29 มิ.ย. 2021 เวลา 13:20 • หนังสือ
เปิดจดหมายรักจากผู้เขียนเจ้าชายน้อย ถึงเธอผู้อยู่เบื้องหลัง ดอกกุหลาบเจ้าชายน้อย
“คนที่ผ่านไปมามักคิดว่ากุหลาบของฉันก็เป็นกุหลาบธรรมดาเหมือนพวกเธอ แต่เธอเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่มีความสําคัญต่อฉันมากยิ่งกว่าพวกเธอทั้งหมด เพราะฉันเป็นคนรดน้ำให้เธอ เพราะฉันเป็นคนเอาฝาแก้วไปครอบให้เธอ เพราะฉันเป็นคนสร้างเครื่องกําบังลมให้เธอ เพราะฉันเป็นคนกําจัดหนอนให้เธอ (ยกเว้นสองหรือสามตัว เพื่อให้กลายเป็นผีเสื้อ) เพราะฉันเป็นคนฟังเธอพร่ำบ่น ฟังเธอโอ้อวด และรวมทั้งฟังเธอนิ่งเงียบ ฉันจึงได้เป็นเจ้าของเธอ”
(จากบทที่ 21 เจ้าชายน้อย The Little Prince ฉบับแปลภาษาไทยโดย อาริยา ไพฑูรย์)
6 เมษายน ค.ศ.1943 เจ้าชายน้อย หรือชื่อภาษาอังกฤษ The Little Prince ตีพิมพ์ครั้งแรก เล่าเรื่องราวของเจ้าชายน้อย เด็กหนุ่มผมสีทองจากดาว B612 ผู้ท่องไปในดวงดาวต่างๆ พร้อมกับความสัมพันธ์ที่ดูลึกลับระหว่างเขากับ ดอกกุหลาบ ดอกหนึ่งที่ปลูกไว้ ณ ดวงดาวของเขา แม้เรื่องราวของเจ้าชายน้อยและดอกกุหลาบไม่ได้ถูกดึงขึ้นมาเป็นแก่นของเรื่องเมื่อเทียบกับจินตนาการที่ถูกซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด แต่ กุหลาบเจ้าชายน้อย ดอกนั้นกลับมีความสำคัญกว่าตัวละครใด เพราะ ดอกกุหลาบเจ้าชายน้อย ได้ซุกซ่อนความสัมพันธ์ระหว่าง อองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) เจ้าของวรรณกรรม และ กอนซูเอโล เดอ แซงเต็กซูเปรี (Consuelo de Saint-Exupéry) ภรรยาของเขา หญิงสาวผู้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจเบื้องหลังการเขียนเจ้าชายน้อย และการถือกำเนิดของ ดอกกุหลาบเจ้าชายน้อย ดอกไม้ที่พิเศษกว่าดอกดอกใด
ดอกกุหลาบเจ้าชายน้อย กับดอกไม้ในชีวิตจริง
ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 แฟนคลับเจ้าชายน้อยทั่วโลกต่างถามหา Correspondence (1930-1944) หนังสือที่นำจดหมายรักของอองตวนและภรรยามาเปิดเผย ซึ่งเนื้อความในจดหมายนอกจากจะเผยให้เห็นถึงเบื้องหลังการถือกำเนิดของวรรณกรรมคลาสสิกเจ้าชายน้อย รวมทั้งแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละคร ดอกกุหลาบเจ้าชายน้อย แล้ว เนื้อความในจดหมายและโทรเลขรวม 160 ฉบับยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เจ้าชายน้อยกับดอกกุหลาบดอกเดียวของเขา ที่โยงไปถึงความสัมพันธ์ในชีวิตจริงระหว่างอองตวนและภรรยา ดังที่ตอนหนึ่งในหนังสือได้ฉายให้เห็นความพยายามของเจ้าชายน้อยในการทำความเข้าใจกับดอกกุหลาบที่แสนสวย บอบบาง ช่างพูด และเจ้าอารมณ์ แต่ในที่สุดต่อให้เจ้าชายน้อยต้องเจอกับกุหลาบอีกกี่พันดอก กุลาบบนดวงดาวของเขาก็ยังเป็นกุหลาบดอกเดียวที่พิเศษสุดสำหรับเจ้าชายน้อยอยู่ดี
ตัวอย่างจดหมายในหนังสือ Correspondence (1930-1944)
