27 มิ.ย. 2021 เวลา 12:59 • ปรัชญา
สำหรับคำว่า " ส ม า ธิ " นั้น คือ การทำจิตให้แน่วแน่ตั้งมั่น จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สมาธิมี 3 ระดับด้วยกันคือ
1. ขณิกสมาธิ สมาธิค่อย ๆ เล็กน้อยหรือสมาธิขั้นต้นที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน การปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นจุดตั้งต้นในการเจริญวิปัสสนา แต่จำเป็นต้องใช้ขณิกสมาธิที่ต่อเนื่อง
2. อุปจารสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่มากกว่าขณิกสมาธิ แต่แน่วแน่น้อยกว่าอัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิขั้นระงับนิวรณ์ได้ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งญาณหรือสมาธิในบุพภาคแห่งอัปปนาสมาธิ
3. อัปปนาสมาธิ สมาธิที่ไม่หวั่นไหว หมายถึง สมาธิระดับสูงสุด ซึ่งจะเกิดฌานสมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 (บ้างก็เรียกรูปสมาบัติ) อันได้แก่ ปฐมฌาณ คือ ฌาน 1 ทุติยฌาน คือ ฌาน 2 ตติยฌาน คือ ฌาน 3 จตุตถฌาน คือ ฌาน 4 และหากปฏิบัติไปอย่างต่อเนื่องก็จะเข้าสู่อรูปฌาน 4 ตามลำดับ ได้แก่
1. อากาสานัญจายตนะ เพ่งอากาศเป็นอารมณ์ (อรูปฌาน 1)
2. วิญญาณัญจายตนะ กำหนดหมายเอาวิญญาณเป็นอารมณ์ (อรูปฌาน 2)
3. อากิญจัญญายตนะ กำหนดว่าไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ (อรูปฌาน 3)
4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ กำหนดหมายเอาการไม่มีวิญญาณ คือ ไม่รับรู้รับทราบอะไรเลยเป็นสำคัญ (อรูปฌาน 4)
อรูปฌานนี้
เป็นการเจริญไม่กำหนดหมายรูปเป็นอารมณ์
กำหนดหมายเอาความไม่มีรูปเป็นอารมณ์
จึงเรียกว่า อ รู ป ฌ า ณ
ฌานสมาบัติ 8 (บ้างก็เรียกฌาณ 8)
จึงประกอบด้วย รูปฌาน 4
และอรูปฌาน 4 ดังที่ได้กล่าวมานี้
สำหรับขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธินั้น ยังเป็นสมาธิที่ไม่มั่นคง เป็นสมาธิชั่วคราวแบบงูกระดิกหาง แต่เพียงเท่านี้อานิสงส์ก็มากล้นแล้ว คือ ในระหว่างที่เราเข้าสมาธิอยู่นั้น กายหยาบก็เป็นเพียงคน ๆ หนึ่ง หากอยู่ในระหว่างการปฏิบัติสมาธิแล้วจิตเราเข้าถึงภูมิเทวโลกก็จะทำให้เวลาที่เราตาย เช่น บังเอิญเราตายในขณะที่อยู่ระหว่างขณิกสมาธิ ความละเอียดของจิตในระดับนี้ก็จะเป็นแรงผลักดันให้เราได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งสวรรค์ชั้นแรกที่อยู่ใกล้กับโลกมนุษย์ เป็นต้น
อ า นิ ส ง ส์ ข อ ง จิ ต ส ง บ นั้ น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
"ผู้เจริญภาวนาจิตเป็น ขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ
หากตายไปในขณะนั้นจะได้ไปบังเกิดบนสวรรค์หกชั้น
และไม่ว่าจะเป็นชั้นไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความละเอียด
และความประณีตของจิต"
(ยกเว้นพรหมโลกชั้นสุทธาวาส คือ ชั้นที่ 12-16 ซึ่งเป็นที่อยู่ของอนาคามี)
สำหรับสมาธิในระดับ อัปปนาสมาธิหรือระดับฌานสมาบัตินั้น มีรูปฌาน 4 และอรูปฌาณ 4 ก็เช่นกัน แม้กายหยาบภายนอกที่มองด้วยตาเนื้อเราจะเป็นใครก็ตาม แต่ระดับของจิตละเอียดประณีตอยู่ในระดับภูมิของความเป็นพรหมแล้วก็ย่อมส่งผลให้ไปบังเกิดในพรหมโลกรวม 20 ชั้น แต่จะเป็นชั้นใดย่อมก็สุดแล้วแต่ความละเอียดของจิตในกำลังฌาณที่ได้ปฏิบัติ
