7 ก.ค. 2021 เวลา 01:04 • หนังสือ
Homo Deus: A Brief History of Tomorrow, Yuval Noah Harari
เล่มนี้พูดถึงอนาคตบนฐานข้อมูลที่มีในปัจจุบัน แต่เนื้อหาเกี่ยวกับอนาคตเอาจริงๆ มีอยู่สักแค่ 1 ใน 3 ก่อนหน้าคือปูพื้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับอดีต และปัจจุบัน
หนังสือช่วงแรกๆ เป็นการพยายามจะอธิบายแนวคิดของผู้เขียนต่อโลก เข้าใจว่ายูวาลต้องการให้เห็นภาพอดีตและปัจจุบัน เพื่อที่จะโน้มน้าวให้เราเห็นตามอนาคตที่เขาคาดไว้
แต่เอาเข้าจริงข้อมูลที่ยูวาลให้ค่อนข้างเป็นเบี้ยหัวแตก บางเรื่องน่าสนใจก็จริง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเกี่ยวข้องกับประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอมากนัก มีไม่กี่เรื่องที่สัมพันธ์จริงๆ ที่เหลือเป็นเหมือนส่วนขยายของ Sapiens เสียมากกว่า
ประเด็นหลักของหนังสือคือ ความคิดของยูวาลเกี่ยวกับสังคมที่ถูกขับเคลื่อนภายใต้บริบทของ ideology ใดๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ และในปัจจุบันอุดมการณ์เก่าที่ชี้นำโลกใบนี้อยู่กำลังจะเปลี่ยนมือไปสู่อุดมการณ์รูปแบบใหม่
เราจะพบว่าสังคมมนุษย์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอุดมการณ์ ความเชื่อมาโดยตลอด ในยุคแรกๆ เรานับถือธรรมชาติ ต่อมาเป็นบุคลาธิษฐานคือเชื่อในพระเจ้า จนกลายมาเป็นศาสนา การเมือง ยูวาลยังนับเอาระบบเศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์เป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่งเช่นกัน
อุดมการณ์ใดๆ จะมีอิทธิพลในการชี้นำสังคมได้จำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อบางอย่างของคนส่วนใหญ่ในสังคมไปในทิศทางเดียว ไม่ว่าจะด้วยการสร้างฉันทามติ หรือสร้างความหวาดกลัว ​
อุดมการณ์หนึ่งอาจซ้อนทับกับอีกอุดมการณ์หนึ่งได้ เนื่องจากอุดมการณ์แต่ละอย่างอาจตอบคำถามคนละคำถาม (เช่น วิทยาศาสตร์ให้คำตอบเกี่ยวกับความจริง ส่วนศาสนาให้คำตอบเกี่ยวกับคุณค่า)
การเจริญของวิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกทำให้มนุษย์หันเหความเชื่อด้านคุณค่าเข้าสู่ลักษณะที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางมากขึ้น ต่างจากยุคก่อนที่คุณค่าต่างๆ มักถูกอ้างอิงกับเรื่องเหนือธรรมชาติ เทพเจ้า ศาสนา
ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดลัทธิมนุษยนิยมขึ้นมา อันได้แก่ ชาตินิยม เสรีนิยม และสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ โดยลัทธิเหล่าให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ จากมุมมองของมนุษย์ ไม่ใช่มุมมองจากสิ่งอื่น
พูดให้ชัดคือสิ่งใดดีก็เพราะมนุษย์เห็นว่าดี ไม่ใช่เพราะพระเจ้าหรือสิ่งเร้นลับอื่นใดบอกว่าดี
