25 มิ.ย. 2021 เวลา 10:08 • การศึกษา
รู้งี้เก่งภาษาไปนานแล้ว ภาค 2
ปก Asian people greeting in different languages Free Vector
เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เคยกล่าวไว้ว่า...
''ถ้าคุณได้พูดกับใครก็ตาม ด้วยภาษาที่เขา 'เข้าใจ' แน่นอนเขาจะ 'เข้าใจ' แต่ก็แค่ 'เข้าใจ' แบบผ่านๆ
แต่ถ้าคุณได้พูดกับใครก็ตามด้วย 'ภาษาแม่' ของเขา ความรู้สึก 'ปิติยินดี' จะบังเกิดขึ้นในใจของเขาด้วย''
รูป 1 Nelson Mandela
ฟังดูแล้วน่าสนใจใช่ไหมครับแล้ว ภาษาแม่ คืออะไร แตกต่างจากภาษาที่ 2 อย่างไร
ผู้เรียนภาษาที่เข้าใจ ภาษาแม่ จะช่วยให้ 'เรียนภาษาที่ 2' ดีขึ้นได้อย่างไร
วันนี้ผมได้รวบรวมบทความดีๆ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังครับ...
## 6 ข้อควรรู้ ภาษาแม่ vs ภาษาที่ 2 ##
## ภาษาแม่ คืออะไร ##
รูป 1 ''ภาษาแม่'' (mother tongue)
''ภาษาแม่'' (mother tongue) หรือ ภาษาแรก (first language) หมายถึงภาษาที่เริ่มเรียนรู้กันตั้งแต่ยังเป็นทารก
หรือภาษาที่ใช้มาตั้งแต่เกิด เป็นภาษาที่ผู้เลี้ยงใช้พูดกับเด็ก ภาษาแม่จะเป็นภาษาที่มีผลกระทบต่อชีวิตของเด็กมากที่สุด
 
ตัวอย่างเช่นเด็กชายเอและครอบครัวอาศัยอยู่ในเมืองไทย เด็กชายเอได้รับการเลี้ยงดูโดยคุณพ่อและคุณแม่คนไทย โดยใช้ภาษาไทยสื่อสารกันตลอดเวลา
 
เมื่อเด็กชายเออายุครบ 7 ปี ทางครอบครัวจึงส่งเด็กชายเอเข้าโรงเรียน
ในขณะเรียนอยู่ที่โรงเรียนเด็กชายเอจึงเริ่มหัดเรียนภาษาอังกฤษ และใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับเพื่อนและครูชาวต่างชาติ
 
แต่ถ้าอยู่ที่บ้านเด็กชายเอก็จะใช้ภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นภาษาไทยก็คือ ''ภาษาแม่''ของเด็กชายเอนั่นเอง
## การเรียนภาษาแม่ ##
รูป 2 การเรียนภาษาแม่
การเรียนภาษาแม่ จะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กวัยทารกไปจนถึงเด็กก่อนวัยเรียน ในช่วงอายุระหว่าง 3 เดือน ถึง 5 ปี
 
เด็กวัยนี้จะเรียนภาษาแม่โดยอัตโนมัติ ผ่านทางเครื่องมือในสมอง เครื่องมือชิ้นนี้จะทำงานโดยอัตโนมัติ
และเด็กทุกคนจะได้รับเครื่องมือนี้ เป็นมรดกติดตัวมาตั้งแต่เกิด
ตัวอย่างเช่นเด็กชายเอเมื่อได้ยินภาษาไทยจากคุณพ่อ คุณแม่ หรือญาติพี่น้อง
 
ถ้าได้ยินคำไหนบ่อยๆ ในที่สุดเด็กก็จะสามารถพูดคำนั้นได้โดยอัตโนมัติ เพราะเด็กชายเอเรียนรู้ภาษาผ่านจากการฟังและการเลียนแบบนั่นเอง
 
เมื่อเด็กชายเออายุมากขึ้น ก็จะเกิดการสรุปกฎทางภาษาขึ้นเองโดยอัตโนมัติ หลังจากที่ได้ยินภาษาไทยทุกวันๆเด็กชายเอก็จะค่อยๆ สรุปได้เองว่า คำไหนแปลว่าอะไร
 
และทราบไปเองว่าไวยากรณ์ไทยเป็นอย่างไร
คนไทยสื่อสารกันอย่างไร เช่นคนไทยจะพูดว่า "ฉันกินปลา"ไม่ใช่ "ฉันปลากิน" เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตามการที่เด็กชายเอสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ไม่ได้หมายความว่าเด็กชายเอจะสามารถสรุปกฎไวยากรณ์ของภาษาไทยออกมาเป็นข้อๆ
เพื่ออธิบายหรือสอนคนอื่นต่อไปได้ เหมือนอย่างครูสอนภาษา
 
ดังนั้นถ้าให้เด็กชายเอไปสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ โดยให้อธิบายวิธีการใช้คำสรรพนาม
คำคุณศัพท์ หรือคำบุพบท
 
เด็กชายเอก็สอนแบบครูสอนไวยากรณ์ไม่ได้ เพราะการใช้ภาษาของเด็กชายเอเกิดจากการสั่งสมมาโดยอัตโนมัติ
 
ผ่านการใช้งานมาซ้ำๆ อย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงที่มาที่ไปว่าคำไหนต้องใช้อย่างไร
## ภาษาแม่กับการยึดครองสมอง ##
รูป 4 Hand drawn pattern with hello word in different languages
สำหรับเด็กชายเอแล้ว ภาษาแม่มีความหมายมากกว่าแค่ 'ภาษา' แต่จะรวมถึง ตัวตน สังคม และวัฒนธรรม ของตัวเด็กด้วย
 
การเลือกคำและการแสดงออก ในแต่ละวัฒนธรรมมีความหมายแตกต่างกัน
ถ้าถูกถามคำถามในภาษาอื่นเด็กชายเอจะคิด
เป็นภาษาแม่ก่อน แล้วจึงตอบออกไป
 
ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กชายเอพึ่งมาเริ่มรับภาษาที่ 2 ในช่วงอายุหลังจาก 9 ปีไปแล้ว ผ่านจากการพูดคุยกับเพื่อนๆ และคุณครูชาวต่างชาติที่โรงเรียน
 
ถึงแม้เด็กชายเอ จะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กชายเอ
จะพูดภาษาอังกฤษได้ เป๊ะ หรือถูกต้อง
100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนอย่างเจ้าของภาษา (native speaker)
 
เนื่องจากในช่วงอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 5 ปี สมองของเด็กชายเอ ถูกอิทธิพลของภาษาแม่ (ภาษาไทย) ยึดครองสมองไปแล้ว
 
ทำให้ภาษาไทยส่งผลกระทบ ต่อการใช้ภาษาอังกฤษที่มาเรียนเพิ่มเติมในภายหลัง
อิทธิพลของภาษาไทย จะทำให้ภาษาอังกฤษมีความผิดเพี้ยนไปบ้าง ในระดับต่างๆ กันตั้งแต่เรื่องเสียง คำศัพท์ โครงสร้าง และการเรียบเรียงความคิด
 
อ้าว! แล้วอย่างนี้จะมีคนที่พูดได้คล่อง ระดับภาษาแม่ทั้ง 2 ภาษาหรือไม่
คำตอบคือมีแน่นอน เรียกว่า 'สภาพทวิภาษา'
หรือ 'เด็ก 2 ภาษา' (bilingual)
## เด็ก 2 ภาษาเรียนอย่างไร ##
รูป 5 Raising a Bilingual Child
การเรียนรู้ของเด็ก 2 ภาษา (bilingual) เด็กต้องได้รับภาษาที่ถูกต้องจากเจ้าของภาษาทั้ง 2 ภาษาพร้อมกันก่อนอายุ 9 ปี
ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้สอน แต่ละคนจะต้องพูดคนละ 1 ภาษา เช่นคุณพ่อพูดภาษาจีน คุณแม่พูดภาษาอังกฤษ
 
แต่ไม่ใช่ว่า เดี๋ยวพูดจีน เดี๋ยวพูดอังกฤษ แบบนี้เด็กจะสับสน และย้ำว่า คนพูดควรจะเป็นเจ้าของภาษา (native speaker) เช่น คุณพ่อเป็นคนจีน คุณแม่เป็นคนอเมริกัน
ที่สำคัญต้องหัดพูดกับเด็ก ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในช่วงวัยทารกไปจนถึงช่วงก่อนวัยเรียน หรือช่วงอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 5 ปีนั่นเอง
 
เพราะถ้าเด็กมารับภาษาที่ 2 หลังจากที่อายุเกิน 9 ปี ภาษาแรกจะยึดครองสมอง และส่งผลกระทบต่อการใช้ภาษาที่ 2 ของเด็ก
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกการหัดพูดของเด็ก 2 ภาษา อาจจะมีปัญหาการพูดติดขัดอยู่บ้าง เนื่องจากสมองของเด็ก 2 ภาษาต้องทำงานหนักมากกว่าสมองของเด็กที่พูดภาษาเดียว
เด็กอาจจะสับสนและโต้ตอบช้า เพราะสมองกำลังสั่งสมข้อมูลทางภาษา แต่หลังจากที่ได้สั่งสมข้อมูลทางภาษามากพอสมควรแล้ว
ในที่สุดสมองของเด็กก็จะสามารถสลับภาษาไปมาได้อย่างคล่องแคล่ว
Bella and Jose เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อายุประมาณ 9 ปี
เด็กๆ เล่าถึงประสบการณ์ การเป็นเด็ก 2 ภาษา (bilingual) เช่นปัญหาการพูดติดขัด
เนื่องจากสมองต้องทำงานหนัก แต่ในที่สุดปัญหาก็หมดไปและเด็กๆ ก็สนุกกับการพูดได้ 2 ภาษา
## ภาษาที่ 2 คืออะไร ##
รูป 6 Translator concept illustration Free Vector
ภาษาที่ 2 (second language) หมายถึง ภาษาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากภาษาแม่นั่นเอง
 
นอกจากเราจะเรียกภาษาอื่นๆ ว่าภาษาที่ 2 ภาษาที่ 3 ภาษาที่ 4 ตามลำดับแล้ว เราอาจจะเรียกรวมๆ ว่า 'ภาษาต่างประเทศ' (foreign language) ได้อีกด้วย
 
ตัวอย่างเช่น เด็กชายเอเป็นคนไทย ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ เมื่อเด็กชายเอเข้าโรงเรียน ถึงจะเริ่มเรียนวิชาภาษาอังกฤษ
 
ในกรณีนี้ภาษาอังกฤษก็คือ 'ภาษาที่ 2'ของเด็กชายเอนั่นเอง เด็กชายเอเรียนภาษาอังกฤษในฐานะ 'ผู้เรียนภาษาที่ 2' (second language learners)
 
หรือจะเรียกว่า 'ผู้เรียนภาษาต่างประเทศ'
(foreign language learners) ก็ได้เช่นกัน
อีกตัวอย่างเช่น เด็กหญิงบีใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ เรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียนเป็น 'ภาษาที่ 2'
 
และเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติมนอกห้องเรียนเป็น 'ภาษาที่ 3' เธอเรียนทั้งสองภาษา โดยวิธีการเรียนแบบมีคุณครูสอน ควบคู่กับ 'การเรียนด้วยตนเอง' (self study)
 
เมื่อเด็กหญิงบีเรียนทั้ง 'ภาษาที่ 2' และ 'ภาษาที่ 3'
นานจนถึงระยะเวลาหนึ่ง เธอพบว่าตนเองเชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่น 'ภาษาที่ 3' มากกว่าภาษาอังกฤษ 'ภาษาที่ 2'
ในกรณีแบบนี้ก็ถือเป็นเรื่องปกติ
เพราะเด็กหญิงบีใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับภาษาญี่ปุ่นมากกว่าภาษาอังกฤษนั่นเอง
 