เนื้อหาในหนังสือ Correspondence (1930-1944) เกิดจากการรวบรวมจดหมาย โทรเลข พร้อมภาพสเก็ตช์ และภาพถ่ายของ อองตวน กับ กอนซูเอโลพร้อมบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ตั้งแต่แรกพบ ตกลงปลงใจแต่งงาน รวมถึงความสัมพันธ์ของคู่รักในชีวิตจริงที่มีทั้งความอลหม่านและลึกซึ้งไม่แพ้การออกผจญภัยของเจ้าชายน้อย โดยระหว่างทางทั้งคู่ได้พบเจอความโรแมนติก รุ่มร้อน การนอกใจ การเลิกรา และการคืนดีวนซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน จนถึงวาระสุดท้ายที่อองตวนหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ระหว่างเส้นทางการบินเพื่อปฏิบัติภารกิจให้กับฝรั่งเศสเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1944
อองตวนและภรรยาในหนังสือ Correspondence (1930-1944)
สำหรับไฮไลต์ในหนังสือ Correspondence (1930-1944) นั้นนอกจากจดหมายก็มีภาพวาดลายเส้น กอนซูเอโล เขียนโดยอองตวน วาดไว้ในช่วงที่ทั้งคู่อยู่นิวยอร์กราวปี ค.ศ. 1942-1943 นอกจากนี้ยังมีจดหมายฉบับแรกที่ อองตวน เขียนถึงกอนซูเอโล และเป็นจดหมายฉบับที่เล่าถึงการถือกำเนิดของวรรณกรรมเจ้าชายน้อย โดยเนื้อหาในจดหมายความว่า
“กาลครั้งหนึ่ง มีเด็กน้อยที่ค้นพบสมบัติชิ้นหนึ่ง แต่สมบัติชิ้นนั้นมันสวยงามเหลือเกิน เกินกว่าที่ดวงตาของเด็กน้อยจะรู้ค่าของมัน หรืออ้อมแขนของเขาจะโอบกอดมันไว้ได้ เด็กน้อยจึงหดหู่ยิ่งนัก”
อีกประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือ Correspondence (1930-1944) คือ เนื้อความจากจดหมายรักในชีวิตจริงที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาในวรรณกรรมเจ้าชายน้อย เช่นเมื่อเจ้าชายน้อยเล่าถึง ดอกกุหลาบของเขาในบทที่ 8 ว่า
“ผมช่างไม่รู้อะไรเอาเสียเลย ผมน่าจะมองเห็นความนุ่มนวลน่ารักที่แฝงอยู่ในความเล่ห์อย่างร้ายกาจของเธอ ดอกไม้มักแปรปรวนอย่างนี้เสมอ แต่ผมอาจจะเด็กเกินไปที่จะรู้จักรักใครก็ได้” ซึ่งข้อความนี้ได้มีการนำมาวิเคราะห์ต่อว่าน่าจะเกี่ยวโยงกับชีวิตรักของอองตวนและภรรยา
La Véritable Histoire du Petit Prince โดย Alain Vircondelet
Alain Vircondelet ผู้รวบรวมข้อมูลและผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของอองตวน (La Véritable Histoire du Petit Prince) เคยวิเคราะห์ถึงลักษณะนิสัยคู่สามีภรรยาคู่นี้ไว้ว่า กอนซูเอโลเป็นคนที่อารมณ์อ่อนไหววูบวาบ ส่วนฝ่ายสามีก็เป็นคนที่มีแนวโน้มซึมเศร้า และการที่อองตวนเคยนอกใจภรรยาหลายครั้งนั้นไม่ใช่เป็นเพราะการบริหารเสน่ห์หรือความเจ้าชู้ แต่เป็นความล้มเหลวทางอารมณ์ที่อ่อนไหวและอ่อนแอของคนทั้งคู่มากกว่า ต้องไม่ลืมว่าแม้อองตวนจะเป็นนักบินแต่เขาก็ยังเป็นนักเขียนเช่นเดียวกับภรรยาของเขา ตัวอย่างข้อความที่แสดงอารมณ์ความรักอันรุ่มร้อน อ่อนไหว สับสน และลึกซึ้งของทั้งคู่นั้นมักพบได้ในจดหมายรักที่ทั้งคู่เขียนถึงกัน เช่นคำตอบจากฝ่ายภรรยาที่ส่งกลับมาหลังถูกสามีเขียนจดหมายตัดพ้อ ซึ่งข้อความของกอนซูเอโลก็คมบาดอารมณ์ไม่แพ้อองตวนเช่นกัน “ฉันร้องไห้ด้วยใจเจ็บ ฉันกลัวเหลือเกินว่าจะถูกเนรเทศออกจากใจของเธอ“
และจดหมายฉบับที่หลายคนรอเปิดอ่านในหนังสือ Correspondence (1930-1944) คือ จดหมายรักฉบับสุดท้ายที่อองตวนเขียนถึงภรรยาด้วยข้อความว่า
