3 ก.ค. 2021 เวลา 00:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แอบส่องหุ้นวัคซีน COVID-19!
บริษัทยาเราดูอะไรเป็นหลัก?
ในแต่ละธุรกิจนั้นก็มีแหล่งที่มาของรายได้และต้นทุนหลักที่ต่างกัน เช่น ถ้าดูบริษัทซื้อมาขายไปอาจจะต้องดูเจ้าหนี้การค้าและลูกหนี้การค้าของเค้าเป็นพิเศษ บริษัทยาก็เช่นเดียวกัน เพื่อนๆนึกออกมั้ยว่าบริษัทยาจะมีเอกลักษณ์อะไรที่โดดเด่นกว่าเพื่อน ติ๊กตอกๆๆ เฉลยก็คืออ R&D (Research & Development) นั่นเอง
เมื่อขึ้นชื่อว่ายา ก็ต้องใช้กับผู้ป่วยและเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์ ดังนั้นก่อนที่จะนำยามาใช้จริง บริษัทต้องทำการวิจัยและทดสอบมากมายเพื่อให้ยานั้นมีประสิทธิภาพและไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ใช้ยา และแน่นอนว่าการวิจัยยาต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและใช้บุคลากรที่มีความสามารถ การทดลองยาก็ใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป โดยการทดลองแต่ละครั้งก็คือต้นทุนที่เกิดขึ้นกับบริษัทยานั่นเอง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นต้นทุนที่สำคัญของบริษัทยา
นอกจากนี้การวิจัยนอกจากจะใช้เงินทุนสูงแล้วยังใช้เวลาอีกด้วย ดังนั้นจึงจะไม่แปลกถ้าเห็นว่าบริษัทยามีผลขาดทุน ทั้งๆที่ยาก็ดูจะเป็นสิ่งมีความต้องการอยู่เสมอ
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับบริษัททั้ง 7 ตัวของเราก่อนเลย
ตัวที่ 1 Oxford–AstraZeneca หรือ AZN จดทะเบียนในตลาด NasdaqGS มี market cap ที่ 158.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ตัวที่ 2 Pfizer หรือ PFE จดทะเบียนในตลาด NYSE มี market cap มี market cap ที่ 22.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ตัวที่ 3 BioNTech หรือ BNTX จดทะเบียนในตลาด NasdaqGS มี market cap มี market cap ที่ 54.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ตัวที่ 4 Sinopharm-BBIBP หรือ เลข 1099 จดทะเบียนในตลาด HKSE มี market cap ที่ 70.3 พันล้านดอลล่าร์ฮ่องกง
ตัวที่ 5 Moderna หรือ MRNA จดทะเบียนในตลาด NasdaqGS มี market cap ที่ 94.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ตัวที่ 6 Johnson & Johnson หรือ JNJ จดทะเบียนในตลาด NYSE มี market cap ที่ 437 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ตัวที่ 7 Sinovac หรือ SVA จดทะเบียนในตลาด NasdaqGS
แต่โชคร้ายที่เราไม่สามารถตามหางบการเงิน Q1 2021 ของ Sinovac ได้เนื่องจาก Sinovac ถูกระงับการซื้อขายในตลาดจากคดีข้อพิพาทระหว่างบอร์ดบริหาร ดังนั้นการเทียบอัตราส่วนทางการเงินของเราจึงต้องตัด Sinovac วัคซีนที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในขณะนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
หมายเหตุ ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2020
อัตตราส่วนทางการเงินที่เราจะนำมาวิเคราะห์บริษัทยาในโพสนี้ มีทั้งหมด 5 ตัว โดยเป็นการเปรียบเทียบ Q1 2021 กับ Q1 2020 ด้วยกันแต่ละตัวเล่าเรื่องอะไรให้เราฟังน้า มาดูกันเล้ย
1. การทำวิจัยของบริษัทคุ้มค่าแค่ไหน (Return on research capital - RORC)
