25 มิ.ย. 2021 เวลา 14:14 • อาหาร
รู้ไหมว่า “ในหนึ่งคำของอาหารที่คุณกิน ส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด”
เราคงเคยได้ยินคำสอนว่าไม่ควรเลือกกิน แต่บางทีการเลือกกินอาจจะทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและโลกใบนี้มากกว่าก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกกินอย่างไร
แล้วเราควรจะเลือกกินอย่างไร?
วันนี้ little big green ขอมานำเสนอคอนเซปต์ของ Sustainable Gastronomy หรือการทำอาหารที่นึกถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบบนจานว่าส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ผ่านไกด์เล็ก ๆ 10 ข้อที่อาจจะช่วยให้ทุกคนได้เห็นภาพมากขึ้น ว่าการ “เลือกกิน” ให้ดีต่อใจ ดีต่อโลก ควรเลือกจากอะไรบ้าง?
ควรนึกถึงอะไรบ้าง
1. แหล่งที่มา - ถ้าเลือก Local ได้ก็เลือก Local เพราะการเดินทางย่อมเกิด Carbon emission ซึ่งเราสามารถช่วยลดได้ผ่านการเลือกวัตถุดิบในท้องถิ่นหรือในประเทศ //ถึงจะเป็นคนชอบอาหารต่างประเทศ ก็ประยุกต์ใช้วัตถุดิบในประเทศได้นะ แล้วใช้เทคนิคการปรับรสชาติให้เข้ากับความชอบ หรือจะลองผิดลองถูกจนเจอรสชาติที่ถูกใจก็น่าสนุกดีเหมือนกัน
2. ซื้อที่ไหน - คงจะดี ถ้าเราสามารถเลือกซื้อกับเกษตรกรโดยตรง แต่ในยุคนี้ ที่รายล้อมด้วยระบบทุนนิยม การทำแบบนั้นอาจจะไม่ง่าย อาจจะสะดวกน้อยกว่าการเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เราก็ยังอยากให้อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ลองสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าในตลาดหรือร้านที่สนับสนุนกลุ่มเกษตรกร
3. วิธีการปลูก/เลี้ยง - ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกวัตถุดิบออร์แกนิคหรือปลอดสารเคมี เพราะนอกจากจะดีต่อสุขภาพคนกินแล้ว คนปลูก/เลี้ยงก็ไม่ถูกสารเคมีทำลายสุขภาพเช่นกัน รวมถึงสัตว์อื่นหรือสิ่งแวดล้อมก็ไม่ปนเปื้อนด้วยสารตกค้างอีกด้วย
4. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม - ชั่งน้ำหนักเรื่อง carbon emission เช่น เนื้อวัวปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากกว่าหมู ไก่ และปลา, การใช้ทรัพยากรพื้นดิน น้ำ ไฟฟ้า เช่น การปลูกพืชบางชนิดต้องใช้พื้นดินจำนวนมาก หรือการกินไก่ที่ผลิตจากอุตสาหกรรมมักจะเลี้ยงด้วยข้าวโพดที่เป็นสาเหตุของ PM2.5 และปัญหาภูเขาหัวโล้น
5. กินสัตว์หรือกินพืช:
- กินสัตว์ไม่ผิด กิน Plant-based ไม่ผิด ขึ้นอยู่กับความสะดวกและโอกาสในการเข้าถึง
- Plant-based ควรนึกถึงเรื่องสุขภาพจาก Processed food เช่นการผ่านกระบวนการทำให้พืชหรือแป้งมีสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ แนะนำ Plant based ที่เป็นพืชผักผลไม้ไปเลย เพราะจริงๆ ผักก็มีรสชาติที่หลากหลาย รอให้ทุกคนได้ไปค้นพบและนำมาปรุงแต่งอาหารในแบบที่ถูกปากกัน
- สัตว์หายากควรเป็นสัตว์ที่มีชีวิตในธรรมชาติ ไม่ใช่เนื้อบนจาน รวมถึงสัตว์น้ำหรือหูฉลามด้วย
6. กินอะไรดี - วางแผนการทำ การกิน จะทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการคิดเมนูแต่ละมื้อ คิดตอนหิวยิ่งยากเข้าไปใหญ่ วางแผนแล้วเราสามารถซื้อวัตถุดิบมาเตรียมไว้ในครั้งเดียวได้ ประหยัดน้ำมันในการเดินทาง และจะได้มีวัตถุดิบไม่เหลือทิ้งเกินไป ถ้าทำตามแผนที่วางไว้
7. จัดเก็บวัตถุดิบอย่างไร - หลายครั้ง แม้จะวางแผนเสียดิบดี ว่าสัปดาห์นี้จะทำอะไรทานบ้าง แต่วัตถุดิบบางอย่างก็ชิงหมดอายุไปก่อนเสียอย่างนั้น สิ่งที่ควรทำคือศึกษาวิธียืดอายุหรือทำให้วัตถุดิบนั้นยังอยู่ในสภาพที่ใช้การได้จนกว่าจะถึงกำหนดเมนูนั้น ๆ
8. จำเป็นต้องเลือกไหม
- วันหมดอายุมีผลทางจิตใจ แต่บางทีไม่มีผลกับร่างกาย ถ้าเพื่อน ๆ วางแผนว่าจะกินอาหารนั้นเลย หรืออยู่ในขอบเขตวันหมดอายุ (หรือ ควรบริโภคก่อน) บนฉลาก เราสนับสนุนให้ทุกคนเลือกชิ้นที่หมดอายุเร็วที่สุด (ที่เรากินทัน) เพราะไม่อย่างนั้น ก็อาจจะมีเปอร์เซ็นต์สูงที่สินค้าชิ้นนั้นจะถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
- สภาพสวยไม่สวยไม่ได้เป็นตัวบอกคุณภาพเสมอไป ส่วนใหญ่ผักผลไม้ที่นำมาวางขาย ถูกคัดแล้วเรียบร้อยว่าสามารถกินได้ ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าทุกคนเลือกที่หยิบชิ้นสวย ๆ นั่นหมายความว่าจะเกิด food waste ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์โดยไม่จำเป็น
9. จัดการอย่างไร - ถ้าเหลือจริง ๆ และมีพื้นที่มากพอ ลองนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมัก เอาไว้ปลูกพืชผักสวนครัวกินเองต่อได้อีกทอด
10. อย่าลืม! ลดการใช้พลาสติกถ้าทำได้ ไปตลาดอย่าลืมพกตะกร้าหรือถุงใช้ซ้ำพร้อมกับทัปเปอร์แวร์นะ!
อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่ได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ ก็รู้สึกว่าน่าเศร้าอยู่เหมือนกันที่คนไทยส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงอาหารดี ๆ ได้ในราคาที่เหมาะสม
คงจะต้องหาทางตรงกลาง ที่สนับสนุนการผลิตวัตถุดิบคุณภาพดีในราคาที่เอื้อมถึงได้ มีมาตรการควบคุมผลกระทบของอุตสาหกรรมอาหาร และทำให้ฐานรายได้ของผู้บริโภคมากพอที่จะทำให้เค้าได้มีตัวเลือกที่จะรักษาสุขภาพมากกว่านี้
โฆษณา