3 ก.ค. 2021 เวลา 04:16 • สุขภาพ
ซิโนแวค กับข้อสงสัย อาจป้องกันโควิดกลายพันธุ์ไม่ได้ แล้วทำไมจะสั่งซื้อเกือบ 50 ล้านโดส ?
8
เกิดเป็นคนไทยต้องอดทน แต่การเจ็บปวดซ้ำๆ ก็อาจจะทำให้ความอดทนสิ้นสุดลงในสักวัน !
8
กับยอดนิวไฮล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 6 พันราย และเสียชีวิตเพิ่ม 61 ราย ทำให้แทบมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ประกอบกับนโยบายของภาครัฐ ที่กลับไปกลับมา ไม่มีความชัดเจน แก้ปัญหาแบบไล่ตาม วางยุทธศาสตร์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ การรักษา ที่ต้องบอกว่าตอนนี้เข้าขั้นวินาศสันตะโร
14
แม้ความหวังจะอยู่ที่การฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่รัฐบาลก็บริหารจัดการได้อย่างล่าช้า มีเงื่อนงำ และไม่โปร่งใส จนก่อให้เกิดข้อสงสัยต่างๆ ตามมามากมาย
4
และเมื่อเราพยายามหาเหตุผลที่รัฐบาลตะบี้ตะบันจะสั่งซื้อซิโนแวค ทั้งในแผนระยะสั้น และระยะยาว แทนที่จะได้รับคำตอบ กลับก่อให้เกิดข้อสงสัยที่หนักยิ่งขึ้นไปอีก
6
1. ทำไมตะบี้ตะบันสั่งซิโนแวค ทั้งๆ ที่มีข้อกังขาด้านประสิทธิภาพ
ถ้าสมมติว่า ซิโนแวคมีประสิทธิภาพที่ดีในการป้องกันโควิด-19 หรือมีข้อมูลบ่งชี้ว่า สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่คาดการณ์กันว่า อีกไม่นานจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย ก็ต้องถือว่า เป็นวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยม
แต่ข้อมูลด้านวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ระบุว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับสายพันธุ์เดลต้า ก็คือประเภท mRNA ซึ่งได้แก่ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ส่วนวัคซีนประเภทเชื้อตาย อย่าง ซิโนแวค สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
3
“วัคซีนซิโนแวค... ไม่เคยมีข้อมูลศึกษาวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบและตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่เนื่องจากจากระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ได้จากวัคซีนชนิดนี้ต่ำกว่าที่ได้จากวัคซีนประเภท mRNA และวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (อาทิเช่น แอสตร้าเซนเนก้า)
9
“จึงคาดหมายได้ว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) น่าจะลดลงไปต่ำกว่านั้นอีก จนอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนโดยภาพรวม”
2
สรุปก็คือ วัคซีนซิโนแวค นอกจากมีประสิทธิภาพป้องกันโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ต่ำกว่าวัคซีนประเภท mRNA อย่าง ไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือวัคซีนประเภทใช้ไวรัสเป็นพาหะ อย่าง แอสตร้าเซนเนก้า แล้ว ยังคาดว่าเมื่อเจอกับสายพันธุ์เดลต้า ที่มีแนวโน้มระบาดในไทย ประสิทธิภาพของวัคซีนก็จะลดต่ำลงไปอีก
8
ฉะนั้นแล้ว ถ้าว่าการในแง่ประสิทธิภาพ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่รัฐบาลไทยจะหน้ามืดตามัว สั่งซื้อซิโนแวคเข้ามาเป็นจำนวนมาก
2
2. ทำไมตะบี้ตะบัน สั่งซิโนแวค ทั้งๆ ที่ราคาแพง ?
7
ถ้ารัฐบาลอ้างว่า ที่ต้องสั่งซิโนแวคเป็นจำนวนมาก แม้จะมีข้อกังขาด้านประสิทธิภาพ ก็เพราะราคาถูกกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่น ยังพอเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นอยู่บ้าง
1
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซิโนแวคมีเรตราคาที่ค่อนข้างสูง ระดับใกล้เคียงกับไฟเซอร์ ที่ตอนนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ดีที่สุด
โดยวัคซีนซิโนแวค ราคาอยู่ที่โดสละ 17 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 546 บาท (1 บาท = 32.17 เหรียญสหรัฐ / 2 ก.ค. 64) ในขณะที่ไฟเซอร์ ราคาอยู่ที่ 17.7 - 19.5 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 569 - 637 บาท
8
ฉะนั้นในเรื่องราคา ก็ไม่มีเหตุผลเช่นกัน ที่รัฐบาลไทยจะต้องตะบี้ตะบันสั่งซื้อมาจำนวนมากขนาดนี้
4
3. ทำไมจึงมีแผนสั่งวัคซีนซิโนแวคเป็นจำนวนมาก ทั้งในแผนระยะสั้นและระยะยาว
1
ประเด็นนี้ต้องเท้าความไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการระบาดระลอก 2 ในไทย แล้วจากนโยบายแทงม้าตัวเดียวของรัฐบาล ที่มีแต่การสั่งซื้อเฉพาะแอสตร้าเซนเนก้า
2
ปัญหาในเวลานั้นก็คือ กว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะส่งมอบให้ไทยได้ ตามสัญญาระบุว่า ต้องรอถึงช่วงกลางปี 2564 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องหาวัคซีนยี่ห้ออื่นมาใช้แก้ขัดไปก่อน
1
สถานภาพของซิโนแวค ในเวลานั้นจึงเป็นวัคซีนแก้ขัด แม้จะข้อมูลเผยแพร่ออกมาว่า ประสิทธิภาพด้อยกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ แต่รัฐบาลก็อ้างถึงความจำเป็นดังกล่าว และพยายามให้ข่าวว่า พยายามติดต่อเจ้าอื่นๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ , สปุตนิก วี , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่เห็นสัญญาการจัดซื้อที่ชัดเจน !
4
และอ้างอีกว่า ไฟเซอร์ , สปุตนิก วี , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน กว่าจะได้สินค้า ก็ต้องรอไปถึงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ของปีนี้
1
ในขณะเพื่อนบ้านในอาเซียน ติดต่อกับไฟเซอร์ ไล่เลี่ยกับไทย แต่ได้วัคซีนไปฉีดกันแล้ว ก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วทำไมไทยเราต้องรอไปจนถึงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ด้วยเล่า ?
2
หรือแม้กระทั่ง วัคซีนทางเลือกอย่าง โมเดอร์นา ที่คนไทยต้องเสียเงินซื้อฉีดเอง ล่าสุด นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ก็ได้ออกมาแฉว่า จนป่านี้ทางการไทย ยังไม่มีการเซ็นสัญญา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การได้รับวัคซีนต้องล่าช้าออกไป
3
โดยก่อนหน้านี้ ศบค. ก็ได้เปิดเผยข้อมูลว่า จะมีการจัดซื้อวัคซีนให้ได้ 150 ล้านโดส โดยในปีนี้จะซื้อซิโนแวค 19.5 ล้านโดส และปีหน้า 28 ล้านโดส รวมเป็น 47.5 ล้านโดส
5
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หากอ้างว่ามีความจำเป็นที่ต้องจัดหาวัคซีนอย่างเร่งด่วนในแผนระยะสั้น ช่วงที่วัคซีนตัวอื่นยังไม่มา จึงต้องสั่งซื้อซิโนแวคไปพลางๆ ก่อน อันนี้ยังพอเข้าใจ
5
แต่สำหรับแผนระยะยาว โดยเฉพาะปีหน้าที่จะซื้อถึง 28 ล้านโดส เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสงสัย ว่าทำไมไม่เน้นไปที่วัคซีนคุณภาพสูง ที่หากสั่งตอนนี้ยังไงซะ ตั้งแต่ช่วงปลายปีจนถึงปีหน้า ก็ได้สินค้าอย่างแน่นอน แต่รัฐบาลก็ยังคงเลือกที่จะซื้อซิโนแวคในจำนวนมหาศาล !
3
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยุทธศาสตร์ด้านวัคซีน คือความผิดพลาดของรัฐบาล แต่ในกรณีของซิโนแวค ที่รัฐบาลไม่สามารถให้ความกระจ่างกับประชาชนได้ จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นความผิดพลาดโดยตั้งใจ ? และรัฐบาลทนเห็นความทุกข์ยากของคนในชาติได้อย่างไร ?
5
โฆษณา