29 มิ.ย. 2021 เวลา 12:59 • ปรัชญา
สมัยยังเด็ก โทรทัศน์ที่ดูกันตามบ้านยังเป็นขาวดำอยู่ สถานีโทรทัศน์ก็มีเพียง 2 สถานีเท่านั้น คือ ช่อง 4 (ปัจจุบันเป็นโมเดิร์นไนน์ทีวี) และช่อง 5 ของกองทัพบก พอโตขึ้นหน่อย จึงมีโทรทัศน์สี และมีช่อง 7 สี และช่อง 3 เพิ่มตามมา
ตอนที่แม่ซื้อโทรทัศน์สีเครื่องใหม่มาวันแรก ทุกคนในบ้านตื่นเต้นกันมาก จำได้ว่าเป็นโทรทัศน์เครื่องใหญ่ กรอบสีครีมสะอาดตา ดูเก๋ไก๋ทันสมัย ยี่ห้อเทเลฟุงเก้น (Telefunken) ของเยอรมนี (สมัยนั้นดังมากทีเดียว แต่. . . อนิจจังไม่เที่ยง ตอนนี้ไม่มีใครรู้จักยี่ห้อนี้ซะแล้ว !)
นาทีที่แม่เปิดโทรทัศน์ให้ดู ความรู้สึกของเด็กตัวเล็ก ๆ ที่เคยดูแต่โทรทัศน์เก่า ๆ ภาพเป็นขาวดำ พอมีโทรทัศน์ใหม่เอี่ยมจอใหญ่เบ้อเร่อ แถมภาพที่เห็นยังคมชัด และมีสีสันสวยสดใสซะด้วย มันตื่นเต้นจนบอกไม่ถูกเลยค่ะ ความรู้สึกคงคล้ายเด็กสมัยนี้บางคนที่ดูทีวีสีก็จริง แต่ยังเป็นรุ่นขอบหนา เทอะทะ ก้นยื่นตั้งวา แสนจะล้าสมัย แล้วจู่ ๆ วันดีคืนดีพ่อแม่ก็ซื้อทีวีดิจิทัล จอแบนกว้างใหญ่ ขอบบางเฉียบ ดูทันสมัยสุด ๆ แถมยังทำอะไรต่ออะไรได้สารพัดมาให้นั่นแหละค่ะ ช่วงแรก ๆ นั่งแหงนคอเฝ้าหน้าจอแทบทั้งวัน เรียกว่าดูมันทุกช่อง ทุกรายการ แม้แต่โฆษณาที่แสนจะน่าเบื่อก็ยังนั่งดูตาแทบไม่กระพริบ โธ่. . . ก็มันสวยน่าตื่นตาตื่นใจจะตายนี่คะ!
มาถึงวันนี้ทีวีมีเป็นร้อย ๆ ช่อง (ใครจะเชื่อ!) โดยเฉพาะช่องที่เป็นระบบดิจิทัลภาคพื้นดินของไทยนั้น มีถึง 48 ช่อง และในจำนวนนั้น 7 ช่องก็ยังถ่ายทอดด้วยระบบ High Definition (HD) อีกด้วย ซึ่งนอกจากภาพจะสวยสดใสกว่าเดิมหลายเท่าแล้วก็ยังมีความละเอียด คมชัด เหมือนจริงราวกับจะทะลุออกมานอกจอเลยทีเดียว (นี่คือตัวอย่างว่าเมื่อตัณหาถูกนำมาใช้ร่วมกับปัญญา โลกก็จะพัฒนาก้าวไกลไม่หยุดยั้ง!)
ผู้ประกอบการจึงต้องแข่งขันกันมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะผู้ชมจะได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ก็เหมือนกับทุกเรื่อง คือ เมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย เพราะในการแข่งขันกันเพื่อเรียกเรตติ้งจากผู้ชมนั้น เป็นไปได้ว่ารายการที่ได้รับความนิยมสูงมากเป็นรายการที่เน้นความ " แ ป ล ก " และ " แ ร ง " ซึ่งบางครั้งความแรงก็อาจส่งผลทางลบต่อเด็ก และเยาวชน หากไม่มีผู้ใหญ่คอยชี้แนะ
พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่าการจะใช้สิ่งใดก็ตาม เราควรรู้ 3 เรื่อง คือ
1. รู้คุณของสิ่งนั้น (อัสสาทะ)
2. รู้โทษของสิ่งนั้น (อาทีนวะ)
3. รู้จุดมุ่งหมายของสิ่งนั้นหรือรู้วิธีที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นโดยไม่เป็นทุกข์ (นิสสรณะ)
ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเลือก จึงต้องใช้วิจารณญาณให้ดีนะคะ มิฉะนั้น ก็อาจตกเป็นเหยื่อของสื่อที่เข้ามาปล้นความคิดเรา และลูกหลานเราถึงในบ้านได้โดยไม่รู้ตัว
#โจรปล้น [ความคิด]
• • • • •
อุษาวดี สินธุเสน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "คิดเป็นโลกเปลี่ยน"
โฆษณา