27 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ที่มาว่าทำไมธนาคารกลางถึงกลัวเงินเฟ้อ
Hyperinflation วิกฤตเงินเฟ้อ นำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
ประวัติศาสตร์วิกฤตเงินเฟ้อ Hyperinflation ในเยอรมนี ปี 1923
ปัจจุบันได้มีความกังวลกับการกลับมาของเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น วันนี้ผมจึงอยากจะเล่าถึงอันตรายของเงินเฟ้อ ผ่านวิกฤตเงินเฟ้อขั้นรุนแรงของประเทศเยอรมนีในช่วงระยะเวลาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลง
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวิกฤต Hyperinflation ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินของโลก และก่อให้เกิดความผันผวนไม่เฉพาะกับทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญทำให้พรรคนาซี ที่นำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์( Adolf Hitler) ได้ขึ้นมาครองอำนาจในเยอรมนี และก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด
📌 เงินเฟ้อและ Hyperinflation คืออะไร
เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป คือ การที่ค่าครองชีพในระบบเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น (หรือการที่เงินที่เราถือด้อยค่าลง) ซึ่งธนาคารกลางส่วนใหญ่จะมีเป้าเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี
1
แต่เงินเฟ้อที่สูงมาก รุนแรงมาก เราจะเรียกว่า Hyperinflation โดยทางเศรษฐศาสตร์ให้คำนิยามว่า Hyperinflation เกิดขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ต่อเดือน
1
📌 Hyperinflation ในเยอรมนี ปี 1923
ในปี 1922 ธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุดในเยอรมนี คือ ธนบัตร 50,000 มาร์ค ในปี 1923
ธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุด คือ 100,000,000,000,000 มาร์ค ในเดือนธันวาคม 1923 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐสามารถแลกเงินได้ 4,200,000,000,000 (4.2 ล้านล้าน) มาร์ค (ตอนปี 1914 1 ดอลลาร์= 4.2 มาร์ค)
วิกฤตเงินเฟ้อในปี 1923 รุนแรงมาก อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 29,525 ในเดือนพฤศจิกายน 1923
ซึ่งหมายความว่า ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเกือบ 300 เท่า! ในเดือนพฤศจิกายน โดยเฉลี่ยในปี 1923 ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกสองวัน!
ธนบัตรเก่าเยอรมนี มูลค่า 500 ล้านมาร์ค
ราคาทองเพิ่มขึ้นจาก 1 มาร์ค ไปเป็น 1 ล้านล้านมาร์ค
เพื่อให้เห็นภาพผลกระทบของ Hyperinflation มากขึ้น ผมจะหยิบยกตัวอย่างจากราคาขนมปัง
ในปี 1922 ราคาขนมปังหนึ่งก้อนอยู่ที่ 163 มาร์ค
ในเดือนมกราคม 1923 ราคาขนมปังขยับมาอยู่ที่ 250 มาร์ค
แต่ในเดือนกันยายน 1923 ราคาขนมปังนั้นได้ขึ้นไปถึง 1,500 ล้านมาร์ค
และในเดือนพฤศจิกายนนั้น ราคาขนมปังได้พุ่งไปสูงถึง 200,000 ล้านมาร์ค
ในช่วงเวลานั้น คนงานในเยอรมนีได้รับค่าจ้างทุกชั่วโมง เพื่อให้คนงานเอาเงินนั้นไปซื้อของก่อนที่เงินจะไม่เหลือค่า ยิ่งไปกว่านั้นกระดาษที่จะนำมาใช้ในการพิมพ์ธนบัตรมีค่ามากกว่ามูลค่าของธนบัตรนั้น ๆ
1
ผมได้นำภาพที่เด็กเยอรมันเอาเงินมาเล่นเป็นของเล่น หรือเอาธนบัตรมาทำเป็นว่าวกระดาษ และแม่บ้านชาวเยอรมันเอาธนบัตรมาเผาเพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพราะถูกกว่าราคาถ่าน เพื่อจะสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ที่เลวร้ายถึงขนาดที่เงินนั้นไม่มีค่าอีกต่อไป (when money dies)