ดูจากผลตอบแทนหรือกำไรที่บริษัททำได้ในปีนั้น เทียบกับเงินที่บริษัทใช้ในการวิจัยและพัฒนายาในปีที่ผ่านมา (ตัวเลขของเราคือ R&D ปี 2019 เทียบกับกำไรในปี 2020) อัตราส่วนยิ่งสูงแปลว่าผลของการวิจัยนั้น สามารถผลิตเป็นยาที่ขายทำกำไรได้มากนั่นเอง
จากกราฟจะเห็นว่า Top 3 ก็คือ Johnson & Johnson, Pfizer, AstraZeneca
Johnson&Johnson นั้นไม่ได้ทำแค่ยาเท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและอุปกรณ์การแพทย์อีกด้วย โดยสัดส่วนยอดขายที่เพิ่มขึ้นใน Q1 นั้นมาจากสองอย่างหลังเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้วัคซีนโควิดยังมีสัดส่วนเพียง 0.82% ของขายยาทั้งหมด อาจคาดเดาได้ว่าการพัฒนาวัคซีนไม่ได้มีอิมแพคต่อการทำกำไรของบริษัทมากนัก ความคุ้มค่าในการวิจัยมาจากการขายยาตัวอื่นๆ และผลิตภัณฑ์อุปโภคและเครื่องมือแพทย์มากกว่า
ส่วน Sinopharm นั้นไม่พบว่าเกิดค่าใช้จ่าย R&D ในปี 2019 และ 2020 เนื่องจากตามธรรมชาติของค่าใช้จ่ายส่วนนี้นั้น เมื่อมีความเป็นไปได้ในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ ตามหลักการบัญชี ค่าใช้จ่ายR&D จะถูกเปลี่ยนไปเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หรือถูกกระจายไปเป็นต้นทุนขายตัวนึงของยาที่ออกจำหน่ายนั่นเอง
2. บริษัททำกำไรได้เก่งแค่ไหน (Profitability Ratios)
ตัวนี้อาจจะดูได้จากหลายค่า แต่เราขอเลือกดูจาก%กำไรที่บริษัททำได้เมื่อเทียบกับยอดขาย (Net profit margin) เนื่องจากตัวนี้จะบอกเราได้ว่าบริษัททำกำไรเก่งแค่ไหน และยังบอกได้อีกว่าคุมค่าใช้จ่ายเก่งแค่ไหนอีกด้วย (เพราะกำไรสุทธิมาจาก ยอดขาย - ค่าใช้จ่าย) ถ้ายอดยิ่งสูงก็แปลว่าบริษัทขายได้กำไรดีนั่นเอง
Top 3 ก็คือ Moderna, BioNTech, Pfizer
Moderna น้องใหม่ไฟแรง เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2010 เท่านั้นโดยเป็นบริษัทที่เน้นการพัฒนายาโดยใช้เทคโนโลยี mRNA คือการสังเคราะห์สารพันธุกรรมจากการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัส (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sarakadeelite.com/better-living/mrna-technology/) ซึ่งยอดขายและกำไรที่ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการจำหน่ายวัคซีนโควิทในอเมริกาและอีกหลายส่วนของโลกเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจาก Jonhson&Johnson ที่มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า นอกจากนี้ Moderna ยังเข้าร่วมโครงการ Covax เพื่อกระจายวัคซีนไปยังประเทศที่เข้าถึงวัคซีนได้ยากอีกด้วย
3. บริษัทมีสภาพคล่องมากแค่ไหน (Liquidity)
ต้องอย่าลืมว่าการวิจัยนั้นใช้เวลานานกว่าจะออกมาเป็นยาตัวหนึ่ง และระหว่างนั้นต้นทุนในการพัฒนาก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นบริษัทควรจะมีสภาพคล่องที่ดีเพื่อให้การพัฒนาและผลิตยาดำเนินไปอย่างราบรื่น สำหรับข้อนี้เราจะมาดู 2 ตัวก็คือ
3.1 Quick Ratio เป็นตัวที่บอกว่า ถ้าจู่ๆบริษัทจะต้องจ่ายเงินใช้หนี้ระยะสั้นขึ้นมา บริษัทมีสภาพคล่องพอที่จะใช้หนี้เหล่านั้นได้ (ตัวนี้หาจากสินทรัพย์ระยะสั้นที่ไม่รวมสินค้าของบริษัท หารกับหนี้ระยะสั้น)
Top 3 ก็คือ BioNTech, Moderna, Pfizer
3.2 Debt Coverage Ratio บอกว่า บริษัทรับมือกับหนี้ทั้งหมดได้ไหวแค่ไหน โดยนำหนี้มาเทียบกับสินทรัพย์ที่มี ถ้าสูงอาจจะแปลว่าบริษัทเริ่มจะมีหนี้เกินไปแล้ว แต่ทั้งนี้ ถ้าหนี้ที่ก่อสามารถนำไปสร้างผลตอบแทนได้อาจจะไม่แย่เสมอไป ดังนั้นต้องดูอัตราส่วนตัวต่อไปประกอบด้วย
Top 3 ก็คือ Johnson & Johnson, AstraZeneca, Sinopharm
จะเห็นได้ว่าบริษัทที่มีสภาพคล่องสูงสามารถเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ได้ในระยะสั้นนั้นสะท้อนจากยอดขายวัคซีนโควิทที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก สังเกตได้ว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ Johnson & Johnson หรือ AstraZeneca นั้นจะมีความสามารถในการรับมือกับหนี้ได้ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันการมีหนี้ของบริษัทอื่นๆก็อาจจะเกิดจากการกู้เพื่อไปพัฒนาวิจัยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ส่วนบริษัทที่มีสภาพคล่องสูงในช่วงนี้ก็จะเป็นบริษัทที่สามารถจำหน่ายวัคซีนโควิทได้ในหลายพื้นที่ของโลก
4. บริษัทสร้างผลตอบแทนให้เจ้าของได้ดีรึเปล่า (ROE)
ผู้ที่ลงทุนย่อมหวังผลตอบแทน ผลตอบแทนในการลงทุนก็คือกำไรที่ได้เทียบกับเงินทุนที่เหล่าเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นลงทุนไป โดยทั่วไป ถ้าค่าสูงก็แปลว่าบริษัทสร้างผลตอบแทนได้ดีจ้า แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูไปด้วยว่าที่สูงเพราะทั้งกำไรสูงหรือสูงเพราะส่วนของเจ้าของต่ำเกินไป
Top 3 ก็คือ BioNTech, Moderna, AstraZeneca
BioNTech เป็นบริษัทยาเยอรมันที่ร่วมผลิตวัคซีนโควิทกับ Pfizer โดย BioNtec จะมีรายได้จากทั้งการจำหน่ายเองและส่วนแบ่งกำไรจาก Pfizer ซึ่งวัคซีนโควิทนับได้ว่าเป็นตัวชูโรงของเค้าเลย เพราะสามารถสร้างรายได้ถึง 2,015.6 ล้านยูโร หรือคิดเป็น 99.4% ของรายได้ในไตรมาส 1 โดยยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 7,294% นอกจากนี้ส่วนของเจ้าของยังมีถึงเกือบ 60% ผู้ถือหุ้นคงแฮปปี้ไปตามๆกัน เรียกได้ว่าเป็นคิวทองของ BioNTech เลยทีเดียว
5. หุ้นถูกหรือแพง (P/E ratio) (แอบกระซิบว่าตัวนี้เรามีคลิปด้วยจ้า เชิญชมได้ที่นี่เล้ย https://www.youtube.com/watch?v=ij551HrgRwA)
ตัวนี้เป็นการเทียบราคาหุ้นกับกำไรต่อหุ้น หรือบอกได้ว่าราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรที่บริษัทแบ่งให้ทุกๆตัว ถ้าอัตราส่วนนี้ยิ่งมากก็อาจจะบอกได้ว่าหุ้นเริ่มจะแพงแล้วว
Top 3 ก็คือ BioNTech, Moderna, Pfizer
ทั้งสามบริษัทนี้ล้วนแต่ผลิตวัคซีนโควิดที่ติด Top 2 ในอเมริกาทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับผองเพื่อนแล้วราคาหุ้นอาจจะยังแพงน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบ P/E ratio ของ Q1 ปี 2020 และ 2021 ก็จะพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ซึ่งเป็นเพราะราคาหุ้นก็สูงขึ้นและสะท้อนถึงผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังไปแล้ว
