25 มิ.ย. 2021 เวลา 00:09 • ท่องเที่ยว
(17) พุกาม ..หมู่บ้านมินกาบา ชุมชนหัตถกรรม และการทำเครื่องเขิน พุกาม ประเทศพม่า
พม่าเป็นกลุ่มชนที่มีการผลิตเครื่องเขิน และใช้เครื่องเขินในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไปมาต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงมีพัฒนาการด้านเครื่องเขินมากกว่าประเทศเอเชียอาคเนย์อื่นๆ อีกทั้งยังมีรูปแบบและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองสูง
ก่อนไปเยือนพม่าฉันค้นคว้าข้อมูลเพื่อเรียนรู้ถึงสิ่งที่จะไปเห็นไว้ล่วงหน้า … น่าแปลกใจที่มีการกล่าวถึงเครื่องเขินของพม่าจากบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงกล่าวไว้ในเรื่องเที่ยวพม่า พ.ศ.2478 ว่า …
ได้รับความรู้แปลกทางโบราณคดี เรื่องการทำของลงรักในเมืองพม่าไว้อย่างหนึ่ง จะกล่าวไว้ตรงนี้ด้วย
"ฉันได้เห็นในหนังสือพงศาวดารพม่าฉบับหนึ่งว่าวิชาทำนอง ลงรักนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ไปจากเมืองไทย (คือว่าได้ช่างรักไทยไปเมื่อ ตีกรุงศรีอยุธยา ได้ใน พ.ศ. 2112) ถ้าจริงดังว่าก็พึงสันนิษฐานว่าครั้งนั้นได้ไปแต่ วิธีทำรัก "น้ำเกลี้ยง" กับทำ "ลายรดน้ำ" จึงมีของพม่าทำเช่นนั้นแต่โบราณ แต่วิธี ที่ขูดพื้นรักลงไปเป็นรูปภาพ และลวดลายต่าง ๆ นั้นพวกช่างชาวเมืองพุกามเขา บอกฉันว่าพึ่งได้วิธีไปจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อครั้งหลัง"
ผู้รู้เล่าว่า … จากหลักฐานในพงศาวดารของพม่ากล่าวว่า เมื่อพม่าเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ได้กวาดต้อนเอาชาวเมืองเชียงใหม่และช่างผีมือไปไว้ ในเมืองพม่าหลายครั้ง ปัจจุบันชาวล้านนาเหล่านั้นยังคงมีการทำเครื่องเขินชนิดขูดขีดเป็น ลายเส้น แล้วถมลายเส้นด้วยสีต่าง ๆ อยู่ที่เมืองพุกามซึ่งพม่าเรียกเครื่องเขินชนิดนี้ว่า "โยนเถ่" ซึ่งแปลว่า เครื่องยวน หรือ เครื่องประดิษฐ์ขี้นโดยชาวไทยยวนหรือล้านนาเครื่องเขินของพม่ามีลวดลายประดับแบบหนึ่งซึ่งว่า "ซินเม่" ซึ่งคำว่า ซินเม่ นี้ หมายถึง เชียงใหม่ น่าจะเป็นลวดลายดั้งเดิมจากเชียงใหม่ตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์มังราย ปี พ.ศ. 2100
การไปเยือนโรงงานทำเครื่องเขินจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรามาก … แม้ว่าจะยังไม่ได้ติดตามเรื่องช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ว่าน่าจะมีเค้าโครงจริงเพียงใด
เครื่องเขินนับได้ว่าเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เลื่องชื่อของพม่า และพุกามก็ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องเขินคุณภาพสูงมานาน ทั้งลวดลายที่งามวิจิตร ในราคามิตรภาพ
สารถีของเราพาเรามาหลบลมร้อนและแดดบ่ายที่ร้านขายเครื่องเขินที่หมู่บ้านมินกาบา ด้านหลังของร้านเป็นสถานที่คนงานนั่งทำเครื่องเขินรูปร่างต่างๆ และเป็นการแสดงวิธีทำเครื่องเขินให้นักท่องเที่ยวได้ชมไปในตัว
เจ้าของร้านรุ่นที่ 3 ออกมาต้อนรับเรา และนำชมวิธีการทำเครื่องเขินทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เริ่มต้นการสานไม้ไผ่ขึ้นรูป ไปจนถึงขั้นตอนการลงรัก การนำไปอบใต้ดิน 1 สัปดาห์ จากนั้นเขียนลาย ลงสี ซึ่งจะต้องลงทีละสี แล้วนำไปอบ กว่าจะได้ครบทุกสีต้องอบกันหลายครั้ง ใช้เวลานานมาก … หากเป็นลายที่ประณีตมากๆ ต้องใช้เวลาในการเตรียม การผลิตมากมาย ราคาก็จะสูงตามไปด้วย