ในปี 1923 เด็กในเยอรมนีเอาเงินเล่นแทนของเล่น
แม่บ้านชาวเยอรมันนำเงินมาเผาเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาถูกกว่าถ่าน
เด็กเยอรมันเอาเงินมาทำว่าวกระดาษ
📌 อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด Hyperinflation ในเยอรมนี
หลังจากที่เยอรมนีเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)
1
ได้บังคับให้ผู้แพ้สงครามต้องรับผิดชอบให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับผู้ชนะสงคราม ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามหาศาล (33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1921 หรือเท่ากับทองคำ 100,000 ตัน)
ซึ่งค่าปฏิกรรมสงครามนี้ทำให้เศรษฐกิจเหมือนเป็นอัมพาต และหลังจากที่เยอรมนีไม่ยอมชำระหนี้ในปลายปี 1922 ฝรั่งเศสและเบลเยียมได้ส่งทหารเข้าไปยึดเขตอุตสาหกรรมของเยอรมัน ที่หุบเขารูห์ (The Ruhr Valley) เพื่อเป็นการบังคับให้เยอรมนีใช้หนี้ แต่กลับทำให้เศรษฐกิจเยอรมันหยุดชะงัก
และทางรัฐบาลเยอรมนีในขณะนั้น (Weimar Republic) เลือกที่จะพิมพ์เงินออกมาเพื่อมาค่าจ้างคนงานในเขตนั้น หลังจากที่คนงานเลือกที่จะหยุดงานเพื่อประท้วงการยึดครองของฝรั่งเศสกับเบลเยียม
และการที่รัฐบาลพิมพ์เงินออกมามหาศาล ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงและเงินมาร์คไร้ค่าในที่สุด นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าทางเยอรมันตั้งใจทำให้เงินไร้ค่า เพื่อทำลายเศรษฐกิจตัวเองจะได้ไม่ต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามที่ประชาชนเยอรมันเองก็ต่างเห็นว่าไม่มีความยุติธรรมเลย
📌 เงินเฟ้อมีทั้งผู้ได้และผู้เสียประโยชน์
ถึงแม้ผมจะได้พูดถึงความเลวร้ายของเงินเฟ้อ แต่ก็มีกลุ่มผู้ที่ได้ประโยชน์จาก Hyperinflation
อาทิ เช่น กลุ่มคนที่มีหนี้สิน อย่างเช่น นักธุรกิจ ประชาชนที่มีสินเชื่อบ้านและที่ดิน เพราะสามารถจ่ายหนี้ได้ง่ายดายด้วยเงินที่ไม่มีค่าอีกต่อไป
1
และมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์คือ เกษตรกร เพราะราคาของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นไปตามค่าครองชีพ และที่ดินก็เพิ่มมูลค่าตามเงินเฟ้อด้วย
กลุ่มคนที่เสียประโยชน์จาก Hyperinflation คือ
กลุ่มคนที่ได้เงินเดือนคงที่ เช่น ข้าราชการ หรือ คนที่ได้รับบำนาญ เพราะรายได้ไม่ปรับตามค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
แม้กระทั่งแรงงานที่ได้ค่าจ้างรายวัน ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เพราะเงินที่ได้มาไม่มีค่า
1
อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดวิกฤต Hyperinflation เศรษฐกิจก็จะล่มสลาย เพราะมีแต่คนอยากจะกำจัดเงินที่ตัวเองมีอยู่ออกไปให้เร็วที่สุด และนักธุรกิจก็ไม่อยากขายของ เพราะไม่อยากได้เงินสกุลที่ไร้ค่า
1
ในที่สุด ก็ต้องใช้การแลกเปลี่ยนของกัน (Barter System) หรือใช้เงินสกุลอื่น เช่น ดอลลาร์สหรัฐแทน หรือ ทองคำ แทนเงินที่ไร้ค่า
📌 ผลกระทบนอกจากเรื่องเศรษฐกิจ
การที่เงินไร้ค่าในเยอรมนี ยังมีผลกระทบอื่นๆ ตามมา ทำให้คนเยอรมันขาดศีลธรรม รากฐานทางสังคมพังทลาย ทุกคนไม่เห็นค่าของการออม คนเยอรมันอยู่แบบวันต่อวันพยายามใช้เงินเพื่อซื้อความอยู่รอด เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง
ในที่สุด คนเยอรมันหมดหวังในอนาคตอย่างหนัก จึงทำให้เกิดพรรคการเมืองที่มีแนวคิดสุดโต่งออกมาหลายพรรคมาก และหนึ่งในนั้นคือ พรรคนาซี ที่พยายามจะล้มรัฐบาลในปี 1923 ที่เมืองมิวนิค (Munich Putsch)
และในที่สุดพรรคนาซีและฮิตเลอร์ได้ขึ้นปกครองเยอรมนีในปี 1933 และก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939
ปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรงทำให้คนเยอรมันสิ้นหวังกับรัฐบาล จนทำให้พรรคนาซีและฮิตเลอร์เข้ามาครองอำนาจ
📌 คนเยอรมันเกลียดและกลัวเงินเฟ้อมาก
1
จากประสบการณ์ที่สุดโหดร้ายของ Hyperinflation ทำให้ประชาชนชาวเยอรมันเข็ดขยาดกับเงินเฟ้อมาก
ทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการจัดตั้งธนาคารกลางของเยอรมนี ชื่อว่า Bundesbank ที่เป็นสถาบันที่จริงจังกับการต่อต้านเงินเฟ้อมาก โดยจุดประสงค์หลัก คือ การจัดการเงินเฟ้อและได้รับอิสระในการทำงาน โดยที่ไม่มีแรงกดดันจากการเมือง (Central Bank Independence)
ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ที่ทุกประเทศทั่วโลกเผชิญกับเงินเฟ้อในระดับสูง แต่ Bundesbank สามารถคุมเงินเฟ้อได้ในระดับต่ำ
จนทำให้ นาย Jacques Delors ชาวฝรั่งเศสที่เป็นประธานของ European Commission ได้กล่าวชื่นชมธนาคารกลางของเยอรมนี ไว้ในปี 1992 ว่า “ไม่ใช่ทุกคนในเยอรมันจะเชื่อในพระเจ้า แต่ทุกคนเชื่อในธนาคารกลาง Bundesbank ของเขา” (Not all Germans believe in God, but they all believe in the Bundesbank”)
ซึ่งชื่อเสียงและความไว้วางใจต่อ Bundesbank ว่าจะไม่ทำให้เงินด้อยค่าจากเงินเฟ้อที่สูงไป ทำให้ ทุกประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปต้องพยายามอิงค่าเงินของตนให้เกาะไปกับ Deutschmark (เงินมาร์ค) ถึงจะสามารถเข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโรได้ (European Exchange Rate Mechanism) และธนาคารกลางของสหภาพยุโรป( European Central Bank) ก็ลอกเลียนแบบการจัดตั้งจาก Bundesbank
2
ไม่ใช่ทุกคนในเยอรมันที่จะเชื่อในพระเจ้า แต่ทุกคนเชื่อในธนาคารกลางของเขา Jacques Delors ประธานกรรมาธิการยุโรป ชาวฝรั่งเศส
📌 บทสรุป
บทเรียนจากเงินเฟ้อในประวัติศาสตร์ทำให้ธนาคารกลางเห็นความสำคัญกับการจัดการกับเงินเฟ้อ เพราะผลลบจากการที่ควบคุมเงินเฟ้อไม่ได้นั้นมหาศาลนัก
1
การที่ตลาดการเงินกลับมากังวลกับเงินเฟ้อจึงไม่น่าแปลกใจ แต่ผมและนักเศรษฐศาสตร์ โดยรวมมั่นใจว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่จะคุมเงินเฟ้อได้ ไม่น่ากังวลว่าจะเกิด high inflation หรือ hyperinflation อีกครั้ง
ส่วนในบทความต่อไป ผมจะเล่าให้ฟังว่าทำไมการทำ QE (Quantitative easing) ถึงไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ
ผู้เขียน: บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
1
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics #all_about_history #ประวัติศาสตร์ #วิกฤตเศรษฐกิจ #เงินเฟ้อ #Hyperinflation #วิกฤตการเงินเยอรมนี #เงินเฟ้อเยอรมัน #เยอรมันปี1923
Reference :
Hyperinflation in the Weimar Republic - Wikipedia
When Money Dies (francisinvco.com)
The hyperinflation crisis, 1923 - The Weimar Republic 1918-1929 - Edexcel - GCSE History Revision - Edexcel - BBC Bitesize
Constraints and room for manoeuvre in the German inflation of the early I920S By NIALL FERGUSON

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา