1 ก.ค. 2021 เวลา 04:37 • ท่องเที่ยว
(20) พุกาม ..มิงกาลาเจดีย์ (Mingala Zedi) วาระสุดท้ายแห่งแผ่นดินพุกาม
“มิงกาลาเจดีย์” หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “มงคลเจดีย์” เป็นเจดีย์ที่อยู่นอกกำแพงเมืองเก่าของพุกาม เป็นอีกแห่งหนึ่งที่อยู่รายชื่อที่เราต้องการเข้าไปชม ด้วยเคยอ่านในหนังสือหลายเล่มว่าผู้คนนิยมมาดูพระอาทิตย์ตกดิน และชมทะเลเจดีย์กว้างใหญ่ที่ทุกอณูอาบด้วยแสงสีทองของพระอาทิตย์ยามเย็น …
เราจึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่องค์เจดีย์ตั้งอยู่ เมื่อไปถึงบริเวณเจดีย์ เราพบป้ายประกาศเขียนไว้ว่า "ห้ามเข้า" .. ประตูทางเข้าถูกปิดตายด้วยกุญแจดอกใหญ่ เราเลยได้แต่เดินดูด้านนอก ซึ่งมีรั้วลวดหนามขึงกันเอาไว้
รอบๆเจดีย์รกทึบ และปกคลุมด้วยหญ้าชนิดต่างๆ สลับกับต้นไม้ขนาดกลางๆพอให้ถ่ายรูปได้ไม่เลวนัก เราจึงถือโอกาสถ่ายรูปในระยะไกลมาฝากกันค่ะ
ประวัติของเจดีย์แห่งนี้น่าสนใจ จึงขอคัดลอกเนื้อความบางส่วน จากหนังสือ ท่องเจดีย์ไพรใน พุกามประเทศ โดย คุณธีรภาพ โลหิตกุล มาเล่าต่อดังนี้ค่ะ
ในรัชสมัยของ “พระเจ้านรสีหปติ” กษัตริย์ในลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์พุกาม … ประวัติศาสตร์จารึกว่า พระองค์มีพระอุปนิสัยดุร้าย และไม่เลื่อมใสในพุทธศาสนา แต่ก็ทรงบัญชาให้สร้าง “มิงกาลาเจดีย์” หรือ “มงคลเจดีย์” ตามโบราณราชประเพณี โดยสร้างเลียนแบบมหาเจดีย์ชเวสิกอง ในสมัยพระเจ้าอโนรธามหาราช
พระองค์โปรดให้จารึกไว้ที่เจดีย์แห่งนี้ว่า พระองค์ทรงเป็นจอมทัพผู้บังคับบัญชาไพร่พลขนาดมหึมาถึง 36 ล้านคน เสวยแกงกะหรี่วันละ 300 จาน และทรงมีนางสนม 3,000 คน (อาจจะรู้สึกว่า เว่อร์ไปสักหน่อยค่ะ พยายามจะเดินหาจารึกแต่ไม่เจอค่ะ)
ในขณะนั้น “กุบไลข่าน” จอมทัพแห่งมองโกลก็กำลังแผ่อิทธิพลลงมาทางจีนตอนใต้ เพื่อผนวกแคว้นยูนนาน พร้อมเรียกร้องให้พุกามส่งบรรณาการไปถวายจอมจักรพรรดิที่ปักกิ่ง แต่ทางพุกามปฏิเสธ มิหนำซ้ำยังสั่งประหารคนนำสารอีกด้วย
ครั้นเมื่อพระเจ้านรสีหปติทรงสร้างมิงกาลาเจดีย์ ก็เกิดมีคำทำนายว่า หากสร้างเสร็จจะเกิดหายนะ แต่เมื่อทรงยุติการก่อสร้างไว้ถึง 3 ปี ก็มีเสียงร่ำลือว่าการสร้างเจดีย์ไม่เสร็จถือเป็นอัปมงคลแก่แผ่นดินยิ่งนัก …
ท้ายสุด พระเจ้านรสีหปติทรงดำเนินการก่อสร้างต่อจนเสร็จ ระหว่างนั้นทรงรู้อยู่แก่พระราชหฤทัยว่า มองโกลต้องลงโทษพระองค์ จึงทรงเตรียมการก่อสร้างกำแพงป้องกันเมืองถึง 3 ชั้น เพราะต้องสร้างอย่างรีบเร่ง พระองค์ถึงกับบัญชาให้รื้ออิฐจากเจดีย์หลายแห่งมาก่อกำแพง ซึ่งแน่นอนว่า พระองค์ไร้ซึ่งความนับถือศรัทธาจากอาณาราษฎรของพุกาม
พุทธศักราช 1826 กองทัพมองโกลรุกเข้าตีอาณาจักรพุกามแตก โดยกำแพง 3 ชั้นมิอาจจะช่วยอะไรได้ พระเจ่านรสีหปติเสด็จหนีออกจากพุกาม จนประชาชนขนานนามว่า “ตโยกะปเยมิน” หรือ กษัตริย์ผู้วิ่งหนีจีน
เราเดินวนอยู่นอกรั้วซึ่งมีลวดหนามขึงกั้นอยู่ เพื่อถ่ายรูปเจดีย์จากด้านนอก ...ไม่นานก็มีชายผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังเล็กๆด้านหน้าของเจดีย์เดินตรงมาที่เรา พร้อมกับแนะนำตัวเองว่า เขาได้รับมอบหมายจากทางเมืองให้เป็นผู้ดูแลเจดีย์แห่งนี้ …
เขาบอกกับเราว่าหากเราอยากจะเข้าไปดูข้างใน เขาก็จะเปิดประตูให้ และอาสาเป็นไกด์พาเราไปเดินดูด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนค่ะ เราตกลงและยินดีเข้าไปเดินดูแน่นอน
ชายที่บอกกับเราว่า มีหน้าที่ดูแลรักษาเจดีย์ ชี้ให้เราดูบริเวณที่เคยคึกคักด้วยร้านค้าที่เข้ามาขายของที่ระลึก และบอกกับเราว่า เมื่อไม่นานมานี้ทางการได้ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมเจดีย์และบริเวณรอบๆ ทำให้เจดีย์ทรุดโทรมมากยิ่งขึ้น (ภาพด้านล่างเป็นภาพเดิม ก่อนการประกาศห้าม)
เราเดินไปตามทางเดินรอบเจดีย์ที่ปูด้วยอิฐก้อนโตๆ อ้อมไปด้านตรงกันข้ามกับประตูทางเข้า (เพื่อไม่ให้มองเห็นจากด้านถนน) ไกด์ของเรานำเราเดินเท้าเปล่าปีนบันไดอิฐค่อนข้างชันเช่นเดียวกับเจดีย์อื่นๆที่มีชื่อเสียงที่เราไปเยี่ยมชมมาแล้ว
ท่ามกลางบรรยากาศที่ท้องฟ้าเป็นใจ สีฟ้าๆทำให้การมองไปรอบๆมีความชัดเจนมาก ...
บนทางเดินในชั้นที่สามของเจดีย์ เราพบว่าสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทุ่งเจดีย์ที่แผ่ออกไปกว้างไกลสมคำร่ำลือจริงๆ ส่วนอีกด้านหนึ่งเห็นแม่น้ำเอยาวดี ในขณะที่ทิวเขามองเห็นได้ในระยะไกลอยู่อีกด้านหนึ่ง …
รอบองค์เจดีย์ด้านบนมีกระเบื้องเคลือบลวดลายเกี่ยวกับพุทธประวัติเป็นส่วนใหญ่ และชำรุดเสียหายมาก ชายคนเฝ้าเจดีย์เล่าว่าเคยมีการขโมยงัดแผ่นกระเบื้องเคลือบเหล่านี้ไปแล้วมากมาย ที่เหลือจึงเห็นเฉพาะที่ชำรุดเสียหายทั้งนั้น ...
เห็นแล้วเสียดาย ที่โบราณวัตถุอันเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของสถานที่ได้สูญหายไป เหลือเพียงซากที่ผุพังตั้งตระหง่าน ราวกับจะประจานคนที่ขายวิญญาณของบรรพบุรุษกิน
กระเบื้องเคลือบเรื่องราวของพุทธประวัติ ..
เราปีนกลับลงมายังพื้นด้านล่าง เดินไปตามทางเดินอิฐเรียงบนพื้นรอบองค์เจดีย์ที่ชำรุดเสียหายเป็นส่วนใหญ่ ... มองขึ้นไปที่องค์เจดีย์ ที่ตั้งอยู่บนฐานมหึมารูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายกับลักษณะของปิรามิด เพียงแต่ด้านบนแตกต่างกับปิรามิดของฝรั่งในความทรงจำดั้งเดิม
บนทางเดินชั้นที่ 2 และ 3 มีการก่ออิฐเรียงเป็นช่องคล้ายใบเสมา หรือป้อมค่ายของปราสาท ล้อมรอบทางเดินตลอดแนวทั้ง 4 ด้าน ... แต่ละมุมมีอิฐก่อคล้านพานพุ่มขนาดใหญ่ หรือเจดีย์องค์เล็กๆทั้ง 3 ด้านเช่นกัน
อิฐเปลือยที่มองเห็นในสายตา ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน ให้ความรู้สึกขลึมขลังยามที่ผิวของเจดีย์สะท้อนแสงอาทิตย์ที่ส่องมากระทบ ...
ในบางคราวราวกับจะจินตนาการเห็นไพร่ฟ้าที่กำลังหมอบเฝ้าองค์กษัตริย์พร้อมเหล่าเสนาบดี ขบวนของพระมเหสี สนม นางใน คราที่มาเยือนเจดีย์แห่งนี้ ยามที่พุกามยังคงมีเอกราช
ตามทางเดินรอบๆเจดีย์ มองเห็นเศษซากของหินแผ่นโตๆที่เคยเป็นเหมือนร่ม ที่ชายพม่าเรียก Stone Umbrella ตกอยู่ และบางอันก็ยังคงตั้งในสภาพใช้งานได้
มีคนกล่าวว่า ด้วยเหตุที่พระเจ้านรสีหปติทรงนำความล่มสลายมาสู่อาณาจักรพุกาม มิงกลาเจดีย์จึงไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างดีเท่าชเวสิกอง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา