดือน สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ก็เปิดเผยในงานเลี้ยงอาหารค่ำกับผู้ชุมนุมว่า เขาได้ติดต่อกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหาร ถึงยุทธวิธีในการขจัดสิ่งที่เขาเรียกว่า “ระบอบทักษิณ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และประยุทธ์ก็ส่งข่าวให้เขารู้ล่วงหน้าว่า “จากนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพบกในการเข้ามาดูแลแทนเอง” ก่อนเกิดรัฐประหาร
3. เข้าสู่อำนาจ: หลังเกิดรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ใช้อำนาจเผด็จการปิดปากคุกคามประชาชน มีการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารกว่า 2,408 คน จาก 1,886 คดี
4. ใช้อำนาจรัฐ: ในช่วง 6 ปีของ คสช. ก่อนจัดการเลือกตั้งในปี 2562 มีการเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับกระชับอำนาจและสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น คสช. แต่งตั้งองค์กร(ที่ควรเป็น)อิสระ และแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มีอำนาจล้นเหลือรวมถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญก็ยุบพรรคอนาคตใหม่ และพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่ง คสช. มองว่าเป็น “ศัตรู” ทางการเมือง
5. กลายเป็นรัฐหัวรุนแรง (radicalization): ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวกันกับที่ทำรัฐประหาร 2557 มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้น เช่น การอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงโควิด-19 (กฎหมายพิเศษที่ยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ) จับกุมผู้ที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลหรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่ไม่เคยใช้กฎหมายนี้กับผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและ/หรือสถาบัน อีกทั้งมีการใช้มาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) อย่างเหวี่ยงแหเกินตัวบทกฎหมายมากขึ้น
นอกจากนี้ วันนี้รัฐบาลยังมีท่าทีที่สนับสนุนความรุนแรงอย่างเลือกปฏิบัติชัดเจน เช่น มีขบวนการสร้างข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์โดยสื่อเสี้ยมและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการข่าวสาร (information operations: IO) อยู่เนืองๆ เพื่อป้ายสีผู้วิจารณ์รัฐว่า “ล้มเจ้า” หรือ “ถูกต่างชาติบงการ” และปลุกปั่นให้ผู้สนับสนุนรัฐคลั่งชาติ และมีลักษณะหัวรุนแรงมากขึ้น (เช่น เชียร์ให้รัฐ “ปราบม็อบอย่างเด็ดขาด”), การปราบปรามการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล, การคุกคามเยาวชนและนักวิชาการทั่วประเทศโดยอ้างง่ายๆ ว่า “นายสั่งมา”, การจับกุมแกนนำโดยไม่ให้สิทธิการประกันตัว ถึงแม้จะไม่มีเหตุใดๆ ที่ส่อว่าจะหลบหนีหรือยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน
ยังไม่นับขบวนการ “ล่าแม่มด” ออนไลน์ และมหกรรมการฟ้องประชาชนและสื่อมวลชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ ของ “คณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค” ย่อว่า คตส. ซึ่งตั้งขึ้นตามคําสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ลงวันที่ 21 ก.ย. 63
การเอางบประมาณแผ่นดินมาคุกคามประชาชนเช่นนี้ผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งหลักสามัญสำนึกเลยทีเดียว
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนคิดว่า รัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นสิ่งที่อุ้มชูและสนับสนุนให้แนวทางการปกครองแบบ “ระบอบฟาสซิสต์” เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
ระบอบขวาจัดอันตรายที่กำลังฉุดรั้งสังคมไทยทั้งสังคม ด้วยการป้ายสีและปิดปากคนคิดต่างว่า “ชังชาติ”
1
สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางการพัฒนาที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นั่นคือ การคุ้มครองและสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก เปิดพื้นที่ให้ความคิดที่แตกต่างหลากหลายได้มาปะทะสังสรรค์และแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม
โฆษณา