24 มิ.ย. 2021 เวลา 11:56 • ท่องเที่ยว
วัดสะพานหิน จังหวัดสุโขทัย
วัดตะพานหิน หรือ วัดสะพานหิน ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยทางทิศตะวันตก โดยอยู่ในเขตอรัญวาสี หรือวัดป่า
.. ชื่อของวัดเรียกตามลักษณะทางขึ้นที่ปูลาดด้วยหินจากตีนเขาขึ้นไป จนถึงบริเวณลานวัดบนภูเขา
เราเดินทางจากในเมืองด้วยรถสองแถวแบบโบราณที่เปี่ยมเอกลักษณ์ของสุโขทัย .. เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ เหมือนได้ย้อนยุคไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านในวันวาน
วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงประมาณ 200 เมตร บริเวณทางเดินขึ้นโบราณสถานมีทางเดินปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร
การเดินขึ้นเขาที่ไม่สูงมากในยามเช้า ไม่ยากนักสำหรับ สว. อย่างเรา
บนลานวัดมีเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมขนาดไม่สูงมากนัก มีวิหารก่อด้วยอิฐ เสาก่อด้วยศิลาแลง
ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ปางประทานอภัย ซึ่งมีความสูงสง่าถึง 12.50 เมตร เช่นเดียวกับพระพุทธรูปในเขตเมืองอย่างที่วัดมหาธาตุ โดยมีชื่อเรียกว่า “พระอัฏฐารส”
อาณาจักรสุโขทัยนั้น ผู้คนมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ได้รับมาจากประเทศศรีลังกา และในศรีลังกาในขณะนั้น
ตั้งแต่ช่วงปลายสมัยอนุราธปุระ และในสมัยโปลนนาลุวะ มีความนิยมในการสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปยืนที่มีความสูง ... จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์แบบเดียวกับ พระอัฏฐารสในวิหารลังกาดิลก .. ขึ้นในสุโขทัย
“พระอัฏฐารส” ที่วัดสะพานหิน ... เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัยสร้างตามคติของลังกาที่ว่า พระพุทธเจ้ามีความสูงเท่ากับ 18 ศอก โดยสร้างเป็นพระพุทธรูปยกพระหัตถ์ข้างใดข้างหนึ่งขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออก ปลายนิ้วพระหัตถ์ตั้งขึ้นเรียกว่าการแสดงปางประทานอภัย
“พระอัฏฐารส” อันหมายถึงพระพุทธรูปประทับยืนที่นิยมสร้างกันในสมัยสุโขทัย ... สันนิษฐานกันว่า พระอัฎฐารสนี้ คือพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงเมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า "…ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่ สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารสอันณึ่งลุกยืน… "
และสันนิษฐานกันอีกว่า “วัดสะพานหิน” นี้น่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงช้างเผือกชื่อ รูจาคีรี ขึ้นไปนบพระทุกวันข้างขึ้น 15 ค่ำและข้างแรม 15 ค่ำ ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักเดียวกันนี้ว่า
“…วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยาง เที้ยรย่อมทองงา…ขวา ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ(เถิง) อรัญญิกแล้วเข้ามา…”
บริเวณลานวัดสะพานหินมีกลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย
ฐานวิหาร 5 ห้อง .. ก่ออิฐ เสาทำด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานกว้าง 20 เมตร ยาว 26 เมตร ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืน ปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวา สูง 12.50 เมตร เรียกว่า “พระอัฏฐารศ”
ฐานเจดีย์ขนาดเล็ก 6 ฐาน ... กระจายทั่วไปบนลานวัด มีอยู่องค์หนึ่งมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานกว้าง 4×4 เมตร อยู่ตรงเชิงบันไดด้านทิศตะวันออก
สะพานหิน .. เป็นทางขึ้นอยู่ด้านทิศตะวันออก ทอดยาวจากถนนเชิงภูเขาจนถึงลานวัด ปูด้วยหิน ยาวประมาณ 300 เมตร นอกจากนี้ ทางด้านทิศเหนือมีทางขึ้นอ้อมเขา เข้าใจว่าน่าจะเป็นทางช้างขึ้น
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา