24 มิ.ย. 2021 เวลา 02:32 • ประวัติศาสตร์
24 มิถุนายน 2475 - ปฏิวัติสยาม ผลกระทบต่อเจ้านายในเทพศิรินทร์
.
จริงหรือไม่? พระองค์เจ้าอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เรียนที่เทพศิรินทร์ 8 วัน
แม้พระองค์เจ้าอานันทมหิดล จะเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ในพ.ศ.2475 เลขประจำพระองค์ 2329
.
และเมื่อพูดถึง พ.ศ.2475 ใครๆ ก็ต้องนึกถึง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะต้องเข้าเรียนในเดือนมิถุนายนและออกในเดือนเดียวกัน มีนักเรียนเก่าหลายท่านยืนยันตรงกันว่าในช่วงปี 2470 - 2480 โรงเรียนเปิดภาคการศึกษาแรกที่เดือนพฤษภาคม ซึ่งไม่ต่างจากปัจจุบันในยามปกติ
ดังนั้น นับตั้งแต่ พฤษภาคม 2475 จนถึง เมษายน 2476 ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตัดสินพระทัยตามคำแนะนำของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
.
พระองค์เจ้าอานันทมหิดล จึงมีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะเรียนที่เทพศิรินทร์คือ 11 เดือน
รัชกาลที่ 8 ในฉลองพระองค์ชุดนักเรียนเทพศิรินทร์
นอกจากนี้ แม้ว่าพระองค์จะทรงศึกษาแค่เพียงช่วงเช้า ตามที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงอักษรไว้ว่า "... (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงเล่าว่าพระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จโรงเรียนเพียงครึ่งวัน เนื่องจากไม่ทรงแข็งแรงนัก..." และยังเป็นไปได้ว่าไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียนครบวันตามเพื่อนร่วมชั้นก็ตาม
แต่การที่ขาดเรียน หรือการที่กลับ "บ้าน" ก่อนเวลาเลิกเรียน ไม่ได้หมายความว่า สิ้นสุดสถานะการเป็นนักเรียนแต่อย่างใด
นอกจากนี้แล้ว พระองค์ไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์เดียว ที่มีโอกาสถูกคณะราษฎรเพ่งเล็งอันเนื่องมากจากบทบาทความสำคัญของพระบิดา ขนาดที่จะต้องลาออกแล้วลี้ภัยไปโดยด่วน
ซึ่งในขณะนั้น มีพระบรมวงศ์อีกหลายพระองค์ที่กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และมีความเสี่ยงจะต้องลี้ภัยทางการเมือง เช่น
1.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (ท.ศ.2276)
พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย แม้ว่าตามมาตรา 9 ทำให้ไม่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ แต่ก็ทรงเคยเป็นรัชทายาทอันดับ 1 มาก่อน
.
ซึ่งพระองค์ได้ออกจากโรงเรียนเทพศิรินทร์แล้วตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประทับยังประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2476
2.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (ท.ศ.4336)
เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นพระบรมวงศ์อีกพระองค์ที่มีบทบาทสำคัญมากในช่วงปลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์
.
ด้วยความที่พระบิดาเป็นเป้าประสงค์สูงสุดของคณะราษฎรที่ต้องเข้าควบคุมตัวโดยเร็วที่สุด
.
พระองค์ต้องออกจากการศึกษาที่เทพศิรินทร์ภายหลังการปฏิวัติ และได้ตามเสด็จพระบิดาไปประทับที่เมืองบันดุง เกาะชวา อย่างกระทันหัน ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2475 (วันรุ่งขึ้น)
1
และ 3. หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล (ท.ศ.4397)
ทายาทสายตรงผู้สืบทอดดำรงรักษาวังวรดิศ พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบรมวงศานุวงศ์อาวุโส ที่มีบทบาทสำคัญมากในปาลีเมนต์ และมีอิทธิพลทางความคิดสูงมากต่อทุกกลุ่มชน
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (ซ้าย) และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (ขวา)
จะเห็นได้ว่ามีเจ้านายหลายพระองค์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ...แต่ก็เป็นการยากที่จะบอกว่า พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ออกจากการเป็นนักเรียนเทพศิรินทร์หลังการปฏิวัติ และเป็นไปได้ยากมาก ที่จะเป็นนักเรียนเทพศิรินทร์เพียงแค่ 8 วัน
โฆษณา