27 มิ.ย. 2021 เวลา 14:34 • ท่องเที่ยว
เกาะซาเมี่ยน (沙面岛) เขตเช่าของต่างชาติในกวางโจวยุคล่าอาณานิคม
3
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ซาเมี่ยนไม่ใช่เกาะ หากเป็นเพียงหาดทรายริมแม่น้ำไข่มุก (珠江 จูเจียง) ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งที่นี่กลายเป็นท่าเรือการค้าการติดต่อกับต่างประเทศ ต่อมาสมัยราชวงศ์หมิงสร้างศาลาหวาเจีย (Huajie Ting) ขึ้นบริเวณนี้เพื่อใช้เป็นสำนักงานจัดการการค้าต่างประเทศแต่มีการปิดประเทศระยะหนึ่ง ในสมัยราชวงศ์ชิงตั้งหน่วยงาน Sup Sam Hung (十三行 The Thirteen Hongs) ทำหน้าที่ควบคุมการค้าต่างประเทศเพียงแห่งเดียวของจีน มีสำนักงานและโกดังอยู่ทางตะวันออกของซาเมี่ยน ยังมีการสร้างป้อมปราการขึ้นเพื่อดูแลความมั่นคงปลอดภัยของเมืองกวางโจว ฟังว่าท่าเรือนี้รองรับเรือได้หลายพันลำ ต่อมาในสมัยสงครามฝิ่น ซาเมี่ยนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่ง
หนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของ Sup Sam Hung คือใบชา ในคริสตวรรษที่ 17 จีนส่งออกชามูลค่าเพียงไม่กี่หมื่นปอนด์ แต่ศตวรรษต่อมา มูลค่าการส่งออกชาเพิ่มขึ้นเป็นหลายล้านปอนด์ อังกฤษขาดดุลการค้าให้กับจีนอย่างหนักเพราะต้องการสินค้าของจีนจำนวนมาก แต่จีนกลับซื้อสินค้าอังกฤษมูลค่าน้อยกว่ามาก (ปัญหานี้คุ้นมาก) ชากลายเป็นสินค้าที่แสดงฐานะทางสังคม และได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในยุโรปและอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาเหนือ
เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของตน อังกฤษ(ยุคราชินีวิคตอเรีย)ริเริ่มนำเข้าฝิ่นจากอาณานิคมอินเดียมาขายในจีน เพราะเป็นสินค้าที่ทำกำไรสูงมาก แก้ปัญหาการขาดดุลการค้าที่สะสมยาวนานได้ ฝิ่นกลายเป็นยาเสพติดที่ทำให้คนจีนจำนวนมหาศาลติดงอมแงม กลายเป็นหนึ่งในหลายๆปัญหาที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ราชวงศ์ชิงและปัญญาชนชาวจีน
หลินเจ๋อสวี (林则徐) ชาวฟูเจี้ยน ย้ายจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการประจำมณฑลหูหนานและหูเป่ย มารับตำแหน่งผู้ตรวจราชการที่กวางตุ้งในปี ค.ศ. 1839 (พ.ศ. 2382) หลินเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงราชินีวิคตอเรียเรียกร้องให้อังกฤษยุติการค้าฝิ่น โดยระบุว่าจีนขายสินค้าที่มีคุณค่าให้แก่อังกฤษเช่น ชา ผ้าไหม เครื่องเทศ พอร์ซเลน แต่อังกฤษกลับขาย”ยาพิษ”ตอบแทนแก่จีน ความขัดแย้งเรื่องนี้นำไปสู่สงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษและจีน
สงครามฝิ่นครั้งแรก อังกฤษเสียกำลังพลไม่ถึง 100 คนในการรบ ขณะที่ฝ่ายจีนสูญเสียมากสูงถึงเกือบ 20,000 คน หลินเจ๋อสวี ผู้นำการกวาดล้างฝิ่น/เผาฝิ่น ไม่อาจต้านทานกองทัพอังกฤษที่มีอาวุธทันสมัยกว่าได้ ยังไม่ทันที่สงครามฝิ่นครั้งแรกจะสิ้นสุดลง กลับถูกจักรพรรดิเต้ากวงปลดออกจากตำแหน่ง เนรเทศไปซินเจียงและอยู่ที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ภาพและเรื่องราวของหลินเจ๋อสวีส่วนหนึ่งได้จากพิพิธภัณฑ์ในหอเจินไห่โหลว ซึ่งอยู่ด้านหนึ่งของสวนสาธารณะเยว่ซิว (越秀园)
ในสงครามฝิ่นครั้งแรก อังกฤษยึดนานกิงได้ จีนพ่ายแพ้ต้องยอมเซ็นสนธิสัญญานานกิง (南京条约 Nanjing tiao yue) กับอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1842 (พ.ศ. 2385 ตรงกับสมัย ร. 3 เป็นสมัยที่ไทยถูกบังคับนิ่มๆให้เปิดประเทศ และยกเลิกการผูกขาดการค้าเหมือนกัน) จีนต้องชดใช้เงินให้ผู้ชนะ ต้องเปิดเมืองท่าคือ กวางโจว ซัวเถา เซี่ยเหมิน ฝูโจว หนิงโบ และเซี่ยงไฮ้ ที่สำคัญคือ ต้องยุติระบบการค้าผูกขาดที่กวางโจว การเปิดเมืองท่าดังกล่าวทำให้ Sup Sam Hung หมดบทบาทและความสำคัญในการควบคุมการค้าต่างประเทศโดยปริยาย
ความขัดแย้งกับอังกฤษยังคงมีต่อเนื่องจนเกิดสงครามฝิ่นอีกครั้ง ผลจากสงครามฝิ่นครั้งนี้ จีนต้องยอมให้อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกง 99 ปี ในปี 1861 (พ.ศ. 2404 ตรงกับสมัย ร. 4) หลังสงครามฝิ่นครั้งที่สองยุติลง อังกฤษยังบังคับขอเช่าย่านซาเมี่ยนซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของกวางโจวเพื่อใช้เป็นที่ตั้งของบริษัทการค้าต่างๆของอังกฤษ โดยมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วย จากนั้นอังกฤษขุดคลองขึ้นล้อมรอบพื้นที่ ทำให้ซาเมี่ยนมีสภาพทางกายภาพกลายเป็นเกาะ
ต่อมาฝรั่งเศสขอเช่าช่วงพื้นที่ 1 ใน 5 บนเกาะซาเมี่ยนเพื่อตั้งสำนักงานและชุมชนฝรั่งเศสโดยบังคับใช้กฎหมายฝรั่งเศส
 
นอกจากนี้ ประเทศตะวันตกหลายประเทศทะยอยเข้ามาตั้งสถานกงสุล เปิดธนาคาร และสำนักงานจำนวนมากที่ซาเมี่ยน มี Canton Culture Club และ Guangzhou club สำหรับชาวต่างชาติ สโมสรของเจ้าอาณานิคมพวกนี้ทำให้นึกถึงป้ายฉาวที่ติดไว้หน้าสวนหวางผู่ในเซี่ยงไฮ้ว่า Dogs And Chinese Not Allowed ในอินเดียและอาณานิคมหลายแห่งก็มีป้ายประเภทเดียวกัน น่าอัปยศจริงๆ
 
กล่าวกันว่า สงครามฝิ่นและการบังคับเช่าเกาะซาเมี่ยน เกาะฮ่องกงส่งผล กระทบทางความคิดอย่างสูงต่อปัญญาชนอย่างซุนยัดเซ็น และโจวเอินไหล
ในยุคใกล้ ช่วงทศวรรษ 1930 กระแสต่อต้านจักรวรรดินิยมในจีนมีกระแสสูง คนจีนในเซี่ยงไฮ้ที่ชุมนุมประท้วงถูกทหารอังกฤษ (เป็นทหารเชื้อสายจีน และซิกข์) ปราบปรามสังหารหมู่ ทำให้การชุมนุมประท้วงขับไล่จักรวรรดิ นิยมขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง มีการประท้วงอย่างรุนแรงที่เกาะซาเมี่ยนด้วย มิถุนายน 2468 ทหารอังกฤษและฝรั่งเศสสังหารผู้ประท้วงชาวจีนบนเกาะนี้เสียชีวิตกว่า 50 คน และบาดเจ็บอีกเป็นร้อย