แต่มีตัวหนึ่งที่น่าสนใจกว่าเพื่อนคือ Moderna ซึ่ง P/E ratio ติดลบเนื่องจากผลขาดทุนในปีที่เเล้ว และปรับขึ้นมาเป็นบวกในปีนี้ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจจะพบเจอได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนในการทดลองและพัฒนาสูง เช่น บริษัทยา บริษัทเทคโนโลยี โดยสินค้าอาจจะยังไม่สามารถขายทำกำไรได้ในปีนั้น ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าที่จะได้กำไรคืนมา
ในภาพที่ผ่านๆมาเราดูไล่ดูกันเเต่ละปัจจัย ว่าปัจจัยนั้นมีหุ้นตัวไหนน่าสนใจบ้าง
ในภาพนี้คือการสรุปภาพรวมว่าหุ้นเเต่ละตัวมีจุดเด่นเเละจุดด้อยด้านไหนกันบ้าง อัตราส่วนที่เรานำมาใส่ในกราฟนี้ประกอบด้วย Quick Ratio, ROE, Debt Coverage Ratio, %กำไร ของเเต่ละบริษัทในปี 2021 Q1
ในกราฟนี้ไม่รวม RORC เพราะตัวเลขล่าสุดที่เรามีคือตัวเลขของปีที่เเล้ว
BioNTech - BNXT (สีเหลือง)
ข้อดี: Quick Ratio และ %กำไรสูง
ข้อเสีย: ROE และ Debt Ratio ต่ำ เเละราคาก็เเพงเช่นกัน (P/E สูง)
Moderna- MRNA(สีส้ม)
ข้อดี: Quick Ratio สูงอันดับ 2 รองจาก BNXT เเละมี%กำไรเยอะที่สุด ค่า ROE และ Debt Ratio อยู่ในระดับปานกลาง
ข้อเสีย: ราคาเเพงเป็นอันดับ 2
Johnson & Johnson - JNJ (สีน้ำตาล)
ข้อดี: Debt Ratio และ ROE สูง เเละราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น (P/E ต่ำ)
ข้อเสีย: ไม่ค่อยมีสภาพคล่อง (Quick ratio ต่ำ) เเละ %กำไรน้อย เมื่อเทียบกับ BNXT และ MRNA
อีกสี่ตัวที่เหลือ มี Quick Ratio ROE %กำไร Debt Coverage Ratio ปานกลางถึงน้อย อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาไม่เเพง (P/E Ratio ต่ำ) เมื่อเทียบกับ BNXT JNJ
.
*หมายเหตุ ตัวเลขที่เเสดงผ่านกระบวนการที่ทำให้ทุกตัวอยู่ในช่วง -2 ถึง 2 เเละสามารถพล็อตในกราฟเดียวกันได้ การทำเเบบนี้สามารถตีความได้ว่าใครเก่งกว่าใครในด้านไหน เเต่การตีความอัตราส่วนเเต่ละตัวไม่สามารถทำได้ในภาพนี้ (ภาษาทางการเรียกกระบวนการ Standardize ตัวเลขก่อนผ่านการทำ Standardize ถูกแสดงในภาพก่อนหน้า)
จะสังเกตได้ว่าบริษัทยาที่จำหน่ายวัคซีนโควิดเป็นหลักอย่าง Moderna, BioNtech จะมีสภาพคล่องและทำกำไรได้ดีมากในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ราคาหุ้นก็ปรับตัวสูงตามไปด้วย Pfizer เองก็มีกำไรที่เพิ่มขึ้นและส่วนรายได้จากวัคซีนโควิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ราคาหุ้นกลับไม่ได้ปรับตัวสูงมากเท่ากับเพื่อนๆวัคซีน mRNA ตัวอื่น แต่ความต่างก็คือ Pfizer นั้นมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากกว่าอีกสองตัวที่กล่าวมาและมีความสามารถทำกำไรก่อนโควิดได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว ดังนั้นความคาดหวังของนักลงทุนจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นไปมาก
ส่วนบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีประเภทของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่าจะมีฐานะการเงินที่แข็งแรงแต่ราคาอาจจะไม่ได้ปรับตัวสูงมากเท่ากับประเภทแรก
สำหรับใครที่เห็นว่าหุ้นกลุ่มวัคซีคโควิดน่าสนใจ ก็สามารถไปศึกษาต่อเกี่ยวกับกองทุนที่ในธีม Global Health Care ได้เลยจ้าา ได้กระจายความเสี่ยงด้วย สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพและได้วัคซีนดีๆใช้กัน T T
โฆษณา