เช่นอ่านการ์ตูนภาษาญี่ปุ่นมากๆ ฟังเพลงภาษาญี่ปุ่นเยอะๆ พูดกับคุณครูคนญี่ปุ่นเป็นประจำทุกวัน
 
ดังนั้นถ้าถามว่า เด็กหญิงบีจะสามารถใช้ 'ภาษาที่ 2'หรือ 'ภาษาที่ 3' ได้ดีในระดับไหน
คำตอบก็ขึ้นอยู่กับ 'พรสวรรค์' และ 'พรแสวง' ของตัวเด็กเอง
แต่ถ้ามองในแง่ 'อิทธิพลการยึดครองสมองจากภาษาแม่' จะพบว่าภาษาที่เด็กหญิงบีจะสามารถใช้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ก็คือ 'ภาษาไทย'
 
เพราะภาษาไทยคือ'ภาษาแม่' (mother tongue) ของเธอ และเด็กหญิงบีก็ไม่ใช่'เด็ก 2 ภาษา' (bilingual)
แต่เธอเรียนภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่นในฐานะ
'ผู้เรียนภาษาต่างประเทศ' (foreign language learners)
 
ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่เรียนภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ ด้วยวีธีนี้
## ภาษาที่ 2 เรียนไปทำไม ##
รูป 7 การเรียนภาษาที่ 2
การเรียนภาษาที่ 2 จะมีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในประเทศที่รัฐบาลออกกฎบังคับให้ใช้ภาษาในการสื่อสารมากกว่า 1 ภาษา
เช่น ประเทศแคนาดา ใช้ภาษาราชการ 2 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส (English, French)
 
ประเทศสิงคโปร์ ใช้ภาษาราชการ 4 ภาษาคือภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามาลายู และภาษาทมิฬ (English, Chinese, Malay, Tamil)
เนื่องจากประชากรชาว สิงคโปร์มีหลากหลายเชื้อชาติ ความหลากหลายทางภาษา จึงมีมากขึ้นตามไปด้วย
 
รัฐบาลจึงกำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการติดต่อธุรกิจ และสื่อสารระหว่างคนต่างเชื้อชาติ
 
และรัฐบาลยังกำหนดให้โรงเรียนใช้หลักสูตรของเด็ก 2 ภาษาสำหรับสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา
 
ใช้ชื่อกฎเป็นภาษาอังกฤษว่า (Singapore's bilingual education policy) โดยกำหนดให้สอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ
 
การที่รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษส่งผลให้ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี
 
นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนให้ชาวสิงคโปร์แต่ละเชื้อชาติเรียนภาษาแม่ของตนเองควบคู่กันไปด้วย
 
ดังนั้นชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนจึงพูดได้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ชาวสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์ก็เรียนรู้ภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษามาลายู
 
ชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดียก็สามารถพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาทมิฬ และเขาอาจจะเข้าใจภาษาจีนและภาษามาลายูได้อีกด้วย...
## สรุป ##
รูป 8 how to say grammar in different languages
เมื่อเรารู้แล้วว่า ภาษาแม่ คืออะไร แตกต่างจาก ภาษาที่ 2 อย่างไร เราก็จะสามารถนำความรู้ในส่วนนี้ มาพัฒนาการเรียนภาษาที่ 2 ของเราให้ดีขึ้นได้
เพราะความรู้หรือความเข้าใจเกี่ยวกับ 'ภาษาแม่'
จะทำให้ผู้เรียนสามารถ 'เปรียบเทียบ'ภาษาแม่กับอีกภาษาหนึ่งได้
 
การเปรียบเทียบจะช่วยทำให้รู้ว่า ผู้เรียนใช้ภาษาถูกหรือผิดอย่างไร
และไวยากรณ์ของแต่ละภาษาเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นถ้าอยากรู้ไวยากรณ์ภาษาไทย แต่ไม่อยากอ่านหนังสือสอนไวยากรณ์
 
ผู้เรียนอาจจะลองเรียนภาษาจีนแทน เพราะภาษาจีนและภาษาไทยมีลักษณะเป็น ภาษาคำโดด เหมือนกัน (isolating language)
 
หมายความว่าหนึ่งพยางค์จะประกอบด้วยเสียงสระหนึ่งเสียง และเน้นเสียงเท่ากันทุกพยางค์
และถ้ารู้สึกว่าเรียนภาษาจีนแล้วเข้าใจเร็วกว่าภาษาอังกฤษ ก็ถือเป็นเรื่องปกติ
เพราะว่าภาษาไทยกับภาษาจีน เป็นภาษาประเภทเดียวกันนั่นเอง
แต่ภาษาไทยและภาษาจีน จะไม่มีการผันเหมือน
อย่างภาษาอังกฤษ และลักษณะทางภาษาบางอย่างในภาษาอังกฤษ ก็ไม่มีในภาษาไทย เช่น 'การเน้นเสียงภาษาอังกฤษ' (stress)
 
การ stress ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่กวนใจคนไทยมากที่สุด เพราะว่าในภาษาไทยไม่มีลักษณะทางภาษาแบบนี้
 
ดังนั้นคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษในฐานะ
'ภาษาต่างประเทศ'หรือ 'ภาษาที่ 2' จึงจำเป็นต้องเรียนการออกเสียง(pronunciation) คำศัพท์ (vocabulary) และไวยากรณ์ (grammar) ของภาษาอังกฤษด้วย
 
ในขณะเดียวกันชาวต่างชาติที่ไม่มีความคุ้นเคยกับ 'ภาษาคำโดด' ถ้าต้องเรียนภาษาไทย ผู้เรียนก็ต้องเรียน 'ไวยากรณ์' ของภาษาไทย
และยังต้องปรับความคิด ให้เข้ากับ 'ลักษณะทางภาษา' ของภาษาไทยด้วยเช่นกันครับ
สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณ ท่านผู้อ่านทุกท่านที่อ่านจนจบถ้าท่านกำลังเรียนภาษาอยู่ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจ
และขอเอาใจช่วยผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ทุกท่านโชคดีและประสบความสำเร็จ ตามความมุ่งหวังที่ตั้งไว้ทุกประการครับ
 
ชาร์โคล
รูป 9 thank you
Who is Charcoal ?
Charcoal is a passionate language learner like you.
Charcoal is not a teacher but wishes to support people with their studies.
Charcoal wants to motivate people to learn English.
รูป 10 ชาร์โคล
Hi! my name is Charcoal and I talk about books.
Murakami
Sapiens
Etc.
•••••••••••••
I review all the many books I meet.
• I also talk about books in these link •
(I'll receive a little money to support my works, and thank you so much)
## เครดิตภาพทั้งหมด ##
ปก
Asian people greeting in different languages Free Vector / freepik
รูป 4
Hand drawn pattern with hello word in different languages Free Vector / freepik
 
รูป 6
Translator concept illustration Free Vector / freepik
รูปอื่นๆ ใช้ canva.com ทำครับ
チャコール 英語 ลายน้ำของผู้เขียน (ชาร์โคล)
## แหล่งอ้างอิง ##
1.หนังสือ ภาษาศาสตร์เบื้องต้น
ม.ล. จรัลวิไล จรูญโรจน์. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2558.
2.บทความ เรียนภาษอังกฤษ ต้องเรียนไวยากรณ์ หรือไม่ต้องเรียนไวยากรณ์
อาจารย์ไก่ / เสนาศึกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 3 เดือน พฤษภาคม - มิถุนายน 2558
เห็นด้วยไหมครับ ว่าจริงๆ แล้วการเรียนภาษาไทยในระดับสื่อสารถือว่าง่ายระดับต้นๆ ของโลก
10 ข้อควรรู้ ภาษาแม่มีความสำคัญทางด้านการศึกษา
Raising a Bilingual Child
How Do Children Learn Language?
ภาษา - ประเทศสิงคโปร์
โฆษณา