30 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
🎥 EP. 5
สูตรสำเร็จของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง
ในระหว่างที่กำลังสร้างโรงถ่ายอยู่นี้ บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็ยังคงสร้างภาพยนตร์ต่ออีกหลายเรื่อง
แต่ภาพยนตร์ที่น่าสนใจมากที่สุดในช่วงเวลานี้ ได้แก่ เลือดทหารไทย (พ.ศ. 2478)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทางบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้รับการว่าจ้างจากกระทรวงกลาโหม ให้ถ่ายทำภาพยนตร์เผยแพร่กิจการทหารทั้งสามเหล่าทัพ โดยนำเสนอเป็นภาพยนตร์บันเทิงที่มีพระเอกนางเอก
ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำพอสมควร เนื่องจากต้องทำงานในขอบเขตที่ใหญ่โตกว่าการถ่ายภาพยนตร์ทั่ว ๆ ไป
โดยเฉพาะฉากที่ต้องแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ซึ่งต้องใช้ทหารจากสามเหล่าทัพเข้าร่วมแสดงเป็นจำนวนมาก
ช่วงเวลาที่ถือได้ว่าเป็นยุคทองของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2478-2482
เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปี บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงสร้างภาพยนตร์ไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง แต่ละเรื่องทำกำไรให้แก่บริษัทไม่น้อย จนทำให้บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์ที่มั่งคั่งที่สุดในสยาม
ปัจจัยที่สร้างความสำเร็จประการหนึ่งคงหนีไม่พ้นบุคลากร บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมบุคลากรที่มีความสามารถในแทบทุกแขนงการผลิตภาพยนตร์
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) และ พี่น้องวสุวัต
เช่นในด้านการถ่ายภาพก็มี หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) ซึ่งเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว
ในด้านการบันทึกเสียงก็มีนายกระเศียร วสุวัต ช่างผู้ชำนาญการในเรื่องเครื่องยนต์กลไกเป็นผู้รับผิดชอบ
ในด้านการประพันธ์บทและกำกับ ก็ได้ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นักปราชญ์แห่งสยามเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างสรรค์
และในด้านเพลงก็ได้ร้อยโทมานิต เสนะวีณิน และนายนารถ ถาวรบุตร์ นักประพันธ์เพลงผู้มีชื่อเสียงมาเป็นผู้สร้างสรรค์บทเพลง
นอกจากนี้ ปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้แก่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงอีกประการหนึ่งก็คือ การวางแผนทางการตลาด
ก่อนที่จะลงมือสร้างภาพยนตร์ทุกครั้ง บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงจะสำรวจความต้องการของตลาดอย่างดี
จากนั้นนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางภาพยนตร์ที่จะสร้าง
นอกจากนี้ กลยุทธ์สำคัญอีกประการหนึ่งที่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงนำมาใช้จนประสบความสำเร็จก็คือ การสร้างดาราคู่ขวัญ
ดาราคู่ขวัญคู่แรกและคู่เดียวที่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงสร้างขึ้น ได้แก่ มานี สุมนัฎ และ จำรัส สุวคนธ์ ซึ่งเกิดจากบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงด้วยกันทั้งคู่
มานี สุมนัฏ กับ จำรัส สุวคนธ์ ในภาพยนตร์เรื่อง หลอกเมีย (2480)
ทั้งคู่มาแสดงร่วมกันเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง กลัวเมีย (พ.ศ. 2479) ซึ่งเมื่อออกฉายก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
ทางบริษัทจึงนำทั้งคู่มาแสดงร่วมกันต่ออีก 2 เรื่อง ได้แก่ เพลงหวานใจ (พ.ศ. 2480) และ หลอกเมีย (พ.ศ. 2480) ซึ่งทุกเรื่องประสบความสำเร็จในด้านรายได้อย่างงดงาม
โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง เพลงหวานใจ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ลงทุนมากที่สุดของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงนั้นได้สร้างชื่อให้ดาราทั้งคู่กลายเป็นตำนานหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยทีเดียว
นอกจากดาราคู่ขวัญ 'เพลงประกอบภาพยนตร์' ก็เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอีกประการหนึ่ง ที่สร้างความสำเร็จไม่แพ้กัน
เพลงได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่สร้างภาพยนตร์เรื่อง หลงทาง ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรก
โดยในครั้งนั้นขุนวิจิตรมาตราได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์เพลงฮอลลีวูด ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม จึงได้แต่งเพลงประกอบในภาพยนตร์ถึง 6 เพลง
เมื่อออกฉายปรากฏว่าผู้ชมไม่ได้ชื่นชอบเพียงเนื้อหาภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังชอบเพลงประกอบด้วย
หลังจากนั้นเป็นต้นมา บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็บรรจุเพลงลงในภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง จนกลายเป็นสูตรสำเร็จไปในที่สุด
และหลายเพลงก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะลาโรงไปแล้วก็ตาม
▶ เกร็ด :: อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยในยุคเริ่มต้น แต่ผลงานภาพยนตร์ของพี่น้องวสุวัตกลับสูญหายไปเกือบหมดสิ้น โดยเฉพาะในยุคโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “ฮอลลีวูดแห่งสยาม” และสามารถผลิตภาพยนตร์ออกมาได้เกือบ 20 เรื่อง
ปัจจุบัน ผลงานเหล่านี้กลับเหลือรอดมาแค่เศษฟิล์มจากภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2479 เรื่อง เลือดชาวนา ซึ่งสามารถนำมาฉายให้คนรุ่นหลังดูได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น
▶ โปรดติดตาม EP. 6 ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
▶ ขอขอบคุณที่มาข้อมูล ::
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- บทความของ ภาณุ อารี (http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9)
เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
- สุดท้ายนี้หากได้ประโยชน์จากบทความนี้อย่าลืมกด Like & Share และสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อแบ่งปันมุมมองให้กันด้วยนะครับ 🙏🏻🤗 -
🌐 ติดตามภาพยนตรานุกรมได้ที่ :: http://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/ไทยบันเทิง
โฆษณา