28 มิ.ย. 2021 เวลา 13:48 • สุขภาพ
ไวรัสเดลต้า (Delta) แพร่เชื้อเร็วที่สุดชนะทั้งอัลฟ่า (Alpha) เบต้า(Beta) และแกมม่า (Gamma)
เนื่องจากไวรัสโคโรนา (Corona virus) ลำดับที่ 7 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสสายพันธุ์เดี่ยวอาร์เอ็นเอ (RNA) จึงมีการกลายพันธุ์เป็นปกติวิสัย
ทำให้เราพบรายงานเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ (Mutation) เป็นสายพันธุ์ใหม่ (Variant) หลากหลายชนิด
ตกลงเรามีไวรัสกลายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ทั้งหมดกี่ชนิดแล้ว ?
ทำไมถึงได้ยินชื่อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆเพียงไม่กี่ชนิดเอง ?
ไวรัสสายพันธุ์ไหนน่ากลัวที่สุดอันตรายที่สุด ?
เราจะลองมาหาคำตอบกันดูนะครับ
ไวรัสกลายพันธุ์ จนเป็นสายพันธุ์ใหม่ เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมบางจุดที่แตกต่างไปจากไวรัสเดิม
ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 มี RNA ประกอบไปด้วยเบส ที่มีความยาวประมาณ 30,000 เบส และจะเป็นพื้นฐานของการมีกรดอะมิโน (Amino acid) ประมาณ 10,000 ตำแหน่ง
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง แม้เพียงจุดเดียว ก็จะทำให้ไวรัสตัวนั้นกลายพันธุ์ไปแล้ว
การกลายพันธุ์จึงเกิดขึ้นได้ง่ายมากและหลากหลาย การเพิ่มจำนวนของไวรัสโดยลอกรหัสพันธุกรรม 10,000 จุด ผิดพลาดไปเพียงจุดเดียว ก็ถือว่ากลายพันธุ์แล้ว
แต่ถ้าการพลาดนั้น เกิดขึ้นในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้น ก็จะไม่มีผลกับการก่อโรค การระบาด หรือดื้อต่อวัคซีน
จึงไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ให้ความสนใจ และจะหมดความสำคัญไปจากโลกมนุษย์เราในที่สุด
แล้วไวรัสกลายพันธุ์แบบไหน ถึงจะอยู่รอด ก่อเรื่องจนทำให้มนุษย์สนใจ
ก็ต้องประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลให้เกิดเรื่องอย่างน้อยหนึ่งอย่างดังนี้
1) เกิดความสามารถในการแพร่ระบาดมากขึ้น
2) เกิดความสามารถในการก่อโรคให้มีอาการรุนแรงขึ้น
3) เกิดความสามารถที่ดื้อต่อวัคซีน สู้วัคซีนได้เก่งขึ้น
หน่วยงานหรือแหล่งข้อมูลสำคัญของโลก ที่รวบรวมรายชื่อและรหัสพันธุกรรมของไวรัสต่างๆไว้คือ GISAID : Global Initiative on Sharing All Influenza Data
โดยทุกประเทศทั่วโลก ต่างร่วมกันส่งข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่พบในประเทศของตนเอง ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่ศูนย์กลางนี้ จึงเกิดเป็นแหล่งเก็บข้อมูลขนาดใหญ่
ไวรัสสายพันธุ์ต่าง
ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศูนย์ดังกล่าวได้รวบรวมสายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิดแล้ว 39 สายพันธุ์ จากตัวอย่างที่กว่า 200 ประเทศทั่วโลกส่งมา 2.1 ล้านตัวอย่าง
ประเทศไทยเราเอง ก็ได้ร่วมส่งตัวอย่างไปด้วย 1811 ตัวอย่าง โดยเป็น
อัลฟ่า 69%
เดลต้า 24%
เบต้า 4%
อื่นๆ 3%
จากการใช้หลักเกณฑ์ดูความสำคัญของสายพันธุ์ที่ไวรัสจะกระทบต่อมนุษย์ จึงทำให้สามารถแบ่งไวรัสออกได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ดังนี้
1) VOC (Variant of Concern) หรือไวรัสที่น่าเป็นห่วงหรือน่ากังวล
2) VOI (Variant of Interest) ไวรัสที่ควรให้ความสนใจหรือเฝ้าระวัง
3) ไวรัสกลุ่มอื่นๆที่เหลือ
ไวรัสกลุ่มแรก (VOC)มีทั้งหมดสี่สายพันธุ์ด้วยกันได้แก่
1) สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) หรือสายพันธุ์อังกฤษ
2) สายพันธุ์เบต้า (Beta) หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้
3) สายพันธุ์แกมมา (Gamma) หรือสายพันธุ์บราซิล
4) สายพันธุ์เดลต้า (Delta) หรือสายพันธุ์อินเดีย
1
ส่วนไวรัสกลุ่มที่สอง (VOI) มี 7 สายพันธุ์ ได้แก่
แลมด้า (Lambda) ของเปรู
แคปป้า (Kappa) ของอินเดีย
ซีต้า (Zeta) ของบราซิล
ทีต้า (Theta) ของฟิลิปปินส์
อีต้า (ETA) ของหลายประเทศ
ไอโอต้า(Iota) ของสหรัฐอเมริกา
เอปซีลอน (Epsilon) ของสหรัฐอเมริกา
เฉพาะไวรัสสายพันธุ์สำคัญ 4 สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง ได้มีการศึกษาเพื่อทำการเปรียบเทียบความสามารถในการแพร่ระบาดว่า ทำได้รวดเร็วหรือกว้างขวางเพียงใด
เมื่อจัดลำดับแล้วพบว่า
1) สายพันธุ์เดลต้ามีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงสุด
2) สายพันธุ์แกมมาแพร่ระบาดรองลงมา โดยเดลต้าจะเหนือกว่า 34%
1
3) สายพันธุ์อัลฟ่า เดลต้าจะเหนือกว่าอยู่ 55%
4) สายพันธุ์เบต้า เดลต้าจะแพร่ได้เร็วกว่าอยู่ 60%
ความสำคัญของการแพร่ระบาด จะเกิดผลสองประการได้แก่
1) เมื่อเข้าไปแพร่อยู่ในประเทศใดแล้ว ก็จะสามารถเพิ่มจำนวน จนกลายเป็นสายพันธุ์หลัก และกลบทับสายพันธุ์เดิมไปได้จนหมด
2) จะทำให้มีจำนวนประเทศที่พบสายพันธุ์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไวรัสทั้งสี่สายพันธุ์ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน ดังนั้นไวรัสสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาก่อน จึงมีจำนวนประเทศที่มีไวรัสระบาดมากกว่า ได้แก่
สายพันธุ์อัลฟ่าพบแล้ว 160 ประเทศสายพันธุ์เบต้า 113 ประเทศ
สายพันธุ์แกมมา 64 ประเทศ
สายพันธุ์เดลต้า 62 ประเทศ
สายพันธุ์เดลต้าเกิดขึ้นหลังสุด แต่แพร่เร็วมาก จนเกือบจะทันสายพันธุ์แกมมาที่เกิดขึ้นก่อน
และต่อไปคงจะแซงสายพันธุ์เบต้าและอัลฟ่าในที่สุด
แต่ถ้าดูเป็นรายประเทศ จะพบว่าเดลต้าสามารถแซงสายพันธุ์อัลฟ่าซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนได้แล้ว เช่น ในประเทศอังกฤษ พบเป็นสายพันธุ์เดลต้าเกือบ 100% แล้ว โดยสายพันธุ์อัลฟ่าซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักได้หายไปเกือบหมด
ข้อมูลปัจจุบัน จึงต้องถือว่าไวรัสสายพันธุ์เดลต้า มีความสามารถในการแพร่ได้รวดเร็ว และกว้างขวาง เก่งที่สุด
1
จึงจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในแต่ละประเทศต่อไป ในช่วงเวลาไม่นานนัก
งานวิจัยเรื่องไวรัสเดลต้าดื้อต่อวัคซีน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะต้องเร่งศึกษาวิจัยว่า
วัคซีนแต่ละชนิด มีประสิทธิผลลดลงในการต่อสู้กับไวรัสเดลต้า มากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะนำไปประกอบการวางแผนฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศ
นอกจากนั้นยังจะต้องเร่งศึกษาวิจัยพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง (Second Generation) ที่สามารถรับมือกับไวรัสเดลต้าหรือไวรัสอื่นๆที่จะดื้อต่อวัคซีนในอนาคตด้วย
1
ไวรัสจะถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม (ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มยังถูกเถียงกันอยู่)
แต่ต้องถือว่าไวรัสนี้เก่งจริงๆ จะเก่งด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้มนุษย์ประสบปัญหาเหนื่อยยากกันทั้งโลก
กว่าพวกเราจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติ 100% เหมือนเดิมได้ คงกินเวลาอีกหลายปี
แต่ถ้าจะคิดถึงเรื่องการใช้ชีวิตแบบผ่อนคลายลงไปมาก แต่ไม่สามารถเหมือนเดิม 100 % ก็คงจะใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี (พ.ศ. 2565-2566)
2
Reference
2
GISAID
Eurosurveillance
โฆษณา