30 มิ.ย. 2021 เวลา 04:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การค้นพบมนุษย์มังกร มนุษย์โบราณสปีชี่ส์ใหม่?
ในปัจจุบันดาวโลกเป็นที่อยู่ของโฮมินิน(Hominin) บรรพบุรุษร่วมระหว่างมนุษย์และชิมแปนซีเพียงสปีชี่ส์เดียวเท่านั้น คือโฮโมเซเปียนส์(Homo Sapiens) โดยฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดของโฮโมเซเปียนส์ที่ถูกค้นพบ คือ นีแอนเดอร์ธัล(Neanderthal) หรือมนุษย์ยุคหิน ซึ่งมีสมองและการคิดค้นเครื่องมือที่ซับซ้อนต่าง ๆ ขึ้นเหมือนกับพวกเรา และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากการศึกษา DNA ของฟอสซิลได้เผยให้เห็นเชื้อสายมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งในยุคเดียวกันนี้ นั่นคือเดนิโซวัน(Denisovans) ซึ่ง DNA ที่ได้ทำการศึกษาพบมากจากฟัน เศษกระดูกชิ้นเล็ก ๆ รวมไปถึงดินในบริเวณใกล้เคียง แม้ว่าซากเหล่านั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเดนิโซวันมีรูปร่างเป็นอย่างไร แต่จากหลักฐานทางโมเลกุลรวมถึงหลักฐานทางฟอสซิลชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษร่วมของโฮโมเซเปียนส์ นีแอนเดอร์ทัล และเดนิโซวัน มีชีวิตอยู่เมื่อราว ๆ 600,000 ปีก่อน
แต่ในที่สุด นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ประกาศถึงการค้นพบสปีชี่ส์ของมนุษย์โบราณสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นการค้นพบที่อาจเปลี่ยนมุมมองว่าโฮโมเซเปียนส์ สปีชี่ส์ของพวกเราได้มีวิวัฒนาการอย่างไร และอาจบอกได้แม้แต่ว่าสปีชี่ส์ของเราได้เกิดการวิวัฒนาการขึ้นที่ไหน
จากการค้นพบของเหล่านักวิทยาศาสตร์ พบว่ากะโหลกศีรษะนี้เป็นของมนุษย์โบราณเพศชายโตเต็มวัยซึ่งมีสมองขนาดใหญ่ คิ้วสูงและหนา เบ้าตาลึกกว้าง และจมูกโป่ง ถูกซ่อนไว้ในบ่อน้ำที่ถูกทิ้งร้างมากว่า 88 ปี หลังจากคนงานได้ไปพบมันเข้าที่เขตก่อสร้างในประเทศจีน
ภาพจำลองโครงสร้างแบบดิจิทัลของมนุษย์มังกร ซึ่งอาจเป็นสปีชี่ส์ใหม่ของมนุษย์โบราณ
ในปีค.ศ. 1933 คนงานก่อสร้างคนหนึ่งได้พบกะโหลกศีรษะนี้ที่เขตก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำซ่งฮวา เมืองฮาร์บิน แต่ในขณะนั้นเมืองฮาร์บินอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ทำให้เขาเลือกซ่อนมันไว้ในบ่อน้ำที่บ้าน เวลาผ่านไปจนเมื่อปีค.ศ. 2018 เขาจึงได้บอกกับครอบครัวของเขา และกะโหลกศีรษะชิ้นนี้ก็ได้ถูกส่งไปยัง พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา มหาวิทยาลัย Hebei GEO ในที่สุด นักวิจัยยังได้ทำการตั้งชื่อให้สปีชี่ส์ใหม่นี้ว่า Homo Longi และได้ตั้งฉายาให้ว่า มนุษย์มังกร(Dragon Man) จากการค้นพบที่บริเวณมณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งมีความหมายว่า แม่น้ำมังกรดำ
ทางทีมวิจัยกล่าวว่า Homo Longi เป็นสปีชี่ส์ของมนุษย์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเช่นเดียวกับนีแอนเดอร์ธัล หรือ โฮโมอีเร็คตัส หากแต่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ในปัจจุบันหรือโฮโมเซเปียนส์มากที่สุดถึงแม้จะมีวิวัฒนาการที่แยกออกไปจากบรรพบุรุษที่มีร่วมกันกับโฮโมเซเปียนส์ก็ตาม ซึ่งหากได้รับการยืนยันแล้ว นั่นจะเปลี่ยนสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้คิดและจินตนาการไว้เกี่ยวกับที่มาและต้นกำเนิดของโฮโมเซเปียนส์จากการค้นพบฟอสซิลและ DNA โบราณในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไปอย่างสิ้นเชิง
ตามรายงานกล่าวว่า Homo Longi มีลักษณะแก้มแบน ปากกว้าง และยังมีสมองขนาดใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยของสมองมนุษย์ถึง 7% และจากขนาดของกะโหลกศีรษะทำให้สันนิษฐานได้ว่ามนุษย์มังกรมีขนาดรูปร่างกำยำแข็งแรง และมีส่วนสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยของมนุษย์ในปัจจุบัน นอกจากนี้นักวิจัยยังกว่าวว่าการ ผสมผสานระหว่างโครงสร้างของมนุษย์มังกรยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนในสปีชี่ส์ของโฮมินิน ซึ่งเป็นสปีชี่ส์ ที่ภายหลังมีการพัฒนาขนาดสมองใหญ่ขึ้นจนภายหลังได้เป็นจุดเริ่มต้นวิวัฒนาการของโฮโมเซเปียนส์ และนักวิทยาศาสตร์ยังได้ทำการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฟอสซิลที่พบ และได้คำตอบที่แน่นอนแล้วว่า กะโหลกศีรษะนี้มีอายุอย่างน้อย 146,000 ปี แต่ไม่มากไปกว่า 309,000 ปี
กะโหลกศีรษะขนาดใหญ่ของมนุษย์มังกร ซึ่งอาจมีขนาดสมองใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยของมนุษย์ยุคปัจจุบันถึง 7%
ในการหาคำตอบว่า Homo Longi เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่อยู่ในตระกูลเดียวกับมนุษย์หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเปรียบเทียบลักษณะกายวิภาคของ Homo Longi กับฟอสซิลของโฮมินินอีก 54 ชิ้น พบว่ามันอยู่ใน ตระกูลเดียวกันกับฟอสซิลขากรรไกรที่พบในทิเบต ซึ่งได้ระบุแล้วว่าเป็นของเดนิโซวัน กะโหลกศีรษะนี้ยังมี ลักษณะคล้ายกับชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะที่ถูกค้นพบในมณฑลต้าหลี่ ประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ.1978 ซึ่งคาดว่า มีอายุราว ๆ 200,000 ปี นักวิจัยบางส่วนคิดว่าฟอสซิลที่ต้าหลี่เป็นสปีชี่ส์เดียวกับมนุษย์ ในขณะที่อีกส่วน คิดว่ามันเป็นของเชื้อสายตระกูลที่เก่าแก่กว่า และยังมีบางส่วนที่คิดว่ามันเป็นสปีชี่ส์ใหม่ และเรียกฟอสซิล ชิ้นนี้ว่า Homo Daliensis
เหล่าผู้สร้างงานวิจัยครั้งใหม่นี้ค้านว่ามนุษย์มังกร ฟอสซิลขากรรไกรที่ทิเบต และกะโหลกศีรษะที่ต้าหลี่ ล้วนมาจากเชื้อสายวงศ์ตระกูลเดี่ยว ซึ่งเป็นตระกูลมีความใกล้เคียงกับสปีชี่ส์ของเราหรือมนุษย์ที่สุด เนื่องจากถึงแม้ว่า Homo Longi จะมีลักษณะที่โดดเด่น แต่ก็ยังคงมีลักษณะของมนุษย์ปะปนอยู่ในตัวเช่นเดียวกันกับนีแอนเดอร์ธัล
นอกจากนี้ยังมีอีกเบาะแสที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน คือฟันซี่ที่อยู่บนกรามด้านบนของมนุษย์มังกรมีรูปร่างขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับซี่ที่พบบนกรามของเดนิโซวันในทิเบต นอกจากนี้มนุษย์มังกรยังอาศัยอยู่ในทวีปเอเชียในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ DNA ของเดนิโซวันได้บอกเราว่าทั้งสองสปีชี่ส์นั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันนั่นเอง
ภาพจำลองของมนุษย์มังกรซึ่งได้ทำการสันนิษฐานจากขนาดกะโหลกศีรษะ คาดว่ามนุษย์มังกรมีขนาดรูปร่างกำยำแข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามนุษย์มังกรจะและเดนิโซวันจะเป็นสปปีชี่ส์เดียวกันจริง แต่ DNA ของเดนิโซวันกลับบอกได้อย่างชัดเจนว่าสปีชี่ส์ที่ใกล้เคียงกันกับมันที่สุดคือนีแอนเดอร์ธัล แต่จากการศึกษาใหม่ซึ่งใช้หลักฐานทางกายวิภาคของฟอสซิล ได้บ่งชี้ว่า Homo Longi และโฮโมเซเปียนส์ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้เคียงกันมากกว่านีแอนเดอร์ธัล และถึงแม้ว่านี่จะเป็นการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่นักวิทยาศาสตร์บางรายยังคงสงสัยว่า มนุษย์มังกรนั้นสามารถจัดเป็นมนุษย์โบราณสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ ก็ยังคงมีปริศนาอีกมากมายที่ต้องแก้และหาคำตอบกันต่อไปค่ะ
โฆษณา