“กอนซูเอโล ขอบคุณจากก้นบึ้งหัวใจที่คุณเป็นภรรยาของผม..ถ้าผมตาย ผมยังมีใครคนหนึ่งที่รอผมอยู่ตลอดไป”
แม้นี่จะเป็นข้อความสั้นๆ แต่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง แม้ที่ผ่านมาชีวิตรักของทั้งคู่จะไม่ราบรื่นหรือหวานชื่นตลอดเวลาก็ตาม และความรักลึกซึ้งในชีวิตจริงเหล่านี้ยังได้บรรจุไว้ชัดเจนอยู่ในหนังสือเจ้าชายน้อยบทที่ 21 ซึ่งเป็นตอนที่เจ้าชายน้อย (รวมทั้งอองตวน) เริ่มเข้าใจว่า ดอกกุหลาบบนดวงดาวของเขาเป็นดอกไม้พิเศษที่แท้จริง
“…เธอเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่มีความสําคัญต่อฉัน”
อองตวนได้วาดภาพภรรยาของเขา ตีพิมพ์ในหนังสือ Correspondence (1930-1944) เช่นกัน
• ไทม์ไลน์ ความสัมพันธ์ของ อองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี และ กอนซูเอโล เดอ แซงเต็กซูเปรี
• ค.ศ.1930 ที่เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เป็นช่วงเวลาที่ กอนซูเอโล เดอ ซานโดวาล (Consuelo Suncín de Sandoval) นักเขียนและสาวสังคมเพิ่งหย่าร้างจาก โกเมซ การิญโญ (Gomez Carillo) นักเขียนชาวกัวเตมาลา โดยในแวดวงสังคมศิลปิน นักเขียนสาวสวยคนนี้ยังเป็นเพื่อนกับ ซัลวาดอร์ ดาลี และ ฮวน มิโร (Joan Miró)
• ค.ศ.1930 อองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี ไปประจำการในตำแหน่ง Operations manager ที่ศูนย์ Aeroposta Argentina เมืองบัวโนสไอเรส ที่นั่นเขาได้พบกับกอนซูเอโล นักเขียนหม้ายสาวลูกครึ่งฝรั่งเศส-ซัลวาดอร์ (ละตินอเมริกา) ว่ากันว่า แซงเต็กซูเปรีรู้ตั้งแต่แรกพบว่า หญิงสาวคนนี้ต้องเป็นภรรยาของเขา และเมื่อความรักบังเกิด ทั้งคู่ได้ออกเดินทางท่องโลกด้วยกัน จากอเมริกาใต้สู่นิวยอร์ก ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงปารีส และคาซาบลังกา โมรอคโค
• ค.ศ.1931 หลังคบหากันไม่กี่นานทั้งคู่ก็แต่งงานกันที่ฝรั่งเศส
• ค.ศ.1941-1943 อองตวนลี้ภัยมาพักที่นิวยอร์คพร้อมกับภรรยา และเริ่มต้นงานเขียนต้นฉบับเจ้าชายน้อย The Little Prince ซึ่งตีพิมพ์วันแรกในวันที่ 6 เมษายน
• ค.ศ.1943 โดยสำนักพิมพ์เรย์นัล แอนด์ ฮิตช์ค็อก (Reynal & Hitchcock) ในนิวยอร์ก ฉบับแปลภาษาอังกฤษชื่อ The Little Prince โดยแคเทอรีน วูดส์ (Katherine Woods) พร้อมรูปประกอบที่ผู้ประพันธ์วาดเอง จากนั้นเพียงไม่กี่วันทางสำนักพิมพ์จึงออกฉบับภาษาฝรั่งเศส Le Petit Prince
• กรกฎาคม ค.ศ. 1944 อองตวนหายตัวไประหว่างเส้นทางการบินอย่างไร้ร่องรอยและถูกประกาศเป็นผู้เสียชีวิต
• ค.ศ.1998 ชาวประมงในเมืองท่ามาร์กเซย ทางตอนใต้ฝรั่งเศส พบสร้อยข้อมือเงินสลักชื่อ “อองตวน-กอนซูเอโล” ติดร่างมากับเครื่องมือจับปลา
• ค.ศ.1979 กอนซูเอโลเสียชีวิต และพินัยกรรมของเธอระบุ ยกส่วนแบ่ง 50เปอร์เซนต์จากลิขสิทธิ์หนังสือ The Little Prince ส่วนที่เป็นของเธอ ให้กับ Jose Fructuoso Martinez ผู้เป็นทั้งคนขับรถ คนสวน และเลขาส่วนตัวของเธอซึ่งทำงานด้วยกันมากว่า 20 ปี อีกทั้งยังได้มอบกรรมสิทธิ์ในจดหมายรักของทั้งคู่ให้คนขับรถผู้นี้ดูแลด้วย
• ค.ศ. 2001 ผลงาน The Tale of the Rose งานเขียนของกอนซูเอโลที่เขียนไว้เมื่อปี ค.ศ. 1940 ถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ เป็นอีกมุมสะท้อนความสัมพันธ์ของคู่รักแซงเต็กซูเปรีจากมุมของฝั่งภรรยา หรือเปรียบเปรยเป็นคำพูดจากฝั่ง “ดอกกุหลาบ” (กอนซูเอโล คือ ที่มาของตัวละคร ดอกกุหลาบเจ้าชายน้อย ดอกพิเศษบนดาวของ เจ้าชายน้อย ใน หนังสือ The Little Prince )
• ค.ศ.2005 Jose Fructuoso Martinez ร่วมกับ Alain Vircondelet เขียนและตีพิมพ์หนังสือ Antoine et Consuelo de St-Exupéry: a legendary love (ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส) เรียบเรียงเรื่องราวของอองตวนและกอนซูเอโล รวมถึงพื้นเพของฝ่ายหญิงและการผจญภัยในความรักตลอดช่วงชีวิตการแต่งงานของทั้งคู่
• ค.ศ.2008 ทายาทผู้รับมรดกลิขสิทธิ์งานและทรัพย์สินของครอบครัวแซงเต็กซูเปรี ยื่นฟ้องคนขับรถของกอนซูเอโล ในข้อหาตีพิมพ์เรื่องราวความสัมพันธ์ของอองตวนกับกอนซูเอโล ในหนังสือ Antoine et Consuelo de Saint Exupéryโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากครอบครัว
• ค.ศ. 2021 หนังสือCorrespondence (1930-1944) รวมจดหมายรักและโทรเลขแสดงความสัมพันธ์ 160 ชิ้น ที่วางแผงเดือนพฤษภาคม 2021 เป็นสัญญานของการคืนดีและยุติดรามาการมีคดีความแย่งชิงมรดกกว่า 18 ปี ระหว่างทายาทของอองตวนและทายาททางฝ่ายภรรยา
• สำนักพิมพ์ Gallimard ในฝรั่งเศส ผู้ตีพิมพ์ หนังสือหนังสือ Correspondence (1930-1944) ผู้แต่ง ANTOINE DE SAINT-EXUPÉRY , CONSUELO DE SAINT-EXUPÉRY รวมจดหมายรักของผู้เขียนเจ้าชายน้อย ซึ่งถือเป็นงานแรกที่ ทายาทมรดกของอองตวน แซงเตกซูเปรี ตกลงร่วมมือกับทายาทมรดกตกทอดกอนซูเอโล ในการตีพิมพ์หนังสือรวบรวมจดหมายรัก 160 ชิ้นของอองตวนและภรรยาของเขา
• นอกจากจดหมายรักและโทรเลข 160 ฉบับที่ตีพิมพ์ใน Correspondence (1930-1944) แล้วยังมีจดหมายรักอีกหลายฉบับที่ยังไม่ถูกเผยแพร่ เป็นจดหมายที่ Martine Martinez Fructuoso ภรรยาหม้ายของอดีตเลขาส่วนตัวและคนขับรถของกอนซูเอโล มีในครอบครอง ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากสามีของเธอ
สร้อยข้อมือสลักชื่ออองตวนและภรรยา
Fact File
• หนังสือ Correspondence (1930-1944) ผู้แต่ง ANTOINE DE SAINT-EXUPÉRY , CONSUELO DE SAINT-EXUPÉRY จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Gallimard ในฝรั่งเศส มูลนิธิ La Poste Corporate Foundation สนับสนุนการจัดพิมพ์ ความหนา 336 หน้า ภาพประกอบ 50 หน้า พิมพ์ครั้งแรก วันที่ 1 เมษายน 2021 เริ่มจัดจำหน่ายในฝรั่งเศส วันที่ 6 พฤษภาคม 2021 ตัวบทเป็นภาษาฝรั่งเศส ยังไม่มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือ ภาษาไทย
• ดูตัวอย่างเนื้อหา Correspondence (1930-1944) ได้ที่ https://bit.ly/2TfDWak
อ้างอิง
• หนังสือ เจ้าชายน้อย The Little Prince ฉบับแปลภาษาไทย โดย อาริยา ไพฑูรย์
โฆษณา