3 ก.ค. 2021 เวลา 04:05 • สิ่งแวดล้อม
เอะอะก็รีไซเคิล มันคือเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือไม่? (ตอนที่ 1)
Cr. iStock by Getty Images, Photo by BsWei
ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่มีการรณรงค์เรื่องการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะขยะจำพวกพลาสติก เรามักจะได้ยินคำว่า รีไซเคิล อยู่เสมอ หรือถ้า Upgrade ขึ้นมาอีกก็คือหลักการ 3R ที่เราน่าจะคุ้นหูกัน นั่นก็คือ Reduce Reuse และ Recycle แต่ในเทรนด์โลกล่าสุดของยุคปัจจุบันนี้ ถ้ามีอยู่แค่เพียง 3R อาจจะถือว่าตกยุคไปแล้วก็ว่าได้ เมื่อมีแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เข้ามา และแนวคิดนี้เริ่มแพร่ขยายไปสู่การปฏิบัติจริง
รีไซเคิลที่เราติดปาก กับอีก 2R ที่เหลือนั้นเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่เศรษฐกิจหมุนเวียนมีหลักคิดและกลไกที่ซับซ้อนกว่านั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนว่ามันคืออะไรนั้น ผู้เขียนขอเท้าความก่อนถึงวิวัฒนาการที่นำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนดังนี้ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากแนวปฏิบัติตามแบบ เศรษฐกิจเส้นตรง หรือ Linear Economy ถือเป็นยุคแรก ๆ ที่เรายังไม่ได้ตระหนักอย่างจริงจังเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหลือทิ้งน้อยสุดเท่าใดนัก เราได้ดึงเอาทรัพยากรของโลกออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน สินแร่ น้ำสะอาด และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อใช้ในการผลิตออกมาเป็นสินค้า ส่งต่อให้ผู้บริโภคนำไปใช้งาน เมื่อใช้จนหมดประโยชน์แล้ว เหลือเป็นของเสีย สุดท้ายก็นำไปทิ้งเป็นขยะและฝังกลบ หรือบำบัดแล้วปล่อยทิ้งสู่ธรรมชาติต่อไป
ในยุคต่อมานั้น เราเรียกกันว่า เศรษฐกิจรีไซเคิล หรือ Recycle Economy ในยุคนี้เราเริ่มมีความตระหนักเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น เริ่มมีการนำเอาของเสียที่เกิดขึ้นกลับมาใช้ประโยชน์ กลับมารีไซเคิล ดังที่เรามักจะเห็นแคมเปญอยู่พักใหญ่ ๆ เกี่ยวกับ 3R ได้แก่ Reuse Reduce และ Recycle โดยเริ่มมีของเสียที่ลดลงจากในอดีต แต่ก็ยังถือว่ามีของเสียกลายเป็นขยะที่ต้องนำไปฝังกลบอยู่ดี
ในยุคนี้ แนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่แล้ว จากประเด็นที่ให้ความตระหนัก ไหนจะเรื่องทรัพยากรที่ร่อยหรอลงทุกวัน ไหนจะการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่นำมาซึ่งการบริโภคที่มากขึ้นและเกิดเป็นขยะหรือของเสียมากขึ้น
Cr. Circular Flanders
ในทางอุดมคติแล้ว เศรษฐกิจหมุนเวียนจะถือว่าไม่มีขยะ ของเสียหรือ Waste ใด ๆ เกิดขึ้นเลย (Zero Waste) และจะไม่มีขยะที่นำไปฝังกลบเลย (Zero Landfill) วัสดุที่ใช้แล้วทุกอย่างถือว่าเป็นทรัพยากร (Resource) ทั้งหมด แม้จะเป็นขยะที่เหลือทิ้งแล้วก็ตาม กล่าวคือ ทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ เมื่อเราสกัดหรือดึงเอาออกมาจากธรรมชาติแล้ว นำไปผลิตสินค้าใด ๆ เพื่อจำหน่ายไปยังผู้บริโภค เมื่อสินค้านั้นเสื่อมสภาพ ก็ยังนำกลับมาใช้ใหม่ หรือผ่านกระบวนการแปรสภาพให้สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยทางปฏิบัติจริงแล้วยังคงมีของเสียอยู่ แต่จะพยายามให้เหลืออยู่น้อยที่สุด
หากถามว่าเหตุใด เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงต้องมีคำว่า "เศรษฐกิจ" อยู่ด้วยนั้น อันที่จริงแล้วมันมีส่วนเกี่ยวข้องที่แยกไม่ออกกับเรื่องเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากเศรษฐกิจมุ่งหมายถึงการบริหารทรัพยากร ส่งมอบทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อตอบสนองความต้องการ การบริโภค การใช้ทรัพยากรของผู้คน มีทั้งฝั่งอุปสงค์ (Demand) และฝั่งอุปทาน (Supply) ดังนั้นแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก แต่เพียงเท่านั้น
จากสถิติที่น่าสนใจในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมานั้น พบว่าประชากรโลกทิ้งขยะพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว ประมาณ 300 ล้านตันต่อปี เราทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Waste ประมาณ 50 ล้านตันต่อปี และอาหารที่เราผลิตได้ทั่วโลก จำนวน 1 ใน 3 เหลือทิ้งกลายเป็นขยะ ดังนั้นการนำแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เข้ามานั้น จะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ถึง 4.5 ล้านล้าน US Dollar ภายในปี 2030 โดยประโยชน์ที่จะได้รับมี 3 รูปแบบคือ
1) ลดความสูญเสียหรือความสูญเปล่าต่าง ๆ จากการใช้ทรัพยากร (เจ้าของทรัพยากรประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น)
2) สามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
3) สร้างงาน สร้างอาชีพ จากโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจด้านนี้
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Thanumporn Thongkongkaew
ในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมานั้น ผู้อ่านบางท่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า "เศรษฐกิจโดนัท" หรือ "Doughnut Economics" อยู่บ้าง ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่เสนอโดย Kate Raworth นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจากสหราชอาณาจักร โดยพูดถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ปัจจัยธรรมชาติ และจุดสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งมีตัวอย่างการนำมาประยุกต์ใช้แล้วเป็นแห่งแรกที่เมืองอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อแก้ปัญหาการดำรงชีพของคนที่อยู่ในเมือง บางท่านอาจจะสับสนว่าเศรษฐกิจโดนัท กับเศรษฐกิจหมุนเวียน มันคือเรื่องเดียวกันหรือไม่ (เพราะน่าจะจินตนาการเป็นรูปกลม ๆ ได้เหมือนกัน) คำตอบก็คือ ต่างทฤษฎี ต่างแนวคิด และต่างขอบเขตการพิจารณา เนื่องจากเศรษฐกิจหมุนเวียนเองนั้น (ซึ่งมีอยู่หลายคำจำกัดความ) มุ่งเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหลือทิ้งให้น้อยที่สุดเป็นสำคัญ ในขณะที่เศรษฐกิจโดนัทจะมองในองค์รวมในความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์เป็นหลัก แต่่สุดท้ายแล้ว ทั้งเศรษฐกิจโดนัท และเศรษฐกิจหมุนเวียน ต่างก็มีเป้าหมายสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนไปในแนวทางเดียวกัน
กลับมาที่คำถามสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งใดบ้างที่เราต้องทำ เพื่อให้โมเดลของเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้เกิดขึ้นได้จริง การพิจารณาให้ครอบคลุมนั้น ต้องดูตั้งแต่ต้นทางของทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงปลายทาง หรือถ้ามองเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลลัพธ์ที่ได้ (Output) ก็จะเห็นแนวทางในเบื้องต้นที่สามารถนำไปใช้ได้ดังนี้
ฝั่งปัจจัยนำเข้า (Input) คือการคัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้สำหรับการผลิตสินค้า หรือเป็นวัตถุดิบต้นทางสำหรับกระบวนการขั้นต่อไป หรือการนำส่งไปสู่ผู้บริโภค แนวทางที่จะช่วยให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางที่ดีที่สุดคือ การใช้ทรัพยากรที่สามารถทดแทนได้ หรือใช้อย่างไรก็ไม่หมดสิ้น เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโซล่าเซลล์ การใช้วัสดุชีวภาพเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับพลังงานเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
ในส่วนของกระบวนการ (Process) นั้น เศรษฐกิจหมุนเวียนจะมุ่งเน้นตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการ หรือแม้กระทั่งออกแบบกระบวนการผลิตหรือให้บริการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยต้องเริ่มต้นให้ถูกตั้งแต่ต้นทาง ในส่วนนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะหากทำได้อย่างเหมาะสมแล้ว จะทำให้จัดการกับผลลัพธ์ หรือ Output ได้สะดวกขึ้น ช่วยลดขยะ ของเสีย และสามารถนำเอาสิ่งที่อาจจะเหลือทิ้งกลับมาผ่านกระบวนการเพื่อใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น มีต้นทุนที่ถูกลง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องหนึ่งคือ ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก หากสามารถทำให้ทุกชิ้นส่วนของพลาสติก เป็นพลาสติกประเภทเดียวกัน จะทำให้กระบวนการนำกลับไปใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล เป็นไปได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ประกอบการรีไซเคิล
Cr. iStock by Getty Images, Photo by RecycleMan
ส่วนสุดท้ายได้แก่ผลลัพธ์ (Output) เป็นส่วนที่เราน่าจะคุ้นชินอยู่บ้างจากการรณรงค์เกี่ยวกับ 3R ในช่วงอดีตที่ผ่านมา นั่นคือเมื่อผลิตภัณฑ์และบริการใด ๆ ที่มีการแปรรูปทรัพยากรต่าง ๆ มาเรียบร้อยแล้ว เราต้องใช้ทรัพยากรให้ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ผ่านกระบวนการสารพัด R ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เรารู้จักกันดีแล้วคือ Reuse Reduce Recycle แต่จริง ๆ แล้วมีเกินกว่านั้น และแต่ละ R มีลำดับความสำคัญในการใช้ปฏิบัติที่ต่างกัน สุดท้ายแล้ว เราจะได้นำเอาทรัพยากรใช้แล้วที่เหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด หรือมีวิธีการนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีคุณค่าสูงสุด อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สิ่งที่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การรวบรวมขยะพลาสติกประเภทต่าง ๆ จากการบริโภค กลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือแม้กระทั่งอัพไซเคิล (Upcycle) หรือการยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อื่น ๆ ที่มีคุณค่า การนำพลังงานที่เหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ หรือแปลงเป็นพลังงานรูปอื่น ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ การรีไซเคิลน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตอีกครั้ง เป็นต้น
สำหรับ Re... ตัวอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มีตัวไหนบ้าง ไล่ระดับความสำคัญอย่างไร และมีแนวปฏิบัติที่เป็นไปได้อย่างไร จะขออนุญาตนำมาแชร์ให้ผู้อ่านทุกท่านในตอนต่อไป ผู้อ่านท่านใดที่สนใจเรื่องราวที่ Future Perfect แชร์ สามารถกด Follow เพื่อไม่ให้พลาดสาระน่ารู้อีกมากมายที่จะได้นำมาแชร์ผู้อ่านทุกท่านต่อไป
มุมคิด 3 เรื่องที่ Future Perfect ขอฝากไว้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านมีดังนี้
1) Recycle รวมถึง 2R ที่เหลือ (Reduce, Reuse) เป็นส่วนหนึ่งของกลไกเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่ได้เป็นแค่แนวคิดรักษ์โลกเท่านั้น แต่ผู้อ่านสามารถหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จากเทรนด์นี้ได้
3) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะปลายทางของวัสดุที่เหลือทิ้งเท่านั้น แต่ดูตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการ
References:
2. David McGinty, "How to Build a Circular Economy", August 6, 2020, World Resources Institute ( https://www.wri.org/insights/how-build-circular-economy )
4. Ellen MacArthur Foundation (February 2019), www.ellenmacarthurfoundation.org
โฆษณา