(ยกเว้นแต่พรหมโลกชั้นสุทธาวาส คือ ชั้นที่ 12 ถึงชั้นที่ 16 ซึ่งเป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลโดยเฉพาะ)
ป ฐ ม ฌ า น คือ ฌานที่ 1 อย่างหยาบ บังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 1
ปฐมฌานอย่างกลาง บังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 2
ปฐมฌานอย่างละเอียด บังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 3
ทุ ติ ย ฌ า น คือ ฌานที่ 2 อย่างหยาบ บังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 4
ทุติยฌานอย่างกลาง บังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 5
ทุติยฌานอย่างละเอียด บังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 6
ต ติ ย ฌ า น คือ ฌานที่ 3 อย่างหยาบ บังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 7
ตติยฌานอย่างกลาง บังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 8
ตติยฌานอย่างละเอียด บังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 9
จ ตุ ต ถ ฌ า น คือ ฌานที่ 4 ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดก็จะไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 10 และถ้าผู้ได้จตุตถฌานนี้เป็นพระอนาคามีด้วยแล้วก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสภูมิ 5 ชั้น อันเป็นรูปพรหมชั้นที่ 12-16 ถ้าไม่เป็นพระอนาคามี ถึงแม้จะได้จตุตถฌานก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมไม่ได้
สำหรับพรหมโลกชั้นที่ 11 อสัญญีสัตตาภูมิ ที่อยู่ของพระพรหมทั้งหลาย ผู้ไม่มีสัญญา อุบัติเกิดด้วยอำนาจแห่งสัญญาวิราคภาวนา และสถิตอยู่ในพรหมโลกชั้นนี้ย่อมมีแต่รูปไม่มีนาม คือ จิต และเจตสิก อันได้เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้สำเร็จจตุตถฌาน อันเป็นรูปฌานขั้นสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น
อ รู ป ฌ า น บั ง เ กิ ด ใ น อ รู ป พ ร ห ม
หากว่าผู้ใดได้อรูปฌานที่ 1 แล้วทรงฌานไม่ให้เสื่อมก็จะบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ 1 (หรือพรหมชั้น 17)
ผู้ใดได้อรูปฌานที่ 2 แล้วทรงฌานไม่ให้เสื่อมก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ 2 (หรือพรหมชั้น 18)
ผู้ใดได้อรูปฌานที่ 3 แล้วทรงฌานไม่ให้เสื่อมก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ 3 (หรือพรหมชั้น 19)
ผู้ใดได้อรูปฌานที่ 4 แล้วทรงฌานไม่ให้เสื่อมก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ 4 ตามกำลังของฌาน (หรือพรหมชั้น 20)
สำหรับอรูปฌานที่เรียกว่า
" เ น ว สั ญ ญ า น า สั ญ ญ า ย ต น ะ " นี้
ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงสุด คือ ชั้นที่ 20 ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง 84,000 มหากัป เรียกกันว่า
นิ พ พ า น พ ร ห ม
คือ นานเสียจนเกือบหาเวลาเริ่มต้น
และสิ้นสุดไม่ได้ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นนิพพาน
• • • • •
แก้วธารา
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "สร้างกุศลพ้นทุกข์"
|บุญกุศลพาใจเราเป็นสุขนั่นแหละคือสวรรค์ที่แท้จริง
โฆษณา