เกาะซาเมี่ยนมีขนาดเล็ก สามารถเดินเล่นให้พอปวดเมื่อยขา รถยนต์เข้าได้ แต่ถนนบางสายบนเกาะเป็นถนนคนเดิน มีปฏิมากรรมโลหะที่สะท้อนวัฒนธรรมจีน ตะวันตกและวัฒนธรรมของยุคสมัยนี้ประดับเป็นระยะๆ เช่นรูปหล่อการละเล่นพื้นบ้านจีน การแต่งกายหญิงจีนยุคเก่า/ใหม่ มีลู่วิ่ง ธารน้ำพุ(มากี่ครั้ง ก็ยังไม่เคยเจอเปิดสักทีเลย) ลานกิจกรรม สนามเทนนิส มาครั้งก่อนๆเจอตำรวจลาดตระเวณหลายแบบ ทั้งขับรถกอล์ฟ ขี่จักรยาน และเดิน มาทุกครั้งจะเจอคู่บ่าวสาวถ่ายรูปพรีเวดดิ้งเสมอ ที่นี่บรรยากาศร่มรื่น ภูมิทัศน์สวย ชอบมาก ผ่อนคลายดี
บนเกาะมีโบสถ์ฝรั่งเศสหนึ่งแห่งคือ Church of Our Lady of Lourdes และโบสถ์ของอังกฤษคือ Christ Church Shameen เรียกว่าไม่เข้าโบสถ์ข้ามเขตทางกายภาพและศรัทธากันทีเดียว
ซาเมี่ยนภายใต้สัญญาเช่าของอังกฤษและฝรั่งเศส มีการวางผังเมืองแบบตะวันตก มีสถานีย่อยจ่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ในพื้นที่ มีการก่อสร้างอาคารสไตล์ยุโรปเกือบร้อยหลัง มีทั้งสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรีย แบบนีโอคลาสสิก แบบเอเชียยุคอาณานิคม รวมทั้งผสานวัฒนธรรมหลิงหนาน และประยุกต์ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่นี่
เกาะซาเมี่ยนกลับคืนสู่อ้อมกอดมารดาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงเนื่องจากจีนอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร หลังปลดปล่อยประเทศจีน ที่ทำการของรัฐหลายแห่งได้ย้ายเข้ามาที่นี่ ในปี พ.ศ. 2539 กลุ่มอาคารเหล่านี้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้เกาะซาเมี่ยนยังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของจีนด้วย
 
ก่อนหน้านี้ เคยไปเดินเที่ยวเกาะซาเมี่ยน 2 ครั้ง พบว่าหน้าอาคารแต่ละหลัง มีป้ายอธิบายรูปแบบสถาปัตย์ฯของอาคารและความเป็นมาโดยย่อ เว้นไปหลายปี กลับไปครั้งล่าสุดปี 2561 มองหาป้ายที่ว่าไม่เจอ จนใจไม่รู้จะถามใคร ว่าป้ายหายไปไหนและด้วยเหตุใด แต่เหมือนว่ามีการนำปฏิมากรรมน่าเอ็นดูมาประดับพื้นที่เพิ่มเติม
ครั้งล่าสุดตอนจะกลับกรุงเทพ ที่สนามบินไป่หยุน กวางโจว มีจัดแสดงนิทรรศการภาพและเรื่องราวการค้ากับต่างประเทศและ Sup Sam Hung จึงได้ภาพและเรื่องราว มาประกอบบันทึกการเดินทางนี้ด้วย
 
เดินทางไปเที่ยวเกาะซาเมี่ยนง่ายๆ ด้วยรถไฟใต้ดินสายสีเหลือง ลงสถานีหวางซา ใช้ทางออก F เดินข้ามสะพานลอยไปอีกฝั่งถนน เห็นผู้คนเดินไปมาบนสะพานข้ามคลองสายเล็กๆ ใช่เลย
โฆษณา