24 มิ.ย. 2021 เวลา 11:41 • ไลฟ์สไตล์
ถ้าตอบแบบตรง ๆ ตามพระพุทธศาสนา ความขี้เกียจ ง่วงหงาวหาวนอน หดหู่ เคลิบเคลิ้ม ท้อแท้ แก้ได้ด้วยความเพียรพยายาม ความขวนขวายทำเอาชนะใจตน (ทมะ)
ทีนี้จะขยายความในทางปฏิบัติโดยใช้หลักทั่วไปสมัยนี้
ขอแบ่งสิ่งที่ทำให้เราขี้เกียจและวิธีรับมือออกเป็น 2 ขอ ภายนอกกับภายใน
(1. ภายนอก)
หลายครั้งสภาพแวดล้อมเป็นตัวเอื้อให้เราขี้เกียจ เช่น เราเข้า social media ง่ายกว่าการหยิบหนังสือมาอ่านหรือลุกไปทำงาน เป็นต้น การแก้จึงเป็นการจัดสิ่งรอบตัวให้เอื้อต่อการให้ได้ทำในสิ่งที่อยากทำโดยใช้หลักเอามา "วางไว้กลางบ้าน" คือให้เห็นชัด ๆ ในทุก ๆ วันไปเลย และเอาสิ่งที่ขัดขวางการลงมือทำของเราไป "หลบอยู่ในหลืบ"
ถ้าจากตัวอย่างอาจนำมือถือหรือแทปเล็ตไปไว้ในที่ ๆ หยิบยาก หรือทุกครั้งที่เลิกใช้งานให้ log out ทุกครั้ง เพื่อเพิ่มความยากในการเข้าถึง แล้วเอาหนังสือที่จะอ่านมาวางไว้กลางโต๊ะเสมอ
สรุปเป็นหลักง่าย ๆ คือการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะต่อการลงมือทำ พร้อมทำความสะอาดและจัดระเบียบอยู่บ่อยครั้ง ทำทุกวัน วันละนิดได้ยิ่งดี เพราะถ้าห้องรกไม่เป็นระเบียบหรือไม่สะอาดก็จะทำให้ความขี้เกียจเกิดขึ้นได้จากการทับถมของความรับผิดชอบในชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ควรทำ ทั้งยังได้สร้างวินัยในพื้นฐานชีวิตประจำวันของเราด้วย
(2. ภายใน)
ความขี้เกียจเป็นสภาวะใจที่ไม่พร้อมในการทำงาน หลักการคือทำให้พร้อมโดย
- ถ้ายังไม่รู้ว่าเราทำงานนั้นไปทำไม ให้ลองหาความหมายของการทำงานนั้นดูก่อน เพราะถ้าเราเห็นว่ามันสำคัญจะทำให้มีแรงใจเพิ่มขึ้น พร้อมซอยเป้าหมายออกเป็นย่อย ๆ ให้มีแรงใจทำมากขึ้น และไม่ลืมที่จะให้รางวัลตัวเองบ้างเมื่อสำเร็จแต่ละขั้น (celebrate)
- priming (ปรับพื้นของใจ) ให้เข้าสู่สภาวะ peak state (สถานะใจที่มีพลัง) โดยการปรับร่างกาย
I. หายใจเข้าออกแรงขึ้น กระตุ้น metabolism พร้อมจินตนาการว่าเรากำลังวิ่งเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
II. ทำหลังให้ตรง โดยการแอ่นสะโพก
III. กำมือแล้วหงายวางไว้ข้างเอว จะช่วยให้หน้าอกและหลังแอ่น เพิ่มความพร้อมของร่างกาย
- anchoring (หน่วงสภาวะใจ) ในอารมณ์เพรียบพร้อมนั้น ให้ใจคุ้นชินสภาวะนี้ เมื่อใดที่จำเป็นต้องใช้งาน อย่างการตัดสินใจทำเลย เทคนิคนี้จะทำให้เรามีพลังใจในการทำงานง่ายขึ้นจากความชินกับสภาวะนี้ เป็นหลักการที่คนระดับโลกใช้เลย (Tony Robbins)
- ลงมือทำทันทีโดยก้าวข้ามเสียงในหัวที่คอยสั่งการให้ไม่ทำ (พวกข้อแม้ ข้ออ้าง เหตุผล) ทำไปเลย แล้วอารมณ์อยากที่จะทำมันจะค่อย ๆ ตามมาเอง ไม่ใช่การรอให้มีอารมณ์ก่อนแล้วค่อยทำ มิเช่นนั้นชะตาชีวิตเราจะถูกแขวนไว้ที่อารมณ์ของเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ หรือควรต้องทำจริง ๆ
.
.
.
สำหรับผมเองก็ยังต้องฝึกและเอาชนะความขี้เกียจอยู่เช่นกัน เบื้องต้นพอมีความรู้คร่าว ๆ ประมาณนี้ มาฝึกลงมือทำไปด้วยกันนะครับ
โฆษณา