เคยมีเสียงจำลองสถานการณ์แย่ๆ ในสมองไหม?
รู้จัก ‘Intrusive Thought’ ความคิดแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการย้ำคิดย้ำทำ
.
.
เคยเป็นไหม...ตอนอยู่ที่สูงๆ ก็แอบมีความคิดขึ้นมาว่าถ้าตกลงไปจะเป็นยังไง? หรือจู่ๆ ก็นึกถึงวันที่จะต้องเสียคนที่รักไป แค่นึกก็ทำให้ใจหายวาบ รู้สึกแย่ต่อไปอีกเป็นพักใหญ่ หรือนึกถึงสักวันที่เราจะต้องหายไปจากโลกใบนี้จริงๆ ก็ทำให้ใจหวิวขึ้นทันที
.
.
ทำไมเราถึงเผลอคิดถึงสถานการณ์แย่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น จนบางครั้งก็รู้สึกอึดอัด กลัว เศร้า โกรธ โมโห และรำคาญใจ แถมยังทำให้รู้สึกขยุกขยิกในใจไม่น้อยเลยกับเสียงเล็กๆ ที่ชอบโผล่ขึ้นมาอย่างปุบปับแบบนี้?
.
.
เพราะมนุษย์มีความคิดแทรกซ้อน
.
ความคิดแทรกซ้อน (Intrusive Thought) หรือการที่มีความคิดที่ไม่พึงประสงค์แล่นเข้ามาในหัว เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เผชิญ จากการสำรวจของนักจิตวิทยา Stanley Rachman ในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยก็พบว่า หลายๆ คนนั้นเคยมีความคิดแบบนี้บ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งมักเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เรื่องเพศ ความสัมพันธ์ หรือขัดแย้งกับความเชื่อด้านศาสนา และเชื่อมโยงกับความกลัว เพราะยิ่งพยายามหลีกหนี ยิ่งทำให้ความกลัวนั้นคืบคลานแอบแทรกซึมผ่านเข้ามาในความคิดแบบนี้ได้ในบางครั้ง
.
.
Intrusive Thought นับว่าเป็นเรื่องทั่วไปเรื่องหนึ่งของมนุษย์ โดยจิตแพทย์ Paul Salkovskis ได้อธิบายไว้ว่า Intrusive Thought เกิดจากการที่สมองพยายามจัดการกับความไม่แน่นอนในชีวิต เป็นกลไกในการวิวัฒนาการของมนุษย์ จากการคิดถึงเรื่องแย่ๆ ไว้ก่อน ในการป้องกันและรับมือกับเรื่องไม่ดีที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และอาจเกิดขึ้นเมื่อมีภาวะเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
.
.
ความคิดแทรกซ้อนเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตใจ
.
อาการที่มีความคิดแทรกซ้อนขึ้นมาบ่อยๆ มักสัมพันธ์ไปกับโรคย้ำคิดย้ำทำ Obsessive-compulsive disorder (OCD) โดยมีการคิดเรื่องเดิมๆ วนอยู่ซ้ำๆ จนห้ามตัวเองไม่ได้ อย่างเช่น จำไม่ได้ว่าปิดเตาแก๊สหรือยัง จนกระวนกระวายใจ กลัวจะเกิดไฟไหม้ ไม่ว่ายังไงก็ต้องกลับไปดูให้ชัวร์ เช็กแล้วเช็กอีกว่าหมุนปิดถังแก๊สแน่นแล้วจริงๆ
.
แต่ Intrusive Thought โดยทั่วไปแล้วจะเป็นความคิดชั่วครั้งชั่วคราว ผ่านเข้ามาในหัวแค่แป๊บเดียว สามารถควบคุมให้เลิกคิดเองได้ หากแต่สำหรับผู้ที่เป็น OCD นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะสลัดความคิดเหล่านี้ออกไปจากหัวได้ ทำให้สามารถกลายเป็นการสร้างปัญหาในการดำเนินชีวิตตามมา และอาการนี้ยังสามารถเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า ความเครียดหลังเกิดเรื่องสะเทือนใจ (PTSD) ได้อีกด้วย
.
.
รับมือกับความคิดแทรกซ้อนยังไงได้บ้าง?
.
วิธีแก้หากเกิดความคิดแบบนี้ ก่อนอื่นต้องยอมรับความคิดนั้นว่าเกิดขึ้นมาจริง มีรายงานว่ายิ่งเราปฏิเสธความคิดอะไร จะยิ่งทำให้เก็บไปคิดต่ออยู่ซ้ำๆ จนเกิดเป็นความทุกข์ใจกว่าเดิม และต้องเข้าใจด้วยว่า แม้ความคิดนั้นมีอยู่จริง แต่ก็ยังไม่ใช่ความจริง ไม่ได้เกิดขึ้นจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงได้นั้น มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่เป็นคนที่สามารถกำหนดความคิดและการกระทำของตัวเอง
.
.
ในวันวันหนึ่ง คนเรามีเรื่องให้คิดหลายพันหลายหมื่นเรื่องต่อวัน National Science Foundation ของอเมริกายังพบว่า กว่า 80% ของความคิดในแต่ละวันของคนเราเป็นเรื่องด้านลบเสียส่วนใหญ่ เพราะอย่างนั้น Intrusive Thought ก็เป็นเพียงหนึ่งในความคิดรูปแบบหนึ่ง หากพฤติกรรมนี้ยังเป็นเพียงแค่ความคิด ไม่ได้ออกมาเป็นกระทำทำให้ใครเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จึงไม่นับว่าเป็นเรื่องผิดอะไรที่จะมีความคิดเหล่านี้ แต่ส่วนใหญ่ความคิดแบบนี้มักจะกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกตัวเอง ดังนั้น จึงควรที่จะคอยสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ถ้ามีความคิดแบบนี้บ่อยๆ หรือมาพร้อมกับอาการอื่นๆ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ จนกลายเป็นว่าเป็นการรบกวนการใช้ชีวิตตัวเอง เกินกว่าจะควบคุมได้เมื่อไหร่ การเข้ารับการปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางก็อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
.
ในการรับมือกับความรู้สึกหรือสิ่งที่นึกคิดไม่ว่าเรื่องใดก็ตามได้นั้น การยอมรับอารมณ์และความรู้สึกตัวเองให้ได้ก่อนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ กลับมาเป็นผู้ควบคุมความคิดตนเองให้ได้ เพราะเรานั้นคือตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวกำหนดความคิดและการกระทำของตัวเองได้ต่อไป
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#behavior