24 มิ.ย. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
รากศัพท์ของปฏิวัติ และ Revolution
🔴 เมื่อพูดถึงคำว่า “ปฏิวัติ” หรือ “Revolution” สิ่งแรกที่ทุกคนนึกขึ้นมาในหัวคือการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองแบบฉับพลัน โค้นล้มระบบเก่าและสถาปนาระบบใหม่ ตามที่ได้เห็นในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ รอบโลก
แต่หากพิจารณาถึงรากศัพท์ของทั้งคำว่า “ปฏิวัติ” และ “Revolution” มาจากคำที่เรียบง่ายมากคือ “การหมุน”
ใช่ หมุนแบบล้อรถ, ลูกข่าง, พัดลม หรือโลกหมุนรอบตัวเองนั่นแหละ
แล้วคำพวกนี้ มันตีความท่าไหนมันถึงได้มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้ล่ะเนี่ย
🔴 เริ่มจากภาษาอังกฤษ Revolution กันก่อน
คำนี้มาจากภาษาละตินคือ revolvo แปลว่า “หมุนย้อนกลับ” จากการประสมคำ re- “ย้อนกลับ” (เช่นใน return, reverse) กับ volvo “หมุน”
(แน่นอน รถสัญชาติสวีเดน Volvo ก็ตั้งชื่อมาจากคำนี้แหละ)
ถ้าหากใครเคยอ่านตำราฟิสิกส์หรือดาราศาสตร์ภาษาอังกฤษ อาจจะผ่านๆ ตากับคำว่า revolution ในบทเรียนกันมาบ้าง สะท้อนถึงการใช้คำนี้ที่แปลว่าการหมุน เช่น Revolution of Earth around the Sun
หรือพูดง่ายๆ คือ revolution ในทางฟิสิกส์ มีความหมายเหมือนกับ rotation (หมุนรอบตัวเอง) หรือ orbit (โคจรรอบวัตถุอื่น) นั่นเอง
ในทางฟิสิกส์ revolution หมายถึงการโคจรของวัตถุ
🟠 การใช้ revolution ในทางการเมืองเกิดขึ้นครั้งแรกในเหตุการณ์ปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ของอังกฤษในปี 1688 ที่สภาอังกฤษโค่นล้มอำนาจของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ
หลังจากนั้นก็ปรากฏคำว่า revolution ในทางการเมืองที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบฉับพลันและรุนแรง จากการปฏิวัติยุคต่อมา เช่น
American Revolution 1776
French Revolution 1789, 1830 และ 1848
Chinese Revolution 1911
Russian Revolution 1917
การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ปี 1688 ที่ได้สร้างความหมายใหม่ให้แก่ revolution
🟠 Revolution ยังสามารถใช้ในวงการอื่นได้ด้วย หากหมายถึงการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกขั้ววงการ เช่น
- Scientific Revolution การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว จากยุคกลางที่ถูกครอบงำด้วยศาสนา
- Industrial Revolution การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมจากแรงงานคนมาเป็นเครื่องจักร
🟠 รูปคำกริยาของ revolution มี 2 คำคือ
- revolve คำนี้หมายถึง “หมุน” แบบทั่วไปเลย ความหมายเหมือนกับ spin, roll, rotate แต่คำนี้ใช้กับการเมืองไม่ได้เลยนะ ต้องใช้อีกคำคือ
- revolt แปลว่า “การลุกฮือต่อต้าน” แต่คำนี้บอกแค่การกระทำเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าผลลัพธ์จะสำเร็จหรือไม่ ถ้าล้มเหลวก็กลายเป็น rebellion (กบฏ) ไปนะ
ดังนั้นถ้าจะบอกว่าปฏิวัติ และสำเร็จด้วยต้องบอกว่า make a revolution นะ
.
🔴 ส่วนคำว่า “ปฏิวัติ” ในภาษาไทย เป็นการบัญญัติศัพท์จากคำว่า revolution นั่นแหละ โดยผู้บัญญัติคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พ.ศ.2434-2519 / ค.ศ.1891-1976)
คนนี้ได้บัญญัติคำไทยขึ้นมาใช้มากมาย ในยุคที่สยามรับความรู้จากตะวันตกเป็นจำนวนมาก เช่น
constitution - รัฐธรรมนูญ
democracy – ประชาธิปไตย
society - สังคม
economy - เศรษฐกิจ
culture - วัฒนธรรม
philosophy - ปรัชญา
รวมถึงคำว่า revolution เขาก็บัญญัติด้วยคำว่า “ปฏิวัติ” จากคำบาลีสองคำคือ
- ปฏิ – ย้อนกลับ (re-)
เช่นในคำว่า ปฏิกิริยา, ปฏิพากย์, ปฏิกรณ์
- วัติ (วตฺติ) – การหมุน
คำนี้อาจพบในรูปอื่นคือ วัฏ, วรรต เช่นในคำว่า วัฏจักร, สังสารวัฏ, ทักษิณาวรรต
🟠 การบัญญัติคำนี้เป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิ.ย. 2475
เพราะเดิมทีหลวงวิจิตรวาทการได้บัญญัติคำ revolution ว่า “พลิกแผ่นดิน” แต่เมื่อแปลแบบนี้ ทำให้มีความหมายที่รุนแรง เหมือนกับว่าล้างระบบเก่าๆ ไปจนเกลี้ยง
ขณะที่ปรีดี พนมยงค์ได้ใช้คำว่า “อภิวัฒน์” ดังเช่นบางครั้งที่เราได้ยินว่า “การอภิวัฒน์สยาม” เพราะเขามองว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้สยามมีความเจริญมากกว่าระบอบเก่า
การปฏิวัติสยาม 2475
🟠 สุดท้ายคำที่ถูกยอมรับให้ใช้ในภาษาไทยคือ “ปฏิวัติ” ของกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เพราะเขาได้ให้ความคิดเห็นว่า
"อันคำว่าปฏิวัตินั้น ข้าพเจ้าได้เลือกเฟ้นให้เหมาะกับความหมายในภาษาอังกฤษแล้วกล่าวคือ แผ่นดินหมุน ไม่ใช่การหมุนแผ่นดิน ‘ปฏิวัติ’ เป็นอกรรมกริยาซึ่งแสดงการหมุนของวัตถุต่างๆ ทั้งนี้เป็นอาการในธรรมชาติ และไม่มีที่เสียหายอย่างใดเลย”
“ในการปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนั้นเปรียบประดุจการแกว่งแห่งลูกตุ้มนาฬิกา ถ้าแกว่งไปข้างซ้ายไกลย่อมกลับแกว่งไปข้างขวาไกล ถ้าแกว่งแรงไปข้างหนึ่งก็ย่อมกลับแกว่งแรงไปอีกข้างหนึ่ง แต่ถ้าแกว่งพอประมาณตามสมควรแล้ว อาการแกว่งก็จะเป็นไปตามปรกติวิสัยด้วยความราบรื่นเรียบร้อย”
🟠 ในประวัติศาสตร์โลกก็ได้บอกกับเราแล้วว่า ทุกระบอบการปกครองต้องปรับตัวให้เข้ากับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด
ถ้าระบอบนั้นปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้ และทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ระบอบนั้นก็จะคงอยู่กับประชาชนได้อย่างมีเกียรติและสถาพร
แต่ถ้าระบอบนั้นไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และยังสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกหย่อมหญ้า ระบอบนั้นจะถูกโค่นล้มลงในที่สุด
โฆษณา