ในบรรดามนุษยนิยมทั้งสามรูปแบบ อุดมการณ์เสรีนิยมกลายเป็นอุดมการณ์ที่มีอิทธิพลสูงสุดในโลกยุคปัจจุบัน (การพ่ายแพ้ของนาซี และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นข้อบ่งชี้) การที่ขั้วเสรีนิยม (ควบคู่ไปกับทุนนิยม) เฟื่องฟูมาถึงปัจจุบันก็เนื่องจากระบบมี incentive ค่อนข้างมาก รวมถึง data flow เป็นแบบกระจายศูนย์ ทำให้การพัฒนาเกิดได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดีการมาถึงของ AI, IOT และ big data อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ขั้วเสรีนิยมถูกสั่นคลอนได้ ด้วยเหตุผลสามประการ คือ
1) การกระจายศูนย์ข้อมูลอาจไม่ได้เปรียบอีกต่อไป เนื่องจากลดประสิทธิภาพในการประมวลผล ทำให้การตอบสนองต่อสถานการณ์ทำได้ช้ากว่า
2) การนำเข้าข้อมูลใดๆ สู่ระบบจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลนั้นๆ (หลักความเป็นอิสระในการแสดงออก) ทำให้ data ที่ไหลเข้าสู่ระบบน้อยลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมของระบบลดลงด้วย
3) ใน scenario ที่ปัจเจกบุคคลทุกคนยินยอมให้ข้อมูลเข้าสู่ระบบ อาจทำให้เสรีนิยมกลายเป็นอย่างอื่นที่ไม่เสรีจริงๆ เนื่องจากเจตจำนงเสรี (free will) อันเป็นหลักการพื้นฐานอาจถูก manipulate ด้วย data (ตัวยูวาลเองไม่เชื่อเรื่อง free will เพราะความคิด และการกระทำของมนุษย์ย่อมถูกผูกด้วยข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติต่อสิ่งที่เคยเกิดมาแล้วทั้งสิ้น รวมถึงบริบทแวดล้อมตัวบุคคลนั้นๆ ด้วย)
สาเหตุเหล่านี้เองสร้างโอกาสให้เผด็จการชาตินิยมที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดอย่างจีนผงาดขึ้นมาบนเวทีโลก จากอำนาจเด็ดขาดในการนำเข้าและใช้ประโยชน์จากข้อมูล
แน่นอนว่าเมื่อโลกในอนาคตเปลี่ยนมือจากเสรีนิยมมาสู่ยุคอุดมการณ์ใหม่ที่ข้อมูลชี้นำทุกอย่าง (dataism) ย่อมทำให้คุณค่าของมนุษย์ต่อสังคมลดลง เราจะพึ่งพา AI มากขึ้นเรื่อยๆ ห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจที่เคยมีมนุษย์เป็นฟันเฟืองจะถูกแทนที่ งาน routine จะถูกกำจัดออกเป็นส่วนแรก แม้แต่ skill labour ก็มีโอกาสหายไปจากระบบหาก machine learning มี data pool ที่มากพอ ผนวกกับเทคโนโลยีเอื้ออำนวย
ตัวอย่าง machine learning ที่มีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์แล้ว เช่น เล่นโกะชนะแชมป์โลก บรรเลงเพลงเพราะกว่าเจ้าของเพลง (AI ชนะบีโธเฟ่น) แต่งกลอนไฮกุจนมนุษย์อย่างเราไม่สามารถ detect ได้ หรือแม้แต่วินิจฉัยโรคจาก film แม่นกว่าหมอรังสี
ท้ายที่สุดโลกยุคใหม่ที่พึ่งพาข้อมูลและเทคโนโลยีขั้นสุด อาจทำให้เกิดโครงสร้างสังคมรูปแบบใหม่ที่อาจจะไม่ใช่ทั้งประชาธิปไตยหรือเผด็จการ และคนที่ควบคุมระบบนี้อาจจะเป็นไปได้ทั้งมนุษย์หรือ AI
สรุป อ่านจบแล้วนึกถึงว่าในอนาคตเราอาจจะเหมือน The Matrix อ่านไปขนลุกไป ส่วนตัวคิดว่า specialty ที่ตัวเองเป็นอยู่มีแนวโน้มจะถูกกำจัดออกเป็นลำดับแรกๆ แต่ไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่เพราะคาดว่าจะตายก่อนวันนั้นจะมาถึง
ปล. เรื่องน่าสนใจในเล่มมีเยอะกว่านี้ แต่อย่างที่บอกมันค่อนข้างจับฉ่ายไปหน่อย
โฆษณา