9 ก.ค. 2021 เวลา 02:09 • ครอบครัว & เด็ก

มีลูกสาว สอนลูกสาวให้รู้จัก "จุดตกใจ"

"ทักษะในการรับมือและจัดการความสัมพันธ์" เป็นหนึ่งในทักษะแปดประการที่วัยรุ่นพึงมี
อย่างไรก็ตาม แม้เด็กที่มีพ่อแม่อบรมสั่งสอนมาอย่างดี ก็ไม่ได้รับประกันว่าเขาจะรับมือหรือจัดการกับความสัมพันธ์ได้อย่างราบรื่น เช่นเดียวกับเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวที่แตกแยก ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะซ้ำรอยเสมอไป
ส่วนใหญ่จะพบว่าสิ่งที่พ่อแม่ได้เคยพร่ำบอกลูกนั้น เป็นได้เพียงไกด์ไลน์ เพราะเมื่อถึงเวลาภาคปฏิบัติ ลูกจะได้ฝึกฝนทักษะนี้จริงๆก็ต่อเมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือแฟน
ในระยะเริ่มต้นของความสัมพันธ์ กล่าวอย่างเจาะจงคือ ช่วงแรกๆที่เพิ่งเริ่มเป็นแฟนกัน กลไกทางธรรมชาติมักพรางตา ทำให้มองไม่เห็นลักษณะต้องห้ามบางอย่างหากอีกฝ่ายจงใจปิดบัง เช่น​ ไม่ซื่อสัตย์ ไม่รักษาคำพูด​ คิดลบ ขี้หึง​ เกียจ​คร้าน​ ขี้เหนียวหรือฟุ่มเฟือยเกินตัว​ ฯลฯ
การสอนลูกสาวเกี่ยวกับ "คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้ชายที่ดี" จึงอาจไม่เพียงพอ สาระสำคัญจึงอยู่ที่การสอนลูกสาวให้ตระหนักถึง "ลักษณะต้องห้ามของผู้ชายที่เราพึงหลีกหนีให้ไกล"
ดังนั้นการสอนลูกสาวให้รู้จัก #จุดตกใจ จึงเป็นทริคเบื้องต้นที่จะช่วยคัดกรองคนที่กำลังจะเข้ามาหรือเพิ่งเริ่มคุย ก่อนจะก้าวสู่ขั้นต่อๆไปของการคบหาดูใจ ตกลงเป็นแฟน หรือจริงจังในความสัมพันธ์
#จุดตกใจ ที่ว่านี้คือพฤติกรรมบางอย่างที่อีกฝ่ายแสดงออกมาให้เห็น ตั้งแต่ครั้งแรกๆที่เริ่มเดทกัน เช่น ใจร้อนขณะขับรถ หยาบคายต่อผู้ที่ด้อยกว่า รอคอยไม่เป็น เอ่ยปากขอยืมเงิน พูดถึงคนในครอบครัวตัวเองในทางที่ไม่ดี ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที่ขัดกับมาตรฐานของครอบครัวเรา​ เรื่องที่ยอมรับไม่ได้สำหรับบ้านเรา
หากพ่อแม่แสดงให้ลูกเห็นอย่างชัดเจนว่า​ พฤติกรรมใดบ้างที่บ้านเรายอมรับไม่ได้ และย้ำเตือนอย่างสม่ำเสมอในระดับที่เหมาะสม มันจะเป็นเหมือนการโปรแกรมความเชื่อของเขา เป็นการตั้งค่าจุดวัดมาตรฐานบางอย่างในความคิดของเขา
เมื่อใดที่เขาเจอใครแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ จุดตกใจจะทำงานและร้องเตือนให้ถอยห่าง เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่สานต่อความสัมพันธ์กับผู้ที่มีลักษณะไม่พึงประสงค์ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
โฆษณา