24 มิ.ย. 2021 เวลา 03:59 • การเมือง
คิด-มา-เล่า 02
ประชาธิปไตยในทรรศนะของพ่อ
วาระที่ 2 : ประชาธิปไตยที่น่าจะเป็น
.
ในสภาพการณ์ปัจจุบันหากใครเอ่ยว่า “การเมืองไม่เกี่ยวกับเรา” พ่อคงได้แต่ถอนหายใจยาว และสลดสังเวชกับความคิดเช่นนั้น ด้วยความเข้าใจในรูปแบบสังคมไทยที่บ่มเพาะสภาวะ ‘การปฏิเสธข้อเท็จจริง’ มาอย่างเนิ่นนาน หรือบางคนอาจเรียกว่า ‘ignorance’ ที่มีความหมายว่า ไม่รู้ หรือให้เก๋ขึ้นหน่อยก็สามารถทับศัพท์บาลีว่า ‘อวิชชา’ ก็ดูตรงดี แม้จะพยายามทำตัวเองให้ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมันฟ้องให้เห็นว่าการเมืองที่ ‘ห่วย’ ส่งผลให้ปัญหามันชัดเจนยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อทุกผู้คนอย่างไม่เลือกหน้า ยิ่งสถานการณ์ของโรค Covid-19 ที่ระบาดอยู่ ณ เวลาที่พ่อเขียนนี้ก็เกินกว่า 1 ปีนับจากวันที่ WHO ประกาศภาวะ Pandemic การบริหารงานของรัฐบาลแสดงให้เห็นแต่เรื่องเน้นการบริหารอำนาจ การยึดผลประโยชน์ที่ต้องแจกจ่ายให้แก่พรรคพวกก่อน เพื่อการลงทุนและหวังผลผูกพันในอำนาจนั้น ส่วนผลประโยชน์ส่วนรวมของคนในชาติเป็นเรื่องรอง มิต้องพูดถึงการตระเตรียมพื้นที่ให้แก่ปัจเจกชนได้พัฒนาตนเอง แค่เพียงอยู่รอดในแต่ละวันก็เป็นเรื่องยากเต็มที จริง ๆ แล้วทั้งหมดนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ไม่ต้องสาธยายก็พอจะเข้าใจได้ว่า “การเมืองเกี่ยวกับเรา” อย่างแน่นอน.
ภาพประกอบคัดลายเส้นจาก ภาพอนุสาวรีย์ปราบกบฏ (อนุสาวรีย์หลักสี่) ซึ่งสูญหายไปเมื่อปลายปี พ.ศ.2561
-
จากวาระที่แล้วพ่อพาลูกสำรวจ ‘ประชาธิปไตยที่(พ่อ)ผ่านมา’ เพื่อให้เห็นภาพ ‘การเมือง’ ในระบอบประชาธิไตยที่พัฒนาขึ้นในสังคมผ่านมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวของพ่อ ในครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอบางส่วนของประชาธิปไตยที่พ่อคิดว่า ‘น่าจะเป็น’ จากมุมมองส่วนตัว เนื่องในโอกาสเดือนแห่งการครบรอบการปฏิวัติทางการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในเมืองไทย และแม้ว่าจะผ่านมาแล้ว 89 ปี พ่อก็กล้าบอกกับลูกว่า สังคมที่พ่อเติบโตมานี้ยังไม่เคยมี ประชาธิปไตยที่แท้จริงเลย แน่นอนว่าแบบ ‘ที่แท้จริง’ นั้นคืออย่างไร พ่อเองก็ตอบไม่ได้ แต่พ่อพอจะเล่าแบบ “ที่น่าจะเป็น” ได้ ขอให้ลูกลองพิจารณา
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปถึงพัฒนาการของระบอบการเมืองประชาธิปไตยว่าย่อมเคียงคู่กันมากับแนวคิดเสรีนิยม หากเทียบกับยุคสมัยปัจจุบันของพ่อก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า คนรุ่นวัยหนุ่มสาวที่ออกมาเรียกร้องถึงสิทธิเสรีภาพที่ขาดหายไปในชีวิตของเค้านั้น เป็นการเรียกร้องขั้นพื้นฐานทางคุณค่าในกรอบคิดแบบเสรีนิยม พ่อจะไม่อภิปรายถึงความหมายของ ‘เสรีนิยม’ ในที่นี้เพราะคงยืดยาว อีกทั้งไม่ใช่ผู้สันทัดกรณี แต่ประวัติศาสตร์ของการเรียกร้องระบอบการเมืองที่เน้นให้เกิดความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลนั้น เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลายร้อยปีทางประเทศโลกตะวันตก ด้วยผ่านระยะเวลายาวนาน การจัดระบบระเบียบทางความคิดและรูปแบบของระบอบดังกล่าวจึงเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน มั่นคง ได้รับการยอมรับและแพร่หลายอย่างมากในช่วงหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น (ประมาณ ค.ศ.1991) ในที่สุดระบอบการปกครองที่เรียกว่า เสรีประชาธิปไตย หรือ เสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democracy) จึงกลายเป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญในการวางรูปแบบการปกครอง โดยเน้น 2 คุณค่าหลัก อันได้แก่ ความเสมอภาคทางการเมือง-อำนาจอธิปไตยของผองชน และ การเคารพปกป้องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล พร้อมทั้งจำกัดอำนาจรัฐด้วยระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ด้วยรูปแบบที่ถูกพัฒนาจนกลายเป็นดั่งวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเสรีนิยมที่ฝังรากลึกในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส แคนาดา เยอรมนี ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เป็นต้น เหล่าผู้คนในสังคมจากประเทศดังกล่าวย่อมถือทั้ง 2 คุณค่าหลักข้างต้น จนกลายเป็นค่านิยมร่วมซึ่งส่งเสริมให้ระบอบ ‘เสรีประชาธิปไตย’ เข้มแข็งจนบรรดานักคิดทั้งหลายยกย่องให้เป็นระบบการจัดการปกครองที่ดีที่สุด และแน่นอนว่าเป็นหนึ่งในประชาธิปไตยที่พ่อคิดว่า “น่าจะเป็น” ด้วย
••
ทำไมประชาธิปไตยควรมาพร้อมกับ ‘เสรีนิยม’? คำตอบตายตัวจากพ่อคงมีให้ไม่ได้ เนื่องด้วยเหตุผลเดิม คือ ไม่ใช่ผู้สันทัดกรณี แต่เราสามารถทำความเข้าใจอย่างง่ายถึงความอันตรายจากลัทธิฝักใฝ่การเลือกตั้งโดยอ้างว่าเป็นหลักการของ ‘ประชาธิปไตย’ จากกรณีที่กลุ่มการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมาก ถือตัวว่ามีสิทธิขาดในการตัดสินใจทางการเมือง จึงละทิ้งเสียงข้างน้อยไป อันที่จริงการพกหลักการเคารพและปกป้องเสียงข้างน้อยที่มาจากคุณค่าของ ‘เสรีนิยม’ การให้น้ำหนักกับทุกมุมมองความเห็นที่แตกต่างกันอย่างเท่าเทียม ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสรีประชาธิปไตยให้งอกงามตามความหมายของมัน แต่เมื่อมองย้อนกลับมาในสังคมไทยที่พ่ออยู่นี้ ดูจะเป็นไปได้ยาก หากมุมมองความเห็นยังถูกแช่แข็งไว้ด้วยกรอบความคิดที่เจริญเติบโตมาจากขนบจารีต อันมีที่มาจากค่านิยมกระแสหลักของสังคมที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล ยิ่งในกรณีเมื่อหนุ่มสาวตั้งคำถามที่ดูจะไปรบกวนหรือกะเทาะเปลือกคุณค่าเหล่านั้น มุมมองความเห็นจากฝ่ายกระแสหลักสามารถตัดสินและปฏิบัติอย่างชัดเจนว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งผิด ดังนั้นอีกหนึ่งหลักการสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้มีประชาธิปไตยที่น่าจะเป็นได้ในทรรศนะของพ่อคือ ‘การทลายกรอบศีลธรรม’ อันเป็นที่มาของขนบจารีตเดิม.
•••
Secularism หรือ โลกวิสัย คือ แนวคิดหนึ่งที่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยทลายกรอบขนบจารีต ซึ่งพึ่งพิงแนบชิดอยู่กับศีลธรรมฉบับประเพณีที่ชนชั้นนำยึดครองเพื่อจัดระเบียบสังคม พร้อมทั้งใช้เป็นเครื่องมือหลักในการจัดสรรอำนาจ อีกทั้งเสริมให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพบุคคล แนวคิด Secularism ให้อธิบายอย่างง่ายอาจกล่าวได้ว่าคือ “การแยกรัฐออกจากศาสนา” หมายความอีกอย่างคือ ศาสนาต้องไม่ถูกอุปถัมภ์ด้วยรัฐ และเช่นกันรัฐก็ต้องไม่ได้รับการอุปถัมภ์ด้วยศาสนา จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมที่มีอิสระทางความเชื่อ ซึ่งย่อมส่งผลต่อความเป็นอิสระของศีลธรรมและคุณธรรมที่ไม่อยู่ใต้กรอบหลักเกณฑ์ของศาสนาใด ๆ ลักษณะของรัฐโลกวิสัย (Secular state) ย่อมส่งเสริมให้เกิดการตั้งคำถาม ถกเถียง เพื่อแสวงหาหลักการหรือข้อปฏิบัติทางศีลธรรมที่ทุกคนในสังคมสามารถยอมรับร่วมกันได้ โดยปราศจากอิทธิพลของความเชื่อทางศาสนาเข้ามาชี้นำ การมีสังคมแห่งเสรีภาพทางความเชื่อจะเป็นรากฐานที่มั่นคงให้กับ สังคมเสรีนิยม
••••
หากย้อนกลับมามองที่สังคมไทยในช่วงเวลาของพ่อ ศาสนาพุทธ ได้รับการสถาปนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ รัฐทำหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘พุทธเถรวาท’ อย่างชัดเจนทั้งการอุดหนุนจุนเจือ การมีหน่วยงานคุ้มครองและระบบการปกครองที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนักบวชโดยเฉพาะ การปฏิบัติเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความผูกพันแน่นแฟ้นระหว่างศาสนากับชนชั้นปกครอง ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ส่งผลให้เกิดสภาวะของการเลือกปฏิบัติ และนำไปสู่ผลกระทบทางด้านการเมือง พ่อขอยกตัวอย่างที่เด่นชัดจากกรณีของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ พระสงฆ์เจ้าของวาทะประวัติศาสตร์เมื่อ มิถุนายน 2519 “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของเขาปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีส่วนชี้นำให้ใช้ความรุนแรงโดยไม่ต้องรู้สึกผิดกับขบวนการฝ่ายซ้ายที่กำลังเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองในขณะนั้น หากใช้ศีลธรรมธรรมดาสามัญในการตัดสินคำกล่าวของเขาก็น่าจะไม่ยากเย็นอะไรในการอธิบายความไม่ถูกต้องดังกล่าว หรืออย่างน้อยการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่มีแนวโน้มนิยมความรุนแรงนั้นก็ควรเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ด้วยสถานะพระมีชื่อที่มีจุดยืนอนุรักษ์นิยมเชิดชูสถาบันกษัตริย์ การกระทำของเขาจึงไม่ได้รับการลงโทษใด ๆ จากมหาเถรสมาคมในสมัยนั้น ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนลองสมมติเหตุการณ์คล้าย ๆ กันเพื่อทำความเข้าใจ เช่น กรณีพระภิกษุในเวลาปัจจุบันของพ่อออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องการปฏิรูปคณะสงฆ์ แม้ยังไม่ได้มีคำกล่าวเชิงยุยงปลุกปั่นให้ใช้ความรุนแรงใด ๆ การข่มขู่คุกคามในรูปแบบของอำนาจรัฐย่อมมาถึงพระเหล่านั้นอย่างกระตือรืนร้นโดยแทบไม่ต้องร้องขอ ที่ยกตัวอย่างมาน่าจะพอให้ลูกเห็นภาพของผลที่เกิดขึ้น มาโดยตลอดของรัฐที่สัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับศาสนา
•••••
เมื่อรัฐแสดงออกอย่างไม่เป็นกลางก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การมีรัฐที่ผูกพันกับศาสนานั้นน่าจะเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอย่างช่วยไม่ได้ สำหรับรัฐไทยรูปแบบของความสัมพันธ์ของสถาบันหลักเช่นนี้ ส่งผลถึงการสถาปนา ‘ความดี’ ฝ่ายเดียวหรือการมีศีลธรรมที่เข้าข้างเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังกรณีตัวอย่างที่พ่อเสนอไป ยิ่งไปกว่านั้นอาจส่งเสริมให้เกิดการผลิตซ้ำองค์ความรู้ที่สนับสนุนอำนาจที่อ้างอิงจากความเชื่อทางศาสนา เช่น การบรรจุเนื้อหาวิชาเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ส่งผลให้เด็กทุกคนจากทุกศาสนาต้องเรียนเรื่องราวของศาสนาเดียว ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างศาสนา ความเข้าอกเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมความเชื่ออันหลากหลายก็ไม่ถูกพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น แทนที่เราจะได้ประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย และดึงข้อดี ข้อได้เปรียบ จากความหลากหลายนั้นมาใช้พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ รัฐก็ทำหน้าที่แช่แข็งสิ่งนั้นเอาไว้และรอวันละลายเอาเองตามยถากรรม
••••••
วัตถุถาวรที่ดูจะเป็นอนุสรณ์ยืนยันถึงเรื่อง การเลือกปฏิบัติ ได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ “สัปปายะสภาสถาน” รัฐสภาแห่งใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในยุคของพ่อ ด้วยงบประมาณสูงลิบ เป็นอาคารราชการที่มีพื้นที่ใช้งานสูงติดอันดับท็อป 5 ของโลก แต่สถาปัตยกรรมตัวแทนแห่งภาพพจน์การเมืองของประเทศนั้น ได้อุทิศพื้นที่ตำแหน่งกึ่งกลางของผังโครงการให้กับ เจดีย์ทรงไทยอันเป็นสถานที่ประดิษฐาน ‘พระสยามเทวาธิราช’ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์อันแข็งเกร็งที่แสดงออกถึงความเป็นอาคารทางศาสนามากกว่าพื้นที่ทำงานและถกเถียงของตัวแทนประชาชน การตีความแนวคิดส่วนนี้ของคณะผู้ออกแบบชี้ชัดว่ารัฐไทยผูกพันกับความเชื่อทางศาสนาอย่างแน่นแฟ้น แต่ที่น่าสังเกตและชวนสงสัยที่สุดคือ แม้แต่พุทธที่เป็นศาสนาประจำชาติก็ไม่ได้ถูกเลือกมาแสดงออกผ่านพื้นที่ดังกล่าว แต่กลับใช้รูปเคารพที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูมาปรากฎในฐานะเทพผู้ทรงอำนาจสูงสุด ณ ที่แห่งนี้ (โดยตำแหน่งการจัดวาง) แทนที่การสื่อให้เห็นถึงอำนาจอธิปไตยที่ควรจะเป็นของประชาชนตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยไปเสียสิ้น ในขณะเดียวกันก็ยิ่งบ่งบอกถึงการผลักไสไล่ส่งศาสนาและความเชื่อนอกเหนือจาก พุทธ-พราหมณ์ นี้ให้ออกไปอยู่นอกวง หรืออย่างน้อยก็สื่อให้เห็นถึงการไม่ได้รวมศาสนาหรือความเชื่ออื่น ๆ เข้าไว้ในการกำหนดความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งนี้ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
•••••••
เรื่องอันตรายอันดับต้น ๆ ในการปกครองที่รัฐกับศาสนาเป็นเนื้อเดียวกัน คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างบรรยากาศของ “การห้ามตั้งคำถาม” สังคมที่ขาดการตั้งคำถามหรือขาดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อความผิดปกติในสังคม อาจชวนให้มีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะการรับรู้ไม่ลงรอย (cognitive dissonance) คล้ายพฤติกรรมของคนในลัทธิ (cult) ที่เมื่อเจ้าลัทธิเกิดมีคำสอนที่ผิดพลาด พวกเขาก็ยังสามารถหาเหตุผลแก้ตัวให้กับเจ้าลัทธิได้ เพื่อให้ตัวพวกเขาเองนั่นแหละได้เชื่อและศรัทธาลัทธินี้ต่อไป หากให้ลูกพยายามจินตนาการภาพตาม สังคมที่ผู้คนมีความคิด พฤติกรรมไปในทำนองเดียวกันทั้งหมดอันเกิดจากรัฐตีกรอบการรับรู้เท่าที่กำหนดไว้เท่านั้น ผู้คนในสังคมนั้นคงค่อย ๆ ขาดวิจารณญาณ ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ไปเรื่อย ๆ เพราะถูกฝึกให้อยู่แต่ในกรอบจำกัดมาโดยตลอด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ก็คงเลือนลางจางหายไปในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวคงเป็นการยกตัวอย่างที่ extreme ไปบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยซะทีเดียว เพราะตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงก็มีให้เห็นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของลัทธิที่เกิดขึ้นบนโลก ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะสังคมเช่นนั้น การให้เสรีภาพในการตั้งคำถาม การแสดงความเห็น ตลอดจนการนับถือความเชื่อใด ๆ ก็ตาม หากไม่รบกวนหรือลิดลอนสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ย่อมเป็นวิถีทางที่สังคมนั้นควรให้ความสำคัญ แนวคิดของการเป็น secular state หรือ รัฐโลกวิสัย น่าจะเป็นคำตอบที่น่าจะเป็น
••••••••
นอกจากการแยกรัฐและศาสนาออกจากกัน เพื่อแก้ปัญหาอำนาจรัฐที่มาพร้อมขนบหรือความเชื่อที่อิงกับศาสนาละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างควรคำนึงถึงการมีกติกากลางซึ่งเป็นที่ยอมรับได้สำหรับทุกคนในสังคม การสถาปนาศีลธรรมสากลที่สามารถไปกันได้กับทุกความเชื่อ ทุกบริบทสังคม และที่สำคัญ คือเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก น่าจะเป็นคำตอบของการสร้างสังคมแห่งเสรีภาพ ยอมรับทุกความคิดความเชื่อ ทุกศาสนา ไม่มีใครด้อยกว่าหรือสูงต่ำกว่าใคร ยึดมั่นในหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนที่ปัจเจกชนเท่าเทียมกัน และย่อมมีความแตกต่างกันตามธรรมชาติ การไม่รุกล้ำเสรีภาพของบุคคลอื่น ก็คือการรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของตนเอง ความยุติธรรมไม่เลือกฝ่าย ไม่เรียกร้องการตีความตามศีลธรรม ขนบจารีตประเพณี
เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมไทยเข้าสู่สภาวะดังที่พ่อนำเสนอในย่อหน้านี้ได้ เชื่อว่าประชาธิปไตยที่น่าจะเป็นสามารถเกิดขึ้นได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญอีกเลย
-
เสรีประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัย อาจเป็นอะไรที่ผ่านมาไกลมากแล้วจากระยะเวลาของพัฒนาการแนวคิดทางการเมืองที่ล้อมรอบ ‘ประชาธิปไตย’ ของประเทศโลกที่ 1 แต่สำหรับพ่อนี่เป็นขั้นพื้นฐานก่อนจะพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทุกวันนี้มีปัจจัยของปัญหาระดับโลกที่เข้ามากระทบมากมายอย่างช่วยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด, สิ่งแวดล้อมที่ถูกคุกคาม, Digital disruption, ภาวะขาดแคลนพลังงาน, ปัญญาประดิษฐ์ หรืออื่นๆอีกมากมาย ในขณะที่ประเทศกลุ่มเจริญแล้วกำลังวางแผนจัดการและแก้ไขปัญหากันอย่างเคร่งเครียด แต่สำหรับประเทศที่พ่ออาศัยอยู่ปัจจุบันเรายังไปไม่ถึงจุดสตาร์ทด้วยซ้ำ ในทรรศนะพ่อแค่ได้เห็นแบบที่น่าจะเป็นนี้ให้ได้ก่อนตาย ก็คงเพียงพอเกินจะกล่าวสิ่งใดแล้ว
ที่มาและอ้างอิง :
“ประชาธิปไตย : หลากความหมาย หลายรูปแบบ”. ประจักษ์ ก้องกีรติ. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2562.
“รัฐกับศาสนา : ศีลธรรม อำนาจ และอิสรภาพ”. สุรพศ ทวีศักดิ์. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2561.
“เสรีนิยม: ความรู้ฉบับพกพา”. ฟรีเดน, ไมเคิล แปลโดย เกษียร เตชะพีระ. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป, 2563.
#จริงจริงคืออยากเล่าให้ลูกฟัง #คิดมาเล่า #คิดมาเล่าบวกอ่านมาเล่า #คิดมาเล่าจริงจริง #ประชาธิปไตยในทรรศนะของพ่อ #democracy #liberaldemocracy #secularism #secularstate
โฆษณา