พม่ารียกเครื่องเขินว่า ซิท สี (thit si) ซึ่งปัจจุบันยังคงผลิตเครื่องเขินตามรูปแบบและวิธีการอย่างโบราณไว้มาก
โยนเถ่ เป็นวิธีการที่นิยมมากที่สุดในการผลิตเครื่องเขินของพม่า คือ วิธีขูดผิวหรือจารให้เป็นลวดลายโดยมีรักดำเป็นพื้นลายที่ขูดออกเป็นร่องตื้นๆ จะถูกถมด้วยยางรักผสมสีต่างๆ เช่น สีชาดออกส้ม หรือ แดง บางครั้งเป็นสีเขียว ซึ่งในการทำแต่ละขั้นตอนนั้นใช้เวลานาน
ดังนั้นการที่จะได้เครื่องเขินมาแต่ละชิ้นจึงใช้เวลานานเป็นอย่างมาก
เครื่องเขินชนิดนี้มีโครงสร้างเป็นโครงสานลายขัดด้วยเส้นตอกไม้ไผ่ที่มีการเหลาให้ได้ขนาดเล็ก เรียบบางคล้ายทางมะพร้าวสาน ขัดกับตอกเส้นบางแบนเป็นรูปแฉกรัศมี จากก้นของภาชนะจนได้รูปทรงตามความต้องการ โดยไม่ต้องมีการดามโครงให้แข็ง …
มีคนเล่าว่า .. มีการใช้เส้นขนของหางม้ามาเป็นส่วนประกอบในการสานขึ้นรูปแทนเส้นตอกจากไม้ไผ่ ทำให้ภาชนะแข็งแรง และสวยงามมากกว่าด้วยค่ะ .. เครื่องเขินที่ทำจากเส้นขนหางม้ามักจะเป็นสิ่งของจำพวกของที่ระลึก นำไปโชว์และชื่นชมความประณีตในเชิงช่างฝีมือ มากกว่าจะนำไปใช้สอยในชีวิตประจำวันจริงๆ ด้วยราคามี่ค่อนข้างจะแพงเอาการอยู่
เครื่องเขินที่ใช้ทั่วไป ขึ้นโครงด้วยตอกไม้ไผ่ จะมีโครงที่แน่นแข็งแรงเรียบเสมอกันโดยตลอด เมื่อทารักสมุกแล้ว ขัดก็จะได้รูปภาชนะที่ค่อนข้างเรียบเกลี้ยงบาง และมีความเบาการตกแต่งของเครื่องเขิน ชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่นิยมการขูดลาย
เทคนิคการตกแต่งผิวภาชนะด้วยวิธีการขูดลายนี้ ภาชนะที่จะทำลวดลายได้จะต้องมีผิวบางรักที่แห้งสนิทและเรียบ …
การจารดอกต้องใช้เหล็กปลายแหลมคล้ายเหล็กจารใบลาน กรีดลงไปบนผิวยางรักของภาชนะ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของช่างเป็นอย่างมาก โดยที่ไม่ให้เกิดเส้นลึกมาก จนยางรักกะเทาะออก หรือแผ่วเบาเกินไปจนทำให้ลวดลายมองเห็นได้ยาก
เมื่อจารดอกเสร็จแล้วจึงนำยางรักที่ผสมกับ ชาดสีแดงถมลงไปในร่องที่กรีดไว้ รอให้แห้งอีกหลายวันแล้ว จึงขัดส่วนนอกสุดออกจนมองเห็นเส้นลวดลายสีแดงฝังอยู่ในพื้นที่สีดำของยางรัก
จากนั้นจะเคลือบด้วยยางรักใสหรือรักเงา เพื่อเป็นการปิดเคลือบลวดลายทั้งหมดให้ติดแน่นกับภาชนะ เทคนิคการจารดอกของเครื่องเขินชนิดนี้เองที่เป็นเอกลักษณ์ของ เครื่องเขินพม่า “โยนเถ่”
กรรมวิธี และขั้นตอนการผลิต เพิ่มเติม ... ในปัจจุบัน บางขั้นตอนมีการนำเครื่องจักรขนาดเล็กมาช่วยในกระบวนการผลิตด้วย แต่ยังเห็นเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ยังต้องทำแต่ละขั้นตอนด้วยมือ
สินค้าเครื่องเขินมีของที่นี่ มีหลายลักษณะรูปร่าง เช่น ขันน้ำ ถาด พาน ตลับ กระปุก กล่องบุหรี่ ขันโตก บังตา หรือแม้แต่โต๊ะ หรือโอ่งน้ำ แตกต่างกันในเรื่องราคา แล้วแต่ความยากง่าย และคุณภาพค่ะ
ส่วนนี้หนุ่มเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่าเป็นที่จัดแสดงเครื่องเขินสมัยโบราณที่คุณปู่และคุณพ่อของเขาสะสมเอาไว้ … ของบางชิ้นเป็นส่วนประกอบของพิธีการสำคัญในครอบครัว เช่น เป็นเครื่องใช้ในงานแต่งงานของครอบครัว บางชิ้นเป็นภาชนะสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา