Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Amarinbooks
•
ติดตาม
24 มิ.ย. 2021 เวลา 03:34 • การเมือง
ทั้งๆ ที่เอเธนส์คือแหล่งกำเนิดของประชาธิปไตย และหลายพันปีต่อมาประเทศเกือบทั้งหมดในโลกก็เลือกใช้ระบอบการปกครองนี้ แต่ทำไมนักปราชญ์ใหญ่แห่งเอเธนส์ทั้งสองจึงตั้งแง่กับประชาธิปไตยนัก
คำว่าประชาธิปไตย (Democracy) มาจากศัพท์ภาษากรีกว่า dēmokratia ซึ่งรวมคำว่า dēmos ที่แปลว่า ผู้คน กับคำว่า Kratos ที่แปลว่า ปกครอง จึงแปลรวมกันว่า ปกครองโดยผู้คน ซึ่งใช้เรียกระบบการเมืองของกรีกที่เกิดขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช
แต่ก่อนที่จะไปถึงเหตุผลว่าทำไมโสเครติสและเพลโตลถึงไม่ชอบประชาธิปไตย เราต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยในเอเธนส์ไม่เหมือนกับประชาธิปไตยอย่างทุกวันนี้ ที่เอเธนส์ สิทธิในการปกครองถูกจำกัดอยู่เพียง 1 ใน 6 ของพลเมืองทั้งหมด ซึ่งนับเพียงชายเอเธนส์เท่านั้น ผู้หญิงไม่มีสิทธิใดๆ ส่วนผู้ที่มีสิทธิทุกคนจะได้ร่วมออกกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านผู้แทน เนื่องจากมีจำนวนคนไม่มาก ระบบแบบนี้เรียกว่าประชาธิปไตยแบบโดยตรง
โสเครติสและเพลโตวิจารณ์การเลือกผู้นำตามระบบของเอเธนส์ นั่นคือเลือกจากความถูกใจและความนิยมชมชอบของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง การรวมกลุ่มกันทางประชาธิปไตยที่เอเธนส์คือการที่ผู้คนจะมาแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการตรวจสอบว่าสิ่งที่พวกเขาพูดคือความจริงหรือข้อเท็จจริงหรือไม่ ในยุคนั้นผู้ดีมีเงินส่วนใหญ่จะร่ำเรียนจากสำนักโซฟิสต์ ซึ่งเป็นสำนักการศึกษายอดฮิต เน้นการฝึกพูดโน้มน้าวใจมากกว่าการถกเถียงกันด้วยตรรกะ ซึ่งเป็นไปได้ว่าใครก็ตามที่มีวาทะที่ครองใจคนมากที่สุดก็จะมีสิทธิ์ได้รับการเลือกให้เป็นผู้นำ หรือนั่นคือที่มาของนักปลุกระดมนั่นเอง
แต่เพลโตเน้นว่าผู้ปกครองรัฐควรเป็นผู้มีสติปัญญายอดเยี่ยม และเพียบพร้อมด้วยศีลธรรม ที่เพลโต้เรียกว่า “ราชาผู้เป็นนักปรัชญา” เป็นแนวคิดแบบเดียวกับที่โสเครติสผู้เป็นอาจารย์ของเขาประกาศไว้ว่า รูปแบบของรัฐที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องมีนักปรัชญาเป็นผู้ปกครอง เพราะนักปรัชญาเป็นผู้ที่แสวงหาปัญญา โดยเฉพาะสัจจะความจริง มีความกล้าหาญ หัวไว และความจำดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติของการผู้ปกครองที่ดี แต่ก็มีนักปรัชญาคนอื่นแย้งว่านักปรัชญาเองก็อาจจะเป็นคนเลวได้เหมือนกัน โสเครติสโต้กลับว่าผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นนักปกครองอย่างที่เขาว่ามา หากได้รับการศึกษาที่ผิดก็อาจจะทำให้เป็นคนเลวได้ ดังนั้นนักปรัชญาตัวจริงต้องได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง แต่เพลโตเองก็ยอมรับในภายหลังว่า ผู้นำแบบนั้นหาได้ยาก
โสเครติสยังชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยคือระบบที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้คนอย่างมาก ดังนั้นทรราชย์อาจเกิดขึ้นได้เมื่อใครสักคนต้องการเสรีภาพในการทำสิ่งที่สุดโต่ง จนไปจำกัดเสรีภาพของผู้อื่น และเมื่อถึงจุดนั้นจะทำให้เกิดสภาวะขั้วตรงข้ามขึ้นนั่นคือ ความเป็นทาส ทรราชย์จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อสร้างอำนาจของตนขึ้นมา เช่น ใส่ร้ายผู้คนด้วยข้อมูลเท็จ ฆ่าคน หรือแม้แต่อ้างว่าจะปลดหนี้ให้คนจนเพื่อจะได้แรงสนับสนุน ทรราชย์ยังพยายามกำจัดคนฉลาดและกล้าหาญ เพราะคิดว่าผู้คนเหล่านี้คือขวากหนามของตน เช่น ที่ซิเซโรโดนประหารเพราะพยายามจะปกป้องสาธารณรัฐโรมันจากการปกครองด้วยระบอบเผด็จการ
เนื่องจากตระหนักรู้ในสิ่งนี้ นักรณรงค์ชาวอเมริกันยุคแรกเริ่มของรัฐบาลรีพับลิกัน จึงพยายามหาทางสร้างบางอย่างเพื่อทัดทานไม่ให้อเมริกาได้ผู้นำเลวมาปกครอง จารีตรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1787 จึงได้จัดตั้งคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีเพื่อตรวจสอบผู้ที่จะขึ้นมารับตำแหน่งนี้ อเล็กซานเดอร์ ฮามิลตัน รัฐบุรุษแห่งอเมริกา ก็เป็นหนึ่งในคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์กรีซและโรมซ้ำๆ เพื่อหาทางปกป้องประชาธิปไตยไม่ให้กลายเป็นเผด็จการ จอห์น อดัมส์ ประธานาธิบดีคนที่สองของอเมริกาเอง ก็อ่านเรื่องราวของซิเซโรหลายครั้ง และถึงกับอ้างอิงคำพูดของซิเซโรในจดหมายที่เขียนให้โทมัส เจฟเฟอร์สัน
พวกเขาต้องการสร้างประชาธิปไตยในอเมริกาบนฐานของการถกเถียงด้วยเหตุผลและการประนีประนอม แต่ก็ตระหนักดีเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ พวกเขารู้อยู่ว่าบางครั้งมนุษย์ก็อาจจำนนต่อ “ความลุ่มหลง” ทั้งยังตระหนักดีว่าระบบการเมืองใดก็ตามที่สร้างบนรากฐานของตรรกะและเหตุผล ย่อมมีความเสี่ยงเสมอที่ความไร้เหตุผลอาจระเบิดออกมา
ในยุคสมัยใหม่ เหล่าผู้สืบทอดของนักปราชญ์โบราณได้พยายามหาหนทางนิยามความไร้เหตุไร้ผล และ “ความลุ่มหลง” นั้นให้ชัดขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจว่าใครบ้างอาจจะตกหลุมพรางของนักปลุกระดมที่ต้องการสร้างความนิยมให้ตนเอง แต่นอกจากธรรมชาติของมนุษย์ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ส่งผลให้ประชาธิปไตยเสื่อมถอย นักปลุกระดมต้องการปัญญาชนที่จะโน้มน้าวผู้คนว่าสิ่งพวกอำนาจนิยมทำนั้นถูกต้องสมควร ซึ่งปัญญาชนเหล่านี้ก็เป็นไปได้ตั้งแต่ นักกฎหมาย สื่อมวลชน นักคิด นักเขียน ศิลปิน
ความเคลือบแคลงและความกังวลของโสเครติสและเพลโตไม่ได้ถูกละเลยจากคนในปัจจุบัน แม้เงื่อนไขของสังคมสมัยนั้นกับสมัยนี้จะไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว ในหนังสือ “สนธยาประชาธิปไตย” แอนน์ แอพเพิลบอมได้เสนอว่ามันเป็นไปได้ที่ประชาธิปไตยจะเดินไปสู่จุดตกต่ำจนกลายเป็นเผด็จการ แอพเพิลบอมหยิบยกตัวอย่างวิกฤติทางการเมืองที่คล้ายกันในหลายประเทศมาเล่าให้เข้าใจความเป็นไปของประชาธิปไตย เพื่อชวนเราสำรวจไปด้วยกันว่าเงื่อนไขใดบ้างที่ทำให้สังคมหันหลังให้ประชาธิปไตย และจะมีวิธีใดที่จะทำให้เราไม่เดินไปสู่จุดสนธยานั้น
จากหนังสือ สนธยาประชาธิปไตย Twilight of Democracy
โดย แอนน์ แอพเพิลบอม
สำนักพิมพ์ Sophia
3 บันทึก
3
1
3
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย